นางสีดา
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
นางสีดา | |
---|---|
ตัวละครใน รามเกียรติ์ | |
พระราม และ นางสีดา ศิลปะแบบประเพณีอินเดียปัจจุบัน | |
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง | |
เพศ | หญิง |
ตำแหน่ง | มเหสีของพระราม |
คู่สมรส | พระราม |
บุตร | พระมงกุฎ พระลบ |
ญาติ | ทศกัณฐ์ (บิดา) นางมณโฑ (มารดา) ท้าวชนก (บิดาบุญธรรม) ท้าวลัสเตียน (ปู่) ท้าวจตุรพักตร์ (ทวด) กุมภกรรณ (อา) พิเภก (อา) ขร (อา) ทูษณ์ (อา) ตรีเศียร (อา) นางสำมนักขา (อา) องคต (พี่ชายร่วมมารดา) อินทรชิต (พี่ชายร่วมบิดามารดา) ไพนาสุริยวงศ์ (น้องชายร่วมบิดามารดา) สหัสกุมาร (น้องชายร่วมบิดา) สิบรถ (น้องชายร่วมบิดา) ทศคีรีวัน ทศคีรีธร (น้องชายร่วมบิดา) นางสุพรรณมัจฉา (น้องสาวร่วมบิดา) |
มิตรสหาย | พระลักษมณ์, พระพรต, พระสัตรุด, หนุมาน |
ศัตรู | ทศกัณฐ์ |
นางสีดา (สันสกฤต: सीता สีตา) หรือที่รู้จักกันในชื่อ สิยา ชานกิ ไมถิลี ไวเทหิ หรือ ภูมิชา เป็นตัวละครเอกจากเรื่องรามเกียรติ์ โดยเป็นธิดาของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ และเป็นอัครมเหสีของพระราม แต่ในรามายณะของอินเดียหลายฉบับบอกว่านางสีดาเป็นธิดาของพระภูมิเทวีหรือพระแม่ธรณี
ประวัติ
[แก้]นางสีดา คือ พระลักษมีเป็นมเหสีเอกของพระนารายณ์อวตารลงมา เพื่อเป็นคู่ครองของพระราม
เรื่องของนางเริ่มต้นขึ้นเมื่อพระนารายณ์ได้อวตารลงมาเกิดเป็นพระราม พระลักษมีพระชายาแห่งพระนารายณ์จึงทรงอวตารลงไปเกิดเป็นคู่ครองของพระราม ณ กรุงอโยธยาในครานั้น ท้าวทศรถผู้ครองนครมีอายุมากแล้ว ทั้งทีมีมเหสีถึงสามนางคือ พระนางเกาสุริยา พระนางไกยเกษี และพระนางสมุทรเทวี แต่พระองค์ก็หาได้มีพระโอรสธิดาไว้สืบราชวงศ์ไม่ ท้าวทศรถได้นำความนี้ปรึกษากับเหล่าฤๅษี ซึ่งพระฤๅษีกไลโกฎได้ทูลว่า ควรจะทำพิธีบวงสรวงขอพระโอรสธิดาจากเทพเจ้า ด้วยวิธีการกวนข้าวทิพย์ ท้าวทศรถจึงจัดพิธีการกวนข้าวทิพย์อย่างยิ่งใหญ่ภายในกรุงอโยธยาเพื่อวอนขอสิ่งที่พระองค์ปรารถน
