ข้ามไปเนื้อหา

ไฟนอลแฟนตาซี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไฟนอลแฟนตาซี
ประเภทเกมเล่นตามบทบาท
ผู้พัฒนาสแควร์, สแควร์เอนิกซ์
ผู้จัดจำหน่ายสแควร์, สแควร์เอนิกซ์
ผู้จัดสร้าง
ระบบปฏิบัติการอาร์เคด
แอนดรอยด์
แบล็คเบอร์รี โอเอส
เกมบอย
เกมบอยอัดวานซ์
เกมคิวบ์
ไอโอเอส
จาวามี
ไมโครซอฟท์ วินโดวส์
เอ็มเอสเอกซ์
แฟมิคอม
นินเท็นโด ดีเอส
นินเท็นโด 3ดีเอส
นินเท็นโด สวิตช์
Ouya
เพลย์สเตชัน
เพลย์สเตชัน 2
เพลย์สเตชัน 3
เพลย์สเตชัน 4
เพลย์สเตชัน 5
เพลย์สเตชัน พอร์เทเบิล
เพลย์สเตชัน วิตา
ซูเปอร์แฟมิคอม
วี
วินโดวส์โฟน
พอนเดอร์สวอน
เอกซ์บอกซ์ 360
เอกซ์บอกซ์วัน
เอกซ์บอกซ์ซีรีส์เอกซ์และซีรีส์เอส
วางจำหน่ายครั้งแรกไฟนอลแฟนตาซี
18 ธันวาคม พ.ศ. 2530 (37 ปี)
จำหน่ายครั้งล่าสุดไฟนอลแฟนตาซี XVI
22 มิถุนายน 2566

ไฟนอลแฟนตาซี (อังกฤษ: Final Fantasy; ญี่ปุ่น: ファイナルファンタジー) เป็นเกมชุดแฟนตาซีแนวเล่นตามบทบาท สร้างขึ้นโดยฮิโรโนบุ ซากางูจิ พัฒนาขึ้นและถือสิทธิ์โดยบริษัทสแควร์เอนิกซ์ (ก่อนหน้าคือสแควร์) เกมหลักภาคแรกวางจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1987 และตามด้วยอีก 14 ภาคหลักนับแต่นั้นเป็นต้นมา เกมชุดนี้ถูกยังถูกพัฒนาแตกแขนงออกเป็นแนวย่อยต่าง ๆ มากมาย ทั้ง เกมแอ็กชันเล่นตามบทบาท (ARPG), เกมออนไลน์แบบเล่นตามบทบาท (MMORPG), เกมแข่งความเร็ว (Racing), เกมยิงจากบุคคลที่สาม (TPS), เกมต่อสู้ เป็นต้น และยังมีการดัดแปลงเป็นสื่อประเภทอื่นอาทิ อนิเมะ, มังงะ และนวนิยาย

ไฟนอลแฟนตาซีแต่ละภาคหลักมีการดำเนินเรื่องเป็นของตัวเอง มีตัวละครหลักและสถานที่แตกต่างกันไปตามแต่ละภาค แต่ทุกภาคจะถูกเชื่อมโยงหากันด้วยรายละเอียดเล็กน้อยบางอย่าง เช่น เครื่องจักรกล, พาหนะ และชื่อตัวละครบางตัว เป็นต้น เนื้อเรื่องแต่ละภาคนอกจากจะมุ่งเน้นไปที่วีรชนกลุ่มหนึ่งเข้าต่อสู้กับฝ่ายอธรรมแล้ว ยังแฝงไปด้วยบทสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในแง่มุมต่าง ๆ บ่อยครั้งที่พบว่าชื่อบางชื่อในเกมถูกนำมาจากประวัติศาสตร์, ภาษา, สถานที่, วัฒนธรรมประชานิยม ตลอดจนเรื่องปรัมปราจากทั่วทุกมุมโลก โครงสร้างของเกมแต่ละภาคยังมีระบบการต่อสู้หรือแผนที่คล้ายกัน

