ข้ามไปเนื้อหา

อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน
พระสาทิสลักษณ์พระนางอาลีเยนอร์
ดัชเชสแห่งอากีแตน
ครองราชย์9 เมษายน ค.ศ. 1137 – 1 เมษายน ค.ศ. 1204
ก่อนหน้ากีโยมที่ 10
ถัดไปจอห์น
สมเด็จพระราชินีแห่งชนแฟรงค์
ครองราชย์1 สิงหาคม ค.ศ. 1137 – 21 มีนาคม ค.ศ. 1152
ราชาภิเษก25 ธันวาคม ค.ศ. 1137
สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
ครองราชย์19 ธันวาคม ค.ศ. 1154 – 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1189
ราชาภิเษก19 ธันวาคม ค.ศ. 1154
พระราชสมภพราวๆ 1122
ปัวตีเย
สวรรคต1 เมษายน ค.ศ. 1204 (พระชนมายุ ราวๆ 80/81 พรรษา)
ปัวตีเย ราชอาณาจักรอังกฤษ
ฝังพระศพอารามฟองเทวฟรอด์, ฟองเทวฟรอด์
พระราชสวามี
พระราชบุตร
รายละเอียด
ราชวงศ์ปัวตีเย
พระราชบิดากีโยมที่ 10 ดยุกแห่งอากีแตน
พระราชมารดาดัชเชสอาเยนอร์แห่งชาเตลแลร์อูลต์
ศาสนาโรมันคาทอลิก

อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ หรือ อาลีเยนอร์แห่งอากีแตน สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส ดัชเชสแห่งอากีแตนและแกสโคนี และเคานทเทสแห่งปัวตู (อังกฤษ: Eleanor of Aquitaine หรือ Aliénor) (ราว ค.ศ. 1122[1] - 1 เมษายน ค.ศ. 1204)

พระราชินีอาลีเยนอร์ประสูติเมื่อราว ค.ศ. 1122 ที่ปราสาทเบแล็ง ฝรั่งเศส เป็นพระธิดาของกีโยมที่ 10 ดยุกแห่งอากีแตนและดัชเชสอาเยนอร์แห่งชาเตลแลร์อูลต์ เป็นสมเด็จพระราชินีของฝรั่งเศสในพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1137 ถึงวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1152 และสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษในพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1154 ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1189 นอกจากนั้นก็ยังเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์อังกฤษสองพระองค์พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ และพระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ และทรงมีส่วนร่วมในการเดินทางไปต่อสู้ในสงครามครูเสดครั้งที่ 2 อาลีเยนอร์แห่งอากีแตนสิ้นพระชนม์เมื่อ 1 เมษายน ค.ศ. 1204 ที่อารามฟองเทวฟรอด์ ในฝรั่งเศส พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงเป็นสตรีที่มีฐานะดีและอำนาจมากที่สุดในยุโรปยุคกลาง

เบื้องต้น

[แก้]
ตราประจำแคว้นอากีแตน

อาลีเยนอร์แห่งอากีแตนทรงเป็นธิดาองค์โตของกีโยมที่ 10 ดยุกแห่งอากีแตน และดัชเชสอาเยนอร์แห่งชาเตลแลร์อูลต์ ผู้เป็นธิดาของไอเมอริคที่ 1 ไวเคานท์แห่งแชเทลเลโรลท์และเคานเทสแดงเกอร์รูสผู้เป็นภรรยาน้อยของกีโยมที่ 9 ดยุกแห่งอากีแตนและพระอัยกีของพระราชินีอาลีเยนอร์ การเสกสมรสของพระบิดาและมารดาเป็นการจัดการโดยดยุกวิลเลียมที่ 9 พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงได้รับการขนานพระนามตามพระมารดาเอเนอร์เป็น “Aliénor” จากภาษาละติน “alia Aenor” ซึ่งแปลว่า “อาลีเยนอร์อีกคนหนึ่ง” พระนามกลายมาเป็น “Eléanor” ในภาษาล็องก์ดอยล์ และ “Eleanor” ในภาษาอังกฤษ

อาลีเยนอร์แห่งอากีแตนทรงได้รับการเลี้ยงดูขึ้นมาในราชสำนักที่ถือกันว่ามีวัฒนธรรมดีที่สุดราชสำนักหนึ่งในยุโรปในสมัยนั้น ซึ่งเป็นที่กำเนิดของปรัชญารักในราชสำนัก (courtly love) ดยุกกีโยมที่ 10 พยายามส่งเสริมให้พระราชินีอาลีเยนอร์มีการศึกษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าภาษาแม่ของพระราชินีอาลีเยนอร์จะเป็นภาษาปัวเตแวน (Poitevin) แต่ก็ทรงได้รับการศึกษาในภาษาละติน การดนตรี วรรณคดี การทรงม้า การล่าด้วยเหยี่ยว และการล่าสัตว์ อาลีเยนอร์มีพระลักษณะที่ชอบการสังคม มีพระปรีชาสามารถฉลาดเฉลียว และทรงมีชื่อว่าเป็นผู้มีหัวแข็ง นอกจากนั้นก็ทรงมีชื่อว่ามีพระสิริโฉมงดงามโดยผู้คนร่วมสมัยแต่ไม่มีหลักฐานคำบรรยายความงามของพระองค์หลงเหลืออยู่

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1130 เมื่ออาลีเยนอร์มีพระชนมายุได้ 8 พรรษา วิลเลียมพระอนุชาผู้มีพระชนมายุ 4 พรรษาและพระมารดาก็สิ้นพระชนม์ที่ปราสาททาลมองต์ทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของอากีแตน อาลีเยนอร์จึงกลายเป็นทายาทของแคว้นอากีแตนซึ่งเป็นแคว้นที่ใหญ่และร่ำรวยที่สุดในฝรั่งเศสในเวลานั้น ปัวตูและอากีแตนรวมกันมีเนื้อที่กว่าหนึ่งในสามของฝรั่งเศสปัจจุบัน อาลีเยนอร์มีน้องที่เป็นธิดาในสมรสเพียงองค์เดียวชื่อเอลิธ (Aelith) แต่มักจะเรียกกันว่าเปทรอนีย์แห่งอากีแตน พระเชษฐาต่างพระมารดา วิลเลียม และ จอสเซแล็ง ยอมรับกันว่าเป็นบุตรของดยุกกีโยมที่ 10 แต่มิได้เป็นมิสิทธิเป็นทายาท ต่อมาระหว่างสี่ปีแรกของรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ พระขนิษฐาและอนุชาสามพระองค์ก็เข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชสำนักของพระราชินีอาลีเยนอร์

ราชสมบัติและการเสกสมรสครั้งแรก

[แก้]
การอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเจ้าชายหลุยส์แห่งฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1137 ดยุกกีโยมที่ 10 ก็เดินทางจากปัวตูไปบอร์โดซ์โดยนำอาลีเยนอร์และเปทรอนีย์ไปด้วย เมื่อไปถึงบอร์โดซ์อาลีเยนอร์และเปทรอนีย์ก็ถูกทิ้งไว้ในความปกครองของเจฟฟรีย์แห่งโลรูซ์บาทหลวงแห่งบอร์โดซ์ผู้ที่วิลเลียมไว้วางใจในการดูแลความปลอดภัยของลูกสาว แล้วดยุกวิลเลียมก็เดินทางต่อไปยังมหาวิหารเซนต์เจมส์แห่งคอมโพสเตลลาทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปนเพื่อไปแสวงบุญ แต่เมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1137 ซึ่งเป็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday) ดยุกวิลเลียมก็ล้มป่วยด้วยสาเหตุที่อาจจะมาจากอาหารเป็นพิษ วิลเลียมสิ้นชีวิตค่ำวันเดียวกัน อากีแตนจึงตกไปเป็นของอาลีเยนอร์

