ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าดารารัศมี
พระราชชายา
พระราชชายา
ดำรงพระยศ12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453
ประสูติ26 สิงหาคม พ.ศ. 2416
สิ้นพระชนม์9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 (60 ปี)
พระสวามีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบุตรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี
ราชวงศ์ทิพย์จักร (ประสูติ)
จักรี (เสกสมรส)
พระบิดาพระเจ้าอินทวิชยานนท์
พระมารดาเจ้าทิพเกสร

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา (ไทยถิ่นเหนือ: ) (26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476) เป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม และเป็นพระภรรยาเจ้าตำแหน่งพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และฟื้นฟูศิลป์วัฒนธรรมล้านนา[1]

พระประวัติ

ขณะทรงพระเยาว์

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา มีพระนามเดิมว่า "เจ้าดารารัศมี" พระนามลำลองเรียกกันในครอบครัวว่า "เจ้าน้อย"[2] และในพระประยูรญาติว่า "เจ้าอึ่ง" ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา (หากนับทางเหนือ เป็นเดือน 10) หรือตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 เวลา 00.30 น.เศษ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย) เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์กับเจ้าทิพเกสร มีพระเชษฐภคินีร่วมพระอุทรหนึ่งพระองค์คือเจ้าจันทรโสภา

เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ จนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้นดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว และโปรดการทรงม้าเป็นอย่างยิ่ง

เหตุแห่งการเสด็จเข้าวังหลวง

ในปี พ.ศ. 2426 เมื่อเจ้าดารารัศมีมีพระชนมายุได้ 11 พรรษาเศษ พระบิดาได้จัดให้มีพิธีโสกันต์เจ้าดารารัศมีอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นพิธีโสกันต์ครั้งแรกในล้านนา โดยมีพระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันท์) ข้าหลวงสามหัวเมือง เป็นธุระในเรื่องการจัดพิธีโสกันต์ตลอดงาน ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำภาคพายัพ) ได้อัญเชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของขวัญโกนจุก แก่เจ้าดารารัศมี

คล้อยหลัง 3 ปี ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 (ตรงกับ วันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248) ในปี 2429 นั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าดารารัศมีได้โดยเสด็จพระบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย และได้ถวายตัว รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดให้ประทับอยู่ที่พระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ (เรียกกันภายในว่าห้องผักกาด) หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และอยู่ในพระราชอุปถัมภ์ของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินี เลยประทับอยู่ ณ กรุงเทพมหานครนับแต่นั้นมา

เจ้าจอมมารดา

เมื่อพระองค์เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวัง พระบิดาได้ประทานเงินค่าตอไม้ (ค่าสัมปทานไม้สักในเขตแคว้นล้านนา ซึ่งตอนนั้นถือกันว่าป่าไม้สักทั้งหมดในดินแดนล้านนาเป็นของพระเจ้านครเชียงใหม่ทั้งสิ้น จะยกประทานแก่ผู้ใดก็ได้ ในกรณีนี้ทรงยกผลประโยชน์เป็นค่าสัมปทานประทานพระธิดา) เพื่อสร้างตำหนักขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ในเขตพระราชฐานชั้นในในพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นที่ประทับของเจ้าจอมดารารัศมีและข้าหลวงในพระองค์ ในระหว่างที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย มิได้สนพระทัยต่อการถูกมองพระองค์ว่าเป็น "เจ้าหญิงเมืองลาว" แต่ประการใด ทรงให้ข้าหลวงในตำหนักแต่งกายด้วยผ้าซิ่นแบบล้านนา เหมือนเมื่อครั้งที่ยังประทับอยู่ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ทุกประการ รวมทั้งโปรดให้ให้ศึกษาศิลปะดนตรีไทย ดนตรีสากล การขับร้อง และการฟ้อนรำ ทั้งนี้ เจ้าจอมดารารัศมีสามารถทรงเครื่องดนตรีได้หลากหลายชนิด แต่ที่โปรดและทรงได้ถนัดที่สุดคือจะเข้ เจ้าจอมดารารัศมี ยังทรงสนพระทัยในการถ่ายรูปซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น นอกเหนือไปจากพระปรีชาสามารถด้านการทรงม้า

