ประวัติศาสนาพุทธ
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ (บาลี: buddhasāsana พุทฺธสาสนา, สันสกฤต: buddhaśāsana พุทธศาสนา) เป็นศาสนาที่มีพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดา มีพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง และตรัสสอนไว้เป็นหลักคำสอนสำคัญ มีพระสงฆ์ (ภิกษุ ภิกษุณี) สาวกผู้ตัดสินใจออกบวชเพื่อศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอน ธรรม-วินัย ของพระบรมศาสดา เพื่อบรรลุสู่จุดหมายคือพระนิพพาน และสร้างสังฆะ เป็นชุมชนเพื่อสืบทอดคำสอนของพระบรมศาสดา รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย1 นอกจากนี้ในพระพุทธศาสนา ยังประกอบคำสอนสำหรับการดำรงชีวิตที่ดีงาม สำหรับผู้ที่ยังไม่ออกบวช (คฤหัสถ์ - อุบาสก และอุบาสิกา) ซึ่งหากรวมประเภทบุคคลที่ที่นับถือและศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา แล้วจะจำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือที่เรียกว่า พุทธบริษัท 4
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาอเทวนิยม ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเป็นเจ้าหรือพระผู้สร้าง และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ว่าทุกคนสามารถพัฒนาจิตใจ ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ด้วยความเพียรของตน กล่าวคือ ศาสนาพุทธ สอนให้มนุษย์บันดาลชีวิตของตนเอง ด้วยผลแห่งการกระทำของตน ตาม กฎแห่งกรรม มิได้มาจากการอ้อนวอนขอจากพระเป็นเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกกาย[1] คือ ให้พึ่งตนเอง[2] เพื่อพาตัวเองออกจากกอง ทุกข์[3] มีจุดมุ่งหมายคือการสอนให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงในโลกด้วยวิธีการสร้าง ปัญญา ในการอยู่กับความทุกข์อย่างรู้เท่าทันตามความเป็นจริง วัตถุประสงค์สูงสุดของศาสนาคือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงและวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิด เช่นเดียวกับที่พระศาสดาทรงหลุดพ้นได้ด้วยกำลังสติปัญญาและความเพียรของพระองค์เอง ในฐานะที่พระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพเจ้าหรือทูตของพระเจ้าองค์ใด[4] ศาสนาพุทธมีอายุล่วงมา 2,500 ปี
พระพุทธเจ้า พระองค์ปัจจุบันคือพระโคตมพุทธเจ้า มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงเริ่มออกเผยแผ่คำสอนในชมพูทวีป ตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่หลังปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอน ได้ถูกรวบรวมเป็นหมวดหมู่ด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก[5] จนมีการรวบรวมขึ้นเป็นพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดของฝ่าย เถรวาท ที่ยึดหลักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สอง ได้เกิดแนวคิดที่เห็นต่างออกไป[6] ว่าธรรมวินัยสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาและสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดแห่งศาสนาพุทธ[7] แนวคิดดังกล่าวจึงได้เริ่มก่อตัวและแตกสายออกเป็นนิกายใหม่ในชื่อของ มหายาน ทั้งสองนิกายได้แตกนิกายย่อยไปอีกและเผยแพร่ออกไปทั่วดินแดนเอเชียและใกล้เคียง บ้างก็จัดว่า วัชรยาน เป็นอีกนิกายหนึ่ง แต่บ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิกายมหายาน แต่การจัดมากกว่านั้นก็มี[8] หลักพื้นฐานสำคัญของปฏิจสมุปบาท เป็นเพียงหลักเดียวที่เป็นคำสอนร่วมกันของคติพุทธ[9]
ปัจจุบันศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้นับถือส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันศาสนาพุทธ ได้มีผู้นับถือกระจายไปทั่วโลก ประมาณ 700 ล้านกว่าคน หรืออาจมีถึงหลัก 1 พันล้านกว่าคน (อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา) [10][11][12] ด้วยมีผู้นับถือในหลายประเทศ ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาสากล[13]
ชาติกำเนิด
[แก้]พระโคตมพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา ประสูติในราชตระกูลศากยวงศ์ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์ทรงออกผนวชเมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา บำเพ็ญเพียรอยู่ 6 ปี จึงตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา และทรงประกาศพระศาสนาอยู่ 45 ปี จึงเสด็จปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา[14] ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการนับปีพุทธศักราช
หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน จึงเกิดขึ้นแก่พระโกณฑัญญะ จนทำให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระโกณฑัญญะจึงกราบทูลขออุปสมบทในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งนับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก[15] และพระรัตนตรัยจึงเกิดขึ้นในโลกเช่นกันในวันนั้น ต่อมา พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมอื่น ๆ เพื่อโปรดพระปัญจวัคคีย์ที่เหลืออีก 4 องค์ จนบรรลุเป็นพระโสดาบันทั้งหมด หลังจากพระปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระโสดาบันหมดแล้ว พระองค์ทรงแสดงธรรมอนัตตลักขณสูตร ซึ่งทำให้พระปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
ต่อจากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระยสะและพวกอีก 54 ท่าน จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ในครั้งนั้นจึงมีพระอรหันต์รวมทั้งพระองค์ด้วยทั้งสิ้น 61 พระองค์ พระพุทธเจ้าจึงพระดำริให้พระสาวกออกประกาศศาสนา โดยมีพระปฐมวาจาในการส่งพระสาวกออกประกาศศาสนาว่า
ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย เราหลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ และของมนุษย์ แม้พวกเธอได้หลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวงทั้งของทิพย์และของมนุษย์เช่นกัน พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าไปทางเดียวกัน 2 รูป จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ในท่ามกลางและในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะให้ครบถ้วนบริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลี คือ กิเลส ในจักษุเพียงเล็กน้อยมีอยู่ แต่เพราะโทษที่ยังไม่ได้สดับธรรม จึงต้องเสื่อมจากคุณที่พึงจะได้รับ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้รู้ทั่วถึงธรรมมีอยู่ แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม[16]
จึงทำให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง และแผ่ขยายไปในชมพูทวีปอย่างรวดเร็ว ชาวชมพูทวีปพากันละทิ้งลัทธิเดิม แล้วหันมานับถือเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นโดยลำดับและเผยแผ่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน
พุทธศาสนาหลังพระพุทธองค์ปรินิพาน
[แก้]เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว พระพุทธศาสนายังเจริญในอินเดียสืบมา ความเจริญของพุทธศาสนาขึ้นกับว่าได้รับการส่งเสริมจากผู้มีอำนาจในสมัยนั้นหรือไม่ ถ้ามีก็มีความรุ่งเรืองมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลากาลล่วงไป ความขัดแย้งอันเกิดจากการตีความพระธรรมคำสอนและพระวินัยไม่ตรงกันได้เกิดขึ้นในหมู่พระสงฆ์ จึงมีการแก้ไขโดยมีการจัดทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยที่ถูกต้องไว้เป็นหลักฐานสำหรับยึดถือเป็นแบบแผนต่อไป
การสังคายนาครั้งที่ 1
[แก้]การสังคายนาครั้งที่ 1 กระทำขึ้น หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ 3 เดือน ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา กรุงราชคฤห์ โดยพระมหากัสสปะเป็นประธาน พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ พระอานนท์เป็นผู้ให้คำตอบเกี่ยวกับพระธรรม และพระอุบาลีเป็นผู้ให้คำตอบเกี่ยวกับพระวินัย มีพระอรหันต์เข้าร่วมในการสังคายนา 500 รูป กระทำ 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ [17]
การสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะพระสุภัททะกล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยหลังพุทธปรินิพพานเพียง 9 วัน ทำให้พระมหากัสสปะ ดำริจัดสังคายนาขึ้น ในการสังคายนาครั้งนี้ พระอานนท์ได้กล่าวถึงพุทธานุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ที่ประชุมตกลงกันไม่ได้ว่าสิกขาบทเล็กน้อยคืออะไร พระมหากัสสปะจึงให้คงไว้อย่างเดิม
เมื่อสังคายนาเสร็จแล้ว พระปุราณะพร้อมบริวาร 500 รูป จาริกมายังแคว้นราชคฤห์ ภิกษุที่เข้าร่วมสังคายนาได้แจ้งเรื่องสังคายนาให้พระปุราณะทราบ พระปุราณะแสดงความเห็นคัดค้านเกี่ยวกับสิกขาบทบางข้อและยืนยันปฏิบัติตามเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นเค้าความแตกแยกในคณะสงฆ์[18] แต่ไม่ถือว่าเป็นสังฆเภท เนื่องจากพระปุราณะยึดถือตามพุทธานุญาตที่ทรงให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้
การสังคายนาครั้งที่ 2 : การแตกนิกาย
[แก้]เมื่อพุทธปรินิพพานล่วงไป 89 ปี ภิกษุชาววัชชี เมืองเวสาลี ได้ตั้งวัตถุ 10 ประการ ซึ่งผิดไปจากพระวินัย ทำให้มีทั้งภิกษุที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนเกิดการแตกแยกในหมู่สงฆ์ พระยสกากัณฑบุตร ได้จาริกมาเมืองเวสาลี และทราบเรื่องนี้ ได้พยายามคัดค้าน แต่ภิกษุชาววัชชีไม่เชื่อฟัง ภิกษุที่สนับสนุนพระยสกากัณฑบุตรจึงนำเรื่องไปปรึกษาพระเถระผู้ใหญ่ในขณะนั้นได้แก่ พระเรวตะ พระสัพกามีเถระ เป็นต้น จึงตกลงให้ทำการสังคายนาขึ้นอีกครั้ง