วีดีโอเกมชุด ไฟนอลแฟนตาซี ประสบความสำเร็จทั่งในแง่เสียงวิจารณ์เชิงบวกและยอดขาย ปัจจุบันมียอดขายรวมแล้วกว่า 144 ล้านฉบับทั่วโลก กลายเป็นหนึ่งในเกมชุดขายดีที่สุดตลอดกาล เกมชุดนี้มีกิตติศัพท์ในด้านความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ รวมถึงเพลงประกอบโดยโนบูโอะ อูเอมัตสึ เช่นกัน เกมชุดนี้ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวีดีโอเกมของญี่ปุ่น

ประวัติ

[แก้]
ฮิโรโนบุ ซากางูจิ ผู้สร้างเกมไฟนอลแฟนตาซี

บริษัทสแควร์ (Square) ได้เริ่มเข้ามาสู่ธุรกิจวิดีโอเกมในช่วงกลางของยุค 1980 เพื่อพัฒนาเกมสวมบทบาท (RPG) สำหรับเครื่องเกมนินเทนโดฟลอปปีดิสก์ (FDS) ซึ่งเป็นอุปกรณ์แผ่นดิสก์เสริมภายนอกเพื่อเล่นแผ่นดิสก์สำหรับเครื่องเกมนินเทนโด (NES) จนกระทั่งใน ค.ศ. 1987 ความนิยมในเครื่องเกมฟลอปปีดิสก์ได้เสื่อมถอยลงจนบริษัทสแควร์ต้องประสบกับวิกฤตล้มละลาย และในขณะนั้นเอง ฮิโรโนบุ ซากางูจิ นักออกแบบเกมของสแควร์ก็เริ่มสร้างเกมสวมบทบาทแนวแฟนตาซีใหม่ในรูปแบบตลับเกมแฟมิคอม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเกมดราก้อนเควสต์ของบริษัทเอนิกซ์ (Enix)

ซากางูจิวางแผนไว้ว่าจะวางมือหลังจากสร้างเกมนี้เป็นเกมสุดท้าย เขาจึงตั้งชื่อเกมนั้นว่า ไฟนอลแฟนตาซี และเกมนี้จะเป็นเกมสุดท้ายของบริษัทสแควร์อีกด้วย แต่บางคนก็เชื่อกันว่าทางบริษัทสแควร์เป็นฝ่ายตั้งชื่อเกมนี้เอง มิใช่ตัวซากางูจิ แต่เขายืนยันเองว่าเกมได้ชื่อนี้เพราะเขาจะวางมือ อย่างไรก็ตาม ไฟนอลแฟนตาซี หาได้เป็นความมหัศจรรย์ครั้งสุดท้ายสมชื่อ เกมนี้ได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้กับทั้งบริษัทสแควร์และซากางูจิ และยังสร้างเงินจำนวนมหาศาล

ซึ่งเรื่องราวข้างต้นเป็นเรื่องที่มีการแต่งเสริมขึ้นมา ซึ่งฮิโรโนบุ ซาคากุจิ ได้บรรยายที่มหาวิทยาลัยริตสึเมกัง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 2015[1] ว่าประสบปัญหาในช่วงการพัฒนาเนื่องมาจากข้อจำกัดของเครื่องแฟมิคอม ส่วนชื่อ Final Fantasy นั้นมาจากความต้องการใช้คำย่อ "FF" ซึ่งออกเสียงในภาษาญี่ปุ่นว่า "เอฟุเอฟุ" (エフエフ) แล้วฟังดูน่าสนใจ เริ่มแรกจะใช้ชื่อเกมว่า Fighting Fantasy แต่ชื่อนี้ถูกจดทะเบียนใช้งานไปก่อนแล้ว จึงเปลี่ยนมาเป็น Final Fantasy แทน