ขณะนั้นยังทรงเป็นเพียงเจ้าจอมพระสนม ยังไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี จนกระทั่งปี 2451 ที่เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาดารารัศมี ขึ้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง ดำรงพระอิสริยยศ "พระราชชายา" และดำรงฐานันดรศักดิ์เจ้านายในราชวงศ์จักรีนับแต่นั้น ถึงแม้จะทรงศักดิ์เป็นพระมเหสีในตำแหน่งพระราชชายา แต่กระบวนเสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่ครั้งนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชทานอย่างเต็มตามโบราณราชประเพณีเสมอด้วยทรงครองพระอิสริยยศพระมเหสีในตำแหน่ง "พระอัครชายาเธอ" เลยทีเดียว ดังปรากฏความตามสำเนาพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดกระบวนเสด็จครั้งนั้นอย่างชัดเจน[ต้องการอ้างอิง]

ด้วยการดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย หากแต่แฝงไว้ด้วยพระปรีชาญาณ ความมุ่งมั่น และความเชื่อมั่นในพระองค์ กอปรกับความจงรักภักดีที่ทรงมีต่อพระบรมราชสวามี จึงเป็นที่โปรดปรานฯ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่สุดเจ้าดารารัศมี ซึ่งขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ก็ทรงพระครรภ์ และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 ทรงพระนามว่าพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่ง "เจ้าจอมดารารัศมี" ขึ้นเป็น "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี"

พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี หรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าหลวงว่า "เสด็จเจ้าน้อย" เป็นที่โปรดปรานฯ ในพระราชบิดายิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา เป็นที่น่าเสียดายว่า พระธิดามีพระชันษาเพียง 3 ปี 4 เดือน 18 วัน ก็สิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 (ต่อมาทรงได้รับโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามพระอัฐิขึ้นเป็น "พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี" "พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี" และ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี" ตามลำดับ)

การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาในคราวนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงมีรับสั่งกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เองว่าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ที่ทรงมิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น "เจ้าฟ้า" ตามศักดิ์แห่งพระมารดาซึ่งเป็นเจ้าหญิงพระราชธิดาในพระเจ้าประเทศราช เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์ แต่สำหรับเจ้าจอมมารดาดารารัศมีแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ไม่สามารถรับสั่งเป็นคำพูดได้ ทรงฉีกทำลายพระฉายาลักษณ์ที่พระบรมราชสวามีประทับร่วมอยู่กับพระองค์และพระราชธิดาเสียจนหมดสิ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากทรงได้รับลายพระหัตถ์ จากพระบิดาที่ส่งมาประทานแล้ว ทำให้ทรงมีกำลังพระทัยดีขึ้นโดยลำดับ ต่อมาภายหลัง เจ้าจอมมารดาดารารัศมีมิได้มีพระประสูติกาลอีกเลย ทั้งที่โดยความจริงแล้วนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยเอาไว้ก็ตาม ไม่ว่าจะอย่างไรเจ้าจอมมารดาดารารัศมีก็ยังทรงมุ่งมั่นรับใช้เบื้องพระยุคลบาทและถวายความจงรักภักดีต่อพระบรมราชสวามีอย่างหาที่สุดไม่ได้

พระราชชายา

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451[3] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ "เจ้าจอมมารดาดารารัศมี" ขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี มีตำแหน่งเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งออกพระนามว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" นับเป็นพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับได้ว่า "เจ้าดารารัศมี พระราชชายา" เป็นพระมเหสีลำดับที่ 5 ในเวลานั้น (ลำดับที่ 1-4 มีรายพระนามดังนี้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ไม่นับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกและพระมเหสีทั้ง 2 พระองค์ที่สวรรคตและสิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว)

