ประเทศเม็กซิโก
สหรัฐเม็กซิโก Estados Unidos Mexicanos (สเปน) | |
---|---|
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | เม็กซิโกซิตี 19°26′N 99°08′W / 19.433°N 99.133°W |
ภาษาราชการ |
|
ภาษาพื้นเมือง | ภาษาสเปนและภาษาของชนพื้นเมืองอีก 68 ภาษา[a] |
ภาษาประจำชาติ | สเปน (โดยพฤตินัย)[b] |
กลุ่มชาติพันธุ์ | กลุ่มชาติพันธุ์อเมรินเดียนและต่างชาติ 56 กลุ่ม |
ศาสนา (2020)[1] | |
การปกครอง | สหพันธ์ ระบบประธานาธิบดี สาธารณรัฐรัฐธรรมนูญ[2] |
คลอเดีย เชนบัม | |
Gerardo Fernández Noroña | |
Sergio Gutiérrez Luna | |
สภานิติบัญญัติ | สภาคองเกรส |
• สภาสูง | วุฒิสภา |
• สภาล่าง | สภาผู้แทนราษฎร |
เอกราช จากสเปน | |
• ประกาศ | 16 กันยายน ค.ศ. 1810[3] |
• สำเร็จ | 27 กันยายน ค.ศ. 1821 |
28 ธันวาคม ค.ศ. 1836 | |
4 ตุลาคม ค.ศ. 1824 | |
5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1857 | |
5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 | |
พื้นที่ | |
• รวม | 1,972,550 ตารางกิโลเมตร (761,610 ตารางไมล์) (อันดับที่ 13) |
1.58 (ใน ค.ศ. 2015)[4] | |
ประชากร | |
• สำมะโนประชากร ค.ศ. 2020 | 126,014,024[1] (อันดับที่ 10) |
61 ต่อตารางกิโลเมตร (158.0 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 142) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | ค.ศ. 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 2.92 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[5] (อันดับที่ 13) |
• ต่อหัว | 22,440 ดอลลาร์สหรัฐ[5] (อันดับที่ 69) |
จีดีพี (ราคาตลาด) | ค.ศ. 2022 (ประมาณ) |
• รวม | 1.42 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[5] (อันดับที่ 15) |
• ต่อหัว | 10,950 ดอลลาร์สหรัฐ[5] (อันดับที่ 71) |
จีนี (ค.ศ. 2018) | 41.8[6] ปานกลาง |
เอชดีไอ (ค.ศ. 2021) | 0.758[7] สูง · อันดับที่ 86 |
สกุลเงิน | เปโซ (MXN) |
เขตเวลา | UTC−8 ถึง −5 (ดู เวลาในประเทศเม็กซิโก) |
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง) | UTC−7 ถึง −5 (หลายแบบ) |
ขับรถด้าน | ขวา |
รหัสโทรศัพท์ | +52 |
โดเมนบนสุด | .mx |
|
เม็กซิโก (อังกฤษ: Mexico; สเปน: México) หรือชื่อทางการคือ สหรัฐเม็กซิโก (อังกฤษ: United Mexican States; สเปน: Estados Unidos Mexicanos) เป็นประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ มีพรมแดนทางทิศเหนือจรดสหรัฐอเมริกา ทิศใต้และทิศตะวันตกจรดมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศตะวันออกเฉียงใต้จรดกัวเตมาลา เบลีซ และทะเลแคริบเบียน ส่วนทิศตะวันออกจรดอ่าวเม็กซิโก[10][11] เนื่องจากครอบคลุมพื้นที่ถึงเกือบ 2 ล้านตารางกิโลเมตร[12] เม็กซิโกจึงเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของทวีปอเมริกา และเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และยังมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 10 ของโลก (126,014,024 คน)[13] เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีประชากรพูดภาษาสเปนมากที่สุดในโลก[14][15] และเป็นสหพันธ์ที่ประกอบด้วย 31 รัฐ โดยมีกรุงเม็กซิโกซิตีเป็นเมืองหลวง และยังเป็นหนึ่งในนครที่มีประชากรมากที่สุดในโลก[16] และมีเมืองอื่น ๆ ที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ได้แก่ กัวดาลาฮารา, มอนเตร์เรย์, ปวยบลา, โตลูกา, ติฆัวนา, ซิวดัดฆัวเรซ และเลออน
ประวัติศาสตร์ของเม็กซิโกยุคพรีโคลัมบัสมีประวัติย้อนไปถึง 8,000 ปีก่อนคริสตกาล บริเวณนี้ถือเป็นหนึ่งในหกแหล่งกำเนิดของอารยธรรมสำคัญของโลก[17] โดยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคมีโซอเมริกาซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของชาวโอลเมก, อารยธรรมมายา, อารยธรรมปูเรเปชา, เตโอตีวากาน และ จักรวรรดิแอซเท็ก ซึ่งครอบครองบริเวณนี้ก่อนการมาถึงของชาวยุโรป ต่อมาใน ค.ศ. 1521 จักรวรรดิสเปนได้พิชิตและตั้งอาณานิคมในภูมิภาคนี้โดยมีฐานที่มั่นในเม็กซิโกซิตี และก่อตั้งเป็นอาณานิคมของสเปน ต่อมา คริสตจักรคาทอลิกได้มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์และภาษาสเปน[18] แต่ยังคงรักษาวัฒนธรรมพื้นเมืองเอาไว้ ประชากรพื้นเมืองถูกปราบปรามและถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างหนักจากการบังคับใช้แรงงานเพื่อขุดแร่โลหะที่มีค่าจำนวนมาก ซึ่งทำให้สเปนมีสถานะเป็นมหาอำนาจโลกต่อไปอีกสามศตวรรษ[19] เมื่อเวลาผ่านไป เอกลักษณ์เฉพาะของเม็กซิโกได้ก่อตัวขึ้นจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของยุโรปและชนเผ่าพื้นเมือง ต่อมา เม็กซิโกเป็นอิสระจากการปกครองของสเปนภายหลังได้รับชัยชนะในสงครามประกาศเอกราชเม็กซิโก[20]
ประวัติศาสตร์ในยุคแรกของเม็กซิโกในฐานะรัฐชาติเต็มไปด้วยความวุ่นวายทางการเมือง เนื่องจากกลุ่มกบฎได้ก่อการปฏิวัติเท็กซัสและนำไปสู่สงครามเม็กซิโก-อเมริกันในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดความสูญเสียอาณาเขตอย่างใหญ่หลวงต่อสหรัฐอเมริกา การปฏิรูปเสรีนิยมได้รับการบันทึกอยู่ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1857 ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการพยายามรวบรวมชนเผ่าพื้นเมืองให้เป็นปึกแผ่นและมีการลดอำนาจของคริสตจักรและกองทัพลง สิ่งนี้ก่อให้เกิดสงครามภายในประเทศและการแทรกแซงของฝรั่งเศส ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ตั้งจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 แห่งเม็กซิโก เป็นจักรพรรดิต่อต้านการปกครองแบบสาธารณรัฐที่นำโดยเบนิโต ฮัวเรซ ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 ประเทศเม็กซิโกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของ ปอร์ฟิริโอ ดิอัซ ประธานาธิบดีในขณะนั้น ซึ่งพยายามปรับปรุงเม็กซิโกให้ทันสมัยและฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ต่อมาได้เกิดสงครามการปฏิวัติเม็กซิโกขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งมาจากการต่อต้านระบอบของดิอัซ สงครามได้กินเวลายาวนานกว่าทศวรรษ และคร่าชีวิตประชากรไปกว่า 10% และฝ่ายปฏิวัติซึ่งได้รับชัยชนะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน ค.ศ. 1917 ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้มาจนถึงทุกวันนี้ นายพลของกองทัพคณะปฏิวัติได้ปกครองเม็กซิโกในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีจนกระทั่งเหตุการณ์การลอบสังหาร อัลบาโร โอเบรกอน ใน ค.ศ. 1928 นำไปสู่การก่อตั้งพรรคปฏิวัติ (PRI)[21] [22][23] เม็กซิโกเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองโดยถือฝ่ายสัมพันธมิตร[24][25] พรรคปฏิวัติบริหารประเทศมาต่อเนื่องอีกหลายทศวรรษ ทว่าก็ได้รับเสียงวิจารณ์ในด้านความโปร่งใสและการใช้อำนาจโดยมิชอบ และได้นำนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมมาใช้ รวมถึงการทำความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือในทศวรรษ 1990 ก่อนจะแพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรคอนุรักษ์นิยม (PAN) เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 70 ปี ใน ค.ศ. 2000
เม็กซิโกเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลกตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ โดยมีสหรัฐเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด[26] จากการที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีประชากรมาก ส่งผลให้เม็กซิโกเป็นประเทศอำนาจนำภูมิภาคและมหาอำนาจระดับกลาง[27][28] และมักถูกระบุว่าเป็นมหาอำนาจเกิดใหม่[29] และรัฐอุตสาหกรรมใหม่[30][31][32] อย่างไรก็ตาม การทุจริตทางการเมือง ความยากจน และอาชญากรรมยังเป็นปัญหาสำคัญเช่นเดียวกับประเทศอื่นในลาตินอเมริกา โดยเม็กซิโกอยู่ในอันดับต่ำจากการจัดอันดับด้านความปลอดภัย ปัญหาหลักเกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและองค์กรค้ายาเสพติดซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของประชากรมากกว่า 127,000 คนตั้งแต่ ค.ศ. 2006[33] เม็กซิโกอยู่ในอันดับหนึ่งในทวีปอเมริกาและอันดับเจ็ดของโลกในแง่จำนวนมรดกโลกของยูเนสโก[34][35] นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติมากที่สุดตั้งแต่ยุคโบราณ และเป็นอันดับที่ 5 ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และจากการที่มีมรดกทางวัฒนธรรมและสภาพอากาศอันหลากหลาย ส่งผลให้เม็กซิโกเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยใน ค.ศ. 2022 เม็กซิโกมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก (42 ล้านคน)[36] เม็กซิโกเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ, กลุ่ม 20, องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา, องค์การการค้าโลก, ฟอรัมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก, องค์การนานารัฐอเมริกา, ประชาคมลาตินอเมริกา กลุ่มแคริบเบียน รวมทั้งองค์การรัฐไอบีโร-อเมริกา
ที่มาของชื่อประเทศ
[แก้]หลังจากได้รับเอกราชจากประเทศสเปน ก็มีการตกลงว่าจะตั้งชื่อประเทศใหม่แห่งนี้ตามชื่อเมืองหลวงคือ กรุงเม็กซิโกซิตี ซึ่งมีชื่อดั้งเดิมในสมัยก่อตั้งว่า "เม็กซิโก-เตนอชตีตลัน" (Mexico-Tenochtitlan) มีที่มาจากชื่อของชนเผ่าเม็กซิกา (Mexica) ซึ่งเป็นชนกลุ่มหลักในอารยธรรมแอซเท็กอีกทอดหนึ่ง ส่วนต้นกำเนิดของชื่อเม็กซิกานั้นยังไม่ทราบชัดเจน มีการตีความไปหลาย ๆ ทาง มีข้อสันนิษฐานว่า มาจากคำในภาษานาอวตล์ว่า "เมชตลี" (Mextli) หรือ "เมชิตลี" (Mēxihtli) ซึ่งเป็นชื่อลับของเทพเจ้าวิตซีโลโปชตลี (Huitzilopochtli) เทพเจ้าแห่งสงครามและผู้คุ้มครองชาวแอซเท็ก (หรือชาวเม็กซิกา) ในกรณีนี้ Mēxihco [เมชิโก] จึงอาจจะแปลว่า "สถานที่ซึ่งเมชตลีทรงสถิตอยู่"[37]
อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งกล่าวว่า Mēxihco ประกอบขึ้นจากคำว่า mētztli ("พระจันทร์"), xictli ("สะดือ", "ศูนย์กลาง" หรือ "ลูกชาย") และคำปัจจัย -co (สถานที่) ซึ่งโดยรวมแล้วแปลได้ว่า "สถานที่ใจกลางพระจันทร์" หรือ "สถานที่ใจกลางทะเลสาบพระจันทร์" ทะเลสาบพระจันทร์นี้หมายถึงทะเลสาบเตซโกโก (Lake Texcoco) ระบบทะเลสาบที่เชื่อมถึงกัน (โดยมีทะเลสาบเตซโกโกตั้งอยู่ตอนกลาง) ในบริเวณนี้มีรูปร่างเหมือนกระต่าย ซึ่งเป็นรูปเดียวกับที่ชาวแอซเท็กเห็นจากพระจันทร์ และกรุงเตนอชตีตลันนั้นก็ตั้งอยู่บนเกาะใจกลาง (หรือสะดือ) ของทะเลสาบ (หรือกระต่าย/พระจันทร์) เหล่านี้พอดี[38] นอกจากนี้ยังมีข้อสมมุติฐานที่กล่าวว่าชื่อนี้มาจากคำว่า "เมกตลี" (Mēctli) ซึ่งเป็นชื่อของเทพธิดาประจำดอกโคม (maguey) อีกด้วย[38]
ชื่อของเมืองเมชิโกได้รับการถอดเสียงในภาษาสเปนเป็น México พร้อมกับเสียงของตัว x ในภาษาสเปนยุคกลางซึ่งในขณะนั้นแทนเสียงเสียดแทรก หลังปุ่มเหงือก ไม่ก้อง /ʃ/ แต่ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เสียงนี้รวมทั้งเสียงเสียดแทรก หลังปุ่มเหงือก ก้อง /ʒ/ ซึ่งแทนด้วยตัว j ได้เกิดการวิวัฒนาการกลายเป็นเสียงเสียดแทรก เพดานอ่อน ไม่ก้อง /x/[39] การเปลี่ยนแปลงเสียงตัวอักษรดังกล่าวนี้ได้ทำให้มีการสะกดชื่อประเทศนี้เป็น Méjico ในสิ่งพิมพ์ภาษาสเปนจำนวนมากโดยเฉพาะในประเทศสเปน แต่ในประเทศเม็กซิโกและประเทศอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาสเปนยังคงใช้การสะกดแบบเดิมคือ México จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้ ราชบัณฑิตยสถานสเปน ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมการใช้ภาษาสเปนในประเทศสเปนได้ตัดสินว่า การสะกดทั้งสองแบบเป็นที่ยอมรับได้ในภาษาสเปน แต่การสะกดที่เป็นแบบแผนกว่าก็คือ México[40] ปัจจุบันสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ในประเทศที่ใช้ภาษาสเปนทั้งหมดก็ถือตามกฎใหม่นี้ แม้ว่าจะยังมีการใช้รูป Méjico อยู่บ้างก็ตาม[41] สำหรับในภาษาอังกฤษ ตัว x ในคำว่า Mexico ไม่ได้แทนทั้งเสียงดั้งเดิมหรือเสียงปัจจุบันตามที่ปรากฏในภาษาสเปน แต่จะแทนเสียงควบกล้ำ /ks/
