พระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส
พระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Charles X de France; ชาร์ลดิสเดอฟร็องส์ 9 ตุลาคม ค.ศ.1757 – 6 พฤศจิกายน ค.ศ.1836) พระนามเดิมว่า ชาร์ลฟิลิปป์ เคานต์แห่งอาร์ตัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1824 จนถึง 2 สิงหาคม ค.ศ. 1830[1] ทรงเป็นพระปิตุลา (อา) ในเยาวกษัตริย์ผู้ทรงไม่ได้บรมราชาภิเษก พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 และพระอนุชาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศสและพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส พระองค์ได้รับการสนับสนุนภายหลังในขณะที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ภายหลังการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงใน ค.ศ. 1814 ชาร์ล (มีสถานะเป็นทายาทโดยสันนิษฐาน) กลายเป็นผู้นำของพวกคลั่งเจ้า ฝ่ายนิยมกษัตริย์หัวรุนแรงในราชสำนักฝรั่งเศสที่ยืนยันการปกครองโดยเทวสิทธิราชย์และคัดค้านการยินยอมต่อฝ่ายเสรีนิยมและการรับรองเสรีภาพพลเมืองที่ได้รับจากกฏบัตร ค.ศ. 1814 ชาร์ลได้มีอิทธิพลในราชสำนักฝรั่งเศสภายหลังการลอบสังหาร ชาร์ล แฟร์ดีน็อง ดยุกแห่งแบร์รี่ พระราชโอรสของพระองค์ ใน ค.ศ. 1820 และได้รับการสืบราชบังลังก์ต่อจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ใน ค.ศ. 1824
พระเจ้าชาร์ลที่ 10 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระบรมสาทิสลักษณ์โดย บารอนเฌราด์, c.1829 | |||||
พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ | |||||
ครองราชย์ | 16 กันยายน 1824 – 2 สิงหาคม 1830 | ||||
ราชาภิเษก | 29 พฤษภาคม 1825 | ||||
ก่อนหน้า | พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 | ||||
ถัดไป | พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 | ||||
พระราชสมภพ | 9 ตุลาคม ค.ศ. 1757 พระราชวังแวร์ซาย, ฝรั่งเศส | ||||
สวรรคต | 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1836 โกรซ, ออสเตรีย | (79 ปี)||||
คู่อภิเษก | มาเรีย เทเรซา แห่งซาวอย | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | บูร์บง | ||||
พระราชบิดา | เจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส | ||||
พระราชมารดา | มารี-โฌเซฟีแห่งซัคเซิน | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก | ||||
ลายพระอภิไธย |
รัชสมัยของพระองค์เป็นเวลาเกือบหกปีได้ปรากฏให้เห็นว่าไม่เป็นที่นิยมชอบในท่ามกลางฝ่ายเสรีนิยมในฝรั่งเศส ตั้งแค่ช่วงหนึ่งของพิธีราชภิเษกของพระองค์ใน ค.ศ. 1825 ซึ่งพระองค์พยายามที่จะรื้อฟื้นการปฏิบัติของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัฐบาลที่ทรงแต่งตั้งในรัชกาลของพระองค์ได้ชดใช้คืนเจ้าของที่ดินเดิมสำหรับการยกเลิกระบบฟิวดัลโดยค่าใช้จ่ายของผู้ถือหุ้นกู้ เพิ่มอำนาจของศาสนจักรคาทอลิกและเรียกร้องให้นำอุกฤษฏ์โทษกลับคืนมาสำหรับการลบหลู่เหยียดหยามศาสนา ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งกับสภาผู้แทนราษฏรที่เต็มไปด้วยฝ่ายเสรีนิยมส่วนใหญ่ ชาร์ลทรงอนุมัติในการพิชิตแอลจีเรียของฝรั่งเศสเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากปัญหาบ้านเมือง และบังคับให้เฮติชดใช้ค่าเสียหายอย่างมหาศาลเพื่อแลกกับการเลิกปิดล้อมและยอมรับความเป็นเอกราชของเฮติ ในท้ายที่สุด พระองค์ทรงแต่งตั้งรัฐบาลที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เจ้าชาย ฌูล เดอปอลีญัก ซึ่งพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1830 พระองค์ทรงตอบโต้ด้วยการออกพระราชกฤษฏีกาเดือนกรกฎาคมด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฏร การจำกัดแฟรนไชส์ และนำการเซ็นเซอร์ในการปกปิดสื่อมวลชนกลับมาใช้อีกครั้ง ภายในหนึ่งสัปดาห์ ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับการก่อจลาจลในเมืองซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1830 ซึ่งส่งผลทำให้พระองค์ต้องสละราชบังลังก์และทรงเลือก หลุยส์ ฟิลิปป์ที่ 1 ให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งชาวฝรั่งเศส เมื่อทรงถูกเนรเทศอีกครั้ง ชาร์ลทรงสวรรคตใน ค.ศ. 1836 ในเมืองกอริเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย[2] พระองค์ทรงเป็นผู้ปกครองคนสุดท้ายมาจากสาขาผู้อาวุโสของราชวงศ์บูร์บง
วัยเยาว์
แก้เจ้าชายชาร์ลฟิลิปป์แห่งฝรั่งเศสประสูติเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2300 เป็นเจ้าชายพระองค์สุดท้องในโดแฟ็งหลุยส์ กับ โดฟิเนมารี โฌเซฟ ณ พระราชวังแวร์ซาย ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เคานต์แห่งอาร์ตัว ตั้งแต่ประสูติโดยพระอัยกา พระเจ้าหลุยส์ที่ 15[3] ในฐานะที่ทรงเป็นราชนิกุลบุรุษพระองค์ท้ายสุด เจ้าชายชาร์ลจึงทรงดูเหมือนว่าไม่มีโอกาสที่จะขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ. 2304 เจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งเบอร์กันดี พระเชษฐาองค์ใหญ่สุดของพระองค์สิ้นพระชนม์อย่างไม่คาดคิด ทำให้ทรงเลื่อนขึ้นหนึ่งลำดับในลำดับการสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ทรงได้รับการถวายเลี้ยงดูโดยมาดามเดอมาร์ซ็อง ข้าหลวงแห่งราชโอรสราชธิดาฝรั่งเศส
เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2308 พระเชษฐาองค์รอง หลุยส์โอกุสต์ จึงกลายเป็นโดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส (รัชทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส) พระองค์ใหม่ พระมารดาของทั้งสองพระองค์ มารี โฌเซฟ ทรงโศกเศร้าพระทัยจากการสิ้นพระชนม์ของพระสวามี ก็สิ้นพระชนม์ลงในปี พ.ศ. 2310 ด้วยวัณโรค[4] ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ทรงกำพร้าตั้งแต่พระชนมายุได้ 9 พรรษา เช่นเดียวกับพระเชษฐา เจ้าชายหลุยส-โอกุสต์, เจ้าชายหลุยส์ สตานิสลัส เคานต์แห่งโพรว็อง, มาดามโคลทีลด์ และมาดามเอลิซาเบธ
พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงพระประชวรในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2317 และเสด็จสวรรคตในวันที่ 10 พฤษภาคม ด้วยโรคฝีดาษ สิริพระชนมพรรษารวม 64 พรรษา[5] พระราชนัดดา เจ้าชายหลุยส์-โอกุสต์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส จึงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส[6]
เสกสมรสและพระชนม์ชีพส่วนพระองค์
แก้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2316 เจ้าชายชาร์ลเสกสมรสกับเจ้าหญิงมารี เตเรซแห่งซาวอย การเสกสมรสครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์แทบจะในทันที ต่างกับการเสกสมรสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต[7]
ในปี พ.ศ. 2318 เจ้าหญิงมารี เตเรซ มีพระประสูติกาลแด่เจ้าชายหลุยส์ อ็องตวน ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นดยุกแห่งอ็องกูแลมโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นับเป็นรัชทายาทพระองค์แรกแห่งราชวงศ์บูร์บงรุ่นถัดไป เนื่องจากทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และเคานต์แห่งโพรว็องยังมิได้มีพระประสูติกาลแก่รัชทายาทใดเลย ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้พวก ลิเบลลิสต์ (กลุ่มนักเขียนใบปลิวอื้อฉาวเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในราชสำนักและทางการเมือง) นำไปล้อเลียนถึงความไร้สมรรถภาพทางเพศของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16[8] สามปีถัดมาในปี พ.ศ. 2521 ก็มีพระประสูติกาลแด่เจ้ายหลุยส์ แฟร์ดิน็อง และต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นดยุกแห่งแบร์รี[9] ในปีเดียวกันนั้นเองที่สมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต มีพระประสูติกาลพระธิดาเป็นครั้งแรกนามว่า เจ้าหญิงมารี เตเรซ ซึ่งช่วยกลบข่าวลือที่ว่าทรงไม่สามารถมีรัชทายาทได้
เจ้าชายชาร์ลทรงถูกมองว่าเป็นบุคคลที่น่าดึงดูดใจมากที่สุดในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ฝรั่งเศส เนื่องด้วยทรงมีความคล้ายคลึงกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 อย่างมาก[10] ด้านพระชายาของพระองค์กลับถูกผู้คนส่วนมากในยุคสมัยนั้นมองว่าอัปลักษณ์ ตามคำกล่าวอ้างของเคานต์เอเซกส์ เจ้าชายชาร์ลทรงคบชู้มากมาย "โฉมงามน้อยคนนักที่จะเย็นชากับพระองค์" ต่อมาทรงมีเสน่หาตลอดช่วงพระชนม์ชีพกับ หลุยส์เดอโปลัสตร็อง น้องสาวบุญธรรมของดัชเชสแห่งโปลิญัก ซึ่งเป็นพระสหายคนสนิทของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต
เจ้าชายชาร์ลยังทรงมีสัมพันธภาพกับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต อย่างเหนียวแน่น ซึ่งทั้งสองทรงพบกันครั้งแรกในคราวที่พระนางมารี อ็องตัวแน็ตเสด็จเยือนฝรั่งเศสในเดือนเมษายน พ.ศ. 2313 ขณะนั้นเจ้าชายมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา[10] ความใกล้ชิดสนิทสนมนี้เองที่ทำให้แม่ค้าชาวปารีสสร้างข่าวลืออย่างผิด ๆ ว่าเจ้าชายทรงยั่วยวนเสน่หาแก่พระนางมารี เจ้าชายชาร์ลมักปรากฏพระองค์ตรงข้ามพระนางมารีอยู่บ่อยครั้งในโรงละครส่วนพระองค์ ณ พระตำหนักเปติต์ไตรอาน็อง ทั้งสองพระองค์ได้รับการกล่าวขานว่ามีพระปรีชาสามารถอย่างมากในการเป็นนักแสดงมือสมัครเล่น พระนางมารีทรงสวมบทบาทเป็นคนงานรีดนมวัว, คนเลี้ยงแกะ และสตรีชนบท ด้านเจ้าชายชาร์ลทรงรับบทเป็นคู่รัก, ข้ารับใช้ และเกษตรกร
ทั้งสองพระองค์ทรงพัวพันกับเรื่องราวอันโด่งดังในการก่อสร้างชาโตเดอแบแกเตลล์ ในปี พ.ศ. 2318 เจ้าชายชาร์ลทรงซื้อกระท่อมล่าสัตว์เล็ก ๆ ในแคว้นบัวส์เดอบูโลญ ต่อมาทรงทุบทำลายที่พำนักหลังเดิมทิ้งและวางแผนที่จะก่อสร้างพระตำหนักหลังใหม่ขึ้นแทน ซึ่งพระนางมารี อ็องตัวแน็ตทรงเดิมพันไว้ว่าพระตำหนักหลังใหม่นี้ไม่มีทางก่อสร้างได้สำเร็จภายในสามเดือน เจ้าชายชาร์ลก็ทรงจ้างสถาปนิกแนวนีโอคลาสสิกนามว่า ฟร็องซัว-โฌเซฟ เบล็องเช ในการออกแบบ ต่อมาเจ้าชายทรงชนะเดิมพันของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต โดยที่ฟร็องซัวส์ใช้เวลาเพียงหกสิบสามวันในการก่อสร้างพระตำหนักให้เสร็จสมบูรณ์ คาดการณ์กันว่าทั้งโครงการซึ่งรวมไปถึงสวนที่ตกแต่งพร้อมสรรพใช้เงินก่อสร้างไปทั้งหมดมากกว่าสองล้านลีฟฝรั่งเศส ตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1770 เจ้าชายชาร์ลทรงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ทรงก่อหนี้ก้อนใหญ่ไว้ถึง 21 ล้านลีฟฝรั่งเศส และในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1780 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ต้องทรงชำระหนี้ให้แก่พระอนุชาทั้งสองพระองค์อันได้แก่เคานต์แห่งอาร์ตัวและเคานต์แห่งโพรว็อง[11]
เช่นเดียวกับในช่วง พ.ศ. 2318 เจ้าชายหลุยส์-ฟิลิปป์แห่งออร์เลอองส์ ผู้ทรงเป็นดยุกแห่งออร์เลอองส์ในอนาคต ได้ทรงวางแผนที่จะสร้างรอยแยกระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระอนุชาองค์สุดท้องของพระองค์ ทรงชักชวนให้เจ้าชายชาร์ลเล่นการพนันและซ่องโสเภณี ณ พระราชวังหลวง อันเป็นที่พำนักเดิมของบรรพบุรุษของเจ้าชายหลุยส์-ฟิลิปป์ ทรงหวังให้เจ้าชายชาร์ลทรงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จนสิ้นพระชนม์ลงหรือไม่ก็กลายเป็นหมัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสของหลุยส์-ฟิลิปป์ในอนาคต[12] และในฐานะที่ทรงเป็นเจ้าชายสืบสายพระโลหิตพระองค์แรก เจ้าชายหลุยส์-ฟิลิปป์ทรงอยู่ลำดับที่สี่ในลำดับการสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศสตามหลังเคานต์แห่งโพรว็อง, เคานต์แห่งอาร์ตัว และดยุกแห่งอ็องกูแลม โดยที่ในขณะนั้นมีเพียงเจ้าชายชาร์ลเท่านั้นที่ทรงมีรัชทายาทในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์รุ่นเดียวกัน[13]
ในปี พ.ศ. 2324 เจ้าชายชาร์ลทรงเป็นผู้รับมอบอำนาจของจักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระนามแด่ลูกทูนหัวของพระจักรพรรดิ โดแฟ็งหลุยส์ โฌเซฟ[14]
วิกฤตการณ์และการปฏิวัติ