ภิกษุชาววัชชีไม่ยอมรับและไม่เข้าร่วมการสังคายนานี้ แต่ไปรวบรวมภิกษุฝ่ายตนประชุมทำสังคายนาต่างหาก เรียกว่า มหาสังคีติ และเรียกพวกของตนว่า มหาสังฆิกะ[19] ทำให้พุทธศาสนาในขณะนั้นแตกเป็น 2 นิกาย คือ ฝ่ายที่นับถือมติของพระเถระครั้งปฐมสังคายนาเรียก เถรวาท ฝ่ายที่ถือตามมติของอาจารย์ของตนเรียก อาจาริยวาท[20] [21]
อีกราว 100 ปีต่อมา สงฆ์ทั้ง 2 ฝ่ายมีการแตกนิกายออกไปอีก หลักฐานฝ่ายภาษาบาลีว่าแตกไป 18 นิกาย หลักฐานฝ่ายภาษาสันสกฤตว่า แตกไป 20 นิกาย ได้แก่[22]
หลักฐานฝ่ายบาลี
[แก้]- เถรวาท แยกเป็น
- นิกายมหาสังฆิกะ แยกเป็น
| style="width: 50%;text-align: left; vertical-align: top; " |
หลักฐานฝ่ายสันสกฤต
[แก้]- เถรวาท แยกเป็น
- นิกายมหาสังฆิกะ แยกเป็น
|}
การสังคายนาครั้งที่ 3
[แก้]เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อกำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนา มีพระโมคคัลลีบุตรติสสะเป็นประธาน ใช้เวลา 9 เดือนจึงสำเร็จ ในการสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ได้แต่งกถาวัตถุขึ้น เพื่ออธิบายธรรมให้แจ่มแจ้ง[23]
หลังจากการสังคายนาสิ้นสุดลง พระเจ้าอโศกฯได้ส่งสมณทูต 9 สายออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ
- คณะพระมัชฌันติกเถระ ไปแคว้นแคชเมียร์และแคว้นคันธาระ
- คณะพระมหาเทวะ ไปมหิสกมณฑล ซึ่งคือ แคว้นไมซอร์และดินแดนลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ในอินเดียใต้ปัจจุบัน
- คณะพระรักขิตะ ไปวนวาสีประเทศ ได้แก่ แคว้นบอมเบย์ในปัจจุบัน
- คณะพระธรรมรักขิตะ ไปอปรันตกชนบท แถบทะเลอาหรับทางเหนือของบอมเบย์
- คณะพระมหาธรรมรักขิตะ ไปแคว้นมหาราษฎร์
- คณะพระมหารักขิตะ ไปโยนกประเทศ ได้แก่แคว้นกรีกในเอเชียกลาง อิหร่าน และเตอร์กิสถาน
- คณะพระมัชฌิมเถระ ไปแถบเทือกเขาหิมาลัย คือ เนปาลปัจจุบัน
- คณะพระโสณะ และพระอุตตระ ไปสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไทย พม่า มอญ
- คณะพระมหินทะ ไปลังกา
กำเนิดมหายาน
[แก้]พระพุทธศาสนามหายานเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 6-7 โดยเป็นคณะสงฆ์ที่มีความเห็นต่างจากนิกายเดิมที่มีอยู่ 18 - 20 นิกายในขณะนั้น แนวคิดของมหายานพัฒนามาจากแนวคิดของนิกายมหาสังฆิกะและนิกายที่แยกไปจากนิกายนี้ จุดต่างจากนิกายดั้งเดิมคือคณะสงฆ์กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการเป็นพระโพธิสัตว์และเน้นบทบาทของคฤหัสถ์มากกว่าเดิม[24] จึงแยกออกมาตั้งนิกายใหม่ เหตุที่มีการพัฒนาลัทธิมหายานขึ้นนั้นเนื่องจาก
- แรงผลักดันจากการปรับปรุงศาสนาพราหมณ์ มีการแต่งมหากาพย์รามายณะและมหาภารตะเพื่อดึงดูดใจผู้อ่านให้ภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า กำหนดให้มีพระเจ้าสูงสุด 3 องค์ คือพระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ ศาสนาพราหมณ์จึงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ฝ่ายพุทธศาสนาจึงจำเป็นต้องปรับตัว
- แรงบันดาลใจจากบุคลิกภาพของพระพุทธองค์ ฝ่ายมหายานเห็นว่าพระพุทธองค์เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ ไม่ควรสิ้นสุดหลังจากปรินิพพาน ทำให้เหมือนกับว่าชาวพุทธขาดที่พึ่ง จึงเน้นคุณความดีของพระองค์ ในฐานะที่เป็นพระโพธิสัตว์ เน้นให้ชาวพุทธปรารถนาพุทธภูมิ บำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ช่วยเหลือผู้อื่น ภายหลังจึงเกิดแนวคิดตรีกายของพระพุทธเจ้า
- เกิดจากบทบาทของพุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์ เพราะลัทธิมหายานเน้นที่การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระโพธิสัตว์เป็นคฤหัสถ์ได้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คฤหัสถ์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
คณาจารย์ที่สำคัญของนิกายมหายานคือ พระอัศวโฆษ พระนาคารชุน พระอสังคะ พระวสุพันธุ เป็นต้น หลังจากการก่อตัว พุทธศาสนามหายานซึ่งมีจุดเด่นคือสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเชื่อดั้งเดิมที่แตกต่างไปในแต่ละท้องถิ่นได้ง่ายกว่าพุทธศาสนาเถรวาทซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมได้แพร่กระจายออกจากอินเดียไปในทวีปเอเชียหลายประเทศ[25]
การแผ่ขยายของมหายาน
[แก้]อินเดียและความเสื่อมของพุทธศาสนา
[แก้]พุทธศาสนามหายานในอินเดียได้รับการสนับสนุนโดยราชวงศ์กุษาณ เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์กุษาณ พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์โดยราชวงศ์คุปตะ มีการสร้างศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนา คือ มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา ในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่น พระนาคารชุน พุทธศาสนาในสมัยนี้ได้แพร่หลายไปยังจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่ง การสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์คุปตะจากการรุกรานของชาวฮั่นในพุทธศตวรรษที่ 11[26]
