ข้ามไปเนื้อหา

ยก ชูบัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ยก ชูบัว หรือ โนรายก เป็นโนราที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เป็นบุตรนายเลิศ นางเอี่ยม ชูบัว เกิดเมื่อ พ.ศ. 2465 ที่บ้านทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวัดทะเลน้อย อุปสมบท 1 พรรษา มีฉายาว่า ธมฺมทินฺโน สอบได้นักธรรมตรี จากสนามสอบวัดสุวรรณวิชัย อำเภอควนขนุน เมื่อลาสิกขาได้รับคัดเลือกให้รับราชการตำรวจอยู่ 2 ปี ณ สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองพัทลุง และระยะดังกล่าวได้แต่งงานกับนางสาวกล่ำ พงค์ชนะ ไม่มีบุตร เมื่ออกจากราชการได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

โนรายกหัดรำโนรามาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ โดยหัดกับโนราเลื่อน พงค์ชนะ บ้านทะเลน้อย และอยู่ประจำคณะโนราเลื่อนมาจนอายุ 16 ปี จึงแยกมาตั้งคณะเอง ในระยะที่แยกโรงใหม่ ๆ เมื่อถึงหน้าแล้งโนรายกจะนำคณะไปแสดงอยู่ประจำในเขตจังหวัดภูเก็ตและพังงา ครั้งถึงหน้าฝนก็นำคณะกลับพัทลุง ช่วงที่ว่างจากการแสดงในระยะดังกล่าว โนรายกได้ไปฝึกรำทำบทกับโนราวัน (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ซึ่งเป็นโนราที่มีชื่อเสียงมากในการรำทำบทในสมัยนั้น ฝึกอยู่ประมาณ 6 เดือนก็ชำนาญ กลับมาทำพิธีผูกผ้าแล้วเข้าอุปสมบทและรับราชการตำรวจตามลำดับดังกล่าวแล้ว ออกจากตำรวจก็มารำโนราหาเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว

ผลงาน

[แก้]

ด้วยโนรายกมีความสามารถทั้งการรำ ร้องกลอนและตลกจึงมีผู้เรียกหาไปแสดงมิได้ขาด ได้ประชันกับโนราดี ๆ ในภาคใต้เกือบทุกคณะ ได้แสดงทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และบางจังหวัดในภาคกลาง การแสดงครั้งสำคัญที่นับเป็นเกียรติประวัติ ได้แก่ รำให้ทูตวัฒนธรรมของ 25 ประเทศชมที่กรุงเทพฯ รำออกรายการโทรทัศน์ ซึ่ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จัดขึ้นเป็นพิเศษ รำถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เกาะอาดัง จังหวัดสตูล ครั้งนี้ได้รับพระราชทานเหรียญที่ระลึกด้วย ได้รับเชิญจากกรมศิลปากรให้ไปรำที่โรงละครแห่งชาติพร้อมกับขุนอุปถัมภ์นรากร เมื่อ พ.ศ. 2518 ในครั้งนี้ได้รับเกียรติบัตรจากกรมศิลปากร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพรได้ประทานเทริดให้ 1 ยอด และในปี พ.ศ. 2526 สถานบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เชิญพร้อมด้วยโนราอีก 7 คณะไปรำในรายการ "มหกรรมโนรา" ที่โรงละครแห่งชาติและที่ศูนย์สังคีต ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้น

โนรายกยังได้รับเกียรติให้เป็นครูสอนโนราแก่นักเรียนนักศึกษาและผู้สนใจในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้แก่ สถาบันราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โรงเรียนธัญเจริญ และโรงเรียนเกษตรชลธี อำเภอระโนด สำหรับที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั้น สามารถตั้งคณะโนราของมหาวิทยาลัยขึ้นได้สำเร็จ และได้เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักันอย่างกว้างขวาง เคยได้รับเชิญไปสอนที่วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ที่สถาบันราบภัฎสงขลา และสถานศึกษาอื่น ๆ อีกหลายแห่ง

นอกจากรำโนราและเป็นครูสอนโนราแล้ว โนรายกยังเคยรับราชการเป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นหลายหน้าที่ด้วยกันนอกจากเคยเป็นตำรวจดังกล่าวแล้ว ยังเคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยกำนัน นายทะเบียนประจำตำบล และเป็นผู้สื่อข่าวประจำตำบล

จากการที่โนรายกได้ใช้ชีวิตการเป็นศิลปินมาร่วม 50 ปี (จนถึง พ.ศ. 2529) ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ได้พยายามรักษาแบบแผนของโนราแบบดั้งเดิมเอาไว้อย่างมั่นคง พยายามแทรกความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโนราให้แก่ผู้ชม ได้สอนลูกศิษย์ลูกหาเอาไว้มากมาย และได้ช่วยเหลือสังคมดังกล่าวมาแล้ว สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้มีมติยกย่องให้เป็นศิลปินพื้นเมืองดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2528 และต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2530 ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งแก่ชีวิตและวงศ์ตระกูล

โนรายก ชูบัว ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2549 หลังล้มป่วยด้วยโรคชรามาระยะหนึ่ง โดยได้รับพระราชทานเพลิงศพวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ณ วัดราษฎร์บำรุง ตำบลระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • (อุดม หนูทอง) สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้
  1. ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า 74 เล่ม 110 ตอนที่ 36 26 มีนาคม 2536http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2536/D/036V013/68.PDF