ข้ามไปเนื้อหา

อิจญ์ติฮาด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อิจญ์ติฮาด (อาหรับ: اجتهاد, อังกฤษ: Ijtihad) ทางภาษา คือ การใช้ความพยายามและความสามารถ ทางวิชาการศาสนา คือ การใช้ความพยายามเกี่ยวกับตัวบทหลักฐานเพื่อวิเคราะห์และวินิจฉัยกำหนดบทบัญญัติ

กฎบัญญัติของศาสนาอิสลาม มาจากพระผู้เป็นเจ้า (อัลลอฮฺ) ที่บัญญัติมาทางพระดำรัสหรืออัลกุรอาน และความรู้อีกส่วนหนึ่งที่ประทานให้แก่นบีมุฮัมมัด ที่เรียกว่า ซุนนะฮฺ หรือ หะดีษ ซึ่งทั้งอัลกุรอานและหะดีษ เป็นคำสอนอันบริสุทธิ์จากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งประกอบไปด้วยความรู้เกี่ยวกับสัจธรรมที่มาที่ไปและความเป็นจริงของโลกและชีวิตมนุษย์ทุกคน มีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางธรรมชาติ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งเร้นลับ การเกิดการตาย เป้าหมายของการมาอยู่บนโลกและทางรอดของชีวิต และก็มีส่วนที่เป็นกฎหมายหรือบทบัญญัติ ที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อพระเจ้า พึงปฏิบัติต่อมนุษย์ และการปกครองสังคม

กฎหมายนี้ในภาษาอาหรับเรียกว่า "ชารีอะฮฺ" ซึ่งมีที่มาคือ

  1. อัลกุรอาน
  2. หะดีษ
  3. อิจมาอฺ (มติเอกฉันท์ของบรรดาปราชญ์)
  4. กิยาส (เทียบเคียงตัวบทและฎีกาสมัยของท่านนบีและสาวก)

บรรดาปราชญ์ของอิสลามนั้นเรียกว่า "อุละมาอฺ"(ผู้รู้) ซึ่งจะมีส่วนหนึ่งที่มีคุณสมบัติเป็น "มุจญ์ตะฮิด"

มุจญ์ตะฮิด (อาหรับ: مجتهد, อังกฤษ: Mujtahid) หมายถึง ผู้ที่สามารถทำการอิจญ์ติฮาดได้ คือ ผู้มีคุณธรรม มีความเชี่ยวชาญในภาษา มีความรู้ในอัลกุรอานและหะดีษอย่างลึกซึ้ง รู้ความหมายและที่มาที่ไปของบัญญัติตลอดจนเป้าหมาย มีความรู้ในประวัติของนบีและบรรดาสาวก ตลอดจนฎีกาต่างๆในแต่ละยุคสมัยเป็นอย่างดี นอกจากนั้นก็ยังมีความรู้ทางสังคม การเมือง และความรู้รอบตัวอื่นๆอีกด้วย ฉะนั้นเหตุการณ์หรือสิ่งใหม่ที่ไม่มีปรากฏในสมัยของท่านนบีและสาวก บรรดามุจญ์ตะฮิดจะทำการวินิจฉัยหรืออิจญ์ติฮาดเพื่อกำหนดบัญญัติให้ผู้คนถือปฏิบัติ เนื่องจากกฎหมายอิสลามหรือชารีอะฮฺนั้น มีคำสั่งโดยกว้างๆครอบคลุมตลอดไปทุกยุคทุกสมัย และบังคับใช้จนถึงวันสิ้นโลก

"ฟัตวา" หมายถึง การชี้คำตอบในปัญหาศาสนา หรือการให้คำตัดสินเกี่ยวกับบัญญัติ

"มุฟตี" หมายถึง ผู้ตอบปัญหาศาสนา หรือผู้ให้คำตัดสินในเรื่องบัญญัติ ซึ่งคุณสมบัติของมุฟตีนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจอย่างแตกฉานเกี่ยวกับอัลกุรอานและสุนนะฮฺ มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับ มีความรอบรู้ศาสตร์ที่ว่าด้วยชีวิตและสังคมมนุษย์ มีสติปัญญาอันเฉียบแหลมกอปรกับความรู้ความสามารถในการเข้าถึงแก่นแห่งศาสนบัญญัติได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

กรณีหากเกิดขัดแย้ง หรือเข้าใจศาสนาไม่ตรงกัน ให้มุสลิมนั้นกลับไปที่อัลกุรอานและหะดีษ และละทิ้งเรื่องที่คลุมเครือ ส่วนกรณีปัญหาขัดแย้งระหว่างบุคคล ให้ยุติที่คำตัดสินของศาล (กอฎี หรือในเมืองไทยเรียกดาโต๊ะ)