อาลีเยนอร์มีพระชนมายุได้ 15 พรรษาเมื่อได้เป็นดัชเชสแห่งอากีแตนซึ่งทำให้เป็นผู้ที่เป็นที่ต้องการในการเสกสมรสไปทั้งยุโรป ในสมัยนั้นการลักพาตัวของผู้มีตำแหน่งดีเป็นการกระทำที่ยอมรับกันว่าว่าเป็นวิธีที่เร็วที่สุดที่จะได้ดินแดนและตำแหน่งใหม่ แต่วิลเลียมบอกพินัยกรรมในวันที่สิ้นชีวิตยกอากีแตนให้อาลีเยนอร์และขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส พระนามเล่น “พระเจ้าหลุยส์อ้วน” ให้เป็นผู้ดูแลอาลีเยนอร์ ดยุกวิลเลียมขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 ทรงดูแลทั้งแผ่นดินอากีแตนและอาลีเยนอร์ และให้หาสามีที่เหมาะสมให้ วิลเลียมสั่งให้รักษาข้อความในพินัยกรรมไว้เป็นความลับจนกว่าจะถึงพระหัตถ์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 ผู้ถือพินัยกรรมจึงเดินทางอย่างเร่งด่วนข้ามเทือกเขาพิเรนีสโดยแวะที่บอร์โดซ์เพื่อบอกข่าวแก่บาทหลวงแห่งบอร์โดซ์ก่อนที่จะเดินทางไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 ที่ปารีส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 เองในขณะนั้นก็ประชวรหนักจากโรคบิด (dysentery) และดูเหมือนว่าจะไม่ทรงรอด แต่แม้ว่าจะประชวรหนักพระเจ้าหลุยส์ก็มีพระสติดีพอที่จะคำนึงถึงสถานะการณ์ของพระองค์เองและสถานะการณ์ใหม่ แทนที่จะทรงดูแลอากีแตนและอาลีเยนอร์อย่างที่ดยุกวิลเลียมขอไว้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 ทรงตัดสินพระทัยจัดการเสกสมรสระหว่างอาลีเยนอร์กับพระโอรสของพระองค์เองแทนที่ ซึ่งทรงหวังว่าจะเป็นการผนวกดินแดนอากีแตนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฝรั่งเศส และเป็นการเพิ่มอำนาจของฝรั่งเศสและของราชวงศ์คาเปต์ ฉะนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ทรงได้รับข่าว พระเจ้าหลุยส์ที่ 6 ก็มีพระราชโองการให้หลวงพ่อซูว์เฌจัดการเสกสมรสระหว่างเจ้าชายหลุยส์พระราชโอรสกับอาลีเยนอร์ เจ้าชายหลุยส์ทรงถูกส่งไปบอร์โดซ์พร้อมกับอัศวินอีก 500 คน รวมทั้ง หลวงพ่อซูว์เฌ, ทีโอโบลด์ที่ 2 เคานท์แห่งชองปาญ และ ราอูลที่ 1 เคานท์แห่งแวร์มองดัว

เจ้าชายหลุยส์เสด็จไปถึงบอร์โดซ์เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พอวันรุ่งขึ้นก็ทรงพบกับเจฟฟรีย์แห่งโลรูซ์บาทหลวงแห่งบอร์โดซ์ผู้ดูแลอาลีเยนอร์และเปทรอนีย์ เจ้าชายหลุยส์และอาลีเยนอร์ทรงเสกสมรสกันที่มหาวิหารแซ็ง-อองเดรแห่งบอร์โดเป็นพิธีใหญ่โตมีผู้เข้าร่วมพิธีราวพันคน แต่ในเรื่องดินแดนมีข้อแม้ว่าดินแดนอากีแตนเป็นอิสระจากฝรั่งเศส และจะรวมกับฝรั่งเศสก็ต่อเมื่ออาลีเยนอร์มีพระโอรส พระโอรสองค์โตที่เกิดกับอาลีเยนอร์จึงจะได้ดำรงพระอิสริยศเป็นทั้งพระเจ้าแผ่นดินของฝรั่งเศสและดยุกแห่งอากีแตน ฉะนั้นดินแดนของอาลีเยนอร์จะไม่ได้รับการผนวกกับฝรั่งเศสจนรุ่นพระโอรสถ้าทรงมี ของขวัญที่อาลีเยนอร์ถวายเจ้าชายหลุยส์ในวันเสกสมรสเป็นแจกันทำจากควอตซ์ (rock crystal vase) ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์

พระลักษณะนิสัยที่เป็นตัวของตัวเอง (free spirit) ของอาลีเยนอร์ไม่เป็นที่นิยมของชาวฝรั่งเศสทางเหนือเท่าใดนัก (ตามความเห็นของ อเดลเลดแห่งมอเรียน (Adélaide de Maurienne) พระมารดาของเจ้าชายหลุยส์ที่กล่าวว่าพระนิสัยเช่นนี้เป็นอิทธิพลที่ไม่ดี) พระจริยาวัตรต่างๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยพระอาวุโสโดยเฉพาะจากเบอร์นาร์ดแห่งแคลโวซ์และหลวงพ่อซูว์เฌเองว่าไม่เหมาะสมกับสำหรับผู้เป็นสมาชิกของราชสำนัก แต่เจ้าชายหลุยส์ทรงหลงรักอาลีเยนอร์อย่างถอนพระองค์ไม่ขึ้นและทรงเอาพระทัยอาลีเยนอร์ทุกอย่างแม้ว่าพระนิสัยจะทำให้พระองค์ฉงนสนเท่ห์ไปต่างๆ ทรัพย์ที่พระราชทานส่วนใหญ่ใช้ตกแต่วังในปารีสเพื่ออาลีเยนอร์[ต้องการอ้างอิง]

ความขัดแย้งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 กับสถาบันศาสนา

[แก้]
มหาวิหารแซงต์เดอนีส์

แม้ว่าพระเจ้าหลุยส์จะทรงเป็นผู้เคร่งครัดทางศาสนาแต่ก็มาเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 2 ในปี ค.ศ. 1141 เรื่องตำแหน่งบาทหลวงแห่งบอร์กส์ เมื่อตำแหน่งบาทหลวงว่างลง พระเจ้าหลุยส์ก็ทรงเสนอคาร์เดิร์คองค์มนตรีคนหนึ่งของพระองค์ให้เป็นบาทหลวงคนใหม่และไม่ทรงยอมรับปีแอร์ เดอ ลา ชาร์ทร์ ผู้ซึ่งเหมาะสมกว่าและได้รับการเลือกโดยสภานักบวชแห่งบอร์กและได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการจากพระสันตะปาปา พระเจ้าหลุยส์มีพระราชโองการให้ปิดประตูมหาวิหารไม่ให้บาทหลวงใหม่เข้า พระสันตะปาปาจำได้ถึงสถานะการณ์ที่คล้ายคลึงกันที่ดยุกกีโยมที่ 10 พระบิดาของอาลีเยนอร์ที่พยายามเนรเทศผู้สนับสนุนพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ปัวตูโดยตั้งคนของตนเองเป็นนักบวชแทนที่ พระสันตะปาปาจึงโทษว่าเป็นความผิดของอาลีเยนอร์ และพระเจ้าหลุยส์ยังไม่เจริญพระชันษาพอและควรจะทรงถูกสอนมารยาทบ้าง พระเจ้าหลุยส์พิโรธเป็นอันมากทรงสาบานต่อวัตถุมงคลว่าตราบใดที่ยังมีพระชนม์ชีพจะไม่ทรงอนุญาตให้ปีแอร์เข้าเมืองบอร์ก การกระทำของพระองค์ทำให้ทางสถาบันโรมันคาทอลิกออกประกาศลงโทษ (Interdict) ต่อพระเจ้าหลุยส์ ปีแอร์ เดอ ลา ชาร์ทร์ไปลี้ภัยอยู่กับทีโอโบลด์ที่ 2 เคานท์แห่งชองปาญ

พระเจ้าหลุยส์จึงทรงเข้าสงครามกับเคานท์ทีโอโบลด์และทรงอนุญาตสภากฎหมาย (seneschal) ประกาศให้การแต่งงานของราอูลที่ 1 เคานท์แห่งแวร์มองดัวกับเลโอโนราผู้เป็นหลานของทีโอโบลด์เป็นโมฆะ เพื่อให้ราอูลมาแต่งงานกับเปทรอนีย์แห่งอากีแตนพระขนิษฐาของอาลีเยนอร์ อาลีเยนอร์ทรงยุให้พระเจ้าหลุยส์สนับสนุนการเสกสมรสที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายของพระขนิษฐากับราอูลเคานท์แห่งแวร์มองดัว เคานท์แห่งชองปาญหยามพระพักตร์โดยไปเข้าข้างพระสันตะปาปา สงครามเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1142 และสิ้นสุดในปี ค.ศ. 1144 ด้วยการยึดครองชองปาญโดยพระเจ้าหลุยส์ พระเจ้าหลุยส์ทรงโจมตีและเผาเมืองวิทรี (Vitry) ด้วยพระองค์เอง กล่าวกันว่าในการเผาเมืองประชาชนกว่าพันคนที่หนีหลบภัยเข้าไปในวัดแต่ก็ถูกเผาตาย