ภูมิศาสตร์
[แก้]เม็กซิโกตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ของทวีปอเมริกาเหนือ[42][43] นอกจากบนทวีปดังกล่าวแล้ว เม็กซิโกยังมีกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเล็ก ๆ ในอ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน อ่าวแคลิฟอร์เนีย และมหาสมุทรแปซิฟิก (ได้แก่เกาะกวาดาลูเปและหมู่เกาะเรบียาคีเคโดที่อยู่ห่างไกลออกไป) อีกด้วย พื้นที่เกือบทั้งหมดของเม็กซิโกแผ่นดินใหญ่ตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือ โดยมีบางส่วนของคาบสมุทรบาฮากาลิฟอร์เนียตั้งอยู่บนแผ่นแปซิฟิกและแผ่นโกโกส ในทางธรณีฟิสิกส์ นักภูมิศาสตร์บางกลุ่มจัดให้ดินแดนของประเทศที่อยู่ทางทิศตะวันออกของคอคอดเตอวนเตเปกอยู่ในภูมิภาคอเมริกากลาง[44] แต่ในทางภูมิศาสตร์การเมือง เม็กซิโกเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอเมริกาเหนือร่วมกับแคนาดาและสหรัฐอเมริกา[45][46]
เม็กซิโกมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,972,550 ตารางกิโลเมตร[47] นับเป็นประเทศที่มีขนาดเนื้อที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 14 ของโลก[47] เม็กซิโกมีพรมแดนทางทิศเหนือร่วมกับสหรัฐอเมริกายาว 3,141 กิโลเมตร[47] โดยใช้แม่น้ำบราโบที่คดเคี้ยวเป็นพรมแดนธรรมชาติตั้งแต่เมืองซิวดัดคัวเรซไปทางทิศตะวันออกจนถึงอ่าวเม็กซิโก และตั้งแต่เมืองซิวดัดคัวเรซไปทางทิศตะวันตกจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิกจะมีทั้งแม่น้ำและสิ่งก่อสร้างเป็นแนวแบ่งเขตสองประเทศไว้ ส่วนทางทิศใต้ เม็กซิโกมีพรมแดนร่วมกับกัวเตมาลายาว 962 กิโลเมตร[47] และมีพรมแดนร่วมกับเบลีซยาว 250 กิโลเมตร[47]
ภูมิประเทศ
[แก้]เทือกเขาขนาดใหญ่ในเม็กซิโก ได้แก่ เทือกเขาเซียร์รามาเดรโอเรียนตัล ซึ่งพาดผ่านพื้นที่ประเทศในแนวเหนือ-ใต้ เกือบจะขนานกับชายฝั่งภาคตะวันออก และเทือกเขาเซียร์รามาเดรออกซีเดนตัล ซึ่งขนานไปกับชายฝั่งภาคตะวันตก (เทือกเขานี้เป็นส่วนต่อเนื่องทางด้านใต้ของระบบเทือกเขาร็อกกีจากตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ) [48] นอกจากนี้ ทางภาคกลางตอนล่างของประเทศยังมีแนวภูเขาไฟทรานส์เม็กซิกัน หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า "เซียร์ราเนบาดา"[49] พาดผ่านจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ส่วนทางภาคใต้ก็มีเทือกเขาเซียร์รามาเดรเดลซูร์ที่ขนานไปกับชายฝั่งตั้งแต่รัฐมิโชอากังไปจนถึงรัฐโออาซากา ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว ดินแดนทางภาคกลางและภาคเหนือของเม็กซิโกจึงตั้งอยู่บนพื้นที่ระดับสูง โดยกลุ่มยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศ ได้แก่ ยอดเขาโอรีซาบา (5,700 เมตร) [47] โปโปกาเตเปตล์ (5,426 เมตร) [50] อิซตักซีอวตล์ (5,230 เมตร) [51] และเนบาโดเดโตลูกา (4,680 เมตร) [52] ล้วนตั้งอยู่บริเวณแนวภูเขาไฟทรานส์เม็กซิกัน และเขตเมืองใหญ่ของเม็กซิโก ได้แก่ เขตมหานครเม็กซิโกซิตี โตลูกา และปวยบลา ต่างก็ตั้งอยู่ในหุบเขาระหว่างยอดเขาเหล่านี้[53]
ทางน้ำและแม่น้ำต่าง ๆ ในเม็กซิโกจัดอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำ 3 บริเวณ คือ บริเวณลุ่มน้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก และไหลสู่แอ่งภายในแผ่นดิน แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดของประเทศคือ แม่น้ำบราโบ อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา แม่น้ำสายอื่นในบริเวณลุ่มน้ำเดียวกัน ได้แก่ แม่น้ำอูซูมาซินตา (พรมแดนธรรมชาติระหว่างเม็กซิโกกับกัวเตมาลา) แม่น้ำกรีคัลบา แม่น้ำปานูโก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีแม่น้ำหลายแห่งที่มีปริมาณน้ำน้อยและใช้เดินเรือไม่ได้ โดยทางน้ำในประเทศที่ใช้เดินเรือได้มีระยะทางรวมประมาณ 2,900 กิโลเมตร[54]
เม็กซิโกมีทะเลสาบขนาดย่อมหลายแห่งในพื้นที่ ทะเลสาบที่สำคัญที่สุดคือ ทะเลสาบชาปาลา ในรัฐฮาลิสโก แต่เนื่องจากมีการน้ำน้ำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมาก เกินไป ทะเลสาบแห่งนี้จึงเกิดภาวะมลพิษและเสี่ยงที่จะเหือดแห้ง ทะเลสาบที่สำคัญแห่งอื่น ๆ ได้แก่ ทะเลสาบปัตซ์กวาโร ซีราอูเอน และกวิตเซโอ ทั้งหมดตั้งอยู่ในรัฐมิโชอากัง
ภูมิอากาศ
[แก้]เมืองใหญ่หลายแห่งในเม็กซิโกตั้งอยู่ในหุบเขาเม็กซิโกซึ่งมีระดับความสูงมากกว่า 2,000 ม. (6,562 ฟุต) ทำให้ประเทศมีสภาพอากาศที่อบอุ่นตลอดทั้งปี โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่ 16 ถึง 18 °C หรือ 60.8 ถึง 64.4 °F และอุณหภูมิกลางคืนที่เย็นสบายตลอดทั้งปี หลายพื้นที่ของเม็กซิโกโดยเฉพาะทางตอนเหนือมีสภาพอากาศที่แห้งและมีฝนตกเล็กน้อย ในขณะที่บางส่วนของที่ราบลุ่มเขตร้อนทางตอนใต้มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 2,000 มม. (78.7 นิ้ว) เช่น หลายเมืองทางตอนเหนือ เช่น มอนเตร์เรย์ เอร์โมซีโย และเม็กซิกาลีมีอุณหภูมิ 40 °C (104 °F) ขึ้นไปในฤดูร้อน ในทะเลทรายโซโนรันอุณหภูมิถึง 50 °C (122 °F) หรือมากกว่า
ความหลากหลายทางชีวภาพ
[แก้]เม็กซิโกเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพกว่า 10–12% ของสิ่งมีชีวิตในโลก[55] เป็นอันดับหนึ่งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพในด้านสัตว์เลื้อยคลานที่ค้นพบแล้วกว่า 707 สายพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 438 สายพันธุ์ รวมถึงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 290 สปีชีส์ และพันธุ์พืชกว่า 26,000 สปีชีส์ที่ต่างกัน ประมาณ 2,500 สายพันธุของสิ่งมีชีวิตได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายของเม็กซิโก ในปี 2002 เม็กซิโกมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าเป็นอันดับสองของโลก รองจากบราซิลเท่านั้น มีคะแนนเฉลี่ยดัชนีความสมบูรณ์ของภูมิทัศน์ป่าไม้ปี 2019 ที่ 6.82/10 อยู่ในอันดับที่ 63 ของโลกจาก 172 ประเทศ[56]
กว่า 170,000 ตารางกิโลเมตร (65,637 ตารางไมล์) ถือเป็น "พื้นที่ธรรมชาติที่ได้รับการคุ้มครอง" ซึ่งรวมถึงเขตสงวนชีวมณฑล 34 แห่ง, อุทยานแห่งชาติ 67 แห่ง, อนุสรณ์สถานทางธรรมชาติ 4 แห่ง (ได้รับการคุ้มครองอย่างถาวรเพื่อคุณค่าทางสุนทรียภาพ วิทยาศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์) พื้นที่อนุรักษ์พืชและสัตว์ 26 พื้นที่ 4 พื้นที่สำหรับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ (การอนุรักษ์ดิน ลุ่มน้ำและป่าไม้อุทกวิทยา) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 17 แห่ง (เขตที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด) การค้นพบทวีปอเมริกาทำให้เกิดพืชผลทางการเกษตรและพืชที่บริโภคได้อย่างกว้างขวางทั่วโลก ส่วนผสมในการทำอาหารพื้นเมืองของเม็กซิโก ได้แก่ ช็อกโกแลต อาโวคาโด มะเขือเทศ ข้าวโพด วานิลา ฝรั่ง ชาโยเต้ อีปาโซเต คาโมเต จิคามา โนปาล บวบ เตโจโคต ฮุตลาโคเช สาโปเต มาเม่ย์ซาโปเต ถั่วหลากหลายสายพันธุ์ และพริกหลากหลายชนิด เช่น habanero และ jalapeno ชื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากภาษาพื้นเมืองเช่น Nahuat เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เม็กซิโกจึงเป็นแหล่งสำรวจทางชีวภาพบ่อยครั้งโดยหน่วยงานวิจัยระหว่างประเทศ[57]
ประวัติศาสตร์
[แก้]สมัยก่อนอาณานิคม
[แก้]เมื่อเกือบสามพันปีก่อน ดินแดนประเทศเม็กซิโกเป็นแหล่งอารยธรรมของชาวพื้นเมืองอเมริกันที่ยิ่งใหญ่หลายกลุ่ม เช่น โอลเมก เป็นกลุ่มที่มีวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มสุด ประมาณ 2,300 ปีก่อนคริสตกาล อยู่ทางภาคกลางของค่อนไปทางใต้ของเม็กซิโกปัจจุบัน มายา มีอำนาจอยู่ประมาณระหว่างปี ค.ศ. 200 ถึง ค.ศ. 900 ตั้งถิ่นฐานอยู่บนคาบสมุทรยูกาตันในนครรัฐที่ปกครองโดยกษัตริย์ มายามีอายุร่วมสมัยเดียวกับอารยธรรมเตโอตีวากาน หลังจากเมืองเตโอตีวากานเสื่อมอำนาจทางการเมืองลงไป พวกโตลเตกก็ขึ้นมามีอำนาจแทนในราวปี ค.ศ. 700 อิทธิพลของอารยธรรมโตลเตกพบได้ตั้งแต่ภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาลงไปจนถึงคอสตาริกาในปัจจุบัน ผู้ปกครองโตลเตกที่มีชื่อเสียงคือ เกตซัลโกอัตล์ ภายหลังอารยธรรมโตลเตกก็ล่มสลายลงไปและสืบทอดต่อมาโดยพวกแอซเท็กที่เรียกจักรวรรดิของตนเองว่า "เม็กซิกา"
กษัตริย์ที่มีชื่อเสียงของแอซเท็กได้แก่ พระเจ้ามอกเตซูมาที่ 2 เมื่อถึงปี ค.ศ. 1519 เตนอชตีตลัน เมืองหลวงของจักรวรรดิแอซเท็ก (เม็กซิกา) เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรถึงประมาณ 350,000 คน ซึ่งกรุงลอนดอนในขณะนั้นมีประชากรเพียง 80,000 คนเท่านั้น เตนอชตีตลันเป็นที่ตั้งของกรุงเม็กซิโกซิตีในปัจจุบัน
สมัยอาณานิคม
[แก้]นักสำรวจชาวสเปนมาถึงเม็กซิโกในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยฟรันซิสโก เอร์นันเดซ เด กอร์โดบาได้สำรวจชายฝั่งทางใต้ของเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1517 ตามมาด้วยการสำรวจของควน เด กรีคัลบาในปี ค.ศ. 1518 ผู้พิชิตดินแดนในสมัยแรกคนสำคัญคือ เอร์นัน กอร์เตส ซึ่งเข้ามาถึงในปี ค.ศ. 1519 จากทางเมืองชายฝั่งที่เขาตั้งชื่อให้ว่า "บียารีกาเดลาเบรากรุซ"
ด้วยความเชื่อว่ากอร์เตสเป็นเกตซัลโกอัตล์ (กษัตริย์เทพเจ้าในตำนานแอซเท็ก ซึ่งมีคำทำนายไว้ว่าพระองค์จะทรงกลับมาในปีเดียวกับที่กอร์เตสมาถึงพอดี) ชาวแอซเท็กจึงไม่ได้ต่อต้านเขาและยังต้อนรับเป็นอย่างดี แต่อีกสองปีต่อมา (ค.ศ. 1521) กรุงเตนอชตีตลันก็ถูกพิชิตโดยกองทัพผสมระหว่างสเปนกับตลัชกัลเตกซึ่ง เป็นศัตรูสำคัญของแอซเท็ก การที่สเปนยึดเมืองหลวงของจักรวรรดิแอซเท็กได้นั้นเป็นจุดเริ่มต้นยุค อาณานิคมที่นานเกือบ 300 ปีของเม็กซิโกในฐานะเขตอุปราชแห่งนิวสเปน อย่างไรก็ตาม กว่าสเปนจะยึดดินแดนเม็กซิโกได้ทั้งหมดนั้นก็ยังต้องใช้เวลาอีก 2 ศตวรรษหลังจากการตีกรุงเตนอชตีตลันได้ เนื่องจากต้องสู้รบกับชนพื้นเมืองกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังคงก่อการจลาจลและโจมตีดินแดนของสเปนอยู่
เอกราชและสงคราม
[แก้]ในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1810 นักบวชชาวเม็กซิโกชื่อ มีเกล อีดัลโก ได้ประกาศเอกราชจากสเปนที่เมืองโดโลเรส รัฐกวานาวาโต[58] เป็นตัวเร่งให้เกิดสงครามประกาศเอกราชเม็กซิโก ซึ่งในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1821 ชาวสเปนได้ออกไปจากประเทศและทำให้เม็กซิโกกลายมาเป็นประเทศเอกราช ผู้นำคนแรกของเม็กซิโก อากุสติน เด อีตูร์บีเด ได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิที่ 1 แต่ด้วยเหตุที่ว่าประชาชนไม่พอใจ อีก 2 ปีต่อมาเม็กซิโกจึงเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐ โดยมีกวาดาลูเป บิกโตเรีย เป็นประธานาธิบดีคนแรก
