พรรคประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์ | |
---|---|
ผู้ก่อตั้ง | ควง อภัยวงศ์ |
หัวหน้า | เฉลิมชัย ศรีอ่อน |
รองหัวหน้า |
|
เลขาธิการ | เดชอิศม์ ขาวทอง |
รองเลขาธิการ | |
เหรัญญิก | เจิมมาศ จึงเลิศศิริ |
นายทะเบียนสมาชิก | วิรัช ร่มเย็น |
โฆษก | เจนจิรา รัตนเพียร |
รองโฆษก |
|
กรรมการบริหาร |
|
ผู้อำนวยการ | ธนิตพล ไชยนันทน์ |
รองผู้อำนวยการ | อาภรณ์ รองเงิน |
นายกรัฐมนตรี (นับเฉพาะการได้รับตำแหน่งขณะเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์) | ควง อภัยวงศ์ (2490–2491) หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช (กุมภาพันธ์–มีนาคม 2518, เมษายน–ตุลาคม 2519) ชวน หลีกภัย (2535–2538, 2540–2544) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2551–2554) |
คำขวัญ | สจฺจํ เว อมตา วาจา (คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย)[1] |
คติพจน์ | อุดมการณ์ ทันสมัย[2] |
ก่อตั้ง | 6 เมษายน พ.ศ. 2489 |
รวมตัวกับ | พรรคประชาธิปไตย พรรคก้าวหน้า[3] |
ที่ทำการ | 67 ถนนเศรษฐศิริ 2 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร[4] |
ฝ่ายเยาวชน | ยุวประชาธิปัตย์[5] |
สมาชิกภาพ (ปี 2567) | 85,517 คน[6] |
อุดมการณ์ | |
จุดยืน | กลาง[13][14][15] ถึงขวากลาง[21] |
สี | สีฟ้า |
เพลง | ประชาธิปัตย์มาแล้ว (2562) เช้าวันใหม่ (2566) |
สภาผู้แทนราษฎร | 25 / 495 |
สภากรุงเทพมหานคร | 9 / 50 |
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด | 0 / 76 |
เว็บไซต์ | |
democrat | |
การเมืองไทย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ |
พรรคการเมืองหลักที่เกี่ยวข้อง
|
การเมืองไทย • ประวัติศาสตร์ไทย |
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ |
ชนวนเหตุ
|
พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง
|
องค์กร กลุ่มบุคคล ที่เกี่ยวข้อง
|
การเมืองไทย • ประวัติศาสตร์ไทย |
พรรคประชาธิปัตย์ (อังกฤษ: Democrat Party; ชื่อย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม ปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม[10][12] และสนับสนุนกลไกตลาด[7][22]
พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในปี พ.ศ. 2491, พ.ศ. 2519, กันยายน พ.ศ. 2535, พ.ศ. 2540, และธันวาคม พ.ศ. 2551 และหลังจากนั้นก็ไม่เคยได้เสียงข้างมากในสภาอีกเลย โดยฐานเสียงของพรรคส่วนใหญ่คือภาคใต้และกรุงเทพฯ แม้ว่าผลการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ จะผันผวนมากก็ตาม
ประวัติ
พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งโดย ควง อภัยวงศ์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 แต่พรรคถือว่าวันที่ 6 เมษายน ซึ่งตรงกับวันจักรีเป็นวันก่อตั้งพรรค โดยเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมและกษัตริย์นิยม หลังการเลือกตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2489 โดยสมาชิกในยุคแรกๆ ได้แก่ กลุ่มกษัตริย์นิยมที่ต่อต้าน ปรีดี พนมยงค์ และอดีตขบวนการเสรีไทย ซึ่งพรรคต้องแข่งขันกับพรรคที่สนับสนุนนายปรีดี เช่น พรรคสหชีพ และ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ
โดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์นำพรรคก้าวหน้าของตนมารวมกับพรรคประชาธิปไตยของโชติ คุ้มพันธ์ แล้วให้ชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นจึงเดินทางไปพบ ควง อภัยวงศ์ ที่บ้านหน้าสนามกรีฑาสถานแห่งชาติ เพื่อให้ควงรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์[23]
ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค
- หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
- เลียง ไชยกาล
- ปริญญา จุฑามาศ
- สุวิชช พันธเศรษฐ
- โชติ คุ้มพันธ์
- ชวลิต อภัยวงศ์
- อินฑูร วรกุล
- บุญเท่ง ทองสวัสดิ์
- ฟอง สิทธิธรรม
- เล็ก นานา
บทบาททางการเมือง
พ.ศ. 2489
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มกราคม พ.ศ. 2489 กลุ่มพันธมิตรที่นำโดยปรีดีได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม ปรีดีปฏิเสธการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐสภาได้แต่งตั้งพันตรีควงเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 และภายหลังการจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคมี สส. จำนวนทั้งสิ้น 46 คน
ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2489 พันตรีควง ลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ หลังจากแพ้โหวตในร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดย ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สส. อุบลราชธานี ด้วยคะแนน 65–63 เสียง
ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเพิ่มเติม สิงหาคม พ.ศ. 2489 ภายหลังจากที่ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมขึ้น โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ สส. เพิ่มเพียง 16 คน แต่ สส. ในสภาโดยรวมมีทั้งสิ้น 62 คน ซึ่งถือว่ามีมากที่สุด แต่ก็ต้องสูญเสีย สส. นับสิบในปีถัดมา เนื่องจาก เลียง ไชยกาล นำ สส. จากพรรคไปจัดตั้ง พรรคประชาชน
รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492
เมื่อถึงการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายกษัตริย์นิยมอย่างหม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล, พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล), เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา), พระยาบริรักษ์เวชชการ (ไล่ฮวด ติตติรานนท์) และนายศรีเสนา สมบัติศิริ ยกเว้นหม่อมเจ้าอุปาลีสาณ ทั้ง 4 คนกลายเป็นองคมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพรรคที่ร่วมกับนายปรีดียังคงได้รับเสียงข้างมากในสภา นายปรีดีได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ภายหลังลาออก รัฐสภาจึงเลือก พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ด้วยปัญหาหลายประการทำให้คณะนายทหารที่นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ นายทหารนอกราชการทำรัฐประหารยึดอำนาจและโค่นล้มรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
คณะรัฐประหารจึงได้เชิญพันตรีควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือน[24] ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงข้างมากเป็นครั้งแรก และรัฐสภาเลือกพันตรีควงกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ต่อมาทหารกลุ่มเดิมทำรัฐประหารอีกครั้งโดยบังคับให้พันตรีควงลาออกจากตำแหน่งและเชิญจอมพลแปลก พิบูลสงครามกลับคืนสู่อำนาจและเป็นนายกรัฐมนตรี
เสียสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2518 พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวน สส. 72 คน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีโดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคเกษตรสังคม และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม แต่ได้คะแนนเสียงสนับสุนนเพียง 103 คน ไม่ถึงครึ่งของสภา (135 คน) โดยรัฐธรรมนูญสมัยนั้น กำหนดว่า การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถึงวันแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภา วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518 ปรากฏว่า รัฐบาลของเสนีย์ได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 111 เสียง ถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนผู้แทนราษฎร เสนีย์และพรรคจึงแสดงความรับผิดชอบ โดยการลาออก และสละสิทธิ์การตั้งรัฐบาล
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมในขณะนั้น ซึ่งมี ส.ส.ในสภาเพียง 18 เสียง สามารถรวบรวม ส.ส.พรรคต่าง ๆ รวม 8 พรรค ได้ 135 เสียง กลายเป็นเสียงข้างมากของสภา และคึกฤทธิ์ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นฝ่ายค้าน[25] [26][27]
การชนะเลือกตั้งของชวน หลีกภัย
ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส. 44 คน ประกาศเป็นพรรคฝ่ายค้านร่วมกับ พรรคความหวังใหม่, พรรคพลังธรรม, พรรคเอกภาพ, พรรคปวงชนชาวไทย, และพรรคมวลชน จนสื่อมวลชนให้ฉายาว่า พรรคเทพ เพราะต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
หลังจากเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ตามมาด้วยการยุบสภา มีการจัด การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535 โดยกระแสต่อต้านระบอบเผด็จการนั้นยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมถูกเปลี่ยนจากผู้นำในการสู้กับเผด็จการ กลายเป็นการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่นำพาคนไปเสียชีวิตในการชุมนุมประท้วง ด้วยวาทะกรรม จำลองพาคนไปตาย โดยพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น มีชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ได้ออกวาทกรรม “ผมเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” ประกาศไม่เอาการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ รสช. และไม่เอาท่าทีแข็งกร้าวแบบจำลอง ศรีเมือง[28]
ภายหลังการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์มี สส. 79 คน กลายมาเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งในรอบ 16 ปี โดยมีการเชิญอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านมาจัดตั้งรัฐบาลด้วย และชัยชนะในครั้งนั้น เป็นครั้งล่าสุดที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง
ได้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง
ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 พรรคประชาธิปัตย์ได้ สส. 123 เสียง แพ้ พรรคความหวังใหม่ ไปเพียง 2 เสียง ชวนประกาศตัวเป็นพรรคฝ่ายค้านทันที ถึงแม้จะมีสมาชิกในพรรคไม่เห็นด้วยก็ตาม[29]
แต่ภายหลังการลาออกของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จากวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็ได้มีการลงคะแนนอีกครั้ง ซึ่งรอบนี้มีผู้เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 คน คือ ชวน หลีกภัย และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และด้วยความช่วยเหลือจากพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้นทำให้สามารถได้เสียงจาก สส. กลุ่มงูเห่า จากพรรคประชากรไทยลงคะแนนให้ จนทำให้ชวนได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย และได้กลายมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี พรรคชาติไทย, พรรคกิจสังคม, พรรคประชากรไทย (กลุ่มงูเห่า), พรรคเอกภาพ, พรรคเสรีธรรม, พรรคพลังธรรม, และพรรคไท ร่วมรัฐบาล และได้ทาบทาม พรรคชาติพัฒนา มาร่วมรัฐบาลในปี พ.ศ. 2541
การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548
ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้แนวทางการหาเสียงว่า "เลือกให้ถึง 201 ที่นั่ง" และ "ทวงคืนประเทศไทย" อันเนื่องจากต้องการสัดส่วนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรให้ถึง 200 ที่นั่ง เพื่อที่ต้องการจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540[30]
