ข้ามไปเนื้อหา

สงครามปราบฮ่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามปราบฮ่อ

กองทัพสยามขณะปราบฮ่อ พ.ศ. 2418
วันที่พ.ศ. 2408 - 2433
สถานที่
ลาวตอนเหนือ, ภาคตะวันตกของเวียดนาม, ภาคเหนือของไทย
ผล
  • สยามได้รับชัยชนะ
  • กองกำลังฮ่อแตกพ่าย
คู่สงคราม

กบฏฮ่อ

สยาม

ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

ปวงนันชี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี

กำลัง
ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด 20,000-40,000

สงครามปราบฮ่อ เป็นการต่อสู้กับกลุ่มผู้ลี้ภัยกึ่งทหารชาวจีนที่บุกรุกพื้นที่ตังเกี๋ยและสยามระหว่างปี 2408–2433

สาเหตุของการปราบฮ่อ

[แก้]

พ.ศ. 2394 ฮ่อ หรือกองกำลังชาวจีน ที่ต่อต้านราชวงศ์แมนจู ได้ก่อการกบฏโดยเรียกกลุ่มตัวเองว่า กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว เพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากการปกครองของราชวงศ์แมนจูที่เป็นใหญ่ยึดครองประเทศจีนอยู่ในขณะนั้น จนเกิดการรบพุ่งกันเป็นการใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2405 พวกไท้ผิงพ่ายแพ้ต้องหลบหนีไปซุ่มซ่อนตัวตามป่าเขาในมณฑลต่าง ๆ ของจีน ทั้งในมณฑลยูนนาน ฝูเจี้ยน กวางไส กวางตุ้ง เสฉวน และส่วนหนึ่งหลบหนีมายังตังเกี๋ย ทางตังเกี๋ยจึงดำเนินการปราบปรามทำให้พวกฮ่อต้องหนีมาอยู่ที่เมืองซันเทียน

พ.ศ. 2408 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ขณะนั้นพวกฮ่อภายใต้การนำของ "ปวงนันชี" ซึ่งใช้ธงสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ ได้ซ่องสุมกำลังที่ทุ่งไหหิน และได้ประพฤติตนเป็นโจรเที่ยวปล้นบ้านเมืองในดินแดนสิบสองจุไทและเมืองพวน ซึ่งขณะนั้นถือเป็นอาณาเขตของฝ่ายไทย

การปราบปราม

[แก้]

ครั้งแรก

[แก้]

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พวกฮ่อภายใต้การนำของ "ปวงนันชี" ซ่องสุมกำลังที่หลวงพระบาง ทุ่งไหหินอยู่ในเมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของลาว เป็นกลุ่มโจรปล้นบ้านเมืองในดินแดนสิบสองจุไทและเมืองพวน ซึ่งขณะนั้นถือเป็นอาณาเขตของฝ่ายไทย

ครั้งที่ 2

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2417 กองกำลังฮ่อได้เตรียมกำลังออกเป็น 2 ทัพ ทัพที่ 1 จะเดินทัพลงมาที่เมืองเวียงจันทน์แล้วจะเข้าตีเมืองหนองค่าย(ชื่อเดิมของหนองคาย) ส่วนทัพที่ 2 จะเดินทัพไปทางหัวเมืองพันห้าทั้งหก จะเข้าตีเมืองหลวงพระบาง พ.ศ. 2418 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบข่าวศึกฮ่อ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) จัดส่งกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปปราบฮ่อที่ได้ยกกำลังล่วงล้ำเข้ามาจนถึงเมืองเวียงจันทน์

ครั้งที่ 3

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2426 ได้พบบันทึก การสร้างพระกริ่งปวเรศ รุ่น 1 ครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2426 เรียกกริ่งปราบฮ่อ ร.5 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ ในครั้งนี้ช่างสิบหมู่และโหรหลวงเป็นผู้ออกแบบ [1] ลักษณะอักษร "ปราบฮ่อ" อยู่บนฐานชั้น 2 ติดกับพระโสณี (ตะโพก) ด้านหลัง "ร5" ตัว "ร" หล่อติดระหว่างกลางฐาน 1 และ 2 ด้านซ้ายของกรีบบัวหลัง เลข "5" หล่อติดแนวเดียวกันทางด้านขวาของกรีบบัวหลัง จำนวนการสร้างไม่ได้กล่าวไว้

