ข้ามไปเนื้อหา

ศาสนากรีกโบราณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเขียนสีแดงทีมิสกับเอจยูส บนถ้วยไคลิกซ์ศิลปะเอเธนส์ สมัย 440–430 ปีก่อนคริสตกาล

ศาสนาที่นับถือปฏิบัติในกรีซโบราณประกอบด้วยชุดความเชื่อ พิธีกรรมและประมวลเรื่องปรัมปรา เป็นความเชื่อแบบพหุเทวนิยม ชาวกรีกโบราณส่วนใหญ่รู้จักเทพเจ้าแห่งโอลิมปัส 12 องค์ ได้แก่ ซูส ฮีรา โพไซดอน ดิมีเทอร์ อะธีนา แอรีส แอโฟรไดที อะพอลโล อาร์เตมิส ฮิฟีสตัส เฮอร์มีส และเฮสเตียหรือไดอะไนซัส แม้ว่านักปรัชญาบางกลุ่มอย่างลัทธิสโตอิกและลัทธิเพลโตจะใช้ภาษาที่สื่อถึงเทพระดับอุตรภาพองค์เดียว การบูชาเทพโอลิมปัสและองค์อื่น ๆ พบได้ทั่วไปในอารยธรรมกรีกโบราณ โดยเทพเหล่านี้มักมีฉายาที่พรรณนาถึงคุณลักษณะ รวมถึงสะท้อนการรับเทพท้องถิ่นเข้ามาในวัฒนธรรมของตน

ศาสนากรีกโบราณไม่มีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์หรือได้รับการถ่ายทอดจากพระเป็นเจ้า อย่างไรก็ตามวรรณกรรมกรีกโบราณที่เก่าแก่มาก เช่น อีเลียด และ โอดิสซีย์ ของโฮเมอร์ ธีออโกนี และ งานและวัน ของเฮสิโอด และศังสกานท์ของพินดาร์มีส่วนในการพัฒนาความเชื่อยุคหลัง[1] ศาสนากรีกโบราณไม่มีตำนานกำเนิดจักรวาล แต่ละกลุ่มมีความเชื่อว่าโลกถูกสร้างขึ้นแตกต่างกันไป ตำนานหนึ่งบรรยายใน ธีออโกนี ว่าเดิมมีเพียงเทพดึกดำบรรพ์นามเคออส จากนั้นจึงเกิดเทพอย่างไกอา ทาร์ทารัส เอียรอส ซึ่งให้กำเนิดกลุ่มเทพไททัน และต่อมาเทพไททันให้กำเนิดกลุ่มเทพโอลิมปัส[2] ศาสนากรีกโบราณมีประมวลเรื่องปรัมปราที่กว้างขวางและตำนานวีรบุรุษจำนวนมาก เช่น ภารกิจ 12 ประการของเฮราคลีส การเดินทางกลับบ้านของโอดิสเซียส การค้นหาขนแกะทองคำของเจสัน และธีซีอัสปราบมินะทอร์

ศาสนากรีกโบราณเชื่อในโลกหลังความตายที่เป็นที่อาศัยของวิญญาณ แนวคิดแรก ๆ (ใน อีเลียด และ โอดิสซีย์) เชื่อว่าเมื่อเสียชีวิต วิญญาณของผู้เสียชีวิตจะถูกส่งไปยังยมโลกโดยไม่แบ่งแยก[3] ก่อนที่แนวคิดยุคหลัง (ปรัชญาลัทธิเพลโต) จะเสริมว่ามีการแยกวิญญาณผู้ทำดีและผู้ทำชั่วออกจากกัน[4] ยมโลกเป็นพื้นที่มืดมิดปกครองโดยเฮดีส[5][6] แตกต่างจากโลกมนุษย์ที่มีแสงอาทิตย์ และเขาโอลิมปัสที่อากาศสดใส[7][8] นอกจากยมโลกแล้ว ยังมีทาร์ทารัสซึ่งเป็นเหวลึกสำหรับทรมานและลงโทษผู้ทำชั่ว และอีลิเซียมซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนของวิญญาณผู้ทำดี ปรัชญากรีกโบราณมีแนวคิดการกลับชาติมาเกิดที่เรียกว่า เมเตมไซโคซิส (metempsychosis) ซึ่งมีการสั่งสอนในลัทธิออร์ฟิสม์[9] ลัทธิพีทาโกรัส[10] และลัทธิเพลโต[11]

ทั้งนี้การใช้คำว่า "ศาสนา" ในการอธิบายความเชื่อสมัยโบราณอาจเป็นการผิดกาละ[12] เนื่องจากชาวกรีกโบราณไม่มีคำว่า "ศาสนา" อย่างในความหมายสมัยใหม่ นอกจากนี้ไม่มีนักเขียนสมัยกรีกโบราณคนใดบรรยายการบูชาเทพหรือสิ่งเคารพว่าเป็นศาสนา[13] ตัวอย่างเช่น เฮอรอโดทัสกล่าวว่าชาวกรีกมี "แท่นบูชาทั่วไปสำหรับเทพและการบูชายัญ และธรรมเนียมปฏิบัติที่คล้ายกัน"[14]

การนับถือศาสนากรีกโบราณแผ่ขยายจากกรีซแผ่นดินใหญ่ไปถึงไอโอเนีย อานาโตเลีย มังนาไกรกิอาและมาร์แซย์ ศาสนาในอิตาลีช่วงต้นอย่างศาสนาอิทรัสคันได้รับอิทธิพลจากศาสนากรีกโบราณ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อไปยังศาสนาโรมันโบราณ[15]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Burkert (1985), Introduction:2; Religions of the ancient world: a guide
  2. Wasson, Donald L. (December 19, 2017). "Theogony". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ September 2, 2022.
  3. Homer's Iliad & Odyssey
  4. Garland, Robert (2001). The Greek way of death (2nd ed.). Ithaca, NY: Cornell Univ. Press. pp. 60–61. ISBN 978-0-8014-8746-0.
  5. Long, J. Bruce (1989). "The Underworld". ใน Sullivan, L (บ.ก.). Death, Afterlife, and the Soul. New York, NY: MacMillan. p. 164.
  6. Cousin, C (2012). Le monde des morts: Espaces et paysages de l'au-delà dans l'imaginaire grec d'Homère à la fin du Ve siècle avant J.-C: étude littéraire et iconographique (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: L'Harmattan. pp. 124–134.
  7. Sourvinou-Inwood, Christiane (1995). 'Reading Greek death': To the end of the Classical Period. Oxford, UK: Clarendon Press. p. 72.
  8. Homer Odyssey 6.44-45.
  9. Proclus, Commentary on the Republic of Plato, II, 338, 17 Kern 224.
  10. Charles H. Kahn (2001). Pythagoras and the Pythagoreans. Hackett Publishing. p. 52. ISBN 9781603846820.
  11. Plato. Republic, Book 10, section 620.
  12. Barbette Stanley Spaeth (2013). The Cambridge companion to ancient Mediterranean religions. New York. ISBN 978-0-521-11396-0. OCLC 826075990.
  13. Esther Eidinow; Julia Kindt (2017). The Oxford handbook of ancient Greek religion. Oxford, United Kingdom. ISBN 978-0-19-881017-9. OCLC 987423652.
  14. Warrior, Valerie M. (2009). Greek religion : a sourcebook. Newburyport, MA: Focus. ISBN 978-1-58510-031-6. OCLC 422753768.
  15. Cartwright, Mark (January 30, 2017). "Etruscan Religion". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ September 2, 2022.