จากความสำเร็จของภาคแรก สแควร์ก็เร่งผลิตเกมภาคใหม่ออกมา แต่ต่างจากภาคแรก ไฟนอลแฟนตาซี II มีเป็นตัวละครใหม่ทั้งหมด แต่ยังคงดำเนินเรื่องราวตามแนวหลักเหมือนกับภาคแรก ซึ่งเกมในภาคต่อ ๆ มาก็ดำเนินเรื่องตามแนวหลักนี้เช่นกัน ไฟนอลแฟนตาซี ในแต่ละภาค จะแนะนำให้ผู้เล่นได้รู้จักกับโลกใหม่และระบบการเล่นใหม่ เกมในแต่ละภาคจะมีเนื้อเรื่องที่แตกต่างและไม่ต่อเนื่องกัน ยกเว้น ไฟนอลแฟนตาซี X-2 ในปีค.ศ. 2003 (หลังควบกิจการกับเอนิกซ์) ซึ่งเป็นเรื่องราวต่อจากตอนจบของ ไฟนอลแฟนตาซี X ไฟนอลแฟนตาซี ได้ให้แนวทางสำหรับสแควร์เองในการผลิตเกมและภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องอีกหลายเกม รวมทั้งยังเป็นตัวอย่างแนวทางให้เกม RPG อื่น ๆ อีกหลายเกม

ผลิตภัณฑ์

[แก้]

เกม

[แก้]

เกมแรกสุดของ ไฟนอลแฟนตาซี วางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1987 เกมหลักภาคต่อมาถูกสร้างขึ้นโดยมีเนื้อเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคก่อนหน้า เกมไฟนอลแฟนตาซีจำนวนมากได้รับการแปลเพื่อวางตลาดทวีปอเมริกาเหนือ, ยุโรป และออสเตรเลีย ทั้งแบบลงเครื่องเล่นเกม, พีซีคอมพิวเตอร์ และเกมโทรศัพท์ เกมหลักภาคล่าสุดของไฟนอลแฟนตาซีคือ ไฟนอลแฟนตาซี XVI ซึ่งวางจำหน่ายในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2023 ขณะเดียวกัน ทางบริษัทก็ได้ทำการรีเมคหรือรีมาสเตอร์เกมในภาคเก่า ๆ หลายเกมสำหรับเครื่องเล่นเกมยุคใหม่หรือในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน

ภาคหลัก

[แก้]
Release timeline
1987Final Fantasy
1988Final Fantasy II
1989
1990Final Fantasy III
1991Final Fantasy IV
1992Final Fantasy V
1993
1994Final Fantasy VI
1995–1996
1997Final Fantasy VII
1998
1999Final Fantasy VIII
2000Final Fantasy IX
2001Final Fantasy X
2002Final Fantasy XI
2003–2005
2006Final Fantasy XII
2007–2008
2009Final Fantasy XIII
2010Final Fantasy XIV
2011–2015
2016Final Fantasy XV
2017–2022
2023Final Fantasy XVI

ไฟนอลแฟนตาซีสามภาคแรกถูกวางจำหน่ายบนเครื่องเกมนินเทนโด (NES) เกมภาคแรกวางตลาดญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1987 และตลาดอเมริกาเหนือในปี ค.ศ. 1990 และกลายเป็นเกมที่สร้างแรงบันดาลใจใก้แก่เกมแนวสวมบทบาท (RPG) บนเครื่องเกมจำนวนมาก มีการนำไปลงเครื่องเกมอื่น ๆ อีกในเวลาต่อมา เกมภาคสองวางตลาดญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1988 และเกมภาคสามวางตลาดญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1990