หลังจากการโจมตีชองปาญแล้วพระเจ้าหลุยส์ทรงรู้สึกสยดสยองต่อความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทรงพยายามสร้างสันติภาพกับเคานท์ทีโอโบลด์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่เคานท์ทีโอโบลด์สนับสนุนพระองค์ในการค้านสถาบันศาสนาที่ยับยั้งการแต่งงานระหว่างราอูลเคานท์แห่งแวร์มองดัวและเปทรอนีย์แห่งอากีแตน เคานท์ทีโอโบลด์ยอมตกลงพอที่จะมีเวลาสร้างเสริมชองปาญ พอเสร็จก็กลับคำสถานะการณ์จึงเป็นไปตามเดิมเมื่อราอูลไม่ยอมทิ้งเปทรอนีย์ ซึ่งทำให้พระเจ้าหลุยส์ต้องเสด็จกลับมาโจมตีชองปาญอีกครั้งหนึ่ง

ในปี ค.ศ. 1144 พระเจ้าหลุยส์และพระราชินีอาลีเยนอร์เสด็จไปมหาวิหารแซงต์เดอนีส์ซึ่งเป็นมหาวิหารที่สร้างใหม่ ขณะที่ทรงเยี่ยมพระราชินีอาลีเยนอร์ก็พบกับเบอร์นาร์ดแห่งแคลโวซ์ จึงทรงยื่นคำร้องให้เบอร์นาร์ดแห่งแคลโวซ์ช่วยเจรจากับพระสันตะปาปาเพื่อให้ยกเลิกการบรรพาชนียกรรม (excommunication) ที่ทรงประกาศต่อราอูลและเปทรอนีย์เป็นการแลกเปลี่ยนกับการคืนชองปาญให้กับเคานท์ทีโอโบลด์และการยอมรับปีแอร์ เดอ ลา ชาร์ทร์เป็นบาทหลวงแห่งบอร์กส์ แต่กลับทรงถูกเบอร์นาร์ดดุว่าควรจะทรงสำนึกผิดในสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่ควรทรงยุ่งเกี่ยวกับกิจการของราชอาณาจักร อาลีเยนอร์ได้ฟังก็กรรแสงและทรงแก้พระองค์ว่าที่ทรงทำเช่นนั้นก็อาจจะมาจากการที่มีพระอารมณ์ที่ไม่ค่อยปกติเพราะการที่ยังไม่มีพระโอรส พอเห็นเช่นนั้นเบอร์นาร์ดก็ใจอ่อนและถวายคำแนะนำว่าให้ทรงหาทางที่ให้ความสุขต่อพระองค์เองและเลิกยุยงให้พระเจ้าหลุยส์เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันศาสนา และถ้าอาลีเยนอร์สัญญาว่าจะทำเช่นนั้นเบอร์นาร์ดก็จะสวดมนต์ให้พระเจ้าประทานพรให้อาลีเยนอร์มีพระโอรส[2]

ภายในสองสามอาทิตย์ต่อมาฝรั่งเศสก็ได้รับสันติสุข เคานท์ทีโอโบลด์ได้รับชองปาญคืน ปีแอร์ เดอ ลา ชาร์ทร์ได้เป็นบาทหลวงแห่งบอร์กส์อย่างเป็นทางการ และในปี ค.ศ. 1145 พระราชินีอาลีเยนอร์ก็ให้กำเนิดพระราชธิดา มารี แต่พระเจ้าหลุยส์ยังทรงรู้สึกว่าทรงทำผิดเมื่อสังหารผู้คนที่วิทรี จึงทรงแสดงพระประสงค์ที่จะไปแสวงบุญที่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการแก้บาป พระราชประสงค์ของพระองค์ประจวบกับพระราชประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 4 ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1145 พระสันตะปาปายูจีนก็ขอให้พระเจ้าหลุยส์นำกองทัพครูเสดไปยังตะวันออกกลางเพื่อช่วยราชอาณาจักรแฟรงค์จากความหายนะ พระเจ้าหลุยส์ทรงประกาศพระราชประสงค์ที่จะเสด็จไปสงครามครูเสดอย่างเป็นทางการที่มหาวิหารบอร์กส์

สงครามครูเสด

[แก้]
เบอร์นาร์ดแห่งแคลโวซ์เทศนาที่เวเซเลย์ต่อหน้าผู้เข้าร่วมสงครามครูเสดครั้งที่สอง

พระราชินีอาลีเยนอร์และพระเจ้าหลุยส์ทรงถือกางเขนครูเสดระหว่างการเทศนาของเบอร์นาร์ดแห่งแคลโวซ์ พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงติดตามกองทัพพร้อมกับนางสนองพระโอษฐ์และข้าราชบริพารสตรีอื่นๆ อีกราว 300 คน ทรงยืนยันในการมีส่วนร่วมในสงครามครูเสดในฐานะผู้นำทัพของแคว้นในการปกครองของพระองค์ ข่าวลือที่ว่าพระองค์เองและสตรีผู้ติดตามทรงเครื่องแบบแบบสตรีอเมซอนเป็นข่าวลือที่นักประวัติศาสตร์ไม่ถือว่ามีมูลเท่าใดนัก แต่การที่ทรงประกาศสงครามครูเสดครั้งที่สองจากเวเซเลย์ซึ่งลือกันว่าเป็นที่ฝังนักบุญแมรี แม็กดาเลนเป็นการเน้นความสำคัญของบทบาทสตรีในการทัพของสงครามครูเสดครั้งที่สอง

สงครามครูเสดครั้งนี้โดยทั่วไปมิได้ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก พระเจ้าหลุยส์ทรงเป็นนายทัพที่อ่อนแอไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทรงสามารถรักษาวินัยและรู้วิธีปลุกใจทหารในการต่อสู้ นอกจากนั้นก็ไม่ทรงรู้วิธีการใช้ยุทธวิธีในการต่อสู้ แต่กระนั้นทั้งพระเจ้าหลุยส์และพระราชินีอาลีเยนอร์ก็ได้รับความนิยมจากประชาชนในสิ่งที่ทรงตั้งพระทัยจะทำให้สำเร็จเป็นอันมาก พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็นเพ็นเธซิเลีย (Penthesilea) พระราชินีในตำนานอเมซอนโดยนักประวัติศาสตร์กรีกนิเซทัส โคนิอาเทส (Nicetas Choniates) และกล่าวต่อไปว่าทรงได้รับพระนามว่า “พระบาททอง” (chrysopous) จากชายครุยทองที่ตกแต่งขอบฉลองพระองค์ พระเจ้าหลุยส์และพระราชินีอาลีเยนอร์ประทับที่พระราชวังฟิลโลเพทิออน (Philopation palace) นอกกำแพงเมืองเยรูซาเลม

เมื่อกองทัพครูเสดเข้าสู่เอเชียไมเนอร์สถานะการณ์ก็เริ่มเลวลง แต่พระเจ้าหลุยส์และพระราชินีอาลีเยนอร์ยังทรงคิดว่าสถานะการณ์ยังอยู่ในสภาพดี จักรพรรดิไบแซนไทน์ทรงรายงานว่าพระเจ้าคอนราดที่ 3 แห่งเยอรมนีทรงได้รับชัยชนะต่อกองทัพตุรกี (ซึ่งอันที่จริงแล้วกองทัพเยอรมันถูกสังหารอย่างเกือบไม่เหลือหรอ) แต่เมื่อทรงตั้งค่ายอยู่ที่นิเซีย (Nicea) กองทหารเยอรมันที่รอดมาได้รวมทั้งพระเจ้าคอนราดเองที่อยู่ในสภาพที่ร่อแร่ ก็มาถึงค่ายทหารฝรั่งเศส และนำข่าวการพ่ายแพ้อย่างยับเยินมาบอก กองทหารฝรั่งเศสกับกองทหารเยอรมันที่เหลือก็รวมตัวเดินทัพอย่างไม่เป็นระเบียบต่อไปยังอันติออค กองทหารยังมีกำลังใจดีในวันก่อนวันคริสต์มาสเมื่อตั้งค่ายที่อีฟิซัส แต่ถูกกองทหารตุรกีซุ่มโจมตีแต่ทหารฝรั่งเศสสามารถตอบโต้ได้