แก้ความตื่นตัวทางการเมืองของพระองค์เริ่มต้นขึ้นในวิกฤตการณ์ของระบอบกษัตริย์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2329 เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าราชอาณาจักรฝรั่งเศสประสบกับภาวะล้มละลายจากความพยายามทางการทหารต่างๆ ก่อนหน้านี้ (โดยเฉพาะสงครามเจ็ดปีและสงครามประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา) ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงระบบงบประมาณเสียใหม่ประเทศชาติจึงจะอยู่รอดไปได้ เจ้าชายชาร์ลสนับสนุนให้มีการเพิกถอนเหล่าอภิสิทธิ์ชนทางการงบประมาณของรัฐ แต่การลดทอนอภิสิทธิ์ทางสังคมนี้ถูกต่อต้านโดยผู้ที่เสียผลประโยชน์โดยตรงอันได้แก่คริสตจักรและคณะขุนนาง ทรงเชื่อมั่นว่าระบบการคลังของประเทศควรจะถูกปฏิรูปโดยปราศจากการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ตรัสว่ามันเป็น "เวลาของการซ่อมแซม ไม่ใช่การทำลาย"
ในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงต้องทรงเปิดประชุมสภาฐานันดร ซึ่งไม่ได้มีการประชุมมามากกว่า 150 ปีแล้ว การประชุมนี้จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2332 เพื่อให้สัตยาบันในการปฏิรูประบบการคลัง เช่นเดียวกับพระขนิษฐา มาดามเอลิซาเบธ เจ้าชายชาร์ลทรงเป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์หัวอนุรักษนิยมมากที่สุดพระองค์หนึ่ง ทรงต่อต้านข้อเรียกร้องจากฐานันดรที่สาม (ผู้แทนของชนชั้นสามัญชน) ที่เรียกร้องอำนาจที่มากขึ้นของการลงคะแนนเสียง จึงทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากพระเชษฐาที่ทรงกล่าวหาพระองค์ว่าดำรงตน ปลุสโรยัลลิสต์เกอเลอรัว (plus royaliste que le roi; นิยมกษัตริย์มากกว่าองค์กษัตริย์เอง) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2332 คณะผู้แทนจากฐานันดรที่สามประกาศตนว่าเป็นสมัชชาแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะสรรหาระบอบการปกครองของฝรั่งเศสเสียใหม่[15]
ในการร่วมมือกับบารงเดอเบรอเตย เจ้าชายชาร์ลทรงมีพันธมิตรที่จะร่วมกันขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหัวเสรีนิยมนามว่า ฌักส์ เน็กแกร์ แผนการนี้เองที่ย้อนกลับมาทำร้ายเจ้าชายชาร์ลจากการที่ทรงพยายามรักษาให้การถอดถอนเน็กแกร์เกิดขึ้นในวันที่ 11 กรกฎาคม โดยปราศจากการรู้เห็นของเบรอเตย ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ทั้งสองคาดการณ์ไว้ก่อนมาก นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ความเป็นพันธมิตรทางการเมืองของทั้งสองเสื่อมลงก่อนที่จะจบลงด้วยความเกลียดชังซึ่งกันและกัน
การปลดเน็กแกร์นี้ก่อให้เกิดการทลายคุกบัสตีย์ในวันที่ 14 กรกฎาคม ด้วยความดื้อแพ่งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต สถานการณ์จึงไม่คลี่คลาย สามวันถัดมาในวันที่ 17 กรกฎาคม เจ้าชายชาร์ลและครอบครัวของพระองค์จึงเสด็จออกนอกฝรั่งเศส เช่นเดียวขับข้าราชสำนักคนอื่น ๆ รวมถึงดัชเชสแห่งโปลิญัก พระสหายคนโปรดของพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต[16]
เสด็จลี้ภัย
แก้เจ้าชายชาร์ลและครอบครัวทรงตัดสินใจที่จะลี้ภัยในซาวอย อันเป็นสถานที่ที่ประสูติของพระชายา[17] และที่นี่เองที่ทรงพำนักร่วมกับสมาชิกครอบครัวของเจ้าชายแห่งกงเดบางพระองค์[18]
ขณะเดียวกันนั้นในกรุงปารีส พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงดิ้นรนไปกับสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งมุ่งมั่นที่จะปฏิรูประบบต่างๆ อย่างถอนรากถอดโคน รวมไปถึงการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งฝรั่งเศส ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2334 สมัชชาแห่งชาติยังได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำเร็จราชการแทนไว้สำหรับกรณีที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ในขณะนั้นเองรัชทายาทซึ่งก็คือเจ้าชายหลุยส์-ชาร์ล ยังทรงพระเยาว์ ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนจึงตกเป็นของเคานต์แห่งโพรว็องหรือดยุกแห่งออร์เลอองส์ แต่ถ้าหากยังไม่สามารถหาผู้สำเร็จราชการแทนได้ ตำแหน่งนี้ก็จะตกเป็นของผู้ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งข้ามสิทธิ์ในการสำเร็จราชการแทนของเจ้าชายชาร์ลไปโดยสิ้นเชิง ทั้งที่ตามลำดับการสืบราชสมบัติแล้ว เจ้าชายทรงอยู่ลำดับที่ระหว่างเคานต์แห่งโพรว็องและดยุกแห่งออร์เลอองส์[19]
ช่วงนั้นเองที่เจ้าชายชาร์ลทรงย้ายจากตูรินไปพำนักที่เทรียร์ ที่ซึ่งพระปิตุลา เจ้าชายคลีเมนส์ เวนซ์สเลาส์แห่งแซกโซนี ดำรงตำแหน่งเป็นอาร์คบิชอปผู้คัดเลือก เจ้าชายชาร์ลทรงตระเตรียมการปฏิวัติต่อต้าน แต่พระราชหัตถเลขาจากพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต มีพระราชดำริว่าให้เลื่อนออกไปจนกว่าพระราชวงศ์จะเสด็จออกจากฝรั่งเศสเสร็จเรียบร้อยแล้ว[20] แต่เมื่อการเสด็จหนีล้มเหลว เจ้าชายชาร์ลก็ทรงย้ายไปยังโคเบลนซ์ ณ ที่นั้นเองทรงไปร่วมกับเคานต์แห่งโพรว็องและเจ้าชายแห่งก็องเดในการประกาศรุกรานฝรั่งเศส เคานต์แห่งโพรว็องส่งหนังสือราชการขอความช่วยเหลือในการรุกรานฝรั่งเศสจากพระมหากษัตริย์ยุโรปหลายพระองค์ ด้านเจ้าชายชาร์ลก็ทรงก่อตั้งราชสำนักพลัดถิ่นขึ้น ณ รัฐผู้คัดเลือกเทรียร์ ในวันที่ 25 สิงหาคม เหล่าเจ้านายผู้ปกครองของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และปรัสเซียได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ชาติยุโรปร่วมกันเข้าแทรกแซงฝรั่งเศส[21]
วันขึ้นปีใหม่ของปี พ.ศ. 2335 สมัชชาแห่งชาติประกาศให้ผู้อพยพทุกคนเป็นผู้ทรยศชาติ, ถอดถอนบรรดาศักดิ์ และยึดเอาที่ดินของพวกเขา[22] มาตรการนี้ตามมาด้วยการระงับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จนในที่สุดจบลงด้วยการล้มล้างการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในเดือนกันยายนปีเดียวกัน พระบรมวงศานุวงศ์ทรงถูกคุมขัง ต่อมาพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตก็ทรงถูกสำเร็จโทษในปี พ.ศ. 2336[23] ด้านโดแฟ็งพระองค์น้อยก็สิ้นพระชนม์ลงจากอาการประชวรในปี พ.ศ. 2338 พระศพถูกทอดทิ้งไม่มีการเหลียวแล[24]