หลังจากนั้นเกมได้ย้ายขึ้นมาสำหรับเครื่องซูเปอร์ นินเทนโด เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ซิสเทม (SNES) โดยเริ่มจากเกมภาคสี่ในปี ค.ศ. 1991 และทำตลาดในสหรัฐอเมริการวมถึงตลาดโลกในชื่อ ไฟนอลแฟนตาซี 2 ภาคที่ 5 ในปี ค.ศ. 1992 และภาคที่ 6 ในปีค.ศ. 1994 โดยทำตลาดในสหรัฐอเมริกาในชื่อ ไฟนอลแฟนตาซี 3 หลังจากนั้นกระบวนการเปิดตัวเกมถูกเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดพร้อมกับการย้ายขึ้นมาสำหรับเครื่อง เพลย์สเตชัน (PSone) โดยเริ่มจากภาค 7 ในปี ค.ศ. 1997 ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของไฟนอลแฟนตาซีที่เปิดตัวในรูปแบบเกม 3 มิติ พร้อมฉากหลังแบบพรีเรนเดอร์ จากนั้นภาค 8 เปิดตัวในปี ค.ศ. 1999 พร้อมกับปรับภาพกราฟิกให้ดูสมจริงและรีดประสิทธิภาพของเครื่องเพลย์สเตชันออกมามากยิ่งขึ้น และภาค 9 เปิดตัวในปี 2000 เป็นภาคที่กลับสู่จุดยืนเดิมของเกมแต่ยังคงด้วยเทคนิคการนำเสนอภาพแบบ 3 มิติ เช่นเดียวกับภาค 7 และภาค 8

จากนั้นเกมได้ย้ายขึ้นมาสำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 โดยเริ่มจากภาค 10 ในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งนับเป็นเกมแรกของไฟนอลแฟนตาซีที่มีภาคย่อยในตัวเองคือภาค X-2 ในปี ค.ศ. 2003 ภาค 11 ในปี ค.ศ. 2002 นับเป็นเกมออนไลน์แบบ MMORPG เกมแรกในตระกูล และนับเป็นเกมภาคหลักแรกที่ลงให้กับเครื่องเอกซ์บอกซ์ 360 และพีซี และภาค 12 ในปี ค.ศ. 2006 ที่ภาคนี้เริ่มมีการนำโลกเดิมของเกมภาคก่อน ๆ กลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากที่ตลอด 11 ภาคที่ผ่านมา มักจะมีเพียงแค่แก่นเรื่อง หรือองค์ประกอบบางอย่างที่ถูกนำกลับมาใช้เท่านั้น

หลังจากนั้นสแควร์เอนิกซ์ได้ประกาศพัฒนาซีรีส์ย่อย แฟบูลา โนวา คริสตัลลิส - ไฟนอล แฟนตาซี XIII ที่จะชูโรงเป็น "ตำนานคริสตัลบทใหม่" ล้างภาพจำเดิม ๆ ของซีรีส์และมุ่งเป้าไปยังอนาคตมากขึ้น โดยเริ่มจากซีรีส์เรือธงคือภาค 13 ในปี ค.ศ. 2009 เป็นเกมภาคหลักแรกที่ลงให้กับเครื่องเพลย์สเตชัน 3 และเกมหลักที่ 2 ที่ลงให้กับเครื่องเอกซ์บอกซ์ 360 และมีภาคย่อยอีกสองเกมคือ XIII-2 และไลท์นิงรีเทิร์น จากนั้นกระบวนการพัฒนาเกมก็เริ่มปรากฎปัญหาโดยเริ่มจากภาค 14 ในปี ค.ศ. 2010 ที่เป็นเกมออนไลน์ตัวที่ 2 และลงให้กับพีซีอย่างเดียว แต่การเปิดตัวเกมภาคนี้กลับได้รับเสียงตอบรับในแง่ลบอย่างมากจน นาโอกิ โยชิดะ ประกาศขอปิดเกมชั่วคราว เพื่อนำเกมกลับไปพัฒนาใหม่เป็น ไฟนอลแฟนตาซี XVI: อะ เรียม รีบอร์น ใน ค.ศ. 2013 ที่ครั้งนี้นอกจากพีซีแล้ว ยังเปิดตัวเกมให้กับเครื่องเพลย์สเตชัน 3 ด้วย และนับจากนั้นก็ไม่มีเกมไฟนอลแฟนตาซีภาคหลักเปิดตัวอีกจนกระทั่งใน ค.ศ. 2013 สแควร์เอนิกซ์ได้นำเกม ไฟนอลแฟนตาซี เวอร์ซัส XIII กลับมาเปิดตัวใหม่ในฐานะภาคหลักที่ 15 แต่การพัฒนาตัวเกมล่าช้ามากนับตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรกใน ค.ศ. 2006 และใช้เวลาพัฒนาเกมถึง 10 ปีใน ค.ศ. 2016 โดยเปิดตัวให้กับเครื่องเพลย์สเตชัน 4 และเอกซ์บอกซ์วัน แต่ก็ได้รับเสียงตอบรับในแง่ลบโดยเฉพาะความไม่สมจริงของเนื้อเรื่อง ทำให้สแควร์เอนิกซ์เปิดตัวเนื้อเรื่องเสริมในฐานะเนื้อหาดาวน์โหลดเพิ่มเติมจำนวน 5 ชุด เพื่อประกอบเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์มากขึ้น ภาคนี้นับเป็นเกมหลักแรกของไฟนอลแฟนตาซีที่ออกแบบมาเป็นเกมแนวแอคชันอาร์พีจีตามสมัยนิยม และมีเนื้อหาดาวน์โหลดเพิ่มเติมให้บริการ

