โยฮันเนิส ดีคมัน
โยฮันเนิส ดีคมัน | |
---|---|
Johannes Dieckmann | |
ดีคมันในปี 1967 | |
ประธานหอประชาชน | |
ดำรงตำแหน่ง 7 ตุลาคม 1949 – 22 กุมภาพันธ์ 1969 | |
ก่อนหน้า | ไม่มี |
ถัดไป | เกรัลท์ เกิททิง |
รักษาการประธานาธิบดีเยอรมนีตะวันออก | |
ดำรงตำแหน่ง 7 ตุลาคม 1949 – 11 ตุลาคม 1949 | |
ก่อนหน้า | ไม่มี (เยอรมนีถูกแบ่งประเทศ) |
ถัดไป | วิลเฮ็ล์ม พีค |
ดำรงตำแหน่ง 7 กันยายน 1960 – 12 กันยายน 1960 | |
ก่อนหน้า | วิลเฮ็ล์ม พีค |
ถัดไป | ไม่มี (ยุบตำแหน่ง) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 19 มกราคม ค.ศ. 1893 ฟิชเชอร์ฮูเดอ จักรวรรดิเยอรมัน |
เสียชีวิต | 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1969 เบอร์ลิน เยอรมนีตะวันออก | (76 ปี)
พรรคการเมือง | พรรคเสรีประชาธิปไตยเยอรมนี |
โยฮันเนิส ดีคมัน (เยอรมัน: Johannes Dieckmann) เป็นนักข่าวและนักการเมืองชาวเยอรมัน ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐคนแรก (ในฐานะผู้รักษาการ) ของประเทศเยอรมนีตะวันออก ระหว่างปีค.ศ. 1949 ถึง 1969
ดีคมันเกิดในฟิชเชอร์ฮูเดอ มณฑลฮันโนเฟอร์ ราชอาณาจักรปรัสเซีย ภายในจักรวรรดิเยอรมัน เป็นบุตรชายของบาทหลวงนิกายโปรเตสแตนต์ เขาจบการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์และปรัชญาจากมหาวิทยาลัยในเบอร์ลิน ต่อมาในปี 1916 เขาถูกเกณฑ์ทหารเพื่อร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และได้รับบาดเจ็บหนัก ต่อมาภายหลังสงคราม เขาเข้าร่วมกับพรรคประชาชนเยอรมัน (Deutsche Volkspartei) และกลายเป็นคนใกล้ชิดของกุสทัฟ ชเตรเซอมัน[1] และกลายเป็นแกนนำพรรคประชาชนเยอรมันส่วนภูมิภาค และได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภารัฐซัคเซินระหว่างปี 1929 ถึง 1933
เมื่อพรรคนาซีเรืองอำนาจในปี 1933 ดีคมันถูกปลดออกจากตำแหน่งในบริษัทเชื้อเพลิงและน้ำมัน ต่อมาในปี 1939 เขาถูกเกณฑ์ทหารอีกครั้งและเข้าร่วมในยุทธการที่ฝรั่งเศสเป็นเวลาปีเศษ จากนั้นในปี 1941 เขาก็เข้าทำงานที่บริษัทอุตสาหกรรมของไซลีเชีย ต่อมาในปี 1944 เขาตกอยู่ภายใต้การสอดส่องโดยตำรวจลับ เนื่องจากลูกพี่ลูกน้องของเขาชื่อว่าวิลเฮล์ม ดีคมัน มีความเกี่ยวพันกับผู้พยายามก่อการรัฐประหารโค่นล้มฮิตเลอร์
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1945 เขากับแฮร์มัน คัสเนอร์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยเยอรมนี (Demokratische Partei Deutschlands) (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคพรรคเสรีประชาธิปไตยเยอรมนี) และมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ต่อมาในปี 1948 เขาได้รับตำแหน่งมนตรียุติธรรมของรัฐซัคเซิน และเป็นรองมุขมนตรีรัฐซัคเซิน ในปีเดียวกันนั้น เขาได้รับเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจเยอรมัน (Deutsche Wirtschaftskommission) และเป็นสมาชิกสภาประชาชน (Volksrat) ต่อมาในปี 1949 เขาได้รับเลือกเป็นประธานหอประชาชน (Volkskammer) ซึ่งเป็นรัฐสภาของเยอรมนีตะวันออก และดำรงตำแหน่งจนถึงแก่กรรมในปี 1969[2]