บุคคลที่มีความสำคัญอีกคนหนึ่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือ นายพลอันโตเนียว โลเปซ เด ซานตา อันนา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเม็กซิโกอยู่หลายสมัย เขาได้ประกาศยกเลิกระบบสหพันธรัฐและรวมอำนาจกลับเข้าสู่ศูนย์กลาง รัฐต่าง ๆ ถูกลดฐานะลงเป็นจังหวัดและไม่มีสิทธิ์ในการปกครองตนเอง ก่อให้เกิดความไม่สงบไปทั่วประเทศ รัฐต่าง ๆ ได้แก่ ยูกาตัง ตาเมาลีปัส และนวยโวเลอองได้ประกาศเอกราช ในที่สุดรัฐโกอาวีลาและเท็กซัสก็ได้ประกาศแยกตัวออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1836 ยุทธการที่แอละโมที่มีชื่อเสียงได้เกิดขึ้นในสงครามครั้งนี้ ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ผนวกสาธารณรัฐเท็กซัสเข้าเป็นรัฐหนึ่งของตน ทำให้เกิดความขัดแย้งเรื่องพรมแดนกับเม็กซิโกและเกิดสงครามระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1846-1848 เม็กซิโกเป็นฝ่ายแพ้สงครามและต้องเสียดินแดนอีกถึง 1 ใน 3 ให้สหรัฐอเมริกาตามสนธิสัญญาสงบศึก ส่วนซานตา อันนาถูกเนรเทศไปอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในลาตินอเมริกา (แต่กลับเม็กซิโกในบั้นปลายชีวิต)
ระหว่างปี ค.ศ. 1858 และ ค.ศ. 1861 เกิดสงครามภายในขึ้นระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายอนุรักษนิยม ในที่สุด เบนีโต คัวเรซ ผู้นำจากฝ่ายเสรีนิยมก็เป็นฝ่ายชนะและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในทศวรรษ 1860 ฝรั่งเศสได้เข้ารุกรานเม็กซิโกและสถาปนามักซีมีเลียนแห่งฮับสบูร์ก ขึ้นเป็นจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ 1 แห่งจักรวรรดิเม็กซิโกที่ 2 แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ ต่อมาพระองค์ทรงถูกสำเร็จโทษประหารหลังจากที่กองกำลังสาธารณรัฐสามารถยึดเมืองหลวงได้ในปี ค.ศ. 1867 และคัวเรซก็กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งจนถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1872
ผู้สืบทอดอำนาจของคัวเรซอยู่ฝ่ายเสรีนิยมเช่นกันจนกระทั่งในปี ค.ศ. 1876 ฝ่ายอนุรักษนิยมนำโดยปอร์ฟีรีโอ ดีอัซ (ซึ่งเป็นนายพลผู้เคยได้ชัยชนะในการรบกับฝรั่งเศสมาก่อน) ได้ก่อกบฏขึ้นอีกและขับไล่รัฐบาลเสรีนิยมที่มาจากการเลือกตั้งออกไปได้ ปอร์ฟีรีโอได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีปกครองประเทศอยู่กว่า 30 ปี เขาทำให้ประเทศมั่งคั่งขึ้น แต่คนยากจนในประเทศกลับยิ่งยากจนลง ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมได้นำไปสู่การปฏิวัติเม็กซิโกในปี ค.ศ. 1910 นำโดยฟรันซิสโก อี. มาเดโร ดีอัซประกาศลาออกในปี ค.ศ. 1911 และมาเดโรได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1913 เกิดรัฐประหารนำโดยนายพลฝ่ายอนุรักษนิยมชื่อว่าบิกโตเรียโน อวยร์ตา มาเดโรถูกล้มล้างอำนาจและถูกฆาตกรรม ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองซึ่งมีผู้เข้าร่วมอีกจำนวนหนึ่ง เช่น เอมีเลียว ซาปาตา และปันโช บียา โดยทั้งสองจัดตั้งกองกำลังของตนเอง แต่กองทัพภายใต้รัฐธรรมนูญที่นำโดยเบนุสเตียโน การ์รันซา ก็สามารถยุติสงครามลงได้ในที่สุดและได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1917 แต่การ์รันซาก็ถูกทรยศและลอบสังหารในปี ค.ศ. 1920 อัลบาโร โอเบรกอน วีรบุรุษอีกคนหนึ่งจากสงครามการปฏิวัติได้ขึ้นดำรงตำหน่งประธานาธิบดีแทน และปลูตาร์โก เอลีอัส กาเยส ก็ได้สืบต่ออำนาจ อย่างไรก็ตามโอเบรกอนได้ชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้งในปี ค.ศ. 1928 แต่กลับถูกลอบสังหารก่อนจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง ในปี ค.ศ. 1929 กาเยสได้จัดตั้งพรรคปฏิวัติแห่งชาติขึ้น และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคปฏิวัติสถาบัน ซึ่งจะกลายเป็นพรรคที่มีอำนาจมากที่สุดในช่วงเวลาอีก 70 ปีถัดมา
สมัยใหม่และสมัยปัจจุบัน
[แก้]ระหว่างปี ค.ศ. 1940 และ ค.ศ. 1980 เป็นช่วงที่เม็กซิโกมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนเรียกว่า "มหัศจรรย์เม็กซิโก" (El Milagro Mexicano)[59] การที่รัฐเข้าครอบครองสิทธิที่จะทำผลประโยชน์จากแร่และโอนอุตสาหกรรมน้ำมันเข้าสู่บริษัทปิโตรเลียมเปเมกซ์ ซึ่งเป็นกิจการของรัฐในช่วงที่ลาซาโร การ์เดนัส เดล รีโอ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมาก แต่ก็เป็นการจุดปัญหาทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ ที่พลเมืองของตนต้องสูญเสียธุรกิจซึ่งถูกยึดหรือบังคับซื้อไปโดยรัฐบาลของกา ร์เดนัส
แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมก็ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองยังไม่สงบ สุขนัก นอกจากนี้ นักการเมืองที่มีตำแหน่งบริหารของพรรคปฏิวัติสถาบันก็เริ่มลุแก่อำนาจ ไม่ฟังเสียงประชาชน และบางครั้งก็ดำเนินการกดขี่อย่างรุนแรง[60] ตัวอย่างของพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ได้แก่ กรณีสังหารหมู่ตลาเตลอลโก[61] ในปี ค.ศ. 1968 ที่กำลังตำรวจและทหารได้กราดกระสุนใส่กลุ่มนักศึกษาที่เดินขบวนต่อต้านรัฐบาล
ในทศวรรษ 1970 การบริหารของประธานาธิบดีลุยส์ เอเชเบร์รีอา ไม่เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก เนื่องจากเขาตัดสินใจก้าวเดินผิดทั้งในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ แต่กระนั้น ในทศวรรษนี้เองที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงขึ้นเป็นครั้งแรกในกฎหมาย การเลือกตั้งของเม็กซิโก นำไปสู่ความเคลื่อนไหวเพื่อทำให้ระบบการเลือกตั้งที่แต่เดิมเป็นแบบอำนาจ นิยมมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น[62][63] ในขณะที่ราคาน้ำมันขึ้นไปอยู่ที่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์และอัตราดอกเบี้ย ก็ค่อนข้างต่ำนั้น รัฐบาลก็ได้สร้างการลงทุนอย่างมาดในบริษัทน้ำมันที่ตนเองเป็นเจ้าของด้วย ความพยายามจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมา อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมที่มากเกินไปและการจัดการรายได้จากน้ำมันอย่างไม่ถูกต้องนั้นได้นำ ไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อและก่อให้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี ค.ศ. 1982 ในปีนั้น ราคาน้ำมันตกฉับพลัน อัตราดอกเบี้ยถีบตัวสูงขึ้น และรัฐบาลก็ยังผิดนัดชำระหนี้อีกด้วย ประธานาธิบดีมีเกล เด ลา มาดริด ต้องใช้วิธีการลดค่าเงินตราทางอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ยอดคงเหลือในบัญชีปัจจุบันมีเสถียรภาพ
แม้ว่าในระดับเทศบาล นายกเทศมนตรีคนแรกที่ไม่ได้มาจากพรรคปฏิวัติสถาบันจะได้รับการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947[64] แต่ก็ต้องรอจนถึงปี ค.ศ. 1989 ที่ผู้ว่าการรัฐคนแรกที่ไม่ได้มาจากพรรคปฏิวัติสถาบันจะได้รับการเลือกตั้ง เข้าทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลหลายแห่งอ้างว่าในปี ค.ศ. 1988 ทางพรรคได้ทุจริตการเลือกตั้งเพื่อป้องกันไม่ให้กูเวาเตม็อก การ์เดนัส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้งระดับชาติครั้งนี้ โดยคะแนนเสียงส่วนมากเป็นของการ์โลส ซาลีนัส ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านขนานใหญ่ในเมืองหลวง[65] ซาลีนัสเริ่มลงมือปฏิรูปเสรีนิยมใหม่ (ทุนนิยม) โดยได้มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ควบคุมเงินเฟ้อ และลงเอยด้วยการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) กับสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งมีผลบังคับในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2537 อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนี้เอง กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา (Ejército Zapatista de Liberación Nacional) ซึ่งมีสมาชิกเป็นชนพื้นเมืองอินเดียนก็ได้เริ่มก่อการกบฏต่อต้านรัฐบาลสหพันธรัฐขึ้นที่รัฐเชียปัส (หนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของประเทศ) ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงดำเนินการเพื่อต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัตน์โดยไม่ใช้ ความรุนแรงต่อมาถึงปัจจุบัน อนึ่ง เนื่องจากเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้ง (ในกระบวนการซึ่งภายหลังถือว่ามีความโปร่งใสที่สุดในประวัติศาสตร์เม็กซิโก นั้น) เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างไม่เต็มใจที่จะลดค่าเงินเปโซ อันจะทำให้เกิดการสูญสิ้นเงินสำรองแห่งชาติอย่างรวดเร็ว และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 หนึ่งเดือนหลังจากที่ประธานาธิบดีเอร์เนสโต เซดีโย ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากอดีตประธานาธิบดีซาลีนัส ก็เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นในประเทศ
ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจในระดับมหภาคที่เริ่มโดยประธานาธิบดีเซดีโย เศรษฐกิจก็กระเตื้องขึ้นอย่างรวดเร็วและการเจริญเติบโตก็อยู่ที่เกือบร้อยละ 7 เมื่อถึงสิ้นปี พ.ศ. 2542[66] การปฏิรูปเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเพื่อเพิ่มการเป็นผู้แทนของพรรคในสมัยการ บริหารของเซดีโย รวมทั้งความไม่พอใจพรรคปฏิวัติสถาบันหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ทำให้ ทางพรรคเสียคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภาไปเมื่อปี พ.ศ. 2540 ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 หลังจากที่บริหารประเทศอยู่ 71 ปี พรรคปฏิวัติสถาบันก็ได้พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับบีเซนเต ฟอกซ์ จากพรรคฝ่ายค้านคือ พรรคภารกิจแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2548 ฟอกซ์ได้ลงนามในการเป็นหุ้นส่วนทางความมั่นคงและความรุ่งเรืองแห่งอเมริกาเหนือ ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2549 ฐานะของพรรคปฏิวัติสถาบันก็ยิ่งอ่อนแอลงและกลายเป็นพรรคที่มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับที่ 3 รองจากพรรคภารกิจแห่งชาติและพรรคปฏิวัติประชาธิปไตย ซึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันนั้น เฟลีเป กัลเดรอน จากพรรคภารกิจแห่งชาติได้ประกาศชัยชนะโดยได้รับคะแนนเสียงเฉือนขาดอันเดรส มานวยล์ โลเปซ โอบราดอร์ ตัวแทนจากพรรคปฏิวัติประชาธิปไตยไปเพียงนิดเดียว อย่างไรก็ตาม โลเปซ โอบราดอร์ได้ประท้วงการเลือกตั้ง และประกาศจัดตั้ง "รัฐบาลทางเลือก"[67]
การเมืองการปกครอง
[แก้]เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบ สหพันธรัฐ ประกอบด้วยรัฐ (State) 31 รัฐ กับ หนึ่งเขตสหพันธ์ (Federal District) ซึ่งในเขตสหพันธ์นี่เองมีเมืองหลวงของประเทศ คือ เม็กซิโกซิตี (Mexico City) หรือมหานครเม็กซิโก แต่ละรัฐจะมีธรรมนูญของตนองที่เป็นไปตามแบบของรัฐธรรมนูญของประเทศ โดยมีสิทธิที่จะออกรัฐบัญญัติเพื่อจัดเก็บภาษี นอกเหนือไปจากภาษีศุลกากร (Customs Duties) ระหว่างรัฐ การปกครองระดับชาติที่มีทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่าย นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการของรัฐเอง[68]
บริหาร
[แก้]ประธานาธิบดีของประเทศเม็กซิโกต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติเม็กซิโกโดยการเกิด และบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งต้องเป็นคนเม็กซิโกด้วย โดยมีอายุ 35 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันเลือกตั้ง ต้องอาศัยอยู่ในประเทศเม็กซิโกมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ทั้งยังต้องพำนักอยู่ในประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนวันที่มีการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งนั้นได้ถือคะแนนเสียงของประชาชนรวมกัน ทั้งประเทศ ผู้สมัครคนใดได้คะแนนมากเป็นอันดับหนึ่งก็จะได้เป็น ประธานาธิบดี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 เมื่อพรรคสถาบันปฏิวัติตั้งขึ้น พรรคการเมืองนี้ก็ได้ผูกขาดตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดมา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศคือ อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2018