ภาคหลักล่าสุด ภาค 16 เปิดตัวใน ค.ศ. 2022 และวางจำหน่ายใน ค.ศ. 2023 ให้กับเครื่องเพลย์สเตชัน 5 นับเป็นเกมหลักภาคแรกของไฟนอลแฟนตาซีที่ได้รับเรตติง Mature จาก ESRB และ D จาก CERO (เกมที่มีเนื้อหาเหมาะสำหรับผู้เล่นอายุ 17 ปีขึ้นไป) โดยนาโอกิ โยชิดะ ชูว่าภาคนี้คือไฟนอลแฟนตาซีที่เนื้อหาดาร์คที่สุดเท่าที่สแควร์เอนิกซ์เคยทำมา

สัญลักษณ์หลักของไฟนอลแฟนตาซี

[แก้]

แม้ว่า ไฟนอลแฟนตาซี ในแต่ละภาคจะมีเรื่องราวและระบบการเล่นต่างกัน แต่ก็มีสิ่งที่มีอิทธิพลหลัก ๆ ต่อรูปลักษณ์ของเกมเหมือน ๆ กันในทุกภาค เช่น ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ เรื่องลึกลับ บางอย่างในเกม เช่น มอนสเตอร์ ไอเท็ม สิ่งของบางสิ่ง ตัวละครบางตัว ก็วนเวียนมาให้เห็นในเกือบทุกภาค และเป็นสิ่งที่ ไฟนอลแฟนตาซี ขาดมิได้ ถ้าขาดไป กลิ่นอายและเสน่ห์ของเกมก็คงจะจืดจาง