พระเจ้าหลุยส์ตัดสินพระทัยข้ามเทือกเขาฟริเจียน (Phrygian mountains) เพราะทรงหวังว่าจะเดินทางได้ร่นระยะการเดินทางขึ้นเพื่อที่จะไปพึ่งเรย์มงด์แห่งอันติออคพระปิตุลาของพระราชินีอาลีเยนอร์ แต่เมื่อทรงเริ่มเดินขึ้นเขาก็ทรงเห็นภาพที่สยดสยองของทหารเยอรมันที่ถูกสังหารก่อนหน้านั้นนอนอยู่เกลื่อนกลาด

วันที่จะข้ามเขาแคดโมสพระเจ้าหลุยส์ทรงเลือกคุมกองหลังซึ่งเป็นกลุ่มของนักแสวงบุญผู้ไม่ถืออาวุธและกองเครื่องใช้ต่างๆ กองหน้าที่พระราชินีอาลีเยนอร์ร่วมเดินนำโดยเจฟฟรีแห่งแรนคองนายทหารจากแคว้นในการปกครองของอากีแตน ถึงแม้ว่าจะต้องควบคุมสิ่งของต่างแต่เจฟฟรีก็ขึ้นถึงยอดเขาแคดโมสสำเร็จ ซึ่งตามพระราชโองการแล้วเจฟฟรีก็ควรจะไปตั้งค่ายคอยรอกองหลังอยู่บนยอดเขา แต่เจฟฟรีตัดสินใจเดินทัพต่อเพื่อจะไปสมทบกับเคานท์แห่งมอเรียนพระปิตุลาของพระเจ้าหลุยส์ตรงบริเวณที่เป็นที่ราบสูงซึ่งเหมาะแก่การตั้งค่ายมากกว่า การขัดพระราชโองการเช่นนี้ดูเป็นเรื่องปกติของการเดินทัพครั้งนี้ เพราะพระเจ้าหลุยส์มิได้ออกคำสั่งอย่างเด็ดขาด

ราวบ่ายอ่อนๆ ทางกองหลังก็คิดว่าเกือบถึงจุดหมายที่จะตั้งค่ายบนยอดเขา ก็เริ่มระส่ำระสายแบ่งแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ บางกลุ่มก็เดินเลยยอดเขาไปแล้วแต่บางกลุ่มก็ยังพยายามเดินให้ถึงยอด ทหารตุรกีที่เฝ้าติดตามดูมาหลายวันเห็นได้ทีก็โจมตีผู้ที่ยังไม่ได้ข้ามยอดเขา ขณะที่ทหารฝรั่งเศสและนักแสวงบุญที่ถูกโจมตีโดยคาดไม่ถึงไม่มีทางหลบหนี ผู้ที่พยายามหนีก็ถูกสังหาร ผู้คน ม้า และสิ่งของก็ถูกโยนลงไปในหุบเหวเบื้องล่าง วิลเลียมแห่งไทร์กล่าวโทษว่าความหายนะที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการที่ต้องลากสิ่งของต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นของสตรีมาด้วยกับขบวน

พระเจ้าหลุยส์ทรงหลบหนีมาได้เพราะความไร้สมรรถภาพของพระองค์เนื่องด้วยความที่ไม่โปรดที่จะทรงเครื่องแบบกษัตริย์จึงทรงแต่เครื่องแบบทหารอย่างง่ายๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นจึงทรงหลบหนีมาได้โดยไม่เป็นที่สังเกต

ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของความหายนะครั้งนี้คือเจฟฟรีแห่งแรนคองผู้ที่ตัดสินใจเดินทัพต่อจากจุดที่ควรตั้งค่าย มีผู้เสนอให้แขวนคอเจฟฟรีแต่พระเจ้าหลุยส์ไม่ทรงทำตาม แต่ในเมื่อเจฟฟรีแห่งแรนคองเป็นนายทหารของแคว้นในความปกครองของพระราชินีอาลีเยนอร์ หลายคนก็เชื่อว่าความรับผิดชอบในการเปลี่ยนแผนก็ควรจะตกไปเป็นของพระองค์ซึ่งก็คือควรจะเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์นี้ทำให้ชื่อเสียงของพระราชินีอาลีเยนอร์เสื่อมลง นอกไปจากการที่กองหลังต้องลากสมบัติต่างๆ ที่เป็นของส่วนพระองค์มาด้วย และการที่ไม่ทรงมีส่วนในการต่อสู้ป้องกันกองหลัง แต่สิ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของพระองค์เสื่อมลงไปยิ่งกว่านั้นคือข่าวลือที่ว่าทรงมีความสัมพันธ์กับเรย์มงด์แห่งอันติออคพระปิตุลาฉันคนรัก

ขณะที่ทรงศึกอยู่ที่เมดิเตอร์เรเนียนพระราชินีอาลีเยนอร์ก็ทรงศึกษาเกี่ยวกับกฎการศึกทางทะเลซึ่งเป็นรากฐานของกฎหมายราชนาวี (admiralty law) ทรงนำความรู้นี้มาเผยแพร่ยังดินแดนของพระองค์ที่เกาะโอเลรองในปี ค.ศ. 1160 และต่อมาในอังกฤษ นอกจากนั้นก็ยังทรงเป็นผู้มีบทบาทในการก่อตั้งข้อตกลงในการค้าขายระหว่างคอนสแตนติโนเปิลและเมืองท่าต่างๆ ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์

การแต่งงานครั้งแรกเป็นโมฆะ

[แก้]
แรมงแห่งอันติออคต้อนรับพระเจ้าหลุยส์ที่อันติออค

เมืองอันติออคถูกผนวกโดยโบฮีมอนด์แห่งโอท์วิลล์ระหว่างสงครามครูเสดครั้งที่ 1 และขณะนั้นปกครองโดยแรมงแห่งอันติออคพระปิตุลาของพระราชินีอาลีเยนอร์ผู้ที่ขยายดินแดนเพิ่มโดยการแต่งงานกับเจ้าหญิงคอนแสตนซ์แห่งอันติออค พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงสนับสนุนการยึดเอเดสสาซึ่งเป็นสาเหตุของสงครามครูเสดคืน นอกไปจากว่าทรงสนิทสนมกับพระปิตุลาเมื่อยังทรงพระเยาว์แล้วก็ยังทรงแสดงความสนิทสนมอย่างออกหน้าออกตาในครั้งนี้อีกด้วย แม้ว่านักประวัติศาสตร์บางคนจะไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าพระราชินีอาลีเยนอร์และพระปิตุลามีความสัมพันธ์นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์ระหว่างลุงกับหลานแต่นักประวัติศาสตร์สมัยนั้นส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น และอาจจะเป็นด้วยเหตุที่ว่าตั้งแต่ก่อนที่จะเสด็จไปสงครามครูเสดแล้วความสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีอาลีเยนอร์และพระเจ้าหลุยส์เองก็เริ่มคลอนแคลน

พระเจ้าหลุยส์ทรงถูกสั่งโดยทางสถาบันศาสนาให้เสด็จต่อไปยังกรุงเยรูซาเลม พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงประกาศความตั้งพระทัยที่จะอยู่ที่อันติออคกับกองทหารของอากีแตนกับแรมงแห่งอันติออค พระเจ้าหลุยส์จึงทรงต้องลากตัวพระราชินีอาลีเยนอร์ไปกรุงเยรูซาเลมด้วยกำลัง การเดินทัพไปกรุงเยรูซาเลมเป็นการเดินทางที่ทำความตรากตรำให้แก่กองทัพแต่ที่ยิ่งทำความลำบากใจให้แก่อัศวินมากขึ้นคือการจองจำพระราชินีอาลีเยนอร์ กองทัพที่แตกแยกไม่สามารถเอาชนะทหารมุสลิมได้ ด้วยสาเหตุที่ไม่มีผู้ใดทราบซึ่งอาจจะเป็นด้วยการที่เยอรมันต้องการเอาชัยชนะ ผู้นำกองทัพครูเสดจึงเลือกโจมตีดามัสกัสซึ่งเป็นเมืองเป็นพันธมิตรเมื่อก่อนโจมตี แต่เมื่อโจมตีไม่สำเร็จกองทัพครูเสดก็ถอยจากเยรูซาเลมและในที่สุดก็ถอยกลับยุโรป