เมื่อสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้นในปี พ.ศ. 2335 เจ้าชายชาร์ลเสด็จหนีไปยังสหราชอาณาจักรที่ซึ่งพระเจ้าจอร์จที่ 3 มีพระบรมราชานุญาตให้พำนักอย่างเมตตา เจ้าชายชาร์ลพำนักกับพระสนม หลุยส์เดอโปลัสตร็อง ทั้งที่เอดินบะระและกรุงลอนดอน[25] ส่วนพระเชษฐา เคานต์แห่งโพรว็องซ์ ก็ได้เสด็จย้ายไปยังเวโรนาหลังจากที่พระนัดดา (โดแฟ็งหลุยส์-ชาร์ล) สิ้นพระชนม์ลงในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2338 และจากนั้นจึงย้ายไปยังพระราชวังเยลกาวาในมิเทา ณ ที่นั้นเอง ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2342 พระโอรสของเจ้าชายชาร์ล ดยุกแห่งอ็องกูแลม เสกสมรสกับเจ้าหญิงมารี เตเรซ พระธิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่รอดมาได้เพียงพระองค์เดียว ต่อมาในปี พ.ศ. 2345 เจ้าชายชาร์ลให้การสนับสนุนพระเชษฐาของพระองค์ด้วยเงินหลายพันปอนด์ ในปี พ.ศ. 2350 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ก็เสด็จฯ มาประทับในสหราชอาณาจักร[26]
ราชวงศ์บูร์บงฟื้นฟู
แก้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2357 เจ้าชายชาร์ลเสด็จออกจากที่พำนักในลอนดอนอย่างลับ ๆ เพื่อไปร่วมกับสงครามหกสัมพันธมิตรในฝรั่งเศสตอนใต้ ในขณะนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงต้องประทับอยู่บนเก้าอี้เข็นและให้การสนับสนุนเจ้าชายชาร์ลด้วยพระราชเอกสารสิทธิ (letters patent) พระราชทานยศทหารชั้นพลโทแห่งราชอาณาจักร ในวันที่ 31 มีนาคม กองกำลังสัมพันธมิตรเข้ายึดกรุงปารีส สัปดาห์ถัดมาจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ก็สละราชสมบัติ วุฒิสภาฝรั่งเศสจึงประกาศการฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ด้านเจ้าชายชาร์ลก็เสด็จถึงปารีสในวันที่ 12 เมษายน[27] และดำรงพระยศพลโทแห่งราชอาณาจักรไปจนกระทั่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จฯ กลับจากอังกฤษ ในช่วงที่รักษาราชการแทนพระองค์อยู่นี้เอง เจ้าชายชาร์ลได้ก่อตั้งกองตำรวจลับผู้มีแนวคิดนิยมกษัตริย์สุดโต่งซึ่งขึ้นตรงต่อพระองค์อย่างลับ ๆ โดยปราศจากการรับรู้ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 กองตำรวจลับนี้ดำรงอยู่ถึงห้าปี[28]
ชาวปารีสต่างพากันยินดีปรีดาอย่างมากกับการเสด็จฯ นิวัติพระนครของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ซึ่งพระองค์เสด็จฯ ไปประทับอยู่ ณ พระราชวังตุยเลอรีส์[29] ด้านเคานต์แห่งอาร์ตัวประทับ ณ ปาวิยงเดอมาร์ส ส่วนดยุกแห่งอ็องกูแลมประทับ ณ ปาวิยงเดอฟลอร์ ซึ่งสามารถมองเห็นแม่น้ำแซน[30] ดัชเชสแห่งอ็องกูแลม (เจ้าหญิงมารี เตเรซ) ถึงกับทรงเป็นลมหมดสติเมื่อเสด็จมาถึง เนื่องจากพระราชวังรื้อฟื้นความทรงจำอันเลวร้ายเก่า ๆ เกี่ยวกับการกักขังครอบครัวของพระองค์ รวมไปถึงการบุกเข้าทำลายพระราชวังและการสังหารหมู่ทหารสวิสการ์ดรักษาพระองค์ในเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2335[29]
ตามคำแนะนำของกองกำลังสัมพันธมิตร พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 โปรดให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเสรีขึ้น นั่นก็คือ ธรรมนูญ พ.ศ. 2357 ซึ่งกำหนดให้ใช้การปกครองระบบสองสภา โดยมีผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง 90,000 คน และเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา[31]
หลังจากการกลับมาสู่อำนาจของนโปเลียนที่ 1 ช่วงสั้นๆ ในปี พ.ศ. 2358[32] มิคสัญญีขาวครั้งที่สองก็ดำเนินไปทั่วฝรั่งเศส เมื่อข้าราชการและนายทหารของนโปเลียนกว่า 80,000 นายถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง บ้างก็ถูกสังหาร ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือจอมพลแน ผู้ถูกประหารชีวิตจากข้อหาทรยศต่อประเทศชาติ และเคานต์เบริงที่ 1 ผู้ถูกสังหารโดยมวลชนผู้ประท้วง[33]
พระราชอนุชาและรัชทายาทโดยสันนิษฐาน
แก้ในขณะที่พระเจ้าหลุยส์ทรงสงวนไว้ซึ่งธรรมนูญฉบับเสรี เจ้าชายชาร์ลก็ทรงอุปถัมภ์สมาชิกกลุ่มนิยมกษัตริย์หัวรุนแรงในรัฐสภา เช่น ฌูลส์ เดอ ปอลีญัก, นักเขียน ฟร็องซัว-เรอเน เดอ ชาโตบรีอองด์ และฌ็อง-บาติสต์ เดอ วีแลล[34] ในหลายโอกาสที่เจ้าชายชาร์ลทรงเปล่งเสียงไม่เห็นด้วยกับรัฐมนตรีหัวเสรีของพระเชษฐาและทรงขู่ว่าจะเสด็จออกจากฝรั่งเศสหากพระเจ้าหลุยส์ไม่ทรงเพิกเฉยต่อรัฐมนตรีเหล่านั้น[35] ในทางกลับกัน พระเจ้าหลุยส์ก็ทรงเกรงพระราชหฤทัยว่าแนวคิดกษัตริย์นิยมสุดโต้งของพระอนุชาผู้เป็นรัชทายาทโดยสันนิษฐานจะนำพาให้พระบรมวงศานุวงศ์ต้องเสด็จลี้ภัยอีกเป็นครั้งที่สอง (ซึ่งต่อมาก็เกิดขึ้นจริง)
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2363 พระโอรสองค์เล็กของเจ้าชายชาร์ล ดยุกแห่งแบร์รี ถูกลอบปลงพระชนม์ ณ โรงอุปรากรณ์ปารีส ความสูญเสียครั้งนี้ไม่ได้นำมาเพียงแต่ความเสียหายต่อพระบรมวงศานุวงศ์ แต่ยังนำความไม่ปลอดภัยมาสู่ราชวงศ์บูร์บงอย่างต่อเนื่อง ที่ซึ่งดยุกแห่งอ็องกูแลมเองแม้จะเสกสมรสแล้วแต่ก็ยังทรงไม่มีรัชทายาทไว้คอยสืบราชบัลลังก์ รัฐสภาโต้เถียงกันในประเด็นการล้มเลิกกฎหมายแซลิกที่จำกัดสิทธิ์ในการขึ้นครองราชบัลลังก์ของรัชทายาทที่เป็นสตรี ซึ่งถูกนำมาใช้อย่างยาวนานและขัดขืนมิได้ อย่างไรก็ตาม พระชายาม่ายในดยุกแห่งแบร์รี เจ้าหญิงแคโรไลน์แห่งเนเปิลส์และซิซิลี ทรงพบว่าทรงตั้งพระครรภ์และมีพระประสูติกาลแก่พระโอรสในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2363 คือ เจ้าชายอองรี ดยุกแห่งบอร์โดซ์[36] การประสูติครั้งนี้ถูกสรรเสริญว่าเป็น "พระประทานจากพระเจ้า" และประชาชนชาวฝรั่งเศสได้นำพระองค์ไปยังพระราชวังช็องบอร์เพื่อเฉลิมฉลอง[37] ด้วยเหตุนี้ทำให้พระเจ้าหลุยส์พระราชทานบรรดาศักดิ์เจ้าชายน้อยขึ้นเป็น เคานต์แห่งช็องบอร์ ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้จักพระองค์ในนาม เจ้าชายอองรี เคานต์แห่งช็องบอร์
ครองราชย์
แก้พระราโชบายภายในประเทศ