แต่ภายหลังการเลือกตั้ง พรรคได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับสองในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีจำนวนที่นั่ง 96 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง) มีฐานเสียงใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ โดยพรรคได้เสียงจากภาคใต้ถึง 52 ที่นั่งจาก 54 ที่นั่ง ได้รับคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ 7,210,742 เสียง อย่างไรก็ตามพรรคไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักในส่วนอื่น ๆ ของประเทศ (ยกเว้นในเขตกรุงเทพมหานคร ที่คะแนนเสียงแปรผันไปตามสถานการณ์ทางการเมืองแต่ละสมัย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 พรรคฯ ได้เสียงจากกรุงเทพเพียง 4 ที่นั่ง จาก 37 ที่นั่ง โดยที่พรรคคู่แข่งคือ พรรคไทยรักไทย ได้ถึง 32 ที่นั่ง) ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับพรรคเสรีนิยมของสหราชอาณาจักรที่ผู้สนับสนุนอย่างเหนียวแน่นส่วนใหญ่จะอยู่ในแคว้นสก็อตแลนด์ คือเป็นลักษณะภูมิภาคนิยม ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนสูงถึง 136 ที่นั่ง แต่พรรคได้รับเลือกเพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น
ใน สภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 22 พรรคประชาธิปัตย์ได้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ 6 คณะ ดังต่อไปนี้
- คณะกรรมาธิการการตำรวจ มี นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สส.พัทลุง เป็นประธาน
- คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง มี นคร มาฉิม สส.พิษณุโลก เป็นประธาน
- คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ มี ประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ สส.ยะลา เป็นประธาน
- คณะกรรมาธิการติดตามมติสภา มี วินัย เสนเนียม สส.สงขลา เป็นประธาน
- คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มี สุวโรช พะลัง สส.ชุมพร เป็นประธาน
- คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข มี ธีระ สลักเพชร สส.ตราด เป็นประธาน
คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549
ช่วงวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมอีก 2 พรรค คือ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ด้วยการไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง โดยมีเหตุผลว่ารัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ยุบสภา โดยไม่ชอบธรรม และต่อมามีคำวินิจฉัยของศาลให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นโมฆะ เนื่องจาก กกต. จัดการเลือกตั้งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น มีการหันคูหาเลือกตั้งที่ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นการลงคะแนนลับ
ในช่วงเวลาเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการฟ้องร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในขณะนั้น ให้ดำเนินคดียุบพรรคไทยรักไทย เนื่องจากกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยมีการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ร้อยละ 20 ตามกฎหมาย และพรรคประชาธิปัตย์มีพยานบุคคลจากพรรคเล็กยืนยัน แต่ต่อมาพยานดังกล่าวได้กลับคำให้การกลางคัน และพรรคไทยรักไทยที่เป็นผู้ต้องหาในคดีกลับฟ้องร้องต่อ กกต. ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยกล่าวหาว่ามีการจ้างพรรคเล็กให้ใส่ร้ายพรรคไทยรักไทย และมีพฤติกรรมที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงมีการนำคดีขึ้นสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อมาภายหลังการ รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดย คปค. ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายตุลาการคือ ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น รับโอนอรรถคดีจากศาลรัฐธรรมนูญมาดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป จนกระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ และมีมติให้ยุบ พรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กที่ถูกฟ้องร่วมในคดี และวินิจฉัยให้ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กทั้งหมด เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์ว่ากรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งจริง และขณะเดียวกันไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กให้ใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยหรือมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองตามฟ้องแต่อย่างใด
การเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 และรัฐบาลเงา
หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พรรคประชาธิปัตย์ถูกงดกิจกรรมทางการเมืองชั่วคราว จนกระทั่งได้มีกำหนดการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอนโยบายบริหารประเทศชื่อว่า "วาระประชาชน" ใจความสำคัญว่า "ประชาชนต้องมาก่อน" ในการรณรงค์เลือกตั้ง โดยได้เสนอต่อสาธารณะนับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2549 มีกลุ่มนโยบาย 4 หัวข้อใหญ่
ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้อันดับ 2 รวม 165 ที่นั่ง รองจากพลังประชาชนได้คะแนนอันดับ 1 ที่ได้ 232 ที่นั่ง โดยพรรคประชาธิปัตย์แบ่งตามภาคได้ดังนี้
เขตพื้นที่ | จำนวนที่นั่ง | ได้ |
---|---|---|
กรุงเทพมหานคร | 36 | 27 |
กลาง | 98 | 35 |
ตะวันออกเฉียงเหนือ | 135 | 5 |
ใต้ | 56 | 49 |
เหนือ | 75 | 16 |
สัดส่วน | 80 | 33 |
รวม | 480 | 165 |
พรรคพลังประชาชนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ คือ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราช โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย[ต้องการอ้างอิง]
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ประกาศจัดตั้ง "รัฐบาลเงา" หรือ "ครม.เงา" เพื่อตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลและนำเสนอแนวทางการบริหารประเทศควบคู่ไปกับการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบ "คณะรัฐมนตรีเงา" ใน "ระบบเวสมินสเตอร์" ของอังกฤษขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดยมีเว็บไซต์ www.shadowdp.com เก็บถาวร 2019-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ในการเผยแพร่การปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.เงา
พลิกจัดตั้งรัฐบาล
ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล (พรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทย, และพรรคมัชฌิมาธิปไตย) และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งส่งผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องพ้นจากตำแหน่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมโดยร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ คือ พรรคเพื่อแผ่นดิน, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา, พรรคภูมิใจไทย, และพรรคกิจสังคม (ภายหลังพรรคมาตุภูมิได้เข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแทนพรรคเพื่อแผ่นดิน) พร้อมกับสนับสนุนให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ชนะพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดิน ด้วยคะแนน 235 ต่อ 198 เสียง ในการลงมติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และได้จัดตั้งรัฐบาลผสม เป็นคณะรัฐมนตรี คณะที่ 59 ของไทย
คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. 2553
อภิชาต สุขัคคานนท์ นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหาว่า ใน พ.ศ. 2548 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเงินบริจาค จำนวนสองร้อยห้าสิบแปดล้านบาท จาก บริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) แต่ไม่แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทราบ และใช้จ่ายไปโดยผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ซึ่งเงินจำนวนยี่สิบเก้าล้านบาท ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดสรรให้จากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 66 อนุมาตรา (2) และ (3) จึงขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ และตัดสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 98[31][32]
คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ด้วยมติสี่ต่อสองว่า กฎหมายกำหนดให้ผู้ร้องยื่นคำร้องมาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ปรากฏแก่ตนว่าผู้ถูกร้องฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นเหตุให้ถูกยุบได้ ทว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องมาล่วงระยะเวลาสิบห้าวันดังกล่าวนี้ จึงไม่ชอบที่จะพิจารณาวินิจฉัยคำร้องสืบไป และให้ยกคำร้อง[33]
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2554
หลังจากที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศยุบสภาในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เพื่อให้จัดตั้งการเลือกตั้งทั่วไป และหลังจากที่ พรรคประชาธิปัตย์ได้แพ้การเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2554 อภิสิทธิ์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และเป็นเหตุให้คณะเลขาธิการพรรค รองหัวหน้าพรรค ที่ปฏิบัติหน้าที่นั้น ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด หลังจากนั้นได้มีการลงคะแนนเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ และผลออกมาในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554 หลังอภิสิทธิ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้รับเลือกให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง พ.ศ. 2556
หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีท่าทีครึ่งๆ กลางๆ ต่อรัฐประหารเมื่อปี 2557 แม้เขาโพสต์ลงเฟซบุ๊กขออภัยที่ไม่สามารถผลักดันแผนปฏิรูปประเทศและปกป้องประชาธิปไตยได้[34] และพร้อมร่วมคัดค้านรัฐประหาร หาก คสช. ไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะปฏิรูปอะไรและประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร และมีผู้รักประชาธิปไตยที่แท้จริงเสนอประชาธิปไตยที่ดีกว่า[35] แต่เขาก็โพสต์สนับสนุนให้ คสช. ใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นเพื่อรับมือกับการต่อต้านรัฐประหาร[36] ขณะที่นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ประยุทธ์ควรเป็นนายกรัฐมนตรี ควรใช้อำนาจเด็ดขาด อย่าเป็นนักประชาธิปไตยเหมือนสุรยุทธ์ จุลานนท์ อย่าสนใจคำครหานินทาว่ามาจากรัฐประหาร หากทำดี แก้ปัญหาได้ ทำประเทศปรองดองได้ ทุกคนจะสรรเสริญ[37]
ในปี 2561 พรรคประชาธิปัตย์จัดการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ผลปรากฏว่าอภิสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย[38]
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 อภิสิทธิ์ย้ำว่าจะไม่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเขาไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ[39][40] ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนมหาชน 3.9 ล้านเสียง ส.ส. 52 ที่นั่ง ซึ่งน้อยกว่าพรรคเกิดใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่ ในคืนเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลังค่อนข้างแน่ชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส. ไม่ถึง 100 ที่นั่ง[41] หลายคนคาดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ[42]
จะมีการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 มีผู้สมัคร 4 คน ได้แก่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร[43] หนังสือพิมพ์ มติชน เขียนว่า จุรินทร์และกรณ์เป็นตัวเต็ง โดยจุรินทร์มีโอกาสมากกว่าเนืองจากชวน หลีกภัย ผู้มีบารมีในพรรค สนับสนุน เป็นนักการเมืองจากภาคใต้และเลือกเลขาธิการพรรคจากภาคตะวันออก ซึ่งจะมาเชื่อมระหว่างภาคใต้และภาคกลาง[44] ทั้งนี้ กรณ์, อภิรักษ์ และพีระพันธุ์มองว่ามีความเป็นไปได้ที่พรรคจะร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ[45] ผลปรากฏว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่[46]