เมื่อเสด็จกลับฝรั่งเศสพระเจ้าหลุยส์และพระราชินีอาลีเยนอร์ก็เสด็จกลับคนละลำเรือเพราะความที่ทรงมีความขัดแย้งกัน กองเรือถูกโจมตีโดยกองเรือไบเซ็นไทน์ที่พยายามจะจับทั้งสองพระองค์ แต่ทรงหลบหนีได้ เรือของพระราชินีอาลีเยนอร์โดนพายุจนเลยไปทางฝั่งบาร์บารี เมื่อพระราชินีอาลีเยนอร์มาถึงพาร์เลอร์โมในซิซิลีราวกลางเดือนกรกฎาคม ก็พบว่าผู้คนคิดว่าทั้งสองพระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้วหลังจากทรงหายไปรางสองเดือนโดยไม่มีข่าวคราว แต่พระเจ้าหลุยส์ยังทรงหายไป พระเจ้าโรเจอร์แห่งซิซิลีทรงประทานที่พักอาศัยให้พระราชินีอาลีเยนอร์ ในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ก็มาถึงคาลาเบรีย พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงได้รับข่าวการเสียชีวิตของพระปิตุลาเรย์มอนด์ที่ราชสำนักของพระเจ้าโรเจอร์ แทนที่จะเสด็จกลับฝรั่งเศสจากมาร์เซย์ ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จไปเฝ้า พระสันตะปาปาที่ทัสคิวลัม (ที่ทรงหนีไปประทับห้าเดือนก่อนหน้านั้นเพื่อหลบหนีจากการปฏิวัติที่โรม) แทนเพื่อจะขอให้ประกาศการแต่งงานเป็นโมฆะ

สมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 3ไม่ทรงยอมให้สองพระองค์ทรงหย่ากันอย่างที่พระราชินีอาลีเยนอร์หวัง นอกจากนั้นยังทรงพยายามให้สองพระองค์คืนดีกันอีกด้วย ทรงเน้นความถูกต้องตามกฎหมายของการเสกสมรสและทรงย้ำว่าการเสกสมรสเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้เป็นโมฆะไม่ได้ไม่ว่าด้วยข้ออ้างใดใด ในที่สุดก็ทรงจัดการให้พระราชินีอาลีเยนอร์และพระเจ้าหลุยส์บรรทมบนพระแท่นเดียวกันที่พระสันตะปาปาทรงเตรียมให้ด้วยพระองค์เอง พระราชินีอาลีเยนอร์และพระเจ้าหลุยส์จึงมีพระราชธิดาองค์ที่สองอลิกซ์แห่งฝรั่งเศส เคานเทสแห่งบลัวส์ (Alix of France, Countess of Blois) แต่การมีพระราชธิดาก็มิได้ช่วยให้สถานะการณ์ระหว่างสองพระองค์ดีขึ้นแต่อย่างใด

นอกจากนั้นการที่ไม่มีพระราชโอรสก็ยังเป็นเหตุที่ทำให้ขุนนางฝรั่งเศสไม่พึงพอใจและแป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์มากขึ้น แต่การเป็นปฏิปักษ์นี้กลับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับพระราชินีอาลีเยนอร์เพราะช่วยทำให้การหย่าร้างเป็นไปตามที่ทรงต้องการ พระเจ้าหลุยส์ไม่ทรงมีทางเลีอก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1152 ทั้งสองพระองค์ทรงพบกันที่ปราสาทโบจองซี (Beaugency) เพื่อให้ทางสถาบันศาสนาประกาศให้การแต่งงานของทั้งสองพระองค์เป็นโมฆะ อัครบาทหลวงอิว ซองส์ (Archbishop Hugh Sens) อัครบาทหลวงแห่งฝรั่งเศสเป็นประธานโดยมีพระเจ้าหลุยส์และพระราชินีอาลีเยนอร์ อัครบาทหลวงแห่งบอร์โดซ์ อัครบาทหลวงแห่งรูออง และอัครบาทหลวงแซมซองแห่งแรงส์เป็นตัวแทนพระราชินีอาลีเยนอร์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1152 อัครบาทหลวงทั้งสี่โดยการยอมรับของสมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 3ก็ประกาศให้การเสกสมรสระหว่างพระเจ้าหลุยส์และพระราชินีอาลีเยนอร์เป็นโมฆะ (annulment) ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการแต่งงานของญาติที่ห่างกัน 4 ช่วง (consanguinity within the fourth degree) (พระเจ้าหลุยส์และพระราชินีอาลีเยนอร์เป็นลูกพี่ลูกน้องห่างๆ โดยทั้งสองพระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจาก พระเจ้ารอแบร์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส) พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ถูกประกาศว่าเป็นลูกนอกสมรส และให้พระเจ้าหลุยส์เป็นผู้ดูแล พระเจ้าหลุยส์ทรงยืนยันกับอัครบาทหลวงแซมซองว่าดินแดนที่เป็นของพระราชินีอาลีเยนอร์แต่ก่อนเสกสมรสก็ยังทรงเป็นของพระองค์ตามเดิม

การเสกสมรสครั้งที่สอง

[แก้]
พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ
พระเจ้าเฮนรีที่ 2 และอาลีเยนอร์แห่งอากีแตน

ทีโอโบลด์ที่ 5 เคานท์แห่งบลัวส์บุตรของทีโอโบลด์ที่ 2 เคานท์แห่งชองปาญ และเจฟฟรีที่ 6 เคานท์แห่งอองจูพระอนุชาของเฮนรีที่ เคานท์แห่งอองจูและดยุกแห่งนอร์มังดี พยายามลักตัวพระราชินีอาลีเยนอร์ในระหว่างที่ทรงเดินทางไปปัวตีเย เพื่อแต่งงานด้วยเพื่อจะได้ผนวกดินแดนที่เป็นของพระราชินีอาลีเยนอร์ เมื่อเสด็จถึงปัวตีเยพระราชินีอาลีเยนอร์จึงทรงรีบส่งตัวแทนไปเฝ้าเฮนรีที่ เคานท์แห่งอองจูและดยุกแห่งนอร์มังดีเพื่อขอให้เสด็จมาปัวตีเยเป็นการด่วนเพื่อจะได้มาเสกสมรสกับพระองค์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1152 หกอาทิตย์หลังจากการแต่งงานครั้งแรกถูกประกาศให้เป็นโมฆะพระราชินีอาลีเยนอร์ก็ทรงเสกสมรสกับดยุกเฮนรี ที่ มหาวิหารบอร์โดซ์ ในพิธีอย่างง่าย “โดยไม่มีพิธีรีตองตามที่ควรแก่ตำแหน่ง”[3] พระราชินีอาลีเยนอร์มีพระชนมายุแก่กว่าดยุกเฮนรี 11 พรรษา แต่ทรงมีความใกล้ชิดกับดยุกเฮนรีมากกว่าพระเจ้าหลุยส์ ทั้งสองพระองค์เป็นพระญาติห่างๆ โดยทรงสืบเชึ้อสายมาจาก เออร์แมงการ์ดแห่งอองจู (Ermengarde of Anjou) (ภรรยาของโรเบิร์ตที่ 1 ดยุกแห่งเบอร์กันดี และเจฟฟรี เคานทแห่งเกติเนส์) นอกจากนั้นทั้งสองพระองค์ก็ยังสืบเชื้อสายมาจากรอเบิร์ต เคอร์ทโฮส ดยุกแห่งนอร์มังดี (พระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ)

สิบสามปีต่อมาพระราชินีอาลีเยนอร์และดยุกเฮนรีมีพระราชโอรสธิดาด้วยกัน 8 พระองค์: วิลเลียม เคานท์แห่งปัวตีเย, เฮนรียุวกษัตริย์, พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ, เจฟฟรีที่ 2 ดยุกแห่งบริตานี, พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษ, มาทิลดาแห่งอังกฤษ ดัชเชสแห่งซัคเซิน, เอเลนอร์แห่งอังกฤษ พระราชินีแห่งกัสติยา และ โจนแห่งอังกฤษ พระราชินีแห่งซิซิลี วิลเลียมพระราชโอรสองค์โตสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เฮนรีเคานท์แห่งอองจูจึงได้สวมมงกุฏเป็นพระมหากษัตริย์ร่วมแทนที่ แต่ในเมื่อเฮนรีมิได้เป็นพระมหากษัตริย์ด้วยพระองค์เองจึงได้เรียกกันในพระนาม “เฮนรียุวกษัตริย์” (Henry the Young King) แทนที่จะมีพระนามว่าเฮนรีที่ 3 ตามนิตินัย ซึ่งตามประเพณีแล้วเฮนรีควรจะเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา ริชาร์ดควรจะได้ดินแดนของพระราชมารดา และจอห์นควรจะเป็นผู้ครองไอร์แลนด์ แต่เหตุการณ์มิได้เป็นไปตามที่คาดหมายกันว่าควรจะเป็น