การเสด็จประพาสนครเชียงใหม่

นับแต่พระราชชายาเสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวัง ก็มิได้เสด็จกลับเชียงใหม่อีกเลย แม้คราวที่พระบิดาถึงพิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2440 ก็ตาม เมื่อปี พ.ศ. 2451 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา (ก็คือเจ้าอินทวโรรสนั้นมิได้ประสูติแต่แม่เจ้าพระมหาเทวีดังเช่นพระราชชายาฯ) ได้ลงมาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาจึงกราบถวายบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่ เพื่อทรงเยี่ยมพระประยูรญาติพร้อมกับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ พระเชษฐา ในครานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาต ด้วยไม่ทรงต้องการขัดพระทัยพระราชชายา

อย่างไรก็ตาม การเสด็จประพาสนครเชียงใหม่ของพระราชชายาในคราวนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นห่วงและเอาพระราชหฤทัยใส่ยิ่งนัก ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาส่งเสด็จ พระราชชายาฯ เพื่อทรงประทับในขบวนรถไฟที่นั่ง สถานีรถไฟสามเสน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ พระโอรสในเจ้าจอมมารดาทิพเกษร โดยเสด็จพระราชดำเนินไปส่งพระราชชายาฯ ถึงตำบลปากน้ำโพ นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของทางรถไฟสายเหนือ ตลอดการเสด็จพระดำเนิน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดข้าราชการเป็นหมวดหมู่ กรม กองโดยเสด็จพระราชชายาฯ มีธงดารารัศมี ประจำพระองค์พระราชชายาฯประดับ เพื่อแสดงถึงฐานะของพระมเหสีอันสูงศักดิ์ และให้ข้าราชการ กรมการเมืองทั้งหลายตลอดเส้นทางที่เสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่นั้นจัดเตรียมการรับเสด็จเสมือนหนึ่งว่าทรงดำรงตำแหน่ง พระอัครชายาเธอ ทีเดียว เมื่อ พระราชชายาฯ เสด็จถึงปากน้ำโพ ได้เสด็จพระดำเนินต่อโดยทางเรือ ทรงประทับในเรือเก๋งประพาส มีเรือในขบวนเสด็จกว่า 50 ลำ มีการปักธงทิวเป็นขบวนไปตามลำน้ำปิง เมื่อผ่านเขตอำเภอ จังหวัด มณฑลใด มีเจ้าหน้าที่ปลูกพลับพลาประทับร้อน ประทับแรม และคอยรับเสด็จตลอดเขตของตนทุกแห่งทั่วไป

การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้า ใช้เวลานานถึง 2 เดือน 9 วัน จึงเสด็จพระดำเนินถึงยังนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2452 ณ ที่นั้น เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ พร้อมด้วยพระประยูรญาติเจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการทหาร พลเรือน ประชาชนแต่ละอำเภอ คหบดีทั่วทั้งดินแดนล้านนา ต่างจัดขบวนแห่ของตน มีขบวนทหาร ตำรวจ ข้าราชการขี่ม้าเข้าแถวนำ แต่งขบวนเป็นภาพคนสมัยโบราณ คนป่า เรื่องชาดกรามเกียรติ์ และนิทานพื้นบ้าน มีขบวนกลองชนะ กลองสะบัดไชย กลองเมือง แตรวง กลองพม่า ต่อกันเป็นระยะๆ ตามหน้าบ้านมีการตั้งเครื่องบูชารายทางมิได้ขาด จนกระทั่งถึงที่ประทับที่คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ ซึ่งจัดเป็นข้างหน้าข้างใน มี สนม กรมวังกำกับอย่างใน พระบรมมหาราชวังทุกประการ และมีทหารกองเกียรติยศตั้งคอยรับเสด็จพระราชชายาฯ อย่างสง่างาม