ต่อมามีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์เจรจาได้ที่นั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์[47] และมีมติร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ[48] ผลของมติทำให้สมาชิกบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เช่น สมชัย ศรีสุทธิยากร รวมถึงสมาชิกกลุ่ม "นิวเด็ม" (New Dem) ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวในพรรค ลาออกหลายคน[49] ต่อมา นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม[50] และนายอุเทน ชาติภิญโญ ลาออกจากสมาชิกพรรค[51]
เมื่อจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว เกิดความเห็นแตกแยกกันในพรรคจนทำให้มีสมาชิกพรรคเก่าแก่แยกตัวออกไปหลายกลุ่ม เช่น กรณ์ จาติกวาณิช ที่แยกออกไปตั้งพรรคกล้าซึ่งคาดว่ามาจากการตั้งปริญญ์ พานิชภักดิ์มาคุมทีมเศรษฐกิจ[52]
จากนั้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคโดยยกเลิกข้อบังคับพรรคฉบับปี 2561 ทั้งฉบับและประกาศใช้ข้อบังคับพรรคฉบับใหม่[53]
ต่อมาก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ได้มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมากประกาศลาออก เช่น ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู, รังสิมา รอดรัศมี, พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล, เจือ ราชสีห์, ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์, อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์, วชิราภรณ์ กาญจนะ พร้อมกันในวันที่ 27 กุมภาพันธ์[54] จุติ ไกรฤกษ์ ในวันที่ 7 มีนาคม[55] และบุญยอด สุขถิ่นไทย ในวันที่ 14 มีนาคม[56] โดยทั้งหมดย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2566
หลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคประชาปัตย์ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 25 คน ส่งผลให้จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง[57] ต่อมามีสมาชิกพรรคหลายคนถูกกล่าวถึงว่าอาจจะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ อาทิ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ[58], เดชอิศม์ ขาวทอง[59] แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันจากเจ้าตัว ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ[60] ปฏิเสธว่าไม่มีความประสงค์จะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์[61] มีเพียงอลงกรณ์ พลบุตร[62] ที่ประกาศตัวก่อนถึงวันประชุมใหญ่ว่ามีความประสงค์จะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จนกระทั่งวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันประชุมใหญ่ของพรรคได้มีการประชุมตามระเบียบวาระเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยบุคคลที่คาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อและแสดงความประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง จำนวน 4 คน คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งคาดว่าชวน หลีกภัย จะเป็นผู้เสนอชื่อ, นราพัฒน์ แก้วทอง ซึ่งคาดว่ากลุ่มของเฉลิมชัย ศรีอ่อน จะเป็นผู้เสนอชื่อ, พันโทหญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล[63] และ มัลลิกา บุญมีตระกูล[64] ซึ่งเป็น 2 ผู้ประสงค์จะลงสมัคร แต่ในที่สุดการประชุมต้องยุติลงเนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม[65]
ต่อมาในวันที่ 6 สิงหาคม ได้มีการจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรครอบสองขึ้นอีกครั้งที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น แต่เหตุการณ์ก็ซ้ำรอยเมื่อการประชุมล่มเพราะมีสมาชิกบางส่วนไม่เข้าร่วมการประชุม โดยในคราวนี้เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำ สส.พรรคทั้ง 21 คน ออกจากห้องประชุมพร้อมกล่าวประณามว่านี่คือ "การกระทำที่เลวร้าย" และ “เล่นเกมการเมืองเพื่อหวังตอบสนองความต้องการของใครบางคน” [66] ท่ามกลางข่าวลือว่า มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนต้องการที่จะไปเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และได้มีดีลกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ฮ่องกงไว้แล้ว [67]
ต่อมาในช่วงบ่ายวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 จุรินทร์ได้ตัดสินใจลาออกจากรักษาการหัวหน้าพรรค เพื่อหวังให้ที่ประชุมใหญ่วิสามัญเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ได้อย่างราบรื่น[68] จากนั้นในช่วงเย็นวันเดียวกัน ณ ที่ทำการพรรค ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ ซึ่งที่ประชุมมีมติแต่งตั้งให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคควบอีกตำแหน่งหนึ่ง พร้อมกับกำหนดวันจัดประชุมใหญ่วิสามัญเป็นวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และให้เพิ่มองค์ประชุมอีก 150 คน มาจากตัวแทนภาค ภาคละ 30 คน เพื่อสำรองไว้ในกรณีองค์ประชุมไม่ครบ โดยให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์สมัครเข้ามาด้วยตนเอง หากสมัครเกินจำนวนให้ใช้วิธีจับสลาก[69]
และในการประชุมใหญ่ในวันที่ 9 ธันวาคม ชวน หลีกภัย ได้เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง อภิสิทธิ์จึงขอพูดคุยกับเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคเป็นการส่วนตัวด้านนอกห้องประชุม เฉลิมชัยจึงสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 10 นาที ภายหลังพูดคุยเสร็จสิ้น อภิสิทธิ์จึงเดินกลับมาในห้องประชุม แล้วประกาศถอนตัวจากการเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค และลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์[70] และขณะเดียวกัน สาธิต ปิตุเตชะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรักษาการรองหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอภิสิทธิ์ ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตามไปด้วย ทำให้พ้นจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค นอกจากนี้ เนื่องจากวทันยา บุนนาค ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นสมาชิกพรรคนี้ยังไม่ถึงกำหนด 5 ปี และยังไม่เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องให้ที่ประชุมรับรองคุณสมบัติในการเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคด้วยมติ 3 ใน 4 ก่อน แต่ที่ประชุมมีมติรับรองเพียง 139 คน ทำให้วทันยาขาดคุณสมบัติในการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดียวกับพันโทหญิงฐิฏา ส่งผลให้ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มีเพียงคนเดียวคือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน[71] และที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบให้เฉลิมชัยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 88.5[72][73] โดยคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่นอกจากเฉลิมชัยที่เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว ยังมี เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค, สมบัติ ยะสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ, ไชยยศ จิรเมธากร รองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ประมวล พงศ์ถาวราเดช รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง, ชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคภาคใต้, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคกรุงเทพมหานคร เป็นต้น[74]
ร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2567 ในช่วงจัดตั้งคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 64 ซึ่งนำโดยแพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย เฉลิมชัย ศรีอ่อน นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคจำนวน 21 ราย[75] ขอเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล[76][77][78] โดยมีเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 4 คน คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และ สรรเพชญ บุญญามณี ที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล[79][80] จนกระทั่งวันที่ 28 สิงหาคม สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อส่งหนังสือเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ[81] ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เรียกประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกผู้แทนราษฎรในสังกัดเพื่อลงมติเรื่องนี้ในวันถัดมา (29 สิงหาคม)[82] และในที่สุด ที่ประชุมได้มีมติให้เข้าร่วมรัฐบาลด้วยมติเห็นชอบ 43 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง[83]
รายชื่อนายกรัฐมนตรี
-
พันตรี ควง อภัยวงศ์
(วาระ: 2490–2491) -
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
(วาระ: กุมภาพันธ์–มีนาคม 2518, เมษายน–ตุลาคม 2519) -
ชวน หลีกภัย
(วาระ: 2535–2538,
2540–2544) -
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
(วาระ: 2551–2554)
บุคลากร
หัวหน้าพรรค
ลำดับ | รูป | ชื่อ | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ | หมายเหตุ |
1 | พันตรี ควง อภัยวงศ์ | พ.ศ. 2489 | 15 มีนาคม พ.ศ. 2511 (ถึงแก่อสัญกรรม) |
||
2 | หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช | พ.ศ. 2511 | 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 | ||
3 | พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ | 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 | 3 เมษายน พ.ศ. 2525 | พ.ศ. 2522
| |
4 | พิชัย รัตตกุล | 3 เมษายน พ.ศ. 2525 | 26 มกราคม พ.ศ. 2534 | พ.ศ. 2530
| |
5 | ชวน หลีกภัย | 26 มกราคม พ.ศ. 2534 | 20 เมษายน พ.ศ. 2546 | พ.ศ. 2534
| |
6 | บัญญัติ บรรทัดฐาน | 20 เมษายน พ.ศ. 2546 | 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 | พ.ศ. 2546
| |
7 | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | 5 มีนาคม พ.ศ. 2548 | 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 | พ.ศ. 2561
| |
8 | จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ | 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562[84] | 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 | พ.ศ. 2562
| |
9 | เฉลิมชัย ศรีอ่อน | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566 | ปัจจุบัน | พ.ศ. 2566
|
เลขาธิการพรรค
ลำดับ | รูป | ชื่อ | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
1 | พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช | 6 เมษายน พ.ศ. 2489 | 16 กันยายน พ.ศ. 2491 | |
2 | เทพ โชตินุชิต | 17 กันยายน พ.ศ. 2491 | 25 มิถุนายน พ.ศ. 2492 | |
3 | ชวลิต อภัยวงศ์ | 1 มิถุนายน พ.ศ. 2492 | 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 | |
4 | ใหญ่ ศวิตชาติ | 30 กันยายน พ.ศ. 2498 | 26 กันยายน พ.ศ. 2513 | |
5 | ธรรมนูญ เทียนเงิน | 26 กันยายน พ.ศ. 2513 | 6 ตุลาคม พ.ศ. 2518 | |
6 | ดำรง ลัทธพิพัฒน์ | 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 | 6 ตุลาคม พ.ศ. 2521 | |
7 | เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ | 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 | 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 | |
8 | มารุต บุนนาค | 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 | 3 เมษายน พ.ศ. 2525 | |
9 | เล็ก นานา | 3 เมษายน พ.ศ. 2525 | 5 เมษายน พ.ศ. 2529 | |
10 | วีระ มุสิกพงศ์ | 5 เมษายน พ.ศ. 2529[85] | 10 มกราคม พ.ศ. 2530 | |
11 | พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ | 10 มกราคม พ.ศ. 2530[86] | 17 กันยายน พ.ศ. 2543 | |
