โลโซ
โลโซ | |
---|---|
ที่เกิด | กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
แนวเพลง | ร็อกแอนด์โรล ฮาร์ดร็อก ออลเทอร์นาทิฟร็อก กรันจ์ |
ช่วงปี | พ.ศ. 2539 - 2545, พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน |
ค่ายเพลง | มอร์ มิวสิก (พ.ศ. 2539 - 2545) Luster Entertainment (พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน) |
สมาชิก | เสกสรรค์ ศุขพิมาย (เสก) กิตติศักดิ์ โคตรคำ (ใหญ่) อภิรัฐ สุขจิตร (รัฐ) ณัฐพล สุนทรานู (กลาง) |
โลโซ (อังกฤษ: Loso) เป็นวงดนตรีร็อกสัญชาติไทยเป็นวงดนตรีร็อกสัญชาติไทย เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักดนตรีเสก ใหญ่ รัฐ ที่เคยเล่นดนตรีตามต่างจังหวัด แล้วเดินทางข้ามเวลามาแสวงโชคในกรุงเทพมหานครจนได้เป็นศิลปินโดยเซ็นสัญญากับค่ายมอร์ มิวสิก ในเครือของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ออกผลงานเพลงอัลบั้มชุดต่าง ๆ จนได้รับกระแสตอบรับที่ดีและประสบความสำเร็จมากที่สุดวงหนึ่งของประเทศไทย วงโลโซนำโดย เสกสรรค์ ศุขพิมาย ทำหน้าที่นักร้องนำ มือกีตาร์ และแต่งคำร้องทำนองเพลงของวงทั้งหมด
ประวัติ
[แก้]จุดเริ่มต้นของวงและก่อตั้งวง (พ.ศ. 2536 - 2539)
[แก้]จุดเริ่มต้นของวงโลโซเริ่มเกิดขึ้นจาก เสก เสกสรรค์ ศุขพิมาย โดยเสกได้เข้าสู่เส้นทางดนตรีอาชีพโดยการตระเวนเล่นดนตรีอาชีพตามผับในหลายจังหวัด และได้ไปเรียนงานช่างไฟฟ้าที่วิทยาลัยสารพัดช่างนครราชสีมา เมื่อปี 2536 เสกเล่นดนตรีประจำอยู่ที่ จ.นครสวรรค์ เสกเล่นอยู่กับวงบั๊ดดี้ ที่ร้านสี่แคว ต่อมาเขาได้ย้ายไปเล่นกับวงไดมอนด์ ที่ร้านพาราไดซ์ จ.นครสวรรค์ แทนมือกีตาร์คนเดิมที่ลาออกไป วงดังกล่าวมีมือกลองคือ ใหญ่ กิตติศักดิ์ โคตรคำ ซึ่งนั่นเป็นการพบกันของแรกของเสกและใหญ่
วงไดมอนด์เล่นอยู่ที่ จ.นครสวรรค์ จนถึงต้นปี 2537 ก็ย้ายขึ้นไปเล่นที่ มดยิ้มผับ จ.ลำปาง แต่เล่นได้เพียงสองเดือนวงไดมอนด์ก็แยกทางกัน เสกและใหญ่จึงตั้งวงชื่อ ไคลแม็กซ์ เล่นที่ผับมดยิ้มต่อเนื่องถึงกลางปี 2537 ก่อนจะยุบวงไปเพราะรู้สึกอิ่มตัวกับการเล่นดนตรีในต่างจังหวัด ทั้งคู่ตัดสินใจเดินทางเข้า กทม. เพื่อแสวงหาความก้าวหน้าในอาชีพนักดนตรีอีกขั้นหนึ่ง การเดินทางมาครั้งนั้น เสกกับใหญ่ได้ชักชวน รัฐ อภิรัฐ สุขจิตต์ นักดนตรีมือเบสรุ่นพี่ซึ่งชอบคอกันและเล่นดนตรีอยู่อีกผับหนึ่งลงมาด้วยการลงมาหางานที่กรุงเทพฯ สำหรับนักดนตรีต่างจังหวัดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลังใช้เวลาอยู่ 2-3 เดือน สุดท้ายต่างคนต่างต้องแยกย้ายกันไปก่อน เสกไปเล่นกับวงดนตรีชื่อ แคนนอน พี่รัฐย้ายไปเล่นที่จังหวัดปราจีนบุรี ส่วนใหญ่ไปเล่นกับวงชื่อ โอเปร่า ซึ่งในเวลาต่อมาใหญ่ก็ได้ดึงเสกเข้ามาเป็นมือกีต้าร์แทนคนเก่าที่ลาออกไป