แก้พระอาการประชวรของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็นที่น่ากังวลมาตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2367[38] ทรงทรมานจากพระอาการเนื้อตายเน่าทั้งแบบเปียกและแบบแห้งบริเวณขาและกระดูกสันหลัง จากนั้นก็เสด็จสวรรคตในวันที่ 16 กันยายน ปีเดียวกัน พระอนุชาจึงสืบทอดราชสมบัติขึ้นเป็นพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส[39] ความพยายามแรกในฐานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์ก็คือการรวบรวมราชวงศ์บูร์บงศ์ให้มีความกลมเกลียวเหนียวแน่น พระองค์พระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้น รอยัลไฮเนส แก่พระญาติฝ่ายราชวงศ์ออร์เลอองส์ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกกีดกันโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เพราะอดีตดยุกแห่งออร์เลอองส์มีส่วนร่วมในการสวรรคตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
ในช่วงไม่กี่เดือนแรกของรัชกาล รัฐบาลในพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ผ่านร่างกฎหมายที่เพิ่มอำนาจแก่ขุนนางและนักบวชหลายฉบับ พระองค์พระราชทานรายชื่อกฎหมายที่มีพระประสงค์จะลงพระนามาภิไธยแก่นายกรัฐมนตรี ฌ็อง-บาติสต์ เดอ วีแลล ทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปเปิดประชุมรัฐสภา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2368 รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายซึ่งเสนอโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แต่มีผลบังคับใช้ไม่นานหลังจากเสด็จสวรรคต กฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ขุนนางผู้ที่ถูกริบรอนเคหาสน์สถานในช่วงการปฏิวัติ (ฝรั่งเศส: biens nationaux) โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยในรูปของพันธบัตรรัฐบาลแก่ผู้ที่สูญเสียเคหาสน์สถานแลกกับการสละสิทธิ์ในความเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว รวมเป็นเงินที่รัฐบาลต้องรับภาระกว่า 988 ล้านฟรังก์ ในเดือนเดียวกันนั้นเองยังได้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัติห้ามทำลายรูปเคารพ (Anti-Sacrilege Act) นอกจากนี้รัฐบาลในพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ยังพยายามจะรื้อฟื้นการให้บุตรหัวปี (เฉพาะบุรุษเพศ) ของครอบครัวเป็นผู้รับภาระชำระภาษีมากกว่า 300 ฟรังก์ต่อปี แต่ถูกสภาผู้แทนลงคะแนนเสียงคัดค้าน[40] ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2368 พระเจ้าชาร์ลทรงเข้ารับการเจิม ณ มหาวิหารแร็งส์ ในพระราชพิธีการรับศีลบวช (Consecration) อันเป็นพระราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส ซึ่งพระราชพิธีนี้เว้นว่างไปตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2328 โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงไม่จัดพระราชพิธีดังกล่าวเพราะประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงการโต้เถียงที่อาจเกิดขึ้นตามมา[41]
การที่พระเจ้าชาร์ลที่ 10 ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนปรากฏให้เห็นเด่นชัดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2370 เมื่อมีความวุ่นวายเกิดขึ้นขณะทรงพิจารณาทบทวนถึงกองกำลังติดอาวุธของประชาชน (ฝรั่งเศส: la garde nationale) ในกรุงปารีส ทำให้ทรงแก้ไขสถานการณ์ด้วยการยกเลิกกองทหารดังกล่าว แต่ไม่ได้มีการปลดอาวุธสมาชิกของกองกำลังแต่อย่างใด ทำให้กองกำลังดังกล่าวยังคงเป็นภัยคุกคาม[41] ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ทรงสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภา จึงทรงปลดนายกรัฐมนตรีวีแลลและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ฌ็อง-บาติสต์ เดอ มาร์ตีญัก ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยพระองค์ไม่โปรดมาร์ตีญักและทรงตั้งไว้เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเท่านั้น ต่อมาจึงทรงปลดมาร์ตีญักและแต่งตั้ง ฌูลส์ เดอ ปอลีญัก ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วเมื่อฝ่ายของฟร็องซัว-เรอเน เดอ ชาโตบรีอองด์ ผู้สนับสนุนคนสำคัญพ่ายแพ้ในสภา ปอลีญักก็สูญเสียเสียงสนับสนุนข้างมากในสภา ณ สิ้นเดือนสิงหาคม และเพื่อที่จะดำรงอยู่ในอำนาจให้ได้นานที่สุด ปอลีญักเลือกที่จะไม่ยุบสภาผู้แทนไปจนกระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2373[42]
การยึดครองอัลจีเรีย
แก้ในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2373 รัฐบาลภายใต้การนำของปอลีญักตัดสินใจส่งกองกำลังทหารไปยังอัลจีเรีย เพื่อปราบปราบกองเรือโจรสลัดชาวอัลจีเรียที่กำลังคุกคามการค้าบนน่านน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเพื่อที่จะเพิ่มพูนความนิยมของรัฐบาลด้วยชัยชนะทางการทหาร สาเหตุที่ก่อให้เกิดสงครามตามมาก็คือการที่อุปราชแห่งอัลจีเรียโกรธกริ้ว เพราะฝรั่งเศสค้างชำระหนี้ที่นโปเลียนก่อไว้จากการรุกรานอิยิปต์ จึงทำให้อุปราชทรงใช้กองกำลังโจมตีเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส[42] ฝรั่งเศสก็ตอบโต้โดยดารส่งกองทหารเข้ารุกรานอัลจีเรียในวันที่ 5 กรกฎาคม[43]
การฏิวัติเดือนกรกฎาคม
แก้สภายังคงเปิดประชุมตามแผนเดิมในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2373 แต่พระราชดำรัสเปิดการประชุมของพระเจ้าชาร์ลกลับมีเสียงตอบรับในแง่ลบจากสมาชิกสภาหลายคน บางกลุ่มถึงกลับเสนอร่างพระราชบัญญัติบังคับให้เหล่ารัฐมนตรีในรัฐบาลของพระเจ้าชาร์ลต้องมีที่มาจากเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภา ต่อมาในวันที่า 18 มีนาคม สมาชิกเสียงข้างมากจำนวน 30 คนจากสมาชิกสภาทั้งหมดจำนวน 221 คน ผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว อย่างไรก็ตามพระเจ้าชาร์ลตัดสินพระทัยแล้วว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปออกไป ดังนั้นการทำงานของสภาจึงถูกระงับไว้ชั่วคราว[44]