  • เรือเหาะ - สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้เป็นพาหนะขนาดใหญ่ ทำให้เราสามารถบินข้ามฟาก ไปยังที่ต่าง ๆ ในแผนที่โลกของภาค ๆ นั้น ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และไม่ต้องต่อสู้กับมอนสเตอร์ขณะเดินทาง นอกจากเป็นพาหนะแล้ว เรือเหาะยังเป็นคีย์ดำเนินเรื่องในเกือบทุกภาค ที่สังเกตได้ชัดใน ไฟนอลแฟนตาซี IV และ ไฟนอลแฟนตาซี IX บางครั้ง เรือเหาะก็ขับเคลื่อนโดยใบพัดขนาดยักษ์ หรือบอลลูน หรือเป็นยานอวกาศเลยก็มี
  • ประเภทตัวละคร หรือ ระบบอาชีพ - ตัวละครที่บังคับได้อาจจะเป็น นักรบ นักเวทมนตร์ขาว นักเวทมนตร์ดำ พระ หรือขโมย ในบางภาคที่ผู้เล่นไม่สามารถเลือกประเภทของตัวละครที่จะเล่นได้ เพราะเป็นตัวละครดำเนินเรื่องหลัก นอกจากนี้ ใน ไฟนอลแฟนตาซี III, ไฟนอลแฟนตาซี V และ ไฟนอลแฟนตาซี แทคติกส์ ได้มีระบบ Job ให้เปลี่ยนประเภทของตัวละครได้ในขณะต่อสู้ด้วย แต่ใน ไฟนอลแฟนตาซี X-2 เรียกระบบ Job ว่า Dressphere ในแต่ละ Job และตัวละครก็จะมีอาวุธในตำนานที่ต้องเสาะหาในระหว่างเล่นเพื่อให้ตัวละครมีความสามารถสูงสุด เช่น ดาบมาสะมุเนะ ของนักรบ และ คาถาอัลทิม่าของนักเวทย์ดำ เป็นต้น
  • เวทมนตร์ - เวทมนตร์ใน ไฟนอลแฟนตาซี จะถูกแบ่งแยกเป็นสำนักเวทย์ต่าง ๆ ซึ่งมักตั้งชื่อตามสี เช่น มนต์ขาว ใช้สำหรับช่วยเหลือและรักษาผู้อื่น มนต์ดำ ใช้สำหรับโจมตี ในขณะที่ มนต์แดง ได้รวมคุณสมบัติช่วยเหลือและโจมตีเข้าไว้ด้วยกัน ต่อมาได้มีการเพิ่ม มนต์น้ำเงิน (บางครั้งเรียกว่า การเรียนรู้ Lore หรือทักษะคู่ต่อสู้ Enemy Skill) ใช้สำหรับเลียนแบบการโจมตีของคู่ต่อสู้ มนต์เวลา เช่น Haste มนต์แรงโน้มถ่วง เช่น Demi มนต์ที่ใหม่ที่สุดในขณะนี้ คือ มนต์เขียว ซึ่งปรากฏใน ไฟนอลแฟนตาซี X-2 โดยใช้ชื่อว่า Sing และจะมีความสำคัญมากขึ้นใน ไฟนอลแฟนตาซี XII
  • การติดสถานะ และการรักษา - การติดสถานะต่างๆ ระหว่างการต่อสู้จะทำให้ตัวละครมีความสามารถลดลง เช่น การใบ้ทำให้ไม่สามารถใช้มนต์ได้ การติดพิษทำให้เสียพลังชีวิตในเวลาที่กำหนด การสับสนทำให้โจมตีพลาด การกลายเป็นหินทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้เลย สำหรับการรักษา ต้องใช้ไอเท็มเฉพาะสำหรับแต่ละอาการ เช่น Echo Screen รักษาการใบ้ Soft รักษาการกลายเป็นหิน หรืออาจใช้มนต์ขาวก็ได้ เช่น Esuna หรือ Panacea เป็นต้น
