ข้ามไปเนื้อหา

เทอริสิโนซอรัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทอริสิโนซอรัส
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Late Cretaceous, 72–68Ma
ภาพ Paleoart ของเทอริสิโนซอรัส
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับใหญ่: Dinosauria
อันดับ: Saurischia
อันดับย่อย: Theropoda
วงศ์: Therizinosauridae
สกุล: Therizinosaurus
Maleev, 1954
ชนิดต้นแบบ
Therizinosaurus cheloniformis
Maleev, 1954

เทอริสิโนซอรัส (ชื่อวิทยาศาสตร์: Therizinosaurus) เป็นไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรพอดสกุลหนึ่งในวงศ์ Therizinosauridae มีอยู่เพียงชนิดเดียวคือ Therizinosaurus Cheloniformis ฟอสซิลของมันถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1948 โดยการสำรวจภาคสนามของชาวมองโกเลียที่ทะเลทรายโกบีและหลังจากนั้นมันก็ถูกนำเสนอโดยนักบรรพชีวิน เอฟเกนี มาเลเยฟ (รัสเซีย: Евгений Александрович Малеев) ทำให้เทอริสิโนซอรัสเริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงศ์การบรรพชีวินวิทยา ซึ่งในเวลานั้นพบเพียงแค่ส่วนของเล็บที่ยาวกว่า 70 เซนติเมตร ทำให้ในตอนแรกมันถูกคิดว่าเป็นเพียงแค่เล็บของเต่าขนาดใหญ่ในยุคครีเทเชียส ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อพบส่วนกระดูกท่อนขาหลังของมันในเวลาต่อมา เทอริสิโนซอรัสเป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดที่กินพืช โดยมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสเมื่อ 72–68 ล้านปีก่อน

ลักษณะและรูปร่างหน้าตา

[แก้]
เปรียบเทียบขนาดเทอริสิโนซอรัสกับมนุษย์

ลักษณะของเทอริสิโนซอรัสที่ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่ามันกินเนื้อคือเล็บที่ยาวกว่า 70 เซนติเมตร และเดินสองขาเหมือนไดโนเสาร์กินเนื้อ ทำให้ตอนแรกมันถูกคิดว่าเป็นพวกกินเนื้อ แต่ในปัจจุบัน มันจัดอยู่ในไดโนเสาร์กินพืช เนื่องจากลักษณะฟันที่เป็นซี่เล็ก ๆ เรียงกัน ใช้ไม่ได้กับการกัดหรือเคี้ยวเนื้อ ส่วนเล็บที่มีก็ไม่เหมาะกับการฉีกเหยื่อ เพราะเปราะบางเกินไป ดังนั้นเล็บที่ยาว 70 เซนติเมตรของมัน จึงใช้ในการตัดใบไม้ลงมาจากต้น หรือป้องกันตัวโดยการขู่เท่านั้น นอกจากมันจะมีลักษณะเฉพาะคือเล็บแล้ว มันยังมีขาหน้าที่ยาว 2 เมตรด้วย ทั้ง ๆ ที่มันเดินด้วยขาหลัง เทอริสิโนซอรัสมีความยาวประมาณ 9–10 เมตร (30–36 ฟุต) สูง 4–5 เมตร (13–16 ฟุต) และมีน้ำหนัก 3–5 ตัน ถึงแม้ว่าฟอสซิลของเทอริสิโนซอรัสที่ค้นพบนั้นจะไม่มีความสมบูรณ์ แต่ก็สามารถอนุมานได้เกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของเทอริสิโนซอรัสได้ เพราะสมาชิกในวงศ์ Therizinosauridae นั้นมีลักษณะกะโหลกศีรษะที่มีขนาดเล็กตามจะงอยปากของมัน

กรงเล็บของเทอริสิโนซอรัสที่มีความยาวมากถึง 70 ซม.

