ข้ามไปเนื้อหา

กระทรวงสาธารณสุข (ประเทศไทย)

พิกัด: 13°50′59″N 100°31′40″E / 13.84986°N 100.52779°E / 13.84986; 100.52779
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กระทรวงสาธารณสุข
Ministry of Public Health
เครื่องหมายราชการ
ตราคบเพลิงมีปีกและมีงู

ทางเข้ากระทรวงสาธารณสุข ถ่ายจากสถานีกระทรวงสาธารณสุข
ภาพรวมกระทรวง
ก่อตั้ง27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461; 106 ปีก่อน (2461-11-27)
กระทรวงก่อนหน้า
  • กรมสาธารณสุข
  • กระทรวงการสาธารณสุข
ประเภทกระทรวง
เขตอำนาจทั่วราชอาณาจักร
สำนักงานใหญ่เลขที่ 88/20 หมู่ที่ 4 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000
บุคลากร386,155 คน (พ.ศ. 2566)[1]
งบประมาณต่อปี170,965,693,900 บาท
(พ.ศ. 2568)[2]
รัฐมนตรี
รัฐมนตรีช่วย
ฝ่ายบริหารกระทรวง
  • โอภาส การย์กวินพงศ์, ปลัดกระทรวง
  • พงศธร พอกเพิ่มดี, รองปลัดกระทรวง
  • ภูวเดช สุระโคตร, รองปลัดกระทรวง
  • มณเฑียร คณาสวัสดิ์, รองปลัดกระทรวง
  • ศักดา อัลภาชน์, รองปลัดกระทรวง
  • วีรวุฒิ อิ่มสำราญ, รองปลัดกระทรวง
ต้นสังกัดกระทรวงรัฐบาลไทย
ลูกสังกัดกระทรวง
เว็บไซต์เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

กระทรวงสาธารณสุข (อังกฤษ: Ministry of Public Health) เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลางประเภทกระทรวงของไทย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

ประวัติ

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกรมการพยาบาลขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2431 เพื่อให้ควบคุมดูแลกิจการศิริราชพยาบาลสืบแทนคณะกรรมการสร้างโรงพยาบาลวังหน้า กรมพยาบาลมีหน้าที่จัดการศึกษาวิชาแพทย์ ควบคุมโรงพยาบาลอื่น ๆ และจัดการปลูกฝีเป็นทานแก่ประชาชน

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีภายในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข

พ.ศ. 2432 กรมพยาบาลย้ายมาสังกัดในกระทรวงธรรมการ เริ่มมีแพทย์ประจำเมืองขึ้นในบางแห่ง มีการนำยาตำราหลวงออกจำหน่วยในราคาถูกและตั้งกองแพทย์ไปป้องกันโรคระบาด

พ.ศ. 2448 (ร.ศ. 124) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมพยาบาลและตำแหน่งอธิบดีกรมพยาบาล อธิบดีกรมพยาบาลคนสุดท้ายคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา และให้โรงพยาบาลอื่นที่สังกัดกรมพยาบาลไปขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล ยกเว้นโรงศิริราชพยาบาล คงให้เป็นสาขาของโรงเรียนราชแพทยาลัย ส่วนกองโอสถศาลารัฐบาล กองทำพันธุ์หนองฝี กองแพทย์ป้องกันโรคและแพทย์ประจำเมือง ยังคงสังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการตามเดิม

พ.ศ. 2451 กระทรวงมหาดไทยได้ขอโอนกองโอสถศาลารัฐบาล กองทำพันธุ์หนองฝี กองแพทย์ป้องกันโรค และแพทย์ประจำเมืองมาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในชั้นแรกให้สังกัดอยู่ในกรมพลำภังค์

ต่อมากระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์จะปรับปรุง กิจการของกรมพยาบาลให้กว้างขวางและก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนชื่อกรมพยาบาลเป็นกรมประชาภิบาล และได้รับพระบรมราชานุญาตตามสำเนาพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2459

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ได้ประกาศตั้งกรมสาธารณสุข โดยเปลี่ยนจากกรมประชาภิบาล และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมมหาวิทยาลัยเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข กรมสาธารณสุขอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2485 จึงได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข

เครื่องหมายราชการกระทรวงสาธารณสุข

[แก้]
เครื่องหมายราชการกระทรวงสาธารณสุข ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา
เครื่องหมายราชการกระทรวงสาธารณสุข แบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

เมื่อได้จัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นแล้ว ทางราชการได้กำหนดรูปคบเพลิงมีปีกและมีงูพันคบเพลิงเป็นตรากระทรวงสาธารณสุข ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2485[3]

การเปลี่ยนตรากระทรวงสาธารณสุขใหม่

[แก้]

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข[4] กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.ได้มีการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของกระทรวงซึ่งใช้มานานกว่า 97 ปี คือตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 ที่เป็นวันก่อตั้ง สธ. สำหรับการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ในครั้งนี้เกิดจากแนวคิดของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. ที่พบว่าตราสัญลักษณ์ในเว็บไซต์ของ สธ.และกรมต่าง ๆ มีการใช้ตราสัญลักษณ์ที่หลากหลายดูแล้วสับสน จึงมีแนวคิดที่จะสร้างความเป็นเอกลักษณ์ทำให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจง่าย

ซึ่งการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ใหม่จะยังคงอิงตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 ฉบับที่ 13 ซึ่งประกาศตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2485 ลงนามโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ระบุว่าให้มีสัญลักษณ์งูพันกับคบเพลิงเอาไว้ แต่ส่วนที่จะปรับเปลี่ยนใหม่ คือ การตัดเอาส่วนที่ยุ่งเหยิงออก เช่น ลายกนกภายในวงกลมของสัญลักษณ์ ประกายเพลิง รวมถึงมีการเปลี่ยนโทนสีของสัญลักษณ์ จากเดิมมีหลายสี ดูแล้วฉูดฉาด มาใช้โทนสีเขียวและสีขาวแทน โดยพื้นสัญลักษณ์จะเป็นสีเขียว และใช้ตัวอักษรและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทั้งคบเพลิงและคทาเป็นสีขาว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ที่เลือกใช้สีเขียวนั้นมีที่มาที่ไป คือ เดิมทีเมื่อแพทย์ทำการผ่าตัดจะใส่ชุดสีขาว แต่เมื่อสีขาวเจอกับเลือดก็จะมีปัญหาทางสายตา จึงหันมาใช้สีเขียวเพราะทำให้สบายตา ดังนั้น จึงเลือกใช้สีเขียวเป็นสีพื้นของสัญลักษณ์ สำหรับการเปลี่ยนสัญลักษณ์ใหม่ได้หารือกันในหลายส่วน เห็นตรงกันว่าจะต้องสร้างเอกลักษณ์ของ สธ.ให้ชัดเจน ส่วนตามกรมต่าง ๆ ในสังกัดก็จะให้อิงตามสัญลักษณ์ของ สธ.เป็นหลัก แต่หากกรมใดจะเพิ่มเติมรายละเอียดใดลงไปในสัญลักษณ์นั้นจะต้องหารือกันอีก ครั้ง

"สำหรับกรณีที่มีกระแสว่าการเปลี่ยนสัญลักษณ์ เพราะต้องการปรับฮวงจุ้ยเพื่อหวังลดปัญหาความขัดแย้ง ยืนยันว่าไม่จริง เพราะวัตถุประสงค์จริง ๆ คือการสร้างความเป็นเอกลักษณ์ในการสื่อสาร และปัจจุบันการสื่อสารก็มีการติดต่อผ่านทางเว็บไซต์เป็นหลัก แต่เมื่อประชาชนเข้ามาดูก็มักจะเกิดความสับสนว่าสัญลักษณ์ของ สธ. คืออะไร จึงต้องการเปลี่ยนเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของ สธ. ให้ชัดเจน