จอห์น สปีดสันนิษฐานกันว่าพระเจ้าเฮนรีและอาลีเยนอร์อาจจะมีพระโอรสด้วยกันอีกองค์หนึ่งเป็นผู้ชายชื่อฟิลิป[4]แต่คงจะเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก[5]

นอกพระราชโอรสธิดากับอาลีเยนอร์แล้วพระเจ้าเฮนรีก็ยังมีพระราชบุตรนอกสมรสอีกหลายคน อย่างเช่นพระราชโอรส วิลเลียม เคานท์แห่งปัวตีเยของพระองค์กับอาลีเยนอร์ ประสูติเพียงสองสามเดือนจาก เจฟฟรี (พระโอรสนอกสมรส) พระราชินีอาลีเยนอร์ดูเหมือนจะทรงยอมรับในการนอกพระทัยของพระเจ้าเฮนรี เช่นจะเห็นได้จากกรณีของ เจฟฟรี ซึ่งพระเจ้าเฮนรียอมรับว่าเป็นพระโอรสและได้รับการเลี้ยงดูในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์โดยพระราชินีอาลีเยนอร์

ระยะเวลาระหว่างที่พระเจ้าเฮนรีขึ้นครองราชย์และการกำเนิดของพระราชโอรสองค์สุดท้องเป็นระยะเวลาที่เต็มไปด้วยปัญหารอบข้าง เริ่มโดยอากีแตนไม่ยอมรับการปกครองของพระเจ้าเฮนรี; การพยายามอ้างสิทธิในดินแดนทูลูสแต่ไม่สำเร็จ; เฮนรียุวกษัตริย์พระโอรสองค์รองเสกสมรสกับมาร์เกอรีตแห่งฝรั่งเศส เคานท์เทสแห่งอองจูพระราชธิดาของพระเจ้าหลุยส์; และความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าเฮนรีกับทอมัส เบ็คเค็ทอัครมหาเสนาบดีผู้ต่อมาเป็นอัครบาทหลวงแห่งแคนเตอร์บรี ระหว่างนี้ไม่มีหลักฐานอะไรที่แสดงว่าพระราชินีอาลีเยนอร์มีบทบาทอย่างใดในเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ภายในปี ค.ศ. 1166 พระราชินีอาลีเยนอร์ก็ทรงให้กำเนิดพระราชโอรสองค์สุดท้าย ชีวิตการสมรสระหว่างพระราชินีอาลีเยนอร์และพระเจ้าเฮนรีก็เริ่มเลวลงเป็นลำดับ พระเจ้าเฮนรีทรงยกย่องโรสซามุนด์ คลิฟฟอร์ดพระสนมคนโปรดโดยไม่ทรงปิดบัง ในปี ค.ศ. 1167 พระราชธิดาองค์ที่สามมาทิลดาแห่งอังกฤษก็เสกสมรสกับเฮนรีสิงห์แห่งแซ็กโซนี พระราชินีอาลีเยนอร์ยังประทับอยู่ที่อังกฤษกับพระธิดาจนปีหนึ่งก่อนที่มาทิลดาจะเสด็จไปนอร์มังดีในเดือนกันยายน หลังจากนั้นก็ทรงส่งสิ่งของส่วนพระองค์ไปอาร์จองตอง (Argentan) ในเดือนธันวาคมเมื่อมีการฉลองวันคริสต์มาสก็เป็นที่เห็นกันว่าทรงตกลงพระทัยที่จะแยกกับพระเจ้าเฮนรี หลังวันคริสต์มาสพระราชินีอาลีเยนอร์ก็เสด็จกลับปัวตีเย พระเจ้าเฮนรีมิได้ทรงขัดขวางแต่อย่างใดและยังทรงเดินทางไปพร้อมกับกองทหารที่ติดตามไปส่งด้วย ระหว่างทางก็ทรงโจมตีปราสาทที่เป็นของครอบครัวลูซินแยงที่แข็งข้อต่อพระองค์ เมื่อส่งแล้วก็ทรงทิ้งพระราชินีอาลีเยนอร์ให้อยู่ในความดูแลของเอิร์ลแพททริคเพื่อไปทรงงานส่วนพระองค์นอกอากีแตน เมื่อเอิร์ลแพททริคถูกฆ่าหลังจากการโจมตี พระราชินีอาลีเยนอร์จึงทรงถูกทิ้งให้ควบคุมทรัพย์สมบัติและดินแดนด้วยพระองค์เอง

ตำนานเกี่ยวกับราชสำนักแห่งความรักที่ปัวตีเย

[แก้]
พระเจ้าเฮนรีที่ 2 และทอมัส เบ็คเค็ท

ระยะเวลาที่ปัวตีเยของพระราชินีอาลีเยนอร์เป็นระยะเวลาที่ทรงมีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมเป็นอันมาก หลังจากที่ทรงแยกจากพระเจ้าเฮนรี พระราชินีอาลีเยนอร์ก็ทรงตั้งราชสำนักของพระองค์เองที่ปัวตีเย ทรงสนับสนุนลัทธินิยมรักในราชสำนัก (courtly love) ภายในราชสำนักของพระองค์ แต่พระเจ้าเฮนรีและทางสถาบันศาสนาทำลายหลักฐานดังกล่าวนี้จนไม่เหลือหรอ ที่เหลืออยู่เป็นเพียงหลักฐานบางส่วนของจดหมายของราชสำนัก กฎ และการปฏิบัติที่เขียนโดย อันเดรีย คาเปลลานัส (Andreas Capellanus) ดูเหมือนว่าสิ่งหนึ่งที่ทำกันคือจะมีกลุ่มชายหญิงสิบสองคนที่มานั่งฟังเรื่องของความรักของแต่ละคน ซึ่งเป็นรากฐานของระบบลูกขุนที่ทรงนำมาใช้ในอังกฤษหลังจากที่ทรงปล่อยนักโทษทั้งหมดเมื่อพระเจ้าเฮนรีเสด็จสวรรคต แต่สิ่งที่ทรงทำในราชสำนักก็เป็นเพียงสิ่งที่สันนิษฐานกันเท่านั้นว่าทรงทำมิได้เป็นที่ทราบแน่นอนว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่กระนั้นตำนานเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพระราชสำนักของพระองค์ก็ยังเล่าสืบต่อกันมา

ส่วนทางพระเจ้าเฮนรีก็ยังทรงมุ่งมั่นในการขยายราชอาณาจักร ทรงข่มเหงข้าราชสำนักของพระราชินีอาลีเยนอร์ในการที่ทรงพยายามควบคุมดินแดนอากีแตนที่เป็นของพระราชินีอาลีเยนอร์และราชสำนักที่ปัวตีเยของพระองค์ พระเจ้าเฮนรีทรงเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้ทอมัส เบ็คเค็ทอัครมหาเสนาบดีผู้ต่อมาเป็นอัครบาทหลวงแห่งแคนเตอร์บรีถูกฆาตกรรมที่แท่นบูชาภายในมหาวิหารแคนเตอร์บรีในปี ค.ศ. 1170 (แต่เหตุการณ์นี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าพระเจ้าเฮนรีมีส่วนในการกำจัดทอมัส เบ็คเค็ทจริงหรือไม่) การฆาตกรรมของทอมัส เบ็คเค็ท เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงเพิ่มความชังในตัวพระเจ้าเฮนรีมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมไปถึงทัศนคติโดยทั่วไปในยุโรปในขณะนั้น

ถึงแม้ว่าชีวิตการสมรสระหว่างพระราชินีอาลีเยนอร์และพระเจ้าเฮนรีเป็นชีวิตสมรสที่รุนแรงเต็มไปด้วยการต่อปากต่อคำ และแม้ว่าจะมีพระสนมและทรงสั่งกักขังพระราชินีอาลีเยนอร์อยู่เป็นระยะเวลานาน แต่พระราชินีอาลีเยนอร์ก็ยังทรงกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า ชีวิตแต่งงานระหว่างพระองค์กับพระเจ้าเฮนรีเป็นชีวิตที่มีความสุขกว่าชีวิตแต่งงานของพระองค์กับพระเจ้าหลุยส์ พระราชินีอาลีเยนอร์และพระเจ้าเฮนรีทรงมีความรักและนับถือซึ่งกันและกัน และทรงพยายามช่วยกันสมานสามัคคีครอบครัวเข้าด้วยกัน

