ข้ามไปเนื้อหา

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรเจอร์ เฟเดอเรอร์
เฟเดอเรอร์ในปี 2015
ประเทศ (กีฬา)ธงของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์
ถิ่นพำนักรัฐบาเซิล-ลันท์ชัฟท์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
วันเกิด (1981-08-08) 8 สิงหาคม ค.ศ. 1981 (43 ปี)
บาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ส่วนสูง1.85 m (6 ft 1 in)[1]
เทิร์นโปร1998
ถอนตัว2022
การเล่นมือขวา (แบ็กแฮนด์มือเดียว)
ผู้ฝึกสอนเซเฟอริน ลูธี (2007–2022)

อิวาน ลูบิซิช (2016–2022)

สเตฟาน เอ็ดเบิร์ก (2014–2015)
เงินรางวัล130,594,339 ดอลลาร์สหรัฐ
เว็บไซต์ทางการrogerfederer.com
เดี่ยว
สถิติอาชีพ1251–275 (82.0%)
รายการอาชีพที่ชนะ103 (สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในประเภทชายเดี่ยว)
อันดับสูงสุดNo. 1 (2 กุมภาพันธ์ 2004)
ผลแกรนด์สแลมเดี่ยว
ออสเตรเลียนโอเพนชนะเลิศ (2004, 2006, 2007, 2010, 2017, 2018)
เฟรนช์โอเพนชนะเลิศ (2009)
วิมเบิลดันชนะเลิศ (2003, 2004, 2005, 2006, 2007, 2009, 2012, 2017)
ยูเอสโอเพนชนะเลิศ (2004, 2005, 2006, 2007, 2008)
การแข่งขันอื่น ๆ
Tour Finalsชนะเลิศ (2003, 2004, 2006, 2007, 2010, 2011)
Olympic Gamesเหรียญเงิน (2012)
คู่
สถิติอาชีพ131–92 (58.7%)
รายการอาชีพที่ชนะ8
อันดับสูงสุดNo. 24 (9 มิถุนายน ค.ศ.2003)
ผลแกรนด์สแลมคู่
ออสเตรเลียนโอเพน3R (2003)
เฟรนช์โอเพน1R (2000)
วิมเบิลดันQF (2000)
ยูเอสโอเพน3R (2002)
การแข่งขันคู่อื่น ๆ
Olympic Gamesเหรียญทอง (2008)
การแข่งขันแบบทีม
Davis Cupชนะเลิศ (2014)
Hopman Cupชนะเลิศ (2001, 2018, 2019)
ลายมือชื่อ
อัปเดตล่าสุดเมื่อ: 15 กันยายน 2022

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (เยอรมัน: Roger Federer, ออกเสียง: [ˈrɔdʒər ˈfeːdərər];[2] เกิด: 8 สิงหาคม ค.ศ. 1981) เป็นอดีตนักเทนนิสอาชีพชายชาวสวิส เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยว 20 สมัย รวมถึงสถิติแชมป์วิมเบิลดัน 8 สมัย เฟเดอเรอร์ยังครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ 237 สัปดาห์ตั้งแต่ ค.ศ. 2004–2008[3] และเป็นผู้เล่นชายที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้วยจำนวนสัปดาห์รวมสูงที่สุดเป็นอันดับสองจำนวน 310 สัปดาห์[4] และครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 เมื่อจบฤดูกาล 5 ครั้ง[5] เขาคว้าแชมป์การแข่งขันในประเภทชายเดี่ยว 103 รายการ[6] ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจาก จิมมี คอนเนอส์ (109) เขายังเป็นหนึ่งในสองผู้เล่นชาย (ร่วมกับคอนเนอส์) ที่ลงแข่งขันประเภทชายเดี่ยวมากกว่า 1,500 นัด[7] เฟเดอเรอร์ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุด รวมทั้งเป็นนักกีฬาชาวสวิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล[8][9][10]

เฟเดอเรอร์เริ่มเล่นอาชีพในปี 1998 และก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในช่วงทศวรรษ 2000 เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรกในวิมเบิลดันปี 2003 ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ครั้งแรกในปี 2004[11] ซึ่งเป็นปีที่เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ถึงสามรายการ รวมทั้งแชมป์เอทีพี ไฟนอล และทำสถิตินี้ได้อีกสองครั้งในปี 2006 และ 2007[a] ในช่วงเวลานั้น เขายังทำสถิติคว้าแชมป์วิมเบิลดันและยูเอสโอเพนติดต่อกัน 5 สมัย และนับตั้งแต่ปี 2003–2009 เขาเข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมได้มากถึง 21 จาก 28 รายการ ก่อนจะคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการในอาชีพภายหลังได้แชมป์เฟรนช์โอเพนปี 2009[12] หลังจากแพ้ ราฟาเอล นาดัล คู่แข่งคนสำคัญในรอบชิงชนะเลิศมา 3 ครั้งก่อนหน้านั้น ในปีนั้นเขายังคว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 15 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในขณะนั้นแซงพีต แซมพราส หลังจากคว้าแชมป์วิมเบิลดัน

อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นมาของนาดัลและนอวาก จอกอวิช ทำให้ความสำเร็จของเฟเดอเรอร์ลดลงไปในทศวรรษต่อมา ตั้งแต่ปี 2011–2016 เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเพิ่มได้เพียงรายการเดียว แต่ยังคว้าเหรียญเงินประเภทชายเดี่ยวในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ซึ่งเป็นเหรียญที่สองของเขาหลังจากได้เหรียญทองประเภทคู่ในปี 2008 และพาทีมสวิตเซอร์แลนด์คว้าแชมป์เดวิส คัพ[b] สมัยแรกในปี 2014 ก่อนจะเข้ารับการผ่าตัดหัวเข่าในปี 2016 และกลับมาประสบความสำเร็จในปี 2017–18 โดยคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเพิ่ม 3 รายการ รวมถึงเอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2017[13] ตามด้วยการแชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 8 มากที่สุดในบรรดาผู้เล่นชาย[14] ต่อมาในปี 2018 เขาคว้าแชมป์ออสเตรเลียนสมัยที่ 6 ทำสถิติเป็นนักเทนนิสชายคนแรกที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 20 รายการ และทำสถิติเป็นผู้เล่นมือวางอันดับ 1 ที่มีอายุมากที่สุดในวัย 36 ปี[15]

เฟเดอเรอร์ได้รับรางวัลนักกีฬาชายยอดเยี่ยมแห่งปีของลอริอุส 5 สมัย (สถิติสูงสุด),[16] รางวัลนักเทนนิสยอดเยี่ยมของเอทีพี 5 สมัย[17] และรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมจากการโหวตของเพื่อนนักเทนนิส 13 สมัย (สถิติสูงสุด) เขาถือเป็นผู้เล่นขวัญใจแฟนเทนนิสทั่วโลก[18] โดยได้รับรางวัลขวัญใจอันดับหนึ่งจากการโหวตผ่านเว็บไซต์ของเอทีพีทุกปีตั้งแต่ปี 2003–2022[19] เฟเดอเรอร์ได้รับการจัดอันดับโดยไทม์ 100 ให้เป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกในปี 2018[20] เขาเป็นชาวสวิสคนแรกที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีรูปอยู่ในแสตมป์และเหรียญที่ระลึกของสวิตเซอร์แลนด์[21][22] และยังติดอันดับ 1 ใน 10 นักกีฬาที่ร่ำรวยที่สุดของโลกทุกปี[23] และเป็นนักกีฬาที่ทำเงินรางวัลมากที่สุดในโลกในปี 2020 ด้วยรายได้ 100 ล้านดอลลาร์[24] โดยถือเป็นนักเทนนิสคนแรกที่ทำได้ เขาก่อตั้งมูลนิธิ Roger Federer Foundation ในปี 2003 เพื่อช่วยเหลือเด็กในทวีปแอฟริกา และเป็นผู้ริเริ่มการแข่งขัน เลเวอร์ คัพ[c] ในปี 2017 และยังเคยดำรงตำแหน่งประธานสภานักเทนนิสของเอทีพีตั้งแต่ ค.ศ. 2008–2014[25] จากปัญหาการบาดเจ็บและสภาพร่างกายที่ถดถอยลง ส่งผลให้เฟเดอเรอร์ประกาศเลิกเล่นอาชีพในเดือนกันยายน ค.ศ. 2022

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

เฟเดอเรอร์เกิดที่เมืองบาเซิลในประเทศสวิตเซอร์แลนด์[26] เป็นบุตรของ โรเบิร์ต เฟเดอเรอร์ บิดาซึ่งเป็นคนเชื้อสายสวิส-เยอรมัน และ ลินเนตต์ เฟเดอเรอร์ มารดาซึ่งมีเชื้อสายแอฟริกาใต้ซึ่งทั้งคู่ต่างก็ทำงานบริษัทเภสัชกรรม โดยมารดาของเขาเคยเป็นนักกีฬาฮอกกี้ เขายังมีพี่สาวหนึ่งคนคือ "ไดอาน่า" เฟเดอเรอร์ถือสองสัญชาติได้แก่ สวิส และแอฟริกาใต้ เขาเติบโตในแถบชานเมือง Münchenstein ซึ่งห่างจากชายแดนฝรั่งเศสและเยอรมนีไป 10 นาที ในวัยเด็กเขาเป็นคนที่อารมณ์ร้อนจนถูกไล่ออกจากสนามซ้อมและเคยทะเลาะวิวาทที่โรงเรียนบ่อยครั้ง เขาเคยอยากเป็นนักฟุตบอลแต่ได้ตัดสินใจเป็นนักเทนนิสแทน[27] โดยยังคงเป็นแฟนฟุตบอลมาจนถึงปัจจุบันและชื่นชอบ เอฟซีบาเซิล ทีมในสวิสซูเปอร์ลีก[28] รวมทั้งสนับสนุนทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์[29][30] ไอดอลในกีฬาเทนนิสของเขาได้แก่ สเตฟาน เอดเบิร์ก, บอริส เบคเกอร์ และ พีต แซมพราสและมีนักเทนนิสหญิงที่ชื่นชอบคือ เซเรนา วิลเลียมส์

ปัจจุบันเฟเดอเรอร์อาศัยอยู่ที่ Bottmingen ในสวิตเซอร์แลนด์และสมรสกับอดีตนักเทนนิสหญิง "มิโรสลาวา วาฟริเนค" โดยทั้งคู่พบกันที่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่ซิดนีย์ ปี 2000 ทั้งคู่มีลูกแฝดสองคู่โดยเป็นแฝดหญิงในปี 2010 และแฝดชายในปี 2014 เฟเดอเรอร์มีธุรกิจเป็นของตนเองโดยได้เปิดตัวน้ำหอม ยี่ห้อ "อาร์เอฟ คอสเมติคส์ " (RF Cosmetics) ในเดือนตุลาคมปี 2003[29] ในเวลาว่างครอบครัวของเขาชอบไปพักผ่อนที่ มัลดีฟส์, ดูไบ และเทือกเขาแอลป์[29][31]

เฟเดอเรอร์ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่น, อาหารอิตาเลียน และ อาหารอินเดีย และยังชื่นชอบของหวานโดยเฉพาะช็อคโกแลตและไอศกรีมรสสตรอว์เบอร์รี[32] โดยเขาเรียกตัวเองว่าเป็น "Chocoholic" (ผู้ที่ติดการทานช็อคโกแลต) และยังกล่าวว่าชาวสวิสทุกคนต้องรักการทานช็อคโกแลตจึงจะถือว่าเป็นชาวสวิสที่แท้จริง[33] เขามีเครื่องรางประจำตัวซึ่งจะพกติดตัวไปด้วยในการแข่งขันทุกรายการคือตุ๊กตาเต่าสีทอง และมีงานอดิเรกคือการเล่นเปียโน[34] เขาสามารถสื่อสารได้ 4 ภาษา[35] ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาเยอรมัน และ ภาษาสวิส-เยอรมัน

ประวัติการเล่นอาชีพ

[แก้]

ระดับเยาวชน

[แก้]

เฟเดอเรอร์เริ่มเล่นเทนนิสเมื่ออายุ 6 ปี[36] กระทั่งเมื่ออายุ 14 ปี เฟเดอเรอร์ถูกเลือกให้เข้ารับการฝึกฝนในสถาบันชื่อดัง “Swiss National Tennis Center“ และในที่สุด ก็ได้เข้าร่วมการแข่งขันรายการไอทีเอฟระดับจูเนียร์ ปี 1996[37] และเขาก็สร้างชื่อให้กับตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการคว้าแชมป์วิมเบิลดันจูเนียร์ ปี 1998 ก่อนที่จะเริ่มเล่นอาชีพอย่างเป็นทางการ[36]

1998–2000: เริ่มต้นอาชีพ

[แก้]
เฟเดอเรอร์ในปี 1998 ซึ่งเป็นปีแรกที่เขาเริ่มเล่นอาชีพ

เฟเดอเรอร์เริ่มเส้นทางอาชีพในเดือนกรกฎาคม 1998 และเป็นนักเทนนิสที่อายุน้อยที่สุดที่มีอันดับติดท็อป 100 ในปีนั้น ต่อมาในปี 2000 เฟเดอเรอร์ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนได้สำเร็จ แต่ก็พลาดการคว้าเหรียญทองแดงหลังจากพ่าย อาร์โนลด์ ดิ ปาสกาล จากฝรั่งเศส ในขณะที่ในรายการใหญ่อย่างแกรนด์สแลม และมาสเตอร์ซีรีส์ (เอทีพี มาสเตอร์ 1000 ในปัจจุบัน) เฟเดอเรอร์ยังคงทำผลงานไม่น่าประทับใจ และจบฤดูกาลด้วยการเป็นอันดับ 29 ของโลก[38]

2001–03: แจ้งเกิดในวงการ

[แก้]

เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แรกได้ที่มิลาน ในปี 2001 ตามด้วยการผ่านเข้าสู่รอบ 8 คนสุดท้ายแกรนด์สแลมวิมเบิลดัน หลังจากพลิกล็อกเอาชนะพีต แซมพราส ตำนานชาวอเมริกัน ส่งผลให้อันดับของเฟเดอเรอร์ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 13[39]

ในปี 2002 เฟเดอเรอร์เข้าชิงชนะเลิศรายการมาสเตอร์ได้เป็นครั้งแรก แต่ก็ต้องพ่าย อานเดร แอกัสซี ไปตามคาด แต่เขาก็กลับมาคว้าแชมป์ที่ฮัมบวร์คได้รวมถึงชนะในรายการเดวิส คัพ ทั้งสองนัดในการพบกับ มารัต ซาฟิน และ เยฟกินี คาเฟนิคอฟ สองนักเทนนิสชาวรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เขาต้องตกรอบในแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน, วิมเบิลดัน และยูเอสโอเพน แต่ในช่วงปลายปีอันดับของเฟเดอเรอร์ได้ขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 6 ของโลก ส่งผลให้เขาได้เข้าร่วมรายการ มาสเตอร์ คัพ (เอทีพี ไฟนอล ในปัจจุบัน) ได้เป็นปีแรก และผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศแต่แพ้ เลย์ตัน ฮิววิตต์

ในปี 2003 เฟเดอเรอร์ทำผลงานได้ดีขึ้นตามลำดับ เขาปิดฤดูกาลด้วยการขึ้นถึงอันดับ 2 ของโลก ด้วยผลงานคว้าแชมป์ได้ถึง 8 รายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมครั้งแรกในรายการวิมเบิลดันโดยชนะ มาร์ก ฟิลิปัสซิส นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีเฟเดอเรอร์ก็ยังคว้าแชมป์มาสเตอร์ คัพ ได้ เอาชนะอานเดร แอกัสซีในรอบชิงชนะเลิศ[40]

2004–09: ขึ้นสู่มือวางอันดับ 1 และยุคแห่งความรุ่งเรือง

[แก้]

ในปี 2004 เฟเดอเรอร์ขึ้นมาเป็นผู้เล่นอันดับ 1 ของโลกได้สำเร็จ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นหนึ่งในนักเทนนิสที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์[41] เขาคว้าแชมป์แกรนดสแลมได้ถึง 3 รายการ (ออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน) และทำสถิติไม่แพ้ให้กับนักเทนนิสในบรรดาอันดับท็อป 10 ตลอดทั้งปี แต่ก็ต้องผิดหวังในแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพน รวมถึงรายการโอลิมปิก[42] อย่างไรก็ตาม เฟเดอเรอร์ป้องกันแชมป์ มาสเตอร์ คัพ ได้หลังจากเอาชนะเลย์ตัน ฮิววิตต์ ในปีนี้ เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์ได้ถึง 11 ราย และมีสถิติชนะถึง 74 นัด แม้ว่าตลอดทั้งปีเขาจะลงเล่นโดยที่ไม่มีโค้ชประจำตัวเลยก็ตาม ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลนักเทนนิสยอดเยี่ยมไปครอง

ในปี 2005 แม้ว่าเขาจะตกรอบรองชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน แต่เขาคว้าแชมป์หลังจากนั้นได้ 3 รายการ ก่อนที่จะมาตกรอบรองชนะเลิศเฟรนช์โอเพนโดยแพ้ ราฟาเอล นาดัลจากสเปน ซึ่งถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญของเขามาจนถึงปัจจุบัน เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์วิมเบิลดันได้เป็นสมัยที่ 2 โดยเอาชนะ แอนดี ร็อดดิก ก่อนจะปิดท้ายด้วยการคว้าแชมป์ยูเอสโอเพน แม้ว่าในรายการ มาสเตอร์ คัพ เฟเดอเรอร์จะไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้ แต่เขาก็มีสถิติชนะถึง 83 นัดและแพ้เพียง 3 นัด ในปีนี้ พร้อมกับจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งอันดับ 1 อีกครั้ง[43]

ในปี 2006 เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แกรนดสแลมได้ 3 รายการอีกครั้ง (ออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน) และจบฤดูกาลด้วยการครองตำแหน่งอันดับ 1 ต่อไปอย่างเหนียวแน่น รวมทั้งยังคว้าแชมป์ในรายการอื่น ๆ ได้อีก 9 รายการ เขาคว้าแชมป์วิมเบิลดันได้เป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกันโดยเอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 เซต รวมถึงกลับมาคว้าแชมป์ มาสเตอร์ คัพ สมัยที่ 3 เอาชนะ เจมส์ เบลค ในปีนี้เฟเดอเรอร์แพ้ให้กับนักเทนนิสเพียง 2 รายได้แก่ นาดัล และ แอนดี มาร์รี[44]

เฟเดอเรอร์ในรอบชิงชนะเลิศรายการมาสเตอร์ที่ มงเต-การ์โล ปี 2007

ในปี 2007 เขาป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้ ส่งผลให้เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 10 พร้อมทำสถิติเป็นนักเทนนิสชายคนที่สองในยุคโอเพนที่คว้าแชมป์แกรนด์แสลมได้แบบไม่เสียเซตเลยนับจาก บิยอร์น บอร์ก ในปี 1980 หลังจากนั้น เฟเดอเรอร์ก็ทำสถิติชนะติดต่อกันทุกรายการได้ถึง 41 นัด ก่อนจะแพ้ กิลแยร์โม การ์นาส สองรายการติดในรายการมาสเตอร์ที่อินเดียน เวลล์ และ ไมแอมี เข้าสู่การแข่งขันคอร์ตดิน เฟเดอร์เรอร์เข้าชิงชนะเลิศมาสเตอร์ที่ มงเต-การ์โล อีกครั้ง แต่แพ้นาดัลไปอีกเช่นเคย หลังจากนั้น เขาคว้าแชมป์บนคอร์ตดินได้เป็นครั้งแรกในรายการ ฮัมบวร์ค โดยเอาชนะนาดัล ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งแรกในการพบกับนาดัลบนคอร์ตดิน ทั้งเป็นการหยุดสถิติชนะรวด 81 นัดบนคอร์ตดินของนาดัล[45] แต่ในเฟรนช์โอเพน เฟเดอเรอร์ก็ต้องพ่ายนาดัลอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศ 1–3 เซต[46]

เฟเดอเรอร์ในยูเอสโอเพน ปี 2008

เฟเดอเรอร์ถอนตัวจากรายการคอร์ตหญ้าที่ฮัลเลอจากอาการบาดเจ็บ ก่อนที่จะหายทันลงเล่นวิมเบิลดัน และนี่ถือเป็นปีแรกที่เขาเข้าร่วมการแข่งขันโดยไม่ได้เตรียมตัวเลย แต่เขาก็คว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน[47] เอาชนะนาดัลได้ในรอบชิงชนะเลิศอีกครั้ง 3–2 เซต ซึ่งทำให้เขาคว้าแชมป์รายการนี้เท่ากับ บียอร์น บอร์ก (5 สมัย) และยังคว้าแชมป์ยูเอสโอเพนได้ โดยเอาชนะ นอวาก จอกอวิช สามเซตรวด[48] และปิดท้ายด้วยแชมป์มาสเตอร์ คัพ อีกหนึ่งสมัย[49]

ในปี 2008 เฟเดอเรอร์ไม่สามารถป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้โดยแพ้จอกอวิชในรอบรองชนะเลิศ[50] ตามด้วยการแพ้ แอนดี มาร์รี ในรายการเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ 500 ที่ ดูไบ ต่อมา เขาแพ้ มาร์ดี ฟิช ในรอบรองชนะเลิศมาสเตอร์อินเดียน เวลส์ ตามด้วยการแพ้ แอนดี ร็อดดิก ในมาสเตอร์ที่ไมแอมี แต่เขาคว้าแชมป์แรกได้ที่โปรตุเกส ตามด้วยการตกรอบรายการมาสเตอร์สามรายการที่ มงเต-การ์โล, โรม และฮัมบวร์ค

เข้าสู่การแข่งขันเฟรนช์โอเพน เฟเดอเรอร์ก็ยังไม่สมหวังโดยแพ้นาดัลเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และถือเป็นปีที่ 3 ที่แพ้นาดัลในรอบชิงชนะเลิศ โดยแพ้ไปอย่างขาดลอย 0–3 เซต ก่อนที่จะกลับมาคว้าแชมป์ได้อีกครั้งที่ฮัลเลอ แต่ในวิมเบิลดันเขาแพ้นาดัลในรอบชิงชนะเลิศ 2–3 เซต[51] ซึ่งต้องเล่นกันถึง 4 ชั่วโมง 48 นาทีและได้รับการโหวตจากแฟน ๆ ให้เป็นหนึ่งในนัดการแข่งขันเทนนิสที่ดีที่สุดตลอดกาล[52] ทำให้เขาหยุดสถิติชนะติดต่อกันบนคอร์ตหญ้า 65 นัดลง และหยุดสถิติการครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ติดต่อกัน 237 สัปดาห์ ในเดือนสิงหาคม[53] และยังตกรอบรายการมาสเตอร์ที่แคนาดา และซินซินแนติ แต่เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้หนึ่งรายการในปีนี้ในยูเอสโอเพน เอาชนะแอนดี มาร์รี 3 เซตรวด และคว้าเหรียญทองประเภทคู่ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ร่วมกับสตาน วาวรีงกา เฟเดอเรอร์ปิดท้ายฤดูกาลด้วยการเสียตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ให้แก่นาดัลเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี และตกรอบแรกมาสเตอร์ คัพ

ในปี 2009 เฟเดอเรอร์เริ่มต้นด้วยการแพ้มาร์รีในรอบรองชนะเลิศที่โดฮา และแพ้นาดัลในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2–3 เซต ตามด้วยการตกรอบรายการมาสเตอร์ 1000 4 รายการรวดที่อินเดียน เวลส์, ไมแอมี, มงเต-การ์โล และโรม แต่มาได้แชมป์ที่มาดริด โดยชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศ และเขาคว้าแชมป์เฟรนช์โอเพนได้เป็นสมัยแรกโดยชนะโรบิน เซอเดอร์ลิง 3 เซตรวด ทำสถิติคว้าแชมป์แกรนด์สแลมสมัยที่ 14 เท่ากับ พีต แซมพราส และถือเป็นผู้เล่นชายคนที่ 6 ที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการ[54] ต่อมา เขาทำลายสถิติของแซมพราสได้สำเร็จ โดยได้แชมป์วิมเบิลดันสมัยที่ 6 เอาชนะ แอนดี ร็อดดิก 3–2 เซต ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่ดีที่สุด[55] ส่งผลให้เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 15 รายการ มากที่สุดในประเภทชายเดี่ยวในขณะนั้น[56] ต่อมา เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติได้ เอาชนะจอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศ 2–0 เซต

เขาผ่านเข้าชิงชนะเลิศยูเอสโอเพนได้อีกครั้ง แต่แพ้ ฆวน มาร์ติน เดล โปโตร 2–3 เซต[57] ซึ่ง เดล โปโตร ถือเป็นผู้เล่นคนเดียวจนถึงปัจจุบันนอกจากนาดัลและจอกอวิชที่ชนะเฟเดอเรอร์ได้ในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม[58] เฟเดอเรอร์ตกรอบรองชนะเลิศ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล ที่กรุงลอนดอน (เปลี่ยนชื่อมาจากมาสเตอร์ คัพ) แพ้ นิโคไล ดาวีเดนโก 1–2 เซต แต่ยังจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 1 เป็นครั้งที่ 5

2010: แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 4

[แก้]

เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้ โดยเอาชนะมาร์รีในรอบชิงชนะเลิศสามเซตรวด และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 16 แต่เขาตกรอบรายการมาสเตอร์ 1000 สามรายการที่อินเดียน เวลส์, ไมแอมี และโรม ก่อนจะเข้าชิงชนะเลิศที่มาดริดแต่แพ้นาดัล และเขาไม่ประสบความสำเร็จในแกรนด์สแลมอีก 3 รายการที่เหลือ และอันดับโลกของเขาได้ตกไปอยู่อันดับที่ 3 เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี 8 เดือน ในปีนี้ เฟเดอเรอร์ได้แต่งตั้งให้ พอล แอนนาโคน อดีตผู้เล่นชื่อดังชาวอเมริกันเป็นผู้ฝึกสอน[59] เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 เพิ่มที่ซินซินแนติได้ และจบฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์ที่สวีเดนและสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งคว้าแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล สมัยที่ 5[60] โดยชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศ 2–1 เซต

เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนสมัยที่ 4 ในปี 2010 และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมที่ 16 ในอาชีพ

2011: ล้มเหลวในแกรนด์สแลม

[แก้]

เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แรกของปีที่โดฮา ก่อนจะผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนแต่แพ้จอกอวิช[61] และแพ้จอกอวิชอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศที่ดูไบ และตกรอบรายการมาสเตอร์ 1000 อีกสี่รายการถัดมา และในการแข่งขันเฟรนช์โอเพน เฟเดอเรอร์เอาชนะจอกอวิชคืนได้ในรอบรองชนะเลิศ และเป็นการหยุดสถิติชนะติดต่อกัน 43 นัดของจอกอวิช ก่อนจะแพ้นาดัลในรอบชิงชนะเลิศอีกครั้ง 1–3 เซต และไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ในอีกในสองรายการใหญ่ ทั้งในวิมเบิลดันและยูเอสโอเพน[62] โดยเฉพาะในรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพน เฟเดอเรอร์แพ้จอกอวิช 2–3 เซต ทั้งที่ได้เปรียบถึง 2 Match Points ส่งผลให้นี่เป็นฤดูกาลแรกในรอบ 9 ปีที่เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์แกรนด์สแลมไม่ได้เลย แต่เขายังจบฤดูกาลด้วยแชมป์ 3 รายการสุดท้ายในการแข่งขันในร่ม (Indoor Hard Court) ที่สวิตเซอร์แลนด์, ฝรั่งเศส และยังทำสถิติคว้าแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล 6 สมัย[63] และจบฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 3

2012: ครองตำแหน่งอันดับ 1 ครบ 300 สัปดาห์ และเหรียญเงินโอลิมปิก

[แก้]

เฟเดอเรอร์แพ้นาดัลในรอบรองชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน แต่ไปได้แชมป์ที่ร็อตเตอร์ดัม โดยเอาชนะ ฆวน มาร์ติน เดล โปโตร ก่อนจะลงแข่งขันที่ดูไบ และเอาชนะมาร์รี คว้าแชมป์สมัยที่ 5 ต่อมา เขาทำสถิติได้แชมป์มาสเตอร์ 1000 จำนวน 19 รายการเท่ากับนาดัลในขณะนั้นโดยการคว้าแชมป์ที่อินเดียนเวลส์ ตามด้วยแชมป์มาสเตอร์ที่มาดริด ก่อนจะไปตกรอบที่โรม

เฟเดอเรอร์ทำอันดับแซงนาดัลขึ้นสู่อันดับ 2 ของโลกได้ในเดือนพฤษภาคม แต่เขาแพ้จอกอวิชในรอบรองชนะเลิศเฟรนช์โอเพน 0–3 เซต แต่กลับมาคว้าแชมป์วิมเบิลดันได้อีกครั้งโดยชนะมาร์รี 3–1 เซต ซึ่งเป็นแชมป์สมัยที่ 7[64] เป็นสถิติที่มากที่สุดเท่ากับ พีต แซมพราส เฟเดอเรอร์กลับขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 อีกครั้ง และทำลายสถิติการครองตำแหน่งอันดับ 1 ตลอดกาลของแซมพราสจำนวน 286 สัปดาห์ได้สำเร็จในวันที่ 16 กรกฎาคม[65]

เขาเข้าชิงชนะเลิศโอลิมปิกประเภทชายเดี่ยวที่กรุงลอนดอน ก่อนจะแพ้มาร์รีสามเซตรวดทำได้เพียงเหรียญเงิน[66] ก่อนจะมาได้แชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติ ชนะจอกอวิช 2–0 เซต และตกรอบ 8 คนสุดท้ายยูเอสโอเพน แต่ในช่วงปลายปีเฟเดอเรอร์ทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนแรกที่ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ครบ 300 สัปดาห์[67] และเข้าชิงชนะเลิศ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล แต่ก็แพ้จอกอวิช 0–2 เซต

2013: ปีแห่งการบาดเจ็บ

[แก้]

ตลอดทั้งปี เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์ได้เพียงรายการเดียวที่ฮัลเลอ เยอรมนี โดยเขามีอาการบาดเจ็บบริเวณหลังรบกวนหลายเดือน[68] และอันดับโลกของเขาได้หลุดจาก 4 อันดับแรกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2003 และในเดือนธันวาคม สเตฟาน เอ็ดเบิร์กอดีตตำนานผู้เล่นชาวสวีเดนได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนให้แก่เฟเดอเรอร์[69]

2014: แชมป์เดวิสคัพ

[แก้]
เฟเดอเรอร์ในออสเตรเลียนโอเพน ปี 2014

เฟเดอเรอร์แพ้นาดัลในรอบรองชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพนสามเซตรวด[70] ก่อนจะคว้าแชมป์ที่ดูไบได้เป็นสมัยที่ 6 โดยเอาชนะโทมัส เบอร์ดิช ก่อนจะแพ้จอกอวิชในรอบชิงชนะเลิศมาสเตอร์ 1000 ที่อินเดียน เวลส์ ต่อมา เขาพาสวิตเซอร์แลนด์เอาชนะคาซัคสถานได้ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเดวิส คัพ และเข้าชิงมาสเตอร์ 1000 ที่ มงเต-การ์โล แต่แพ้สตาน วาวรีงกา และในเฟรนช์โอเพน เฟเดอเรอร์แพ้ เออร์เนสต์ กูลบิส ในรอบที่ 4 ก่อนจะผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน และแพ้จอกอวิชในการแข่งขัน 5 เซต[71]

เฟเดอเรอร์เอาชนะ ดาวิต เฟร์เรร์ ในรายการมาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติ ก่อนจะแพ้มาริน ซิลิช ในรอบรองชนะเลิศยูเอสโอเพน ต่อมาในรอบรองชนะเลิศ เดวิส คัพ สวิตเซอร์แลนด์เอาชนะอิตาลีผ่านเข้าชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1992 ก่อนที่เฟเดอเรอร์จะคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่เซี่ยงไฮ้และกลับขึ้นสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 2 เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี และพาสวิตเซอร์แลนด์คว้าแชมป์ เดวิส คัพ ได้เป็นสมัยแรก เอาชนะฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศ[72] เฟเดอเรอร์ลงแข่งขันรายการสุดท้ายโดยเข้าชิงชนะเลิศ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล พบกับจอกอวิช แต่ต้องถอนตัวจากอาการบาดเจ็บ

2015: ชัยชนะนัดที่ 1,000

[แก้]

ในปีนี้เฟเดอเรอร์ทำสถิติเป็นผู้เล่นชายคนที่ 3 ที่คว้าชัยชนะได้ครบ 1,000 นัดในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยว[73] ต่อจาก จิมมี คอนเนอร์ และ อิวาน เลนเดิล ภายหลังจากได้แชมป์ที่บริสเบน[74] ก่อนจะคว้าแชมป์ที่ดูไบเป็นสมัยที่ 7 และทำสถิติเป็นผู้เล่นคนที่ 4 นับตั้งแต่ปี 1991 ที่เสิร์ฟเอชครบ 9,000 ครั้งในอาชีพ[75] แต่เฟเดอเรอร์ไม่สามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ในปีนี้ โดยตกรอบ 3 ในออสเตรเลียนโอเพน และตกรอบ 8 คนสุดท้ายเฟรนช์โอเพน ก่อนจะผ่านเข้าชิงชนะเลิศวิมเบิลดันและยูเอสโอเพน และแพ้จอกอวิชทั้ง 1–3 เซตทั้งสองรายการ แต่เขาเอาชนะจอกอวิชได้ในรอบชิงชนะเลิศรายการมาสเตอร์ 1000 ที่ซินซินแนติ คว้าแชมป์สมัยที่ 7 ตามด้วยแชมป์เอทีพี ทัวร์ 500 ที่บาเซิลสมัยที่ 7 โดยชนะนาดัล ก่อนจะปิดท้ายฤดูกาลด้วยรองแชมป์ เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล โดยแพ้จอกอวิชไปอีกครั้ง สเตฟาน เอ็ดเบิร์ก ได้ยุติบทบาทการทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนให้กับเขา และอิวาน ลูบิซิช อดีตผู้เล่นโครเอเชียเข้ามาทำหน้าที่ต่อ[76]

2016: ปีแห่งการบาดเจ็บอีกครั้ง

[แก้]

เฟเดอเรอร์ยังไม่สามารถคว้าแชมป์แกรนด์สแลมเพิ่มได้ และมีอาการบาดเจ็บรบกวนตลอดปีเริ่มตั้งแต่การบาดเจ็บเข่าตั้งแต่ช่วงต้นปี และเขาต้องเข้ารับการผ่าตัดและพักรักษาตัวจนถึงเดือนพฤษภาคม[77] รวมทั้งถอนตัวจากเฟรนช์โอเพน เขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศวิมเบิลดันได้ก่อนจะแพ้ มิลอช ราวนิช โดยที่มีอาการบาดเจ็บเข่ากำเริบอีกครั้ง[78] หลังจบการแข่งขันเฟเดอเรอร์ประกาศยุติการแข่งขันในทุกรายการที่เหลือ

2017: ทวงความยิ่งใหญ่

[แก้]
เฟเดอเรอร์ในการแข่งขันวิมเบิลดัน

เฟเดอเรอร์กลับมาทวงความยิ่งใหญ่ได้โดยคว้าแชมป์แกรนด์สแลมสองรายการ ได้แก่ออสเตรเลียนโอเพนและวิมเบิลดัน และเป็นการกลับมาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้ในรอบ 5 ปี โดยเอาชนะนาดัลในออสเตรเลียนโอเพน 3–2 เซต และเอาชนะ มาริน ซิลิช ในวิมเบิลดันสามเซตรวด เฟเดอเรอร์เริ่มต้นฤดูกาลในออสเตรเลียนโอเพนด้วยการเป็นมือวางอันดับ 17 ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดของเขาในรอบ 15 ปี และในรอบรองชนะเลิศ เขาทำสถิติเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดในรอบ 26 ปีที่ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมได้ในวัย 35 ปี นับตั้งแต่ จิมมี คอนเนอร์ ทำได้ในปี 1991[79] และเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมนับตั้งแต่ เคน โรเซวอลล์ ในปี 1974 และการเอาชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศถือเป็นการชนะนาดัลในแกรนด์สแลมได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รอบชิงวิมเบิลดัน 2007

หลังจากคว้าแชมป์มาสเตอร์ 1000 ได้ทั้งสองรายการที่อินเดียนเวลส์ และ ไมแอมี เฟเดอเรอร์ไม่ลงแข่งขันในรายการคอร์ตดินเพื่อรักษาสภาพร่างกาย และเขาไม่ประสบความสำเร็จในยูเอสโอเพนโดยแพ้ ฆวน มาร์ติน เดล โปโตร ในรอบ 8 คนสุดท้าย 1–3 เซต และในเดือนกันยายน เขาได้ลงแข่งขันในรายการ เลเวอร์ คัพ (Laver Cup)[80] ซึ่งจัดการแข่งขันขึ้นเป็นครั้งแรกโดยเป็นรายการที่นำนักเทนนิสชื่อดังจากทีมรวมดารายุโรปมาแข่งขันกับทีมรวมดาราโลกเป็นเวลาสามวัน และเฟเดอเรอร์พาทีมคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยแรก เอาชนะทีมดาราโลกไป 15–9 คะแนน[81]

เฟเดอเรอร์ปิดฤดูกาลด้วยการคว้าแชมป์ชายเดี่ยวรายการที่ 95 ซึ่งเป็นสถิติที่มากที่สุดอันดับสองรองจากจิมมี คอนเนอร์ ด้วยแชมป์มาสเตอร์ 1000 ที่เซี่ยงไฮ้ ชนะนาดัลในรอบชิงชนะเลิศ 2–0 เซต ตามด้วยแชมป์เอทีพี 500 ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะตกรอบรองชนะเลิศ เอทีพี ไฟนอล (เปลี่ยนชื่อมาจากเอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล) โดยแพ้ ดาวิด กอฟแฟง[82] 1–2 เซต

2018: แชมป์แกรนด์สแลมรายการที่ 20

[แก้]

เฟเดอเรอร์เริ่มต้นด้วยการชนะเลิศรายการ ฮอพแมน คัพ ร่วมกับทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะป้องกันแชมป์ออสเตรเลียนโอเพนได้โดยเอาชนะ มาริน ซิลิช 3–2 เซต และเป็นผู้เล่นคนแรกที่ชนะเลิศสแลมในประเภทชายเดี่ยว 20 สมัย ต่อมา เฟเดอเรอร์ชนะเลิศรายการร็อตเตอร์ดัมสมัยที่ 3 และกลับคืนสู่ตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ได้อีกครั้ง พร้อมทำสถิติเป็นผู้เล่นที่ครองตำแหน่งอันดับ 1 ที่มีอายุมากที่สุด (36 ปี 195 วัน) ก่อนจะแพ้เดล โปโตร ในรอบชิงมาสเตอร์อินเดียน เวลส์ และตกรอบสองที่ไมแอมี

เฟเดอเรอร์ไม่ลงแข่งขันในรายการคอร์ตดิน ต่อมา เขาเสียตำแหน่งอันดับ 1 ในเดือนมิถุนายนหลังจากที่ไม่สามารถป้องกันแชมป์ที่ ฮัลเลอ ได้ โดยแพ้ บอร์นา โชริช[83] ก่อนจะตกรอบ 8 คนสุดท้ายที่วิมเบิลดัน และตกรอบ 4 ในยูเอสโอเพน โดยแพ้ เควิน แอนเดอร์สัน และ จอห์น มิลแมน ตามลำดับ เฟเดอเรอร์พาทีมยุโรปป้องกันแชมป์ เลเวอร์ คัพ ได้เป็นสมัยที่ 2 เอาชนะทีมรวมดาราโลก 13–8 คะแนน[84] ต่อมา เขาคว้าแชมป์รายการที่ 99 ในอาชีพได้ โดยการป้องกันแชมป์ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะตกรอบรองชนะเลิศ เอทีพี ไฟนอล แพ้ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ[85] เขาจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งมือวางอันดับ 3

2019: แชมป์รายการที่ 100 และชัยชนะนัดที่ 1,200

[แก้]

ในปีนี้ แม้ว่าเฟเดอเรอร์จะไม่ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์แกรนด์สแลม แต่เขาได้สร้างสถิติใหม่ด้วยการคว้าแชมป์รายการที่ 100 ในอาชีพได้ที่ดูไบ[86] และคว้าชัยชนะนัดที่ 1,200 ในอาชีพได้[87] โดยเอาชนะ กาแอล มงฟิล์ส ในการแข่งขันมาสเตอร์ 1000 ที่กรุงมาดริด ซึ่งทั้งสองสถิติถือเป็นสถิติที่มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจาก จิมมี คอนเนอร์ เฟเดอเรอร์เข้าชิงชนะเลิศวิมเบิลดันได้เป็นครั้งที่ 12 ก่อนจะแพ้จอกอวิช 2–3 เซต ซึ่งถือเป็นการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์เนื่องจากใช้เวลาแข่งขันกันถึง 5 ชั่วโมง นานที่สุดในประวัติศาสตร์รอบชิงชนะเลิศของรายการ

เขาพาทีมยุโรปป้องกันแชมป์ เลเวอร์ คัพ สมัยที่ 3 ได้สำเร็จ เอาชนะทีมรวมดาราโลก 13–11 คะแนน[88] ก่อนจะปิดท้ายฤดูกาลด้วยการเป็นมือวางอันดับ 3 และคว้าแชมป์ที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นสมัยที่ 6 และตกรอบรองชนะเลิศ เอทีพี ไฟนอล แพ้ สเตฟาโนส ซิตซีปัส[89]

2020: ผ่าตัดหัวเข่า

[แก้]

เฟเดอเรอร์ลงแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนโดยมีอาการเจ็บเข่ารบกวน แต่ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศได้ ก่อนจะแพ้จอกอวิช ภายหลังจบรายการ เฟเดอเรอร์ได้เข้ารับการผ่าตัดหัวเข่า[90][91] เขาคาดว่าจะกลับมาลงแข่งขันได้อีกครั้งในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 มิถุนายน เฟเดอเรอร์ได้ประกาศว่าอาการบาดเจ็บของเขายังไม่หายขาด และจำเป็นต้องยกเลิกการแข่งขันในรายการที่เหลือ[92]

2021: สร้างสถิติใหม่ในวิมเบิลดัน, ผ่าตัดอีกครั้ง และช่วงท้ายของอาชีพ

[แก้]

เฟเดอเรอร์ไม่ได้ลงแข่งขันออสเตรเลียนโอเพนเนื่องจากต้องการพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บ ก่อนจะกลับมาลงแข่งขันเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนที่โดฮา และตกรอบ 8 คนสุดท้าย[93] และกลับมาลงแข่งขันเฟรนช์โอเพนก่อนจะประกาศถอนตัวในรอบที่ 4[94] โดยให้เหตุผลว่าเขาต้องการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อลงแข่งขันในรายการคอร์ตหญ้า เฟเดอเรอร์ลงแข่งขันรายการฮัลเลอซึ่งเขาเป็นแชมป์มา 10 สมัยก่อนหน้านี้ ก่อนจะตกรอบที่ 2 แพ้ เฟลิกซ์ โอเฌร์ อาลียาซีม ดาวรุ่งแคนาดา[95]

ต่อมา เฟเดอเรอร์ลงแข่งขันวิมเบิลดัน และในวันที่ 5 กรกฎาคม ภายหลังเอาชนะ โลเรนโซ โซเนโก ในรอบที่ 4 เขาทำสถิติเป็นผู้เล่นชายที่เข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายวิมเบิลดันได้มากที่สุด (18 ครั้ง)[96] รวมทั้งเป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดในยุคโอเพนที่ผ่านเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายวิมเบิลดัน (39 ปี 11 เดือน)[97] และยังเป็นผู้เล่นที่เข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายในแกรนด์สแลมมากที่สุด 58 ครั้ง ก่อนจะตกรอบ 8 คนสุดท้ายโดยแพ้ ฮูแบร์ต ฮูร์กัตช์ สามเซตรวด[98] โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปีที่เขาแพ้คู่แข่งสามเซตรวดในวิมเบิลดัน[99] และภายหลังจบการแข่งขันเขาให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเลิกเล่นอาชีพ[100]

เขาไม่ได้ลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 เนื่องจากอาการเจ็บเข่ากำเริบ[101] ตามด้วยการถอนตัวในมาสเตอร์ 1000 ที่โทรอนโต และซินซินแนติ ในเดือนสิงหาคม ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม เฟเดอเรอร์ประกาศว่าเขาต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวเข่าอีกครั้ง และจะไม่ได้กลับมาลงเล่นอีกในปีนี้[102] และในวันที่ 17 พฤศจิกายน เขาประกาศว่าจะพลาดการแข่งขันหลายรายการในปี 2022 และยังไม่แน่ว่าจะกลับมาเล่นเทนนิสได้อีกเมื่อใด[103]

2022: ปิดตำนานความยิ่งใหญ่

[แก้]

เฟเดอเรอร์กลับมาซ้อมในเดือนมีนาคม โดยอันดับโลกของเขาตกไปอยู่อันดับที่ 68 ในเดือนมิถุนายน เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2000 ที่อันดับโลกของหลุดจาก 50 อันดับแรก และเขาหายไม่ทันร่วมแข่งขันแกรนด์สแลมเฟรนช์โอเพนและวิมเบิลดัน[104] เฟเดอเรอร์ประกาศว่าจะกลับมาลงแข่งขัน เลเวอร์ คัพ ในเดือนกันยายน และด้วยรายการเอทีพี 500 ที่บาเซิล[105] ต่อมาในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 2022 อันดับโลกของเขาตกไปถึงอันดับที่ 96 และในวันที่ 11 กรกฎาคม เฟเดอเรอร์ได้กลายเป็นมือวางไร้อันดับอย่างเป็นทางการจากการโดนตัดคะแนน 600 คะแนนในวิมเบิลดัน ทำให้เขาไม่มีคะแนนสะสมเหลือในปัจจุบัน

จากการประสบปัญหาอาการบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เฟเดอเรอร์ประกาศวางมือในเดือนกันยายน โดยเขาลงแข่งขันเลเวอร์คัพเป็นรายการสุดท้าย[106] เขาลงแข่งขันนัดสุดท้ายโดยจับคู่กับนาดัล แพ้คู่ของ แจ็ค ซอค และ ฟรานเซส ติอาโฟ 1–2 เซต[107] เขากล่าวว่าจะยังคงเล่นเทนนิสต่อในอนาคตแต่มิใช่การแข่งขันอาชีพ โดยจะปรากฏตัวในรายการการกุศลหรือลงแข่งเพื่อความบันเทิงเท่านั้น[108]

ทีมชาติ

[แก้]

กีฬาโอลิมปิก

[แก้]

เฟเดอเรอร์ลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในนามทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ครั้งแรกในปี 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยก่อนเริ่มการแข่งขันความคาดหวังไม่สูงนัก เนื่องจากเขายังเป็นผู้เล่นดาวรุ่งที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับสูง แต่เฟเดอเรอร์ก็สร้างความประหลาดใจด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมโดยผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนจะแพ้ ทอมมี แฮส นักเทนนิสชาวเยอรมัน ตามด้วยการแพ้ อาร์นอด์ ดิ ปาสเควล ชาวฝรั่งเศสในรอบชิงเหรียญทองแดง คว้าอันดับ 4 ไปครอง[109] ต่อมาในโอลิมปิกปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ เฟเดอเรอร์ซึ่งในขณะนั้นครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 และถูกมองว่าเป็นผู้เล่นที่เก่งที่สุดในโลก ได้ลงแข่งขันในฐานะมือวางอันดับ 1 แต่เขาตกรอบที่สองในการแข่งขันอย่างเหนือความคาดหมาย แพ้ให้กับ โทมาช แบร์ดิค ผู้เล่นเช็กเกียซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 18 ปี และเฟเดอเรอร์ยังได้ลงแข่งขันในประเภทคู่ โดยจับคู่กับ อีฟส์ อัลโกร แต่ก็ตกรอบที่สองเช่นกัน[110]

ถัดมาในการแข่งขันปี 2008 ที่ปักกิ่ง เฟเดอรเรอร์ได้รับการจัดอันดับเป็นมือวางอันดับ 1 เช่นเคย แต่เขาแพ้ เจมส์ เบลก จากสหรัฐในรอบ 8 คนสุดท้าย[111] แต่ครั้งนี้เขาประสบความสำเร็จในประเภทชายคู่ โดยคว้าเหรียญทองร่วมกับสตาน วางรีงกา เอาชนะคู่ ไซมอน แอสเพลลิน และ โทมัส โจฮานส์สันจากสวีเดน เฟเดอเรอร์ยังได้รับเกียรติให้เป็นผู้ถือธงชาติสวิตเซอร์แลนด์ในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกทั้งในปี 2004 และ 2008[112] ต่อมาในปี 2012 เฟเดอเรอร์ผ่านเข้าชิงชนะเลิศในประเภทชายเดี่ยวได้เป็นครั้งแรก ก่อนจะแพ้ แอนดี มาร์รี นักเทนนิสชื่อดังชาวสกอตซึ่งลงเล่นในนามทีมสหราชอาณาจักรสามเซตรวดทำได้เพียงคว้าเหรียญเงินไปครอง และไม่ประสบความสำเร็จในการป้องกันแชมป์ประเภทคู่ โดยเฟเดอเรอร์และวางรีงกาแพ้คู่ของโจนาธาน เอร์ลิช และ แอนดี แรม จากอิสราเอล[113] เฟเดอเรอร์ไม่ได้ลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2016[114] และ 2020[115] เนื่องจากอาการบาดเจ็บทั้งสองครั้ง

เดวิส คัพ

[แก้]
เฟเดอเรอร์พบกับ รีชาร์ กัสกุแอ ในการแข่งขันเดวิส คัพ รอบชิงชนะเลิศปี 2014 ซึ่งเฟเดอเรอร์เป็นฝ่ายชนะ 3–0 เซต พาทีมสวิตเซอร์แลนด์คว้าแชมป์สมัยแรก[116]

เฟเดอเรอร์ในวัย 17 ปีลงแข่งขันรายการ เดวิส คัพ (Davis Cup) ซึ่งเปรียบเสมือนการแข่งชิงแชมป์โลกในวงการเทนนิสเป็นครั้งแรกในปี 1997 ในรอบแบ่งกลุ่มพบกับทีมชาติอิตาลี โดยเขาสร้างชื่อได้ในนัดแรกโดยทันทีจากการชนะ เดวิด ซันกิเนตตี 3–1 เซต ช่วยให้สวิตเซอร์แลนด์ผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย[117] ไปพบกับเบลเยียม ก่อนที่เฟเดอเรอร์จะแพ้ในเดวิส คัพ เป็นครั้งแรกจากการแพ้ คริสตอฟ ฟาน การ์สเส 2–3 เซต ต่อมาในปี 2000 สวิตเซอร์แลนด์ตกรอบจากการแพ้ออสเตรเลีย 2–3 คู่ แม้เฟเดอเรอร์จะจับคู่กับลอเรสโซ มานทาร์ ชนะในการแข่งขันวันแรกแต่เขาแพ้ในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวสองนัดถัดมาต่อ มาร์ก ฟิลิปัสซิส และ เลย์ตัน ฮิววิตต์ ก่อนจะแก้ตัวได้ในการแข่งขันรอบคัดเลือกปี 2001 เอาชนะเบลารุสขาดลอย 5–0 คู่[118]

ในปี 2003 ทีมเดวิส คัพ ของสวิตเซอร์แลนด์ทำผลงานยอดเยี่ยมโดยผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่แพ้ออสเตรเลียไปอีกครั้ง โดยเฟเดอเรอร์ชนะ มาร์ก ฟิลิปัสซิส แต่ไปแพ้ในการแข่งขันประเภทคู่ ส่งผลให้ต้องตัดสินผู้เข้ารอบในนัดสุดท้ายในประเภทเดี่ยวพบกับ เลย์ตัน ฮิววิตต์ คู่แข่งคนสำคัญอีกครั้งก่อนที่เฟเดอเรอร์จะแพ้ไป 2–3 เซตแม้จะนำไปก่อนถึง 2–0 เซต[119] ในช่วงหลายปีต่อมา เฟเดอเรอร์ไม่ค่อยให้ความสนใจกับรายการเดวิส คัพ มากนัก เนื่องด้วยเขาต้องเน้นการแข่งขันส่วนตัวในรายการสำคัญในอาชีพทั้งแกรนด์สแลมและรายการมาสเตอร์ 1000 แต่ยังลงแข่งขันเดวิส คัพ บ้างเล็กน้อยในรอบคัดเลือกเพื่อช่วยให้สวิตเซอร์แลนด์รักษาอันดับโลกในอันดับต้น ๆ อย่างต่อเนื่อง[120][121][122]

เฟเดอเรอร์พาทีมเดวิส คัพ ของสวิตเซอร์แลนด์สร้างประวัติศาสตร์ได้ในปี 2014 โดยเฟเดอเรอร์ซึ่งเพิ่งหายจากการบาดเจ็บริเวณหลังได้รับบทบาทเป็นผู้เล่นคนสำคัญของทีมร่วมกับสตาน วาวรีงกา เอาชนะฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 คู่[123] แม้เฟเดอเรอร์จะแพ้ในการแข่งขันประเภทเดี่ยวต่อกาแอล มงฟิล์ส แต่เขาแก้ตัวได้ในการแข่งขันสองนัดถัดมา โดยจับคู่กับวางรีงกาเอาชนะคู่ของ จูเลียง เบนน์โต และ รีชาร์ กัสกุแอ ตามด้วยการชนะกัสกุแอในประเภทชายเดี่ยวสามเซตรวดพาสวิตเซอร์แลนด์คว้าแชมป์สมัยแรก (และเป็นแชมป์สมัยเดียวมาถึงปัจจุบัน)[124][125]

เฟเดอเรอร์เป็นเจ้าของสถิติสูงสุดในการเล่นเดวิส คัพของทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์หลายอย่าง ได้แก่ เป็นผู้เล่นชาวสวิสที่ชนะการแข่งขันทุกประเภทมากที่สุด (52 นัด), ชนะการแข่งขันประเภทชายเดี่ยวมากที่สุด (40 นัด), ลงแข่งขันด้วยจำนวนนัดที่มากที่สุด และลงแข่งขันด้วยจำนวนปีที่มากที่สุด (15 ปี)[126]

ฮอพแมน คัพ

[แก้]

เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์รายการฮอพแมน คัพ สมัยแรกในปี 2001 จับคู่กับ มาร์ตินา ฮินกิส นักเทนนิสหญิงชื่อดัง เอาชนะคู่ของ โมนิกา เซเลส และ ยัน-ไมเคิล แกมบิลล์จากสหรัฐในรอบชิงชนะเลิศ[127] ในปีต่อมา เฟเดอเรอร์จับคู่กับ มิโรสลาวา วาฟริเนค ผู้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภรรยาของเขาจนถึงปัจจุบัน แต่ทั้งคู่ตกรอบแรก[128] เฟเดอเรอร์ห่างหายจากการลงเล่นฮอพแมน คัพ ไปอีกหลายปีก่อนจะกลับมาช่วยทีมในปี 2017 ซึ่งเขาทำผลงานได้ดีทั้งในประเภทชายเดี่ยว และประเภทคู่ผสม โดยจับคู่กับเบลินดา เบนซิช แต่ไม่เพียงพอต่อการเข้าชิงชนะเลิศ[129]

เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์รายการนี้ได้เป็นสมัยที่สอง (และเป็นสมัยที่สามของสวิตเซอร์แลนด์) ในปี 2018 เอาชนะเยอรมนีในรอบชิงชนะเลิศ 2–1 คู่ โดยเฟเดอเรอร์เอาชนะ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ ดาวรุ่งชื่อดังในการแข่งขันประเภทเดี่ยว และจับคู่กับเบลินดา เบนซิชอีกครั้ง เอาชนะคู่ของซเฟเร็ฟและอันเจลีค แคร์เบอร์สองเซตรวด[130] ตามด้วยการคว้าแชมป์สมัยที่สามในปี 2019 เอาชนะเยอรมนีในรอบชิงชนะเลิศอีกครั้ง และเป็นการจับคู่กับเบลินดา เบนซิช เอาชนะคู่ของซเฟเร็ฟและแคร์เบอร์ไปได้อีกครั้ง[131]

เฟเดอเรอร์เป็นเจ้าของสถิติผู้เล่นที่คว้าแชมป์ฮอพแมน คัพ มากที่สุดในโลก (3 สมัย)

รูปแบบการเล่น

[แก้]
เฟเดอเรอร์ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เล่นที่มีรูปแบบการตีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก

เฟเดอเรอร์สามารถเล่นได้ดีในทุกพื้นคอร์ต (A versatile all-court player) และสามารถตีลูกทุกชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ[132] เขาเป็นผู้เล่นที่เล่นลูกวอลเลย์หน้าเน็ตได้ดีที่สุดคนหนึ่ง และยังเล่นที่เส้นท้ายคอร์ตหลังเบสไลน์ได้ดีและมีกราวน์สโตรกที่ดีจากทั้งสองฝั่งของสนาม การตีลูกโฟร์แฮนด์ของเขาจะก้ำกึ่งระหว่างแบบตะวันออกและตะวันตก โดยมือของเขาจะอยู่ที่ส่วนกลางค่อนไปทางด้านล่างของไม้ ทำให้สามารถตีได้ทั้งแบบตบและแบบท็อปสปิน เฟเดอเรอร์มักตีลูกโฟร์แฮนด์ในแนวราบและจบการตีลูกโดยที่แขนจะรวบอยู่กับตัวและไม้จะไปอยู่ด้านหลังซึ่งไม่ใช่การตีของนักเทนนิสทั่วไป ซึ่งหลังจากตีลูกแล้วไม้เทนนิสจะข้ามไหล่ไปด้านหลังและข้อศอกของมือข้างที่ตีจะชี้ขึ้นฟ้า[133] และยังสามารถตีลูกท็อปสปินได้รุนแรงทำให้เขาสามารถตีลูกครอสคอร์ตฉีกมุมได้อย่างแม่นยำ

นักวิเคราะห์และแฟนเทนนิสโดยทั่วไปยกย่องว่าเขาเป็นผู้เล่นที่ตีแบ็กแฮนด์มือเดียวได้ดีที่สุดในโลก[134][135][136] และเขายังตีลูกตัด (Slice) ได้อย่างยอดเยี่ยมและสามารถตีลูกสปินได้ดีในทุกพื้นคอร์ต เขามักจะตีลูกกราวน์สโตรกได้รวดเร็วเช่นเดียวกับที่อานเดร แอกัสซี ตีเป็นประจำซึ่งต้องอาศัยฟุตเวิร์กและปฏิกิริยาที่ยอดเยี่ยม และเฟเดอเรอร์ยังตีกราวน์สโตรกได้ใกล้เน็ตทำให้คู่แข่งถูกลดเวลาในการตีโต้ลง กราวน์สโตรกของเขาอาจไม่หนักหน่วงรุนแรงเท่า ราฟาเอล นาดัล, ด็อมมินิค ทีม หรือ ดานีอิล เมดเวเดฟ แต่ถือเป็นการตีด้วยน้ำหนักและทิศทางที่พอดีและเขายังสามารถตีลูกฉีกมุมซึ่งเป็นลูกทีเด็ดของเขาในแต้มสำคัญ

เฟเดอเรอร์ยังเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีลูกเสริ์ฟที่ดีที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เสริ์ฟเอชได้มากที่สุด[137] ลูกเสิร์ฟของเขาเป็นลูกที่อ่านได้ยากเนื่องจากเขามีจังหวะการโยนลูกและการย่อตัวตีที่แม่นยำ[138] โดยเสิร์ฟแรกของเขาจะมีความเร็วประมาณ 190 กม./ชม. (118 ไมล์/ชม.)[139] ส่วนลูกเสิร์ฟที่สองมักจะเป็นลูกปั่นเด้งสูงเน้นทิศทาง บ่อยครั้งที่เราเห็นเขาสามารถเสริ์ฟได้ลงตรงเส้นกึ่งกลางคอร์ตพอดีโดยที่คู่ต่อสู้ไม่มีโอกาสได้โต้กลับมา เฟเดอเรอร์ยังชื่นชอบการขึ้นไปเล่นลูกวอลเลย์หน้าเน็ต โดยเขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เล่นที่เล่นหน้าเน็ตได้ดีที่สุดคนหนึ่ง

เฟเดอเรอร์มีการเคลื่อนที่ การทรงตัว และการควบคุมพื้นที่ที่ยอดเยี่ยม เขาถูกจัดเป็นผู้เล่นที่เคลื่อนไหวได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผู้เล่นส่วนมากจะก้าวเท้าสั้น ๆหลาย ๆ ก้าวเพื่อจะเข้าถึงบอล แต่เฟเดอเรอร์สามารถก้าวเท้ายาว ๆ ได้อย่างลื่นไหล เขาสามารถตีลูกแรง ๆ ในขณะที่ยังวิ่งอยู่หรือแม้แต่ในขณะที่ก้าวถอยหลังทำให้เขาสามารถเปลี่ยนเกมจากการตั้งรับเป็นเกมบุกได้อย่างรวดเร็ว รูปแบบการเล่นของเฟเดอเรอร์เป็นแบบผ่อนคลายและไหลลื่นแต่ซ่อนแทคติกที่เน้นการบุกอย่างชาญฉลาดและฉาบฉวย

อุปกรณ์และชุดแข่ง

[แก้]
A tennis player holds a racket in his hand
เฟเดอเรอร์ใช้ไม้เทนนิสของวิลสันและชุดแข่งขันของไนกี้จนถึงปี 2018

เฟเดอเรอร์ใช้ไม้เทนนิสยี่ห้อวิลสัน บี แอล เอกซ์ ซิก วัน ทัวร์ 90[140] ซึ่งเป็นไม้ที่มีหน้าแร็กเก็ตที่เล็กกว่าปกติ มีน้ำหนักมากแต่บาง บางคนคาดเดาว่าเป็นไม้ที่ดัดแปลงมาจากไม้วิลสัน โปรสต๊าฟ ออริจินอล 6.0 85 ที่ พีต แซมพราส ใช้ เฟเดอเรอร์ขึงตาข่ายไว้ค่อนข้างหลวม (53-60 ปอนด์ โดยขึ้นอยู่กับคู่แข่ง และพื้นสนาม) การแข่งขันวิมเบิลดัน 2008 เขาขึงไว้เพียง 47/48 ปอนด์เท่านั้น[141] การขึงตาข่ายเช่นนี้ทำให้เขาตีลูกด้วยความเร็วสูงได้โดยใช้แรงน้อยลง เฟเดอเรอร์เคยใช้ไม้วิลสัน เอ็นโค้ด เอ็นซิก-วัน ทัวร์ 90, ไม้วิลสัน โปรสต๊าฟ ทัวร์ 90 และไม้วิลสัน โปรสต๊าฟ ออริจินอล 6.0 85 เฟเดอเรอร์สนับสนุนไม้เทนนิสและอุปกรณ์ของวิลสันและสนับสนุนชุดกีฬาและรองเท้าของไนกี้ ในการแข่งขันวิมเบิลดัน ปี 2006 ไนกี้ทำเสื้อแจ๊กเก็ตโดยมีตราไม้เทนนิสสามอันเป็นเครื่องหมายว่า "เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์วิมเบิลดันมาแล้วสามสมัย"[142]

เฟเดอเรอร์ยังสนับสนุนอุปกรณ์อีกหลาย ๆ บริษัทโดยเฉพาะบริษัทของสวิตเซอร์แลนด์[143] และยังสนับสนุนผลิตภัณฑ์ยิลเลตต์ ร่วมกับยอดนักฟุตบอลชาวฝรั่งเศส ตีแยรี อ็องรี รวมถึงนักกอล์ฟชาวอเมริกัน ไทเกอร์ วูดส์ และนักคริกเกตชาวอินเดีย ราฮูล ดราวิด[144]

ในปี 2018 เฟเดอเรอร์ได้ยุติสัญญากับทางไนกี้ผู้สนับสนุนหลักที่ร่วมงานกันมากว่า 20 ปีและตัดสินใจเซ็นสัญญากับยูนิโคล่ (Uniqlo) แบรนด์ชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น[145][146] โดยสัญญาดังกล่าวส่งผลให้เฟเดอเรอร์จะมีรายได้จากยูนิโคล่กว่า 30 ล้านดอลลาร์ต่อปี[147] สัญญามีระยะเวลา 10 ปี มูลค่ารวม 300 ล้านดอลลาร์ โดยเฟเดอเรอร์ได้ประเดิมสวมชุดแข่งขันของยูนิโคล่ในแกรนด์สแลมวิมเบิลดันปี 2018 แต่ยังคงสวมรองเท้าของไนกี้มาจนถึงปัจจุบัน

สถิติโลก

[แก้]
เฟเดอเรอร์ชนะเลิศรายการวิมเบิลดัน 8 สมัย มากที่สุดในประเภทชายเดี่ยว

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ครองสถิติโลกมากมายโดยมีสถิติที่สำคัญด้แก่:[148]

  • คว้าแชมป์แกรนด์สแลมออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน ในปีเดียวกันได้ 3 ครั้ง (ปี 2004, 2006 และ 2007)
  • คว้าชัยชนะติดต่อกันได้มากที่สุดบนพื้นคอร์ต 2 ประเภท (คอร์ตหญ้า[149] และ ฮาร์ดคอร์ต)
  • เข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันชายเดี่ยว 17 รายการติดต่อกัน (ปี 2005–06)[150]
  • ครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลก 237 สัปดาห์ติดต่อกัน (ปี 2004–08)[151]
  • เป็นผู้เล่นที่ครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ที่มีอายุมากที่สุด (36 ปี 195 วัน: ปี 2018)[152]
  • เป็นผู้เล่นคนเดียวในยุคโอเพนที่ได้แชมป์ยูเอสโอเพนติดต่อกัน 5 สมัย (ปี 2004–08)
  • เป็นหนึ่งในสามผู้เล่นชายในยุคโอเพนที่ได้แชมป์ยูเอสโอเพน 5 สมัย (ร่วมกับ จิมมี คอนเนอร์ และ พีต แซมพราส)
  • เป็นหนึ่งในสองผู้เล่นชายที่ได้แชมป์ออสเตรเลียนโอเพน และวิมเบิลดันอย่างน้อย 6 สมัยในทั้งสองรายการ (ร่วมกับ นอวาก จอกอวิช)
  • เป็นหนึ่งในสองผู้เล่นชายที่คว้าแชมป์วิมเบิลดันติดต่อกัน 5 สมัย (ปี 2003–07, ร่วมกับ บียอร์น บอร์ก)[153]
  • ทำสถิติเข้าชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 12 สมัย[154] และสถิติชนะเลิศ 8 สมัย
  • เป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะในแกรนด์สแลมวิมเบิลดันเกิน 100 นัด (105)[155]
  • เป็นผู้เล่นชายที่เข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายวิมเบิลดันได้มากที่สุด (18 ครั้ง)
  • เป็นผู้เล่นที่อายุมากที่สุดในยุคโอเพนที่เข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายวิมเบิลดัน (39 ปี 11 เดือน: ปี 2021)[156]
  • เป็นผู้เล่นที่ลงแข่งขันแกรนด์สแลมมากที่สุดในประเภทชายเดี่ยว (429 นัด)[157]
  • เป็นนักเทนนิสชายคนเดียวที่คว้าแชมป์แกรนด์สแลม 3 รายการ (ออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน) ได้อย่างน้อย 5 สมัยในทุกรายการ
  • เป็นหนึ่งในสองผู้เล่นที่เข้าชิงชนะเลิศแกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยวมากที่สุด 31 รายการ[158] (เป็นผู้เล่นคนเดียวเข้าชิงชนะเลิศติดต่อกัน 10 รายการ)
  • เข้ารอบรองชนะเลิศแกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยวมากที่สุด 46 รายการ[159] (รวมทั้งเข้ารอบรองชนะเลิศติดต่อกัน 23 รายการ)
  • เข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายแกรนด์สแลมมากที่สุด 58 ครั้ง (รวมทั้งเข้าถึงรอบ 8 คนสุดท้ายติดต่อกัน 36 รายการ)
  • เป็นผู้เล่นที่คว้าแชมป์เอทีพี ไฟนอล มากที่สุด (6 สมัย),[160] เข้าชิงชนะเลิศมากที่สุด (10 ครั้ง), เข้ารอบรองชนะเลิศมากที่สุด (16 ครั้ง) และชนะมากที่สุด (59 นัด)
  • เป็นผู้เล่นที่ไม่เคยขอยอมแพ้เนื่องจากอาการบาดเจ็บในระหว่างการแข่งขันแม้แต่นัดเดียวนับตั้งแต่เริ่มเล่นอาชีพในปี 1998[161]
  • เป็นหนึ่งในห้าผู้เล่นที่ชนะได้มากกว่า 1,000 นัดในการแข่งขันประเภทชายเดี่ยว

คู่แข่งคนสำคัญ

[แก้]

ราฟาเอล นาดัล

[แก้]
เฟเดอเรอร์เอาชนะนาดัลได้ในรอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 2007

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และ ราฟาเอล นาดัล เป็นคู่แข่งขันที่แย่งความสำเร็จและสร้างประวัติศาสตรในวงการเทนนิสมาอย่างยาวนานร่วม 20 ปี[162][163] ทั้งสองฝ่ายพบกันรวม 40 ครั้ง โดยเฟเดอเรอร์ชนะ 16 ครั้ง แพ้ 24 ครั้ง เฟเดอเรอร์มีสถิติที่เหนือกว่าในการพบกันบนฮาร์ดคอร์ต (พื้นคอนกรีต) โดยชนะ 11 แพ้ 9 และเหนือกว่าบนคอร์ตหญ้า โดยชนะ 3 แพ้ 1 แต่เฟเดอเรอร์ก็มีสถิติที่ย่ำแย่มากในการพบกับนาดัลบนคอร์ตดิน โดยชนะได้เพียง 2 ครั้ง และแพ้ไปถึง 14 ครั้ง[164]

ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 9 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 3 ครั้ง ในวิมเบิลดัน 2 ครั้ง (2006 และ 2007), ออสเตรเลียนโอเพน 1 ครั้ง (2017) และนาดัลชนะได้ 6 ครั้ง ในเฟรนช์โอเพน 4 ครั้ง (2006–08 และ 2011), ออสเตรเลียนโอเพน 1 ครั้ง (2009) และ วิมเบิลดัน 1 ครั้ง (2008) ทั้งคู่พบกันในรายการแกรนด์สแลมรวม 14 ครั้ง ซึ่งเฟเดอเรอร์เอาชนะได้เพียง 4 ครั้ง และแพ้ 10 ครั้ง โดยเฟเดอรเรอร์มีสถิติที่ดีกว่าที่วิมเบิลดัน (3–1) ในขณะที่นาดัลมีสถิติที่เหนือกว่าในออสเตรเลียนโอเพน (3–1) และเฟรนช์โอเพน (6–0) และยังไม่เคยพบกันในยูเอสโอเพน

ในส่วนของรายการมาสเตอร์ 1000 ทั้งคู่เคยพบกัน 20 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 8 ครั้ง แพ้ 12 ครั้ง โดยเป็นการพบกันในรอบชิงชนะเลิศ 12 ครั้งซึ่งเฟเดอเรอร์ชนะได้ 5 ครั้ง แพ้ 7 ครั้ง และเฟเดอเรอร์เอาชนะนาดัลในรายการมาสเตอร์คอร์ตดินได้เพียง 2 ครั้งจากการพบกัน 10 ครั้ง

นอวาก จอกอวิช

[แก้]
นอวาก จอกอวิช และ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ในรอบชิงชนะเลิศมาสเตอร์ ซินซินแนติ 2015

คู่แข่งคนสำคัญของเฟเดอเรอร์อีกคนได้แก่ นอวาก จอกอวิช โดยพบกัน 50 ครั้ง โดยเฟเดอเรอร์ชนะ 23 ครั้ง แพ้ 27 ครั้ง ซึ่งจอกอวิชถือเป็นผู้เล่นที่มีสถิติชนะเฟเดอรเรอร์ได้มากที่สุด และยังเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะเฟเดอเรอร์ในการแข่งขันแกรนด์สแลมได้ครบทุกรายการ ในทำนองเดียวกัน เฟเดอเรอร์ก็เป็นผู้เล่นคนเดียวที่ชนะจอกอวิชได้ในแกรนด์สแลมทุกรายการ ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศทุกรายการ 19 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 6 แพ้ 13 และพบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 5 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 1 ครั้ง (ยูเอสโอเพน 2007) แพ้ 4 ครั้ง (วิมเบิลดัน 2014, 2015, 2019 และ ยูเอสโอเพน 2015)

การแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ของทั้งคู่ได้แก่ รอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดัน 2019 ใช้เวลาแข่งขันกว่า 5 ชั่วโมง ยาวนานที่สุดในประวัติของรายการซึ่งเฟเดอเรอร์แพ้ไปในการแข่งขัน 5 เซต ทั้งที่เขามีโอกาสได้เปรียบถึง 2 Championship points[165] และนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เฟเดอเรอร์ยังไม่สามารถเอาชนะจอกอวิชในรายการแกรนด์สแลมได้เลย[166]

ทั้งคู่พบกันบนฮาร์ดคอร์ค (พื้นคอนกรีต) 38 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 18 แพ้ 20, พบกันบนคอร์ตหญ้า 4 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 1 แพ้ 3 และทั้งคู่มีสถิติการพบกันบนคอร์ตดินที่เท่ากันโดยผลัดกันแพ้ชนะคนละ 4 ครั้ง

แอนดี มาร์รี

[แก้]

เฟเดอเรอร์มีสถิติการพบกับ แอนดี มาร์รี ยอดนักเทนนิสสกอตแลนด์ 25 ครั้ง[167] เฟเดอรเรอร์ชนะ 14 ครั้ง และแพ้ 11 ครั้ง โดยเฟเดอรเรอร์มีสถิติที่เหนือกว่าทั้งในการพบกันในฮาร์ดคอร์ต (12–10) และ คอร์ตหญ้า (2–1) และยังไม่เคยพบกันบนคอร์ตดิน และนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา เฟเดอเรอร์เอาชนะมาร์รีได้ถึง 9 ครั้งจากการพบกัน 12 ครั้ง ทั้งคู่พบกันในรายการแกรนด์สแลม 6 ครั้ง เฟเดอเรอร์ชนะ 5 ครั้ง รวมถึงรอบชิงชนะเลิศยูเอสโอเพน (2008), ออสเตรเลียนโอเพน (2010) และวิมเบิลดัน (2012) แต่มาร์รีก็เอาชนะเฟเดอเรอร์ได้ในการแข่งขันรายการสำคัญ เช่น ชนะในรอบชิงชนะเลิศโอลิมปิกฤดูร้อน 2012[168] สามเซตรวดคว้าเหรียญทองไปครอง มาร์รียังถือเป็นหนึ่งในสามผู้เล่น (ร่วมกับ จอกอวิช และ นาดัล) ที่เอาชนะเฟเดอเรอร์ได้มากกว่า 10 ครั้ง

แอนดี ร็อดดิก

[แก้]
โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และ แอนดี ร็อดดิก

เฟเดอเรอร์ถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุดในอาชีพของ แอนดี ร็อดดิก อดีตมือวางดับ 1 ของโลกชาวอเมริกัน โดยทั้งคู่พบกัน 24 ครั้ง และเฟเดอเรอร์เอาชนะไปได้ถึง 21 ครั้ง แพ้เพียง 3 ครั้ง[169] ร็อดดิกเคยครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกจำนวน 13 สัปดาห์ ภายหลังจากชนะเลิศยูเอสโอเพน 2003 ต่อมา เฟเดอเรอร์ได้ทำคะแนนแซงร็อดดิกขึ้นสู่ตำแหน่งอันดับ 1 ได้หลังจากชนะเลิศออสเตรเลียนโอเพน 2004 และนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ในอาชีพของเฟเดอเรอร์ในการครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ยาวนานหลายปี

ทั้งคู่พบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 4 ครั้ง และเฟเดอเรอร์เอาชนะไปได้ทั้ง 4 ครั้ง ในวิมเบิลดัน 3 ครั้ง (2004, 2005 และ 2009) และยูเอสโอเพน 1 ครั้ง (2006) โดยร็อดดิกใกล้เคียงกับชัยชนะในรอบชิงชนะเลิศมากที่สุดในวิมเบิลดันปี 2009 ซึ่งเขาแพ้ไปในการแข่งขัน 5 เซต และต้องแข่งขันกันมากถึง 30 เกมในเซตสุดท้ายก่อนที่เฟเดอเรอร์จะชนะไปได้ 16–14 เกม ซึ่งในวันนั้นถือเป็นหนึ่งในนัดที่ร็อดดิกเล่นได้ดีที่สุดครั้งหนึ่งในอาชีพ แต่ก็ต้องแพ้ไปอย่างน่าเสียดาย[170][171]

เลย์ตัน ฮิววิตต์

[แก้]

เลย์ตัน ฮิววิตต์ อดีตมือวางอันดับ 1 ชาวออสเตรเลีย เป็นอีกคนที่เคยพบกับเฟเดอเรอร์ในการแข่งขันสำคัญหลายรายการ โดยพบกัน 27 ครั้ง[172] เฟเดอเรอร์ชนะ 18 แพ้ 9 โดยฮิววิตต์เอาชนะเฟเดอเรอร์ได้ 7 ครั้งจากการพบกันใน 9 ครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงที่เฟเดอเรอร์เพิ่งขึ้นมาแจ้งเกิดในวงการ และยังไม่พัฒนาขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับโลก ทั้งคู่เคยพบกันในรอบชิงชนะเลิศแกรนด์สแลม 1 ครั้ง ในยูเอสโอเพน 2004 ซึ่งเฟเดอเรอร์ชนะไป 3 เซตรวดคว้าแชมป์ยูเอสโอเพนครั้งแรก[173]

การช่วยเหลือสังคม

[แก้]

เฟเดอเรอร์ก่อตั้ง มูลนิธิโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (Roger Federer Foundation) ในเดือนธันวาคม 2003[174] เพื่อรวบรวมทุนช่วยเหลือเด็กพิการโดยเน้นที่ประเทศแอฟริกาใต้ ตัวอย่างเช่น ทุน IMBEWU[175] ในปี 2017 เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยบาเซิลบ้านเกิดของเขา[176] ในฐานะที่สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองบาเซิลและประเทศสวิตเซอร์แลนด์อย่างยิ่งใหญ่ทั้งจากความสำเร็จในการเล่นเทนนิสอาชีพและจากการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ในทวีปแอฟริกาผ่านมูลนิธิของเขา[177] และในเดือนมกราคม 2005 เฟเดอเรอร์ได้สนับสนุนให้นักเทนนิสช่วยกันระดมทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ และเขาได้ประมูลไม้เทนนิสที่มีลายเซ็นของตนเพื่อนำเงินไปสมทบทุนองค์การยูนิเซฟ[178] เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2006 เฟเดอเรอร์ได้รับแต่งตั้งเป็น "ทูตระหว่างชาติ" โดยองค์การยูนิเซฟ[179] เพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนทั่วโลก และวันที่ 23 ธันวาคม 2006 เขาได้ไปเยี่ยมเด็ก ๆ ที่รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดีย ซึ่งประสบภัยสึนามิ

เฟเดอเรอร์ยังมีโครงการร่วมกับ บิล เกตต์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันในการระดมทุนช่วยเหลือเด็กในทวีปแอฟริกา โดยลงแข่งขันเทนนิสในนัดการกุศลที่เรียกว่า “The Match for Africa” ในเดือนมีนาคม 2018 โดยเขาจับคู่กับบิล เกตต์ พบกับคู่ของนักเทนนิสอเมริกัน แจ็ค ซ็อค และผู้ประกาศของสถานีข่าวเอ็นบีซีนามว่า ซาวันนาห์ กูธรี ที่เมืองซานโฮเซ่ รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยสามารถขายตั๋วได้มากถึง 15,000 ใบ และระดมเงินได้ราว 2 ล้าน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ[180]

ทรัพย์สินและสปอนเซอร์

[แก้]

ในเดือนพฤษภาคม 2020 เฟเดอเรอร์ได้รับการจัดอันดับโดยฟอบส์ให้เป็นนักกีฬาที่ทำเงินรางวัลได้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นนักเทนนิสคนแรกที่ทำได้[181] เขาทำรายได้ในปี 2020 รวม 106.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเฟเดอเรอร์มีชื่อติดใน 10 อันดับแรกของนักกีฬาที่ทำเงินรางวัลมากที่สุดทุกปีแต่ยังไม่เคยขึ้นถึงอันดับหนึ่ง โดยในปีนี้[182] เฟเดอเรอร์ทำสถิติแซงหน้านักกีฬาชื่อดังหลายราย เช่น คริสเตียโน โรนัลโด, ลิโอเนล เมสซิ และ เนย์มาร์ นักฟุตบอลชื่อดัง รวมทั้งเลอบรอน เจมส์, สตีเฟน เคอร์รี่ และ เควิน ดูแรนท์ในวงการบาสเกตบอล เฟเดอเรอร์ยังถือเป็นนักเทนนิสที่ร่ำรวยที่สุดในโลก[183] ด้วยทรัพย์สินรวม 450 ล้านดอลลาร์[184]

ในฐานะที่เฟเดอเรอร์เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดทำให้เขาดึงดูดผู้สนับสนุนมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นแบรนด์ระดับโลก เช่น "โรเล็กซ์" แบรนด์นาฬิกาชื่อดังของสวิตเซอร์แลนด์บ้านเกิด โดยผู้บริหารของโรเล็กซ์ได้เล็งเห็นถึงภาพลักษณ์ที่สุขุม และความเป็นสุภาพบุรุษนักกีฬาของเฟเดอเรอร์ โดยเขาได้เซ็นสัญญาในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ด้วยมูลค่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (200 ล้านบาท) ต่อปี และมักปรากฏภาพเจ้าตัวออกสื่อโฆษณาของบริษัท และทุกครั้งที่เฟเดอเรอร์คว้าแชมป์ในแต่ละรายการได้นาฬิกาโรเล็กซ์บนข้อมือซ้ายของเขาก็จะได้รับการโปรโมตออกสื่อไปทั่วโลกเมื่อเขาชูถ้วยรางวัล

"โรเล็กซ์" แบรนด์นาฬิกาชื่อดังระดับโลก เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของเฟเดอเรอร์ตลอดการเล่นอาชีพ

สปอนเซอร์รายถัดมาได้แก่ "เมอร์เซเดส-เบนซ์" แบรนด์รถยนต์ชื่อดังจากเยอรมนี ซึ่งได้ดึงเฟเดอเรอร์เข้ามาร่วมงานตั้งแต่ปี 2008 โดยสัญญาดังกล่าวมีมูลค่าปีละ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (160 ล้านบาท) ต่อปี โดยบริษัทได้ส่งรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์มาให้ถึงบ้านของเฟเดอเรอร์ทุกครั้งที่มีการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ออกจำหน่าย นอกจากนี้เขายังมีสปอนเซอร์แบรนด์ดังอีกมากมาย เช่น "เครดิต ซุส" ธนาคารชื่อดังของสวิตเซอร์แลนด์ที่มอบสัญญามูลค่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (59 ล้านบาท) ต่อปีและยังให้การสนับสนุนมูลนิธิการกุศลของเฟเดอเรอร์ตลอดมา รวมทั้ง "ยิลเลตต์" แบรนด์ผลิตภัณฑ์โกนหนวดชื่อดังที่มอบสัญญามูลค่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (59 ล้านบาท) ต่อปีเช่นกัน และยังมีบริษัทอาหารอย่าง "บาริลลา" ผู้ผลิตเส้นพาสตาชื่อดัง และ "ลินด์" แบรนด์ช็อคโกแลตจากสวิตเซอร์แลนด์ด้วยสัญญามูลค่ากว่า 18 ล้านดอลลาร์ (600 ล้านบาท) ต่อปี[185]

สถิติอาชีพ

[แก้]

แกรนด์สแลม

[แก้]

เข้าชิงชนะเลิศ 31 รายการ (ชนะเลิศ 20, รองชนะเลิศ 11)

สถิติการแข่งขันอาชีพ
ประเภท รายการระดับ ชนะ แพ้ รวม (%)
เดี่ยว แกรนด์สแลม 20 11 31 0.65
กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน
เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล 6 4 10 0.67
เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ มาสเตอร์ 1000* 28 22 50 0.56
เอทีพี ทัวร์ 500 24 7 31 0.77
เอทีพี ทัวร์ 250 25 9 34 0.74
รวม 103 54 157 0.66
คู่ แกรนด์สแลม
กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 1 1 1.00
เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอล
เอทีพี เวิลด์ ทัวร์ มาสเตอร์ 1000* 1 2 3 0.33
เอทีพี ทัวร์ 500 3 1 4 0.75
เอทีพี ทัวร์ 250 3 3 6 0.50
รวม 8 6 14 0.57
รวม 111 60 171 0.65
1) (%) = อัตราส่วนการชนะ
2) *ในอดีตรู้จักกันในชื่อของ "ซุปเปอร์ 9" (ค.ศ. 1996–1999), "เทนนิส มาสเตอร์ซีรีส์" (ค.ศ. 2000–2003) และ "เอทีพี มาสเตอร์ซีรีส์" (ค.ศ. 2004–2008)

ชนะเลิศ

ปี รายการ คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขัน
2003 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน (1) ออสเตรเลีย มาร์ค ฟิลิปปูซิส 7–6(7–5), 6–2, 7–6(7–3)
2004 ออสเตรเลีย ออสเตรเลียนโอเพน (1) รัสเซีย มารัต ซาฟิน 7–6(7–3), 6–4, 6–2
2004 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน (2) สหรัฐ แอนดี ร็อดดิก 4–6, 7–5, 7–6(7–3), 6–4
2004 สหรัฐ ยูเอสโอเพน (1) ออสเตรเลีย เลย์ตัน ฮิววิตต์ 6–0, 7–6(7–3), 6–0
2005 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน (3) สหรัฐ แอนดี ร็อดดิก 6–2, 7–6(7–2), 6–4
2005 สหรัฐ ยูเอสโอเพน (2) สหรัฐ อานเดร แอกัสซี 6–3, 2–6, 7–6(7–1), 6–1
2006 ออสเตรเลีย ออสเตรเลียนโอเพน (2) ไซปรัส มาร์กอส แบกห์ดาติส 5–7, 7–5, 6–0, 6–2
2006 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน (4) สเปน ราฟาเอล นาดัล 6–0, 7–6(7–5), 6–7(2–7), 6–3
2006 สหรัฐ ยูเอสโอเพน (3) สหรัฐ แอนดี ร็อดดิก 6–2, 4–6, 7–5, 6–1
2007 ออสเตรเลีย ออสเตรเลียนโอเพน (3) ชิลี เฟอร์นานโด กอนซาเลซ 7–6(7–2), 6–4, 6–4
2007 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน (5) สเปน ราฟาเอล นาดัล 7–6(9–7), 4–6, 7–6(7–3), 2–6, 6–2
2007 สหรัฐ ยูเอสโอเพน (4) เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 7–6(7–4), 7–6(7–2), 6–4
2008 สหรัฐ ยูเอสโอเพน (5) สหราชอาณาจักร แอนดี มาร์รี 6–2, 7–5, 6–2
2009 ฝรั่งเศส เฟรนช์โอเพน สวีเดน โรบิน โซเดอร์ลิง 6–1, 7–6(7–1), 6–4
2009 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน (6) สหรัฐ แอนดี ร็อดดิก 5–7, 7–6(8–6), 7–6(7–5), 3–6, 16–14
2010 ออสเตรเลีย ออสเตรเลียนโอเพน (4) สหราชอาณาจักร แอนดี มาร์รี 6–3, 6–4, 7–6(13–11)
2012 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน (7) สหราชอาณาจักร แอนดี มาร์รี 4–6, 7–5, 6–3, 6–4
2017 ออสเตรเลีย ออสเตรเลียนโอเพน (5) สเปน ราฟาเอล นาดัล 6–4, 3–6, 6–1, 3–6, 6–3
2017 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน (8) โครเอเชียมาริน ซิลิช 6–3, 6–1, 6–4
2018 ออสเตรเลีย ออสเตรเลียนโอเพน (6) โครเอเชียมาริน ซิลิช 6–2, 6–7(5–7), 6–3, 3–6, 6–1

รองชนะเลิศ

ปี รายการ คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขัน
2006 ฝรั่งเศส เฟรนช์โอเพน สเปน ราฟาเอล นาดัล 6–1, 1–6, 4–6, 6–7(4–7)
2007 ฝรั่งเศส เฟรนช์โอเพน สเปน ราฟาเอล นาดัล 3–6, 6–4, 3–6, 4–6
2008 ฝรั่งเศส เฟรนช์โอเพน สเปน ราฟาเอล นาดัล 1–6, 3–6, 0–6
2008 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน สเปน ราฟาเอล นาดัล 4–6, 4–6, 7–6(7–5),7-6(10–8),7–9
2009 ออสเตรเลีย ออสเตรเลียนโอเพน สเปน ราฟาเอล นาดัล 5–7, 6–3, 6–7(3–7), 6–3, 2–6
2009 สหรัฐ ยูเอสโอเพน อาร์เจนตินา ฮวน มาร์ติน เดล โปโตร 6–3, 6–7(5–7), 6–4, 6–7(4–7), 2–6
2011 ฝรั่งเศส เฟรนช์โอเพน สเปน ราฟาเอล นาดัล 5–7, 6–7(3–7), 7–5, 1–6
2014 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 7–6(9–7), 4–6, 6–7(4–7), 7–5, 4–6
2015 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 6–7(1–7), 7–6(12–10), 4–6, 3–6
2015 สหรัฐ ยูเอสโอเพน เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 4–6, 7–5, 4–6, 4–6
2019 สหราชอาณาจักร วิมเบิลดัน เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 6–7(5–7), 6–1, 6–7(5–7), 6–4, 12–13(3–7)

เอทีพี ไฟนอล

[แก้]

เข้าชิงชนะเลิศ 10 ครั้ง (ชนะเลิศ 6, รองชนะเลิศ 4)

ชนะเลิศ

ปี รายการ คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขัน
2003 สหรัฐ ฮูสตัน สหรัฐอานเดร แอกัสซี 6–3, 6–0, 6–4
2004 สหรัฐ ฮูสตัน ออสเตรเลีย เลย์ตัน ฮิววิตต์ 6–3, 6–2
2006 จีน เซี่ยงไฮ้ สหรัฐเจมส์ เบลค 6–0, 6–3, 6–4
2007 จีน เซี่ยงไฮ้ สเปน ดาวิด เฟร์เรร์ 6–2, 6–3, 6–2
2010 สหราชอาณาจักร ลอนดอน สเปน ราฟาเอล นาดัล 6–3, 3–6, 6–1
2011 สหราชอาณาจักร ลอนดอน ฝรั่งเศส โจ วิลเฟร็ด ซองก้า 6–3, 6–7(6–8), 6–3

รองชนะเลิศ

ปี รายการ คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขัน
2005 จีน เซี่ยงไฮ้ อาร์เจนตินา ดาวิด นาบัลเดียน 6–7(4–7), 6–7(11–13), 6–2, 6–1, 7–6(7–3)
2012 สหราชอาณาจักร ลอนดอน เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 6–7(6–8), 5–7
2014 สหราชอาณาจักร ลอนดอน เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช ขอถอนตัว
2015 สหราชอาณาจักร ลอนดอน เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 3–6, 4–6

เอทีพี ทัวร์ มาสเตอร์ 1000

[แก้]

เข้าชิงชนะเลิศ 50 รายการ (ชนะเลิศ 28, รองชนะเลิศ 22 )

ผลลัพธ์ ปี รายการ พื้นสนาม คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขัน
รองชนะเลิศ 2002 ไมแอมี คอนกรีต สหรัฐ มารัต ซาฟิน 3–6, 3–6, 6–3, 4–6
ชนะเลิศ 2002 ฮัมบวร์ค ดิน รัสเซีย มารัต ซาฟิน 6–1, 6–3, 6–4
รองชนะเลิศ 2003 โรม ดิน สเปน เฟลิกซ์ มันติลล่า 5–7, 2–6, 6–7(8–10)
ชนะเลิศ 2004 อินเดียนเวลส์ คอนกรีต สหราชอาณาจักร ทิม เฮนแมน 6–3, 6–3
ชนะเลิศ 2004 ฮัมบวร์ค (2) ดิน อาร์เจนตินา กิลเยร์โม กอเรีย 4–6, 6–4, 6–2, 6–3
ชนะเลิศ 2004 มอนทรีออล คอนกรีต สหรัฐ แอนดี ร็อดดิก 7–5, 6–3
ชนะเลิศ 2005 อินเดียนเวลส์ (2) คอนกรีต ออสเตรเลีย เลย์ตัน ฮิวอิต 6–2, 6–4, 6–4
ชนะเลิส 2005 ไมแอมี คอนกรีต สเปน ราฟาเอล นาดัล 2–6, 6–7(4–7), 7–6(7–5), 6–3, 6–1
ชนะเลิศ 2005 ฮัมบวร์ค (3) ดิน ฝรั่งเศส ริชาร์ด กาสเกต์ 6–3, 7–5, 7–6(7–4)
ชนะเลิศ 2005 ซินซินแนติ คอนกรีต สหรัฐ แอนดี ร็อดดิก 6–3, 7–5
ชนะเลิศ 2006 อินเดียนเวลส์ (3) คอนกรีต สหรัฐ เจมส์ เบลค 7–5, 6–3, 6–0
ชนะเลิศ 2006 ไมแอมี (2) คอนกรีต โครเอเชีย อิวาน ลูบิซิช 7–6(7–5), 7–6(7–4), 7–6(8–6)
รองชนะเลิศ 2006 มงเต-การ์โล ดิน สเปน ราฟาเอล นาดัล 2–6, 7–6(7–2), 3–6, 6–7(5–7)
รองชนะเลิศ 2006 โรม ดิน สเปน ราฟาเอล นาดัล 7–6(7–0), 6–7(5–7), 4–6, 6–2, 6–7(5–7)
ชนะเลิศ 2006 มอนทรีออล (2) คอนกรีต ฝรั่งเศส ริชาร์ด กาสเกต์ 2–6, 6–3, 6–2
ชนะเลิศ 2006 มาดริด คอนกรีต (ในร่ม) ชิลี เฟอร์นานโด กอนซาเลส 7–5, 6–1, 6–0
รองชนะเลิศ 2007 มงเต-การ์โล ดิน สเปน ราฟาเอล นาดัล 4–6, 4–6
ชนะเลิศ 2007 ฮัมบวร์ค (4) ดิน สเปน ราฟาเอล นาดัล 2–6, 6–2, 6–0
รองชนะเลิศ 2007 มอนทรีออล คอนกรีต เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 6–7(2–7), 6–2, 6–7(2–7)
ชนะเลิศ 2007 ซินซินแนติ (2) คอนกรีต สหรัฐ เจมส์ เบลค 6–1, 6–4
รองชนะเลิศ 2007 มาดริด คอนกรีต (ในร่ม) อาร์เจนตินา ดาบิด นัลบาเดียน 6–1, 3–6, 3–6
รองชนะเลิศ 2008 มงเต-การ์โล ดิน สเปน ราฟาเอล นาดัล 5–7, 5–7
รองชนะเลิศ 2008 ฮัมบวร์ค ดิน สเปน ราฟาเอล นาดัล 5–7, 7–6(7–3), 3–6
ชนะเลิศ 2009 มาดริด (2) ดิน สเปน ราฟาเอล นาดัล 6–4, 6–4
ชนะเลิศ 2009 ซินซินแนติ (3) คอนกรีต เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 6–1, 7–5
รองชนะเลิศ 2010 มาดริด ดิน สเปน ราฟาเอล นาดัล 4–6, 6–7(5–7)
รองชนะเลิศ 2010 มอนทรีออล คอนกรีต สหราชอาณาจักร แอนดี มาร์รี 5–7, 5–7
ชนะเลิศ 2010 ซินซินแนติ (4) คอนกรีต สหรัฐ มาร์ดี ฟิช 6–7(5–7), 7–6(7–1), 6–4
รองชนะเลิศ 2010 เซี่ยงไฮ่ คอนกรีต สหราชอาณาจักร แอนดี มาร์รี 3–6, 2–6
ชนะเลิศ 2011 ปารีส คอนกรีต (ในร่ม) ฝรั่งเศส โจ-วิลฟรีด ซองกา 6–1, 7–6(7–3)
ชนะเลิศ 2012 อินเดียนเวลส์ (4) คอนกรีต สหรัฐ จอห์น อิสเนอร์ 7–6(9–7), 6–3
ชนะเลิศ 2012 มาดริด (3) ดิน เช็กเกีย โทมัส เบอร์ดิช 3–6, 7–5, 7–5
ชนะเลิศ 2012 ซินซินแนติ (5) คอนกรีต เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 6–0, 7–6(9–7)
รองชนะเลิศ 2013 โรม ดิน สเปน ราฟาเอล นาดัล 1–6, 3–6
รองชนะเลิศ 2014 อินเดียนเวลส์ คอนกรีต เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 6–3, 3–6, 6–7(3–7)
รองชนะเลิศ 2014 มงเต-การ์โล ดิน สวิตเซอร์แลนด์ สตาน วาวรีงกา 6–4, 6–7(5–7), 2–6
รองชนะเลิศ 2014 มอนทรีออล คอนกรีต ฝรั่งเศส โจ-วิลฟรีด ซองกา 5–7, 6–7(3–7)
ชนะเลิศ 2014 ซินซินแนติ (6) คอนกรีต สเปน ดาวิต เฟร์เรร์ 6–3, 1–6, 6–2
ชนะเลิศ 2014 เซี่ยงไฮ้ คอนกรีต ฝรั่งเศส จิล ซิมง 7–6(8–6), 7–6(7–2)
รองชนะเลิศ 2015 อินเดียนเวลส์ คอนกรีต เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 3–6, 7–6(7–5), 2–6
รองชนะเลิศ 2015 โรม ดิน เซอร์เบีย นอกวาก จอกอวิช 4–6, 3–6
ชนะเลิศ 2015 ซินซินแนติ (7) คอนกรีต เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 7–6(7–1), 6–3
ชนะเลิศ 2017 อินเดียนเวลส์ (5) คอนกรีต สวิตเซอร์แลนด์ สตาน วาวรีงกา 6–4, 7–5
ชนะเลิศ 2017 ไมแอมี (3) คอนกรีต สเปน ราฟาเอล นาดัล 6–3, 6–4
รองชนะเลิศ 2017 มอนทรีออล คอนกรีต เยอรมนี อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ 3–6, 4–6
ชนะเลิศ 2017 เซี่ยงไฮ้(2) คอนกรีต สเปน ราฟาเอล นาดัล 6–4, 6–3
รองชนะเลิศ 2018 อินเดียนเวลส์ คอนกรีต อาร์เจนตินา ฆวน มาร์ติน เดล ปอร์โต 4–6, 7–6(10–8), 6–7(2–7)
รองชนะเลิศ 2018 ซินซินแนติ คอนกรีต เซอร์เบีย นอวาก จอกอวิช 4–6, 4–6
รองชนะเลิศ 2019 อินเดียนเวลส์ คอนกรีต ออสเตรีย ด็อมมินิค ทีม 6–3, 3–6, 5–7
ชนะเลิศ 2019 ไมแอมี (4) คอนกรีต สหรัฐ จอห์น อิสเนอร์ 6–1, 6–4
  • ตัวเลขในวงเล็บคือจำนวนครั้งที่ชนะเลิศในแต่ละรายการ

กีฬาโอลิมปิกประเภทเดี่ยว

[แก้]

ลงแข่งขัน 2 ครั้ง (คว้า 1 เหรียญเงิน)

ผลลัพธ์ ปี รายการ พื้นสนาม คู่แข่ง ผลการแข่งขัน
อันดับ 4 2000 การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2000 รอบชิงเหรียญทองแดง คอนกรีต ฝรั่งเศส อาร์นอด์ ดิ ปาสเควล 6–7(5–7), 7–6(9–7), 3–6
เหรียญเงิน 2012 การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2000 รอบชิงชนะเลิศ หญ้า สหราชอาณาจักร แอนดี มาร์รี 2–6, 1–6, 4–6

กีฬาโอลิมปิกประเภทคู่

[แก้]

รอบชิงชนะเลิศ (คว้า 1 เหรียญทอง)

ปี รายการ พื้นสนาม เล่นคู่กับ คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ ผลการแข่งขัน
2008 จีน กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ณ กรุงปักกิ่ง รอบชิงชนะเลิศ คอนกรีต สวิตเซอร์แลนด์ สตานิสลาส วาวรีงกา สวีเดน ไซมอน แอสพีลิน
สวีเดน โทมัส โยฮันส์สัน
6–3, 6–4, 6–7(4–7), 6–3

ประเภททีม (ทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์)

[แก้]

ชนะเลิศเดวิสคัพ 1 สมัย และฮอพแมน คัพ 3 สมัย

ผลลัพธ์    วันที่    รายการ พื้นสนาม ทีม สมาชิกทีม คู่แข่ง สมาชิกทีมคู่แข่ง ผลการแข่งขัน
ชนะเลิศ มกราคม 2001 ฮอพแมน คัพ, เพิร์ท , ออสเตรเลีย คอนกรีต (ในร่ม) สวิตเซอร์แลนด์ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์,
มาร์ติน่า ฮินกิส
สหรัฐอเมริกา โมนิก้า เซเลส,
ยัน-ไมเคิล แกมบิลล์
ชนะ 2–1
ชนะเลิศ พฤศจิกายน 2014 เดวิส คัพ, เลียล , ฝรั่งเศส ดิน (ในร่ม) สวิตเซอร์แลนด์ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์,
สตาน วาวรีงกา,
มาร์โค คิวดิเนลลี,
ไมเคิล ลัมเมอร์
ฝรั่งเศส โจ-วิลฟรีด ซองกา,
กาแอล มงฟิล์ส,
จูเลียง เบนน์โต,
รีชาร์ กัสกุแอ
ชนะ 3–1
ชนะเลิศ มกราคม 2018 ฮอพแมน คัพ, เพิร์ท , ออสเตรเลีย (2) คอนกรีต (ในร่ม) สวิตเซอร์แลนด์ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์,
เบลินดา เบนซิช
เยอรมนี อันเจลีค แคร์เบอร์,
อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ
ชนะ 2–1
ชนะเลิศ มกราคม 2019 ฮอพแมน คัพ, เพิร์ท , ออสเตรเลีย (3) คอนกรีต (ในร่ม) สวิตเซอร์แลนด์ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์,
เบลินดา เบนซิช
เยอรมนี อันเจลีค แคร์เบอร์,
อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ
ชนะ 2–1

เงินรางวัล

[แก้]
ปี รายการ
แกรนด์สแลม
รายการ
ATP
รวม เงินรางวัล
($)
อันดับของ
เงินรางวัล
1998 0 0 0 $27,305
1999 0 0 0 $225,139 97
2000 0 0 0 $623,782 27
2001 0 1 1 $865,425 14
2002 0 3 3 $1,995,027 4
2003 1 6 7 $4,000,680 1
2004 3 8 11 $6,357,547 1
2005 2 9 11 $6,137,018 1
2006 3 9 12 $8,343,885 1
2007 3 5 8 $10,130,620 1
2008 1 3 4 $5,886,879 2
2009 2 2 4 $8,768,110 1
2010 1 4 5 $7,698,289 2
2011 0 4 4 $6,369,576 3
2012 1 5 6 $8,584,842 2
2013 0 1 1 $3,203,637 6
2014 0 5 5 $9,343,988 2
2015 0 6 6 $8,682,892 2
2016 0 0 0 $1,527,269 22
2017 2 5 7 $13,054,856 2
2018 1 3 4 $8,629,233 4
2019 0 4 4 $8,716,975 3
2020 0 0 0 $714,792 36
2021 0 0 0 $647,655 34[186]
ตลอดอาชีพ* 20 83 103 $130,594,339 2 [187]
* Statistics correct ข้อมูลเมื่อ 16 กันยายน ค.ศ. 2021 (2021 -09-16).

