ข้ามไปเนื้อหา

อียอล็องด์แห่งเดรอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อียอล็องด์แห่งเดรอ
เคาน์เตสแห่งมงฟอร์
พระราชินีคู่สมรสแห่งสกอตแลนด์
ดัชเชสคู่สมรสแห่งเบรอตาญ
ครองราชย์ค.ศ. 1311–1322 (มงฟอร์)
ค.ศ. 1285–1286 (สกอตแลนด์)
ค.ศ. 1305–1312 (เบรอตาญ)
ประสูติค.ศ. 1263
สิ้นพระชนม์2 สิงหาคม ค.ศ. 1330 (66–67 พรรษา)
พระสวามีพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งสกอตแลนด์
อาร์ตูร์ที่ 2 ดยุคแห่งเบรอตาญ
โอรสหรือธิดาฌ็องแห่งมงฟอร์
ราชสกุลตระกูลเดรอจากราชวงศ์กาแป
พระบิดารอแบร์ที่ 4 เคานต์แห่งเดรอ
พระมารดาเบอาทริส เคาน์เตสแห่งมงฟอร์

อียอล็องด์แห่งเดรอ (ฝรั่งเศส: Yolande de Dreux; ค.ศ. 1263 – 2 สิงหาคม ค.ศ. 1330) เป็นพระมเหสีคนที่สองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งสกอตแลนด์ ทรงครองตำแหน่งเป็นพระราชินีคู่สมรสแห่งสกอตแลนด์จนพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1286

เคาน์เตสแห่งมงฟอร์

[แก้]
ตราประจำตระกูลเดรอ

อียอล็องด์ประสูติในปี ค.ศ. 1267 ทรงเป็นธิดาของรอแบร์ที่ 4 เคานต์แห่งเดรอกับเบอาทริสซึ่งเป็นเคาน์เตสแห่งมงฟอร์ตามสิทธิ์ของตนเองและเป็นลูกหลานของพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศส ตระกูลของเธอแตกสาขามาจากราชตระกูลของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส อียอล็องด์จึงถือเป็นหนี่งในสมาชิกราชวงศ์กาแปซึ่งเป็นราชตระกูลที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในยุโรป ครอบครัวของพระองค์อาศัยอยู่ในปราสาทเดรอซึ่งตั้งอยู่บนพรมแดนระหว่างนอร์ม็องดีกับอีล-เดอ-ฟร็องส์ ตัวเคาน์ตีเดรอตั้งอยู่ทางตะวันตกของปารีสโดยอยู่ห่างออกไปประมาณ 40 ไมล์ ครอบครัวของพระองค์เป็นข้าราชบริวารผู้ทรงอิทธิพลและมีสายสัมพันธ์อันดีกับพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส

บิดามารดาของพระองค์มีบุตรธิดาห้าคน ประกอบด้วยบุตรสาวสี่คนกับบุตรชายหนึ่งคน น้องชายของอียอล็องด์มีชื่อว่าฌ็อง ส่วนพี่สาวน้องสาวของพระองค์ ได้แก่ มารี, ฌาน และเบอาทริสซึ่งเป็นพระอธิการิณี ฌ็องสืบทอดตำแหน่งเป็นเคานต์แห่งเดรอต่อมาจากรอแบร์ผู้เป็นบิดาและได้ส่งต่อตำแหน่งดังกล่าวให้แก่ฌาน บุตรสาวเพียงคนเดียวที่มีชีวิตอยู่ของตน ฌ็องยังมีอีกหนึ่งตำแหน่งคือเป็นมหาดเล็กแห่งฝรั่งเศสและได้ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1309 เบอาทริส เคาน์เตสแห่งมงฟอร์ มารดาของอียอล็องด์ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1311/1312 ซึ่งในตอนนั้นฌ็อง น้องชายของอียอล็องด์ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว อียอล็องด์จึงได้สืบทอดตำแหน่งเป็นเคาน์เตสแห่งมงฟอร์ตามสิทธิ์ของตนเอง

สมเด็จพระราชินีแห่งสกอตแลนด์

[แก้]

อียอล็องด์สมรสช้าเมื่อเทียบกับคนในยุคนั้น ทรงอภิเษกสมรสในช่วงปลายวัยรุ่นหรือในวัยยี่สิบต้น ๆ กับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งสกอตแลนด์ซึ่งเป็นม่ายหลังพระมเหสีคนแรกคือเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 สิ้นพระชนม์ไปในปี ค.ศ. 1274 พระโอรสสองคนของทั้งคู่ต่างก็สิ้นพระชนม์ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1283 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จึงต้องการทายาทชาย พระองค์ได้เริ่มมองหาพระมเหสีที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1285 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์วัย 44 พรรษาได้อภิเษกสมรสกับอียอล็องด์วัย 22 พรรษาที่วิหารเจดบะระ ว่ากันว่ามารี เดอ กูซี พระมารดาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์อาจมีส่วนในการคลุมถุงชนครั้งนี้