การกบฏและถูกจับ

[แก้]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1173 เฮนรียุวกษัตริย์ หรือ เฮนรีเคานท์แห่งอองจู (พระราชโอรสองค์ที่สอง) ไม่ทรงพอใจที่พระราชบิดาไม่ยอมให้มีอำนาจใดใด และทรงได้รับการยุยงจากผู้เป็นศัตรูของพระเจ้าเฮนรีให้ก่อการกบฏ เฮนรีทรงหลบหนีไปปารีส ที่ปารีสทรงได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส เฮนรีกลับมาอากีแตนอย่างลับๆ เพื่อมาชักชวนพระอนุชาอีกสองพระองค์ ริชาร์ดและเจฟฟรี ที่ยังประทับอยู่กับพระราชินีอาลีเยนอร์ให้เข้าร่วมด้วย[6] พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงส่งพระราชโอรสทั้งสององค์ไปฝรั่งเศสเพื่อให้ไปช่วยเฮนรีก่อการปฏิวัติต่อพระราชบิดา[7] เมื่อส่งพระราชโอรสไปแล้วพระราชินีอาลีเยนอร์ก็ยุยงให้ขุนนางทางใต้ให้ลุกขึ้นสนับสนุนพระราชโอรส[8] ระหว่างปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมพระราชินีอาลีเยนอร์ก็เดินทางจากปัวตีเยไปปารีสแต่ทรงถูกจับระหว่างทางและถูกส่งไปให้พระเจ้าเฮนรีที่รูออง พระเจ้าเฮนรีก็มิได้ทรงประกาศข่าวการจับอย่างเป็นทางการ ปีต่อมาก็ไม่เป็นที่ทราบว่าที่ประทับของพระราชินีอาลีเยนอร์อยู่ที่ใด เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1174 พระเจ้าเฮนรีก็เสด็จกลับอังกฤษจากบาร์เฟลอร์ทรงนำพระราชินีอาลีเยนอร์กลับไปด้วย เมื่อเรือถึงท่าที่เซาทแธมตันพระราชินีอาลีเยนอร์ก็ถูกนำตัวไปกักขังไม่ที่ปราสาทวินเชสเตอร์ก็ที่ปราสาทเซรัมที่เมืองซอลทบรี

จำขัง ค.ศ. 1173 - ค.ศ. 1189

[แก้]
เฮนรียุวกษัตริย์

พระราชินีอาลีเยนอร์ถูกจำขังเป็นเวลา 15 ปี ตามที่ต่างๆ ในอังกฤษ ระหว่างที่ทรงถูกจำขังก็ทรงห่างเหินจากพระราชโอรสมากขึ้นโดยเฉพาะจากริชาร์ด ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โปรดเพราะไม่ทรงมีโอกาสพบปะกับพระราชโอรสเท่าใดนัก ระหว่างที่ถูกกักพระองค์ก็ทรงถูกปล่อยบ้างบางโอกาสเช่นวันคริสต์มาส

พระเจ้าเฮนรีสูญเสียโรสซามุนด์ คลิฟฟอร์ดพระสนมคนโปรดในปี ค.ศ. 1176 ทรงพบโรสซามุนด์ในปี ค.ศ. 1166 และเริ่มมีความสัมพันธ์กันในปี ค.ศ. 1173 และกล่าวกันว่าทรงคิดที่จะหย่ากับพระราชินีอาลีเยนอร์ โรสซามุนด์เป็นพระสนมคนหนึ่งในหลายคนของพระเจ้าเฮนรีแต่กับคนอื่นๆ จะเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นไปอย่างเงียบๆ แต่กับโรสซามุนด์ไม่ทรงปิดบังและยังทรงออกหน้าออกตาด้วย ความสัมพันธ์กับโรสซามุนด์ทำให้พระลอกหนังสือที่เก่งภาษาละตินเล่นคำว่า “Rosa Immundi” ซึ่งแปลว่า “Rose of Unchastity” พระเจ้าเฮนรีทรงใช้โรสซามุนด์เป็นอาวุธในการยุให้พระราชินีอาลีเยนอร์ขอหย่า ในปี ค.ศ. 1175 ถ้าอาลีเยนอร์ทรงยอมหย่า ตามที่พระเจ้าเฮนรีต้องพระประสงค์ พระเจ้าเฮนรีก็คงอาจจะทรงตั้งให้พระราชินีอาลีเยนอร์ให้เป็นแอบเบสแห่งอารามฟองเทวฟรอด์ ถ้าทำเช่นนั้นอาลีเยนอร์ก็ทรงต้องประกาศสละทรัพย์ทางโลก (vow of poverty) ซึ่งเป็นการยกตำแหน่งและอาณาจักรครึ่งหนึ่งให้พระเจ้าเฮนรีโดยปริยาย แต่พระราชินีอาลีเยนอร์ก็ทรงมีความฉลาดเกินกว่าที่จะทรงทำเช่นนั้น แต่กระนั้นก็มีข่าวลือกันว่าโรสซามุนด์ถูกวางยาพิษโดยพระราชินีอาลีเยนอร์

ในปี ค.ศ. 1183 เฮนรียุวกษัตริย์ ทรงพยายามก่อการปฏิวัติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยทรงพยายามซุ่มโจมตีพระเจ้าเฮนรีที่ลิโมจส์ เฮนรีได้รับกองหนุนจากเจฟฟรีน้องชายและจากพระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส แต่พระเจ้าเฮนรีทรงล้อมเมืองจนสามารถกดดันให้เคานท์เฮนรีต้องหนี เฮนรีหนีร่อนเร่ออกจากเมืองอย่างไม่มีจุดหมายในบริเวณอากีแตนจนล้มเจ็บด้วยโรคบิด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1183 เฮนรีรู้ตัวว่าจะตายและสำนึกผิดในสิ่งต่างๆ ที่ได้ทำมา เมื่อพระเจ้าเฮนรีทรงส่งแหวนมาให้เฮนรีก็ทูลขอให้พระราชบิดาให้ทรงมีความปราณีต่อพระมารดาและขอให้ทรงปล่อย พระเจ้าเฮนรีทรงส่งทอมัสแห่งเอียร์ลีย์อัครดีคอนแห่งเวลล์ไปบอกข่าวการเสียชีวิตของเคานท์เฮนรีแก่พระราชินีอาลีเยนอร์ที่ปราสาทเซรัม[9] พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงกล่าวว่าทรงฝันเห็นเคานท์เฮนรีก่อนที่จะสิ้นชีวิต ในปี ค.ศ. 1193 ทรงบอกกับสมเด็จพระสันตะปาปาเซเลสทีนที่ 3 ว่าความทรงจำในการเสียชีวิตของเคานท์เฮนรีเป็นสิ่งที่ทรมานใจพระองค์มาตลอด

หลังจากเฮนรียุวกษัตริย์สิ้นพระชนม์ ในปี ค.ศ. 1183 พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ก็อ้างสิทธิในดินแดนบางส่วนในนอร์มังดีที่อ้างว่าเป็นของมาร์เกอรีตแห่งฝรั่งเศส เคาน์เตสแห่งอ็องฌู แต่พระเจ้าเฮนรีอ้างว่าดินแดนที่ทรงอ้างแต่เดิมเป็นของพระราชินีอาลีเยนอร์ เมื่อเฮนรีเสียชีวิตดินแดนเหล่านั้นก็กลับไปเป็นของพระราชินีอาลีเยนอร์ตามเดิม ด้วยเหตุผลเช่นที่ว่าพระเจ้าเฮนรีจึงทรงเรียกตัวพระราชินีอาลีเยนอร์มานอร์มังดีเมื่อปลายฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1183 เป็นเวลาราวหกเดือน ทรงเป็นเวลาที่ได้รับอิสระพอสมควรแต่ก็ยังมีผู้คุม[10] สองสามปีหลังจากนั้นพระราชินีอาลีเยนอร์ก็มักจะเสด็จร่วมกับพระสวามีในกิจการที่เกี่ยวกับการปกครองราชอาณาจักรแต่ก็ยังทรงมีผู้ควบคุมจึงมิได้ทรงมีอิสระอย่างเต็มที่

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในอังกฤษ

[แก้]