ในปี 2426 กองกำลังทหารของไทยได้รับมอบพระกริ่งปวเรศ รุ่น 1 พ.ศ. 2426 เพื่อความสวัสดี มีชัยปราศจากโรคภัยและกำจัดปัดเป่าอัปมงคล อันตราย ภัยพิบัติต่างๆให้กับกองทหารไทยที่ไปทำศึกสงครามปราบฮ่อ พ.ศ. 2426

พวกฮ่อยกมารุกรานเมืองหลวงพระบางอีก โปรดให้พระยาพิชัย (มิ่ง) พระยาสุโขทัย (ครุธ) คุมกำลังไปช่วยก่อน แล้วให้พระยาราชวรานุกูล (เอก บุญยรัตนพันธุ์) เป็นแม่ทัพยกตามไป ฮ่อได้ข่าวก็ถอยหนีไปปักหลักสู้ที่ค่ายทุ่งเชียงคำ ซึ่งมีแนวกอไผ่แน่นหนาเป็นป้อมปราการ ฝ่ายไทยตามไปถึง ก็ยิงปืนใหญ่เข้าใส่ แต่กระสุนติดกอไผ่ ทำอะไรพวกฮ่อไม่ได้ พระยาราชวรานุกูล ขัดใจยกกำลังบุกเข้าไปถูกฮ่อยิงด้วยปืนใหญ่เข้าที่ขาบาดเจ็บสาหัส รุกคืบหน้าไม่ได้ ก็ได้แต่ล้อมค่ายเอาไว้สองเดือน ฮ่อเริ่มอดอาหารบาดเจ็บล้มตาย แต่ยังไม่ยอมแพ้ การปราบปรามฮ่อของไทยดำเนินการอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2428 จึงได้ถอนกำลังจากทุ่งเชียงคำ กลับมายังเมืองหนองคาย เนื่องจากขาดเสบียงอาหาร และแม่ทัพคือพระยาราชวรากูลถูกฮ่อยิงบาดเจ็บ

ครั้งที่ 4

[แก้]
ธงจุฑาธุชธิปไตย ซึ่งใช้เป็นธงประจำกองทหารสยามในการปราบฮ่อครั้งที่ 4
จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อครั้งเป็นนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ แม่ทัพปราบฮ่อฝ่ายไทยใน พ.ศ. 2428 - 2430 (นั่งทางซ้าย) ถ่ายรูปคู่กับเจ้าราชวงศ์ (คำสุก) แห่งหลวงพระบางที่กองบัญชาการเมืองซ่อน

ในปี พ.ศ. 2428 ร.5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารที่ได้รับการฝึกหัดตามแบบยุโรปขึ้นไปปราบฮ่อ โดยจัดเป็นสองกองทัพคือกองทัพฝ่ายใต้และกองทัพฝ่ายเหนือ

กองทัพฝ่ายใต้มีนายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อในแคว้นเมืองพวน และได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย แล้วให้พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุนนาค) ยกทัพหน้าไปตีค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ พวกฮ่อได้หนีไปในเขตญวน กองทัพไทยจึงรื้อค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำเสีย

กองทัพฝ่ายเหนือมีนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) เป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อในแคว้นหัวพันห้าทั้งหก ยกกำลังออกจากกรุงเทพฯ พร้อมอาวุธแบบใหม่นอกจากช้าง ม้า โค ลาต่างและฬ่อ ก็ยังมีลูกแตกหรือลูกระเบิดและปืนกลที่สะดวกแก่การขนย้ายมากกว่าปืนใหญ่ โดยไปชุมนุมทัพที่เมืองพิชัยแล้วเดินทัพต่อไปยังเมืองน่าน แล้วยกกำลังไปถึงเมืองหลวงพระบาง จากนั้นได้เคลื่อนกำลังเข้าสู่แคว้นหัวพันห้าทั้งหก เมื่อปราบฮ่อในแคว้นนี้ได้แล้วจึงได้ยกกำลังไปปราบฮ่อในแคว้นสิบสองจุไท

พ.ศ. 2429 สามารถปราบฮ่อได้ราบคาบแล้วจึงยกกำลังกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2430 [2]

ผลของการปราบฮ่อ

[แก้]

