คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
Faculty of Sociology and Anthropology, Thammasat University | |
สถาปนา | 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 |
---|---|
คณบดี | รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ |
ที่อยู่ | ท่าพระจันทร์ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 ศูนย์รังสิต 99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 |
สี | สีชมพู |
เว็บไซต์ | socanth.tu.ac.th |
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อังกฤษ: Faculty of Sociology and Anthropology, Thammasat University) เป็นคณะวิชาด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคณะแรกในประเทศไทย
ประวัติ
[แก้]คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาก่อตั้งในปี พ.ศ. 2508 โดย ศ.ดร.พล.ต.บัญชา มินทรขินทร์ คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ตามประกาศในพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2508 ให้เพิ่มแผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ขึ้นในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และเรียกปริญญาบัตรในสาขาวิชานี้ว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต ชื่อภาษาอังกฤษว่า B.A. (Sociology and Anthropology)
ในการเตรียมการแรกเริ่มนั้นพลตรีบัญชา ได้พบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับนักคิดหลายท่านจากสถาบันต่างๆ อาทิ ศ.เกษม อุทยานิน ศ.ประเสริฐ แย้มกลิ่นฟุ้ง ศ.พัทยา สายหู รวมถึงการเรียนทาบทาม รศ.จำเรียง ภาวิจิตร และ รศ.เฉลิมศรี ธรรมบุตร มาร่วมงานในการเปิดแผนกวิชาดังกล่าว แต่ทว่าเมื่อถึงขั้นดำเนินการขออนุมัติตัวจากต้นสังกัด ได้รับการอนุมัติ เพียงให้มาช่วยราชการเป็นครั้งคราวประจวบกับ ศ.ดร.พลตรีบัญชา มินทรขินทร์ ได้รับคำสั่งย้าย ให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงไซง่อน จึงได้มอบภารกิจสำคัญสำหรับการดำเนินงาน จัดตั้งทีมงานรวมถึงการร่างหลักสูตรไว้กับ ศ.คุณหญิงสุภาพ วิเศษสุรการ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (เมษายน พ.ศ. 2508 – ธันวาคม พ.ศ. 2514) การดำเนินงานในการจัดตั้งผู้ร่วมงาน การร่างหลักสูตรได้ดำเนินลุล่วงไปด้วยดี
ต่อมาปี พ.ศ. 2520 แผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้ปรับสถานะเป็นแผนกวิชาอิสระ มีสถานะเทียบเท่าคณะในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2520 ต่อมาได้ปรับสถานะเป็น คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 สำหรับการพัฒนาทางวิชาการ คณะได้เปิดสอนระดับปริญญาโท สาขาวิชาสังคมวิทยา โดยใช้ชื่อปริญญาบัตรว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (สังคมวิทยา) ชื่อภาษาอังกฤษว่า Master of Arts (Sociology) ต่อมาได้เปิดหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชามานุษยวิทยา โดยใช้ชื่อปริญญาบัตรว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) ชื่อภาษาอังกฤษว่า Master of Arts (Anthropology) ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมการวิจัยภาคสนาม
ในปี พ.ศ. 2538 คณะได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรการวิจัยทางสังคม โดยใช้ชื่อปริญญาบัตรว่า ประกาศนียบัตรบัณฑิตการวิจัยทางสังคม ชื่อภาษาอังกฤษว่า Graduate Diploma in Social Research ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม (โครงการพิเศษ) โดยใช้ชื่อปริญญาบัตรว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต (การวิจัยทางสังคม) ชื่อภาษาอังกฤษว่า Bachelor of Arts (Social Research) ในปี พ.ศ. 2552 ได้เปิดโครงการปริญญาเอก สาขาวิชามานุษยวิทยา โดยใช้ชื่อปริญญาบัตรว่า ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (มานุษยวิทยา) ชื่อภาษาอังกฤษว่า Doctor of Philosophy (Anthropology) Ph.D. (Anthropology) และในปี พ.ศ. 2554 ได้เปิดโครงการปริญญาโท สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม โดยใช้ชื่อปริญญาบัตรว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (การวิจัยทางสังคม) ชื่อภาษาอังกฤษว่า Master of Arts Program in Social Research[1]
หลักสูตร
[แก้]หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[2] | ||
---|---|---|
ปริญญาตรี | ปริญญาโท | ปริญญาเอก |
หลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต (สม.บ.)