พระอิศวรจึงมีพระบัญชาให้พระนารายณ์ลงอวตารเป็นพระโอรสแห่งท้าวทศรถ ซึ่งพระยาอนันตนาคราชผู้เป็นพระแท่นบรรทมของพระนารายณ์ก็ขอติดตามไปด้วย เมื่อพิธีเสร็จสิ้น ท้าวทศรถจึงแบ่งก้อนข้าวทิพย์ให้แก่มเหสีทั้งสามของพระองค์ แต่เหลือข้าวก้อนสุดท้ายอยู่ ข้าวทิพย์เหล่านี้มีกลิ่นหอมหวลอย่างมากจนฟุ้งไกลไปถึงกรุงลงกา นางมณโฑ มเหสีของทศกัณฐ์ได้กลิ่นเข้าก็ร่ำร้องอยากกินให้ได้ มิฉะนั้นตนต้องขาดใจตายเป็นแน่ ทศกัณฐ์จึงมีบัญชาให้นางกากนาสูรสมุนของตนไปโฉบเอาก้อนข้าวทิพย์มาให้นางมณโฑ
เมื่อมเหสีแห่งท้าวทศรถรวมทั้งนางมณโฑได้กินข้าวทิพย์เข้าไปทำให้ต่างนางต่างตั้งครรภ์ ยังความดีใจให้กับท้าวทศรถและทศกัณฐ์อย่างมาก พระนางเกาสุริยาได้ประสูติพระโอรสองค์โตคือ พระราม (พระนารายณ์อวตาร) พระนางไกยเกษีประสูติพระโอรสองค์รองคือ พระพรต (จักรแห่งพระนารายณ์มาเกิด) พระนางสมุทรเทวีประสูติโอรสแฝดคือ พระลักษมณ์ (พญาอนันตนาคราช) และพระสัตรุด (คฑาพระนารายณ์) นางมณโฑก็ประสูติพระธิดาทรงโฉมงดงามยิ่ง คือพระลักษมีอวตาร นางสีดานั่นเอง
เมื่อประสูติออกมา นางร้องว่า ผลาญราพณ์ถึง 3 ครั้ง พิเภกกราบทูลว่า นางสีดาจะนำภัยพิบัติใหญ่หลวงมาสู่วงศ์ยักษ์ ทศกัณฐ์จึงสั่งให้ใส่นางสีดาในผอบลอยน้ำไปเพราะยังไม่อาจหักใจประหารธิดาในไส้ของตนนางนี้ได้ ผอบทองลอยน้ำไปถึงอาศรมของฤๅษีชนกผู้ครองกรุงมิถิลา เปิดดูพบเด็กทารกหญิงหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดูภายใน ทว่าฤๅษีชนกนั้นในขณะนั้นครองเพศฤๅษีอยู่ ไม่สะดวกจะเลี้ยงนางสีดา จึงได้นำผอบทองฝังดิน พร้อมขอให้พระแม่ธรณีช่วยดูแลรักษานางด้วย
16 ปีต่อมา ฤๅษีชนกตั้งใจนิวัตินครเพื่อครองกรุงมิถิลาตามเดิม จึงได้ทำพิธีไถคราดดินหาผอบทองที่พระองค์ฝังดินไว้ คันไถไปติดผอบเข้า เหล่าทหารจึงได้ขุดขึ้นมา เมื่อเปิดออกก็พบหญิงสาวรูปร่างหน้าตาสะสวยสะคราญโฉมอย่างที่หาที่เปรียบเปรยไม่ได้ สวยงามที่สุดและงดงามยิ่งกว่านางใดในโลกนี้ ทั้งจริตกิริยาก็เรียบร้อยน่าชม ฤๅษีชนกจึงได้รับนางเป็นพระธิดาแห่งกรุงมิถิลา พร้อมประทานนามให้นางว่า สีดา ที่แปลว่า "รอยไถ"
เมื่อนางสีดาเจริญถึงวัยอันควรแล้ว ท้าวชนกพระบิดาคิดจะจัดพิธีสยุมพรให้นางสีดาพระธิดา จึงได้ป่าวประกาศหาผู้ที่จะสามารถยกธนูโมลีหนักพันแรงคนยกได้ ถ้าผู้ใดทำได้จะยกนางสีดาให้อภิเษก ในครานั้นมีเจ้าชายหนุ่มสองพระองค์นามว่าพระรามและพระลักษมณ์ อยู่ร่วมด้วย พระรามจึงมีพระดำริจะลองยกธนูโมลีนั้นดู แต่ทันใดนั้นเอง พระรามได้จ้องมองผ่านม่านพบกับนางสีดาที่นั่งอยู่อีกฝั่ง ด้วยบุพเพสันนิวาสทำให้ทั้งสองมีใจรักภักดีต่อกันทันที ธนูโมลีนั้นมีเพียงพระรามและพระลักษมณ์ที่ยกได้ แต่พระลักษมณ์ทราบดีว่าพระรามและนางสีดามีใจต่อกันจึงแสร้งทำเป็นยกธนูไม่ขึ้น ในที่สุด พระรามและนางสีดาก็ได้อภิเษกกันอย่างถูกต้องตามประเพณี
