ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าปดุง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Bodawpaya)
พระเจ้าปดุง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าปดุงในพระราชวังมัณฑะเลย์
พระมหากษัตริย์พม่า
เจ้าฟ้าแห่งบะโดน
ครองราชย์11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2325 – 5 มิถุนายน พ.ศ. 2362 (37 ปี 114 วัน)
ราชาภิเษก11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2325
ก่อนหน้าพระเจ้าหม่องหม่อง
ถัดไปพระเจ้าจักกายแมง
พระราชสมภพ11 มีนาคม พ.ศ. 2288
มุกโชโบ ประเทศพม่า
สวรรคต5 มิถุนายน พ.ศ. 2362 (74 พรรษา)
อมรปุระ ประเทศพม่า
ฝังพระศพอมรปุระ
พระมเหสีมีนลูนเม
พระราชบุตรพระราชโอรส 62 พระองค์
พระราชธิดา 58 พระองค์
พระนามเต็ม
สีริบวร ติโลกบัณฑิต มหาธัมมราชาธิราชา
(သီရိပဝရ တိလောကပဏ္ဍိတ မဟာဓမ္မရာဇာဓိရာဇာ)
พระราชบิดาพระเจ้าอลองพญา
พระราชมารดายู่นซาน
ศาสนาพุทธ

พระเจ้าปดุง (พม่า: ဗဒုံမင်း บะโดนมี่น) เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์โก้นบอง (หรือเป็นพระองค์ที่ 6 หากนับรวมพระเจ้าหม่องหม่องด้วย) ราชวงศ์สุดท้ายของพม่า เป็นพระโอรสลำดับที่ 5 ใน 6 พระองค์ของพระเจ้าอลองพญา ขึ้นครองราชย์โดยการปราบดาภิเษกในปี พ.ศ. 2325 ปีเดียวกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าปดุงเมื่อทรงครองราชย์มีพระนามว่า บะโดนมี่น หมายถึง "พระราชาจากเมืองบะโดน" แต่มีพระนามที่เรียกขานกันในพม่าภายหลังว่า โบ้ดอพะย่า (ဘိုးတော်ဘုရား) แปลว่า "พระเจ้าปู่" หรือ "พระบรมอัยกาธิราช"

ราชการสงคราม

[แก้]

การตีแคว้นยะไข่

[แก้]

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าปดุงได้ทรงทำสงครามชนะยะไข่ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกซึ่งพม่าไม่เคยเอาชนะมาก่อนเลย หลังสงครามครั้งนี้ พระองค์ยังได้อัญเชิญพระมหามัยมุนี อันเป็นพระพุทธรูปประจำชาติพม่า จากยะไข่มาประทับที่มัณฑะเลย์

ตามบันทึกในจดหมายเหตุ "Dhanyawadi Naing Mawgun" หรือบันทึกแห่งชัยชนะเหนือเมืองธัญวดี (ยะไข่) กล่าวถึงพระเจ้าปดุงพร้อมกับพระอุปราช ได้ทำการชะลอพระมหามุนีลงมายังราชธานีเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อแสดงถึงพระบารมีของพระองค์ในฐานะผู้สูงส่ง และเป็นสัญลักษณ์แสดงอำนาจเหนือดินแดนยะไข่ ซึ่งมีความพยายามก่อนหน้านั้นตั้งแต่ยุคสมัยพุกามที่พยายามชะลอพระมหามุนี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จกระทั่งล่วงมาถึงรัชสมัยของพระองค์[1]

การทำสงครามเก้าทัพ

[แก้]

พระเจ้าปดุงต้องการแสดงให้เห็นถึงพระบารมีของพระองค์ว่า เป็นพระเจ้าช้างเผือกผู้พิชิตเอเชียอาคเนย์ได้อีกพระองค์หนึ่ง หลังจากพระเจ้าบุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอู และพระเจ้ามังระ พระเชษฐาของพระองค์ สามารถทำได้

ครั้งนั้นพระเจ้าปดุงสั่งเกณฑ์ไพร่จำนวนกว่า 1 แสน 2 หมื่นคน แยกเป็น 5 สาย 9 ทัพ (จึงเรียกว่า "สงครามเก้าทัพ") มากรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2328 โดยพระองค์ทรงยกมาเป็นทัพหลวง โดยตั้งทัพและตั้งฐานบัญชาการที่เมาะตะมะ แต่เมื่อพระองค์เสด็จจากอังวะราชธานี ทางเมาะตะมะเตรียมเสบียงไม่พอ ทำให้กองทัพพม่าไม่พร้อม และเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถทำสงครามครั้งนี้ได้สำเร็จ โดยครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงใช้การตั้งรับเชิงรุก ทรงส่งกองทัพไปรบแถบชายแดนเพื่อไม่ให้พม่าสามารถรวมทัพได้เหมือนทุกคราว โดยมีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงเป็นหัวใจสำคัญในการปกป้องกรุงรัตนโกสินทร์ในคราวนี้

สงครามศึกท่าดินแดงกับสยาม

[แก้]

ในสงครามครั้งนี้พระเจ้าปดุงโปรดเกล้าให้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เป็นทัพใหญ่เพียงทัพเดียว ทางฝ่ายสยามตั้งทัพที่ท่าดินแดง แขวงเมืองกาญจนบุรี (จึงเรียกว่า "สงครามท่าดินแดง") สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจากกองทัพสยามที่นำโดยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทบุกเข้าโจมตีกองทัพพม่าโดยไม่ทันได้ตั้งตัวจนแตกพ่ายไป หลังพ่ายแพ้การศึกครั้งนี้ พระเจ้าปดุงก็ไม่เคยยกทัพใหญ่มาทำสงครามกับกรุงรัตนโกสินทร์อีกเลย