|
หลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (สม.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
สัญลักษณ์
[แก้]สัญลักษณ์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เริ่มใช้อย่างเป็นทางการในโอกาสครบรอบ 48 ปี วันคล้ายวันสถาปนาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ใน พ.ศ. 2556 มีที่มาจากแก้วหลากสี (polychrome glass) รูปศีรษะบุคคล สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ซึ่งพบบริเวณปากแม่น้ำโขง
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ อาจารย์ประจำคณะเขียนถึงแก้วหลากสีและสัญลักษณ์ดังกล่าวไว้ว่า "ความสำคัญของวัตถุชิ้นนี้ที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดก็คือ "สำนึกในความเป็นมนุษย์" เป็นสิ่งสากล ข้ามพื้นที่และเวลา ไม่ว่าจะเป็น "ตัวเรา" "ตัวเขา" หรือ "ผู้อื่น" จะเป็นภาพตัวแทนของคนที่อาศัยอยู่ใน "ชนบท" "ชายแดน" หรือ "เมืองใหญ่" เราต่างล้วนเป็น "มนุษย์" ที่ไม่มีเรื่องให้ต้องแปลกประหลาดใจ เช่นเดียวกับภาระหน้าที่ของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาก็คือ การเรียนรู้และทำความเข้าใจมนุษย์ ซึ่งอาจไม่ใช่จำเพาะเพื่อตัวมนุษย์เอง หากต้องขยายวงกว้างออกไปสู่สิ่งของและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รอบตัวเราด้วยเช่นกัน"[3]
รายนามคณบดี หัวหน้าแผนก และประธานนักศึกษา
[แก้]หัวหน้าแผนกวิชา[4] | |
รายนามหัวหน้าแผนกวิชา | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1. ศาสตราจารย์ คุณหญิง สุภาพ วิเศษสุรการ | เมษายน พ.ศ. 2508 – ธันวาคม พ.ศ. 2514 |
2. อาจารย์ จำเรียง ภาวิจิตร | มกราคม พ.ศ. 2516 – มิถุนายน พ.ศ. 2517 |
3. อาจารย์ ปรารมภ์ มณีนันทน์ | มิถุนายน พ.ศ. 2517 – สิงหาคม พ.ศ. 2517 (รักษาการในตำแหน่ง) |
4. อาจารย์ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน | สิงหาคม พ.ศ. 2517 – ตุลาคม พ.ศ. 2517 |
5. อาจารย์ สุมิตร ปิติพัฒน์ | พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 (รักษาการในตำแหน่ง) |
6. อาจารย์ ร้อยตำรวจเอก ดร.หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ | พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 – ธันวาคม พ.ศ. 2519 |
หัวหน้าแผนกอิสระ[4] | |
รายนามหัวหน้าแผนกอิสระ | วาระการดำรงตำแหน่ง |
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร้อยตำรวจเอก ดร.หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ | มกราคม พ.ศ. 2520 – พฤษภาคม พ.ศ. 2520 (รักษาการในตำแหน่ง) |
2. รองศาสตราจารย์ จำเรียง ภาวิจิตร | พฤษภาคม พ.ศ. 2520 – กรกฎาคม พ.ศ. 2524 |
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุมิตร ปิติพัฒน์ 3. รองศาสตราจารย์ สุมิตร ปิติพัฒน์ |
กรกฎาคม พ.ศ. 2524 – กรกฎาคม พ.ศ. 2526 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 (รักษาการในตำแหน่ง) |
คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[4] | |
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
1. รองศาสตราจารย์ สุมิตร ปิติพัฒน์ | กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527– เมษายน พ.ศ. 2527 (รักษาการในตำแหน่ง) มิถุนายน พ.ศ. 2531 – พฤษภาคม พ.ศ. 2534 |
2. รองศาสตราจารย์ เฉลิมศรี ธรรมบุตร | เมษายน พ.ศ. 2527 – เมษายน พ.ศ. 2529 |
3. รองศาสตราจารย์ ยุทธ ศักดิ์เดชยนต์ | เมษายน พ.ศ. 2529 – พฤษภาคม พ.ศ. 2531 |
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กมลา แสงสีทอง | มิถุนายน พ.ศ. 2534 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 |
5. รองศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ นิยมญาติ | ธันวาคม พ.ศ. 2536 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 |
6. อาจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์ 6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรชัย ตระกูลวรานนท์ |
ธันวาคม พ.ศ. 2538 – ธันวาคม พ.ศ. 2541 ธันวาคม พ.ศ. 2541 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ธันวาคม พ.ศ. 2547 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ธันวาคม พ.ศ. 2550 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 |
7. รองศาสตราจารย์ ดร.วรพล พรหมิกบุตร | ธันวาคม พ.ศ. 2544 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 |
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิราภา วรเสียงสุข | ธันวาคม พ.ศ. 2553 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 |
9. รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ | ธันวาคม พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน |
ประธานคณะกรรมการนักศึกษา | |
ประธานคณะกรรมการนักศึกษา | วาระดำรงตำแหน่ง |
นายวรพช คชรัตน์ | ปัจจุบัน (ปีการศึกษา 2556) |
การประกันคุณภาพการศึกษา
[แก้]ในปีการศึกษา 2550 การดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพการศึกษา มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปีการศึกษา 2548 และปีการศึกษา 2549 จาก 7 มาตรฐาน 52 ตัวบ่งชี้ เป็น 9 องค์ประกอบ 68 ตัวบ่งชี้ โดยกำหนดให้องค์ประกอบแรกเป็นปรัชญา ปณิธาน วัตถุประสงค์และแผนงาน แยกออกมาให้เห็นเด่นชัด ตามด้วยองค์ประกอบการเรียนการสอนที่มีตัวบ่งชี้เกี่ยวข้องกับระบบและกลไกใน การพัฒนาและบริหารหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐาน กระบวนการพัฒนาอาจารย์ กระบวนการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมนอกหลักสูตรของนักศึกษา องค์ประกอบงานวิจัย การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การบริหารและการจัดการ การเงินและงบประมาณ และระบบกลไกการประกันคุณภาพ
ผลการดำเนินงานโดยพิจารณาจากการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานในระบบประกันคุณภาพการศึกษา พบว่าในปีการศึกษา 2550 คณะสังคมวิทยาฯ ได้ผลการประเมินโดยรวมในระดับ "ดี" โดยมีค่าเฉลี่ยรวมทุกองค์ประกอบเท่ากับ 3.79 โดยเฉพาะในองค์ประกอบที่ 3 ด้านกิจกรรมการพัฒนานิสิตนักศึกษา และองค์ประกอบที่ 6 ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มีผลการประเมินในระดับ "ดีมาก"
บุคคลที่มีชื่อเสียง
[แก้]- ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ อดีตอาจารย์ประจำ
- รศ.ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ อดีตอาจารย์ประจำ
- ธีรยุทธ บุญมี (อาจารย์ประจำ) อดีตเลขาธิการศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, นักเขียนรางวัลศรีบูรพา
- รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร อาจารย์ประจำ, อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "ทฤษฏีความเป็นกลางของสื่อสารมวลชน : ข้อเสนอ ความคิดเชิงสังคมวิทยา" ในโครงการตะเกียงรั้ว เมื่อปี พ.ศ. 2540
- รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ อาจารย์ประจำ
- ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน
- อ.ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อาจารย์ประจำ, ศิษย์เก่า (ปริญญาโท) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
- ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตอาจารย์ประจำ, ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
- บุญเลิศ วิเศษณ์ปรีชา อาจารย์ประจำ, ผู้ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นเรื่อง "เปิดโลกคนไร้บ้าน"
- พิศิษฐ์ โชคปรีชา ศิษย์เก่า, อดีตผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ
- ดร.นพดล กรรณิกา ศิษย์เก่า (ปริญญาโท), ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการนำเสนอผลวิจัยปี ค.ศ. 2009 จากการวิจัยความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness, GDH) จาก the World Association for Public Opinion Research, WAPOR
- สรกล อดุลยานนท์ ศิษย์เก่า, นักเขียนนามปากกา "หนุ่มเมืองจันท์"
- บุษกร วงศ์พัวพันธ์ ศิษย์เก่า, นักแสดง
- เข็มอัปสร สิริสุขะ ศิษย์เก่า, นักแสดง
- วิวัฒน์ ผสมทรัพย์ ศิษย์เก่า, นักแสดง
- ฌอห์ณ จินดาโชติ ศิษย์เก่า, นักแสดง
- อติมา ธนเสนีวัฒน์ นักแสดง
- สิริพร ชูติกุลัง ศิษย์เก่า, ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง
- พลอยไพลิน คาวันดี ศิษย์เก่า, ดารานักแสดง, นางแบบ
- เพลินใจ แต้เกษม, กรมราชทัณฑ์
- พัชญา เพียรเสมอ นักแสดง สังกัด ช่อง 7
- ชนนันท์ เลิศปัญญาพรชัย – รองอันดับ 1 : มิสทีนไทยแลนด์ ค.ศ. 2014
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "เกี่ยวกับคณะ - Faculty of Sociology and AnthropologyFaculty of Sociology and Anthropology". Faculty of Sociology and Anthropology (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "หลักสูตร Archives - Faculty of Sociology and AnthropologyFaculty of Sociology and Anthropology". Faculty of Sociology and Anthropology (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ http://socanth.tu.ac.th/about/from-polychrome-glass-to-tu-soc-anth/
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "รายนามคณบดี - Faculty of Sociology and AnthropologyFaculty of Sociology and Anthropology". Faculty of Sociology and Anthropology (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).