บันทึกของหลวงจีนอี้จิงที่มาถึงอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวว่า พุทธศาสนารุ่งเรืองในอันธระ ธันยกตกะ และ ฑราวิฑ ปัจจุบัน คือรัฐอันธรประเทศและทมิฬนาดู[27] ยังมีชาวพุทธในเนปาล และสสันภะ ในอาณาจักรคังทา (รัฐเบงกอลตะวันตกในปัจจุบัน) และ หรรษวรรธนะ เมื่อสิ้นสุดยุคอาณาจักรหรรษวรรธนะ เกิดอาณาจักรเล็ก ๆ ขึ้นมากมาย โดยมีแคว้นราชปุตให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนา
จนกระทั่ง ยุคจักรวรรดิปาละในเบงกอล พุทธศาสนามหายานรุ่งเรืองอีกครั้ง และได้แพร่หลายไปยังสิกขิมและภูฏาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-17 เมื่อจักรวรรดิปาละปกครองด้วยกษัตริย์ราชวงศ์เสนะที่นับถือศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธจึงเสื่อมลง
ศาสนาพุทธในอินเดียเริ่มเสื่อมลงอย่างช้า ๆ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ความเสื่อมในอินเดียตะวันออกเริ่มตั้งแต่จักรวรรดิปาละหันไปส่งเสริมศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย ส่วนในอินเดียเหนือเริ่มเสื่อมตั้งแต่ พ.ศ. 1736 เมื่อชาวเติร์กที่นับถือศาสนาอิสลาม นำโดยมูฮัมหมัด คิลญี บุกอินเดียและเผามหาวิทยาลัยนาลันทา ตั้งแต่ พ.ศ. 1742 เป็นต้นไป ศาสนาอิสลามแพร่เข้าสู่พิหาร ทำให้ชาวพุทธโยกย้ายไปทางเหนือเข้าสู่เทือกเขาหิมาลัยหรือลงใต้ไปที่ศรีลังกา นอกจากนั้น ความเสื่อมของศาสนาพุทธยังเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของศาสนาฮินดู ภายใต้การนำของขบวนการต่าง ๆ เช่น อัธไวตะ ภักติ และการเผยแผ่ศาสนาของนักบวชลัทธิซูฟี[28]
พุทธศาสนาในเอเชียกลาง
[แก้]ดินแดนเอเชียกลางได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีกล่าวในเอกสารของฝ่ายเถรวาทว่า พ่อค้าสองคนจากแบกเทรีย คือ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้พบพระพุทธเจ้าและปฏิญาณตนเป็นอุบาสก เมื่อกลับไปบ้านเมืองของตนได้สร้างวัดในพุทธศาสนาขึ้น[29]
เอเชียกลางเป็นดินแดนสำคัญในการติดต่อระหว่างจีน อินเดีย และเปอร์เซีย การุกรานของชาวฮั่นโบราณใน พ.ศ. 343 ไปทางตะวันตกเข้าสู่ดินแดนที่ได้รับอารยธรรมจากกรีกโดยเฉพาะอาณาจักรแบกเทรียทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมขึ้น[30] การขยายตัวของพุทธศาสนาขึ้นสู่ทางเหนือทำให้เกิดอาณาจักรพุทธในเอเชียกลาง เมืองบนเส้นทางสายไหมหลายเมืองเป็นเมืองพุทธที่ต้อนรับนักเดินทางทั้งจากตะวันตกและตะวันออก
พุทธศาสนาเถรวาทแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนของชาวเติร์กก่อนที่จะผสมผสานกับนิกายมหายานที่แพร่หลายเข้ามาภายหลัง ดินแดนดังกล่าว คือ บริเวณที่เป็นประเทศปากีสถาน รัฐแคชเมียร์ อัฟกานิสถาน อิหร่านตะวันออกและแนวชายฝั่ง อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และทาจิกิสถาน อาณาจักรโบราณในสมัยนั้น คือ แคว้นคันธาระ แบกเทรีย พาร์เทีย และซอกเดีย ศาสนาพุทธในบริเวณนี้ได้แพร่ต่อไปยังจีน อิทธิพลของความเชื่อท้องถิ่นทำให้ศาสนาพุทธในบริเวณนี้แตกเป็นหลายนิกาย นิกายที่โดดเด่น คือ นิกายธรรมคุปตวาทและนิกายสรวาสติวาทิน[31]
ศาสนาพุทธในเอเชียกลางเสื่อมลงเมื่อศาสนาอิสลามแพร่หลายเข้ามาในบริเวณนี้ มีการทำลายสถูปจำนวนมากในสงครามในพุทธศตวรรษที่ 12 ศาสนาพุทธมีท่าทีว่าจะฟื้นตัวขึ้นอีกเมื่อเจงกีสข่านรุกรานเข้ามาในบริเวณนี้ มีการจัดตั้งดินแดนของอิลข่านและชะกะไตข่าน เมื่อพุทธศตวรรษที่ 18 แต่อีก 100 ปีต่อมา ชาวมองโกลส่วนใหญ่หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ศาสนาอิสลามแพร่หลายไปทั่วเอเชียกลาง
พุทธศาสนาในพาร์เทีย
[แก้]ศาสนาพุทธแพร่ไปทางตะวันตกถึงพาร์เทียอย่างน้อยถึงบริเวณเมิร์บในมาร์เกียนาโบราณ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเติร์กเมนิสถาน ชาวพาร์เทียจำนวนมากมีบทบาทในการแพร่กระจายของพุทธศาสนาโดยนักแปลคัมภีร์ชาวพาร์เทียจำนวนมากแปลคัมภีร์พุทธศาสนาเป็นภาษาจีน
พุทธศาสนาในแอ่งตาริม
[แก้]บริเวณตะวันออกของเอเชียกลาง (เตอร์เกสถานของจีน แอ่งตาริม และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) พบศิลปะทางพุทธศาสนาจำนวนมาก ซึ่งแสดงอิทธิพลของอินเดียและกรีก ศิลปะเป็นแบบคันธาระ และจารึกเขียนด้วยอักษรขโรษฐี[32]
ดินแดนเอเชียกลาง เป็นตัวเชื่อมสำคัญในการเผยแผ่ศาสนาพุทธไปทางตะวันออก ผู้แปลคัมภีร์เป็นภาษาจีนรุ่นแรก ๆ เป็นชาวพาร์เทีย ชาวกุษาณ หรือชาวซอกเดีย การติดต่อแลกเปลี่ยนพุทธศาสนาระหว่างเอเชียกลางกับเอเชียตะวันออกพบมากในพุทธศตวรรษที่ 15 ทำให้ศาสนาพุทธเข้าไปตั้งมั่นในจีนจนปัจจุบัน