12 | อนันต์ อนันตกูล | 17 กันยายน พ.ศ. 2543[87] | 20 เมษายน พ.ศ. 2546 | |
13 | ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ | 20 เมษายน พ.ศ. 2546[88] | 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 | |
14 | สุเทพ เทือกสุบรรณ | 5 มีนาคม พ.ศ. 2548[89] | 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 | |
15 (ครั้งที่ 1) |
เฉลิมชัย ศรีอ่อน | 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554[90] | 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556 | |
16 | จุติ ไกรฤกษ์ | 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556 | 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 | |
15 (ครั้งที่ 2) |
เฉลิมชัย ศรีอ่อน | 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562[84] | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566 | |
17 | เดชอิศม์ ขาวทอง | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566 | ปัจจุบัน |
การเลือกตั้ง
ผลการเลือกตั้งทั่วไป
การเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ที่นั่งเปลี่ยน | สถานภาพพรรค | ผู้นำเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|---|
ส.ค. 2489[a] | 16 / 82
|
− | − | 16 | ฝ่ายค้าน | ควง อภัยวงศ์ |
2491 | 53 / 99
|
− | − | 37 | พรรคจัดตั้งรัฐบาล (2491) | |
ฝ่ายค้าน (2491-2494) | ||||||
2495 | คว่ำบาตรการเลือกตั้ง (ไม่มีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง) | |||||
ก.พ. 2500 | 31 / 283
|
22 | ฝ่ายค้าน | |||
ธ.ค. 2500 | 39 / 160
|
9 | ||||
2512 | 57 / 219
|
18 | หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช | |||
2518 | 72 / 269
|
3,176,398 | 17.2% | 15 | แกนนำจัดตั้งรัฐบาล (2518) | |
ฝ่ายค้าน (2518-2519) | ||||||
2519 | 114 / 279
|
4,745,990 | 25.3% | 43 | แกนนำจัดตั้งรัฐบาล | |
2522 | 33 / 301
|
2,865,248 | 14.6% | 81 | ฝ่ายค้าน | พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ |
2526 | 56 / 324
|
4,144,414 | 15.6% | 23 | ร่วมรัฐบาล | พิชัย รัตตกุล |
2529 | 100 / 347
|
8,477,701 | 22.5% | 44 | แกนนำจัดตั้งรัฐบาล | |
2531 | 48 / 357
|
4,456,077 | 19.3% | 52 | ร่วมรัฐบาล (2531-2533) | |
ฝ่ายค้าน (2533-2534) | ||||||
มี.ค. 2535 | 44 / 360
|
4,705,376 | 10.6% | 4 | ฝ่ายค้าน | ชวน หลีกภัย |
ก.ย. 2535 | 79 / 360
|
9,703,672 | 21.0% | 35 | แกนนำจัดตั้งรัฐบาล | |
2538 | 86 / 391
|
12,325,423 | 22.3% | 7 | ฝ่ายค้าน | |
2539 | 123 / 393
|
18,087,006 | 31.8% | 37 | ฝ่ายค้าน (2539-2540) | |
แกนนำจัดตั้งรัฐบาล (2540-2544) | ||||||
2544 | 128 / 500
|
7,610,789 | 26.6% | 5 | ฝ่ายค้าน | |
2548 | 96 / 500
|
4,018,286 | 16.1% | 32 | บัญญัติ บรรทัดฐาน | |
2549 | คว่ำบาตรการเลือกตั้ง - การเลือกตั้งเป็นโมฆะ (ไม่มีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง) | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | ||||
2550 | 165 / 480
|
14,084,265 | 39.63% | 69 | ฝ่ายค้าน (2551) | |
แกนนำจัดตั้งรัฐบาล (2551-2554) | ||||||
2554 | 159 / 500
|
11,435,640 | 35.15% | 14 | ฝ่ายค้าน | |
2557 | คว่ำบาตรการเลือกตั้ง - การเลือกตั้งเป็นโมฆะ (ไม่มีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง) | |||||
2562 | 53 / 500
|
3,947,726 | 11.11% | 106 | ร่วมรัฐบาล | |
2566 | 25 / 500
|
925,349 | 2.34% | 28 | ฝ่ายค้าน (2566-2567) | จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ |
ร่วมรัฐบาล (2567-ปัจจุบัน) |
- ↑ พรรคประชาธิปัตย์มี สส.เดิมในสภาทั้งสิ้น 46 คน
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
การเลือกตั้ง | ผู้สมัคร | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|
2518 | ธรรมนูญ เทียนเงิน | 99,247 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง | |
2528 | ชนะ รุ่งแสง | 241,001 | 25.35% | พ่ายแพ้ |
2533 | ประวิทย์ รุจิรวงศ์ | 60,947 | 5.50% | พ่ายแพ้ |
2535 | พิจิตต รัตตกุล | 305,740 | 40.39% | พ่ายแพ้ |
2539 | ไม่ส่งผู้สมัคร (ให้การสนับสนุน พิจิตต รัตตกุล ลงสมัครในนามกลุ่มมดงานแทน) | |||
2543 | ธวัชชัย สัจจกุล | 247,650 | 11.17% | พ่ายแพ้ |
2547 | อภิรักษ์ โกษะโยธิน | 911,441 | 38.20% | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง |
2551 | 991,018 | 45.93% | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง | |
2552 | หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร | 934,602 | 45.41% | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง |
2556 | 1,256,349 | 47.75% | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง | |
2565 | สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ | 254,723 | 9.52% | พ่ายแพ้ |
ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.)
การเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ที่นั่งเปลี่ยน | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|
2528 | 35 / 54
|
35 | เสียงข้างมาก | ||
2533 | 1 / 57
|
34 | เสียงข้างน้อย | ||
2537 | 8 / 55
|
7 | |||
2541 | 22 / 60
|
14 | เสียงข้างมาก | ||
2545 | 30 / 61
|
8 | |||
2549 | 34 / 57
|
4 | |||
2553 | 45 / 61
|
11 | |||
2565 | 9 / 50
|
348,852 | 15.06% | 36 | เสียงข้างน้อย |
ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (สข.)
การเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ที่นั่งเปลี่ยน | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|
2553 | 289 / 361
|
289 | เสียงข้างมาก |
ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
จังหวัด | นาม | ปี พ.ศ. | ผลการเลือกตั้ง |
---|---|---|---|
กระบี่ | สมบูรณ์ สิทธิมนต์[91] | พ.ศ. 2551 | พ่ายแพ้[92] |
กาญจนบุรี | รังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ | พ.ศ. 2547 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง |
พ.ศ. 2551 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง | ||
พ.ศ. 2555 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง | ||
ชุมพร | สุพล จุลใส | พ.ศ. 2555 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง |
เชียงใหม่ | กิ่งกาญจน์ ณ เชียงใหม่ | พ.ศ. 2555 | พ่ายแพ้ |
นราธิวาส | สุมิตร มะสาและ | พ.ศ. 2555 | พ่ายแพ้[93] |
พิจิตร | ชาติชาย เจียมศรีพงษ์ | พ.ศ. 2555 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง |
สตูล | สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ | พ.ศ. 2556 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง |
เกตุชาติ เกษา | พ.ศ. 2563 | พ่ายแพ้ | |
สงขลา | นิพนธ์ บุญญามณี | พ.ศ. 2556 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง |
ไพเจน มากสุวรรณ์ | พ.ศ. 2563 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง[94] | |
สุราษฎร์ธานี | ทนงศักดิ์ ทวีทอง | พ.ศ. 2556 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง |
อำนาจเจริญ | ศักดิ์ชัย ตั้งตระกูลวงศ์ | พ.ศ. 2555 | สำเร็จ ได้รับเลือกตั้ง |
ข้อวิจารณ์
ภาพลักษณ์
พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีฐานเสียงเหนียวแน่นในภาคใต้ จนมีเรื่องเล่าว่า "ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ" ซึ่งมีนักวิชาการอธิบายว่าเป็นเพราะผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์มีเครือข่ายอยู่แล้วทำให้แทบไม่ต้องหาเสียง ซึ่งไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์ และยังรวมถึงกระแส "ชวนฟีเวอร์" หรือนายกฯ คนใต้ ทำให้นักการเมืองในภาคใต้ที่อยากเลือกตั้งชนะต่างพากันเข้าพรรคประชาธิปัตย์กันหมด อย่างไรก็ตามในช่วงหลัง ๆ ประชาชนบางส่วนเริ่มเบื่อหน่ายกับความไม่พัฒนาของภูมิภาคทำให้พรรคอื่นเริ่มเจาะฐานเสียงได้บ้าง[95]
หลังการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2562 ทำให้มีการค้นคำว่า "พรรคแมลงสาบ" ในเสิร์ชเอนจินปริมาณเพิ่มขึ้น คำนี้มีการใช้เพื่อหมายถึงอายุยืนยาวและการรั้งอำนาจอย่างยาวนานของพรรค และมีการใช้เพื่อล้อเลียนพรรคเมื่อใดที่ปรากฏการกระทำที่ไร้เกียรติของพรรค ทั้งนี้ คำดังกล่าวมีที่มาจากศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกพรรค ในการประชุมประจำปี 2545 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ที่เสนอ "ทฤษฎีแมลงสาบ" เพื่อให้พรรคอยู่รอดในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเวลานั้น[96] อีกทั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคในเวลานั้น ได้กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์เปรียบเสมือนแมลงสาบที่ฆ่าไม่ตาย[97]
การสนับสนุนการชุมนุมของ กปปส.
27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กล่าวแนะนำให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น นำ ส.ส.ทั้งพรรคลาออกจากการเป็น ส.ส. ไปต่อสู้เคียงข้าง สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำชุมนุม กปปส. ชี้ว่าไม่ควรปล่อยให้สุเทพโดดเดี่ยว ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องร่วมมือกัน ทั้งนี้ หากพรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากการเป็น ส.ส.ทั้งพรรค ตนและสมาชิกพรรคจะร่วมลาออก เพื่อไปต่อสู้นอกสภากับนายสุเทพด้วย[98]
8 ธันวาคม พ.ศ. 2556 หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์มีมติให้สมาชิกลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด[99] ชูวิทย์รักษาคำพูดโดยการลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที[100]
หลังจากนั้น มีการขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวปราศรัยไว้ว่า
"นายกฯ หลบเลี่ยงแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ผลดูไม่ออกว่าที่อยู่ในประเทศหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา ไปทำอะไรบ้าง เมื่อเช้าเห็นข่าวว่าไปทำโครงการ สมาร์ทเลดี้ มันแปลว่าอะไร ผมจึงไปถาม ม.ล.อภิมงคล โสณกุล ซึ่งแปลว่า ผู้หญิงฉลาด แต่ทำไมต้องทำโครงการนี้ ทำไมต้องหาผู้หญิงฉลาด ทำไมต้องประกวด เพราะเขาบอกว่า ถ้าแข่งขันหา 'อีโง่' ไม่มีใครไปแข่งได้"
ภายหลังจากการกล่าวปราศรัยดังกล่าว เป็นเหตุทำให้อภิสิทธิ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดย จะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยว่า คำปราศรัยดังกล่าวดูถูกผู้หญิงจนเกินไป นายอภิสิทธิ์ไม่ควรพูดเช่นนี้ ทำให้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของนายอภิสิทธิ์เอง เนื่องจากที่ผ่านมาการวิจารณ์โจมตีนางสาวยิ่งลักษณ์ มักจะถูกมองเป็นการดูถูกผู้หญิงทั้งหมด ดังนั้นควรต้องระมัดระวัง[101]
24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำการชุมนุม กปปส. ประกอบด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ, ชุมพล จุลใส, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, อิสสระ สมชัย, ถาวร เสนเนียม และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ถูกศาลตัดสินให้จำคุก ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ล้มล้างระบอบการปกครอง มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และข้อหาอื่น ๆ ทำให้พุทธิพงษ์, ถาวร, และณัฏฐพล ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องสิ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรีในทันที ตามมาตรา 160(7) และมาตรา 170(4) ของรัฐธรรมนูญ[102] และสิ้นสภาพการเป็น สส. ร่วมกับชุมพล และอิสสระ
คำร้องคัดค้านการเป็น สส.