ระหว่างประทับที่เชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้เสด็จพระดำเนินไปทรงเยี่ยมพระประยูรญาติยังนครลำพูนและนครลำปาง และได้เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในที่ต่าง ๆ รวมทั้งได้เสด็จไปนมัสการพระธาตุ พระพุทธบาท และปูชนียสถานสำคัญต่างๆอย่างทรงสำราญพระทัย ตลอดเวลาในการเสด็จประพาสนครเชียงใหม่ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโทรเลขและพระราชหัตถเลขาแสดงความรักอาทรห่วงใยมาพระราชทานพระราชชายาฯ ไม่ขาด และพระราชชายาฯ ก็ทรงพระโทรเลขหรือลายพระหัตถ์ตรัสเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ถวายกลับไป

การเสด็จนิวัติพระนคร

พระราชชายาฯ ประทับอยู่ ณ นครเชียงใหม่ได้หกเดือนเศษ ก็ถึงคราวเสด็จนิวัติพระนคร ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเตรียมการรับเสด็จพระราชชายาฯอย่างยิ่งใหญ่ มีขบวนรับเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน ขบวนเรือเสด็จประกอบด้วยเรือถึง 100 ลำเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับเรือยนต์หลวงมารอรับเสด็จพระราชชายาฯ ถึงที่อ่างทอง แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินและพระดำเนินพร้อมกัน 2 พระองค์ไปประทับแรม ณ พระราชวังบางปะอิน ในการนี้ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสร้อยพระกรเพชรล้ำค่าเป็นของพระขวัญ ทรงประทับแรมอยู่ ณ พระราชวังบางปะอิน เป็นเวลา 2 ราตรี จึงเสด็จพระราชดำเนินและเสด็จกลับถึงพระนคร ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพระราชทานเลี้ยงฉลองขึ้นตำหนักสวนฝรั่งกังไส (พระราชวังดุสิต) ซึ่งเป็นตำหนักใหม่ที่โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานพระราชชายาฯ เป็นพิเศษ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายฝ่ายเหนือที่โดยเสด็จพระราชชายาฯ ลงมากรุงเทพฯ ครั้งนี้ร่วมโต๊ะเสวยด้วยทุกองค์

พระบรมราชสวามีเสด็จสวรรคต

หลังจากเสด็จนิวัติพระนคร พระราชชายาฯ ได้ทรงประทับอยู่ในพระราชวังดุสิต อย่างสำราญพระทัยที่ได้ทรงกลับมารับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบรมราชสวามีได้เพียง 10 เดือน ก็ต้องทรงประสบกับเหตุวิปโยคคราใหญ่ในพระชนม์ชีพอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 นับรวมเวลาที่ พระราชชายาฯ ได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เป็นเวลา 23 ปีเศษ

นับแต่สิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาฯ ยังทรงประทับในพระราชวังดุสิตมาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2457 จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวร เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็เสด็จพระดำเนินสู่นครเชียงใหม่ โดยเสด็จออกเดินทางเมื่อ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2457 และเสด็จพระดำเนินถึงยังนครเชียงใหม่ในวันที่ 22 เดือนเดียวกัน ได้เข้าประทับยังคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง ตั้งแต่นั้น

สิ้นพระชนม์

กู่พระอัฐิในวัดสวนดอก

ในบั้นปลายพระชนม์ชีพพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานเป็นที่ประทับ โดยแวดล้อมด้วยพระประยูรญาติและข้าหลวงในพระองค์เป็นเวลานานถึง 20 ปี

จนกระทั่ง วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2476 พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคพระปัปผาสะพิการ แพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้พยายามถวายการรักษาอย่างเต็มที่ แต่พระอาการมีแต่ทรงกับทรุด เจ้าแก้วนวรัฐ พระเชษฐาต่างพระมารดา จึงเชิญเสด็จมาประทับ ณ คุ้มรินแก้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้สะดวกในการที่พระประยูรญาติจะได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการและเป็นการง่ายที่แพทย์จะถวายการรักษา

ความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อัญเชิญด้ายสายสิญจน์มาผูกพระกรพระราชชายาฯ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยในการรักษาพระอาการ และโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ถวายรายงานพระอาการให้ทรงทราบเป็นประจำ ขณะเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายแพทย์กรมรถไฟขึ้นมาประจำกับแพทย์ทางเชียงใหม่ถวายการดูแลพระอาการอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น เจ้าแก้วนวรัฐ พระประยูรญาติ และข้าราชบริพาร ยังได้จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ชนิดย้ายที่ได้จากประเทศอินโดนีเซียเพื่อฉายดูพระปัปผาสะ เป็นการช่วยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พระอาการก็มิได้ทุเลาลงแต่อย่างใด

พระองค์ทรงพระประชวรด้วยวัณโรคมาหลายปีแล้ว แต่ในระยะหลังก่อนวันประสูติครบ 60 พระชันษา พระอาการกระเตื้องขึ้น พระองค์ทรงนึกสนุกว่าจะจัดงานอย่างไรบ้าง แต่เมื่อทรงทราบเรื่องกบฏบวรเดช พระอาการก็ทรุดลงเรื่อย ๆ[4]

พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เมื่อเวลา 15.14 น. ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา 60 ปี 3 เดือน 13 วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศกุดั่นน้อยและเครื่องสูง 1 สำรับ พระกลดขาวลายทอง และให้ข้าราชบริพารไว้ทุกข์มีกำหนด 7 วัน เป็นเกียรติยศ[5]

การพระราชทานเพลิงพระศพ

เมื่อเจ้าดารารัศมี พระราชชายา สิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญน้ำพระสุคนธ์พระราชทานไปสรงพระศพ เชิญพระโกศไปประกอบพร้อมด้วยเครื่องสำหรับพระอิสริยยศ ประดิษฐานพระศพไว้ที่คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว และโปรดให้ช่างหลวงปลูกสร้างพระเมรุสำหรับพระราชทานเพลิงพระศพที่วัดสวนดอก และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสด็จแทนพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และทรงเป็นประธานในงานพระราชทานเพลิงพระศพ[6]

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2477 เชิญพระศพสู่พระเมรุ พระราชทานเพลิงพระศพ ออกจากคุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ไปตามถนนวิชยานนท์ ถนนราชวงศ์ ถนนช้างม่อย ถนนราชวิถี ถนนพระปกเกล้า ถนนอินทวโรรสและถนนสุเทพ เข้าสู่วัดสวนดอก เวลา 17 นาฬิกา พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ผู้แทนพระองค์เสด็จประทับ ณ วิหารหลวงวัดสวนดอก และเสด็จขึ้นพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ[6]

วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2477 เวลาเช้า พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงทอดผ้าไตรสามหาบของหลวง พระสงฆ์สดับปกรณ์ พนักงานประมวลพระอัฎฐิลงในพระโกศทองคำ ตั้งเหนือพานทอง 2 ชั้น เชิญจากพระเมรุไปประดิษฐานบนม้าหมู่ในวิหารหลวง แล้วประเคนภัตาหารสามหาบแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ฉันเสร็จ ถวายอนุโมทนา เป็นเสร็จการ[6]

ในการนี้จัดให้มีบัญชีสามหาบ ประกอบด้วย สำรับที่ 1 หม่อมราชวงศ์แถวธวัช ศรีธวัช (ผ้าไตร) นายถวิล ดารากร ณ อยุธยา (หาบ) สำรับที่ 2 หม่อมราชวงศ์จิระเดช กฤดากร (ผ้าไตร) นายร้อยตำรวจโท ขุนนครอุปการ (หาบ) สำรับที่ 3 หม่อมหลวงเจิม สุริยกุล (ผ้าไตร) นายชิน มาลากุล ณ อยุธยา (หาบ)[6]