เมื่อพระเจ้าเฮนรีเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1189 สองสามวันหลังจากที่ทรงได้รับการบาดเจ็บจากกีฬาต่อสู้บนหลังม้า (jousting match) สิ่งแรกที่ริชาร์ดผู้เป็นรัชทายาททรงทำเป็นสิ่งแรกคือทรงส่งวิลเลียม มาร์แชล เอิร์ลที่ 1 แห่งเพ็มบรุก ไปอังกฤษกับพระราชโองการให้ปล่อยพระราชินีอาลีเยนอร์จากการจำขังแต่ผู้คุมก็ได้ปล่อยพระองค์แล้วเมื่อพระราชโองการไปถึง[11] พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงม้าไปยังเวสต์มินสเตอร์เพื่อรับคำสาบานแสดงความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่จากขุนนางและผู้ครองนครต่างๆ ในนามของพระเจ้าริชาร์ด พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงปกครองอังกฤษในนามของพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 โดยทรงลงพระนามว่า “อาลีเยนอร์, ในนามของพระเจ้า, พระราชินีแห่งอังกฤษ” เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1189 พระเจ้าริชาร์ดก็เสด็จมาอังกฤษจากบาเฟลอร์ยังพอร์ทสมัธและทรงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น นอกจากนั้นก็ยังทรงปกครองอังกฤษในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินระหว่างที่พระเจ้าริชาร์ดเสด็จไปสงครามครูเสดครั้งที่ 3 เมื่อพระเจ้าริชาร์ดถูกจับพระราชินีอาลีเยนอร์ก็ทรงเป็นผู้เจรจาต่อรองค่าตัวของริชาร์ดโดยเสด็จไปเยอรมนีด้วยพระองค์เอง

บั้นปลาย

[แก้]
อารามฟองเทวฟรอด์

พระราชินีอาลีเยนอร์มีพระชนมายุยืนกว่าพระเจ้าริชาร์ดและเลยต่อไปยังรัชสมัยของพระราชโอรสองค์เล็กที่สุดพระเจ้าจอห์น ในปี ค.ศ. 1199 ภายใต้สัญญาสงบศึกระหว่าง พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศสและพระเจ้าจอห์นมีข้อตกลงว่าหลุยส์รัชทายาทพระชนมายุ 12 พรรษาของพระเจ้าฟิลิปจะต้องแต่งงานกับพระนัดดาองค์หนึ่งของพระเจ้าจอห์นจากคาสตีลในประเทศสเปนปัจจุบัน พระเจ้าจอห์นจึงทรงส่งพระราชินีอาลีเยนอร์ผู้ขณะนั้นมีพระพระชนมายุ 77 พรรษาให้เป็นผู้แทนพระองค์ในการเดินทางจากปัวตีเยไปคาสตีลเพื่อไปเลือกเจ้าหญิงองค์หนึ่งสำหรับหลุยส์ อาลีเยนอร์ทรงถูกซุ่มโจมตีและทรงถูกจับนอกปัวตีเยโดยอิวที่ 9 แห่งลูซิยอง (Hugh IX of Lusignan) หลังจากอาลีเยนอร์ได้รับการปล่อยตัวหลังจากที่ทรงตกลงตามข้อเรียกร้องก็ทรงเดินทางต่อข้ามเทือกเขาพิเรนีสและทรงผ่านราชอาณาจักรนาวาร์ไปถึงราชอาณาจักรคาสตีลก่อนปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 1200

พระเจ้าอัลฟองโซที่ 8 แห่งคาสตีล และ เอเลนอร์แห่งอังกฤษ พระราชินีแห่งกัสติยา มีพระราชธิดาสองพระองค์ เออร์ราชา (Urraca) และ บลานซ์ พระราชินีอาลีเยนอร์ทรงเลือกบลานซ์พระธิดาองค์เล็ก และประทับอยู่ที่คาสตีลสองเดือนก่อนที่จะเดินทางข้ามเทือกเขาพิเรนีสกลับ เมื่อมาถึงบอร์โดซ์ก็ทรงฉลองอีสเตอร์ จากบอร์โดซ์เมอร์คาดิเยร์นายทหารรับจ้างผู้มีชื่อเสียงผู้เคยรับใช้พระเจ้าริชาร์ดมาก่อนก็มาร่วมเดินทางเพื่อทำการคุ้มครองขบวนขึ้นเหนือ แต่พอวันที่สองของสัปดาห์อีสเตอร์เมอร์คาดิเยร์ก็ถูกสังหารโดยคนของแบรนแดง (Brandin)[12] ผู้เป็นศัตรูของเมอร์คาดิเยร์เอง เหตุการณ์นี้ทำให้ทรงเหนื่อยและล้าพระทัยและไม่ทรงสามารถเดินทางต่อไปยังนอร์มังดีได้ จากนั้นก็ทรงเดินทางอย่างสบายๆ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำลัวร์ พอมาถึงบอร์โดซ์พระราชินีอาลีเยนอร์ก็ฝากบลานซ์ไว้กับอัครบาทหลวงแห่งบอร์โดซ์ผู้รับช่วงในการคุ้มครองต่อ แล้วพระราชินีอาลีเยนอร์ก็เสด็จไปอารามฟองเทวฟรอด์ เมื่อต้นฤดูร้อนอาลีเยนอร์ก็ล้มป่วย พระเจ้าจอห์นเสด็จมาเยี่ยม

เมื่อสงครามระหว่างพระเจ้าจอห์นกับพระเจ้าฟิลิปปะทุขึ้นอีก พระราชินีอาลีเยนอร์ก็ทรงประกาศสนับสนุนพระโอรส และทรงเดินทางจากอารามฟองเทวฟรอด์ไปปัวตีเยเพื่อป้องกันมิให้พระนัดดาอาร์เธอร์ที่ 1 ดยุกแห่งบริตานีผู้เป็นศัตรูของพระเจ้าจอห์นเข้าครอบครอง เมื่อทราบว่าพระราชินีอาลีเยนอร์จะเสด็จมาดยุกอาร์เธอร์ก็ดักจับอาลีเยนอร์ที่ปราสาทมิราโบ พอพระเจ้าจอห์นได้รับข่าวก็ทรงรีบเดินทัพมาทางใต้ มาถึงก็ทรงโจมตีและจับตัวดยุกอาร์เธอร์ได้ พระราชินีอาลีเยนอร์จึงเสด็จกลับอารามฟองเทวฟรอด์ เมื่อกลับไปถึงก็ทรงรับศีลเป็นชี พระราชินีอาลีเยนอร์สิ้นพระชนม์เมื่อปี ค.ศ. 1204 พระศพอยู่ที่แอบบีเคียงข้างกับพระสวามีพระเจ้าเฮนรีที่ 2และพระโอรสพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 อนุสรณ์ของพระองค์เป็นพระรูปที่กำลังทรงอ่านคัมภีร์ไบเบิลประดับด้วยเครื่องตกแต่งอย่างงดงาม

พระโอรสธิดา

[แก้]

กับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส:

กับ พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ:

อ้างอิง

[แก้]
  1. ปีประสูติของพระนางไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เป็นที่แน่ชัดว่าพระนางน่าจะประสูติในปีนี้ เพราะขุนนางแห่งแคว้นอากีแตนสาบานคำสัตย์ต่อนางในวันประสูติครบรอบ 14 ชันษาในปี ค.ศ. 1136 พงศาวดารบางฉบับระบุว่าพระองค์ประสูติในปี ค.ศ. 1120 แต่พระราชบิดาและพระราชมารดาทรงอภิเษกสมรสกันในปี ค.ศ. 1121
  2. "My child, seek those things which make for peace. Cease to stir up the King against the Church, and urge upon him a better course of action. If you will promise to do this, I in return promise to entreat the merciful Lord to grant you offspring."
  3. Harvey, The Plantagenets, p.49
  4. John Speed's 1611 book, History Of Great Britain. His sources no longer exist
  5. Weir, Alison, Eleanor of Aquitaine: A Life, pp.154-155, Ballantine Books, 1999
  6. William of Newburgh
  7. Roger of Hoveden
  8. Eleanor of Aquitaine. Alison Weir 1999
  9. Ms. S. Berry, Senior Archivist at the Somerset Archive and Record Service, identified this "archdeacon of Wells" as Thomas of Earley, noting his family ties to Henry II and the Earleys' philanthropies (Power of a Woman, ch. 33, and endnote 40).
  10. Eleanor of Aquitaine. Alison Weir 1999
  11. Eleanor of Aquitaine. Alison Weir 1999.
  12. Roger of Hoveden

ดูเพิ่ม

[แก้]