วัณโรค
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วัณโรค (อังกฤษ: tuberculosis, TB) เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis[1] ทำให้เกิดโรคได้กับหลายๆ อวัยวะ โดยส่วนใหญ่พบที่ปอด[1] ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ เรียกว่าวัณโรคระยะแฝง[1] ผู้ป่วยกลุ่มนี้ 10% จะมีการดำเนินโรคไปจนถึงระยะที่มีอาการ ในจำนวนนี้หากไม่ได้รับการรักษาครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิต[1] อาการตามแบบฉบับของวัณโรคปอดระยะแสดงอาการคืออาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด มีไข้ เหงื่อออกกลางคืน และน้ำหนักลด[1] หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่อวัยวะอื่นก็จะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามแต่ละอวัยวะ[8]
วัณโรค | |
---|---|
ชื่ออื่น | Tuberculosis, phthisis, phthisis pulmonalis, consumption |
ภาพถ่ายเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยวัณโรคระยะรุนแรง ลูกศรสีขาวชี้บริเวณที่มีการติดเชื้อที่ปอด และลูกศรสีดำชี้บริเวณที่ปอดถูกทำลายจนกลายเป็นโพรง | |
สาขาวิชา | โรคติดเชื้อ, โรคปอด |
อาการ | ไอเรื้อรัง, มีไข้, ไอเป็นเลือด, น้ำหนักลด[1] |
สาเหตุ | เชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis[1] |
ปัจจัยเสี่ยง | การสูบบุหรี่, การติดเชื้อเอชไอวี[1] |
วิธีวินิจฉัย | เอกซเรย์ปอด, เพาะเชื้อ, การตรวจทูเบอร์คูลิน[1] |
โรคอื่นที่คล้ายกัน | ปอดบวม, โรคติดเชื้อราฮีสโตพลาสมา, ซาร์คอยโดซิส, โรคติดเชื้อราค็อกซิดิออยด์[2] |
การป้องกัน | คัดกรองโรคในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ให้การรักษาผู้ที่ติดเชื้อ ใช้วัคซีน BCG[3][4][5] |
การรักษา | ยาปฏิชีวนะ[1] |
ความชุก | 25% ของประชากร (ระยะแฝง)[6] |
การเสียชีวิต | 1.5 ล้าน (ค.ศ. 2018)[7] |
วัณโรคติดต่อจากคนสู่คนผ่านอากาศ ผู้ป่วยวัณโรคปอดจะแพร่เชื้ออกมากับการไอ จาม ขับเสมหะ หรือการส่งเสียงพูด[1][9] ส่วนผู้ป่วยระยะแฝงจะไม่แพร่เชื้อ[1] การติดเชื้อแบบแสดงอาการจะพบได้บ่อยในผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ที่สูบบุหรี่[1] การวินิจฉัยทำได้โดยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก และการตรวจสารคัดหลั่งโดยการส่องกล้องหรือการเพาะเชื้อ[10] ส่วนการวินิจฉัยวัณโรคระยะแฝงมักทำด้วยการตรวจทูเบอร์คูลินที่ผิวหนังหรือการตรวจเลือด[10]
การป้องกันวัณโรคทำได้โดยการตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ วินิจฉัยและเริ่มต้นการรักษาให้รวดเร็ว และใช้วัคซีน BCG[3][4][5] ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่คนที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน หรือทำงานด้วยกัน หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อ[4] การรักษาทำได้โดยอาศัยการกินยาปฏิชีวนะหลายชนิดเป็นเวลานานหลายเดือน[1] ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยา ทั้งแบบที่ดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) และดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB)[1]
ข้อมูล ค.ศ. 2018 ระบุว่าประชากรของโลกประมาณหนึ่งในสี่มีการติดเชื้อวัณโรคแบบแฝงแล้ว[6] โดยในแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 1% ของประชากร[11] ใน ค.ศ. 2018 มีผู้ป่วยวัณโรคระยะแสดงอาการมากกว่า 10 ล้านคน โดยมีผู้เสียชีวิต 1.5 ล้านคน[7] เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่หนึ่งในบรรดาโรคติดเชื้อทั้งหมด[12] ผู้ป่วยวัณโรคส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (44%) แอฟริกา (24%) และกลุ่มประเทศแปซิฟิกตะวันตก (18%) โดยผู้ป่วยกว่า 50% มาจาก 8 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ไนจีเรีย และบังคลาเทศ[12] ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เริ่มลดลง[1] 80% ของประชากรในหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกาจะตรวจทูเบอร์คูลินได้ผลบวก ส่วนในสหรัฐจะพบผลบวกประมาณ 5–10%[13] เชื้อวัณโรคอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ[14]
ในประเทศไทย วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยเฉพาะปัญหาวัณโรคดื้อยา ที่ยากต่อการควบคุม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2561 จึงมีการประกาศให้วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ลำดับที่ 13[15]
อาการ
แก้- ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ บางรายไอแห้งๆ บางรายอาจมีเสมหะสี เหลือง เขียว หรือไอปนเลือด
- เจ็บแน่นหน้าอก
- มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือเย็น
- เหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
การปฏิบัติตนเมื่อเป็นวัณโรค