การเลือกตั้งจัดขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน แต่ไม่ได้เสียงข้างมากที่สนับสนุนรัฐบาล นอกเหนือไปกว่านั้น ในวันที่ 6 กรกฎาคม พระเจ้าชาร์ลพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีตัดสินใจระงับใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยอำนาจของมาตรา 14 ที่ให้อำนาจไว้ในยามฉุกเฉิน ต่อมาในวันที่ 15 กรกฎาคม ทรงออกพระราชโองการจากที่พำนักของพระองค์ในแซ็งต์-โคลด์ โดยมีเนื้อหาหลักคือ ปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ ยุบสภาที่เพิ่งจะได้รับเลือกตั้งใหม่ ปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง และวางแผนจัดการเลือกตั้งในเดือนกันยายน[43]
เมื่อหนังสือพิมพ์ทางการของรัฐบาล เลอ มอนิเตอ อูนิแวร์เซล (ฝรั่งเศส: Le Moniteur Universel) ตีพิมพ์พระราชโองการดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม อาดอลฟ์ ตีแยร์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ฝ่ายต่อต้าน เลอ นาซียงนาล (ฝรั่งเศส: Le National) ตีพิมพ์คำกล่าวเรียกร้องให้มีการก่อกำเริบ ซึ่งถูกร่วมลงนามโดยนักข่าวหนังสือพิมพ์อีก 43 คน:[45] "ระบอบการปกครองอันชอบธรรมถูกขัดขวาง: บัดนี้กองกำลังได้ก่อกำเริบ... หน้าที่ของเราในการเชื่อฟัง[รัฐบาล]สิ้นสุดลงแล้ว!"[46] ต่อในช่วงเย็นฝูงชนรวมตัวกันบริเวณอุทยานพระราชวังหลวง พร้อมกับเปล่งเสียงตะโกนว่า "จงล้มจมไปกับพวกบูร์บง!" และ "รัฐธรรมนูญจงเจริญ!" ในขณะที่ตำรวจปิดอุทยานในช่วงกลางคืน ฝูงชนจึงรวมตัวกันใหม่บริเวณถนนใกล้เคียง พร้อมกับทำลายโคมไฟถนนให้เสียหายอีกด้วย[47]
เช้าวันต่อมาของวันที่ 27 กรกฎาคม ตำรวจบุกเข้าไปตามสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ที่ยังคงตีพิมพ์ตามปกติ (รวมถึงสำนักหนังสือพิมพ์ เลอ นาซียงนาล) ทำให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ต้องปิดตัวลง เมื่อฝูงชนผู้ประท้วงซึ่งรวมตัวกันบริเวณอุทยานพระราชวังหลวงอีกครั้งทราบข่าวดังกล่าว ต่างกรูกันเข้าทำร้ายและขว้างปาสิ่งของเข้าใส่พลทหารของพระราชวัง ส่งผลให้ทหารต้องทำการยิงตอบโต้ เมื่อเหตุการณืดำเนินมาถึงช่วงเย็นทั่วทั้งปารีสเต็มไปด้วยความรุนแรง ร้านค้าต่าง ๆ ถูกปล้นสะดม ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม ผู้ประท้วงเข้ารื้อสิ่งกีดขว้างตามท้องถนน ทำให้นายพลมาร์มงต์ผู้ซึ่งถูกเรียกตัวเข้ามาควบคุมเหตุความไม่สงบในวันก่อนหน้า จำต้องใช้มาตรการรุนแรงต่อกลุ่มผู้ประท้วง แต่พลทหารในสังกัดของเขากลับแปรพักตร์ไปร่วมกับฝ่ายผู้ประท้วง ส่งผลให้ในช่วงเที่ยงของวันดังกล่าวนายพลมาร์มงต์ต้องถอยร่นกลับไปตั้งหลักที่พระราชวังตุยเลอรีส์[48]
สมาชิกสภาฯ ส่งคณะผู้แทนห้าคนไปเจรจากับนายพลมาร์ม็งต์ เร่งเร้าให้เขาถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าชาร์ลในการเพิกถอนพระราชโองการของพระองค์เพื่อระงับความไม่พอใจของฝ่ายผู้ประท้วง ต่อมานายกรัฐมนตรีเข้าแทรกแซงเหตุการณ์ โดยถวายคำแนะนำเช่นเดียวกับนายพลมาร์มงต์ แต่พระเจ้าชาร์ลทรงปฏิเสธการประนีประนอมทุกรูปแบบ และทรงปลดรัฐมนตรีทุกคนในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว แม้จะทรงตระหนักถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง สมาชิกสภาฯ รวมตัวกัน ณ ที่พำนักของฌัก ลัฟฟิตต์ และต่างลงความเห็นว่าควรอัญเชิญหลุยส์ ฟีลิปแห่งออร์เลอองส์ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระเจ้าชาร์ล สมาชิกได้ร่วมกันพิมพ์ภาพโปสเตอร์รับรองความเหมาะสมของหลุยส์ ฟีลิป พร้อมกับแจกจ่ายภาพโปสเตอร์ดังกล่าวไปทั่วกรุงปารีส อำนาจของรัฐบาลพระเจ้าชาร์ลจึงถูกโค้นลง[49]
ไม่กี่นาทีหลังผ่านเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 ย่างเข้าสู่วันที่ 31 กรกฎาคม พระเจ้าชาร์ลที่ 10 พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชสำนักของพระองค์ เสด็จฯ ลี้ภัยจากแซ็งต์-โคลด์ไปยังพระราชวังแวร์ซายเนื่องจากทรงได้รับคำเตือนจากนายพลเกรสโซว่าชาวปารีสกำลังวางแผนโจมตีที่พำนักของพระองค์ ยกเว้นดยุกแห่งอ็องกูแลม พระราชโอรสองค์โต ที่ไม่ได้เสด็จไปในการนี้ด้วยเนื่องจากซ้อนพระองค์อยู่ในกองทหาร ในขณะที่ดัชเชสแห่งอ็องกูแลม พระชายา ทรงพักผ่อนอยู่ ณ เมืองวิชี ส่วนเหตุการณ์ในกรุงปารีส หลุยส์ ฟีลิปแห่งออร์เลอองส์เข้าดำรงตำแหน่งพลโทหลวงแห่งราชอาณาจักร (ตำแหน่งสูงสุดในกองทัพ) อย่างเป็นทางการ[50]
ในขณะที่ท้องถนนซึ่งมุ่งสู่แวร์ซายเต็มไปด้วยกองทหารที่ไม่เป็นระเบียบและกลุ่มนายทหารผู้แปรพักตร์ มาร์กีเดอเวรัก ข้าหลวงใหญ่ประจำพระราชวังแวร์ซาย เข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลก่อนที่ขบวนเสด็จฯ จะเข้าสู่เขตเมืองแวร์ซาย พร้อมกับทูลฯ พระองค์ว่าพระราชวังแวร์ซายไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยสำหรับพระองค์ เนื่องจากมีกองกำลังติดอาวุธของประชาชน ณ พระราชวัง ที่สวมเสื้อผ้าสามสีของธง ตรีกอลอร์ เข้ายึดพื้นที่บริเวณ ปลาซดามส์ ทำให้พระเจ้าชาร์ลต้องทรงออกคำสั่งให้เปลี่ยนเส้นทางไปยังตรีอานงแทน ทุกพระองค์จึงเสด็จฯ ถึงที่ดังกล่าว ณ เวลาห้านาฬิกาของวันที่ 31 กรกฎาคม[51] ในวันดังกล่าว หลังจากที่ดยุกแห่งอ็องกูแลมเสด็จออกจากแซ็งต์-โคลด์พร้อมกับกองทหารของพระองค์มารวมกับขบวนของพระเจ้าชาร์ล พระเจ้าชาร์ลจึงเสด็จฯ ต่อไปยังพระราชวังร็องบูเย และเสด็จฯ ถึงก่อนเวลาเที่ยงคืนเพียงเล็กน้อย ด้านดัชเชสแห่งอ็องกูแลมเสด็จออกจากวิชีอย่างเร่งรีบทันทีที่ทรงทราบข่าวเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปารีส และเสด็จถึงร็องบูเยในเช้าวันที่ 1 สิงหาคม อย่างปลอดภัย
ในวันถัดมา 2 สิงหาคม พระเจ้าชาร์ลที่ 10 สละราชสมบัติให้แก่พระราชนัดดา อ็องรี ดยุกแห่งบอร์โด ผู้มีพระชนมายุไม่ถึง 10 ชันษา โดยข้ามลำดับสืบราชสันตติวงศ์ของหลุยส์ อ็องตวน พระราชโอรสองค์โตของพระองค์ไป ในตอนแรก ดยุกแห่งอ็องกูแลมทรงปฏิเสธที่จะลงพระนามกำกับในเอกสารสละพระราชสิทธิ์ในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ตามคำกล่าวของดัชเชสแห่งมาอีเย "มีการทะเลาะกันอย่างรุนแรงระหว่างพระบิดาและพระโอรส จนเราสามารถได้ยินเสียงของทั้งสองพระองค์จากห้องข้าง ๆ" จนในที่สุด หลังจากผ่านไปยี่สิบนาที ดยุกแห่งอ็องกูแลมจึงยอมลงพระนามกำกับในเอกสารสละพระราชสิทธิ์ดังกล่าวอย่างไม่เต็มพระทัย[52] ซึงเนื้อหาในเอกสารมีใจความดังต่อไปนี้