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ในปี 2004, 2006 และ 2007 ถือเป็นฤดูกาลที่เฟเดอเรอร์ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอาชีพ เขาคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้สามรายการได้แก่ ออสเตรเลียนโอเพน, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพน รวมทั้งแชมป์ เอทีพี ไฟนอล
  2. การแข่งขันเริ่มขึ้นในปี 1900 เป็นการแข่งขันรายการนานาชาติของทีมชายที่ใหญ่ที่สุดของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ เปรียบเสมือนการแข่งขันชิงแชมป์โลก ผู้จัดงานได้อธิบายไว้ว่าเป็น "World Cup of Tennis" และผู้ชนะจะเรียกว่าทีมแชมป์โลก
  3. เป็นรายการที่นำนักเทนนิสชื่อดังจากทีมรวมดารายุโรป มาแข่งกับทีมรวมดาราโลกจำนวน 3 วัน ทีมที่ได้คะแนนรวมมากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Player profile – Roger Federer". ATP World Tour.
  2. Comesipronuncia.it, Patrizia Serra-. "How to pronounce Roger Federer - PronounceItRight". www.pronounceitright.com (ภาษาอังกฤษ).
  3. "Roger Federer loses his crown". SWI swissinfo.ch (ภาษาอังกฤษ).
  4. Thompson, Jackson. "Novak Djokovic breaks Roger Federer's all-time record for most weeks ranked No. 1 by The ATP". Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  5. "Roger Federer | Overview | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  6. "Roger Federer | Titles and Finals | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  7. "Roger Federer is 'certainly the greatest player of all time', says tennis federation chief after retirement announcement". Sky News (ภาษาอังกฤษ).
  8. "The Greatest Swiss Sportspersons Every Geek Will Recognize". www.thefamouspeople.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  9. Keystone-SDA/ts (2020-12-14). "Federer and Schneider named Switzerland's greatest athletes". SWI swissinfo.ch (ภาษาอังกฤษ).
  10. "Is 20-time major champion Roger Federer the greatest athlete of all time?". Fox Sports (ภาษาอังกฤษ). 2018-01-29.
  11. "February 2, 2004: Roger Federer becomes world number 1 for the first time". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
  12. "Roger Federer beats Robin Soderling to win French Open tennis". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2009-06-07.
  13. Steinberg, Jacob (2017-01-29). "Roger Federer beats Rafael Nadal to win Australian Open men's final – as it happened". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-11-27.
  14. "A look back at Roger Federer's record 8 Wimbledon titles". FOX Sports (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  15. "Roger Federer becomes oldest world No1 after beating Robin Haase". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2018-02-16.
  16. "Winners Archive Roger Federer". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-13. สืบค้นเมื่อ 2008-07-10.
  17. "ATP Awards Honour Roll | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  18. CNN, Aimee Lewis. "How Roger Federer inspires global devotion". CNN.
  19. "Roger Federer wins 18th consecutive Fans' Favourite Singles Player award". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
  20. "Roger Federer: The World's 100 Most Influential People". Time (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  21. "Swiss stamp honours Federer" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2007-04-11. สืบค้นเมื่อ 2021-11-27.
  22. CNN, Ravi Ubha. "Roger Federer gets own Swiss coin...and you can buy it". CNN.
  23. Badenhausen, Kurt. "How Roger Federer Makes $71 Million A Year". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  24. Badenhausen, Kurt. "Roger Federer Tops World's Highest-Paid Athletes: Tennis Ace Scores First No. 1 Payday With $106 Million". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  25. Reporter, Staff (2014-06-22). "Roger Federer steps down as ATP Player Council's President". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  26. "Profile". rogerfederer.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-11. สืบค้นเมื่อ 2007-07-19.
  27. "Roger Federer - Ask Roger". web.archive.org. 2007-02-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-25. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  28. ""FC Basel Was My Club as a Kid, And It is Still Today" - Roger Federer". EssentiallySports. 2020-02-14.
  29. 29.0 29.1 29.2 "Ask Roger - Official Website". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-25. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
  30. "Favorite Football Team". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
  31. "Favorite Vacation Spot". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
  32. Dawson, Alan. "Everything tennis icon Roger Federer eats and drinks for breakfast, lunch, and dinner". Business Insider (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  33. "Roger Federer: 'You have to love chocolate if you're...'". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
  34. "That time when Roger Federer played the piano". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
  35. Stauffer, René; ebrary, Inc (2007). The Roger Federer story [electronic resource] : quest for perfection. Internet Archive. [Washington, D.C.] : New Chapter Press. ISBN 978-0-942257-39-7.
  36. 36.0 36.1 "ประวัติRoger Federer ( โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ )". oknation.nationtv.tv.
  37. Staff, Tcrn (2019-11-27). "Roger Federer Reminisced about His Time in Costa Rica in 1996 ⋆ The Costa Rica News". The Costa Rica News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  38. "Home". www.rogerfederer.com.
  39. "Home". www.rogerfederer.com.
  40. "History". www.rogerfederer.com.
  41. "Roger Federer | Biography, Championships, & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  42. "Roger Federer lost two Olympic Games matches (August 17, 2004)". Tennis Majors (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-08-17.
  43. "Roger Federer | Biography, Championships, & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  44. "Roger Federer | Biography, Championships, & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  45. Tennis365 (2018-04-09). "T365 Recall: Rafael Nadal's brilliant 81-match winning streak on clay". Tennis365 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  46. Macur, Juliet (2007-06-11). "Nadal Defeats Federer for French Open Title". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-05-22.
  47. Branch, John (2007-07-09). "Federer Wins His Fifth Wimbledon Title in a Row". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-05-22.
  48. "Federer battles to win fourth straight U.S. Open". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2007-09-09.
  49. "Roger Federer | Titles and Finals | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  50. "Australian Open: Djokovic crushes Federer to seal final spot". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2008-01-25.
  51. "Why was 'the greatest match' so great?". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-22.
  52. "Why was 'the greatest match' so great?". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-22.
  53. "Remembering Rafael Nadal's Iconic Rise to World No.1 Ranking For the First Time". EssentiallySports. 2020-08-18.
  54. "Roger Federer | Titles and Finals | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  55. "Roger Federer On Epic Wimbledon Final vs. Andy Roddick: 'I Couldn't Control The Match At All' | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  56. Clarey, Christopher (2009-07-05). "Federer Outlasts Roddick to Win Record 15th Major Title". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-05-23.
  57. "The US Open 2008 - Grand Slam Tennis - Official Site by IBM". web.archive.org. 2009-02-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-22. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  58. "Roger Federer VS Juan Martin del Potro | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  59. Press, Associated (2010-07-26). "Roger Federer hires Paul Annacone as coach to help revive career". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  60. "Roger Federer surges to victory over Rafa Nadal at World Tour Finals". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2010-11-28.
  61. "Australian Open 2011: Novak Djokovic beats Roger Federer to reach final". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2011-01-27.
  62. Faulconer, Matt. "Djokovic vs. Federer: Score and Recap of 2011 US Open Tennis Semifinal". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  63. "2011 Flashback: Roger Federer's Historic Sixth Nitto ATP Finals Crown | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  64. "Federer reclaims number one spot". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-23.
  65. Block, Benjamin J. "Roger Federer Passes Sampras for the All-Time Record of Weeks Spent at No. 1". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  66. "Murray wins gold, breaks through vs. Federer". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2012-08-05.
  67. McCarry, Patrick. "9 pictures celebrating Roger Federer's 300 weeks as World Number 1". The42 (ภาษาอังกฤษ).
  68. "Back injury sparks latest Federer slump". www.abc.net.au (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2013-07-25.
  69. "Edberg joins Federer coaching team". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-23.
  70. Steinberg, Jacob (2014-01-24). "Rafael Nadal beats Roger Federer to reach Australian Open final – as it happened | Jacob Steinberg". The Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  71. "2014 Wimbledon F: Novak Djokovic vs Roger Federer Detailed Stats | Tennis Abstract". www.tennisabstract.com.
  72. "Coupe Davis : Roger Federer explique avoir pensé à l'abandon contre Richard Gasquet". Eurosport (ภาษาฝรั่งเศส). 2015-01-19.
  73. "Federer's Desire Propes Him To 1000 Match Wins | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  74. "Federer wins 1000th match to win Brisbane crown". Tennishead (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2018-10-24.
  75. "Roger Federer Joins The 9000 Aces Club | Video Search Results | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  76. "Federer To Begin 2016 With New-Look Team | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  77. Reuters (2016-02-03). "Roger Federer faces a month on sidelines after knee surgery". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  78. "Raonic beats Federer in Wimbledon semis". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  79. "Federer outlasts Wawrinka to make Australian Open final". www.abc.net.au (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2017-01-26.
  80. "The official website of the Laver Cup". Laver Cup (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  81. "2017 Results & Leaderboard | Scores & Results". Laver Cup (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-26. สืบค้นเมื่อ 2021-08-05.
  82. "Goffin Shocks Federer In London | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  83. "Borna Coric defeats Roger Federer in absorbing Gerry Weber Open final in Halle". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  84. Simpson, Christopher. "Laver Cup 2018: Roger Federer, Team Europe Beat Team World to Win Title". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  85. "Zverev Beats Federer To Reach Final In London | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  86. "Federer wins landmark 100th ATP title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
  87. "Tribute: Federer Records 1200th Match Win In Madrid | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  88. "Alexander Zverev Defeats Milos Raonic To Clinch Laver Cup For Team Europe | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  89. "Tsitsipas to face Thiem for title". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
  90. "What does Roger Federer's knee surgery mean for his 2020 Slam chances?". Tennis.com.
  91. Clarey, Christopher (2020-06-10). "Roger Federer Won't Play in 2020 After Knee Surgery". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-05-25.
  92. ""A Long Process" - Roger Federer Gives an Update on Knee Surgery". EssentiallySports. 2020-10-31.
  93. "After 405 Days, Roger Federer Makes Winning Return In Doha | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  94. "Federer withdraws from French Open after gruelling third-round match". France 24 (ภาษาอังกฤษ). 2021-06-06.
  95. "Felix Auger-Aliassime Stuns 'Idol' Roger Federer To Reach Halle QF | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  96. "Roger Federer Soars Past Lorenzo Sonego Into 18th Wimbledon Quarter-final | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  97. "Djokovic, Federer into Wimbledon quarter-finals as first-timers shine". Deccan Herald (ภาษาอังกฤษ). 2021-07-06.
  98. Amako, Uche (2021-07-07). "Roger Federer crashes out of Wimbledon to impressive Hubert Hurkacz in straight sets". The Telegraph (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0307-1235. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
  99. Clarey, Christopher (2021-07-07). "Roger Federer Loses at Wimbledon, Maybe for the Last Time". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-07-08.
  100. Ballard, Stuart (2021-07-08). "Roger Federer confirms retirement talks after Wimbledon defeat to Hubert Hurkacz". Express.co.uk (ภาษาอังกฤษ).
  101. CNN, Kevin Dotson. "Tennis great Roger Federer pulls out of Olympics, citing knee injury". CNN.
  102. Pantorno, Joe. "Roger Federer withdraws from 2021 US Open | amNewYork". www.amny.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  103. "Federer set to miss Australian Open". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-11-28.
  104. Press, Associated. "Roger Federer Shares Latest on Timeline for His Return to Tennis". Sports Illustrated (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  105. "Roger Federer set to to play Laver Cup followed by Basel with Rafael Nadal ready for his return in Madrid". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  106. News, A. B. C. "Tennis legend Roger Federer announces retirement". ABC News (ภาษาอังกฤษ). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  107. Press, The Associated (2022-09-23). "Roger Federer loses his final match in doubles alongside Rafael Nadal". NPR (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-09-24.
  108. "Roger Federer Announces End Of Historic Career | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  109. "BBC World Service - Sportshour - Federer on his fading hopes of Olympic singles gold". BBC (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  110. "Federer crashes out" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2004-08-17. สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.
  111. agencies, Staff and (2008-08-14). "Olympics: Roger Federer beaten by James Blake in men's tennis singles". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  112. "London Olympics: Roger Federer on why he won't be Swiss flag bearer". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2012-07-26.
  113. "Federer & Wawrinka out of doubles". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.
  114. "Injured Federer out for rest of season". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.
  115. Robinson, Joshua (2021-07-14). "Why Tennis Stars Are Saying No to the Tokyo Olympics". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.
  116. "Davis Cup - Federer hands Switzerland first Davis Cup title". www.daviscup.com.
  117. "Roger Federer makes victorius Davis Cup debut at 17". Tennis World USA (ภาษาอังกฤษ).
  118. "Davis Cup - Draws & Results". www.daviscup.com.
  119. "Davis Cup - Tie - Details". web.archive.org. 2016-03-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-22. สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  120. "Davis Cup - Teams". www.daviscup.com.
  121. "Davis Cup - Wawrinka to lead Swiss charge". www.daviscup.com.
  122. "Federer to play Davis Cup tie against US | Tennis News". NDTVSports.com (ภาษาอังกฤษ).
  123. "Roger Federer's back problem leaves Davis Cup final on knife edge | Kevin Mitchell". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-11-20.
  124. "Federer finishes the job to clinch Swiss Davis Cup triumph". The Independent (ภาษาอังกฤษ). 2014-11-24.
  125. "Davis Cup - Federer hands Switzerland first Davis Cup title". www.daviscup.com.
  126. "Davis Cup - Teams". www.daviscup.com.
  127. "Hopman Cup: Hingis ends jinx". www.telegraph.co.uk.
  128. "Why Perth's in Roger's heart". PerthNow (ภาษาอังกฤษ). 2017-12-30.
  129. Sunderland, Tom. "Hopman Cup 2017: Friday Tennis Scores, Results and Final Schedule". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
  130. Reuters (2018-01-06). "Roger Federer in fine form as Switzerland seal third Hopman Cup victory". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  131. "Federer wins record third Hopman Cup crown". ABC News (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2019-01-05. สืบค้นเมื่อ 2021-12-04.
  132. "Roger Federer Biography And Detailed Game Analysis". Online Tennis Instruction - Learn How To Play Your Best Tennis, Free Tennis Tips (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  133. Clarey, Christopher (2006-06-25). "Coming to grips with today's forehand". International Herald Tribune. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-27. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
  134. Bhargav (2020-05-29). "Roger Federer has one of the best single-handed backhands, says Dirk Nowitzki". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  135. "Roger Federer Leads The Way, But Dominic Thiem, Stefanos Tsitsipas Will Carry On The One-Handed Backhand | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  136. Jonathan. "Roger Federer Backhand Analysis - peRFect Tennis". perfect-tennis.com/ (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  137. Biswas, Rudra (2021-03-14). ""Reading Roger Federer's serve is almost impossible" - Richard Krajicek on why the Swiss' serve is one of the best in the world". www.sportskeeda.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  138. Posnanski, Joe (2015-09-11). "Outstanding service". NBC SportsWorld (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  139. "Service Speed Comparison:Federer, Roddick, Sampras". สืบค้นเมื่อ 2007-05-31.
  140. "Roger Federer Equipment". สืบค้นเมื่อ 2007-03-07.
  141. "Ask Roger; Official Website". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
  142. Hodgkinson, Mark (2006-06-27). "More jacket than racket for Federer". Telegraph.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-02. สืบค้นเมื่อ 2007-09-05.
  143. "Roger Federer-Sponsors". rogerfederer.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-17. สืบค้นเมื่อ 2007-06-20.
  144. "Gillette Winners". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-09-28.
  145. "Roger Federer: 'Uniqlo offered better post-career benefits than Nike' - SportsPro Media". www.sportspromedia.com.
  146. "เลือก Uniqlo : Deal ใหม่ปลายอาชีพที่พา Federer ยังมั่งคั่งหลังเลิกเล่น". Marketeer Online (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-07-18.
  147. www.mainstand.co.th. "ข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ : ทำไม เฟเดอเรอร์ ถึงทิ้ง Nike ที่อยู่ด้วยกันกว่า 20 ปี หันมาซบ UNIQLO?". www.mainstand.co.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-03. สืบค้นเมื่อ 2021-06-03.
  148. "Roger Federer | Bio | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  149. "Roger Federer And His Incredible Records On Grass Courts". EssentiallySports. 2020-02-28.
  150. Boyden, Alex. "Medvedev about beating Federer and Djokovic's record of 17 finals in a row | Tennis Tonic - News, Predictions, H2H, Live Scores, stats". tennistonic.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  151. "Ultimate Tennis Statistics - Most Consecutive Weeks at ATP No. 1". www.ultimatetennisstatistics.com.
  152. Rossingh, Danielle. "At 36, Roger Federer Becomes Oldest No. 1 In Tennis". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  153. "Jack Kramer: Federer is the best I have ever seen". The Observer. 2007-06-24. สืบค้นเมื่อ 2007-07-15. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  154. "Roger Federer defeats Rafael Nadal to reach 12th Wimbledon final". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).
  155. "Roger Federer's 100: 10 Memorable Match Wins At Wimbledon | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  156. "Wimbledon: Roger Federer Becomes Oldest Quarter-Finalist In Modern Era | Tennis News". NDTVSports.com (ภาษาอังกฤษ).
  157. "Federer wins 400th career Grand Slam match". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2019-05-31.
  158. "Roger Federer's Grand Slam Finals History". Love Tennis Blog (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-06-19.
  159. "Roger Federer | Bio | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  160. "Champions & Cities". Nitto ATP Finals.
  161. "Roger Federer has never retired from a professional match - he's played 1,511 times". GiveMeSport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-01-28.
  162. Flanagan, Martin (2008-07-12). "Federer v Nadal as good as sport gets". The Age (ภาษาอังกฤษ).
  163. "Federer-Nadal rivalry as good as it gets". ESPN.com.
  164. "Roger Federer VS Rafael Nadal | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  165. "Djokovic Beats Federer: How The Wimbledon 2019 Final Was Won | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  166. "Roger Federer VS Novak Djokovic | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  167. "Roger Federer VS Andy Murray | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  168. "Andy Murray beats Roger Federer to win Olympic gold for Great Britain". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2012-08-05.
  169. "Roger Federer VS Andy Roddick | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  170. Staff, Guardian (2009-07-05). "Roger Federer wins Wimbledon after epic Andy Roddick battle". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  171. Amako, Uche (2019-06-28). "Andy Roddick reveals classy Roger Federer story after Wimbledon 2009 final 'devastation'". Express.co.uk (ภาษาอังกฤษ).
  172. "Roger Federer VS Lleyton Hewitt | Head 2 Head | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  173. York, Stephen Bierley in New (2004-09-13). "Tennis: Federer wins US Open". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  174. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-25. สืบค้นเมื่อ 2021-05-18.
  175. "Roger Federer Foundation". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-11. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02.
  176. IANS (2017-11-25). "Tennis star Roger Federer gets new title: Dr Federer". Business Standard India. สืบค้นเมื่อ 2021-06-12.
  177. "Roger Federer Foundation | Educate a Child". educateachild.org.
  178. "Tennis stars rally for UNICEF's tsunami relief". UNICEF.com. 2005-01-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-14. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  179. Dolan, Sabine (2006-04-03). "UNICEF's newest Goodwill Ambassador, tennis star Roger Federer, hits an ace for children". UNICEF.com. สืบค้นเมื่อ 2007-03-02. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  180. Africa, Match for. "Roger Federer welcomes Bill Gates, Savannah Guthrie, and Jack Sock in San Jose for the Match for Africa 5 to benefit children's education in Africa". www.prnewswire.com (ภาษาอังกฤษ).
  181. "Roger Federer". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  182. "Federer new world's highest paid athlete". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  183. https://sportskhabri.com/top-10-richest-tennis-players-2020/
  184. "Roger Federer Net Worth". Celebrity Net Worth (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-03-27.
  185. Online, Manager. "ชำแหละมูลค่านอกสนาม ลุคแพงของ "โรเจอร์ เฟเดอเรอร์" นักกีฬาเป๋าตุงที่สุด พ.ศ. นี้ | Manager Online". LINE TODAY.
  186. "Federer 2021 current prize money ranking" (PDF). สืบค้นเมื่อ 3 May 2021.
  187. "Federer career prize money ranking" (PDF). สืบค้นเมื่อ 31 May 2021.

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

[แก้]

หนังสือ

[แก้]

วีดิทัศน์

[แก้]
  • Wimbledon Classic Match: Federer vs Sampras. Standing Room Only, DVD release date: 31 October 2006, run time: 233 minutes, ASIN B000ICLR98.
  • Wimbledon 2007 Final: Federer vs. Nadal (2007). Kultur White Star, DVD release date: 30 October 2007, run time: 180 minutes, ASIN B000V02CU0.
  • Wimbledon–The 2008 Finals: Nadal vs. Federer. Standing Room Only, DVD release date: 19 August 2008, run time: 300 minutes, ASIN B001CWYUBU.