เมื่อนิวัติกลับอโยธยา พระรามก็ต้องพบกับข่าวร้าย ด้วยเล่ห์เหลี่ยมนางกุจจีข้ารับใช้ของพระนางไกยเกษีซึ่งเกลียดชังพระรามมาแต่เด็ก นางกุจจีหลอกล่อให้นางไกยเกษีขอท้าวทศรถให้พระพรตโอรสของนางขึ้นครองบัลลังก์ก่อน ซึ่งท้าวทศรถเสียใจมาก แต่พระองค์เคยได้รับการช่วยเหลือจากนางไกยเกษี พระองค์จึงจำยอมทำตาม พร้อมขับไล่พระรามออกเดินป่าเป็นฤๅษีถึง 14 ปี พระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ที่ขอติดตามไปด้วยจึงออกไปผจญความทุกข์ยากในป่า ทำให้สุดท้ายท้าวทศรถก็ตรอมใจตาย
พระรามและนางสีดาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขแม้ว่าจะอัตคัดขัดสนบ้าง จนกระทั่งวันหนึ่ง นางสำมนักขายักม่ายน้องสาวทศกัณฐ์มาเห็นรูปโฉมพระรามก็หลงรัก เกี้ยวพาขอพระองค์เป็นสวามี แต่พระรามปฏิเสธเพราะมีนางสีดาอยู่แล้ว นางสำมนักขาโกรธจึงด่าทอทุบตีนางสีดา พระลักษมณ์โมโหจับนางสำมนักขาตัดหูตัดจมูกแล้วปล่อยไป นางสำมนักขาแค้นเคืองไปฟ้องพี่ชายของตน พร้อมกับพรรณาความงดงามของนางสีดาให้ทศกัณฐ์ฟังจนทศกัณฐ์อยากได้ในตัวของนางสีดา ทศกัณฐ์สั่งให้มารีศแปลงเป็นกวางทองไปล่อหลอกพระรามพระลักษมณ์ออกจากอาศรมแล้วตนเองก็ไปลักพาตัวนางสีดามาอยู่ที่สวนขวัญ นางสีดามีรักมั่นคงต่อพระรามจึงไม่ยอมเป็นชายาของทศกัณฐ์ ทำให้เกิดสงครามระหว่างมนุษย์และยักษ์ปะทุขึ้น จนคำทำนายในวัยเด็กที่เป็นภัยมาสู้เหล่ายักษ์เป็นจริงขึ้นมา
เสร็จสิ้นสงคราม ทศกัณฐ์ตายแล้ว พระรามอยากเชิญนางสีดากลับอโยธยาด้วยกัน แต่พระองค์ไม่อยากให้ผู้ใดมานินทาว่าร้ายนางสีดาที่ไปอยู่แดนศัตรูเกือบ 14 ปี นางสีดาจึงขอพิสูจน์ตนเองว่า จะขอลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ถ้าตนคิดนอกใจสามีเพียงนิดเดียว ขอให้ไฟไหม้นางจนตาย แต่ถ้านางมีรักมั่นต่อสามี ไฟจะไม่อาจทำอันตรายนางได้