15 มิถุนายน พ.ศ. 2566 มีเอกสารที่นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ครั้งที่ 1 ปรากฎว่ามี ว่าที่ ส.ส. ที่ประกาศผลรับรอง 329 คน ขณะที่มี 71 เขต ที่มีเรื่องร้องคัดค้าน มีรายงานว่า เอกสารดังกล่าวอาจเป็นเอกสารสรุปของฝ่ายปฏิบัติการ แจ้งเรื่องร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ที่ยังไม่ได้นำเสนอต่อที่ประชุม กกต.[103] โดยพรรคประชาธิปัตย์ถูกร้องคัดค้านทั้งสิ้น 3 คน ดังนี้
ลำดับ | รายชื่อ สส. | เขตที่ลงเลือกตั้ง | ข้อกล่าวหา | สถานะปัจจุบัน |
---|---|---|---|---|
1 | อวยพรศรี เชาวลิต | นครศรีธรรมราช เขต 9 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
2 | สุพัชรี ธรรมเพชร | พัทลุง เขต 1 | ยังดำรงตำแหน่ง | |
3 | เดชอิศม์ ขาวทอง | สงขลา เขต 5 | โฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพ หรือการรื่นเริงต่างๆ | ยังดำรงตำแหน่ง (ยกคำร้อง)[104] |
แต่ถึงกระนั้น กกต. ก็ประกาศรับรอง สส. ทั้ง 500 คนก่อน โดยได้ชี้แจงว่าจะดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง
ความขัดแย้งของสมาชิกพรรค
แยกออกไปจัดตั้งพรรค
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2490 เกิดความขัดแย้งกันระหว่าง เลียง ไชยกาล กับ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช รองหัวหน้าพรรคในขณะนั้น ส่งผลให้เลียงและสมาชิกพรรคอีก 16 คนลาออกจากพรรค ก่อนนำไปสู่การจัดตั้ง พรรคประชาชน
ในปี พ.ศ. 2491 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ลาออกจากพรรค เนื่องจากไม่พอใจที่สมาชิกพรรคสนับสนุนให้เพิ่มเงินเดือนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[105] จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2518 คึกฤทธิ์ได้ชวนสมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมจัดตั้ง พรรคกิจสังคม
ในปี พ.ศ. 2519 เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มของ สมัคร สุนทรเวช และกลุ่มของ พิชัย รัตตกุล ส่งผลให้สมัครลาออกจากพรรค ไปอยู่ฝ่ายคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอยู่ขณะหนึ่ง ก่อนจะจัดตั้ง พรรคประชากรไทย ในปี พ.ศ. 2522 และในปีเดียวกันนั้น หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พ้นวาระและประกาศวางมือการเมือง อุทัย พิมพ์ใจชน ได้ลงแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป กับ ชวน หลีกภัย เพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รุ่นเดียวกัน และ พ.อ.(พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โดยอุทัยได้รับการสนับสนุนจาก ธรรมนูญ เทียนเงิน อดีตเลขาธิการพรรค ด้วยความเป็นคนชลบุรีเหมือนกัน ปรากฏว่าที่ประชุมพรรคได้เลือก พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป หลังจากนั้นไม่นานอุทัยก็ได้ลาออกจากพรรค จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2526 อุทัยได้จัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเองในนาม พรรคก้าวหน้า
กลุ่ม 10 มกรา
กลุ่ม 10 มกรา ก่อตั้งโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เลขาธิการพรรคในปี พ.ศ. 2522 และ วีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในปี พ.ศ. 2530 โดยที่มาของชื่อกลุ่มมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2530 ณ โรงแรมเอเชีย ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ซึ่งกลุ่มของนายวีระได้เสนอชื่อนายเฉลิมพันธ์ ส่วนกลุ่มของ ชวน หลีกภัย ได้เสนอชื่อ พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ส่วนตัวนายวีระได้ลงชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคแข่งกับ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ปรากฏว่าทั้งนายเฉลิมพันธ์และนายวีระพ่ายแพ้ต่อพิชัยและพล.ต.สนั่น
ทั้งนี้ กลุ่ม 10 มกรานี้มีความไม่พอใจในการบริหารงานของพิชัย หัวหน้าพรรคมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยต้นเหตุของความขัดแย้งในครั้งนั้น แบ่งได้ 5 ประเด็น กล่าวคือ
- ความขัดแย้งในการคัดเลือกตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งพิชัยเป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว
- พิชัยไม่ได้นำรายชื่อผู้ที่เหมาะสมโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีทั้ง 25 คนตามมติในที่ประชุมของพรรค ไปมอบให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่กลับเสนอเพียง 15 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มของพิชัย พร้อมทั้งกำหนดตำแหน่งรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไว้ด้วย ทำให้สมาชิกในกลุ่ม 10 มกราที่อยู่ในรายชื่อที่ไม่ได้ถูกเสนอหลายคนไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
- ผู้บริหารระดับสูงของพรรคไม่สามารถแสดงบัญชีรายจ่ายให้เกิดความโปร่งใสในการจัดการเรื่องเงินให้สมาชิกพรรคทราบได้ ภายหลังได้รับเงินจากผู้สนับสนุนพรรคในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529
- ไม่พอใจในผลเจรจากับพรรคการเมืองอื่นในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำ ไม่ได้รับการจัดสรรกระทรวงที่มีความสำคัญในทางเศรษฐกิจและบริหาร
- พิชัยได้เสนอให้ พิจิตต รัตตกุล บุตรชายของตน ซึ่งได้รับเลือกตั้งซ่อมเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร แทนที่ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ ที่ถึงแก่กรรมไปด้วยการกระทำอัตวินิบาตกรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน (ชื่อกระทรวงในขณะนั้น) ทั้งที่อาวุโสทางการเมืองของพิจิตตมีน้อยกว่าคนอื่นในพรรค ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบ และนำเอาระบบสืบตำแหน่งในครอบครัวมาใช้ ซึ่งไม่ควรมีในพรรค
และจาก 5 สาเหตุดังกล่าว นำมาซึ่งการเผชิญหน้ากันระหว่าง 2 ขั้วภายในพรรค และจากความขัดแย้งครั้งนั้น ส่งผลให้การทำหน้าของพรรคประชาธิปัตย์ในรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และการแสดงออกทางการเมืองต่อสาธารณชนไม่เป็นเอกภาพนับแต่นั้น มีการแสดงออกของสมาชิกพรรคในทางที่ขัดแย้งกับมติหรือนโยบายพรรค[106]
ต่อมากลุ่ม 10 มกรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกับ กลุ่มวาดะห์ ภายหลังจากการที่ทั้งสองกลุ่มไม่ยกมือสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรจนทำให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุบสภา เมื่อปี พ.ศ. 2531 ซึ่งกลุ่ม 10 มกราบางส่วนและทางกลุ่มวาดะห์ได้ร่วมมือกันจัดตั้งพรรคการเมืองโดยใช้ชื่อว่า พรรคประชาชน[107]
ก่อนการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2566 รอบที่ 3 สื่อรายงานว่าที่ประชุมพรรคมีมติงดออกเสียง[108] แต่เมื่อถึงวันจริงกลับมี ส.ส. จำนวน 16 คน ลงมติ "เห็นชอบ" ให้เศรษฐา ทวีสิน บุคคลที่ได้รับเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนี้[109]
- พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา
- อวยพรศรี เชาวลิต สส.นครศรีธรรมราช
- เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา
- ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สส.สงขลา
- สุภาพร กำเนิดผล สส.สงขลา
- ยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี
- ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช
- พิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช
- ทรงศักดิ์ มุสิกอง สส.นครศรีธรรมราช
- ว่าที่ร้อยโท ยุทธการ รัตนมาศ สส.นครศรีธรรมราช
- สุพัชรี ธรรมเพชร สส.พัทลุง
- กาญจน์ ตั้งปอง สส.ตรัง
- สมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน
- วุฒิพงษ์ นามบุตร สส.อุบลราชธานี
- ชาตรี หล้าพรหม สส.สกลนคร
- จักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ สส.ประจวบคีรีขันธ์
ชัยชนะ เดชเดโช หนึ่งในกลุ่ม ส.ส. ดังกล่าว ระบุว่าได้ตัดสินใจไม่นานก่อนเริ่มการประชุมรัฐสภา และพร้อมรับกับผลที่ตามมา[110] ด้าน เดชอิศม์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค ระบุว่าพรรคไม่มีเอกภาพตั้งแต่การประชุมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่ล่มถึงสองครั้ง และมติพรรคก่อนการประชุมร่วมของรัฐสภาไม่ชัดเจน เขายังอ้างว่าแม้แต่อดีตสมาชิกกลุ่ม กปปส. และพรรคภูมิใจไทย ก็ยังลงมติเห็นชอบ ดังนั้นกลุ่มของตนซึ่งเป็นคนยุคใหม่จึงไม่ควรรับมรดกความขัดแย้งต่อจากคนรุ่นเก่า ทั้งนี้ เขากล่าวว่าแม้จะลงมติเห็นชอบ แต่ก็พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และพรรคยังไม่ถึงจุดแตกหัก[111] ด้านชวน หลีกภัย ยืนยันว่าในวันประชุมพรรคมีมติให้งดออกเสียง และกล่าวถึงเดชอิศม์ว่า "ยอมรับว่าตอนที่เรา (พรรคประชาธิปัตย์) สู้กับพรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ชินวัตร นายเดชอิศม์ ก็อยู่ในพรรคนั้น"[112]
กลุ่มอภิสิทธิ์
ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ประกาศว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่ำกว่า 52 คน ตนจะวางมือทางการเมืองตลอดชีวิต แต่ในที่สุดก็กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคตามคำเชิญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคจำนวน 21 คน ส่งผลให้เฉลิมชัยถูกวิจารณ์อย่างหนักว่ากระทำขัดต่อคำประกาศของตนก่อนหน้า และขัดต่อคำขวัญของพรรคบนตราสัญลักษณ์ของพรรคที่ระบุว่า "สจฺจํ เว อมตา วาจา"[113]
การกระทำของเฉลิมชัยส่งผลให้มีสมาชิกพรรคที่เป็นกลุ่มผู้สนับสนุนของอภิสิทธิ์ประกาศลาออกเป็นจำนวนมาก ดังนี้
ลำดับที่ | ชื่อ | ตำแหน่งทางการเมืองในอดีต | วันที่ลาออก | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|
1 | อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ |
|
9 ธันวาคม | [70] |
2 | สาธิต ปิตุเตชะ | [114] | ||
3 | สุรันต์ จันทร์พิทักษ์ | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร 2 สมัย | [115] | |
4 | อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร 2 สมัย | 11 ธันวาคม | [116] |
5 | สาทิตย์ วงศ์หนองเตย | [117] | ||
6 | อัญชลี วานิช เทพบุตร | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต | [118] | |
7 | อานิก อัมระนันทน์ | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ | 12 ธันวาคม | [119] |
8 | บุญเลิศ ไพรินทร์ | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา | [120] |
ก่อนและหลังการร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
แม้จะมีความขัดแย้งร่วมกันมานับยี่สิบปี ตั้งแต่การเป็นคู่ตรงข้ามกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร สมัยพรรคไทยรักไทย และยังคงมีความขัดแย้งร่วมกันมา ไม่ว่าจะเป็นการคว่ำบาตรการเลือกตั้งสองหน (พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557), การตั้ง กปปส. เพื่อขับไล่รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเป็นต้นเหตุให้เกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เป็นต้น
แต่หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 มีสัญญาณจาก สส.ในพรรคบางกลุ่ม ที่มีความประสงค์จะร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เริ่มตั้งแต่การลงมติเห็นชอบให้ เศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้มติพรรคจะให้งดออกเสียง นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า ในช่วงกลางดึกวันที่ 20 สิงหาคม สส. ของพรรคพลังประชารัฐที่อยู่ในกลุ่มธรรมนัส ประกอบด้วย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า สส. พะเยา หัวหน้ากลุ่ม พร้อมด้วย ไผ่ ลิกค์ สส. กำแพงเพชร และ อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. ฉะเชิงเทรา ได้เดินทางไปยังบ้านพักส่วนตัวของเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค เพื่อเจรจาทาบทามให้มาเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยก่อนหน้านั้นมีรายงานว่าทางพรรคประชาธิปัตย์ได้เจรจาดีลกับแกนนำพรรคเพื่อไทยขอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของพลตํารวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของสันติ พร้อมพัฒน์ ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมของพรรคพลังประชารัฐในกลุ่มพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ[121]
ปรากฏว่ามีผู้สนับสนุนของพรรคประชาธิปัตย์และกูรูทางการเมืองบางส่วนไม่เห็นด้วยกับดีลนี้ รวมถึงยังมีเสียงคัดค้านจาก สส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าพรรคถึง 3 คน คือ ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และยังมี สรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา ที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยเช่นกัน[122] อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าหลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งชื่อของเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ให้พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการคัดกรองคุณสมบัติ[123]
วันที่ 28 สิงหาคม สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์เพื่อส่งหนังสือเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่ามีอุดมการณ์ร่วมกัน[81] เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความขัดแย้งใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่ความรักความเข้าใจและการให้อภัยกับพรรคเพื่อไทย ส่วนการพูดคุยกับผู้สนับสนุนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้วกับวันนี้ สถานการณ์ทางการเมืองไม่เหมือนกัน ปัญหาของประเทศก็ไม่เหมือนกัน รวมถึงแนวคิดในการพัฒนาประเทศก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ทั้งสองพรรคเข้ากันได้และเดินหน้าไปด้วยกันถือเป็นสิ่งที่ดีงาม[124]
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับอดีตผู้สมัคร และผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์[125] โดยกล่าวว่า อาจผิดข้อบังคับของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมของกรรมการบริหารพรรคและสมาชิก ดังต่อไปนี้
- ข้อที่ 26 กำหนดว่า กรรมการบริหารและสมาชิกต้องมีอุดมการณ์ในการทํางานด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต และเสียสละ โดยยึดถือและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสําคัญ ไม่วางตนอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเงิน ผลประโยชน์หรือข้อต่อรองใดๆ เพื่อบุคคลหรือองค์กรใด
- ข้อที่ 27 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า ให้นํามาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับแก่ สส. มาบังคับใช้กับกรรมการบริหารพรรคโดยอนุโลม ซึ่งกำหนดห้ามคบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่[126]
และภายหลังจากเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกผู้แทนราษฎรในสังกัดมีมติให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ ก็ได้ปรากฏว่า มีผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของพรรคในเชิงลบเป็นจำนวนมาก เช่น ผิดหวังกับมติดังกล่าว ประกาศเลิกสนับสนุนพรรค หรือ ทำนายว่าพรรคนี้จะไม่มีผู้ได้รับตำแหน่ง สส. ในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไปอีก[127] จนทำให้พรรคต้องปิดการแสดงความคิดเห็นในทุกโพสต์ของเพจดังกล่าวในทันที[128] และยังมีการเปิดเผยแชทไลน์ของคณะทำงานของพรรคที่ระบุว่ากำลังลบและรายงานความคิดเห็นที่เป็นเชิงโจมตีพรรค[129]
นอกจากนั้น ยังส่งผลให้มีสมาชิกพรรคเริ่มประกาศลาออก ดังนี้
ลำดับที่ | ชื่อ | ตำแหน่งทางการเมืองในอดีต | วันที่ลาออก | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|
1 | ศิริโชค โสภา | สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา | 29 สิงหาคม | [130] |
2 | พงศกร ขวัญเมือง | ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร | 30 สิงหาคม | [131] |
การแยกตัวของสมาชิกพรรค
พรรคประชาธิปัตย์เคยมีสมาชิกพรรคที่ลาออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือย้ายไปเป็นกรรมการบริหารพรรค[132] โดยมีดังนี้
- พรรคประชาชน (พ.ศ. 2490) นำโดย เลียง ไชยกาล (ถูกยุบเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514)
- พรรคกิจสังคม นำโดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (เดิมเคยเป็นหัวหน้าพรรคก้าวหน้า (พ.ศ. 2488) แต่ได้มารวมกับพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา / สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561)
- พรรคราษฎร (พ.ศ. 2517) นำโดย ไถง สุวรรณทัต (ถูกยุบเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จากคำสั่งของ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน)
- พรรคประชากรไทย นำโดย สมัคร สุนทรเวช
- พรรคเสรีธรรม (พ.ศ. 2522) นำโดย บุญยิ่ง นันทาภิวัฒน์ (ถูกยุบในปี พ.ศ. 2523)
- พรรคก้าวหน้า (พ.ศ. 2526) นำโดย อุทัย พิมพ์ใจชน (ก่อนจะยุบรวมเป็น พรรคเอกภาพ ในเวลาต่อมา)
- พรรคประชาชน (พ.ศ. 2531) นำโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ (ก่อนจะยุบรวมเป็น พรรคเอกภาพ ในเวลาต่อมา)
- พรรคมหาชน นำโดย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และ สนั่น ขจรประศาสน์ (สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563)
- พรรคพลังประชารัฐ นำโดย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
- พรรครวมพลังประชาชาติไทย นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ
- พรรคไทยภักดี นำโดย วรงค์ เดชกิจวิกรม
- พรรครวมไทยสร้างชาติ นำโดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
- พรรคกล้า นำโดย กรณ์ จาติกวณิช (ก่อนจะนำสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ไปอยู่กับพรรคชาติพัฒนา)
อ้างอิง
- ↑ "A Study of the History and Cult of the Buddhist Earth Deity in Mainland Southeast Asia" (Dissertation). University of Canterbury, Christchurch, New Zealand. 2010-08-25. p. 175.
Samyutta Nikaya 452- 5.1.189.
- ↑ 74 ปี ประชาธิปัตย์ “จุรินทร์” ประกาศเดินหน้า อุดมการณ์ ทันสมัย สู่ประชาธิปไตยกินได้”
- ↑ เจียจันทร์พงษ์, สุทธาสินี จิตรกรรมไทย (4 April 2023). "ควง อภัยวงศ์ ให้กำเนิด "พรรคประชาธิปัตย์" 5 เม.ย. ก่อนเปลี่ยนเป็น 6 เม.ย." Silpa-mag.com. Matichon. สืบค้นเมื่อ 23 May 2023.
ขณะนั้นมีสมาชิกสภาฯ หลายนายได้ประชุมกันจัดตั้งพรรคขึ้น มี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นายเลียง ไชยกาล นายปริญญา จุฑามาศ นายสุวิช พันธเศรษฐ นายโชติ คุ้มพันธ์ นายชวลิต อภัยวงศ์ นายอินฑูร วรกุล นายบุญแท่ง ทองสวัสดิ์ และนายฟอง สิทธิธรรม เป็นผู้ริเริ่มตั้งพรรค โดย หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ เอาพรรคก้าวหน้าของตนมารวมกับพรรคประชาธิปไตยของ โชติ คุ้มพันธ์ แล้วให้ชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคและที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 102 ตอน 197 ก พิเศษ หน้า 4 26 ธันวาคม พ.ศ. 2528
- ↑ "จับตา "ปชป."แยกตัวสถาปนาก๊กใหม่ ชิงความได้เปรียบทางการเมือง". 24 June 2019.
- ↑ "ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567" (PDF). 30 June 2024.
- ↑ 7.0 7.1 Medeiros, Evan S. (2008), Pacific Currents: The Responses of U.S. Allies and Security Partners in East Asia to China's Rise, RAND, p. 130
- ↑ Connors, Michael K. (February 2008), "Article of Faith: The Failure of Royal Liberalism in Thailand" (PDF), Journal of Contemporary Asia, 38 (1): 157, doi:10.1080/00472330701652000, ISSN 0047-2336, S2CID 144223931, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-07-23
- ↑ Abbott, Jason P. (2003), Developmentalism and Dependency in Southeast Asia: The case of the automotive industry, RoutledgeCurzon, p. 112
- ↑ 10.0 10.1 "Demise of the Democrat Party in Thailand".
- ↑ "Democrat Party (DP) / Phak Prachathipat". GlobalSecurity.org. สืบค้นเมื่อ 16 May 2020.
Of the four ruling coalition parties in 1987, the Democrat Party was considered to be somewhat liberal, despite its beginning in 1946 as a conservative, monarchist party.
- ↑ 12.0 12.1 "Thailand's main political parties". Al Jazeera. 3 July 2011. สืบค้นเมื่อ 16 May 2020.
Prime Minister Abhisit Vejjajiva's ruling Democrat Party was founded in 1946. It is conservative, pro-monarchy and establishment, backed by the military and most of the Bangkok-based elite.
- ↑ Hicken, Allen; Martinez Kuhonta, Erik, บ.ก. (2015). Party System Institutionalization in Asia: Democracies, Autocracies, and the Shadows of the Past. Cambridge University Press. p. 287. ISBN 9781107041578. สืบค้นเมื่อ 10 February 2020.
- ↑ Draper, John (18 April 2014). "Reforming the Democrat Party". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 10 February 2020.