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]เม็กซิโกเป็นประเทศสหพันธรัฐที่ประกอบด้วยเสรีรัฐอธิปไตย (estado libre y soberano) 31 แห่ง แต่ละแห่งมีรัฐธรรมนูญ รัฐสภา รวมทั้งฝ่ายตุลาการประจำท้องถิ่นของตนเอง ประชาชนในรัฐสามารถเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐได้โดยตรง ซึ่งจะดำรงตำแหน่งวาระละ 6 ปี และยังสามารถเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปประจำในรัฐสภาของรัฐทุก ๆ 3 ปี[69]
รัฐต่าง ๆ ในเม็กซิโกจะแบ่งเขตการปกครองเป็นเทศบาล (municipio) ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองอย่างเป็นทางการที่เล็กที่สุดของประเทศ แต่ละแห่งมีนายกเทศมนตรีที่ได้รับเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากจากประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้บริหาร[70] เทศบาลขนาดใหญ่บางแห่งอาจแบ่งพื้นที่ย่อยลงไปอีกเป็นเขตเล็ก ๆ ซึ่งมีทั้งแบบกึ่งปกครองตนเองและแบบที่ไม่ได้ปกครองตนเอง
ตามรัฐธรรมนูญแล้ว กรุงเม็กซิโกซิตีในฐานะเมืองหลวงและที่ตั้งอำนาจฝ่ายบริหารของสหพันธรัฐยังมีสถานะเป็นเฟเดอรัลดิสตริกต์หรือ "เขตของสหพันธ์" (distrito federal) ด้วย ทั้งสองถือเป็นหน่วยการปกครองเดียวกัน มีอาณาเขตเดียวกัน และมีลักษณะเป็นเขตการปกครองรูปแบบพิเศษที่ไม่ได้ขึ้นกับรัฐใดรัฐหนึ่งโดย เฉพาะ แต่เป็นของทุกรัฐในประเทศ ดังนั้นจึงมีอำนาจและกฎสำหรับท้องถิ่นค่อนข้างจำกัดกว่ารัฐต่าง ๆ[71] อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เขตสหพันธ์แห่งนี้ก็ได้รับอำนาจในการปกครองตนเองเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันประชาชนในเขตสหพันธ์มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งหัวหน้าคณะรัฐบาลประจำ เขตและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำรัฐสภาของเขตได้โดยตรงเช่นเดียวกับประชาชน ในรัฐต่าง ๆ และถึงแม้เขตสหพันธ์จะไม่มีรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีบทกฎหมายเป็นของตนเอง
เขตการปกครองหลักของเม็กซิโก | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
รัฐ | เมืองหลวงรัฐ | รัฐ | เมืองหลวงรัฐ | รัฐ | เมืองหลวงรัฐ | รัฐ | เมืองหลวงรัฐ |
อากวสกาเลียนเตส | อากวสกาเลียนเตส | เฟเดอรัลดิสตริกต์ | โมเรโลส | เกวร์นาบากา | ซินาโลอา | กูเลียกัน | |
บาฮากาลิฟอร์เนีย | เมฮิกาลิ | ดูรังโก | ดูรังโก | นายาริต | เตปิก | โซโนรา | เอร์โมซิโย |
บาฮากาลิฟอร์เนียซูร์ | ลาปาซ | กัวนาฮัวโต | กัวนาฮัวโต | นวยโบเลออน | มอนเตร์เรย์ | ตาบัสโก | บิยาเอร์โมซา |
กัมเปเช | กัมเปเช | เกร์เรโร | ชิลปันซิงโก | วาฮากา | วาฮากา | ตาเมาลิปัส | ซิวดัดบิกโตเรีย |
เชียปัส | ตุซตลากูติเอร์เรซ | อิดัลโก | ปาชูกา | ปวยบลา | ปวยบลา | ตลัซกาลา | ตลัซกาลา |
ชิวาวา | ชิวาวา | ฮาลิสโก | กัวดาลาฮารา | เกเรตาโร | เกเรตาโร | เบรากรุซ | ฮาลาปา |
โกอาวิลา | ซัลติโย | เมฮิโก | โตลูกา | กินตานาโร | เชตูมัล | ยูกาตัน | เมริดา |
โกลิมา | โกลิมา | มิโชอากัน | โมเรเลีย | ซานลุยส์โปโตซี | ซานลุยส์โปโตซี | ซากาเตกัส | ซากาเตกัส |
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
[แก้]ภาพรวม
[แก้]ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเม็กซิโกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานาธิบดี[72] และบริหารผ่านกระทรวงการต่างประเทศ หลักการของนโยบายต่างประเทศได้รับการยอมรับตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 89 และมาตรา 10 ซึ่งรวมถึง: การเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและความเท่าเทียมกันทางกฎหมายของรัฐ อำนาจอธิปไตยและความเป็นอิสระของพวกเขา แนวโน้มการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของประเทศอื่น ๆ การแก้ไขโดยสันติของความขัดแย้งและการส่งเสริมความมั่นคงโดยรวมผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในองค์กรระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 หลักคำสอนของเอสตราดาได้ทำหน้าที่เป็นส่วนเสริมที่สำคัญยิ่งสำหรับหลักธรรมเหล่านี้
เม็กซิโกเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การสหประชาชาติ, องค์การนานารัฐอเมริกัน, องค์การรัฐไอบีโร-อเมริกัน, หน่วยงานสำหรับการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และชุมชนของรัฐลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ในปี 2008 เม็กซิโกบริจาคเงินกว่า 40 ล้านดอลลาร์ให้กับงบประมาณประจำขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกกลุ่มลาตินอเมริกาเพียงรายเดียวขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา นับตั้งแต่เข้าร่วมในปี 1994 จนกระทั่งชิลีได้รับสถานภาพสมาชิกเต็มรูปแบบในปี 2010
เม็กซิโกถือเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค และเป็นสมาชิกของกลุ่มเศรษฐกิจหลัก ๆ เช่น กลุ่ม 8+5 และ กลุ่ม 20 นอกจากนี้ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เม็กซิโกได้แสวงหาการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและวิธีการทำงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากแคนาดา อิตาลี ปากีสถาน และประเทศอื่น ๆ อีก 9 ประเทศซึ่งก่อตั้งกลุ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการว่า Coffee Club[73]
หลังสงครามประกาศอิสรภาพ เม็กซิโกมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาเป็นหลักเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของประเทศซึ่งเป็นหุ้นส่วนการค้าที่ใหญ่ที่สุด เม็กซิโกสนับสนุนรัฐบาลคิวบาตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อต้นทศวรรษ 1960 การปฏิวัติซานดินิสตาในนิการากัวในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และกลุ่มปฏิวัติฝ่ายซ้ายในเอลซัลวาดอร์ในช่วงทศวรรษ 1980 ฝ่ายบริหารของเฟลิเป กัลเดรอน (2006-2012) ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับลาตินอเมริกาและแคริบเบียนมากขึ้น ในขณะที่ประธานาธิบดี เอนริเก เปญญา นิเอโต (2012–2018) เน้นประเด็นทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
[แก้]เม็กซิโก |
ไทย |
สหรัฐเม็กซิโกกับราชอาณาจักรไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2518 ไทยมีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโกซิตี และเม็กซิโกมีสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ณ กรุงเทพมหานคร รวมถึงมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดระยอง[74]
ประเทศเม็กซิโกเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยในปี 2560 มีมูลค่าการค้ากับประเทศไทยรวม 3,580.36 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวเม็กซิโกเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 27,884 คน[75] โดยชาวเม็กซิโกนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวไทยในรูปแบบของการพักผ่อน, การท่องเที่ยวแบบหมู่คณะ, การท่องเที่ยวสำหรับคู่รัก, การล่องเรือสำราญ, การฝึกโยคะและการปฏิบัติธรรม
ด้านการขนส่งอากาศยาน คาร์โกลักซ์ ได้ทำการบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแวะที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงแองเคอเรจปลายทางกัวดาลาฮารา[76]และเส้นทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแวะที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงแองเคอเรจปลายทางเม็กซิโกซิตี
กองทัพ
[แก้]กองทัพเม็กซิโกมีสองทัพหลักได้แก่: กองทัพรวมเม็กซิโก (ซึ่งรวมถึงกองทัพอากาศเม็กซิโก) และกองทัพเรือเม็กซิโก กองกำลังเม็กซิโกรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในประเทศ รวมถึงร่วมพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนด้านการออกแบบ การวิจัย และการทดสอบอาวุธ ยานพาหนะ เครื่องบิน เรือเดินสมุทร ระบบป้องกันและอิเล็กทรอนิกส์[77]
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เม็กซิโกได้ปรับปรุงเทคนิคการฝึก การสั่งการทางทหาร โดยได้ดำเนินการเพื่อให้พึ่งพาตนเองมากขึ้นในการจัดหากำลังทหารโดยการออกแบบและการผลิตอาวุธของตนเองเช่น ขีปนาวุธ เครื่องบิน ยานพาหนะ อาวุธหนัก ระบบป้องกัน เกราะ และเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 กองทัพมีบทบาทมากขึ้นในสงครามต่อต้านยาเสพติด[78]
เม็กซิโกมีความสามารถในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่ผลจากสนธิสัญญาตลาเตโลลโกในปี 1968 รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างสันติเท่านั้น ในปี 1970 สถาบันวิจัยนิวเคลียร์แห่งชาติของเม็กซิโกประสบความสำเร็จในการกลั่นยูเรเนียมซึ่งใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในเดือนเมษายน 2010 เม็กซิโกตกลงที่จะส่งมอบยูเรเนียมดังกล่าวให้แก่สหรัฐอเมริกา[79] เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงนามสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน
เศรษฐกิจ
[แก้]โครงสร้าง
[แก้]ณ เดือนเมษายน 2018 เม็กซิโกมีจีดีพีสูงสุดเป็นอันดับที่ 15 ในโลก[80] (1.15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ตามความเท่าเทียมกันของกำลังซื้อ (2.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) การเติบโตเฉลี่ยของจีดีพีต่อปีอยู่ที่ 2.9% ในปี 2016 และ 2% ในปี 2017 ภาคเกษตรกรรมคิดเป็น 4% ของปริมาณในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่น ๆ คิดเป็น 33% (ส่วนใหญ่เป็นยานยนต์ น้ำมัน และอิเล็กทรอนิกส์) และภาคบริการ (โดยเฉพาะบริการทางการเงินและการท่องเที่ยว) กว่า 63% จีดีพีของเม็กซิโกต่อหัวอยู่ที่ 18,714.05 ดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารโลกรายงานในปี 2009[81] ว่ารายได้รวมของประเทศในด้านอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดนั้นสูงเป็นอันดับสองในลาตินอเมริกา รองจากบราซิลที่ 1,830.392 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนำไปสู่รายได้ต่อหัวสูงสุดในภูมิภาคที่ 15,311 ดอลลาร์ เม็กซิโกได้รับการยอมรับในฐานะประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หลังจากการชะลอตัวในปี 2001 เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวและเติบโตขึ้น 4.2, 3.0 และ 4.8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2004, และภายในปี 2050 เม็กซิโกอาจกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับห้าหรือเจ็ดของโลก[82]
แม้ว่าองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งจะจัดเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หรือประเทศชนชั้นกลาง[83] สภาแห่งชาติของเม็กซิโกเพื่อการประเมินนโยบายการพัฒนาสังคม (CONEVAL) ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบในการวัดผลของประเทศ รายงานว่าประชากรของเม็กซิโกส่วนใหญ่ประสบกับความยากจน ตามรายงานของสภาดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2010 (ปีที่ CONEVAL ตีพิมพ์รายงานความยากจนทั่วประเทศฉบับแรก)[84] สัดส่วนของชาวเม็กซิโกที่ประสบความยากจนเพิ่มขึ้นจาก 18%–19% เป็น 46% (52 ล้านคน) เป็นผลมาจากปัญหาสังคมที่เรื้อรังมานาน เช่น การศึกษา การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ การเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ บริการที่อยู่อาศัยและสินค้า ประกันสังคม ฯลฯ นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าเปอร์เซ็นต์ของประชากรยากจนของเม็กซิโกนั้นสูงกว่าอัตราที่รายงานโดยแนวความยากจนระหว่างประเทศของธนาคารโลกประมาณ 40 เท่า