เมื่อปีพุทธศักราช 2420 พระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เป็นเจ้าเมืองหนองคาย ได้เกิดศึกฮ่อขึ้นโดยพวกฮ่อได้ยกกองทัพเข้าตีเมือง เวียงจันทน์ในประเทศลาว แล้วตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ และตระเตรียมเสบียงอาหารไว้เพื่อโจมตี เมืองรายทางต่างๆ เรื่อยมาจนถึงเมืองหนองคาย ซึ่งขณะนั้นพระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายไม่อยู่ ได้มอบให้ท้าวจันทร์ศรีสุราชรักษาเมืองแทน พอได้รับข่าวศึก ก็มิได้มีการตระเตรียมกองทัพไว้สู้ศึก ทำให้ราษฎรพากันอพยพครอบครัวหนีออกจากเมือง ทำให้พวกฮ่อยกกองทัพเข้าเมืองหนองคายส่วนท้าวจันทน์ศรีสุราชได้พาครอบครัวหนีไปอยู่บ้านสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี และพระยา พิไสยสรเดช (หนู) เจ้าเมืองโพนพิสัยพร้อมด้วยกรมการเมืองก็พาราษฎรหนีออกจากเมืองไปเช่นเดียวกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ทรงทราบข่าวศึกฮ่อยกกองทัพเข้ามาตีเมืองหนองคาย จึงมีพระบรมราชโองการ ให้พระยามหาอำมาตย์ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปปราบฮ่อที่เมืองอุบลราชธานีอยู่แล้ว ยกกองทัพเข้าเมืองหนองคายและสั่งให้จับ ท้าวจันทน์ศรีสุราช กับพระยาพิไสยสรเดชประหารชีวิตเสียทั้งคู่ จากนั้นพระยามหาอำมาตย์ จึงได้เกณฑ์กำลังจากเมือง นครพนม มุกดาหาร เขมราช นครราชสีมา และร้อยเอ็ดมาสมทบกันที่เมืองหนองคาย แล้วยกกองทัพออกไปตีพวกฮ่อจนถึงเมืองเวียงจันทน์ พวกฮ่อพ่ายแพ้ พากันหนีเข้าป่าไปเมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว พระยามหาอำมาตย์จึงได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเวียงจันทน์มาเป็นเชลยลงมาไว้ที่เมืองหนองคาย แล้วจึงยกกองทัพกลับกรุงเทพ ฯ

อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ หน้าศาลากลางจังหวัดหนองคายหลังเดิม

ในปีพุทธศักราช 2427 พวกฮ่อรวบรวมกำลังกันได้ก็ยกกองทัพเข้าโจมตีเมืองต่างๆ อีกทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนอยู่เนืองๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้มหาดไทยเมืองนครราชสีมายกกองทัพไปปราบพวกฮ่อ จนแตกหนีไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองขวาง และทุ่งเชียงคำ

ในปีพุทธศักราช 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนุกูล และพระยา ศรีสุริยราชวรานุวัตร ยกกองทัพขึ้นไปปราบพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ เมื่อวันพุธ ขึ้น 14 ค่ำเดือน 4 เวลาประมาณ 2 โมงเช้า การรบถึงขั้น ตะลุมบอลพวกฮ่อสู้ไม่ได้จึงถอยหนีไป พระยาราชนุกูลถูกลูกปืนของข้าศึกแข้งแตกเดินไม่ได้ ในเวลา 4 โมงเย็น พวกฮ่อรวบรวมกำลังกัน ยกกองทัพมาตีเพื่อยึดค่ายคืนอีกแต่ไม่สำเร็จ กองทัพไทยยกเข้าไปล้อมพวกฮ่อไว้นาน 7 วัน พวกฮ่อจึงขอเจรจาสงบศึกโดยขอให้ไทย ยกกองทัพกลับ แล้วจะมอบสิ่งของในค่ายฮ่อให้ครึ่งหนึ่ง แต่กองทัพไทยไม่ยอมเพราะไม่ไว้ใจพวกฮ่อ