เสกนั่นเริ่มฝึกฝนการเขียนเพลงเองมาตั้งแต่สมัยที่อยู่ลำปาง เมื่องานเล่นดนตรีใน กทม.เริ่มเข้าที่เข้าทาง เสกจึงได้ทุ่มเทเวลาเขียนเพลงอย่างต่อเนื่อง จนย่างเข้ากลางปี 2538 ทั้งคู่ก็เริ่มต้นทำเดโมสำหรับวงใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้น โดยช่วงแรกนั้นมือเบสที่มาช่วยเล่นเบสเพื่อทำเดโมคือ Mr.Mark Desara วิศวกรหนุ่มชาวเดนมาร์กที่พักอาศัยอยู่อพาร์ตเม้นต์เดียวกัน หลังสังเกตเห็นเสกกับใหญ่ซ้อมดนตรีที่ห้องซ้อมใต้อพาร์ทเมนต์แค่สองคน มาร์คเลยเข้ามาแนะนำตัวแล้วบอกว่าตัวเขาเองเคยเล่นดนตรีสมัยอยู่ที่เดนมาร์ก ถ้าอยากให้เขาแจมเบสด้วยก็ยินดี เพราะซาวน์ดนตรีจะได้ครบ เสกกับใหญ่เห็นว่าน่าจะสนุกดีก็เลยชวนมาร์คเข้ามาช่วยซ้อมเดโมด้วย หลังทำเดโมไปได้ 2-3 เพลง เสกจึงติดต่อชวนรัฐมาร่วมวง รัฐตอบตกลง และลาออกจากผับที่ปราจีนบุรีกลับเข้ากรุงเทพฯ
สำหรับชื่อวงใหม่นั้น เสกได้แนวคิดมาจากเนื้อหาของเพลงของวงที่สื่อสารด้วยภาษาที่ตรงไปตรงมา เข้าถึงง่าย ถ่ายทอดผ่านเสียงร้องและดนตรีที่มีเอกลักษณ์ ไม่ซับซ้อนแต่หนักแน่นมีพลัง รวมถึงภาพลักษณ์ของสมาชิกในวงที่เป็นคนเรียบง่ายติดดินไม่ใช่ไฮโซ ที่สุดชื่อใหม่ของวง โลโซ จึงลงตัวและเหมาะสมที่สุด ภายหลังจากทำเดโม่จนครบอัลบั้มแล้ว จึงได้ไปนำเสนอค่ายเพลงต่างๆหลายค่าย แต่ถูกปฏิเสธไม่ได้รับเลือกเป็นศิลปินเพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอกของสมาชิกวง เนื่องจากในยุคนั้นศิลปินนักร้องที่โด่งดัง จะต้องมีหน้าตาที่ดีหรือเป็นนักแสดงมาก่อน
ประสบความสำเร็จ (พ.ศ. 2539 - 2541)
[แก้]วันหนึ่ง ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง ต้องการจะทำวงดนตรีจึงได้ชักชวนวงโลโซมาเป็นวงแบ็คอัพ และได้ออกอัลบั้มเพลงชุด เด็กหลังห้อง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2539 ภายหลังจากนั้นแท่ง ศักดิ์สิทธิ์ ได้แนะนำเสกให้นำอัลบั้มเพลง Demo ไปเสนอกับค่ายมอร์ มิวสิก ของอัสนี โชติกุล ในเครือของแกรมมี่ ซึ่งเพิ่งเปิดมาใหม่ อัลบั้มเพลง Demo ดังกล่าวประสบความสำเร็จประกอบกับช่วงดนตรีที่เปลี่ยนไปสู่ยุคของดนตรีร็อคที่เน้นความสามารถมากกว่าหน้าตา ทำให้โลโซได้เป็นศิลปินในที่สุด งานบันทึกเสียงใช้เวลาประมาณ 20 วันในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่ห้องบันทึกเสียงบัตเตอร์ฟลายและได้ออกอัลบั้มชุดแรกของวงโลโซ ใช้ชื่อชุดว่า Lo Society ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2539 โดยมีพิเชษฐ์ เครือวัลย์เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับวง ซึ่งอัลบั้มนี้มีแนวเพลงที่มีความเป็นร็อคแบบกรันจ์ มีเพลงในอัลบั้มอย่างเพลง ฉันหรือเธอ (ที่เปลี่ยนไป), ไม่ต้องห่วงฉัน, เราและนาย, ไม่ตายหรอกเธอ, อยากบอกว่าเสียใจ, คุณเธอ อัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายและได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากแฟนเพลงชาวไทย ซึ่งในยุคสมัยนั้นกระแสของเพลงอัลเทอร์เนทีฟในไทยยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก วงโลโซถือเป็นวงร็อคที่สามารถต่อสู้กับศิลปินอัลเทอร์เนทีฟชื่อดังจากค่ายเพลงอื่น จนสามารถดึงกระแสความนิยมมายังค่ายมอร์ มิวสิค และแกรมมี่ได้ ถึงแม้ว่าวงจะมีเครื่องดนตรีเพียงแค่สามชิ้น แต่ซาวด์ดนตรีที่ออกมานั้นแน่นจับใจ เพลงทั้งหมดของวงแต่งคำร้องและทำนองเองโดยเสก และบันทึกเสียงเพลงในวงเอง ทำให้ชื่อของเสกสรรค์ ศุขพิมาย และวงโลโซเป็นที่จดจำของแฟนเพลงชาวไทย และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินร็อคระดับแนวหน้าของประเทศไทยในขณะนั้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 วงโลโซก็ได้มีผลงานอัลบั้มพิเศษในชื่อ LOSO Special จักรยานสีแดง ซึ่งเป็นอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง จักรยานสีแดง ที่ได้ซูเปอร์สตาร์สุดฮอตในยุคนั้นอย่าง มอส ปฏิภาณ และ ทาทา ยัง เป็นคู่พระนางในเรื่อง มีเพลงอย่าง จักรยานสีแดง ซึ่งเป็นเพลงสุดฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองเลยทีเดียว ในอัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้ง ๆ ที่อัลบั้มนี้มีเพลงเพียง 5 เพลงเท่านั้น
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2541 วงโลโซก็ได้ออกอัลบั้มเพลงชุดที่ 2 ในชื่อ Loso Entertainment อัลบั้มชุดนี้ได้นำพาวงโลโซทะยานมาถึงจุดประสบความสำเร็จสูงสุดวงร็อคเบอร์หนึ่งของประเทศไทย การันตีจากยอดขายอัลบั้มที่สูงเกิน 2 ล้านชุด เป็นยอดขายที่สูงที่สุดของศิลปินร็อคในแกรมมี่ เพลงในอัลบั้มนี้มีความเป็นร็อคแอนด์โรลมากขึ้นกว่าอัลบั้มชุดที่แล้วที่เป็นเพลงแนวกรันจ์ร็อค มีเพลงเปิดอัลบั้มอย่างเพลง อยากเห็นหน้าคุณ เพลงมันส์สนุกพูดถึงคนที่มีอาการตกหลุมรักอย่างสุด ๆ แล้วอยากจะเห็นหน้าคนที่รักนั้นทั้งวันทั้งคืน มีเพลงช้าอย่างเพลง อะไรก็ยอม ซึ่งเป็นเพลงช้าที่บาดใจทั้งคำร้องและทำนองซึ่งเสกแต่งขึ้น ทำให้กวาดความนิยมของแฟนเพลงชาวไทยทั้งประเทศ และเป็นเพลงที่ขึ้นชาร์ตอันดับที่หนึ่งในหลายคลื่นวิทยุทั่วประเทศเป็นเวลานาน แล้วมีเพลง ซมซาน เพลงร็อคกวน ๆ ที่สร้างกระแสไปทั่วประเทศ ได้รับความนิยมไปทั่วทุกกลุ่มผู้ฟัง ทำให้เพลงนี้ถือเป็นเพลงร็อคระดับตำนานของประเทศที่ไม่มีใครไม่รู้จัก นอกจากนี้ยังมีเพลง เลิกแล้วต่อกัน, แม่
ยุคหลัง (พ.ศ. 2542 - 2544)
[แก้]ในปี พ.ศ. 2542 รัฐได้ออกจากวงโลโซไปเนื่องจากเหตุผลส่วนตัว ทำให้วงโลโซต้องหยุดการทัวร์คอนเสิร์ตและพักวงไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะมาทำอัลบั้มชุดที่ 3 ของวงต่อ ชื่อชุดว่า Rock & Roll โดยที่มีนักดนตรีในห้องบันทึกเสียงเพียงแค่ 2 คนคือ เสกและใหญ่ เพลงในอัลบั้มได้ดึงเอาความเป็นอเมริกันร็อกเข้ามาเพิ่มสีสันทางอารมณ์ดนตรีเข้าไป แต่ยังคงความเป็นร็อกไทยแบบโลโซเหมือนเดิม อัลบั้มนี้ได้ชักชวน กลาง ณัฐพล สุนทรานู เพื่อนนักดนตรีด้วยกันและอดีตมือเบสสมาชิกวงเฌอ เข้ามาร่วมงานกับวงโลโซในฐานะนักดนตรีแบ็คอัพชั่วคราว และร่วมทัวร์คอนเสิร์ตกับวงแทนรัฐไปก่อน มีเพลงเปิดอัลบั้มอย่างเพลง ร็อคแอนด์โรล เพลงที่บ่งบอกความเป็นร็อคแอนด์โรลของวง มีเพลงช้าอย่าง ใจสั่งมา ซึ่งเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงและได้เสียงตอบรับมากที่สุดเพลงหนึ่งของวงโลโซ เพลง ท้าวสุรนารี เพลงที่กล่าวถึงวีรกรรมอันแสนกล้าหาญของท้าวสุรนารี วีรสตรีแห่งเมืองโคราชและเป็นเพลงเดียวของโลโซที่มีการใช้คอรัสหญิงในเพลงซึ่งศิลปินที่มาร่วมร้องคอรัสก็คือคุณปาน ธนพร แวกประยูร นอกจากนี้มีเพลงที่เป็นที่รู้จักอย่างเพลง สาหัส , เพื่อนใจ , เจ็บใจ , คืนจันทร์ อัลบั้มชุดนี้ยังคงประสบความสำเร็จด้วยยอดขายเกินหนึ่งล้านชุด เหมือนอัลบั้มชุดก่อนหน้า ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกในวงก็ตาม และทำให้โลโซมีงานทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศมากขึ้น
ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 วงโลโซได้ออกอัลบั้มชุดที่ 4 ชื่อว่า Losoland ซึ่งความหมายในอัลบั้มนี้สื่อถึงการยกระดับของวงโลโซจาก Lo Society ซึ่งหมายถึง สังคมชั้นต่ำ ซึ่งสังคมชั้นต่ำนี้ได้ยกระดับตัวเองเป็นเมืองชั้นต่ำที่ยิ่งใหญ่ขี้นและมีความเป็นร็อคแอนด์โรลมากขึ้น มีเพลงเปิดอัลบั้มอย่างเพลง เข้ามาเลย ซึ่งเป็นเพลงที่บ่งบอกความเป็นวงโลโซ และยังมีเพลงดังอย่างเพลง มอไซต์รับจ้าง เพลงจังหวะโจ๊ะ ๆ สนุกแบบจิ๊กโก๋ พูดถึงอาชีพที่ติดดินอย่าง มอ'ไซค์รับจ้าง เป็นเพลงที่สร้างชื่อให้กับวงเพลงหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเพลง คนบ้า, รอยยิ้มนักสู้, หมาเห่าเครื่องบิน และเพลง อย่าเห็นแก่ตัว เพลงในท้ายอัลบั้มที่มีเนื้อหาเพลงเสียดสีสังคม ถือเป็นเพลงที่มีความยาวมากที่สุดถึง 12:01 นาที เป็นต้น อัลบั้มชุดนี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายซึ่งขายได้เพียง 7 แสนชุดเท่านั้น เนื่องจากพิษภัยของเทปผีซีดีเถื่อนที่ระบาดไปทั่วประเทศ ซึ่งศิลปินในยุคนั้นต้องประสบปัญหานี้รวมไปถึงวงโลโซด้วย แต่โลโซก็ยังคงประสบความสำเร็จทางด้านฐานแฟนเพลงที่ยังแน่นอยู่
และวงโลโซได้ออกอัลบั้มชุดที่ 5 ในอีก 6 เดือนต่อมาชื่อชุดว่า ปกแดง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2544 ตามคำแนะนำของไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งชื่อและปกของอัลบั้มชุดนี้เป็นการแสดงในเชิงสัญลักษณ์สื่อถึงการต่อต้านเทปผีซีดีเถื่อนในเมืองไทย และอัลบั้มปกแดงนี้ถือเป็นการแก้ตัวจากอัลบั้มชุดที่แล้ว มีเพลงเปิดอัลบั้มอย่างเพลง พันธ์ทิพย์ เพลงที่เสกแต่งขึ้นเพื่อประชดประชัน และเสียดสีห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่างพันธุ์ทิพย์ ซึ่งเป็นห้างที่มีการจำหน่ายเทปผีซีดีเถื่อนในเมืองไทยในเวลานั้น นอกจากนี้ยังมีเพลงดังอย่างเพลง 5 นาที, ฝนตกที่หน้าต่าง, เคยรักฉันบ้างไหม อัลบั้มชุดปกแดงได้เพิ่มความแปลกใหม่ให้งานตัวเองด้วยการนำเอาเครื่องสี เครื่องเป่าเปียโนมาใช้ในเพลงกับการใช้เอฟเฟคกีตาร์ที่มากขึ้น