เม็กซิโกเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์มากที่สุดในประเทศแถบอเมริกาเหนือ[85] รถยนต์ชื่อดังในกลุ่ม "บิ๊กทรี" (เจนเนอรัล มอเตอร์ส ฟอร์ด และไครสเลอร์) เปิดดำเนินการในเม็กซิโกตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 ขณะที่โฟล์คสวาเกนและนิสสันสร้างโรงงานขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960การขยายตัวของภาคส่วนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2014 เพียงปีเดียว มีการลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนกันยายน 2016 เกียมอเตอร์เปิดโรงงานมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ในเมืองนูโว เลออง และอาวดี้ได้เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ในเมืองปวยบลาในปีเดียวกัน ปัจจุบันเม็กซิโกยังมีโรงงานของ BMW, Mercedes-Benz และ Nissan ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
พลังงาน
[แก้]การผลิตพลังงานในเม็กซิโกได้รับการจัดการโดยองค์กร Federal Commission of Electricity and Pemex ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐ Pemex บริษัทมหาชนที่รับผิดชอบด้านการสำรวจ การสกัด การขนส่งและการตลาดของน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนการกลั่นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยทำเงินได้ 86 เหรียญพันล้านในการขายต่อปี เม็กซิโกเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก ด้วยปริมาณ 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 1980 การส่งออกน้ำมันคิดเป็น 61.6% ของการส่งออกทั้งหมด[86]
โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเม็กซิโกคือเขื่อน Manuel Moreno Torres ขนาด 2,400 เมกะวัตต์ ในเมืองชิโคอาเซน รัฐเชียปัส ในแม่น้ำกรีฆาลวา ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีประสิทธิผลมากเป็นอันดับสี่ของโลก เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์รวมของประเทศอยู่ที่ประมาณ 5kWh/m2 ต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ 50 เท่า ปัจจุบัน มีแผงโซลาร์เทอร์มอลพาเนลมากกว่า 1 ล้านตารางเมตรติดตั้งในเม็กซิโก ในขณะที่ในปี 2005 มีเซลล์แสงอาทิตย์ (โฟโต-โวลตาอิก) อยู่ที่ 115,000 ตารางเมตร คาดว่าในปี 2012 จะมีการติดตั้งแผงระบายความร้อนด้วยแสงอาทิตย์ 1.8 ล้านตารางเมตร[87]
โครงการชื่อ SEGH-CFE 1 ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเปอร์โต ลิเบอร์ตาด โซโนรา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเม็กซิโก จะมีกำลังการผลิต 46.8 เมกะวัตต์จากแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 187,200 แผงเมื่อแล้วเสร็จในปี 2013 ไฟฟ้าทั้งหมดจะถูกขายโดยตรงและดูดซับเข้าสู่ระบบส่งของยูทิลิตี้เพื่อจำหน่ายทั่วทั้งเครือข่ายที่มีอยู่ ที่กำลังการผลิตติดตั้ง 46.8 MWp เมื่อสร้างเสร็จ โครงการนี้จะเป็นโครงการสาธารณูปโภคโครงการแรกในเม็กซิโก และเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกา
การท่องเที่ยว
[แก้]เมื่อปี 2017 เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก และมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับที่ 15 ของโลก ซึ่งสูงที่สุดในละตินอเมริกาเช่นกัน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางมายังเม็กซิโกจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ตามมาด้วยยุโรปและเอเชีย ในรายงานความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวปี 2017 เม็กซิโกอยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 ในทวีปอเมริกา[88] แนวชายฝั่งของเม็กซิโกมีชายหาดหลายแห่งที่ผู้อาบแดดและผู้มาเยือนคนอื่น ๆ มักแวะเวียนมา ตามกฎหมายของประเทศ ความสมบูรณ์ของแนวชายฝั่งอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของรัฐบาลกลาง กล่าวคือ ชายหาดทั้งหมดในประเทศเป็นสาธารณะ บนคาบสมุทร Yucatán หนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชายหาดคือเมืองตากอากาศของ Cancun โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยในช่วงปิดเทอมฤดูใบไม้ผลิ[89]
โครงสร้างพื้นฐาน
[แก้]คมนาคม และ โทรคมนาคม
[แก้]เครือข่ายถนนในเม็กซิโกกว้างขวางและครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ[90] โครงข่ายถนนในเม็กซิโกมีระยะทาง 366,095 กม. (227,481 ไมล์) ซึ่ง 116,802 กม. (72,577 ไมล์) เป็นทางลาดยาง ในจำนวนนี้ 10,474 กม. (6,508 ไมล์) เป็นทางด่วนหลายช่องทาง: 9,544 กม. (5,930 ไมล์) เป็นทางหลวงสี่ช่องจราจร และส่วนที่เหลือมี 6 ช่องจราจรขึ้นไป
เริ่มตั้งแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศลาตินอเมริกากลุ่มแรกที่ส่งเสริมการพัฒนาทางรถไฟ และเครือข่ายครอบคลุม 30,952 กิโลเมตร (19,233 ไมล์) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของเม็กซิโกได้เสนอเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะขนส่งผู้โดยสารจากเม็กซิโกซิตีไปยังกัวดาลาฮารา รัฐฮาลิสโก รถไฟซึ่งจะเดินทางด้วยความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (190 ไมล์ต่อชั่วโมง) จะช่วยให้ผู้โดยสารเดินทางจากเม็กซิโกซิตีไปยังกัวดาลาฮาราได้ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง[91] โครงการทั้งหมดคาดว่าจะมีมูลค่า 240 พันล้านเปโซ หรือประมาณ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังได้รับเงินร่วมกันจากรัฐบาลเม็กซิโกและภาคเอกชนในท้องถิ่น[92] รวมถึงชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลก คาร์ลอส ซาลิม มหาเศรษฐีธุรกิจมหาเศรษฐีของเม็กซิโก รัฐบาลของรัฐยูกาตังยังให้เงินสนับสนุนในการสร้างเส้นทางความเร็วสูงที่เชื่อมเมืองโกซูเมลกับเมรีดาและชิเชนอิตซาและแคนคูน
เม็กซิโกมีสนามบิน 233 แห่งพร้อมรันเวย์ สนามบินนานาชาติเม็กซิโกซิตียังคงเป็นสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดในลาตินอเมริกาและเป็นสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดอันดับที่ 36 ของโลก ซึ่งขนส่งผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
[แก้]มหาวิทยาลัยอิสระแห่งชาติของเม็กซิโกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1910 ได้กลายเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่สำคัญที่สุดในเม็กซิโก มีชื่อเสียงในด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์[93] สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งเม็กซิโกได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อประสานความพยายามทางวิทยาศาสตร์ระหว่างนักวิชาการ ในปี 1995 นักเคมีชาวเม็กซิโก มาริโอ โมลินา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกับ Paul J. Crutzen และ F. Sherwood Rowland สำหรับผลงานด้านเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการก่อตัวและการสลายตัวของโอโซน โมลินากลายเป็นพลเมืองเม็กซิโกคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์[94]
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โครงการทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดที่พัฒนาขึ้นในเม็กซิโกคือการสร้างกล้องโทรทรรศน์มิลลิเมตรขนาดใหญ่ (Gran Telescopio Milimétrico, GMT) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์รูรับแสงเดี่ยวที่ใหญ่และละเอียดอ่อนที่สุดในโลกในช่วงความถี่ ได้รับการออกแบบเพื่อสังเกตพื้นที่ของอวกาศที่บดบังด้วยฝุ่นดาวฤกษ์ เม็กซิโกอยู่ในอันดับที่ 55 ในดัชนีนวัตกรรมโลกในปี 2020 เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 56 ในปี 2019
การศึกษา
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปสามารอ่านและเขียนได้ 92.2% ของประชากรทั้งหมด (ชาย 94% หญิง 90.5%) โดยมีมหาวิทยาลัยของรัฐที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดคือ National Autonomous University of Mexico (NAUM) ซึ่งก่อตั้งในปี 2094 (1551) และ มีนักศึกษาได้ 269,000 คน
สาธารณสุข
[แก้]ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เม็กซิโกเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านด้านสุขภาพของประชากร โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ของเม็กซิโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ได้ว่าได้มาตรฐานสากล แต่ชุมชนในชนบทยังขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูง[95] ทำให้ผู้ป่วยในพื้นที่เหล่านั้นต้องเดินทางไปยังเขตเมืองที่ใกล้ที่สุดเพื่อรับการรักษาพยาบาล[96]
สถาบันที่ได้รับทุนจากรัฐ เช่น สถาบันประกันสังคมเม็กซิโก (IMSS) และสถาบันประกันสังคมและบริการสำหรับคนงานของรัฐ (ISSSTE) มีบทบาทสำคัญในด้านสุขภาพและการประกันสังคม บริการด้านสุขภาพของเอกชนมีความสำคัญมากและคิดเป็น 13% ของหน่วยแพทย์ทั้งหมดในประเทศ การฝึกอบรมด้านการแพทย์ส่วนใหญ่ดำเนินการในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านอาชีวศึกษาหรือการฝึกงาน มหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งในเม็กซิโก เช่น University of Guadalajara ได้ลงนามในข้อตกลงกับสหรัฐฯ เพื่อรับและฝึกอบรมนักศึกษาอเมริกันด้านการแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลในสถาบันเอกชนและยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ในเม็กซิโกนั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของพันธมิตรทางเศรษฐกิจในอเมริกาเหนือ
ประชากรศาสตร์
[แก้]ตลอดศตวรรษที่ 19 ประชากรของเม็กซิโกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่ในช่วงทศวรรษ 1910 ถึง 1921 การปฏิวัติเม็กซิโกเกิดขึ้นและตามมาด้วยการสูญเสียประชากรจำนวนมาก อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากระหว่างทศวรรษที่ 1930 และ 1980 เมื่อประเทศจดทะเบียนอัตราการเติบโตมากกว่า 3% (ค.ศ. 1950-1980) ประชากรเม็กซิโกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในยี่สิบปี และในอัตรานั้น คาดว่าภายในปี 2000 จะมีชาวเม็กซิโก 120 ล้านคน อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 36 ปี (ในปี 1895) เป็น 72 ปี (ในปี 2000) ตามการประมาณโดยสถาบันภูมิศาสตร์และสถิติแห่งชาติของเม็กซิโก ณ ปี 2017 เม็กซิโกมีประชากร 123.5 ล้านคน ทำให้เป็นประเทศที่พูดภาษาสเปนที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ระหว่างปี 2005 ถึง 2008 ประชากรเม็กซิโกเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ย 1.70% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 1.16% ต่อปีระหว่างปี 2000 ถึง 2005
แม้ว่าเม็กซิโกจะเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมาก แต่การวิจัยเกี่ยวกับชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มักไม่ได้รับความสำคัญจากรัฐบาล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันในการนับชนเผ่าพื้นเมือง โดยมีตัวเลขที่แตกต่างกันมากตั้งแต่ 6.1% ถึง 23% ของประชากรในประเทศ ไม่นานมานี้รัฐบาลเม็กซิโกได้เริ่มดำเนินการสำรวจที่พิจารณากลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศ เช่น ชาวเม็กซิโกเชื้อสายแอฟริกาซึ่งมีจำนวนถึง 2% ของประชากรเม็กซิโก หรือชาวเม็กซิโกผิวขาวซึ่งมีจำนวน ถึง 47% ของประชากรเม็กซิโก และยังมีชนกลุ่มน้อยในเม็กซิโกเช่นเอเชียและตะวันออกกลางด้วย (ประมาณ 1%)[97][98][99]
