โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ | |
---|---|
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |
ภูมิศาสตร์ | |
ที่ตั้ง | 95 หมู่ 8 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี, ประเทศไทย |
หน่วยงาน | |
ประเภท | โรงพยาบาลเพื่อการเรียนการสอน |
สังกัด | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
บริการสุขภาพ | |
แผนกฉุกเฉิน | มี |
จำนวนเตียง | 755[1] |
ประวัติ | |
เปิดให้บริการ | พ.ศ. 2530 |
ลิงก์ | |
เว็บไซต์ | hospital |
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีภารกิจในการให้บริการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนโดยทั่วไป และเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติทางคลินิกของสายวิทยาศาสตร์สุขภาพเช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา และวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสายอื่นๆที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์สุขภาพเช่น คณะสังคมสงเคราะห์ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นต้น
ประวัติ
[แก้]พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินตามแผนโดยการสร้างโรงพยาบาลขึ้น โดยศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มีคำสั่ง ที่ 747/2529 ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2529 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาทุนสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีศาสตราจารย์สุธี นาทวรทัน เป็นประธานกรรมการ และ นายประมวล สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้น เป็นประธานกิตติมศักดิ์ ระดมทุนจากศิษย์เก่าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย ณ ขณะนั้นมีผู้สนับสนันหลัก คือ ทายาทหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาคมธรรมศาสตร์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ" และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529
โรงพยาบาลเปิดให้บริการประชาชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อถวายเป็นราชกุศลเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2531 โดยในระยะแรกมีเพียง 2 อาคารที่เปิดให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไป คือ อาคารหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ เปิดให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก และสำนักงานต่าง ๆ และ อาคารธนาคารทหารไทย เปิดให้บริการรักษาพยาบาล
พ.ศ. 2533 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์[2] ในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2533 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจึงได้รับการรวมเข้ามาเป็นส่วนราชการหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าภาควิชา ของคณะแพทยศาสตร์ เช่นเดียวกับสถานวิทยาศาสตร์พรีคลินิก และสถานวิทยาศาสตร์คลินิก
พ.ศ. 2536 ได้มีการรับแพทย์ใช้ทุน รุ่นแรกของ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ 10 ตำแหน่งมาทำงานชดใช้ทุนในสถานวิทยาศาสตร์คลินิก และได้มีการเปิดการบริการวิชาการ ตรวจรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไปในละแวกใก้ลเคียง กับการส่งแพทย์ในสังกัดไปศึกษาอบรมต่อเนื่อง และพัฒนาเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ ในสาขาต่างๆ เช่น ประสาทศัลยศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ อายุรศาสตร์ เป็นต้น ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาแนวทางในการดูแลรักษา คนไข้และผู้มารับบริการ ประกอบกับมีการเพิ่มจำนวนเตียงในการดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้ง ห้องผ่าตัด และหอผู้ป่วย ICU และ เป็นที่ให้การเรียนการสอนแก่ นักศึกษาแพทย์ และ นักศึกษาพยาบาล ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่่อื่นๆด้วย
พ.ศ. 2543 สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคำสั่งให้การบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นอิสระโดยสังกัดสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3] แยกออกจากคณะแพทยศาสตร์
ปัจจุบันนอกจากให้บริการวิชาการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนโดยทั่วไปโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติยังเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน/ฝึกอบรม ดังนี้[4] เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกสำหรับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาคารและสิ่งก่อสร้าง