เพื่อให้การปราบพวกฮ่อเป็นไปอย่างรวดเร็วเด็ดขาด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ "กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม" คุมกองทัพ ขึ้นไปสมทบ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงดำรัสให้พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุญนาค) ม.ร.ว.วรุณ พระยาสุริยเดช พระราชวรรินทร์ และพระเจริญราชอาณาเขตยกกองทัพไปสมทบ กองทัพไทยได้เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายของพวกฮ่อจนฮ่อแตกหนีไป กองทัพจึงได้ยก กองทัพกลับเมืองหนองคาย เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ สงบเรียบร้อยแล้ว กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงโปรด ให้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อขึ้นที่ เมืองหนองคาย เพื่อบรรจุอัฐิทหารจากกรม กองต่างๆ ที่เสียชีพเพื่อชาติในครั้งนั้น ดังนี้

ปางนี้จักแสดง พจน์พร้อมผู้ภักดี ในอนุสาวรีย์ ไว้เป็นที่ระลึกตาม ผู้กอปรด้วยภักดี ดังอาภรณ์ประดับงาม ชีพมลายขจรนาม ปรากฏเกียรตินิรันดร สูญสุริย์จันทร จึงจะสูญซึ่งความดี วายชีพทำการกิจ โดยความสวามี ภักดีต่อชุลี ละอองบาททบมาลย์ ปวงปราชญ์คงจักซ้อง ศรับแล้วสาธุการ นับว่าเป็นทัยสูญ ขมีขลาดขยาดขย่อน องอาจต่อราชกิจ มิได้คิดแต่ความมรณ์ คณะเทพไตรสร จักชูช่วยอำนวยผล นำขันธ์เสวยสุข นฤทุกข์บ่ได้ยล สุขขกิจจงจักดล ประโลกยับแปรปรวน สุดท้ายมีคำจารึกไว้ว่า "อนุสาวรีย์นี้ได้เปิดแต่ศักราช 1247 ควบ 1248 พุทธศักราชล่วงแล้ว"[3]

บำเหน็จในการสงคราม

[แก้]

อนุสรณ์

[แก้]

อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เป็นอนุสรณ์สถานที่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้โปรดให้จัดสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของเหล่าทหารจากกรมกองต่างๆ ที่เสียสละชีวิต เพื่อป้องกันประเทศชาติในการปราบพวกฮ่อครั้งนั้น ประกอบด้วย กรมทหารอาสาวิเศษ กรมแปดเหล่า กรมฝรั่งแม่นปืน กรมทหารมาลา กรมสัสดี กรมเรือต้น กรมทหารมหาดเล็กและกรมการหัวเมือง โดยตั้งอยู่ที่ด้านข้างทางทิศตะวันตก ของสถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย ในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 จังหวัดหนองคายได้รับงบประมาณทำการบูรณปฏิสังขรณ์อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ โดยได้ย้ายมาก่อสร้างองค์ใหม่ ขึ้นที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดหนองคาย(หลังเก่า)มีลักษณะเป็นศิลปะประยุกต์ แบบทรงสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน มีฐานเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม กว้าง 4เมตร สูง10.10 เมตร ยอดทรงกรวยเหลี่ยมปลายแหลม และได้คัดลอกข้อความจากอนุสาวรีย์องค์เดิมมาไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยในวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี จังหวัดหนองคาย จะประกอบพิธีบวงสรวง ขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวจังหวัดหนองคาย และเป็นการระลึกถึงวีรกรรมอันหาญกล้าของบรรพบุรุษ ที่ต่อสู้ปกป้องแผ่นดินให้พ้นจากการรุกรานของพวกฮ่อ[3]

การดัดแปลงในสื่อ

[แก้]
ฉากไตเติ้ลของภาพยนตร์เรื่อง "ปักธงไชย" พ.ศ. 2500

อ้างอิง

[แก้]
  1. สงครามปราบฮ่อ สมัย ร.5 มรว. แสงโสม เกษมศรี ประวัติศาสตร์ไทย ปี 2503
  2. ราชกิจจานุเบกษา,พระราชทานบำเหน็จความชอบ เก็บถาวร 2011-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,หน้า 263, เล่ม 4, 30 พฤศจิกายน 2430
  3. 3.0 3.1 อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ. "ประวัติสงครามปราบฮ่อ". สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-13. สืบค้นเมื่อ 2010-12-21.
  4. ปักธงไชย (1958) - เว็บไซต์สยามโซน

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]