แก้- กินยาตามชนิดและขนาดที่แพทย์สั่งให้อย่างสม่ำเสมอจนครบกำหนด
- หลังกินยาไประยะหนึ่ง อาการไอและอาการทั่วๆไปจะดีขึ้น อย่าหยุดกินยาเด็ดขาด
- ควรงดสิ่งเสพติดทุกชนิด เช่น เหล้า บุหรี่ ฯลฯ
- สวมผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
- เปลี่ยนผ้าปิดจมูกที่สวม บ่อยๆเพราะผ้าปิดจมูกเอง ก็เป็นพาหะได้เช่นกัน
- บ้วนเสมหะลงในภาชนะ หรือกระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิด
- จัดบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวก ให้แสงแดดส่องถึงและหมั่นนำเครื่องนอนออกตากแดด
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ทุกชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อปลา และนม ไข่ ผัก และผลไม้
- นอนกลางวันอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อนำโปรตีนจากอาหารรับประทานเข้าไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
- ไม่เที่ยวในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เพราะ อาจนำเชื้อไปแพร่ให้ผู้อื่น หรือ ติดเชื้อโรคจากผู้อื่นเข้าสู่ร่างกายเพิ่มเติม
- ในระยะ 2 เดือนแรกหลังจากเริ่มการรักษา (เรียกว่า "ระยะแพร่เชื้อโรค") ผู้ป่วยควรจะนอนในห้องที่มีอากาศถ่ายเท และ นอนแยกห้องกับสมาชิกในครอบครัว รวมไปถึงการรับประทานอาหาร การใช้ถ้วยชาม และเสื้อผ้า ควรแยกล้าง หรือ แยกซักต่างหาก และต้องนำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค
- หลังจากแพทย์ลงความเห็นว่าพ้นจากระยะแพร่เชื้อโรคแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวได้ดังเช่นเดิม เช่น การนอน การรับประทานอาหาร และซักผ้าร่วมกับสมาชิกผู้อื่น โดยในระยะนี้ผู้ป่วยต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 4 เดือน (โรควัณโรคจะต้องใช้เวลาในการรักษาระยะสั้นที่สุด 6 เดือน ยาวที่สุด 1–2 ปี)
การป้องกัน
แก้- ถ้ามีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าเป็นวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีไข้ต่ำๆโดยเฉพาะตอนบ่ายๆหรือค่ำๆ เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรรีบไปรับการตรวจรักษาโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น การส่ำส่อนทางเพศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์ เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง มีโอกาสที่จะป่วยเป็นวัณโรค จะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น
- ประชาชนทั่วไป ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซ์เรย์ปอดหรือตรวจเสมหะ (AFB) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถ้าพบว่าเป็นวัณโรคจะได้รีบรักษาก่อนที่จะลุกลามมากขึ้น
- ในเด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจี (Bacilus Calmette Guerin) รวมถึงผู้ที่ทำการทดสอบทูเบอร์คูลินเทสท์ (Tuberculin test) ให้ผลเป็นลบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
แนวทางการรักษา
แก้ในปัจจุบัน โรควัณโรคเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ โดยใช้ระยะเวลาการรักษาสั้นที่สุด 6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเองว่ากินยาครบตามที่แพทย์สั่งหรื่อไม่ ถ้ากินๆหยุดๆอาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อวัณโรคดื้อยา (MDR TB,XDR TB) ได้ จะทำให้ระยะเวลาการรักษายาวนานและการรักษายากมากยิ่งขึ้น
ยาวัณโรคในปัจจุบันหลัก ๆ จะมีอยู่ 4 ชนิดคือ
- Isoniazid
- Rifampicin
- pyrazinamide
- Ethambutol
ยาที่กล่าวมาในข้างต้นนี้มีผลข้างเคียงของยาทุกตัว จึงต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ ถ้าซื้อหรือหามารับประทานเองอาจเป็นอันตราย
วัณโรคกับเอดส์
แก้วัณโรคและโรคเอดส์ เป็นแนวร่วมมฤตยูที่สามารถเพิ่มผลกระทบให้มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอดส์ โดยผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ จะมีผลกระทบต่อวัณโรค ทั้งในส่วนของการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นในด้านการรักษา ผู้ป่วยมักขาดยา กินยาไม่สม่ำเสมอ นำไปสู่การดื้อยา ทำให้มีอัตราการรักษาหายต่ำ และจะส่งผลให้อัตราการตายสูง นอกจากนี้ ยังพบอัตราการกลับเป็นวัณโรคซ้ำมากขึ้น รวมทั้ง นำเชื้อวัณโรคดื้อยาแพร่กระจายแก่ผู้อื่นได้ง่าย
ความล่าช้าและผลกระทบ
แก้ความล่าช้าในการรักษาผู้ป่วยวัณโรค หมายถึง ระยะเวลาที่ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการจนถึงระยะเวลาผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถแบ่งความล่าช้าออกได้ 4 ระยะ ดังนี้[16]
- ความล่าช้าจากผู้ป่วย (Patient's Delays) คือระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับวัณโรค และสิ้นสุดในวันสุดท้ายก่อนเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์