พระกรณียกิจสำคัญ

พระราชชายาฯ มีพระกรณียกิจที่ทรงคุณเอนกอนันต์ต่อล้านนาและสยาม พอสังเขป ดังนี้

ทรงดำรงพระองค์เป็นศูนย์รวมดวงใจของข้าราชบริพารฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึง พระราชชายาฯ ซึ่งทรงออกพระนามว่า "เจ้าป้า" ตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งและประทับใจยิ่งนัก เวลาเห็นพระองค์ท่านประทับอยู่ในที่ว่าราชการ ท่ามกลางข้าราชการฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ จากที่เคยเห็นท่านดำรงพระองค์เรียบง่ายสงบคำเวลาประทับอยู่ในวังหลวง แต่ในที่นั่น พระองค์ท่านมีรับสั่งว่าราชการอย่างฉะฉาน เวลาตรัสกับข้าราชการฝ่ายเหนือก็ตรัสเป็นภาษาเหนือ เวลาตรัสกับข้าราชการฝ่ายใต้ก็ตรัสเป็นภาษาใต้ รับสั่งกลับไปกลับมาอย่างคล่องแคล่วยิ่งนัก เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของข้าราชการทุกหมู่เหล่าอย่างยิ่ง" นอกจากนั้น ยังทรงกล่าวตอนหนึ่งว่า "ฉันเคยพูดกับพวกฝรั่ง เขาว่านะว่า เจ้าเชียงใหม่ไม่เห็นจะทรงฉลาดซักเท่าไร เห็นจะมีแต่ พริ้นเซสออฟเชียงใหม่ ซึ่งหมายถึง พระราชชายาฯ นี่นะสิ ทรงฉลาดเหลือเกิน"

ทรงฟื้นฟูศิลปะด้านการแสดงล้านนา

ทรงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องดนตรีพื้นเมือง และศิลปะการแสดงพื้นเมืองนั้น ด้วยมีพระนิสัยโปรดเล่นดนตรีไทย ตั้งแต่ครั้งประทับอยู่ใน พระบรมมหาราชวัง ซึ่ง วงดนตรีไทยประจำพระตำหนักของพระราชชายา นั้น มีกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วฝ่ายใน เมื่อเสด็จมาประทับนครเชียงใหม่ โปรดให้รื้อฟื้นศิลปะการฟ้อนรำ การดนตรีพื้นเมืองทั้งหมด โปรดให้รวบรวมศิลปินล้านนาเก่าแก่มาเป็นบรมครูผู้ประสาทวิชาเพื่อสนับสนุนให้ความรู้แก่พระญาติและประชาชน รวมทั้งโปรดให้จัดการฝึกสอนขึ้นในพระตำหนัก พระญาติของพระองค์ต่อมาได้มีบทบาทในการสานต่อพระปณิธานดังกล่าว อาทิเช่น เจ้าเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติ และเจ้าสุนทร ณ เชียงใหม่ ผู้สืบทอดการผลิตเครื่องดนตรีและการเล่นดนตรีพื้นเมือง และทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพโปรดให้ครูช่างฟ้อนเมืองทุกแบบและฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาในวังมาสอนนักเรียนด้วยเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางนาฏศิลป์

ทรงฟื้นฟูศิลปะการทอผ้า

ทรงฟื้นฟูและส่งเสริมกิจการทอผ้าซึ่งเคยมีชื่อเสียงมาช้านานในล้านนา ได้ทรงรวบรวมผู้ชำนาญการทอผ้ายก ผ้าซิ่นตีนจก และฝึกสอนช่างทอ โดยสร้างโรงทอผ้าที่หลังตำหนักของพระองค์ มีกี่ทอผ้าประมาณ 20 หลัง ภายหลังพระญาติจากนครลำพูนได้มาศึกษาการทอผ้าซิ่นยกดอก และนำไปฝึกหัดคนในคุ้มหลวงที่ลำพูนจนมีความชำนาญ และได้สืบทอดต่อกันมาจวบจนปัจจุบัน กิจการด้านการทอผ้าได้แพร่หลายไปสู่หมู่ประชาชน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของเชียงใหม่และลำพูนมาตราบจนปัจจุบัน

ทรงสนับสนุนกิจการด้านการศึกษา

ทรงอุดหนุนการศึกษาของสงฆ์ และการศึกษาในโรงเรียนชายหญิงของนครเชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้ประทานที่ดินและทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้แก่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและโรงเรียนดาราวิทยาลัย โดยเฉพาะโรงเรียนดาราวิทยาลัยนั้นแต่เดิมเรียกว่าโรงเรียนสตรี ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าโรงเรียนพระราชชายา และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัย ตามพระนามของพระราชชายาฯ เมื่อ พ.ศ. 2452