  • มอนสเตอร์ - ในทุก ๆ ภาคตั้งแต่ภาค 3 เป็นต้นมา เราจะเห็นสัตว์ประหลาด ที่เราสามารถ ใช้ หรือ ต่อสู้ด้วยเหมือน ๆ กัน เช่น เจ้าตัวที่เราทุก ๆ คน รู้จักมักคุ้นมากที่สุด โจโคโบะ หรือ มูเกิล ซึ่งเป็นเหมือนตัวช่วยและผู้นำทาง ทั้งยังมีหน้าตาที่น่ารัก น่าเอ็นดู และเป็นขวัญใจของแฟน ๆ ไฟนอลแฟนตาซีอีกด้วย และมอนสเตอร์ที่ออกมาเกือบทุกภาค เช่น ทอนเบอร์รี่ และ แคคทัวร์ นอกจากนี้ยังมี Summoned Monsters (หรือ Espers Guardian Forces Eidolons หรือ Aeons ที่เรียกต่างกันแล้วแต่ภาค) ที่เราสามารถอัญเชิญออกมาเพื่อช่วยต่อสู้ได้ เช่น Bahamut Shiva Ifrit Leviathan และ Ramuh ที่ออกมาให้เห็นในเกือบทุกภาคตั้งแต่ภาค 3 เป็นต้นมา
  • ชื่อตัวละคร - ในเรื่องจะมาจากตำนานเทพเจ้าของหลายๆตำนาน เช่น กิลกาเมช หรือ แร็กนาร็อก จะทำให้เห็นว่า หลายตัวละครมีออกมาบ่อยซึ่งบางครั้งจะเป็นตัวละครเดิม หรือตัวละครใหม่แต่ใช้ชื่อร่วมกัน ที่โผล่มาบ่อยที่สุดในทุกภาคตั้งแต่ ไฟนอลแฟนตาซี II เป็นต้นมา ต้องยกแชมป์ให้ ซิด (Cid) แม้ในแต่ละภาคชื่อจะเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นคนเดียวกัน เพียงแค่จะมีลักษณะร่วม คือ เป็นเจ้าของ นักประดิษฐ์ ไม่ก็คนขับเรือเหาะ แม้ในภาพยนตร์ Final Fantasy: The Spirits Within ก็ยังมี ซิด (Sid) เพียงแค่สะกดคนละแบบ นอกจากนี้ Biggs กับ Wedge 2 คู่หู ที่เอาชื่อมาจากสตาร์วอรส์ ก็มีให้เห็นใน ไฟนอลแฟนตาซี VI, ไฟนอลแฟนตาซี VII, ไฟนอลแฟนตาซี VIII และ ไฟนอลแฟนตาซี X-2 Gogo (ไฟนอลแฟนตาซี V และ ไฟนอลแฟนตาซี VI) กิลกาเมช (ไฟนอลแฟนตาซี V, ไฟนอลแฟนตาซี VIII และ ไฟนอลแฟนตาซี IX) Lonewolf นักล้วงกระเป๋า (ไฟนอลแฟนตาซี V และ ไฟนอลแฟนตาซี VI) และ Sara (ไฟนอลแฟนตาซี I, ไฟนอลแฟนตาซี III, และ Final Fantasy IX)
  • พล็อตเรื่อง - เนื้อเรื่องในแต่ละภาคมักเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น กลุ่มคนที่รวมกันเพื่อต่อต้านอิทธิพลทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และศาสนา หรือสิ่งชั่วร้ายที่จะทำลายล้างโลก หรือความแตกต่างระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยี พล็อตเรื่องที่เป็นที่นิยมอีกอย่างหนึ่ง คือ เนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับ คริสตัล พลังทั้ง 4 ของโลก ที่ถูกควบคุมโดยคริสตัล ซึ่งเนื้อเรื่อง มักให้เราหาสาเหตุที่ว่า ทำไมโลกจึงปันป่วน, คริสตัลหายไปไหน, ตามหาคริสตัลคืนกลับมา (ไฟนอลแฟนตาซี I, ไฟนอลแฟนตาซี III, ไฟนอลแฟนตาซี IV, ไฟนอลแฟนตาซี V, ไฟนอลแฟนตาซี IX, และ ไฟนอลแฟนตาซี XI) อีกทั้งในภาคพิเศษ (Final Fantasy Mystic Quest and Final Fantasy Crystal Chronicles)
  • กิล (อังกฤษ: Gil; ญี่ปุ่น: ギル, กิรุ) เป็นสกุลเงินในเกมไฟนอลแฟนตาซี โดยในบางครั้งจะใช้สัญลักษณ์ ย่อในภาษาอังกฤษว่า G.