ภาษา
[แก้]ภาษาสเปนเป็นภาษาประจำชาติที่พูดโดยประชากรส่วนใหญ่ ทำให้เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีประชากรพูดภาษาสเปนมากที่สุดในโลก[100] ภาษาสเปนแบบเม็กซิโกหมายถึงภาษาที่ใช้พูดในประเทศต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคในด้านเสียง โครงสร้าง และคำศัพท์[101] โดยทั่วไปแล้ว ภาษาสเปนแบบเม็กซิโกไม่ได้แยกแยะการออกเสียงในตัวอักษร s และ z เช่นเดียวกับ c เมื่อนำหน้าสระ e และ i ซึ่งต่างจากภาษาสเปนในกลุ่มประเทศคาบสมุทร ตัวอักษร b และ v มีการออกเสียงเหมือนกันเช่นกัน นอกจากนี้ การใช้ vos ซึ่งเป็นสรรพนามเอกพจน์บุรุษที่ 2 ซึ่งพบได้ในหลายพันธุ์ในลาตินอเมริกา ถูกแทนที่ด้วย tú; ในขณะที่ vosotros สรรพนามพหูพจน์บุรุษที่สอง ไม่มีการการใช้งานและถูกแทนที่ด้วย ustedes ในบริบทที่เป็นลายลักษณ์อักษร Spanish Royal Academy เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่เป็นแนวทางหลักในการสะกดคำ ยกเว้นคำที่มาจากภาษา Amerindian ที่คงไว้ซึ่งสัทศาสตร์ดั้งเดิม เช่น cenzontle แทน sinzontle และ México ไม่ใช่ Méjico[102]
รัฐบาลกลางรับรองกลุ่มภาษาศาสตร์หกสิบแปดกลุ่มและภาษาพื้นเมือง 364 สายพันธุ์ให้มีการใช้ได้ในประเทศ[103] และคาดว่าประชากรประมาณ 8.3 ล้านคนพูดภาษาเหล่านี้ โดยที่ Nahuatl เป็นภาษาที่พูดกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดโดยมากกว่า 1.7 ล้านคน รองลงมาคือ Yucatec Maya ที่ใช้เป็นประจำทุกวันโดยประชากรเกือบ 850,000 คน Tzeltal และ Tzotzil ซึ่งเป็นภาษามายันสองรูปแบบ มีคนพูดประมาณครึ่งล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐเชียปัสทางตอนใต้ Mixtec และ Zapotec มีเจ้าของภาษาประมาณ 500,000 คน เป็นกลุ่มภาษาที่รู้จักกันดีอีกสองกลุ่ม นับตั้งแต่ก่อตั้งในเดือนมีนาคม 2003 สถาบันภาษาพื้นเมืองแห่งชาติมีหน้าที่ส่งเสริมและปกป้องการใช้ภาษาพื้นเมืองของประเทศ ผ่านกฎหมายทั่วไปว่าด้วยสิทธิทางภาษาของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งรับรองโดยทางนิตินัยว่าเป็น "ภาษาประจำชาติ" ด้วยสถานะเท่ากับภาษาสเปน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ชนพื้นเมืองมักเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะอย่างเหมาะสม เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพ ตลอดจนระบบยุติธรรม เนื่องจากภาษาสเปนเป็นภาษาที่มีบทบาทหลักและได้รับการยอมรับในทางพฤตินัยมากกว่าภาษาท้องถิ่นดังกล่าว
ศาสนา
[แก้]การสำรวจสำมะโนประชากรปี 2020 โดย Instituto Nacional de Estadística y Geografía (สถาบันสถิติและภูมิศาสตร์แห่งชาติ) กำหนดให้นิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาหลัก โดยมีประชากร 77.7% (97,864,218) ในขณะที่ 11.2% (14,095,307) อยู่ในนิกายโปรเตสแตนต์/ผู้เผยแพร่ศาสนา —รวมถึงคริสเตียนอื่น ๆ (6,778,435), Evangelicals (2,387,133), Pentecostals (1,179,415), พยานพระยะโฮวา (1,530,909), และสมาชิกของคริสตจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (337,998); ในขณะที่ 8.1% (9,488,671) ของจำนวนประชากรประกาศว่าตนเองไม่มีศาสนา[104]
ชาวคาทอลิกจำนวน 97,864,218 คนของเม็กซิโกถือเป็นชุมชนคาทอลิกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากบราซิล 47% เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนเหล่านี้ไปโบสถ์ทุกสัปดาห์[105] วันฉลองของ Our Lady of Guadalupe ซึ่งเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเม็กซิโก มีการเฉลิมฉลองในวันที่ 12 ธันวาคม และถือเป็นวันหยุดทางศาสนาที่สำคัญที่สุดในประเทศของชาวเม็กซิโก[106]
เมืองใหญ่
[แก้]อันดับที่ | เมือง | รัฐ | ประชากร | ภาค (ไม่เป็นทางการ) |
---|---|---|---|---|
1 | เม็กซิโกซิตี | เฟเดอรัลดิสตริกต์ | 19.23 ล้านคน | ตะวันออกเฉียงใต้ |
2 | กัวดาลาฮารา | ฮาลิสโก | 4.10 ล้านคน | ตะวันตก |
3 | มอนเตร์เรย์ | นวยโวเลออง | 3.66 ล้านคน | ตะวันออกเฉียงเหนือ |
4 | ปวยบลา | ปวยบลา | 2.11 ล้านคน | ตะวันออก |
5 | โตลูกา | เม็กซิโก | 1.61 ล้านคน | กลางตอนใต้ |
6 | ตีฮัวนา | บาฮากาลิฟอร์เนีย | 1.48 ล้านคน | ตะวันตกเฉียงเหนือ |
7 | เลออง | กวานาวโต | 1.43 ล้านคน | กลาง |
8 | ซิวดัดฮัวเรซ | ชีวาวา | 1.31 ล้านคน | ตะวันตกเฉียงเหนือ |
9 | ตอร์เรออง | โกอาวีลา | 1.11 ล้านคน | ตะวันออกเฉียงเหนือ |
10 | ซันลุยส์โปโตซี | ซันลุยส์โปโตซี | 0.96 ล้านคน | กลาง |
11 | เกเรตาโร | เกเรตาโร | 0.92 ล้านคน | กลาง |
12 | เมรีดา | ยูกาตัง | 0.90 ล้านคน | ตะวันออกเฉียงใต้ |
13 | เม็กซิกาลี | บาฮากาลิฟอร์เนีย | 0.85 ล้านคน | ตะวันตกเฉียงเหนือ |
14 | อากวัสกาเลียนเตส | อากวัสกาเลียนเตส | 0.81 ล้านคน | กลาง |
15 | ตัมปีโก | ตาเมาลีปัส | 0.80 ล้านคน | ตะวันออกเฉียงเหนือ |
16 | กูเอร์นาวากา | โมเรโลส | 0.79 ล้านคน | กลาง |
17 | อากาปุลโก | เกร์เรโร | 0.79 ล้านคน | ใต้ |
18 | ชีวาวา | ชีวาวา | 0.78 ล้านคน | ตะวันออกเฉียงเหนือ |
19 | กูเลียกัง | ซีนาโลอา | 0.76 ล้านคน | ตะวันตกเฉียงเหนือ |
วัฒนธรรม
[แก้]วัฒนธรรมเม็กซิโกสะท้อนถึงความซับซ้อนของประวัติศาสตร์ของประเทศผ่านการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมพื้นเมืองและวัฒนธรรมของสเปน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงการปกครองอาณานิคมของเม็กซิโก 300 ปีของสเปน องค์ประกอบทางวัฒนธรรมภายนอกได้ถูกรวมเข้ากับวัฒนธรรมเม็กซิโกเมื่อเวลาผ่านไป ยุค Porfirian (el Porfiriato) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 และทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 โดดเด่นด้วยความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสันติภาพ หลังจากสี่ทศวรรษของความไม่สงบและสงครามกลางเมือง เม็กซิโกได้มีการพัฒนาปรัชญาและศิลปะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีดิอาซเอง นับตั้งแต่นั้นมา เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมผสมผสาน ซึ่งมีองค์ประกอบจากวัฒนธรรมชนพื้นเมือง (เช่น Amerindian) เป็นแกนหลัก
อาหาร
[แก้]อาหารเม็กซิโกนั้นมีความหลากหลายและได้รับการยอมรับว่ามีรสชาติดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก[107][108][109][110] โดยได้รัการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้[111] อาหารเม็กซิโกมีประวัติยาวนานมาตั้งแแต่สมัยอาณาจักรมายาหรือย้อนไปเมื่อ 9,000 ปีที่แล้ว จากการค้นคว้าพบว่า อาหารเม็กซิโกมีกรรมวิธีการปรุงและเทคนิคที่ซับซ้อนไม่แพ้วัฒนธรรมอาหารที่เก่าแก่อย่างจีน อินเดีย หรือ ญี่ปุ่น[112] นอกจากวัตถุดิบที่นำมาใช้จะหลากหลายอันเนื่องจากการผสมผสานของหลาย ๆ ประเทศที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือเม็กซิโก อาหารเม็กซิโกยังมีสูตรที่หลากหลายตามความแตกต่างใน 6 ภูมิภาคของเม็กซิโก ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และชนชาติพันธุ์ เช่น ทางภาคเหนือของเม็กซิโก ส่วนมากประชากรนิยมรับประทานเนื้อวัว แพะ และ นกกระจอกเทศ ในขณะที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเม็กซิโกซึ่งจรดกับทะเลแคริบเบียน นิยมเมนูจากปลา[113] เมนูผักรสเผ็ดและไก่ เป็นต้น
อาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ ตาโก (Taco)[114][115] หรือบางคนเรียกว่าเป็นแฮมเบอร์เกอร์ของทวีปอเมริกาใต้ เป็นการนำแผ่นแป้งทาโก้หรือบางครั้งเรียกว่าแป้งตอร์ติยา ซึ่งทำจากข้าวโพดและแป้งสาลี มีสองประเภทคือแป้งนุ่มและแป้งกรอบ มาห่อไส้ด้านในซึ่งประกอบด้วยไก่ เนื้อ และหมู เสริมด้วยมะเขือเทศ ข้าวโพด หอมแดง ผักชี กะหล่ำปลี หรือ อาโวคาโด ทานกับซอสหลากหลายชนิด แต่ที่นิยมมากที่สุดคือซอสเผ็ด
เมนูอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงเช่น Burritos (บูร์ริโต) คือแป้งตอร์ติยา นำมาม้วนเนื้อสัตว์ ข้าวสไตล์เม็กซิโก ถั่วแดงบด และผักกะหล่ำทานกับซอส และ เกซาติยา (Quesadilla) หรือ พิซซาของอเมริกาใต้ คือการนำแผ่นแป้งตอร์ติยาไปอุ่นให้ร้อนในกระทะ จากนั้นเติมเนื้อสัตว์ที่ชอบ ตามด้วยชีส แล้วปิดทับด้วยตอร์ติยาอีกแผ่น อุ่นร้อนจนชีสละลาย เสิร์ฟด้วยการตัดเป็นสามเหลี่ยมเหมือนพิซซ่านิยมทานในทุกภูมิภาคของประเทศเม็กซิโก
ดนตรี
[แก้]เพลงของเม็กซิโกมีความหลากหลายมาก ได้รับอิทธิพลจากความหลากหลายของวัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุดทั้งจากทวีปอเมริกาและประเทศสเปน ดนตรีเป็นการแสดงออกถึงชาตินิยมของชาวเม็กซิโกเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 รากฐานของดนตรีเม็กซิโกมาจากชนพื้นเมืองและมรดกทางวัฒนธรรม[116] อย่างไรก็ตามดนตรีร่วมสมัยแบบดั้งเดิมของเม็กซิโกส่วนใหญ่เขียนขึ้นในระหว่างและหลังยุคอาณานิคมของสเปนโดยใช้เครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากโลกเก่าหลายชิ้น[117]
ชาวเม็กซิโกและชาวอินเดียนแดงในอเมริกากลางให้ความสำคัญกับดนตรีบรรเลงมากกว่าการร้องเพลงและดนตรีดั้งเดิมส่วนใหญ่จากภูมิภาคนี้แสดงโดยวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีหลายชนิด ดนตรีการเต้นรำและพิธีกรรมทางศาสนามีความเกี่ยวพันกันในเม็กซิโกและอเมริกากลางและดนตรีประกอบไปด้วยการเต้นรำแบบกลุ่มและการเต้นรำเดี่ยว[118] ดนตรีพื้นเมืองเม็กซิโกและอเมริกากลางอาจแบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ทางภูมิศาสตร์หลัก: เม็กซิโกตะวันตกเฉียงเหนือ, เม็กซิโกกลาง, พื้นที่มายาและชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก[119]
วรรณคดี
[แก้]วรรณคดีเม็กซิโกมีต้นกำเนิดมาจากการตั้งถิ่นฐานของชนพื้นเมืองในมีโซอเมริกา กวีนิพนธ์มีประเพณีทางวัฒนธรรมอันยาวนานในเม็กซิโกยุคพรีโคลัมเบียน โดยแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ ฆราวาสและศาสนา กวียุคพรีโคลัมเบียนที่รู้จักกันดีที่สุดคือ Nezahualcoyotl วรรณคดีในช่วงศตวรรษที่ 16 ส่วนใหญ่ประกอบด้วยประวัติศาสตร์การพิชิตสเปน และนักเขียนส่วนใหญ่ในเวลานี้มาจากสเปน หนังสือประวัติการพิชิตเม็กซิโกของ Bernal Díaz del Castillo ยังคงเป็นที่นิยมในหมู่นักอ่านกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และยังมีกวีชื่อดังที่เกิดในสเปน เบร์นาร์โด เด บัลบูเอนา เป็นผู้ยกย่องคุณธรรมของเม็กซิโกในหนังสือชื่อ Grandeza mexicana (ความยิ่งใหญ่ของชาวเม็กซิโก) (ปี 1604); ฟรันซิสโก เด เตร์ราซัส เป็นกวีชาวเม็กซิโกคนแรกที่มีชื่อเสียงในแง่วรรณคดีบาโรกเจริญรุ่งเรืองในศตวรรษที่ 17; และนักเขียนที่โดดเด่นที่สุดในยุคดังกล่าวคือ ฆวน รุยซ์ เด อาลาร์กอน และ ฆัวนา อิเนส เด ลา กรุซ ซอร์ฆัวนา[120][121][122][123]
เทศกาล
[แก้]ประเทศเม็กซิโกมีเทศกาลที่สำคัญมากมาย แตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาคและวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่เทศกาลที่มื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกได้แก่ "วันแห่งคนตาย" (Día de Muertos)[124] โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน ของทุกปี[125] เป็นเทศกาลต่อจากเทศกาลฮาโลวีน ซึ่งฉลองให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว[126] โดยจะมีพิธีเชิญดวงวิญญาณของคนสนิทให้มาเยี่ยมครอบครัว โดยผู้มาร่วมงานจะแต่งตัวเป็นผีคล้ายเทศกาลฮาโลวีน ส่วนบรรดาร้านค้าและบ้านเรือนก็มีการประดับตกแต่งด้วยตุ๊กตาโครงกระดูกและหัวกะโหลก หรือแม้แต่อาหารที่ขายช่วงนี้ยังถูกออกแบบให้เป็นหัวกะโหลกเช่นเดียวกัน บางครั้งมีการเรียกวันหยุดนี้ว่า Día de los Muertos[127]