ขาหน้าหรือแขน

[แก้]

แขนของเทอริสิโนซอรัสนั้นมีความยาวมากถึง 2.4 เมตร กระดูกสะบักวัดความยาวได้ 67 เซนติเมตร และกระดูกต้นแขนที่แข็งแรง วัดความยาวได้ประมาณ 76 เซนติเมตร ซึ่งแขนของมันนั้นมีความแข็งแรงมากพอที่ใช้ป้องกันตัวจากนักล่าได้อยู่บ้าง แต่หน้าที่หลัก ๆ นั้นมีไว้ใช้ในการโน้มกิ่งไม้ลงมาเพื่อให้เทอริสิโนซอรัสนั้นสามารถกินยอดอ่อนที่อยู่บนต้นไม้ได้

การจัดจำแนกประเภท

[แก้]
ภาพของ Alxasaurus เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์

แต่เดิมเทอริสิโนซอรัสถูกจัดให้อยู่ในวงศ์เต่าทะเลขนาดยักษ์เพราะว่าในช่วงนั้นข้อมูลทางบรรพชีวินวิทยายังมีความล้าสมัยอยู่ จนกระทั่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสมมุติฐานสรีรร่างกายของมันและมีการค้นพบฟอสซิลเพิ่มเติมของไดโนเสาร์ในวงศ์นี้ ทำให้เริ่มมีการจัดวงศ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อปี ค.ศ. 1970 อะนาโตลี รอจเดสต์เวนสกี (รัสเซีย: Анатолий Константинович Рождественский) เป็นหนึ่งในนักบรรพชีวินวิทยากลุ่มแรกที่เสนอว่าเทอริสิโนซอรัสเป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดแทนที่จะเป็นเต่า นอกจากนี้เขายังแนะนำว่ากระดูกซี่โครงของโฮโลไทป์น่าจะมาจากไดโนเสาร์ตัวอื่น ต่อมาในปี ค.ศ. 1976 รินเชนกิน บารส์บอลด์ (มองโกเลีย: Ринченгийн Барсболд) นักบรรพชีวินวิทยาได้สรุปว่าเทอริสิโนซอรัสเป็นเทอโรพอดเพราะมีการค้นพบ Alxasaurus ที่เป็นญาติห่าง ๆ ของเทอริสิโนซอรัสและมันมีรูปร่างลักษณะที่คล้ายคลึงกับไดโนเสาร์ในตระกูลเทอโรพอด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เทอริสิโนซอรัสนั้นได้จัดอยู่ในตระกูลไดโนเสาร์เทอโรพอด (แต่ไดโนเสาร์ในตระกูลนี้ส่วนใหญ่จะเป็นไดโนเสาร์ประเภทกินเนื้อ) ต่อมาในปี ค.ศ. 2010 ลินด์ซีย์ ซานโน (Lindsay Zanno) นักบรรพชีวินวิทยาได้ทำการแก้ไขอนุกรมวิธานของ "therizinosaurs" อย่างละเอียด ถี่ถ้วน

เธอพบว่าหลายชิ้นส่วนบนโฮโลไทป์ของเทอริสิโนซอรัสพร้อมกับตัวอย่างอ้างอิงบางส่วนสูญหายกับทั้งเสียหาย และตัวอย่างที่กระจัดกระจายโดยไม่มีองค์ประกอบทับซ้อนกันเป็นข้อเสียในการสรุปความสัมพันธ์ของสมาชิก Zanno ยอมรับการอ้างอิงของตัวอย่าง IGM 100/45 ไปยังTherizinosaurusเนื่องจากตรงกับลักษณะ therizinosaurid หลายแบบ แต่ตัดสินใจที่จะไม่รวมตัวอย่างในการวิเคราะห์อนุกรมวิธานของเธอเนื่องจากไม่มีส่วนปลายของกระดูกเชิงเปรียบเทียบ นอกจากนี้ เธอยังไม่รวมกระดูกซี่โครงที่คาดว่าจะปรากฏอยู่บนโฮโลไทป์ เนื่องจากพวกมันน่าจะมาจากสัตว์อื่น

ภาพโฮโลไทป์ของวงศ์ตระกูล Therizinosauria โดย Scott Hartman และ ทีม

และในปี ค.ศ. 2019 สกอตต์ ฮาร์ตแมน (Scott Hartman) และทีมงานนักบรรพชีวินวิทยาได้ทำการวิเคราะห์สายวิวัฒนาการขนาดใหญ่ของ Therizinosauria โดยอิงจากข้อมูลที่ Zanno จัดเตรียมไว้ให้ในการแก้ไขของเธอ พวกเขาพบผลลัพธ์ที่คล้ายกับ Zanno เกี่ยวกับตระกูล Therizinosauridae ฮาร์ตแมนและทีมจึงช่วยกันจัดอนุกรมวิธานของเทอริสิโนซอรัสใหม่อีกครั้ง ข้อมูลนี้จึงถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน

Therizinosauridae

ข้อมูลทางบรรพชีวินวิทยา

[แก้]
ขนาดของ Nemegtosaurus เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์

เทอริสิโนซอรัสถูกค้นพบที่หมวดหินเนเมกต์ (รัสเซีย: Формация Нэмэгэт) ในทะเลทรายโกบีประเทศมองโกเลีย แต่การก่อตัวของชั้นหินนี้ยังไม่ได้มีการลงข้อมูลทางรังสีวิทยาอย่างเป็นทางการ เป็นเพราะว่าไม่มีการค้นพบหินภูเขาไฟที่สามารถนำมาตรวจสอบได้ ซึง่จะเป็นปัญหาต่อการระบุชนิดของซากฟอสซิล แตนักบรรพชีวินวิทยาได้พยายามหาทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและตรงตามความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด

ภาพของ Tarbosaurus เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ และมันยังถือว่าเป็น T-rex แห่งเอเชียอีกด้วย

นักบรรพชีวินวิทยาส่วนใหญ่ได้ประมาณอายุของหมวดหินนี้ไว้ที่ 70–68 ล้านปี ซึ่ง ณ เวลานั้นภูมิประเทศอาจเป็นเขตลุ่มแม่น้ำกับทะเลทราย และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสลับกันไป จึงทำให้บริเวณนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีการค้นฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในช่วงเวลาและสถานที่เดียวกับเทอริสิโนซอรัสอีกมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นนักล่าอย่าง ทาร์โบซอรัส ที่เป็น Tyrannosaurid ขนาดกลาง หรือจะเป็น Titannosaur ขนาดกลางอย่าง เนเมกโทซอรัส ที่มีขนาดยาวประมาณ 12.5–13 เมตร และไดโนเสาร์อีกหลาย ๆ สปีชีส์ รวมถึงพวกเทอโรซอร์ขนาดใหญ่อย่างพวก Azhdachoidea

สภาพแวดล้อมของหมวดหินเนเมกต์นั้น เหมาะแก่การอาศัยอยู่ของเจ้าเทอริสิโนซอรัสเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีป่าไม้และแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ทำให้เป็นถิ่นที่อยู่ที่เหมาะสมของเทอโรพอดขนาดใหญ่ แต่ใช่ว่าด้วยขนาดตัวที่ใหญ่และกรงเล็บแหลมโค้งขนาดใหญ่อันน่ากลัวจะทำให้นักล่าถอยหนี มันก็มีศัตรูทางธรรมชาติเช่นกัน อย่างเจ้าทาร์โบซอรัสนักล่าขนาด 10 เมตร ที่ล่าเหยื่อกันเป็นกลุ่ม ซึ่งสามารถเล่นงานเทอริสิโนซอรัสได้แต่ก็นาน ๆ ครั้ง ส่วนใหญ่เทอริสิโนซอรัสนั้นจะอาศัยอยู่ในป่าใกล้ ๆ ชายฝั่ง โดยหากินยอดอ่อนใบไม้ตามต้นไม้สูงเป็นอาหารโดยมันจะใช้กรงเล็บขนาดใหญ่ของมันเกี่ยวกิ่งไม้หรือหักกิ่งไม้นั้นลงมา

อ้างอิง

[แก้]
  1. บทวิจัยของสัตว์เลื้อยคลานในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในเขตประเทศมองโกเลีย
  2. เส้นเวลาของการวิจัย therizinosaur
  3. [ข้อมูลใหม่ของ Therizinosaurus (Therizinosaurid Theropoda)] ในบทวิจัยบรรพชีวินวิทยาและประวัติศาสตร์ธรรมชาติประเทศมองโกเลีย
  4. Zanno, LE. "การประเมินซ้ำของอนุกรมวิธานและสายวิวัฒนาการของ Therizinosauria". วารสารบรรพชีวินวิทยา. หน้า 503–543