- ความล่าช้าจากระบบการส่งต่อ (Referral’s delays) คือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการเริ่มแรกมารับการรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขครั้งแรก แล้วได้รับการส่งต่อเพื่อพบแพทย์ทำการวินิจฉัยวัณโรค
- ความล่าช้าจากการวินิจฉัย (Diagnosis’s delays) คือระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ามารับการตรวจวินิจฉัยที่ระบบบริการสุขภาพของรัฐครั้งแรก และสิ้นสุดเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยป่วยเป็นวัณโรค
- ความล่าช้าจากการรักษา (Treatment’s delays) คือระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย และสิ้นสุดเมื่อเริ่มต้นรักษาครั้งแรก
ผลกระทบที่เกิดจากความล่าช้าในการรักษา ประกอบด้วย 2 ระดับ คือ
- ระดับตัวบุคคล คือผลกระทบของการเกิดโรคต่อร่างกายของผู้ป่วยเอง เช่น อาการหอบเรื้อรังแม้รักษาหายแล้ว เป็นต้น
- ระดับสังคม คือผลกระทบที่บุคคลที่ป่วยจะนำเชื้อโรคไปแพร่สู่สังคม ทำให้เกิดการระบาดของโรคยากที่จะสามารถควบคุมได้
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 "Tuberculosis (TB)". www.who.int (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2020.
- ↑ Ferri FF (2010). Ferri's differential diagnosis : a practical guide to the differential diagnosis of symptoms, signs, and clinical disorders (2nd ed.). Philadelphia, PA: Elsevier/Mosby. p. Chapter T. ISBN 978-0-323-07699-9.
- ↑ 3.0 3.1 Hawn TR, Day TA, Scriba TJ, Hatherill M, Hanekom WA, Evans TG, และคณะ (ธันวาคม 2014). "Tuberculosis vaccines and prevention of infection". Microbiology and Molecular Biology Reviews. 78 (4): 650–71. doi:10.1128/MMBR.00021-14. PMC 4248657. PMID 25428938.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Organization, World Health (2008). Implementing the WHO Stop TB Strategy: a handbook for national TB control programmes. Geneva: World Health Organization (WHO). p. 179. ISBN 978-92-4-154667-6.
- ↑ 5.0 5.1 Harris RE (2013). Epidemiology of chronic disease: global perspectives. Burlington, MA: Jones & Bartlett Learning. p. 682. ISBN 978-0-7637-8047-0.
- ↑ 6.0 6.1 "Tuberculosis (TB)". World Health Organization (WHO). 16 February 2018. สืบค้นเมื่อ 15 September 2018.
- ↑ 7.0 7.1 "Global Tuberculosis Report" (PDF). WHO. WHO. 2019. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2020.
- ↑ Adkinson NF, Bennett JE, Douglas RG, Mandell GL (2010). Mandell, Douglas, and Bennett's principles and practice of infectious diseases (7th ed.). Philadelphia, PA: Churchill Livingstone/Elsevier. p. Chapter 250. ISBN 978-0-443-06839-3.
- ↑ "Basic TB Facts". Centers for Disease Control and Prevention (CDC). 13 มีนาคม 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2016. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2016.
- ↑ 10.0 10.1 Konstantinos A (2010). "Testing for tuberculosis". Australian Prescriber. 33 (1): 12–18. doi:10.18773/austprescr.2010.005.
- ↑ "Tuberculosis". World Health Organization (WHO). 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มิถุนายน 2013.
- ↑ 12.0 12.1 "Global tuberculosis report". World Health Organization (WHO). สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2017.
- ↑ Kumar V, Robbins SL (2007). Robbins Basic Pathology (8th ed.). Philadelphia: Elsevier. ISBN 978-1-4160-2973-1. OCLC 69672074.
- ↑ Lawn SD, Zumla AI (กรกฎาคม 2011). "Tuberculosis". Lancet. 378 (9785): 57–72. doi:10.1016/S0140-6736(10)62173-3. PMID 21420161. S2CID 208791546.
- ↑ "รู้จัก 13 ชื่อโรคติดต่ออันตราย!ก่อนสธ.ประกาศ 'ไวรัสโควิด-19' เป็น'น้องใหม่'". สำนักข่าวอิศรา. 20 กุมภาพันธ์ 2020.
- ↑ THE STOP TB STRATEGY : Building on and enhancing DOTS to meet the TB-related Millennium Development Goals. Ganeva, Switzerland: World Health Organization (WHO). 2006.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- กองวัณโรค กรมควบคุมโรค
- วัณโรค ที่เว็บไซต์ Curlie
- "Tuberculosis (TB)". Centers for Disease Control and Prevention (CDC). 24 ตุลาคม 2018.
- "Tuberculosis (TB)". London: Health Protection Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 กรกฎาคม 2007.
- WHO global 2016 TB report (infographic)
- WHO tuberculosis country profiles
การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |