ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอสิรินธร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอสิรินธร
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Sirindhorn
วัดสิรินธรวราราม ภูพร้าว
วัดสิรินธรวราราม ภูพร้าว
คำขวัญ: 
เจ้าฟ้าประทานนาม งามตำหนักราชสุดา
พุทธปฏิมาสิรินธร ออนซอนพลังไฟฟ้า
ค้าขายไทย-ลาว ตะนะพราวแก่งงาม
แผนที่จังหวัดอุบลราชธานี เน้นอำเภอสิรินธร
แผนที่จังหวัดอุบลราชธานี เน้นอำเภอสิรินธร
พิกัด: 15°12′6″N 105°23′54″E / 15.20167°N 105.39833°E / 15.20167; 105.39833
ประเทศ ไทย
จังหวัดอุบลราชธานี
พื้นที่
 • ทั้งหมด759.860 ตร.กม. (293.384 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด55,008 คน
 • ความหนาแน่น72.39 คน/ตร.กม. (187.5 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 34350
รหัสภูมิศาสตร์3425
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอสิรินธร ถนนสถิตนิมานการ ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี 34350
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

อำเภอสิรินธร เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนตะวันออกสุดของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอสิรินธร พ.ศ. 2534 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2535

อำเภอสิรินธรยังเป็นที่ตั้งของเขื่อนสิรินธรและจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก ช่องการค้าชายแดนไทย-ลาวด้วย

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอสิรินธรตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ประวัติ

[แก้]

อำเภอสิรินธรได้รับการประกาศจัดตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ต้องผ่านการเป็นกิ่งอำเภอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษาในปี พ.ศ. 2534 โดยได้พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธยของพระองค์เป็นชื่ออำเภอเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2533[1]

หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ตำบลคำเขื่อนแก้ว ของอำเภอโขงเจียม และตำบลคันไร่ ตำบลช่องเม็ก ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย ตำบลโนนก่อ ตำบลฝางคำ ของอำเภอพิบูลมังสาหาร มีท้องที่กว้างขวาง มีชุมชนและชุมชนการค้าหนาแน่น มีสภาพเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก สมควรแยกตำบลดังกล่าวออกจากอำเภอโขงเจียมและอำเภอพิบูลมังสาหาร จัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอมีชื่อว่า “อำเภอสิรินธร” เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง การให้บริการของรัฐ ความสะดวกของประชาชน และส่งเสริมให้ท้องที่มีความเจริญยิ่งขึ้นตลอดจนเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่มีพระชันษาครบ ๓ รอบ ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา ๑

พระราชกฤษฎีกานี้ เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอสิรินธร พ.ศ. ๒๕๓๔”

มาตรา ๒

พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓

ให้แยกตำบลคำเขื่อนแก้ว ของอำเภอโขงเจียม และตำบลคันไร่ ตำบลช่องเม็ก ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย ตำบลโนนก่อ ตำบลฝางคำ ของอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอมีชื่อว่า “อำเภอสิรินธร” โดยให้ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย

มาตรา ๔

ให้อำเภอสิรินธรมีเขตการปกครองตามเขตตำบลเดิมแยกออกจากเขตอำเภอที่ตำบลนั้นเคยอยู่ในเขตปกครอง และให้อำเภอสิรินธรขึ้นอยู่ในความปกครองของจังหวัดอุบลราชธานี

มาตรา ๕

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอสิรินธรแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 6 ตำบล 77 หมู่บ้าน ได้แก่

1. คันไร่ (Khan Rai) 16 หมู่บ้าน
2. ช่องเม็ก (Chong Mek) 14 หมู่บ้าน
3. โนนก่อ (Non Ko) 14 หมู่บ้าน
4. นิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย (Nikhom Sang Ton Eng Lam Dom Noi) 13 หมู่บ้าน
5. ฝางคำ (Fang Kham) 4 หมู่บ้าน
6. คำเขื่อนแก้ว (Kham Khuean Kaeo) 16 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอสิรินธรประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลช่องเม็ก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลช่องเม็ก (เฉพาะหมู่บ้านในเขตด่านพรมแดนฯ ได้แก่ หมู่ที่ 1–3, 14)
  • เทศบาลตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลคันไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคันไร่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโนนก่อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนก่อทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลช่องเม็ก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลช่องเม็ก (เฉพาะหมู่บ้านนอกเขตด่านพรมแดนฯ ได้แก่ หมู่ที่ 4–13)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลฝางคำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลฝางคำทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลคำเขื่อนแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคำเขื่อนแก้วทั้งตำบล

ภูมิปัญญา

[แก้]
อาคารที่ทำการด่านพรมแดนช่องเม็ก เทศบาลตำบลช่องเม็ก

อำเภอสิรินธรมีภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรม โภชนาการ และอาหารแปรรูป ที่สำคัญ เช่น น้ำปลา ปลาร้า แจ่วบอง ปลาส้ม เป็นต้น ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาที่มีความโดดเด่นค่อนข้างสูง เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง รองลงมาคือ ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม เช่น การจักสานไม้กวาดดอกหญ้า กิจกรรมที่แสดงถึงภูมิปัญญาด้านการบริหารจัดการองค์กรชุมชนสวัสดิการชุมชน เช่น องค์กรระดับกลุ่มดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านสมุนไพร การจัดสวัสดิการชุมชนและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยในชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีด้านแพทย์แผนไทยสมุนไพร เช่น การนวดแผนไทย การอบสมุนไพร เป็นต้น ถือได้ว่าศักยภาพทั้ง 3 ด้านจัดอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากเป็นที่รู้จักกันเฉพาะท้องถิ่นเท่านั้น

สิ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์โดดเด่นของภูมิปัญญา คือ ไม้กวาดดอกหญ้า กลุ่มอาชีพทำไม้กวาดดอกหญ้า ตำบลคำเขื่อนแก้ว ปลาร้า แจ่วบอง ปลาส้ม กลุ่มอาชีพสตรีบ้านคำกลาง ตำบลฝางคำ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาส้มแม่พุก บ้านแหลมสวรรค์ ตำบลนิคมลำโดมน้อย [2]

โรงเรียน

[แก้]

โรงเรียนมัธยม สพฐ.


โรงเรียนอาชีวศึกษา สพป.อบ.3


สถานที่สำคัญ

[แก้]
วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
  • เขื่อนสิรินธร
  • จุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก เป็นด่านพรมแดนการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว
  • พัทยาน้อย / ภูทอง
  • น้ำตกตาดโตน
  • อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
  • วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
  • วัดป่าโพธิญาณ
  • หาดแสนตอ
  • ลานบั้งไฟ
  • ถนนคนเดินช่องเม็ก
  • น้ำตกตาดโตน
  • ล่องแพเขื่อนสิรินธร
  • ล่องแพลำโดมน้อย
  • วัดบ้านสุขสำราญ
  • หาดบ้านแหลมสวรรค์
  • ที่พักภูเขาควาย
  • ภูนางผมหอม

อ้างอิง

[แก้]
  1. สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี. นามานุกรมภูมิศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี.
  2. ศักยภาพและสถานภาพของภูมิปัญญาไทย : ภูมิปัญญาไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]