ทรงสนับสนุนกิจการด้านพระศาสนา

นอกจากทรงอุดหนุนการศึกษาของสงฆ์แล้ว ทรงทำนุบำรุงศาสนา บูรณะวัดวาอารามต่างๆ มากมายทั่วนครเชียงใหม่ พระราชชายาฯ ได้ประทานที่ดินส่วนพระองค์อันเป็นที่ตั้งของ พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก บนดอยสุเทพ ถวายแก่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร นอกจากนั้น ได้ทรงรวบรวมพระอัฐิพระเจ้านครเชียงใหม่และแม่เจ้า มหาเทวีแต่ก่อนมาทุกพระองค์ กับทั้งอัฐิของพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือทั้งปวงซึ่งเป็นพระประยูรญาติของพระองค์ มาบรรจุรวมกันไว้ ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่วัดสวนดอก (พระอารามหลวง)

ทรงส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ ทรงริเริ่มการปลูกลำไย

พระราชชายาฯ ได้โปรดให้ใช้พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม เป็นแปลงทดลองการเกษตรส่วนพระองค์ขนาดใหญ่ โปรดให้เจ้าชื่น สิโรรส พระญาติสายราชวงศ์ทิพย์จักร มาดูแลควบคุมพัฒนาการเกษตร ทรงริเริ่มส่งเสริมการปลูกใบยาสูบเวอร์จิเนีย ใบชา ใบหม่อน ดอกไม้เมืองหนาว และกล้วยไม้ ทั่วนครเชียงใหม่และหัวเมืองใกล้เคียง นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงทดลองปลูกพืชใหม่ ๆ อยู่เสมอ เช่น ทรงทดลองปลูกกะหล่ำปลีสีม่วง แครอท แตงโมบางเบิด แคนตาลูป รวมทั้งลำไย ผลไม้ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ในปัจจุบัน พระองค์ท่านก็ทรงนำมาปลูกเป็นพระองค์แรก ที่สำคัญ ทรงให้มีการศึกษาพัฒนาด้านการเกษตรอยู่เสมอ และทรงเน้นการให้ความรู้การเกษตรสมัยใหม่เข้าถึงประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริง พระอัจฉริยะภาพและพระกรุณาธิคุณดังกล่าว ปรากฏให้เห็นถึงปัจจุบันที่ การปลูกใบชา ใบหม่อน กล้วยไม้ และลำไย กระจายอยู่ทั่วนครเชียงใหม่และเมืองใกล้เคียง ประชาชนต่างยึดถือเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เลี้ยงครัวเรือน

ประทานนามกุหลาบพันธุ์หนึ่ง ถวายแด่พระบรมราชสวามีว่า "จุฬาลงกรณ์"

พระราชชายาฯ ทรงเป็นเจ้านายสตรีชั้นนำของประเทศ ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชสมาคมกุหลาบแห่งประเทศอังกฤษ ทรงริเริ่มและสนับสนุนการปลูกกุหลาบทั่วนครเชียงใหม่ และหัวเมืองใกล้เคียง ภายหลังทรงพบกุหลาบขนาดใหญ่พันธุ์หนึ่ง ซึ่งมีสีชมพูระเรื่อ ส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา ทำให้ทรงหวนระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว จึงได้ประทานนามกุหลาบพันธ์นั้นตามพระนามในพระบรมราชสวามีว่า "จุฬาลงกรณ์" พระราชชายาฯ โปรดให้สร้างแปลงเพาะพันธุ์บน พระตำหนักม่อนจ๊อกป๊อก บนดอยสุเทพ ซึ่งมีอากาศเย็นทั้งปี เมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ ก็โปรดให้ปลูกกุหลาบจุฬาลงกรณ์โดยรอบพระตำหนัก และทรงตัดดอกถวายสักการะพระบรมราชสวามี ซึ่งต่อมาภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำกุหลาบจุฬาลงกรณ์มาเพาะพันธุ์และโปรดให้ปลูกประดับโดยรอบพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์