แด่ลูกพี่ลูกน้องของเรา เราเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสจากความทุกข์ที่ว่าหากเราไม่หลีกเลี่ยงความขัดแย้งในครั้งนี้ ประชาชนของเราอาจได้รับภัยคุกคาม เช่นนั้นแล้ว เราจึงเลือกแก้ไขสถานการณ์ด้วยการสละราชสมบัติให้แก่ดยุกแห่งบอร์โด ราชนัดดาของเรา เฉกเช่นเดียวกับเจ้าฟ้าชายโดแฟ็ง (ดยุกแห่งอ็องกูแลม) ผู้รู้สึกเช่นเดียวกับเรา ก็ได้สละราชสิทธิ์ของพระองค์ให้แก่ราชนัดดาแล้ว ดังนั้นต่อจากนี้ ในฐานะพลโทหลวงแห่งราชอาณาจักร ท่านมีอำนาจสถาปนาพระเจ้าอ็องรีที่ 5 ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ นอกจากนี้ ท่านยังต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสถาปนารัฐบาลภายใต้ห่วงเวลาที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้ เราเพียงแต่ประสงค์ให้ท่าทีของเราเป็นที่รับทราบโดยทั่วกัน : นี่คือประสงค์ของเราที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์อันเลวลงไปกว่านี้ ท่านจะต้องสื่อสารประสงค์ของเราแก่คณะทูตานุทูต และท่านจะแจ้งให้เราทราบโดยเร็วที่สุดเมื่อการเสวยราชย์เกิดขึ้น ที่ซึ่งราชนัดดาของเราจะถูกเรียกขานในปรมาภิไธยแบบกษัตริย์ว่า อ็องรีที่ 5[53]
หลุยส์ ฟีลิป เพิกเฉยต่อคำเรียกร้องของพระเจ้าชาร์ลในเอกสารฉบับดังกล่าว และในวันที่ 9 สิงหาคม ได้ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 พระมหากษัตริย์แห่งชาวฝรั่งเศส (กษัตริย์ประชาชน)[54]
เสด็จลี้ภัยครั้งที่สองและสวรรคต
แก้เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าผู้ประท้วงจำนวน 14,000 คน กำลังเตรียมการบุกโจมตี สมาชิกพระราชวงศ์จึงเสด็จออกจากร็องบูเยต์จนถึงวันที่ 16 สิงหาคม ทั้งหมดต่างพากันลงเรือกลไฟพาณิชย์ที่พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปทรงจัดเตรียมไว้ให้สู่สหราชอาณาจักร ทุกพระองค์ทรงได้รับแจ้งจากนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ดยุกแห่งเวลลิงตัน ว่าจะต้องเสด็จเข้าสู่ประเทศอังกฤษเยี่ยงสามัญชนทั่วไป ทุกพระองค์จึงต้องทรงใช้พระนามแฝง ส่วนพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ทรงใช้พระนามเรียกตนเองว่า เคาน์แห่งปงตีเยอ เมื่อเสด็จเข้าสู่อังกฤษ ชาวอังกฤษต้อนรับสมาชิกราชวงศ์บูร์บงอย่างเย็นชาและมีท่าทีเย้ยหยันด้วยการโบกธงตรีกอลอร์ของฝ่ายปฏิวัติที่พึ่งจะถูกประกาศใช้เป็นธงชาติแห่งฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ[55]
ไม่นานหลังจากนั้น บรรดาเจ้าหนี้ของพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ต่างพากันตามพระองค์มายังอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหนี้เหล่านี้ได้ถวายเงินกู้ยืมจำนวนมหาศาลให้พระเจ้าชาร์ลได้ทรงใช้สอยและพระองค์ยังไม่ได้ทรงใช้คืนจนครบจำนวนเงินที่ทรงติดค้างไว้ อย่างไรก็ตาม พระราชวงศ์ยังพอมีพระราชทรัพย์ส่วนของเจ้าหญิงมารี เตเรซ พระชายา ที่ทรงฝากไว้ในลอนดอนมาชดใช้หนี้สินดังกล่าว[55]
พระราชวงศ์บูร์บงทรงได้รับอนุญาตให้พำนักที่ปราสาทลัลเวิร์ธในดอร์เซต แต่ไม่นานก็ต่างพากันเสด็จย้ายไปพำนักที่พระราชวังฮอลีรูดในเอดินบะระ[55] ซึ่งใกล้เคียงกันคือ รีเจนต์เทอร์เรซ สถานที่ประทับของพระสุณิสา (ลูกสะใภ้) เจ้าหญิงคาโรไลน์ แฟร์ดีนันด์แห่งบูร์บง-ซิซิลีทั้งสอง ดัชเชสแห่งแบร์รี[56]
จากการที่พระเจ้าชาร์ลที่ 10 เสด็จฯ ย้ายมาประทับ ณ สกอตแลนด์ ปรากฏว่าความสัมพันธ์ของพระองค์กับดัชเชสแห่งแบร์รีไม่ค่อยราบรื่นนัก เนื่องจากดัชเชสแห่งแบร์รีทรงอ้างสิทธิ์การเป็นผู้สำเร็จราชการแทนให้แก่พระโอรสของพระนาง อ็องรี ดาร์ตัว รัชทายาทที่ได้รับสมมุติแห่งฝรั่งเศสสายเลชีตีมีสต์องค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการสละราชสมบัติของพระเจ้าชาร์ล ณ ร็องบูเยต์ ในช่วงแรกพระเจ้าชาร์ลไม่ทรงยอมรับการอ้างสิทธิ์ดังกล่าว แต่ในเดือนธันวาคมทรงตกลงว่าจะสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ดังกล่าว[57] หากพระนางเสด็จนิวัตฝรั่งเศสได้สำเร็จ[56] ในปี พ.ศ. 2374 ดัชเชสแห่งแบร์รีเสด็จออกจากบริเตนผ่านเนเธอร์แลนด์ ปรัสเซีย ออสเตรีย สู่เนเปิลส์ อันเป็นถิ่นที่ประทับเดิมที่ราชวงศ์ของพระนางประทับอยู่[56] ต่อมาเสด็จถึงมาร์แซย์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2375 แต่ทรงได้รับเสียงสนับสนุนเพียงน้อยนิด[56] จึงเสด็จต่อไปยังว็องเด ที่ซึ่งทรงพยายามก่อการกำเริบต่อรัฐบาลใหม่ แต่ทรงถูกจับกุมตัวและถูกคุมขัง นำมาซึ่งความอัปยศแก่พระเจ้าชาร์ลเป็นอันมาก[57] เมื่อทรงได้รับการปล่อยตัว ดัชเชสแห่งแบร์รีเสกสมรสใหม่อีกครั้งกับขุนนางชั้นผู้น้อยแห่งเนเปิลส์ ยิ่งทำให้พระเจ้าชาร์ลทรงรู้สึกอนาถพระทัยมากขึ้นไปกว่าเดิม และจากการแต่งงานต่างฐานันดรในครั้งนี้ ทำให้พระเจ้าชาร์ลทรงห้ามไม่ให้พระนางพบกับพระโอรส-ธิดาของพระนางอีก[58]
ในช่วงฤดูหนาวระหว่างปี พ.ศ. 2375 - 2376 พระราชวงศ์บูร์บงที่เหลือเสด็จย้ายไปประทับ ณ กรุงปราก ตามคำเชิญของจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งออสเตรีย ทั้งหมดจึงได้ประทับ ณ พระราชวังฮะราดส์ชิน (Hradschin Palace) ภายใต้พระบรมราชานุญาตของจักรพรรดิแห่งออสเตรีย[57] ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2376 สมาชิกราชวงศ์บูรบงสายเลชีตีมีสต์ทรงรวมกลุ่มกันที่กรุงปรากเพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติปีที่สามสิบของดยุกแห่งบอร์โด ทั้งหมดต่างทรงคาดหวังว่างานเฉลิมฉลองจะออกมายิ่งใหญ่ แต่พระเจ้าชาร์ลกลับเพียงแค่เฉลิมฉลองเพียงเล็กน้อย ในวันเดียวกันนั้นเอง หลังจากที่ทรงถูกโน้มน้าวอย่างมากจากเดอ ชาโตบรีอองด์ ทรงตกลงยอมพบกับดัชเชสแห่งแบร์รีในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ณ ลีโอเบิน ในออสเตรีย ซึ่งพระโอรส-ธิดาของพระนางปฏิเสธที่จะพบกับพระมารดาของตนหลังจากทราบข่าวการเสกสมรสครั้งที่สอง พระเจ้าชาร์ลทรงปฏิเสธคำเรียกร้องหลายประการจากดัชเชสแห่งแบร์รี แต่จากคำทักท้วงของพระสุณิสา (ลูกสะใภ้) พระองค์อื่น ๆ เช่น ดัชเชสแห่งอ็องกูแลม พระเจ้าชาร์ลจึงยอมตกลงในที่สุด ต่อมาช่วงฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2378 พระเจ้าชาร์ลก็ทรงยิมยอมให้ดัชเชแห่งแบร์รีเข้าพบกับพระโอรส-ธิดาของพระนางได้[59]
