ข้ามไปเนื้อหา

เตียวหุย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เตียวหุย (จาง เฟย์)
張飛
ภาพวาดเตียวหุยในสมัยราชวงศ์หมิง
ขุนพลทหารม้ารถศึก (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 221 (221) – ค.ศ. 221 (221)
กษัตริย์เล่าปี่
นายพันเอกผู้บัญชาการมณฑลราชธานี
(司隸校尉 ซือลี่เซี่ยวเว่ย์)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 221 (221) – ค.ศ. 221 (221)
กษัตริย์เล่าปี่
ถัดไปจูกัดเหลียง
ขุนพลขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 219 (219) – ค.ศ. 221 (221)
กษัตริย์เล่าปี่
เจ้าเมืองปาเส (巴西太守 ปาซีไท่โฉ่ว)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 214 (214) – ค.ศ. 219 (219)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
เจ้าเมืองลำกุ๋น (南郡太守 หนานจฺวิ้นไท่โฉ่ว)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 214 (214)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
เจ้าเมืองงิเต๋า (宜都太守 อี๋ตูไท่โฉ่ว)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ขุนพลผู้โจมตีเชลยศึก
(征虜將軍 เจิงหลู่เจียงจฺวิน)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 209 (209) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ขุนพลราชองครักษ์ (中郎將 จงหลางเจี้ยง)
(ภายใต้เล่าปี่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 199 (199) – ค.ศ. 209 (209)
กษัตริย์พระเจ้าเหี้ยนเต้
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ปรากฏ
เมืองตุ้นก้วน (จัวจฺวิ้น) จักรวรรดิฮั่น (ปัจจุบันคือ อำเภอจัวโจว มณฑลเหอเป่ย์)
เสียชีวิตกรกฎาคมหรือสิงหาคม ค.ศ. 221[a]
อำเภอลองจิ๋ว (หลางจง) เมืองปาเส (ปาซีจฺวิ้น) จ๊กก๊ก (ปัจจุบันคือ นครหลางจง มณฑลเสฉวน)
คู่สมรสเซี่ยโหวชื่อ
บุตร
อาชีพขุนพล, ขุนนาง
ชื่อรองเอ๊กเต๊ก (益德 อี้เต๋อ)
สมัญญานามหฺวันโหฺว (桓侯)
บรรดาศักดิ์ซีเซียงโหว (西鄉侯)
เตียวหุย (จาง เฟย์)
"เตียวหุย" (จาง เฟย์) เขียนเป็นอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และอักษรจีนตัวย่อ (ล่าง)
อักษรจีนตัวเต็ม張飛
อักษรจีนตัวย่อ张飞

เตียวหุย (เสียชีวิต กรกฎาคมหรือสิงหาคม ค.ศ. 221)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จาง เฟย์ (จีน: 张飞; พินอิน: Zhāng Fēi; เวด-ไจลส์: Chang Fei; การออกเสียง) ชื่อรอง เอ๊กเต๊ก[b] หรือภาษาจีนกลางคือ อี้เต๋อ (จีน: 益德[c]; พินอิน: Yìdé) เป็นขุนพลและขุนนางชาวจีนที่รับใช้ขุนศึกเล่าปี่ในช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและต้นยุคสามก๊กของจีน เตียวหุยและกวนอูเป็นคนในกลุ่มแรก ๆ ที่เข้าร่วมกับเล่าปี่ ทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันพี่น้องกับเล่าปี่ผู้เป็นนาย และติดตามเล่าปี่ตลอดการแสวงอำนาจของเล่าปี่ในช่วงต้น เตียวหุยต่อสู้ในหลายยุทธการในฝ่ายเล่าปี่ เช่น ยุทธการที่เซ็กเพ็ก (ค.ศ. 208–209), การยึดมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ค.ศ. 212–214) และยุทธการที่ฮันต๋ง (ค.ศ. 217–218) เตียวหุยถูกลอบสังหารโดยผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองในปี ค.ศ. 221 หลังรับราชการเพียงไม่กี่เดือนในรัฐจ๊กก๊กซึ่งก่อตั้งโดยเล่าปี่ก่อนหน้านี้ในปีเดียวกัน[3]

เตียวหุยเป็นหนึ่งในตัวละครหลักในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ประพันธ์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ในนวนิยาย เตียวหุยเป็นพี่น้องร่วมสาบานของเล่าปี่และกวนอูด้วยคำสาบานในสวนท้อในช่วงเริ่มต้นของนวนิยายและยังคงความซื่อสัตย์ต่อคำสาบานจนกระทั่งเสียชีวิต

ประวัติในช่วงต้น

[แก้]

เตียวหุยเป็นชาวเมืองตุ้นก้วน (涿郡 จัวจฺวิ้น) ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 180 ช่วงปลายยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เตียวหุยและกวนอูเข้าร่วมเป็นผู้ติดตามของเล่าปี่ เนื่องจากกวนอูมีอายุมากกว่าเตียวหุยหลายปี เตียวหุยจึงนับถือกวนอูเหมือนเป็นพี่ชาย[4] กวนอูและเตียวหุยมีชื่อเสียงในเรื่องความกล้าหาญและความแข็งแกร่ง ทำให้ทั้งสองกลายเป็นนักรบที่มีความสามารถ[5]

ภายหลังเล่าปี่ได้รับแต่งตั้งจากราชสำนักฮั่นให้เป็นปลัดรัฐเพงงวนก๋วน (平原國 ผิง-ยฺเหวียนกั๋ว) กวนอูและเตียวหุยได้รับราชการในฐานะนายกองพันแยก (別部司馬 เปี๋ยปู้ซือหม่า) ในสังกัดของเล่าปี่ เล่าปี่ปฏิบัติต่อกวนอูและเตียวหุยเหมือนเป็นพี่น้องของตน ทั้งสองมีความสัมพันธ์แบบพี่น้องถึงขนาดใช้ห้องรวมกัน นอนบนเสื่อผืนเดียวกัน และกินอาหารจากหม้อเดียวกัน[6] เตียวหุยและกวนอูทำหน้าที่เป็นองครักษ์คุ้มกันเล่าปี่ ทั้งสองติดตามเล่าปี่ไปในการแสวงอำนาจและมักพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับอันตรายและความยากลำบากต่าง ๆ[7]

ความขัดแย้งระหว่างเล่าปี่และลิโป้

[แก้]

ในปี ค.ศ. 194 เล่าปี่สืบทอดตำแหน่งเจ้ามณฑลชีจิ๋วถัดจากโตเกี๋ยม ในปีต่อมา เล่าปี่นำกองทัพไปยังอำเภอชัวหยิน (淮陰 หฺวายอิน) เพื่อรับมือการบุกของอ้วนสุด ในช่วงเวลานั้นนั้น เล่าปี่มอบหมายให้เตียวหุยรักษาเมืองแห้ฝือ (下邳 เซี่ยพี) เมืองเอกของมณฑลชีจิ๋ว[8]

เตียวหุยต้องการสังหารโจป้าอดีตนายทหารของโตเกี๋ยมด้วยเหตุผลที่ไม่ทราบแน่ชัด โจป้าหนีกลับไปยังค่ายของตนและเสริมการป้องกัน ขณะเดียวกันก็ส่งคนนำสารไปขอความช่วยเหลือจากลิโป้ขุนศึกอีกคนหนึ่งซึ่งขณะนั้นกำลังพึ่งใบบุญของเล่าปี่อยู่ ลิโป้นำกองทัพเข้าโจมตีเมืองแห้ฝือ และสามารถยึดครองเมืองแห้ฝือได้สำเร็จ เตียวหุยหนีออกจากเมืองหลังจากเสียแห้ฝือให้กับลิโป้[9][d]

เล่าปี่กลับมายังชีจิ๋วซึ่งขณะนั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองของลิโป้ เล่าปี่ยอมรับข้อเสนอของลิโป้อย่างจำใจที่ให้ย้ายไปอยู่ที่เสียวพ่ายในขณะที่ลิโป้ยังคงอยู่ที่แห้ฝือ ความสัมพันธ์ระหว่างเล่าปี่และลิโป้ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ความขัดแย้ง เล่าปี่ขอความช่วยเหลือจากโจโฉขุนศึกผู้กุมอำนาจเหนือราชสำนักฮั่น กองทัพผสมของเล่าปี่และโจโฉเอาชนะลิโป้ในยุทธการที่แห้ฝือเมื่อปี ค.ศ. 198 หลังจากนั้นทั้งสองเดินทางกลับไปยังนครหลวงฮูโต๋ ในฮูโต๋เตียวหุยได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลราชองครักษ์ (中郎將 จงหลางเจี้ยง)[10]

ร่วมเดินทางกับเล่าปี่

[แก้]