กิลสามารถใช้ในการซื้อของเหมือนใช้เป็นเงินทั่วไป โดยรวมไปถึงการซื้ออาวุธ ไอเทม และอุปกรณ์เสริมต่างๆ โดยเงินกิลปกติจะได้รับมาจากการต่อสู้กับศัตรู และเมื่อชนะจะได้เงินในหน่วยกิลมาขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของศัตรู

ในเกมภาค 5 และภาค 6 ได้มีความสามารถพิเศษของตัวละครในเกม คือการขว้างเหรียญเพื่อโจมตีศัตรู แสดงให้เห็นถึงลักษณะของเหรียญกิล โดยมีลักษณะสีทองและมีรูตรงกลาง ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับเงินเยนของประเทศญี่ปุ่น

งานออกแบบฝ่ายศิลป์

[แก้]

งานออกแบบศิลป์ รวมทั้งตัวละครและมอนสเตอร์ ตั้งแต่ ไฟนอลแฟนตาซี I จนถึง ไฟนอลแฟนตาซี VI นั้นเป็นผลงานของ โยชิทากะ อามาโนะ ศิลปินชาวญี่ปุ่น และในภาคต่อมาจนถึง ไฟนอลแฟนตาซี X ได้รับช่วงงานต่อโดย เท็ตสึยะ โนมูระ เว้นแต่ใน ไฟนอลแฟนตาซี IX ที่เป็นผลงานของ ชูโค มุราเซะ ผู้ออกแบบตัวละครเรื่อง กันดั้มวิง และใน ไฟนอลแฟนตาซี XII งานออกแบบฝ่ายศิลป์ได้เป็นของ อากิฮิโกะ โยชิดะ ที่ได้ฝากผลงานไว้ใน ไฟนอลแฟนตาซี แท็คติกส์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในไฟนอลแฟนตาซียุคใหม่ จะไม่ใช้ผลงานของ อ.โยชิตากะ อามาโนะ เป็นหลักแล้ว แต่ก็ยังมีภาพลายเส้นสไตล์เฉพาะตัวของเขา ช่วยเพิ่มสีสันและความคลากสิก แทรกอยู่ตลอดมา

ดนตรี

[แก้]

โนบุโอะ อุเอมัตสึ ได้รับหน้าที่นักประพันธ์เพลงหลัก ในชุดเกม ไฟนอลแฟนตาซี ตลอดมา จนเกษียณตัวเองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ผลงานเพลงของเขายังคงเป็นที่คุ้นหูและจดจำใน ไฟนอลแฟนตาซี ทุกภาคที่ผ่านมา อุเอมัทซึ ยังได้ร่วมกับนักดนตรีร็อกตั้งวง ชื่อ "นักเวทย์ดำ" (The Black Mages) ออกอัลบั้มเพลง ไฟนอลแฟตาซี ซึ่งเรียบเรียงใหม่ 2 อัลบั้ม นักประพันธ์เพลงที่ได้ร่วมงานใน ไฟนอลแฟนตาซี ยังมี มาซาชิ ฮามาอุสุ และ จุนยะ นากาโนะ
ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีการแสดงคอนเสิร์ต ไฟนอลแฟนตาซี 2ครั้ง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เพลงประกอบเกม ไฟนอลแฟนตาซี ยังโด่งดังนอกประเทศ ญี่ปุ่น จนวง ลอนดอนซิมโฟนีออเคสตร้า ได้นำเพลงจาก ไฟนอลแฟนตาซี ไปเล่นด้วย และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 อเมริกันออนไลน์ได้เปิดสถานีวิทยุเพื่อเล่นเพลงจาก ไฟนอลแฟนตาซี โดยเฉพาะ และในเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับเกม ยังมี เพลงประกอบให้ดาวน์โหลดกันทั้งในรูปแบบ MIDI และ MP3

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เกมที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]