จากการสวรรคตของจักรพรรดิฟรันซ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2378 สมาชิกราชวงศ์บูร์บงเสด็จย้ายออกจากปราสาทปราก เนื่องจากจักพรรดิพระองค์ใหม่ของออสเตรีย จักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ที่ 1 ประสงค์ที่จะใช้ปราสาทดังกล่าวเป็นสถานที่สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ ในช่วงต้นทั้งหมดเสด็จย้ายไปพำนักชั่วคราวที่เมืองเตอปลิตซ์ แต่ต่อมาเมื่อจักรพรรดิแฟร์ดีนันที่ 1 ประสงค์ที่จะประทับ ณ ปราสาทปรากเป็นการถาวร สมาชิกราชวงศ์บูร์บงจึงต้องหาที่พำนักแห่งใหม่และตัดสินใจซื้อปราสาทเคียชแบร์ก (Kirchberg Castle) แต่ยังไม่สามารถย้ายเข้าไปได้ในทันทีเนื่องจากในขณะนั้นมีการระบาดของอหิวาตกโรค ในขณะเดียวกันนั้นเอง ในเดือนตุลาคม ที่พระเจ้าชาร์ลเสด็จฯ ไปยังชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของออสเตรียที่อบอุ่นกว่า ณ เมืองเกอร์ซ (Görz) ของสโลวีเนีย ซึ่งที่เมืองเกอร์ซนี้เองที่ทรงติดเชื้ออหิวาตกโรคและสวรรคตในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2379 ชาวเมืองต่างพากันสวมเสื้อผ้าสีดำเป็นการไว้อาลัยให้กับพระองค์ พระศพถูกฝัง ณ สุสานกอนสตานเจวิกา (ปัจจุบันตั้งอยู่ในเมืองเมืองนอวากอริกาของสโลวีเนีย)[60] ร่วมกับหลุมศพของสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ
อ้างอิง
แก้- ↑ Mary Platt Parmele, A Short History of France. New York: Charles Scribner's Sons (1894), p. 221.
- ↑ Munro Price, The Perilous Crown: France between Revolutions, Macmillan, p. 185-187.
- ↑ nndb.com
- ↑ Évelyne Lever, Louis XVI, Librairie Arthème Fayard, Paris (1985), p. 43
- ↑ Antonia Fraser, Marie Antoinette: the Journey, p. 113–116.
- ↑ Charles Porset, Hiram sans-culotte? Franc-maçonnerie, lumières et révolution: trente ans d'études et de recherches, Paris: Honoré Champion, 1998 p. 207.
- ↑ Fraser, p. 128-129.
- ↑ Fraser, p. 137–139.
- ↑ Fraser, p. 189.
- ↑ 10.0 10.1 Fraser, p. 80-81.
- ↑ Fraser, p. 178.
- ↑ Susan Nagel, Marie Thérèse: Child of Terror, p. 11.
- ↑ Nagel, pp. 11-12.
- ↑ Fraser, p. 221.
- ↑ Fraser, p. 274–278.
- ↑ Fraser, p. 338.
- ↑ Fraser, p. 340.
- ↑ Nagel, p. 65.
- ↑ Fraser, p. 383.
- ↑ Nagel, p. 103.
- ↑ Nagel, p. 113.
- ↑ Nagel, p. 118.
- ↑ Fraser, p. 399, 440, 456; Nagel, p. 143.
- ↑ Nagel, p. 152-153.
- ↑ Nagel, p. 207.
- ↑ Nagel, p. 210, 222, 233–235
- ↑ Nagel, p. 153.
- ↑ Price, p. 11-12.
- ↑ 29.0 29.1 Nagel, p. 253-254.
- ↑ Price, p. 50.
- ↑ Price, p. 52-54.
- ↑ Price, p. 72, 80–83
- ↑ Price, p. 84.
- ↑ Price, p. 91-92.
- ↑ Price, p. 94-95.
- ↑ Price, p. 109.
- ↑ McConnachie, James (2004). Rough Guide to the Loire. London: Rough Guides. p. 144. ISBN 978-1843532576.
- ↑ Lever, Évelyne, Louis XVIII, Librairie Arthème Fayard, Paris, 1988, p. 553. (French).
- ↑ Price, p. 113-115.
- ↑ Price, p. 116-118.
- ↑ 41.0 41.1 Price, p. 119-121.
- ↑ 42.0 42.1 Price, p. 122-128.
- ↑ 43.0 43.1 Price, p. 136-138.
- ↑ Price, p. 130-132.
- ↑ Castelot, André, Charles X, Librairie Académique Perrin, Paris, 1988, p. 454 ISBN 2-262-00545-1
- ↑ Le régime légal est interrompu; celui de la force a commencé... L'obéissance cesse d'être un devoir!
- ↑ Price, p. 141-142.
- ↑ Price, p. 151-154, 157.
- ↑ Price, p. 158, 161–163.
- ↑ Price, p. 173-176.
- ↑ Castelot, Charles X, p. 482.
- ↑ Castelot, Charles X, p. 491
- ↑ Charles X's abdication: “Mon cousin, je suis trop profondément peiné des maux qui affligent ou qui pourraient menacer mes peuples pour n’avoir pas cherché un moyen de les prévenir. J’ai donc pris la résolution d’abdiquer la couronne en faveur de mon petit-fils, le duc de Bordeaux. Le dauphin, qui partage mes sentiments, renonce aussi à ses droits en faveur de son neveu. Vous aurez donc, en votre qualité de lieutenant général du royaume, à faire proclamer l’avènement de Henri V à la couronne. Vous prendrez d’ailleurs toutes les mesures qui vous concernent pour régler les formes du gouvernement pendant la minorité du nouveau roi. Ici, je me borne à faire connaître ces dispositions : c’est un moyen d’éviter encore bien des maux. Vous communiquerez mes intentions au corps diplomatique, et vous me ferez connaître le plus tôt possible la proclamation par laquelle mon petit-fils sera reconnu roi sous le nom de Henri V. »
- ↑ Price, p. 177, 181–182, 185.
- ↑ 55.0 55.1 55.2 Nagel, p. 318-325
- ↑ 56.0 56.1 56.2 56.3 A.J. Mackenzie-Stuart, A French King at Holyrood, Edinburgh (1995).
- ↑ 57.0 57.1 57.2 Nagel, p. 327-328.
- ↑ Nagel, pp. 322, 333.
- ↑ Nagel, p. 340-342.
- ↑ Nagel, p. 349-350.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ก่อนหน้า | พระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 | พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ (16 กันยายน พ.ศ. 2367 - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2373) |
พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 ในฐานะกษัตริย์ประชาชน |