การศาสนาและวัฒนธรรม

[แก้]
พระราชสุสานในเมืองอมรปุระ
มี่นกู้นปะโท่ดอจี้ ซึ่งพระเจ้าปดุงทรงเคยสร้างและตั้งพระทัยให้เป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

พระเจ้าปดุงทรงอ้างพระองค์ว่าเป็นพระศรีอริยเมตไตรยพระองค์ต่อไป แต่คณะสงฆ์ได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของพระองค์อย่างแข็งขัน[2][3] ในรัชสมัยของพระองค์ วิชาการทางพระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองขึ้นมาก ทรงได้แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชขึ้นเพื่อธำรงความบริสุทธิ์ของพระวินัย และทรงประสบความสำเร็จในการขอให้คณะสงฆ์อนุญาตให้พระสงฆ์สามารถห่มสังฆาฏิจากไหล่ได้ทั้ง 2 ข้าง รวมทั้งคณะสงฆ์พม่าได้รวมเป็นหนึ่ง นอกจากนี้ ในยุคสมัยของพระองค์ ยังมีการส่งพระภิกษุไปยังศรีลังกาเพื่อทำการอุปสมบทต่อกุลบุตรชาวศรีลังกาเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้ได้ก่อกำเนิดอมรปุระนิกาย อันเป็นนิกายสงฆ์ในศรีลังกาซึ่งสืบทอดวัตรปฏิบัติแบบพระสงฆ์พม่าขึ้น[3]

ใน พ.ศ. 2333 พระเจ้าปดุงมีพระราชประสงค์ต้องการสร้างมี่นกู้นปะโท่ดอจี้ เจดีย์ใหญ่ขนาด 11 กิโลเมตร (6.8 ไมล์) ขึ้นที่เมืองมี่นกู้น โดยอยู่ทางทิศเหนือไปจากกรุงมัณฑะเลย์ทางชายฝั่งตะวันตกจากแม่น้ำอิรวดี แต่การสร้างพระเจดีย์ก็ไม่ได้เสร็จสิ้นตามพระประสงค์เนื่องจากมีคำทำนายที่ว่า "พระเจดีย์สร้างแล้วเสร็จ (เมื่อใด) วงศ์มุโซ่โบ (ราชวงศ์โก้นบอง) ก็สูญสิ้น" (ဘုရားကြီးလည်းအပြီးသတ် မုဆိုးသုညကပ်။) โดยหากเจดีย์สร้างเสร็จ ก็จะมีความสูง 150 เมตร (490 ฟุต) ซึ่งสูงมากพอที่จะสามารถเห็นได้จากชเวโบ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของราชวงศ์โก้นบองจากทางตะวันตก และยังอยู่สูงเหนือเขามินหวุ่น โดยแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2381 ทำให้พระเจดีย์เกิดรอยแยกขนาดใหญ่ และยังทำให้ชิ้นส่วนของชีนเต่ (รูปปั้นสิงห์ซึ่งมักอยู่ทางประตูวัดในประเทศพม่า) ตกลงไปในแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีระฆังมี่นกู้นขนาดมหึมาหนัก 90 ตันที่อุทิศให้กับเจดีย์ ซึ่งหล่อขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2351 ถึง พ.ศ. 2353[4][5] เดิมเคยเป็นระฆังที่ยังส่งเสียงได้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากระฆังที่พระราชวังเครมลินซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าได้แตกหักไป [6] จนกระทั่งมีการสร้างระฆังที่ใหญ่กว่าในประเทศจีนในช่วงปี 2000

ในรัชสมัยของพระองค์ ยังเป็นยุคที่ศิลปะการแสดงมีความรุ่งเรืองขึ้นมาก โดยทรงแต่งตั้งเสนาบดีในตำแหน่ง ตะบิ่นหวุ่น (သဘင်ဝန်) และทรงวางระเบียบเคร่งครัดโดยการประกาศพระราชโองการ (အမိန့်တော်)[7] พระองค์ยังรับสั่งให้มีการสำรวจเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในพระราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2327[2]

การสวรรคต

[แก้]

พระเจ้าปดุงสวรรคตในปี พ.ศ. 2362 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ของไทย รวมระยะเวลาการครองราชย์นานถึง 37 ปี[8][9]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ชัยวัฒน์ ปะสุนะ, "สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในจดหมายเหตุพม่า," วารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 7 (2) (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562), หน้า 166.
  2. 2.0 2.1 "Bodawpaya". Encyclopædia Britannica Online.
  3. 3.0 3.1 Bischoff, Roger (1995). Buddhism in Myanmar – A Short History (PDF). Kandy, Sri Lanka: Buddhist Publication Society. pp. 110–118.
  4. "Mingun". Myanmar's Net Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-21. สืบค้นเมื่อ 14 March 2007.
  5. "The Mingun Bell". Myanmar's Net Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กันยายน 2012. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2007.
  6. "The World's Three Largest Bells". Blagovest Bells. สืบค้นเมื่อ 14 March 2007.
  7. Dr. Khin Maung Nyunt (1998). "King Bodawpaya's Dramatic Performance Law". Perspective. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2007.
  8. Father Sangermano, A Description of the Burmese Empire (New York: 1969), p. 71
  9. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ไทยรบพม่า (พระนคร: แพร่พิทยา, 2514) หน้า 552-589
ก่อนหน้า พระเจ้าปดุง ถัดไป
พระเจ้าหม่องหม่อง พระมหากษัตริย์พม่า
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 3)

(พ.ศ. 2325–2362)
พระเจ้าจักกายแมง