พุทธศาสนาในจีน
[แก้]คาดว่าพุทธศาสนาเข้าสู่จีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ 6 โดยผ่านเอเชียกลาง (แม้จะมีเรื่องเล่าว่ามีพระภิกษุเข้าไปถึงประเทศจีนตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) จนในพุทธศตวรรษที่ 13 จีนจึงกลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของพุทธศาสนา
ใน พ.ศ. 610 มีการก่อตั้งศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนาในจีนโดยพระภิกษุสององค์ คือพระกาศยปะมาตังคะ และพระธรรมรักษ์[33] ใน พ.ศ. 611 พระเจ้าหมิงตี้แห่งราชวงศ์ตงฮั่นได้สร้างวัดม้าขาวซึ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน อยู่ใกล้กับเมืองหลวง คือ เมืองลั่วหยาง คัมภีร์ทางพุทธศาสนามหายานแปลเป็นภาษาจีนครั้งแรกโดยพระภิกษุจากกุษาณ โลก๊กเสมา ในเมืองลั่วหยาง ระหว่าง พ.ศ. 721- 732[34]ศิลปะทางพุทธศาสนายุคแรก ๆ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบคันธาระ
พุทธศาสนาในจีนรุ่งเรืองมากในยุคราชวงศ์ถัง[35] ราชวงศ์นี้ได้เปิดกว้างต่อการรับอิทธิพลจากต่างชาติ และมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับอินเดีย มีพระภิกษุจีนเดินทางไปอินเดียมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-16 เมืองหลวงในสมัยราชวงศ์ถัง คือ ฉางอาน กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของพุทธศาสนาและเป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาต่อไปยังเกาหลีและญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม อิทธิพลจากต่างชาติกลายเป็นผลลบในตอนปลายของราชวงศ์ถัง ใน พ.ศ. 1388 จักรพรรดิหวู่ซุง ประกาศให้ศาสนาจากต่างชาติ ได้แก่ ศาสนาคริสต์ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ และศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ผิดกฎหมาย หันไปสับสนุนลัทธิเต๋าแทน ในสมัยของพระองค์มีการทำลายวัด คัมภีร์และบังคับให้พระภิกษุสึก ความรุ่งโรจน์ของพุทธศาสนาจึงสิ้นสุดลง พุทธศาสนานิกายสุขาวดีและนิกายฌานยังคงรุ่งเรืองต่อมา และกลายเป็นนิกายเซนในญี่ปุ่น นิกายฌานในจีนมีอิทธิพลในสมัยราชวงศ์ซ้อง
พุทธศาสนาในเกาหลี
[แก้]พุทธศาสนาเข้าสู่เกาหลีเมื่อราว พ.ศ. 915 เมื่อราชทูตจากจีนนำคัมภีร์และภาพวาดไปยังอาณาจักรโคกูรยอ[36] ศาสนาพุทธรุ่งเรืองในเกาหลีโดยเฉพาะนิกายเซนในพุทธศตวรรษที่ 12 จนกระทั่ง ถึงยุคของการฟื้นฟูลัทธิขงจื๊อในสมัยราชวงศ์โชซ็อนตั้งแต่ พ.ศ. 1935 ศาสนาพุทธจึงเสื่อมลง
พุทธศาสนาในญี่ปุ่น
[แก้]ญี่ปุ่นได้รับพุทธศาสนาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11 โดยพระภิกษุชาวเกาหลีนำคัมภีร์และศิลปะทางพุทธศาสนาเข้าสู่ญี่ปุ่น เมื่อสิ้นสุดยุคของเส้นทางสายไหม พร้อม ๆ กับการเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดีย เอเชียกลางและจีน ญี่ปุ่นยังคงรักษาความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาไว้ได้ ตั้งแต่ พ.ศ. 1253 เป็นต้นมา มีการสร้างวัดและรูปเคารพจำนวนมากในเมืองหลวงคือเมืองนารา โดยการนำแบบแผนทางวัฒนธรรมจีนเข้ามาผสมผสานในศิลปะแบบญี่ปุ่นจากการเดินทางมาของหลวงจีนเจี้ยนเจิน พุทธศิลป์แบบญี่ปุ่นรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 18 ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 พุทธศาสนานิกายเซนรุ่งเรือง รวมทั้งศิลปะที่สืบเนื่องจากนิกายเซนด้วย พุทธศาสนายังคงรุ่งเรืองในญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน
พุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
[แก้]ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 6 การค้าทางบกผ่านเส้นทางสายไหมถูกจำกัดเนื่องจากการขยายตัวในตะวันออกกลางของจักรวรรดิเปอร์เซีย และการเป็นศัตรูกับโรม ชาวโรมันที่ต้องการสินค้าจากตะวันออกไกลจึงทำการค้าทางทะเล ติดต่อระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับจีน ผ่านอินเดีย ในช่วงเวลานี้เองอินเดียมีอิทธิพลเหนือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก ตั้งแต่ภาคใต้ของพม่า ภาคกลางและภาคใต้ของไทย กัมพูชาตอนล่างและภาคใต้ของเวียดนาม การค้าชายฝั่งเจริญขึ้นมาก
ผลจาการเผยแผ่อารยธรรมอินเดียเข้าสู่บริเวณนี้ ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตแพร่เข้ามาพร้อมกับศาสนาพุทธทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน ศาสนาพราหมณ์ได้เผยแผ่เข้ามาในบริเวณนี้เช่นกัน พร้อมกับวรรณคดีสำคัญ คือ รามายณะและมหาภารตะ
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 – 18 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจักรวรรดิที่รุ่งเรืองทางด้านพุทธศาสนาและศิลปะอยู่สองแห่ง ความเชื่อสำคัญในยุคนี้เป็นแบบมหายาน จักรวรรดิที่มีอิทธิพลทางใต้บริเวณหมู่เกาะ คือ อาณาจักรศรีวิชัย ส่วนทางเหนือ คือ อาณาจักรขอม ที่มีการสร้างรูปพระโพธิสัตว์มาก
อาณาจักรศรีวิชัย
[แก้]นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าอาณาจักรศรีวิชัยมีศูนย์กลางอยู่มี่ปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย[37] นับถือพุทธมหายานหรือวัชรยานภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ หลวงจีนอี้จิงบันทึกไว้ว่าที่ปาเล็มบังมีภิกษุมากกว่า 10,000 รูป ท่านอตีศะเคยมาศึกษาที่นี่ ก่อนเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาในทิเบต
ศิลปะทางพุทธศาสนาของศรีวิชัยแพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า ศิลปะศรีวิชัย สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ คือ บุโรพุทโธ (สร้างเมื่อราว พ.ศ. 1323) ในเกาะชวา อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมลงเนื่องจากความขัดแย้งกับราชวงศ์โจฬะในอินเดีย ก่อนจะรับอิทธิพลอารยธรรมอิสลามในพุทธศตวรรษที่ 18
อาณาจักรขอม
[แก้]ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 - 18 พุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดูรุ่งเรืองในอาณาจักรขอม มีการสร้างศาสนสถานมากมายในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นไทยและกัมพูชา รวมทั้งนครวัด มหายานรุ่งเรืองที่สุดในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างนครธม มหายานเสื่อมลงในพุทธศตวรรษที่ 16 ไล่เลี่ยกับความเสื่อมของมหายานในอินเดีย จากนั้น พุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์เข้ามามีอิทธิพลแทนที่
กำเนิดวัชรยาน
[แก้]พุทธศาสนานิกายวัชรยาน หรือ พุทธศาสนาลัทธิตันตระ กำเนิดขึ้นครั้งแรกทางตะวันออกของอินเดีย เมื่อราว พ.ศ. 700 - 1200[38] บางครั้งจัดเป็นส่วนหนึ่งของมหายานแต่บางครั้งก็แยกตัวเองออกมาต่างหาก หลักปรัชญาของวัชรยานเป็นแบบเดียวกับมหายาน แต่มีวิธีการหรือ "อุปาย" ต่างไป โดยมีการใช้ญาณทัศน์และโยคะอื่น ๆ เข้ามา การฝึกเหล่านี้ได้อิทธิพลจากลัทธิตันตระของศาสนาฮินดู วัชรยานในทิเบต ก่อตั้งโดยท่านปัทมสัมภวะ
วัชรยานยุคแรก ผู้ฝึก เรียกว่า มหาสิทธา มักอยู่ตามป่า จนกระทั่งราว พ.ศ. 1400 วัชรยานจึงแพร่เข้าสู่มหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนาในยุคนั้น คือ มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา[39] วัชรยานเสื่อมจากอินเดียเมื่อราว พ.ศ. 1700 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรุกรานอินเดียของชาวมุสลิม ทำให้ขาดผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา วัชยานได้แพร่หลายไปสู่ทิเบตและกลายเป็นพุทธศาสนานิกายหลักที่นั่น บางส่วนได้แพร่หลายต่อไปยังจีนและญี่ปุ่นเกิดเป็นนิกายเชนเหยน หรือมี่จุงในจีน และนิกายชินกอนในญี่ปุ่น
การฟื้นฟูนิกายเถรวาท
[แก้]ศาสนาพุทธในอินเดียเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่ราว พ.ศ. 1600 - 1700 เนื่องมาจากการทำสงครามกับชาวมุสลิมที่เข้ามารุกรานอินเดีย และอาจเกิดจากการเน้นศึกษาด้านปริยัติของเหล่าพระภิกษุ ขาดการปฏิบัติ และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ทำให้การนับถือพุทธศาสนามหายานในดินแดนที่เป็นประเทศอินเดียและเนปาลในปัจจุบันเสื่อมลงด้วย ในช่วงเวลานั้น การค้าขายทางทะเลระหว่างตะวันออกกลางไปยังจีนผ่านทางศรีลังกาเริ่มเฟื่องฟูขึ้น และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการฟื้นฟูนิกายเถรวาทที่ใช้ภาษาบาลีที่ศรีลังกาอีกครั้ง นิกายนี้จึงแพร่หลายไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิพม่าครั้งแรกเป็นผู้รับพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์นี้เข้าสู่พม่า มีการสร้างเจดีย์ในเมืองหลวงมากมาย[40] แม้ในกาลต่อมา อำนาจของพม่าเสื่อมถอยลงเพราะถูกมองโกลรุกราน และไทยมีอำนาจขึ้นแทน พุทธศาสนานิกายเถรวาทก็ยังคงเป็นนิกายหลักในพม่า
พุทธศาสนานิกายเถรวาทจากลังกาแพร่หลายเข้าสู่ประเทศไทยที่นครศรีธรรมราชและสุโขทัยเมื่อราว พ.ศ. 1800[41] และยังคงนับถือสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน พุทธศาสนานิกายเถรวาทได้แพร่หลายจากไทยไปยังลาวและกัมพูชา ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของไทยมาก่อน ส่วนดินแดนในเขตหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาณาจักรศรีวิชัยที่เคยนับถือนิกายมหายานเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามเกือบทั้งหมด รวมทั้ง ดินแดนแถบภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย
พุทธศาสนาในโลกตะวันตก
[แก้]มีหลักฐานว่าพุทธศาสนาแพร่หลายไปถึงตะวันตกมานาน ชาดก ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนา มีผู้แปลเป็นภาษาซีเรียค และภาษาอาหรับ เช่น Kalilag and Dammag พุทธประวัติแปลเป็นภาษากรีกโดย จอห์นแห่งดามัสกัส ได้เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวคริสต์ในนามของบาร์ลาอัมและโยซาฟัต เรื่องนี้เป็นที่นิยมของชาวคริสต์ จนกระทั่ง เมื่อประมาณ พ.ศ. 1800 ชาวคริสต์ยกย่องโยซาฟัตให้เป็นนักบุญแห่งนิกายคาทอลิก
ความสนใจในพุทธศาสนาเริ่มขึ้นอีกครั้งในยุคอาณานิคม เมื่อมหาอำนาจตะวันตกได้มีโอกาสศึกษาศาสนาในรายละเอียดมากขึ้น ปรัชญาในยุโรปสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจากศาสนาในตะวันออกมาก การเปิดประเทศของญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2396 ทำให้มีการยอมรับศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมทั้งวัฒนธรรมเกี่ยวกับศาสนาพุทธด้วย งานแปลคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเป็นภาษาตะวันตกเริ่มขึ้นโดย Max Muller ผู้จัดพิมพ์ Sacred Books of the East "คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งตะวันออก" มีการจัดตั้งสมาคมบาลีปกรณ์เพื่อจัดพิมพ์พระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพุทธศาสนาอื่นๆ แต่ความสนใจยังจำกัดในหมู่ปัญญาชน [42]
ศาสนาพุทธเริ่มเป็นที่สนใจของชาวยุโรปอย่างกว้างขวาง ในพุทธศตวรรษที่ 25 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2เป็นต้นมา ความเชื่อทางศาสนาของชาวตะวันตกเปลี่ยนไปเน้นที่ความเชื่อของปัจเจกบุคคลมากขึ้น ทำให้ศาสนาพุทธเป็นที่ดึงดูดใจ จากการที่มีข้อพิสูจน์ให้พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง มีการตั้งองค์กรทางพุทธศาสนาระดับโลกโดยชาวพุทธจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือรวม 27 ประเทศที่ศรีลังกาเมื่อ พ.ศ. 2493 ในชื่อองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก[43]
ประเทศอังกฤษ
[แก้]พุทธศาสนาเข้าสู่อังกฤษครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2448 โดย J.R. Jackson เป็นผู้ก่อตั้งพุทธสมาคมในอังกฤษ และ Charls Henry Allen Bernett ผู้ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระภิกษุในพม่า มีฉายาว่า "อานันทเมตเตยยะ" เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษคนแรก [44] คณะสงฆ์ไทยส่งคณะทูตไปเผยแผ่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2507 และได้สร้างวัดไทยชื่อวัดพุทธปทีปในลอนดอน
ประเทศเยอรมนี
[แก้]มีการตั้งสมาคมเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2446 ต่อมามีชาวเยอรมันไปบวชเป็นพระภิกษุที่ศรีลังกา การเผยแผ่พุทธศาสนาในเยอรมันชะงักไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และถูกห้ามในสมัยของฮิตเลอร์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีการฟื้นฟูพุทธศาสนาโดยพระภิกษุจากพม่า และมีการติดต่อกับพุทธสมาคมในศรีลังกา มีวัดไทยในเบอร์ลินเช่นกัน [45]
สหรัฐอเมริกา
[แก้]พุทธศาสนาเข้าสู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. 2448 โดยเป็นพุทธศาสนาจากจีนและญี่ปุ่น ในยุคต่อมาจึงเป็นพุทธศาสนาแบบทิเบต ใน พ.ศ. 2504 มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเปิดสอนปริญญาเอกสาขาพุทธศาสตร์เป็นแห่งแรกในสหรัฐ คณะสงฆ์ไทยสร้างวัดไทยแห่งแรกในสหรัฐเมื่อ พ.ศ. 2515 [46]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต คาถาธรรมบท อัตตวรรคที่ ๑๒. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[1]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค อัตตทีปวรรคที่ ๕ อัตตทีปสูตร. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[2]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เจลสูตร (ว่าด้วยการมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[3]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑2 อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[4]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ปัญจสติกขันธกะ (เรื่องพระมหากัสสปเถระ สังคายนาปรารภคำของพระสุภัททวุฑฒบรรพชิต). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[5]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ เรื่องพระสัมภูตสาณวาสีเถระ. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[6]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ สัตตสติกขันธกะ ที่ ๑๒ (ถามและแก้วัตถุ ๑๐ ประการ). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[7]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ Nine Yana categorisation
- ↑ Dalai Lama. The Middle Way. Wisdom Publications 2009, page 22.