ในปี ค.ศ. 199 เล่าปี่ได้วางแผนที่จะหนีออกจากฮูโต๋ เพื่อหลบหนีจากการจับตามองของโจโฉ เขาจึงเสนอตัวอาสาเป็นผู้นำกองทัพไปโจมตีอ้วนสุด เตียวหุยร่วมเดินทางกับเล่าปี่ไปยังมณฑลชีจิ๋ว โดยสังหารกีเหมา เจ้ามณฑลที่โจโฉแต่งตั้ง และยึดครองเมืองแห้ฝือคืนมาได้อีกครั้ง ในปีถัดมา โจโฉบุกโจมตีเล่าปี่และสามารถยึดชีจิ๋วกลับคืนมาได้สำเร็จ เมื่อเล่าปี่พ่ายแพ้ในสงคราม เขาต้องหลบหนีเพื่อความปลอดภัย เล่าปี่ตัดสินใจเดินทางขึ้นเหนือไปยังกิจิ๋ว และขอความช่วยเหลือจากอ้วนเสี้ยว ซึ่งเป็นศัตรูของโจโฉ

ภายหลังเล่าปี่ละทิ้งอ้วนเสี้ยวด้วยการแสร้งทำเป็นช่วยอ้วนเสี้ยวให้ได้การสนับสนุนจากกบฏท้องที่บริเวณยีหลำ (หรู่หนาน) ในสงครามต่อโจโฉ ท้ายที่สุดเขาพบที่พักพิงจากเล่าเปียว ผู้ว่าการเกงจิ๋ว เล่าเปียวแต่งตั้งเขาให้ควบคุมอำเภอซินเอี๋ย (新野 ซินเหย่) ที่ชายแดนทางตอนเหนือของเกงจิ๋ว[11][12]

ไม่มีข้อมูลว่าเตียวหุยติดตามเล่าปี่ไปเข้าร่วมกับอ้วนสุดหลังเล่าปี่พ่ายแพ้ที่มณฑลชีจิ๋ว หรือเขาแยกจากเล่าปี่ในช่วงนั้นเหมือนกับกวนอู

ยุทธการที่เซ็กเพ็ก

[แก้]

ยุทธการที่เตียงปัน

[แก้]
เตียวหุยในภาพอูกิโยะของญี่ปุ่น

ครอบครัว

[แก้]

ในปี ค.ศ. 200 เตียวหุยบังเอิญพบกับหลานสาวของแฮหัวเอี๋ยนระหว่างที่นางออกไปเก็บฟืนจึงลักพาตัวนางมา หลานสาวของแฮหัวเอี๋ยนในเวลานั้นอายุราว 13 ปี เตียวหุยรู้ว่านางได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างดีจึงแต่งงานกับนาง ให้กำเนิดบุตรสาว 2 คนซึ่งภายหลังทั้งคู่ได้แต่งงานกับเล่าเสี้ยนและขึ้นเป็นจักรพรรดินีแห่งรัฐจ๊กก๊ก บุตรสาวคนแรกเป็นที่รู้จักในชือจักรพรรดินีจิ้งไอ[13][14] จักรพรรดินีจิ้งไอมีน้องสาวซึ่งแต่งงานกับเล่าเสี้ยนเช่นกันและรู้จักในชื่อ จักรพรรดินีจาง[15]

บุตรชายคนโตของเตียวหุยชื่อเตียวเปา เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์[16] บุตรชายของเตียวเปาชื่อเตียวจุ๋น (張遵 จาง จุน) รับราชการเป็นราชเลขาธิการ (尚書) ในปี ค.ศ. 263 ระหว่างการพิชิตจ๊กก๊กของวุยก๊ก เตียวจุ๋นติดตามจูกัดเจี๋ยมในการป้องกันกิมก๊กจากการบุกของเตงงายขุนพลวุยก๊ก แต่ถูกสังหารในที่รบ[17][18]

บุตรชายคนรองของเตียวหุยชื่อเตียวเซีย (張紹 จาง เช่า) สืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดาและรับราชการเป็นมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และผู้ช่วยราชเลขาธิการ (尚書僕射 ช่างชูผูเช่อ) ในจ๊กก๊ก[19] ในปี ค.ศ. 263 จักรพรรดิจ๊กก๊กเล่าเสี้ยนมอบหมายให้เตียวเซีย เจาจิ๋ว และเตงเลียง (鄧良 เติ้ง เหลียง) เป็นผู้แทนพระองค์ในการยอมจำนนต่อเตงงายและนำไปสู่การสิ้นสุดของจ๊กก๊ก หลังการล่มสลายของจ๊กก๊ก เตียวเซียติดตามเล่าเสี้ยนไปยังลกเอี๋ยงราชธานีของวุยก๊ก ได้รับบรรดาศักดิ์โหวร่วมกับอดีตขุนนางของจ๊กก๊กคนอื่น ๆ[20]