รวมถึงวิธีการร้องที่ใส่ลูกเล่นมากขึ้นและวิธีการมิกซ์ที่แตกต่างไปจากงานชุดก่อน ๆ อัลบั้มปกแดงถือเป็นอัลบั้มชุดแรกในประเทศไทยที่ลดราคาซีดีเหลือเพียง 155 บาท (ต่างจากอัลบั้มอื่นทั่วไปที่ขายอยู่ในราคา 290 บาท) ซึ่งอัลบั้มชุดนี้โลโซได้กลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งด้วยยอดขายกว่า 9 แสนกว่าชุด / ก็อบปี้[1] และอัลบั้มชุดนี้รัฐได้กลับมาเป็นสมาชิกวงโลโซอีกครั้ง หลังหายหน้าจากวงไปเกือบ 3 ปี แทนกลางซึ่งออกจากวงไปแล้ว และอีก 3 เดือนต่อมาโลโซได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ของวงชื่อว่า โลโซเพื่อเพื่อน เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ณ เวลโลโดรม ศูนย์กีฬาหัวหมาก ซึ่งเป็นการแสดงคอนเสิร์ตครั้งเดียว และรอบเดียวของวงโลโซ มีแฟนเพลงโลโซและขาร็อคมากมายจากทั่วประเทศมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
แยกย้าย (พ.ศ. 2545 - 2562)
[แก้]หลังจากคอนเสิร์ตใหญ่ผ่านพ้นไป โลโซได้ทัวร์คอนเสิร์ตต่อจนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 โลโซก็ได้หยุดทัวร์คอนเสิร์ต และในปี พ.ศ. 2546 เสกได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ได้ยุบวงโลโซ และสมาชิกในวงก็แยกย้ายกันไปแล้ว เนื่องจากถึงจุดอิ่มตัวของวงและขอพักวงการเพื่อไปเรียนต่อยังประเทศอังกฤษเพื่อเรียนภาษาและดนตรีเพื่มเติม พร้อมกับฝากผลงานอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขา ชื่อชุดว่า 7 สิงหา หลังจากเสกเรียนจบ เขาก็กลับเข้าสู่วงการดนตรีต่อโดยเขาได้ร่วมทำเพลงและออกอัลบั้มพิเศษคู่กับเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย นักร้องซุปเปอร์สตาร์ของเมืองไทย ชื่อชุดว่า เบิร์ด - เสก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 20 ปี ของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งอัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จมากมียอดจำหน่ายสูงสุดแห่งปีคือ 2 ล้านชุด หลังจากนั้นเสกก็ออกอัลบั้มเป็นของตนเองต่อไปในฐานะศิลปินเดี่ยว รับทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ และเขายังเป็นที่รู้จักและยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
- กิตติศักดิ์ โคตรคำ (ใหญ่) ได้ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกของวงฟาเรนไฮธ์ ร่วมกับรัฐ โลโซ และเชษฐ์ วายน็อตเซเว่น นอกจากนี้ยังรับหน้าที่แบ็คอัพมือกลองให้กับ อัสนี-วสันต์ จนถึงปัจจุบัน(ซึ่งก่อนหน้านั้นช่วงที่อยู่โลโซ ใหญ่ก็เคยทำหน้าที่มือกลองแบ็คอัพในคอนเสิร์ตอัสนี วสันต์ เหมือนข้าวเย็น ปี พ.ศ. 2541) และทำงานเบื้องหลังบันทึกเสียงกลองให้กับเพลงของศิลปินชื่อดังหลายวง เช่น Taxi, Hangman, Drama stream, วงพาย, ฯลฯ หลังจากโลโซได้แยกย้ายกันไป ใหญ่ก็ไม่หันกลับมาติดต่อสัมพันธ์และร่วมงานกับเสกเลยเป็นเวลาถึง 17 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2562 ใหญ่ได้กลับมาคืนความสัมพันธ์ที่ดีกับเสกอีกครั้งหลังจากที่เสกรักษาอาการไบโพล่าร์[2]
- อภิรัฐ สุขจิตร์ (รัฐ) ไปร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกของวงฟาเรนไฮธ์เช่นเดียวกับใหญ่ และออกจากวงไปในช่วงอัลบั้ม "เอ็กตร้า ฟาเรนไฮธ์" ต่อมาได้กลับมาเล่นดนตรีร่วมงานกับเสกเป็นระยะ อาทิ ช่วงปี พ.ศ. 2549 รับหน้าที่เป็นมือเบสแบ็คอัพให้ในอัลบั้มเดี่ยวของเสก ชื่ออัลบั้ม "แบล็กแอนด์ไวต์" และร่วมทัวร์คอนเสิร์ตกับเสกช่วงระยะหนึ่ง ปี พ.ศ. 2557 รัฐได้เป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ต 40 ปี เสก โลโซ แต่รู้สึกเหมือน 14 และหันหลังให้กับวงการดนตรี เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพ
- ณัฐพล สุนทรานู (กลาง) หลังจากออกจากวงตั้งแต่อัลบั้มโลโซแลนด์ไป 4 ปีกลางได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของวง "พลพรรครักเอย" โดยมี "ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง" เป็นนักร้องนำ โดยทำหน้าที่เล่นเบส แล้วหลังจากนั้นก็หันหลังให้กับวงการดนตรี ไปทำงานเบื้องหลังโดยทำหน้าที่เป็นซาวน์เอนจิเนียร์ให้กับทีมทำเพลงอื่นๆ และประกอบธุรกิจส่วนตัว
กลับมารวมวงอีกครั้งและปัจจุบัน (พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน)
[แก้]วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เฟซบุ๊คของ เสก โลโซ ได้โพสต์รูปภาพสมาชิกของโลโซยุคบุกเบิกคือ เสก ใหญ่ และรัฐ ถือเป็นการกลับมาพบกันอีกครั้งของสมาชิกโลโซทั้งสามคน ในรอบ 17 ปีหลังจากที่ยุบวงไป สร้างความยินดีให้กับแฟนเพลงโลโซเป็นอย่างมาก ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2563 ได้มีการจัดพิธีมงคลสมรสของเสก โลโซ และภรรยา กานต์ วิภากร โดยสมาชิกโลโซได้แก่ ใหญ่ รัฐ และกลาง ได้มาร่วมงานในครั้งนั้น และได้มีการแสดงดนตรีของสมาชิกวงโลโซทุกคนในงานนั้นด้วย
วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564 โลโซได้จัดคอนเสิร์ต ขาใหญ่ Festival "LOSO Reunion Live Streaming Concert" (By Kimleng Audio) เป็นการแสดงคอนเสิร์ตอย่างเป็นทางการครั้งแรกของวงโลโซ ในรอบ 20 ปี และเป็นครั้งแรกของโลโซที่ได้จัดคอนเสิร์ตแบบ Live Steaming ผ่านทาง Facebook Group (Private) แต่ยังเปิดให้ผู้ชมสามารถซื้อบัตรไปรับชมหน้าเวทีการแสดงได้แต่จำกัดจำนวนเพียง 20 ที่นั่งเท่านั้น เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 หลังจากนั้นเป็นต้นมา วงโลโซได้กลับมารับงานคอนเสิร์ตทั่วประเทศอย่างเป็นทางการอีกครั้งใน 20 ปีของวงหลังจากที่แยกย้ายไป โดยมีสมาชิกวง ได้แก่ เสก, ใหญ่ และ กลาง โดยรับงานคอนเสิร์ตควบคู่กับงานคอนเสิร์ตเดี่ยวของเสกไปด้วย ส่วน รัฐ มีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ได้ตามมาร่วมทัวร์คอนเสิร์ตกับวงโลโซในภายหลัง (พ.ศ. 2567)