ห้าเดือนต่อมาเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1286 หลังการประชุมสภาที่จัดขึ้นโดยกษัตริย์ที่ปราสาทเอดินบะระ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ได้ขี่ม้าเดินทางกลับโดยไม่ฟังคำทัดทานให้เดินทางในเช้าวันถัดไป ด้วยพระองค์ต้องการกลับไปฉลองวันเกิดให้อียอล็องด์ที่ปราสาทคิงฮอร์นในไฟฟ์ พระองค์พร้อมกับเด็กรับใช้สามคนและผู้นำทางท้องถิ่นสองคนได้เดินทางท่ามกลางความมืดและสภาพอากาศที่เลวร้าย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้พลัดหลงกับคณะผู้ติดตาม เช้าวันรุ่งขึ้นร่างของพระองค์ถูกพบที่บริเวณชายฝั่งเพ็ตตีเคอร์ในสภาพคอหัก คาดกันว่าระหว่างควบม้าไปตามแนวชายฝั่ง ม้าของพระองค์อาจสะดุดทรายจนทำให้ทรงพลัดลงมาคอหักสิ้นพระชนม์ อียอล็องด์กับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สมรสกับได้เพียง 4 เดือนกับ 14 วัน นับเป็นการสมรสที่สั้นที่สุดของพระมหากษัตริย์สกอตแลนด์

การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์นำไปสู่จุดจบของ "ยุคทอง" ในประวัติศาสตร์สกอตแลนด์และส่งผลให้เกิดวิกฤตการสืบทอดบัลลังก์อันนำไปสู่สงครามประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ หลังกษัตริย์สิ้นพระชนม์ อียอล็องด์ได้ย้ายไปอยู่ที่ปราสาทสเตอร์ลิงและได้ประกาศว่าพระนางกำลังตั้งครรภ์ คณะขุนนางได้ประชุมกันเพื่อถกเถียงเรื่องวิกฤตการสืบทอดบัลลังก์ในวันที่ 28 เมษายนและได้รับปากว่าพระราชบุตรที่เกิดจากอียอล็องด์จะได้ครองบัลลังก์หากเกิดมาเป็นพระโอรส ทว่าอียอล็องด์กลับสูญเสียพระราชบุตรอาจจะด้วยการแท้งหรือไม่ทารกน้อยก็อาจจะสิ้นพระชนม์ในตอนคลอดหรือหลังจากคลอดได้ไม่นาน สภาจึงได้สาบานตนจงรักภักดีต่อมาร์กาเร็ต พระนัดดาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์

การสมรสครั้งที่สอง

[แก้]

อียอล็องด์อาศัยอยู่ในสกอตแลนด์ต่อไปโดยได้รับรายได้ที่เกิดจากทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ในฐานะพระมเหสีม่าย พระองค์อาจอาศัยอยู่ในปราสาทสเตอร์ลิงโดยมีรายได้จากเบริก, ทรัพย์สินที่ดินในสเตอร์ลิง และการเพาะพันธุ์ม้าในเจดเวิร์ธเป็นจำนวนเงิน 200 ปอนด์ต่อปี แต่สุดท้ายพระองค์ก็เดินทางกลับฝรั่งเศส

แปดปีต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1292 อียอล็องด์แห่งเดรอสมรสใหม่กับอาร์ตูร์ที่ 2 ดยุคแห่งเบรอตาญ ขุนนางฝรั่งเศสผู้มั่งคั่งและทรงอำนาจซึ่งอาจจะต้องการได้อาณาเขตมงฟอร์ที่อียอล็องด์ได้มาจากมารดา อาร์ตูร์เคยสมรสมาแล้วหนึ่งครั้งกับมารี ไวเคาน์เตสแห่งลีมอฌซึ่งถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1291 ทั้งคู่มีบุตรธิดาด้วยกัน 6 คนในช่วงหนึ่งทศวรรษต่อมา คือ

  • ฌ็อง (เกิด ค.ศ. 1294) สืบทอดตำแหน่งเป็นเคานต์แห่งมงฟอร์ต่อจากมารดา สมรสกับฌานแห่งฟลานเดอส์
  • เบอาทริส (เกิด ค.ศ. 1295) สมรสกับกีย์ที่ 10 แห่งลาวาล
  • ฌาน (เกิด ค.ศ. 1296) สมรสกับบุตรชายของรอแบร์ที่ 3 เคานต์แห่งฟลานเดอส์
  • อาลิกซ์ (เกิด ค.ศ. 1297) สมรสกับบูชาร์ที่ 6 แห่งว็องโดม
  • บล็องช์ (เกิด ค.ศ. 1300) เสียชีวิตในวัยเยาว์
  • มารี (เกิด ค.ศ. 1302) บวชเป็นแม่ชี

อาร์ตูร์ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1312 จากอุบัติเหตุกำแพงตกใส่ระหว่างกำลังพาสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 ขี่ม้าชมอาวีญง บุตรชายคนโตของอาร์ตูร์ที่เกิดจากชายาคนแรกได้ขึ้นครองตำแหน่งเป็นฌ็องที่ 3 ดยุคแห่งเบรอตาญ เคาน์ตีมงฟอร์ของอียอล็องด์ตกเป็นของฌ็อง บุตรชายของอียอล็องด์ซึ่งต่อมาได้เข้าต่อสู้ในสงครามสืบบัลลังก์เบรอตาญเพื่อแย่งชิงการอ้างสิทธิ์ในดัชชีของบิดาของตน

อียอล็องด์อาจมีชีวิตอยู่จนถึงปี ค.ศ. 1330 และสิ้นพระชนม์ในวัยหกสิบพรรษาปลาย ๆ

อ้างอิง

[แก้]