กีฬา
[แก้]กีฬายอดนิยมของเม็กซิโกคือฟุตบอล เป็นที่เชื่อกันว่าฟุตบอลถูกนำเผยแพร่ใช้ในเม็กซิโกโดยคนงานเหมืองคอร์นิชเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ใน ค.ศ. 1902 ลีกการแข่งขันได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยการร่วมก่อตั้งจาก 5 สโมสร โดยได้รับอิทธิพลจากสเปนและอังกฤษอย่างเข้มแข็ง สโมสรชั้นนำของเม็กซิโก ได้แก่ กลุบอาเมริกา[128], กัวดาลาฮารา และโตลูกา โดยอันโตนิโอ การ์บาฆาลเป็นผู้เล่นเม็กซิโกคนแรกที่ลงเล่นฟุตบอลโลกครบ 5 สมัย และฮูโก ซานเชซได้รับเลือกเป็นผู้เล่นภูมิภาคคอนคาเคฟที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 และ ราฟาเอล มาร์เกซ เป็นชาวเม็กซิโกเพียงคนเดียวที่คว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้
ฟุตบอลทีมชาติเม็กซิโกเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้วกว่า 16 สมัย มากที่สุดชาติหนึ่งในโลก[129] มีผลงานที่ดีที่สุดคือการเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายสองครั้ง ในปี 1970 และ 1986 ซึ่งทั้งสองครั้งนั้นพวกเขาเป็นเจ้าภาพ ประเทศเม็กซิโกเคยเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมาแล้วสองสมัย และในฟุตบอลโลก 2026 พวกเขาจะได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับอีกสองชาติคือประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา โดยเม็กซิโกจะถือเป็นชาติแรกในโลกที่ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 3 สมัย
กีฬาที่ได้รับความนิยมรองลงมาได้แก่ เบสบอส ลีกเบสบอลอาชีพของเม็กซิโกมีชื่อว่า Liga Mexicana de Beisbol แม้ว่าโดยปกติแล้วจะไม่แข็งแกร่งเท่าสหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบแคริบเบียน และญี่ปุ่น แต่เม็กซิโกยังประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์เบสบอลระดับนานาชาติมาหลายครั้ง[130][131] โดยได้รับรางวัลแคริบเบียนซีรีส์ 9 สมัย เม็กซิโกมีผู้เล่นหลายคนที่ลงเล่นกับทีมในเมเจอร์ลีกของสหรัฐอเมริกา
เม็กซิโกยังเป็นมหาอำนาจสากลในกีฬามวยสากลอาชีพ โดยได้เหรียญจากกีฬาโอลิมปิกในการชกมวยจำนวน 13 เหรียญ[132]
ดูเพิ่ม
[แก้]- ทวีปอเมริกาเหนือ
- ลาตินอเมริกา
- จักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 แห่งเม็กซิโก
- การปฏิวัติเม็กซิโก
- ภาษาสเปน
- อารยธรรมมายา
- วันแห่งคนตาย
- ฟุตบอลทีมชาติเม็กซิโก
หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Censo Población y Vivienda 2020". www.inegi.org.mx. INEGI. สืบค้นเมื่อ 26 January 2021.
- ↑ "Political Constitution of the United Mexican States, title 2, article 40" (PDF). MX Q: SCJN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 11 May 2011. สืบค้นเมื่อ 14 August 2010.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ Rafaela Castro (2000). Chicano Folklore: A Guide to the Folktales, Traditions, Rituals and Religious Practices of Mexican Americans. Oxford University Press. p. 83. ISBN 978-0-19-514639-4.
- ↑ "Surface water and surface water change". Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD). สืบค้นเมื่อ 11 October 2020.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 "IMF DataMapper". www.imf.org. สืบค้นเมื่อ 27 November 2022.
- ↑ Inequality - Income inequality - OECD Data. OECD. สืบค้นเมื่อ 12 August 2021.
- ↑ "Human Development Report 2021-2022" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. 15 December 2020. สืบค้นเมื่อ 15 December 2020.
- ↑ INALI (13 March 2003). "General Law of Linguistic Rights of the Indigenous Peoples" (PDF). สืบค้นเมื่อ 7 November 2010.
- ↑ "Catálogo de las lenguas indígenas nacionales: Variantes lingüísticas de México con sus autodenominaciones y referencias geoestadísticas". Inali.gob.mx. สืบค้นเมื่อ 18 July 2014.
- ↑ Merriam-Webster's Geographical Dictionary, 3rd ed. Springfield, MA: Merriam-Webster, Inc.; p. 733. (อังกฤษ)
- ↑ "Mexico เก็บถาวร 2001-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". The Columbia Encyclopedia, 6th ed. 2001–6. New York: Columbia University Press. (อังกฤษ)
- ↑ "Mexico — Geography". CIA The World Factbook. CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-29. สืบค้นเมื่อ 2007-10-03.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) (อังกฤษ) - ↑ "Censo Población y Vivienda 2020". www.inegi.org.mx.
- ↑ "Countries with most Spanish speakers 2020". Statista (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Spanish Speaking Countries 2021". worldpopulationreview.com.
- ↑ "Mexico City Population 2021 (Demographics, Maps, Graphs)". worldpopulationreview.com.
- ↑ MapScaping. "Mapped: The 6 cradles of civilization". MapScaping (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ ARBAGI, MICHAEL (2011). "THE CATHOLIC CHURCH AND THE PRESERVATION OF MESOAMERICAN ARCHIVES: AN ASSESSMENT". Archival Issues. 33 (2): 112–120. ISSN 1067-4993.
- ↑ Werner, Michael (2015-05-11). Concise Encyclopedia of Mexico (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 978-1-135-97370-4.
- ↑ "History of Mexico". history (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Stargardter, Anahi Rama, Gabriel (2012-06-28). "Chronology: Checkered history of the PRI's rule in Mexico". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-08-16.
- ↑ Whitehead, Laurence (2007). "An elusive transition: The slow motion demise of authoritarian dominant party rule in Mexico". Democratization. 2 (3): 246–269.
- ↑ Padgett, L. Vincent (1957). "Mexico's One-Party System: A Re-Evaluation". The American Political Science Review. 51 (4): 995–1008
- ↑ "Mexico's history of one-party rule". Washington Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ 2021-08-16.
- ↑ Jones, Halbert. The War has brought Peace to Mexico: World War II and the Consolidation of the Post-Revolutionary State. Albuquerque: University of New Mexico Press 2014.
- ↑ "Mexico". U.S. Department of State.
- ↑ "Wayback Machine". web.archive.org. 2017-05-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-25. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Nolte, Detlef (2010). "How to compare regional powers: analytical concepts and research topics". Review of International Studies (ภาษาอังกฤษ). 36 (4): 881–901. doi:10.1017/S026021051000135X. ISSN 1469-9044.
- ↑ https://www.mofa.go.jp/policy/other/bluebook/2006/05.pdf
- ↑ "Oxford Analytica Store - Free items". web.archive.org. 2007-04-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ Bożyk, Paweł (2006). Globalization and the Transformation of Foreign Economic Policy (ภาษาอังกฤษ). Ashgate Publishing, Ltd. ISBN 978-0-7546-4638-9.
- ↑ Waugh, David (2000). Geography: An Integrated Approach (ภาษาอังกฤษ). Nelson Thornes. ISBN 978-0-17-444706-1.
- ↑ "Mexico's Long War: Drugs, Crime, and the Cartels". Council on Foreign Relations (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Centre, UNESCO World Heritage. "Mexico's World Heritage Sites Photographic Exhibition at UN Headquarters". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Centre, UNESCO World Heritage. "UNESCO World Heritage Centre - World Heritage List". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "México ocupa el sexto lugar en turismo a nivel mundial". Expansión (ภาษาสเปน). 2018-08-28.
- ↑ Manuel Aguilar-Moreno. 2006. Libro de bolsillo para los hechos aztecas de la visa, Inc: New York, USA., p. 19. (สเปน)
- ↑ 38.0 38.1 (สเปน)
- ↑ "Diccionario Panhispánico de Dudas: la letra "x"". Real Academia Española. (สเปน)
- ↑ "Diccionario Panhispánico de Dudas: México". Real Academia Española. (สเปน)
- ↑ "Mexico". Online Dictionary. Merriam-Webster. (อังกฤษ)
- ↑ Mexico The American Heritage Reference Collection, et al. (อังกฤษ)
- ↑ Mexico เก็บถาวร 2007-06-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Columbia Encyclopedia (อังกฤษ)
- ↑ Nord-Amèrica, in Gran Enciclopèdia Catalana เก็บถาวร 2016-05-15 ที่ Portuguese Web Archive (กาตาลา)
- ↑ "Geopolitics Oil and Natural Gas", by Alan Larson, US Undersecretary for Economic, Business, and Agricultural Affairs เก็บถาวร 2008-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ "Transportation and Security in North America", NACTS North American Center for Transborder Studies, University of Arizona เก็บถาวร 2010-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ 47.0 47.1 47.2 47.3 47.4 47.5 "Mexico — Geography". CIA The World Factbook. CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-29. สืบค้นเมื่อ 2009-07-07.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) (อังกฤษ) - ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากล เล่ม 2 (อักษร M-Z) ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2550.
- ↑ México, estructuras, política, económica y social (สเปน)
- ↑ Smithsonian Institution. "Popocatépetl" เก็บถาวร 2010-12-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. in Global Volcanism Program. Retrieved on 2009-07-07. (อังกฤษ)
- ↑ Smithsonian Institution. "Iztaccíhuatl" เก็บถาวร 2009-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. in Global Volcanism Program. Retrieved on 2009-07-07. (อังกฤษ)
- ↑ Smithsonian Institution. "Nevado de Toluca". in Global Volcanism Program. Retrieved on 2009-07-07. (อังกฤษ)
- ↑ "Mexico Topography" (อังกฤษ)
- ↑ "Country Comparison — Waterways". CIA The World Factbook. CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-04. สืบค้นเมื่อ 2009-07-07.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) (อังกฤษ) - ↑ https://web.archive.org/web/20071007045210/http://cruzadabosquesagua.semarnat.gob.mx/iii.html
- ↑ https://web.archive.org/web/20071007013648/http://oregon.conevyt.org.mx/actividades/diversidad/lectura_biodiversidad.htm
- ↑ Hayden, Cori. 2003. When Nature Goes Public: The Making and Unmaking of Bioproscpecting in Mexico. Princeton University Press.