[แก้]โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่รวมกลุ่มสุขศาสตร์ ทั้งสิ้น 135 ไร่ โดย ภายในมีอาคารดังนี้
- อาคาร ม.ร.ว. สุวพรรณ สนิทวงศ์ เป็นอาคาร 2 ชั้น ด้านหน้าอาคารเป็นลานจอดรถและพระพุทธรูปประจำโรงพยาบาลบริเวณกลางอาคาร เป็นสวนหย่อมซึ่งประดิษฐานรูปหล่อของ ม.ร.ว. สุวพรรณ สนิทวงศ์ เปิดเป็น หน่วยเวชระเบียน และ หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก ของ เวชศาศาตร์ครอบครัว จิตเวช และหน่วยตรวจผู้ป่วยนอก ศัลยกรรม 1
- อาคารดุลโสภาคย์ เป็นอาคาร 9 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ปัจจุบันเปิดทำการเป็นห้องตรวจผู้ป่วยนอก หน่วยไตเทียม หอผู้ป่วยในอายุรกรรม กุมารเวชกรรม จักษุวิทยา หอผู้ป่วยพิเศษ หอผู้ป่วยวิกฤติหัวใจ และกลุ่มงานเภสัชกรรม
- อาคารกิตติวัฒนา เป็นอาคาร 7 ชั้น ปัจจุบันเปิดให้บริการสำหรับผู้ป่วยอุบัติเหตุ–ฉุกเฉิน ห้องผ่าตัดอัจฉริยะ ผู้ป่วยนอกเวลาราชการและผู้ป่วยประกันสังคมนอกเวลา หอผู้ป่วยวิกฤต ห้องผ่าตัด ห้องคลอด แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู หอผู้ป่วยในศัลยกรรม ศัลยกรรมอุบัติเหตุ ศัลยกรรมระบบประสาท ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สูติ–นรีเวชกรรม ห้องปฏิบัติการชันสูตร แผนกรังสีวินิจฉัย แผนกมะเร็งวิทยาและรังสีร่วมรักษา แผนกพยาธิวิทยา สำนักงานนิติเวชวิทยา และสำนักงานต่าง ๆ
- อาคารธนาคารทหารไทย เป็นอาคาร 2 ชั้น ประกอบด้วย หอผู้ป่วยอายุรกรรม ธท.2 หอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke unit) หอผู้ป่วยยูงทอง 1 และห้องแยกปลอดเชื้อ
- อาคารปัญจา สายาลักษณ์ เป็นอาคาร 2 ชั้น ระยะแรกใช้เป็นห้องพักเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ปัจจุบันได้เปิดเป็นหอผู้ป่วยพิเศษยูงทอง 2 หอผู้ป่วยจิตเวช และคลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์
- อาคารบริการ เป็นอาคาร 3 ชั้น ดำเนินการก่อสร้างโดยใช้งบประมาณปี พ.ศ. 2538–2540 และเปิดเป็นอาคารให้บริการสนับสนุนการบริการทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น งานโภชนาการ งานซักล้าง งานจ่ายกลาง เป็นต้น
- อาคารคุณากร เป็นอาคาร 9 ชั้น เป็นสถานที่ติดต่อราชการ ที่ทำการสถานและสาขาวิชา และห้องประชุมต่าง ๆ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาคารราชสุดา เป็นอาคารการเรียนการสอนของคณะกลุ่มวิชาสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปิดให้บริการด้านทันตกรรม ของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาคารปิยชาติ เป็นอาคารการเรียนการสอนของคณะกลุ่มวิชาสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี
- อาคารศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ (อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง) เป็นอาคาร 10 ชั้น ประกอบด้วยเวชระเบียนและสำนักงาน ศูนย์ส่งกลับ คลินิกกระดูกและข้อ แผนกเจาะเลือกและเก็บสิ่งตรวจ ศูนย์รังสีวิทยา ห้องรับรอง VIP & ห้องตรวจ VIP ศูนย์หัวใจ, หลอดเลือด, ระบบประสาท และ ระบบเมตาบอลิซึ่ม คลินิกอายุรกรรม & ผิวหนัง คลินิกตา คลินิกสูตินรีเวช ศูนย์สุขภาพจิต คลินิกกุมารเวช, ศูนย์สุขภาพเด็ก ศูนย์ส่องกล้อง/ห้องผ่าตัด คลินิกพิเศษเฉพาะทาง คลินิกความงามเลเซอร์ คลินิกทันตกรรม คลินิกตรวจสุขภาพประจำปี ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ และสำนักงานบริหาร
- อาคารชวนชูชาติ วพน.7 เป็นอาคารเพื่อใช้เป็นศูนย์บริการผู้ป่วยนอกด้านรังสีวิทยา และห้องปฏิบัติการ รวมทั้งสถานที่รักษาพยาบาล และสถานที่สนับสนุนต่าง ๆ พื้นที่ใช้สอยรวม 8,433.00 ตร.ม.
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://gishealth.moph.go.th/healthmap/infoequip.php?maincode=13778&id=128744
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. (2533). พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2533. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1] เก็บถาวร 2014-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 15 กรกฎาคม 2553).
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. (2546). ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2546. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2] เก็บถาวร 2014-04-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 21 กรกฎาคม 2553).
- ↑ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. (2553). เกียรติประวัติโรงพยาบาล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3] เก็บถาวร 2009-04-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 15 กรกฎาคม 2553).