วันที่ 6-7 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 โลโซได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้งในชื่อคอนเสิร์ต 28 YRS LOSO : We are the ROCK&ROLL Concert ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี โดยถือเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งที่ 2 ของโลโซ นับตั้งแต่คอนเสิร์ตเพื่อเพื่อน เมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยแสดงทั้งหมด 2 รอบ มีแขกรับเชิญมาร่วมในคอนเสิร์ต อาทิ รัฐ อภิรัฐ สุขจิตร์, ฟักกลิ้งฮีโร่, ดา เอ็นโดรฟิน, มาย ภาคภูมิ, เบนซ์ พริกไทย, เสือ เสฏกานต์ และศิลปินจากค่าย Luster Entertainment
สมาชิก
[แก้]- สมาชิกปัจจุบัน
- เสกสรรค์ ศุขพิมาย (เสก) เกิด 7 สิงหาคม พ.ศ. 2517 ที่ อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา - นักร้องนำ กีต้าร์ (โซโล่) คีย์บอร์ด แต่งคำร้อง-ทำนองเพลง (พ.ศ. 2539 - 2545, พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน)
- กิตติศักดิ์ โคตรคำ (ใหญ่) เกิด 22 มกราคม พ.ศ. 2516 ที่ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี - กลองชุด, ร้องประสาน (พ.ศ. 2539 - 2545, พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน)
- อภิรัฐ สุขจิตร (รัฐ) เกิด 20 กันยายน พ.ศ. 2510 ที่ เขตจอมทอง จังหวัดกรุงเทพมหานคร - เบส, ร้องประสาน (พ.ศ. 2539 - 2542, พ.ศ. 2544 - 2545, พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน)
- ณัฐพล สุนทรานู (กลาง) เกิด 25 ธันวาคม พ.ศ. 2511 ที่ เขตบางแค จังหวัดกรุงเทพมหานคร - เบส, ร้องประสาน (พ.ศ. 2542 - 2544, พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน)
ผลงานเพลง
[แก้]สตูดิโออัลบั้ม
[แก้]ชื่ออัลบั้ม | รายชื่อเพลง | สมาชิกวง |
---|---|---|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
EP / มินิอัลบั้ม
[แก้]ชื่ออัลบั้ม | รายชื่อเพลง | สมาชิกวง |
---|---|---|
|
|
|
อัลบั้มรวมเพลง
[แก้]- Best of Loso (ธันวาคม พ.ศ. 2541)
- Hot Hit Of 2000 Loso (พ.ศ. 2543)
- Super Star Project LOSO Vol.1 - 3 (30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543)
- LOSO Best of Collection (30 เมษายน พ.ศ. 2556)
- 20 TH ANNIVERSARY LOSO (มิถุนายน พ.ศ. 2559)
- BEST OF LOSO (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561)
- 100 HITS (25 เมษายน พ.ศ. 2566)
อัลบั้มที่โลโซร่วมแบ็คอัพ
[แก้]- อัลบั้ม เด็กหลังห้อง - ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง (พ.ศ. 2539)
- อัลบั้ม พลังใจ - นากา (พ.ศ. 2542)
คอนเสิร์ต
[แก้]คอนเสิร์ตใหญ่
[แก้]ชื่อคอนเสิร์ต | วันที่แสดง | สถานที่ | สมาชิก | นักดนตรีรับเชิญ | รายชื่อเพลง |
---|---|---|---|---|---|
โลโซ เพื่อเพื่อน (Loso For Friend) | 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 | เวโลโดรม ศูนย์กีฬาหัวหมาก |
|
|
Overture เข้ามาเลย