- ↑ Sombatpoonsiri, Janjira (24 October 2019). "Postprotest Pathways in Thailand: Between the Street and the Ballots". Carnegie Europe. Carnegie Endowment for International Peace. สืบค้นเมื่อ 10 February 2020.
- ↑ Leifer, Michael (13 May 2013). Dictionary of the Modern Politics of Southeast Asia. ISBN 9781135129453.
- ↑ Phakdeewanich, Titipol (9 January 2018). "Can Thailand rely on the Democrat Party for democracy?". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-07. สืบค้นเมื่อ 2019-03-14.
- ↑ Lohatepanont, Ken (17 November 2018). "What's next for the Democrat Party?". Bangkok Post.
- ↑ Grossman, Nicholas (2009). Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946. ISBN 9789814217125.
- ↑ "Major players in Thailand's election". 29 December 2016.
- ↑ [16][17][18][19][20]
- ↑ Bunbongkarn, Suchit (1999), "Thailand: Democracy Under Siege", Driven by Growth: Political Change in the Asia-Pacific Region, M.E. Sharpe, p. 173, ISBN 9780765633446
- ↑ ควง อภัยวงศ์ ให้กำเนิด “พรรคประชาธิปัตย์” 5 เม.ย. ก่อนเปลี่ยนเป็น 6 เม.ย.
- ↑ Frank C. Darling, "American Influence on the Evolution of Constitutional Government in Thailand" Thesis, American University, 1960, page 185
- ↑ คึกฤทธิ์ เป็นนายกฯ แทนพี่ชาย, หน้า 149. กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ISBN 978-974-228-070-3
- ↑ Nohlen, D, Grotz, F & Hartmann, C (2001) Elections in Asia: A data handbook, Volume II, p284 ISBN 0-19-924959-8
- ↑ Sangchai, Somporn (1979), "Some Observations on the Elections and Coalition Formation in Thailand, 1976", Modern Thai Politics (Transaction Publishers): p. 378,
- ↑ อิ๋วสกุล, ธนาพล (2019-07-30). "กึ่งศตวรรษบนเส้นทางนักการเมืองชื่อชวน หลีกภัย (2) : ปลัดประเทศผู้ (เคย) เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา". The 101 World (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ ชวน หลีกภัย เล่าชีวิต 84 ปี และ 54 ปี ในรัฐสภา จากยุคถนอม ถึงประยุทธ์, สืบค้นเมื่อ 2023-11-15
- ↑ "ปรากฏการณ์ "รัฐบาลพรรคเดียว" ไทยรักไทย ทำไมชนะถล่มทลาย14 ปีก่อน". www.thairath.co.th. 2019-03-14.
- ↑ (2553, 6 พฤษภาคม). กกต. เตรียมเชือดบุญจง แจกเบี้ยยังชีพ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
- ↑ (2553, 3 มกราคม). สำนวนหลวม กกต.พริ้ว คดีเงินบริจาคปชป. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 พฤศจิกายน 2553).
- ↑ (30 พฤศจิกายน 2553). บัญญัติปัดวุ่น-รู้4:2 ปชป.รอด โต้ 2มาตรฐาน. ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 30-11-2553.
- ↑ อภิสิทธิ์ขออภัยไม่สามารถปกป้องประชาธิปไตย-ม.ล.ณัฏฐกรณ์ท้าให้มาต้าน รปห. ประชาไท. 25 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2557.
- ↑ 'อภิสิทธิ์'ลั่นไร้คำตอบคสช.ปฏิรูปต้านรัฐประหาร เก็บถาวร 2014-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพธุรกิจ. 25 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2557.
- ↑ 'อภิสิทธิ์' ชี้ คสช.ต้องใช้มาตรการเข้มขึ้น หลังมีกลุ่มก่อหวอดต้านอำนาจ ไทยรัฐ. 26 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2557.
- ↑ ""นิพิฏฐ์" เชียร์ "ประยุทธ์" นั่งนายกฯ ใช้อำนาจเด็ดขาด แก้ปัญหาตรงใจประชาชน". ASTVผู้จัดการ. 2014-06-07. สืบค้นเมื่อ 2014-06-11.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Abhisit Wins Democrat Party Leadership". Khaosod English (ภาษาอังกฤษ). 2018-11-10. สืบค้นเมื่อ 2018-11-30.
- ↑ "โพสต์หมดเวลาเกรงใจแล้ว มาร์คยัน ไม่สนับสนุน "บิ๊กตู่" (คลิป)". ไทยรัฐ. 2019-03-11. สืบค้นเมื่อ 2019-03-11.
- ↑ Surface, Nat (2019-03-10). "เมื่อ 2 พรรคใหญ่.... "เทลุง"". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ (2019-03-24). "เลือกตั้ง 2562 : อนาคต อภิสิทธิ์ ในวันที่ประชาธิปัตย์ตกที่นั่ง "พรรคต่ำร้อย"". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 2019-03-25.
- ↑ "Does it matter who leads the Democrat Party?". The Nation (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-06. สืบค้นเมื่อ 2018-12-06.
- ↑ "เช็คเสียง..!เลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ใครใหญ่?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-12. สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
- ↑ 09.00 INDEX หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจัยชี้ขาด คือ ชวน หลีกภัย
- ↑ วิเคราะห์ ทิศทางผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
- ↑ "ด่วน! ผลการลงคะแนน "ประชาธิปัตย์" โหวต "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" นั่งหัวหน้าพรรคใหม่คนที่ 8". กรุงเทพธุรกิจ. 2019-05-15. สืบค้นเมื่อ 2019-06-07.
- ↑ "ประชาธิปัตย์คว้าเก้าอี้เกษตรและพาณิชย์ ตอบตกลงร่วมรัฐบาล". โพสต์ทูเดย์. 2019-06-04. สืบค้นเมื่อ 2019-06-07.
- ↑ "ประชาธิปัตย์ อ้างปิดสวิตช์ คสช. โหวต "ประยุทธ์" ปิดดีลร่วมรัฐบาล พปชร.ยึดกระทรวงเกรดเอ". ประชาชาติ. 2019-06-05. สืบค้นเมื่อ 2019-06-07.
- ↑ "'นิพิฏฐ์' โพสต์เสียใจสุดซึ้งเมื่อ 'นิวเด็ม' หลายคนจากไป". มติชน. 2019-06-06. สืบค้นเมื่อ 2019-06-07.
- ↑ "คอนเฟิร์ม'หมอวรงค์'ลาออกพ้นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์". โพสต์ทูเดย์. 2019-11-20. สืบค้นเมื่อ 2019-11-20.
- ↑ ""อุเทน" ลาออกสมาชิก ปชป. ระบุ รู้สึกผิดหวัง ที่ไร้จุดยืน ยึดติดอำนาจ". โพสต์ทูเดย์. 2019-12-03. สืบค้นเมื่อ 2019-12-05.
- ↑ "ลือ! มือดีล็อบบี้ กก.บห.ห้ามลาออก หวั่น 'จุรินทร์-39 คน' ถูกโละเซ่นปรากฏการณ์ 'ปริญญ์'". ผู้จัดการออนไลน์. 2022-04-22. สืบค้นเมื่อ 2022-04-30.
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์
- ↑ หยู (2023-02-09). "เลือดไหลพรวด! 7 ส.ส.ทิ้งประชาธิปัตย์ ซบรวมไทยสร้างชาติ".
- ↑ ""จุติ" ปิดดีล ย้ายซบ รทสช. ร่วมทีม "พีระพันธ์ุ" เพื่อนรัก". bangkokbiznews. 2023-03-14.
- ↑ "เลือกตั้ง 2566 : "บุญยอด" ลาออก ปชป. ซบ รทสช. ขอบคุณ ผู้ใหญ่ให้โอกาส". www.thairath.co.th. 2023-03-14.
- ↑ https://www.thaipbs.or.th/news/content/327785 "จุรินทร์" ประกาศรับผิดชอบ ลาออกหัวหน้า ปชป.
- ↑ แถลงการณ์ 48 ตัวแทนสาขา ปชป.อีสาน หนุน ”อภิสิทธิ์" หวน นั่งหัวหน้าพรรค
- ↑ เปิดประวัติเดชอิศม์ ขาวทอง ขน 17 ส.ส.เข้าสภา ผู้ท้าชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9
- ↑ ชื่อ "อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ" มาแรง ชิงเก้าอี้หัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์
- ↑ “อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” ลั่นไม่มีความประสงค์เป็น หัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์
- ↑ เปิดโปรไฟล์ อลงกรณ์ พลบุตร ผู้ท้าชิง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อีกครั้ง
- ↑ เมื่อ วันที่ 6 กรกฎาคม 2566'ชวน' ฝากหัวหน้า ปชป. คนใหม่ ยึดความสุจริตเป็นที่ตั้ง เตือนร่วมรัฐบาลกับพรรคโกงกินก็อันตราย
- ↑ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566"มัลลิกา" เอาจริง ลงชิงหัวหน้า ปชป. มุ่งปฏิรูปพรรค "จุรินทร์" หวังคนใหม่นำพรรคก้าวหน้า
- ↑ ด่วน! ยุติประชุมเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังองค์ประชุมไม่ครบ
- ↑ [1]
- ↑ [2]
- ↑ “จุรินทร์” ลาออกรักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. หวังประชุมเลือก กก.บห.ใหม่ ราบรื่น
- ↑ ประชาธิปัตย์ เคาะ 9 ธ.ค. เลือก กก.บห.ใหม่ ตั้ง “เฉลิมชัย” ควบรักษาการ หน.พรรค
- ↑ 70.0 70.1 ""ผมขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ". เดอะ แมทเทอร์. 9 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""มาดามเดียร์" เว้นวรรค -"สาธิต" ลาออก จากพรรคประชาธิปัตย์". ฐานเศรษฐกิจ. 9 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "'เฉลิมชัย' ผงาด 'หัวหน้า ปชป.คนที่ 9' ลั่นไม่ทำลายหลักการ อุดมการณ์พรรค". กรุงเทพธุรกิจ. 9 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2023.
- ↑ ประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคแล้ว 'เฉลิมชัย' ผงาดคะแนนท่วมท้น 88.5%
- ↑ "เปิดชื่อ กก.บห.พรรคประชาธิปัตย์ ชุดใหม่ "เดชอิศม์" นั่งเลขาฯ พรรค". Thai PBS.
- ↑ Thongsak (2024-08-22). "เปิดข้อบังคับ ปชป.ส่อเค้าถูก 'เฉลิมชัย' กินรวบ!".
- ↑ ""เดชอิศม์" รอเทียบเชิญร่วมรัฐบาล ยัน ปชป.ไม่แตก ยึดมติพรรค". Thai PBS.