ในนิยายสามก๊ก

[แก้]

ในศิลปะ

[แก้]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

[แก้]

อาวุธ

[แก้]

อาวุธประจำกายของเตียวหุยมีลักษณะเป็นโค้งคล้ายงูเลื้อยไปมา หัวตัด รู้จักกันดีในชื่อว่า ทวนงูเลื้อย หรือ ทวนอสรพิษ (Viper Blade) หลอมพร้อมกันกับอาวุธของเล่าปี่และกวนอู หนักถึง 80 ชั่ง

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ชีวประวัติเล่าปี่ในสามก๊กจี่บันทึกว่าเตียวหุยเสียชีวิตในศักราชเจี๋ยงบู๋ปีที่ 1 เดือน 6 ในรัสมัยของเล่าปี่[1] เทียบได้กับช่วงระหว่างวันที่ 8 กรกฎาคมถึง 5 สิงหาคม ค.ศ. 221 ในปฏิทินจูเลียนและก่อนเกรโกเรียน
  2. ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 1 บรรยายความถึงเตียวหุยเมื่อเริ่มมีบทบาทว่า "ผู้นั้นจึงตอบว่าเราชื่อเตียวหุยเอ๊กเต๊กบ้านอยู่ตุ้นก้วน"[2]
  3. ไม่ใช่ 翼德 ที่พ้องเสียงกันกับ 益德 โดย 翼德 เป็นชื่อรองของเตียวหุยในปรากฏในนิยายสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้)
  4. บางบันทึกระบุว่าเตียวหุยสังหารโจป้าระหว่างการวิวาท ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความโจป้า

อ้างอิง

[แก้]
  1. ([章武元年]六月, ... 車騎將軍張飛為其左右所害。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  2. "สามก๊ก ตอนที่ ๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ February 28, 2024.
  3. de Crespigny 2007, p. 1042.
  4. (張飛字益德,涿郡人也,少與關羽俱事先主。羽年長數歲,飛兄事之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
  5. (河東關羽雲長,同郡張飛益德,並以壯烈,禦侮。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 6.
  6. (先主與二子寢則同床,食則共器,恩若弟兄。然於稠人廣眾中,侍立終日。) หฺวาหยางกั๋วจื้อ vol. 6.
  7. (先主於鄉里合徒衆,而羽與張飛為之禦侮。先主為平原相,以羽、飛為別部司馬,分統部曲。先主與二人寢則同牀,恩若兄弟。而稠人廣坐,侍立終日,隨先主周旋,不避艱險。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
  8. (英雄記曰:備留張飛守下邳,引兵與袁術戰於淮陰石亭,更有勝負。) อรรถาธิบายจากอิง-สฺยงจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  9. (陶謙故將曹豹在下邳,張飛欲殺之。豹衆堅營自守,使人招呂布。布取下邳,張飛敗走。) อรรถาธิบายจากอิง-สฺยงจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  10. (先主從曹公破呂布,隨還許,曹公拜飛為中郎將。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
  11. (... 先主還紹軍,陰欲離紹,乃說紹南連荊州牧劉表。紹遣先主將本兵復至汝南,與賊龔都等合,衆數千人。 ... 曹公旣破紹,自南擊先主。先主遣麋笁、孫乾與劉表相聞,表自郊迎,以上賔禮待之,益其兵,使屯新野。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 32.
  12. (先主背曹公依袁紹、劉表。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
  13. (初,建安五年,時霸從妹年十三四,在本郡,出行樵採,為張飛所得。飛知其良家女,遂以為妻,產息女,為劉禪皇后。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ ใน สามก๊กจี่ เล่มที่ 9.
  14. (後主敬哀皇后,車騎將軍張飛長女也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 34.
  15. (後主張皇后,前后敬哀之妹也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 34.
  16. (長子苞,早夭。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
  17. (苞子遵為尚書,隨諸葛瞻於綿竹,與鄧艾戰,死。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
  18. (忠、纂馳還更戰,大破之,斬瞻及尚書張遵等首,進軍到雒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  19. (次子紹嗣,官至侍中尚書僕射。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 36.
  20. (用光祿大夫譙周策,降於艾,奉書曰:「... 謹遣私署侍中張紹、光祿大夫譙周、駙馬都尉鄧良奉齎印緩,請命告誠, ...」 ... 紹、良與艾相遇於雒縣。 ... 後主舉家東遷,旣至洛陽, ... 尚書令樊建、侍中張紹、光祿大夫譙周、祕書令郤正、殿中督張通並封列侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 33.

บรรณานุกรม

[แก้]