- ↑ Major Religions Ranked by Size เก็บถาวร 2008-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; U.S. State Department's International Religious Freedom Report 2004. http://www.state.gov/g/drl/rls/irf/2004/ Accessed 20 September 2008; Garfinkel, Perry. "Buddha Rising", National Geographic Dec. 2005: 88–109; CIA - The World Factbook เก็บถาวร 2010-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Lopez, Story of Buddhism. p. 239
- ↑ Lopez, Buddhism. p. 248
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 602
- ↑ ศาสดาและประวัติ เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์กรมการศาสนา
- ↑ พระอัญญาโกณฑัญญะ เอตทัคคะในทางรัตตัญญู
- ↑ พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ฉบับหลวง (เล่ม 4) 2525 ; 32/32
- ↑ อภิชัย, 2539 น. 10-11
- ↑ อภิชัย, 2539 น. 12-21
- ↑ อภิชัย, 2539 น. 12-21
- ↑ อภิชัย, 2539 น. 12-21
- ↑ หลังจากสังคายนาครั้งที่ 2 อาจาริยวาทยังมีลักษณะใกล้เคียงกับเถรวาทมากกว่ามหายานในปัจจุบัน ต่างกันที่ความเห็นเกี่ยวกับพระอรหันต์และพระพุทธเจ้า และวินัยเป็นหลัก ยังไม่เน้นที่การเป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนมหายานแบบปัจจุบันเริ่มขึ้นหลังจากนั้นในยุคที่มีการปรับตัวเพื่อสู้กับศาสนาฮินดู โดยจุดที่ต่างจากยุคแรกคือเน้นความสำคัญที่การเป็นพระโพธิสัตว์มากขึ้นส่วนวินัยพัฒนามาจากอาจาริยวาทแบบเดิมและเพิ่มวินัยของพระโพธิสัตว์เข้ามา ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ อภิชัย, 2539 และ ประยงค์, 2548
- ↑ อภิชัย, 2539 น. 41-79
- ↑ อภิชัย, 2539 น. 30-35
- ↑ อภิชัย, 2539 น. 83-93
- ↑ อภิชัย, 2539 น. 83-93
- ↑ ประยงค์, 2548
- ↑ "Xuanzang's Time and his Footsteps". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-24. สืบค้นเมื่อ 2007-08-11.
- ↑ เสถียร, 2513
- ↑ Richard Foltz 1999
- ↑ Richard Foltz, 1999
- ↑ สุชาติ, 2545 น. 51-59
- ↑ สุชาติ, 2545 น. 51
- ↑ พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย, น.580-581
- ↑ พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย, น.580-581
- ↑ ประยงค์, 2548 น.108-109
- ↑ สุชาติ, 2545 น.59
- ↑ นงคราญ, 2544 น. 170-178 (ดูการวิเคราะห์ที่ตั้งของศรีวิชัยได้ในหนังสือเล่มนี้)
- ↑ ประยงค์, 2548 น.77
- ↑ ประยงค์, 2548 น. 77-78 และอภิชัย, 2539
- ↑ สุชาติ, 2545 น.101
- ↑ สุชาติ, 2545 น.106-107
- ↑ สุชาติ, 2545 น.171
- ↑ พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล, 2548 น.581-582
- ↑ สุชาติ, 2545 น.173
- ↑ สุชาติ, 2545 น.170-175
- ↑ สุชาติ, 2545 น. 175
- นงคราญ ศรีชาย. ตามรอยศรีวิชัย.กทม. มติชน.2544
- ประยงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม.โอเดียนสโตร์. 2548
- พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากลอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัญฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. ราชบัณฑิตยสถาน. 2548
- สุชาติ หงษา. ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาจากอดีตถึงปัจจุบัน. กทม. สถาบันบันลือธรรม. 2545
- เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. บรรณาคาร. 2513
- อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์. พระพุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กทม. มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2539
- "Japanese Buddhism" by Sir Charles Eliot, ISBN 0-7103-0967-8
- "Religions of the Silk Road" by Richard Foltz (St. Martin’s Griffin, New York, 1999) ISBN 0-312-23338-8
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
[แก้]- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). พระพุทธศาสนาในอาเซีย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2548. ISBN 978-975-005-933-9
- "Dictionary of Buddhism" by Damien Keown (Oxford University Press, 2003) ISBN 0-19-860560-9
- "Living Zen" by Robert Linssen (Grove Press, New York, 1958) ISBN 0-8021-3136-0
- "The Shape of Ancient Thought. Comparative studies in Greek and Indian Philosophies" by Thomas McEvilley (Allworth Press, New York, 2002) ISBN 1-58115-203-5
- "Hinduism and Buddhism: An Historical Sketch" by Sir Charles Eliot, ISBN 81-215-1093-7
- "The Crossroads of Asia. Transformation in Image and symbol", 1992, ISBN 0-9518399-1-8
- "Revival of Buddhism in India and Role of Dr. Baba Saheb B.R. Ambedkar" by Bhagwan Das (Dalit Today Prakashan, 18/455, Indira Nagar, Lucknow, U.P., India, 1998)