- ↑ "เสถียรภาพรัฐบาล พท.พุ่ง 348 ดูด ปชป.- พรรคเล็ก โดดเดี่ยว 'ปชช.' ฝ่ายค้านวูบ 145". bangkokbiznews. 2024-08-22.
- ↑ "พรรคประชาธิปัตย์ - ค้นหาด้วย Google". www.google.com.
- ↑ "'ชวน'กรีดยับ! ปชป.ร่วมรัฐบาล เรื่องดีเลิกเหนียมอยู่บทบาทไหน ลั่นไม่ลาออก". bangkokbiznews. 2024-08-22.
- ↑ ""ประชาธิปัตย์" หากเข้าร่วมรัฐบาล ใครได้ใครเสีย". Thai PBS.
- ↑ 81.0 81.1 "เปิดเทียบเชิญ'เพื่อไทย'ชวน'ประชาธิปัตย์'ร่วมรัฐบาล ยกมีอุดมการณ์ร่วมกัน". แนวหน้า. 28 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2024.
- ↑ "ประชาธิปัตย์ รับหนังสือเพื่อไทย เชิญร่วมรัฐบาล ประชุม กก.บห.พรรคพรุ่งนี้". ประชาชาติธุรกิจ. 28 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ตามคาด! ประชาธิปัตย์ มีมติ 43 ต่อ 4 เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย". ข่าวสด. 29 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 84.0 84.1 ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคราชกิจจานุเบกษา เล่ม 103 ตอนที่ 82ก วันที่ 15 พฤษภาคม 2529
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยอมรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 104 ตอนที่ 47ก วันที่ 16 มีนาคม 2530
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหาร พรรคประชาธิปัตย์ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 110ง วันที่ 31 ตุลาคม 2543
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 32ง วันที่ 21 เมษายน 2548
- ↑ “อภิสิทธิ์”นั่งหัวหน้า ปชป.-โหวต“เฉลิมชัย”เป็นเลขาธิการพรรค จากแนวหน้า
- ↑ "กระบี่เปิดตัว"สมบูรณ์"ลงชิงนายกอบจ.นามพรรคปชป". mgronline.com. 2008-03-08.
- ↑ "เด็ก ปชป.กระบี่พ่ายศึก อบจ.กลุ่มรักกระบี่". mgronline.com. 2008-04-21.
- ↑ "กูเซ็งยังรักษาเก้าอี้นายกอบจ.นราฯได้อีกสมัย". www.sanook.com/news. 2012-10-15.
- ↑ "ปชป.ยังรั้งนายก อบจ.สงขลา "ไพเจน มากสุวรรณ์" ชนะ "ผู้การชาติ" เพื่อนบิ๊กตู่ไม่ถึง 2 หมื่นคะแนน". mgronline.com. 2020-12-21.
- ↑ "ส่งเสาไฟฟ้าลงก็ชนะ? ทำไมคนใต้ถึงรักประชาธิปัตย์อย่างมั่นคง คุยกับ 2 นักรัฐศาสตร์". The MATTER. 19 January 2022. สืบค้นเมื่อ 21 May 2022.
- ↑ Thai political slang explained: พรรคแมลงสาบ or ‘cockroach party’
- ↑ https://prachatai.com/journal/2011/06/35668 กรณ์ มั่นใจกระแสแรง เปรียบประชาธิปัตย์เป็น “แมลงสาบ" ฆ่าไม่ตาย
- ↑ 'ชูวิทย์' เชื่อ 'สุเทพ' โค่นระบอบทักษิณไม่ได้ แนะปชป.ลาออกยกพรรค
- ↑ "มติ "ประชาธิปัตย์" เอกฉันท์ ลาออก ส.ส.ยกพรรค! "อภิสิทธิ์" ย้ำ "ปู" จุดไฟเผาบ้าน ต้องดับไฟไล่ขโมย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-12. สืบค้นเมื่อ 2013-12-14.
- ↑ "ถึงคิว "ชูวิทย์" ลาออกตาม ปชป. เชื่อสภาเป็ดง่อยเดินต่อไม่ได้". mgronline.com. 2013-12-08.
- ↑ "รับไม่ได้! อภิสิทธิ์ โพล่งคำด่า "โง่" บนเวทีปราศรัย". www.sanook.com/news. 2013-09-09.
- ↑ "3 รมต. ในรัฐบาลประยุทธ์ พ้นตำแหน่ง 8 ผู้ต้องโทษ กปปส. เข้าคุกทันที". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-11-30.
- ↑ "เปิดชื่อ 71 ว่าที่ ส.ส. กกต.จ่อแขวน เหตุร้องคัดค้าน". Thai PBS.
- ↑ "เดชอิศม์ เฮ! กกต.สงขลายกคำร้อง ปมผู้สมัคร รทสช. กล่าวหาทำผิด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส." matichon.co.th.
- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ลาออก! เหตุไม่พอใจได้เงินเดือน ส.ส. เพิ่ม?
- ↑ ศักดิ์ดวง, ศุภเดช (2014-03-08). "ย้อนเส้นทางการเมืองตระกูล"ศรีวิกรม์" "พ่อ-พี่-ทยา" เมื่อเลือดข้นน้อยกว่าน้ำ!". สำนักข่าวอิสรา. สืบค้นเมื่อ 2017-06-15.
- ↑ บางปะกง, บางนา (2014-03-10). "4 ทศวรรษ'ศรีวิกรม์' ภาพสะท้อนธุรกิจการเมือง". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 2014-06-15.
- ↑ "มติ ปชป.เคาะ "งดออกเสียง" โหวต "เศรษฐา"นายกฯ คนที่ 30". Thai PBS.
- ↑ "เปิดชื่อ 16 งูเห่าพรรคประชาธิปัตย์ โหวตหนุน "เศรษฐา"". องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. 2023-08-22. สืบค้นเมื่อ 2023-10-10.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "'ชัยชนะ' ยกกัมพูชาบอกเลือกตั้งที่หลังได้นายกฯ ก่อนลั่นไม่ใช่งูเห่าเพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่!". 2023-08-23.
- ↑ ""เดชอิศม์" นำ 20 ส.ส.ปชป.แจงเหตุโหวตให้ "เศรษฐา" ทำเพื่อ ปชช. ปัดกระหือรือร่วมรัฐบาล ยันพรรคไม่มีมติก่อนยกมือ". mgronline.com. 2023-08-24.
- ↑ "ชวน"เผยพรรคจะเหลือกี่คนก็ยังอยู่
- ↑ ""เชาว์" อัด "เฉลิมชัย" ตระบัดสัตย์ แนะจับตา 2 โควตา รมต. ยังว่าง ใครแอบหวัง". ไทยรัฐ. 10 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2023.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ไปอีกคน! สาธิต ลาออกจากพรรค ปชป. ซัดคนมานำพรรคเป็นนักการเมืองก็ยังไม่ได้". posttoday. 2023-12-09.
- ↑ "เลือดเริ่มไหล ! "หมอสุรันต์" ประกาศลาออกสมาชิก "ประชาธิปัตย์" ตาม "อภิสิทธิ์"". สยามรัฐ. 2023-12-09.
- ↑ ""อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์" ลาออกอีกราย ! ย้ำรัก "ประชาธิปัตย์" ไม่เสื่อมคลาย แม้ต้องตัดสินใจ ที่ฝืนความรู้สึก". สยามรัฐ. 2023-12-11.
- ↑ "เลือดไหลไม่หยุด! "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" โพสต์ลาออกจากสมาชิกพรรค ปชป". สยามรัฐ. 2023-12-11.
- ↑ ฐานเศรษฐกิจ (2023-12-11). "ปิดฉาก 31 ปี "อัญชลี วานิช เทพบุตร" อดีตส.ส.ภูเก็ต โบกมือลา ปชป. อีกคน". thansettakij.
- ↑ ""อานิก" รายล่าสุดลาออกปชป. บอกวันนี้ไม่ใช่พรรคที่ภูมิใจ ได้ยินแต่อยากร่วมรัฐบาลพันธุ์ทาง". mgronline.com. 2023-12-12.
- ↑ "ไหลไม่หยุด! 'โหรบุญเลิศ' ลา ปชป.อีกราย มีผลวันนี้". mgronline.com. 2023-12-12.
- ↑ "สะพัด!ธรรมนัส ยกก๊วนย่องพบ "เฉลิมชัย" ดีลปชป.ร่วมเพื่อไทย". ไทยพีบีเอส. 21 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2024.
- ↑ ""ประชาธิปัตย์" หากเข้าร่วมรัฐบาล ใครได้ใครเสีย". ไทยพีบีเอส. 22 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2024.
- ↑ "ประชาธิปัตย์ ตอบรับร่วมรัฐบาล ส่ง 2 ชื่อ นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี". ข่าวสด. 24 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2024.
- ↑ "เพื่อไทยส่งเทียบเชิญ ปชป. ร่วมรัฐบาล สรวงศ์ขอปล่อยผ่านอดีต ทิ้งความขัดแย้ง". THE STANDARD. 2024-08-28.
- ↑ "แม่ยก ดึงสติปชป. ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ระวังสมัยหน้าได้ สส.ต่ำสิบ". pptvhd36.com. 2024-08-28.
- ↑ "อดีตผู้สมัครขู่ ปชป.ร่วมรัฐบาลขัดข้อบังคับฯ 26-27 ปมมาตรฐานจริยธรรม ไม่ทำตามอุดมการณ์พรรค". mgronline.com. 2024-08-28.
- ↑ "เพจพรรคประชาธิปัตย์โดนถล่ม แฟนคลับค้านมติร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ผิดหวัง อุดมการณ์หาย". มติชน. 30 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "ต้านไม่ไหว! "ประชาธิปัตย์" ทนกระแสสังคมไม่ไหว ปิดคอมเมนต์ เจอแฟนคลับถล่มเละ หลังร่วมรัฐบาลเพื่อไทย". สยามรัฐ. 31 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เปิดแชทหลุด ปชป.รัวรีพอร์ตชาวเน็ต หลัง แห่ถล่มเพจพรรค ปม จับมือเพื่อไทย". คมชัดลึก. 31 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""ศิริโชค" ลาออก "ปชป." หลังเป็นสมาชิกพรรคกว่า 30 ปี". ไทยพีบีเอส. 29 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ""พงศกร ขวัญเมือง" หมดศรัทธา ปชป. ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคหลังมติร่วมรัฐบาล". ผู้จัดการออนไลน์. 30 สิงหาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "เปิดตำนานคน ปชป."แพแตก"ตั้งพรรคการเมืองใหม่". thansettakij. 2022-08-06.
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ เก็บถาวร 2023-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พรรคประชาธิปัตย์ ที่เฟซบุ๊ก