ที่สำคัญคือสัญลักษณ์ใหม่ก็ไม่ได้ใช้งบประมาณใด ๆ เลย เพราะเน้นปรับเปลี่ยนตรงเว็บไซต์ ดังนั้นโรงพยาบาลหรือหน่วยงานใด ๆ ในสังกัดหากมีตราสัญลักษณ์ที่ทำเป็นเครื่องหมายติดถาวรก็ไม่จำเป็นต้องถอดออก เพราะสิ้นเปลือง" ปลัด สธ.กล่าว และว่า สำหรับความหมายขององค์ประกอบต่าง ๆ ในสัญลักษณ์ คือ คทาหรือคบเพลิง เปรียบด้วยอำนาจ งู เปรียบด้วยความรอบรู้ และปีกสองปีก เปรียบด้วยความขยันขันแข็ง ความคล่องแคล่วทะมัดทะแมง

เมื่อถามว่าสำหรับกรมต่าง ๆ จะต้องปรับเปลี่ยนโลโก้ของแต่ละกรมอย่างไร นพ.โสภณกล่าวว่า กำลังทยอยพิจารณาอยู่ เนื่องจากเรื่องนี้ รมว.สธ.ให้ดำเนินการโดยตั้งเป้าไว้ภายใน 3 เดือน แต่สัญลักษณ์ทั้งหมดจะเน้นในเว็บไซต์ก่อนเป็นหลัก[5]

หน้าที่และความรับผิดชอบ

[แก้]

พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2554[6] หมวด 19 มาตรา 42 ได้ระบุว่า มาตรา 42 กระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารสุข

มาตรา 43 กระทรวงสาธารณสุข มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

  1. สำนักงานรัฐมนตรี
  2. สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
  3. กรมสุขภาพจิต
  4. กรมควบคุมโรค
  5. กรมอนามัย
  6. กรมการแพทย์
  7. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
  8. กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
  9. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
  10. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  11. กรมสถานพยาบาลสาธารณสุขสงเคราะห์

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้รับทราบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการในกระทรวงสาธารณสุข รวม 9 ฉบับ ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 แล้วให้ส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปนั้น บัดนี้ กฎกระทรวง ทั้ง 9 ฉบับได้รับการประกาศลงราชกิจจนุเบกษา เล่ม 126 ตอนที่ 98 ก วันที่ 28 ธันวาคม 2552 หน้า 32 - 115 •กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552

  • กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552
  • กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552
  • กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552
  • กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552
  • กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552
  • กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552
  • กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552
  • กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552

หน่วยงานในสังกัด

[แก้]

ส่วนราชการ

[แก้]

ตาม พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ประกาศให้กระทรวงสาธารณสุข มีส่วนราชการดังต่อไปนี้

รัฐวิสาหกิจ

[แก้]

องค์การมหาชน

[แก้]

กระทรวงสาธารณสุข มีองค์การมหาชนในความกำกับดูแลจำนวน 7 แห่ง แบ่งเป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 จำนวน 2 แห่ง และองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จำนวน 4 แห่ง

ส่วนราชการอื่น

[แก้]

ข้อวิจารณ์

[แก้]

ในเดือนกันยายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่ามีข้อมูลผู้ป่วยถูกแฮกจริง โดยมีต้นเหตุมาจากโรงพยาบาลในจังหวัดเพชรบูรณ์ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่ามีข้อมูลผู้ป่วยถูกแฮกเพียง 1 หมื่นราย พร้อมกับรายละเอียดชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์และข้อมูลการเข้า-ออกโรงพยาบาล และข้อมูลของเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง โดยเมื่อเดือนกันยายน 2563 มีข้อมูลว่าโรงพยาบาลสระบุรีถูกโจมตีด้วยโปรแกรมเรียกค่าไถ่ แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดังกล่าวยืนยันว่าการเรียกค่าไถ่ไม่เป็นความจริง[7]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, รายงานข้อมูลด้านบุคลากรด้านสาธารณสุข ประจำปี 2566, สืบค้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๗๕, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 13), เล่ม 59, ตอน 30, 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2485, หน้า 1005.
  4. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจาก[เว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข แหล่งเดิม]เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-10-29. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  6. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2554
  7. "อนุทินยอมรับฐานข้อมูลคนไข้ สธ. ถูกแฮก สั่งเร่งปรับปรุงความปลอดภัยระบบ". BBC ไทย. 7 September 2021. สืบค้นเมื่อ 7 September 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°50′59″N 100°31′40″E / 13.84986°N 100.52779°E / 13.84986; 100.52779