ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว

พิกัด: 12°31′31″N 102°10′37″E / 12.52528°N 102.17694°E / 12.52528; 102.17694
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว
น้ำตกพลิ้ว
แผนที่
ที่ตั้งจังหวัดจันทบุรี ประเทศไทย
พิกัด12°31′31″N 102°10′37″E / 12.52528°N 102.17694°E / 12.52528; 102.17694
พื้นที่135 ตารางกิโลเมตร (84,000 ไร่)
จัดตั้ง2 พฤษภาคม พ.ศ. 2518
ผู้เยี่ยมชม671,396 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่ของตำบลพลับพลา ตำบลคมบาง ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองจันทบุรี ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ ตำบลมาบไพ ตำบลวังสรรพรส ตำบลตรอกนอง ตำบลซึ้ง ตำบลตะปอน ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง และตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 134.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 84,062.50 ไร่[1] ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ทำให้มีอากาศจะเย็นสบายตลอดทั้งปี ยอดเขาสลับซับซ้อนสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 20-924 เมตร จุดสูงสุดของพื้นที่อยู่ที่ยอดเขามาบหว้ากรอก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 924 เมตร และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย อยู่ห่างจากจังหวัดจันทบุรีประมาณ 14 กิโลเมตร ถนนลาดยางตลอดสายทำให้สะดวกสบายในการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

ทั้งนี้ วันที่ 2 พฤษภาคม 2518 อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 11 ของประเทศไทย[2] โดยใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติเขาสระบาป" แต่ต่อมา นายผจญ ธนมิตรามณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสระบาปได้ทำหนังสือขอเปลี่ยนชื่ออุทยานเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เนื่องจากน้ำตกพลิ้วเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ มีน้ำตกตลอดปี อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป และเป็นจุดเด่นของอุทยาน ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2525 เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อเป็น "อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว"

ชื่อ "พลิ้ว" มาจากภาษาชอง แปลว่า "ทราย" หรือ "หาดทราย"[3]

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน อากาศจะค่อนข้างร้อน
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - ตุลาคม จะมีฝนตกชุกปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 3,000 มม./ปี
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์ อากาศจะเย็นสบายที่สุด อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 26 องศาเซลเซียส

สถานที่น่าสนใจ

[แก้]
น้ำตกพลิ้ว
  • น้ำตกพลิ้ว

น้ำตกพลิ้ว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงาม มีน้ำตลอดปี ประกอบด้วยสายธาร 2 สาย สายหนึ่งไหลลดหลั่นผ่านซอกหินผา อีกสายหนึ่งมีขนาดเล็กกว่า แต่ทิ้งตัวลงมาจากผาสูง 20 เมตร ทั้งสองสายไหลมารวมกันในแอ่งน้ำใสสะอาด มากสามารถมองเห็นพื้นล่างซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินและทรายในระดับลึกกว่า 2 เมตร ภายในบริเวณน้ำตกและลำคลอง มีปลาใหญ่น้อยหลายชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่ตื่นตาตรึงใจกับฝูงปลาแก่ผู้ที่ไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะ "ปลาพลวงหิน"

  • อลงกรณ์เจดีย์" (จุลศิรจุมพฏเจดีย์)

อลงกรณ์เจดีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีอัครมเหสี ได้โปรดปรานให้สร้างเจดีย์ทำด้วยศิลาแลงขึ้น ที่บริเวณหน้าผาด้านหน้า น้ำตกพลิ้ว เมื่อ พ.ศ. 2419 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาส น้ำตกพลิ้ว ด้วยกัน และพระราชทานนามว่า "อลงกรณ์เจดีย์" (นักประวัติศาสต์รค้นคว้าหลักฐานภายหลังพบว่าร.๕ ทรงพระราชทานนามว่า "จุลศิรจุมพฏเจดีย์" ซึ่งกรมศิลปากรได้ให้เปลี่ยนชื่อแล้ว)พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรด น้ำตกพลิ้ว เป็นอย่างยิ่ง และได้เสด็จประพาสหลายคราว โปรดมาก ถึงกับมีพระราชดำรัสว่า "เราได้เห็นน้ำตกอย่างนี้มาสองสามแห่ง คือที่ปีนัง เกาะช้าง และสีพยา เห็นไม่มีที่ไหนจะงามกว่าที่นี่เลย ถ้าจะให้เรานั่งดูอยู่ยังค่ำก็แทบจะได้ด้วยเย็นสบายจริง"

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ข้อมูลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา 133 แห่ง". Department of National Parks, Wildlife and Plant Conservation. December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022, no 11{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  2. "พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าน้ำตกพลิ้ว - เขาสระบาป ในท้องที่ตำบลพลับพลา ตำบลคลองนารายณ์ ตำบลคมบาง อำเภอเมืองจันทบุรี ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม และตำบลมาบไพ ตำบลวังสรรพรส ตำบลตรอกนอง ตำบลซึ้ง ตำบลตะปอน ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๑๘" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 92 (87 ก): (ฉบับพิเศษ) 7-9. May 2, 1975. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-05-28. สืบค้นเมื่อ 2021-04-01.
  3. องค์ บรรจุน. สยามหลากเผ่าหลายพันธุ์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2553, หน้า 128
  4. "Namtok Phlio National Park". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2013. สืบค้นเมื่อ 26 June 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]