ที่ประทับ

ในระหว่างที่พระองค์รับราชการเป็นพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว และหลังจากที่พระองค์เสด็จประทับยังจังหวัดเชียงใหม่ พระองค์ประทับยังสถานที่ต่างๆ ดังนี้

พระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/หม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม/เพคะ
อักษรพระนามคู่ ดอ. คือ ดารารัศมี กับอินทวิชยานนท์

พระอิสริยยศ

  • 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 – 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 : เจ้าดารารัศมี
  • 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 – 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 : เจ้าจอมดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5
  • 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 – 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 : เจ้าจอมมารดาดารารัศมี ในรัชกาลที่ 5
  • 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2451 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 : เจ้าดารารัศมี พระราชชายา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พระองค์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของตระกูลต่าง ๆ ดังนี้[5]

ธงดารารัศมี

  • ดารารัศมี เป็นธงประจำพระองค์พระราชชายา เจ้าดารารัศมี มีพระนามย่อประดับรูปดาว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้น

พระอนุสรณ์

พงศาวลี

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. "พระประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี". สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2552, หน้า 376
  3. ภราดร ศักดา, เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 เจ้าดารารัศมีถวายตัวเป็นพระราชชายา ร.5, คอลัมน์ เปิดประตูลานนา, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, ปีที่ 56 ฉบับที่ 21 1 พฤษภาคม 2552, หน้า 43-44
  4. เนื่องในวโรกาสพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ ที่ 7 พฤศจิกายน 2553. [ม.ป.ท.]: ม.ป.พ.; 2553.
  5. 5.0 5.1 ราชกิจจานุเบกษา,ข่าวสิ้นพระชนม์, เล่ม 50, ตอน 0 ง, 31 ธันวาคม พ.ศ. 2476, หน้า 2811
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 หมายกำหนดการ ที่ ๒/๒๔๗๗ เรื่อง พระราชทานเพลิงพระศพ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ณ พระเมรุวัดสวนดอก นครเชียงใหม่ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๗ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๐ง วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๓฿฿ หน้า ๑๔๕
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐, ตอน ๓๕, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖, หน้า ๓๗๖
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญฝ่ายหน้า, เล่ม 43, ตอน0 ง, 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469, หน้า 3995
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน เก็บถาวร 2011-11-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 25, ตอน 39, 27 ธันวาคม พ.ศ. 2451, หน้า 1153
  10. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน, เล่ม 43, ตอน 0 ง, 12 ธันวาคม พ.ศ. 2469, หน้า 3301
  11. ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ (23 พฤศจิกายน 2553). "จุฬาฯ-เชียงใหม่เตรียมจัดงาน "วันเจ้าดารารัศมี พระราชชายา"". ASTVผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-25. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. ศรีรัญจวน (6 ตุลาคม 2557). พระราชชายา "ตอนที่ 39 รักดั่งดวงดาราแห่งเจ้าดารารัศมี พระราชชายา". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม
  • นงเยาว์ กาญจนจารี. ดารารัศมี พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี. เชียงใหม่ : สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์, พ.ศ. 2539.
  • หนานอินแปง. พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงแห่งเวียงพิงค์สู่ราชสำนักอย่างทรงเกียรติ. กรุงเทพฯ : ไพลินสีน้ำเงิน, พ.ศ. 2552.
  • ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง. เพ็ชร์ล้านนา (ครั้งที่ 2). เชียงใหม่ : ผู้จัดการ ศูนย์ภาคเหนือ, พ.ศ. 2538.
  • เจ้าวงศ์สัก ณ เชียงใหม่. คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่, เจ้าหลวงเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), พ.ศ. 2539.
  • คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์. นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], [ม.ป.ป.].

แหล่งข้อมูลอื่น