- ↑ "Miguel Hidalgo Biography". Catholic Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ 2007-09-30.
- ↑ "The Mexican Miracle: 1940–1968". World History from 1500. Emayzine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2007. สืบค้นเมื่อ 30 September 2007.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ Krauze, Enrique (January–February 2006). "Furthering Democracy in Mexico". Foreign Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 January 2006. สืบค้นเมื่อ 7 October 2007.
{{cite magazine}}
: Cite magazine ต้องการ|magazine=
(help) - ↑ Elena Poniatowska (1975). Massacre in Mexico. Viking, New York. ISBN 978-0-8262-0817-0.
- ↑ Schedler, Andreas (2006). Electoral Authoritarianism: The Dynamics of Unfree Competition. L. Rienner Publishers. ISBN 978-1-58826-440-4.
- ↑ Crandall, R.; Paz and Roett (2004). "Mexico's Domestic Economy: Policy Options and Choices". Mexico's Democracy at Work. Lynne Reinner Publishers. p. 160. ISBN 978-0-8018-5655-6.
- ↑ "Efemérides (Important dates)". National Action Party. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-10-03.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) (สเปน) - ↑ Photius Geographic.org, "Mexico The 1988 Elections", (Sources: The Library of the Congress Country Studies, CIA World Factbook)
- ↑ Cruz Vasconcelos, Gerardo. "Desempeño Histórico 1914–2004" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-07-03. สืบค้นเมื่อ 2007-02-17.
{{cite web}}
: ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) (สเปน) - ↑ Reséndiz, Francisco (2006), "Rinde AMLO protesta como "presidente legítimo" เก็บถาวร 2012-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน",El Universal (สเปน)
- ↑ https://kpi.ac.th/media/pdf/M10_175.pdf
- ↑ "Article 116". Political Constitution of the United Mexican States. Congress of the Union of the United Mexican States. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-13. สืบค้นเมื่อ 2007-10-07. (สเปน)
- ↑ "Article 115". Political Constitution of the United Mexican States. Congress of the Union of the United Mexican States. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-13. สืบค้นเมื่อ 2007-10-07. (สเปน)
- ↑ "Article 112". Political Constitution of the United Mexican States. Congress of the Union of the United Mexican States. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-13. สืบค้นเมื่อ 2007-10-07. (สเปน)
- ↑ "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2007-08-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-25. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Archives". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Embassy of the United Mexican States" (PDF). MFA. พฤษภาคม 2563. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-01-27. สืบค้นเมื่อ 2020-07-07.
- ↑ "ข้อมูลประเทศเม็กซิโก". กองลาตินอเมริกา. สิงหาคม 2562. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
- ↑ Cargolux flight cv8481
- ↑ "Capacitarán a militares en combates con rifles láser | Ediciones Impresas Milenio". web.archive.org. 2010-05-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-14. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Secretaria de Marina - Armada de México". www.semar.gob.mx.
- ↑ "Mexico to slash weapons-grade uranium". UPI (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "The Top 25 Economies in the World". Investopedia (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2010-11-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-05. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Mexico 2050: The World´s Fifth Largest Economy | TheCatalist". web.archive.org. 2010-08-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-19. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Post, Mexico Daily (2019-04-11). "How much should you earn in Mexico to belong to the middle or upper class?". The Mazatlan Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2013-10-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-21. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Mexico tops U.S., Canadian car makers". UPI (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Crandall, Russell; Paz, Guadalupe; Roett, Riordan; Roett, Professor of Political Science Riordan (2005). Mexico's Democracy at Work: Political and Economic Dynamics (ภาษาอังกฤษ). Lynne Rienner Publishers. ISBN 978-1-58826-300-1.
- ↑ "Mexico Country Analysis Brief". web.archive.org. 2006-03-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-03-09. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ http://www3.weforum.org/docs/WEF_TTCR_2017_web_0401.pdf
- ↑ "Wayback Machine". web.archive.org. 2008-06-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-10. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Mexico Infrastructure, power, and communications, Information about Infrastructure, power, and communications in Mexico". www.nationsencyclopedia.com.
- ↑ "Bullet Train To Mexico City Looks To Be Back On Track ? | Guadalajara Reporter". web.archive.org. 2011-04-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-30. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "Systra : Project for a Mexico City - Guadalajara High Speed Line. Rail transport engineering, public transport engineering". web.archive.org. 2011-05-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-01. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Coerver, Don M.; Pasztor, Suzanne B.; Buffington, Robert (2004). Mexico: An Encyclopedia of Contemporary Culture and History (ภาษาอังกฤษ). ABC-CLIO. ISBN 978-1-57607-132-8.
- ↑ "Molina wins Nobel Prize for ozone work". MIT News | Massachusetts Institute of Technology (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Mexico - Health Care and Social Security". countrystudies.us.
- ↑ "Health Care in Mexico". Expat Forum For People Moving Overseas And Living Abroad (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-11-08. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-05-25. สืบค้นเมื่อ 2021-10-29.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ https://www.inegi.org.mx/contenidos/saladeprensa/boletines/2018/EstSociodemo/ENADIS2017_08.PDF
- ↑ "Spanish Language History and main Spanish-speaking countries". web.archive.org. 2005-04-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-04-17. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "MÉXICO NACIÓN MULTICULTURAL Programa Universitario". web.archive.org. 2013-08-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-23. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ https://web.archive.org/web/20130823015618/http://www.nacionmulticultural.unam.mx/Portal/Izquierdo/BANCO/Mxmulticultural/Elmestizajeylasculturas-elmestizaje.html
- ↑ "Diferentes lenguas indígenas". cuentame.inegi.org.mx. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.
- ↑ "Catolicismo pierde creyentes | Censo INEGI 2021". www.milenio.com (ภาษาสเปนแบบเม็กซิกัน).
- ↑ "Study identifies worldwide rates of religiosity, church attendance". web.archive.org. 2006-09-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-01. สืบค้นเมื่อ 2021-09-17.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ Online, Catholic. "Our Lady of Guadalupe - Saints & Angels". Catholic Online (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Mexican recipes". www.taste.com.au. 2008-11-19.
- ↑ Perez, Griselda Muñoz (2021-06-02). "Top 30 Most Popular Mexican Foods- Best Mexican Dishes". Chef's Pencil (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Top 10 foods to try in Mexico". BBC Good Food (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "The Taste Of Mexican Food". www.streetdirectory.com.
- ↑ "El Universal - - Cocina, fiesta y cantos mexicanos reconocidos por UNESCO". archivo.eluniversal.com.mx.
- ↑ "ทำความรู้จักอาหารเม็กซิโก สุดยอดความอร่อยที่ได้ลองต้องหลงรัก สายหม่ำ... เช็คอินด่วน". www.newsplus.co.th (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "6 Most Popular Mexican Fish Dishes". www.tasteatlas.com.
- ↑ "Mexican Street Tacos: A Brief and Delicious History". Macayo’s Mexican Food (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2015-10-06.
- ↑ "The History of Tacos – Casa Blanca Mexican Restaurant, Massachusetts" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Mexican Music | Traditional, History, Rap". www.facts-about-mexico.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-17. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ Ilich, Tijana. "Traditional Musical Styles That Make Mexican Music Unique". LiveAbout (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "ดนตรีพื้นเมืองของอเมริกา - เม็กซิโกและอเมริกากลาง". ดนตรีพื้นเมืองของอเมริกา - เม็กซิโกและอเมริกากลาง. 2020-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-17. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "ดนตรีพื้นเมืองของอเมริกา - เม็กซิโกและอเมริกากลาง". ดนตรีพื้นเมืองของอเมริกา - เม็กซิโกและอเมริกากลาง. 2020-08-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-17. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ "Aztec Poetry (1): Intro". www.mexicolore.co.uk.
- ↑ Coerver, Don M.; Pasztor, Suzanne B.; Buffington, Robert (2004). Mexico: An Encyclopedia of Contemporary Culture and History (ภาษาอังกฤษ). ABC-CLIO. ISBN 978-1-57607-132-8.
- ↑ "Latin American literature". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "7 Notable Mexican Authors Who Changed History". 7 Notable Mexican Authors Who Changed History | Grammarly (ภาษาอังกฤษ). 2017-09-16.
- ↑ "«Día de Todos los Santos», con mayúscula | Fundéu". www.fundeu.es (ภาษาสเปน). 2010-10-29.
- ↑ "El Día de Muertos mexicano nació como arma política o tradición prehispánica - Arte y Cultura - IntraMed". www.intramed.net.
- ↑ "DIA DE LOS MUERTOS | El Museo del Barrio". web.archive.org. 2015-10-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-27. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ Bolivia, Opinión. "Dos historiadoras encuentran diverso origen del Día de Muertos en México". Opinión Bolivia (ภาษาสเปน).
- ↑ "Mexico - List of Champions". www.rsssf.com.
- ↑ "Mexico's World Cup Soccer History". El Jalisco (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "México es Campeón en el Mundial Sub-23 de beisbol". www.mediotiempo.com (ภาษาสเปนแบบเม็กซิกัน).
- ↑ "México, una historia de éxito en la Serie Mundial de Ligas Menores". www.mediotiempo.com (ภาษาสเปนแบบเม็กซิกัน).
- ↑ "Los mejores deportistas mexicanos de la historia". MARCA Claro México (ภาษาสเปนแบบเม็กซิกัน). 2018-10-12.
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Anna, Timothy. Forging Mexico, 1821-1835. Lincoln: University of Nebraska Press 1998.
- Adams, Richard E.W. Prehispanic Mesoamerica. 3rd. ed. Norman: University of Oklahoma Press 2005.
- Beezley, William H., ed. A Companion to Mexican History and Culture. Blackwell 2011. ISBN 9781405190572
- Bulmer-Thomas, Victor, John H. Coatsworth, and Roberto Cortés Conde, eds. The Cambridge Economic History of Latin America. Vol. 1, The Colonial Era and the Short Nineteenth Century. Cambridge: Cambridge University Press 2006.
- Camp, Roderic Ai. Politics in Mexico: Democratic Consolidation or Decline? (Oxford University Press, 2014)
- Coerver, Don M., Suzanne B. Pasztor, and Robert M. Buffington. Mexico: An Encyclopedia of Contemporary Culture and History. Santa Barbara: ABCClio 2004. ISBN 1-57607-132-4
- Davis, Diane. Urban Leviathan: Mexico City in the Twentieth Century (Temple University Press, 2010)
- Hale, Charles A. The Transformation of Mexican Liberalism in Late Nineteenth-Century Mexico. Princeton: Princeton University Press 1989.
- Hamnett, Brian R. Roots of Insurgency: Mexican Regions 1750-1824. Cambridge: Cambridge University Press 1985.
- Kirkwood, Burton. The History of Mexico (Greenwood, 2000) online edition เก็บถาวร 2009-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Knight, Alan. The Mexican Revolution. 2 vols. Cambridge: Cambridge University Press 1986.
- Krauze, Enrique (1998). Mexico: Biography of Power: A history of Modern Mexico 1810–1996. New York: Harper Perennial. p. 896. ISBN 978-0-06-092917-6.
- Levy, Santiago. Good intentions, bad outcomes: Social policy, informality, and economic growth in Mexico (Brookings Institution Press, 2010).
- Merrill, Tim and Ramón Miró. Mexico: a country study (Library of Congress. Federal Research Division, 1996) US government document; not copyright online free
- Meyer, Michael C.; Beezley, William H., บ.ก. (2000). The Oxford History of Mexico. Oxford University Press. p. 736. ISBN 978-0-19-511228-3.
- Meyer, Michael C., William L. Sherman, and Susan M. Deeds. The Course of Mexican History (7th ed.) (Oxford University Press, 2002) online edition เก็บถาวร 2011-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Rugeley, Terry. Epic Mexico: A History from Earliest Times. Norman: University of Oklahoma Press 2020. ISBN 9780806167077
- Van Young, Eric. Stormy Passage: Mexico from Colony to Republic, 1750-1850. Lanham MD: Rowman and Littlefield 2022. ISBN 9781442209015
- Vinson, Ben, III. Before Mestizaje: The Frontiers of Race and Caste in Colonial Mexico. New York: Cambridge University Press 2018.
- Werner, Michael S. ed. Encyclopedia of Mexico: History, Society & Culture (2 vol 1997) 1440pp online edition เก็บถาวร 2010-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Werner, Michael S. (January 2001). Concise Encyclopedia of Mexico. Taylor & Francis. ISBN 978-1-57958-337-8.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]รัฐบาล
ข้อมูลทั่วไป
- Mexico. The World Factbook. Central Intelligence Agency.
- Mexico from UCB Libraries GovPubs
- ประเทศเม็กซิโก ที่เว็บไซต์ Curlie
- Mexico from the BBC News
- Mexico at Encyclopædia Britannica
- Wikimedia Atlas of Mexico
- ดูข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ ประเทศเม็กซิโก ที่โอเพินสตรีตแมป
- Key Development Forecasts for Mexico from International Futures