|
ขาใหญ่ Festival "LOSO Reunion Live Streaming Concert" | 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564 | Live Streaming |
|
|
|
28 YRS LOSO : We are the ROCK&ROLL Concert[3] | 6-7 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 | อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี |
|
|
- ↑ ต้นฉบับโดย พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ และเพลงนี้ถูกตัดออกจากบันทึกการแสดงสด
- ↑ แสดงหลังจากจบคอนเสิร์ตแล้ว จึงไม่มีการบันทึกเพลงนี้ในคอนเสิร์ต
คอนเสิร์ตพิเศษ
[แก้]- คอนเสิร์ต Speak Softly Love LOSO Reunion (Zaplive Movieconcert) การแสดงดนตรีในวิถีภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย อรุณศักดิ์ อ่องลออ (ฉายครั้งแรกวันที่ 27 - 29 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ผ่านแอปพลิเคชัน Zaplive)
- คอนเสิร์ต 800,000 Festival Concert (live in 101) Ep1# Loso’s Day VV.I.P & LIVE STREAMING CONCERT LOSO - แปดแสนสตูดิโอ จ.ร้อยเอ็ด (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565)
- คอนเสิร์ต LOSO Acoustic Camp Live Streaming Concert (ฺBy Musicband) - นาหญ้าฟาร์ม จ.ลำปาง (วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2565)
- คอนเสิร์ต LOSO คือเพื่อนกัน เพื่อนตาย ตลอดไป - BCC Hall เซ็นทรัล ลาดพร้าว (วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567)
รางวัล
[แก้]- สีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2541 ศิลปินคู่หรือกลุ่มยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม ”โลโซ เอนเทอร์เทนเมนท์”
- สีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 14 ประจำปี พ.ศ. 2544 ศิลปินคู่หรือศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม, ศิลปินกลุ่มร็อคยอดเยี่ยม, อัลบั้มร็อคยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม ”โลโซ แลนด์”
- สตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส 2002 ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2544 เพลงยอดนิยม จากเพลง ฝนตกที่หน้าต่าง
- The Guitar Mag Awards 2024 ครั้งที่ 22 ประจำปี พ.ศ. 2567 รางวัล Lifetime Achievement พิเศษ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 33rd Year GMM GRAMMY : BEST Band Albums "อัลบั้มขายดีที่สุดตลอดกาลของแกรมมี่ : ศิลปินกลุ่ม" เพจ GMM Superstar โพสต์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560
- ↑ เมื่อคำว่า ‘เพื่อน’ ทำให้ตำนานของวง LOSO กลับมาพร้อมหน้ากันอีกครั้ง
- ↑ "'โลโซ' กลับมาในรอบ 23 ปี คอนเสิร์ตใหญ่ 28 YRS LOSO WE ARE THE ROCK & ROLL CONCERT". คมชัดลึก. 8 พฤษภาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2024.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)