ต่อมานางสีดามีครรภ์ นางอดุลยักษีที่เคียดแค้นนางสีดาแปลงมาเป็นนางกำนัลพร้อมขอให้นางสีดาวาดรูปทศกัณฐ์ พอวาดเสร็จนางอดุลก็เข้าสิงทำให้รูปลบไม่ออก พระรามมาเห็นรูปภาพเข้าก็พิโรธมากว่านางสีดายังรักภักดีทศกัณฐ์ จึงสั่งพระลักษมณ์ให้ประหารนางสีดา พระลักษมณ์ไม่ทำซ้ำยังปล่อยนางหนีไป แล้วฆ่าควักหัวใจกวางนำไปถวายพระราม
นางสีดาไปอาศัยอยู่กับฤๅษีวัชมฤคจนกระทั่งประสูติพระโอรสของพระรามนามว่า พระมงกุฎ จากนั้นต่อมาพระฤๅษีก็ได้ชุบกุมารมาเป็นเพื่อนเล่นพระมงกุฎนามว่า พระลบ ทั้งสองกุมารเก่งกล้ามากจนสะเทือนไปถึงอโยธยา จนเกิดการต่อสู้กันระหว่างพ่อลูกทว่าไม่รู้ผลแพ้ชนะ ในที่สุดจึงได้รู้ว่าผู้ที่ต่อสู้อยู่ด้วยนี้ คือพระโอรสองค์เดียวที่เกิดแต่มเหสีนางสีดานั่นเอง พระรามง้องอนขอคืนดีกับนางสีดา แต่นางสีดาเข็ดขยาดในความฉุนเฉียวของพระราม นางจึงแทรกตัวลงไปเมืองบาดาลหนีพระราม พระรามจึงต้องออกผจญภัยอีกครั้งเป็นเวลา 1 ปี จนท้ายที่สุดพระอิศวรได้รับนางสีดาขึ้นมาและปรับความเข้าใจกับทั้งสอง จนในที่สุดพระราม และนางสีดา จึงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดมา
ลักษณะและสี
[แก้]สีนวลจันทร์หรือสีขาวผ่อง 1 หน้า 2 มือ มงกุฏนาง สวยมาก
พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดังจันทร พิศขนงก่งงอนดังคันศิลป
พิศเนตรดังเนตรมฤคิน พิศทนต์ดังนิลอันเรียบราย
พิศโอษฐ์ดังหนึ่งจะแย้มสรวล พิศนวลดังสีมณีฉาย
พิศปรางดังปรางทองพราย พิศกรรณคล้ายกลีบบุษบง
พิศจุไรดังหนึ่งแกล้งวาด พิศศอวิลาสดังคอหงส์
พิศกรดังงวงคชาพงศ์ พิศทรงดังเทพกินรา
พิศถันดังปทุมเกษร พิศเอวเอวอ่อนดังเลขา
พิศผิวผิวผ่องดังทองทา พิศจริตกิริยาจับใจ
สวามีและโอรสธิดา
[แก้]นางสีดามีโอรส 1 องค์ คือ พระมงกุฏ และมีบุตรเลี้ยง 1 องค์ คือ พระลบ ซึ่งพระวัชมฤคฤษีชุบขึ้นมาให้เป็นพระอนุชาของพระมงกุฏ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หน้า 13 ประชาชื่น, ''เยี่ยมบ้าน ส.พลายน้อย 88 ปี วันนี้...สบายดี "สนุกกับการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ในทะเลหนังสือ" โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช. มติชนปีที่ 40 ฉบับที่ 14318: วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
ก่อนหน้า | นางสีดา | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
นางเกาสุริยา | อัครมเหสีแห่งกรุงอโยธยา |
'รามเกียรติ์จบขณะนางยังเป็นอัครเหสีแห่งกรุงอโยธยา' |