ข้ามไปเนื้อหา

หลอดลมฝอยอักเสบทั่วแบบกระจาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หลอดลมฝอยอักเสบทั่วแบบกระจาย
(Diffuse panbronchiolitis)
ชื่ออื่นหลอดลมฝอยอักเสบ
ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความละเอียดสูงของทรวงอกของผู้ป่วยชายอายุ 16 ปี ที่ป่วยเป็นหลอดลมฝอยอักเสบทั่วแบบแพร่กระจาย
สาขาวิชาวิทยาปอด
อาการโพรงอากาศอักเสบเรื้อรัง, หายใจมีเสียงหวีด, เสียงเปรี๊ยะ, ไอมีเสมหะมาก, หายใจลำบาก
ภาวะแทรกซ้อนหลอดลมโป่งพอง, การหายใจล้มเหลว, ความดันเลือดแดงในปอดสูง, โรคหัวใจจากความดันเลือดในปอดสูง
การตั้งต้นอายุประมาณ 40 ปี
ระยะดำเนินโรคเรื้อรังและกลับเป็นซ้ำได้
สาเหตุไม่ทราบสาเหตุ
วิธีวินิจฉัยการตรวจชิ้นเนื้อปอด, การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความละเอียดสูง
โรคอื่นที่คล้ายกันโรคหืด, หลอดลมอักเสบเรื้อรัง, ถุงลมโป่งพอง, ซิสติกไฟโบรซิส, หลอดลมฝอยอักเสบอุดกั้น
การรักษายาปฏิชีวนะ, รักษาตามอาการ (ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด)
ยาอีริโทรมัยซิน, คลาริโทรมัยซิน, รอกซิโทรมัยซิน
พยากรณ์โรคอัตรารอดชีวิตห้าปี 62.1%, สามารถกลับเป็นซ้ำได้
ความชุกพบบ่อยในประเทศญี่ปุ่น (11 ต่อ 100,000 ประชากร)

หลอดลมฝอยอักเสบทั่วแบบกระจาย (อังกฤษ: diffuse panbronchiolitis) หรือ DPB เป็นโรคของปอดชนิดหนึ่งที่ยังไม่ทราบสาเหตุ โดยหลอดลมฝอยของผู้ป่วยจะมีการอักเสบที่รุนแรงและเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคำว่า "กระจาย" (diffuse) ในที่นี้ หมายถึงการที่ผู้ป่วยจะมีรอยโรคเกิดขึ้นทั่วทั้งบริเวณของปอดทั้งสองข้าง และ "อักเสบทั่ว" (pan) ในที่นี้ หมายถึงเกิดการอักเสบที่ทุกชั้นของหลอดลมฝอย โรคนี้สามารถทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงและมีรอยโรคเป็นปุ่มที่หลอดลมฝอยส่วนปลาย เกิดโพรงอากาศอักเสบเรื้อรัง และไอมีเสมหะมากได้

สาเหตุของโรคเชื่อว่าสัมพันธ์กับการที่ร่างกายของผู้ป่วยมีความไวหรือขาดภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสที่กระตุ้นให้เกิด DPB จากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยในเชื้อชาติเอเชียตะวันออก โดยโรคนี้พบมากที่สุดในคนญี่ปุ่น รองลงมาคือคนเกาหลี ภาวะนี้พบได้ในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง ผู้ป่วยมักเริ่มแสดงอาการที่อายุประมาณ 40 ปี เป็นโรคใหม่ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 และได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1969

หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีการดำเนินโรคไปจนเกิดหลอดลมโป่งพองได้ ภาวะนี้จะทำให้หลอดลมและหลอดลมฝอยของผู้ป่วยเสียหายอย่างถาวรและขยายขนาดขึ้น เกิดมีเมือกเสมหะขังอยู่ในหลอดลมฝอยได้ การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในกลุ่มแมโครไลด์อย่างอีริโทรมัยซินทุกวันอย่างต่อเนื่องสามารถบรรเทาอาการและเพิ่มระยะเวลารอดชีวิตได้ แต่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ในระยะสุดท้ายผู้ป่วยโรคนี้อาจมีการหายใจล้มเหลวและโรคหัวใจได้

การจำแนกประเภท

[แก้]

หลอดลมฝอยอักเสบโดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงภาวะที่มีการอักเสบเกิดขึ้นที่หลอดลมฝอย[1] โดย DPB ถือเป็นหลอดลมฝอยอักเสบชนิดหนึ่ง และจัดเป็นหลอดลมฝอยอักเสบแบบปฐมภูมิ (primary) หมายความว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดหลอดลมฝอยอักเสบนั้นเกิดขึ้นจากตัวหลอดลมฝอยเอง หรือเป็นอยู่เฉพาะที่หลอดลมฝอยเป็นหลัก[2][3] โรคหลอดลมฝอยอักเสบปฐมภูมิชนิดอื่น ๆ เช่น หลอดลมฝอยอักเสบอุดกั้น หลอดลมฝอยอักเสบฟอลลิคูลาร์ หลอดลมฝอยอักเสบจากการหายใจ [en] หลอดลมฝอยอักเสบจากฝุ่นแร่ [en] และอื่น ๆ[2] ส่วนโรคหลอดลมฝอยอักเสบที่ไม่ถือเป็นหลอดลมฝอยอักเสบปฐมภูมิอื่นก็คือโรคหลอดลมฝอยอักเสบที่มีโรคเกิดขึ้นที่ทางหายใจขนาดใหญ่ร่วมด้วย เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น[2][3]

อาการและอาการแสดง

[แก้]

อาการของผู้ป่วย DPB ได้แก่ โพรงอากาศอักเสบเรื้อรัง [en] หายใจมีเสียงหวีด หายใจมีเสียงเปรี๊ยะ (crackles) จากเสมหะในปอด หายใจลำบาก ไอรุนแรงและมีเสมหะปริมาณมาก อาจพบหนองในเสมหะ โดยอาจพบร่วมกับอาการไข้ อาการแสดงของ DPB ได้แก่ การโป่งพองของหลอดลมฝอย และออกซิเจนในเลือดต่ำ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดหลอดลมโป่งพองตามมาได้ ผู้ป่วยจะมีการโป่งพองและหนาตัวของหลอดลมและหลอดลมฝอย เกิดการอักเสบและความเสียหายต่อหลอดลมฝอยทั้งส่วนทางหายใจและส่วนปลาย และมีเสมหะคั่งค้างในปอด[4][5] นอกจากนี้แล้ว DPB ยังสัมพันธ์กับการเกิดการหายใจล้มเหลวที่เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ คาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด [en] และอาจนำไปสู่ภาวะความดันเลือดในปอดสูง และเกิดภาวะหัวใจวายจากโรคปอดได้[6][7]

สาเหตุ

[แก้]
สารพันธุกรรมของ HLA ในมนุษย์ อยู่บนโครโมโซมที่ 6

DPB เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ [en] กล่าวคือ ยังไม่พบกลไกทางสรีรวิทยา ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม หรือเชื้อก่อโรคที่ทำให้เกิดโรคนี้ อย่างไรก็ดี มีปัจจัยหลายอย่างที่พบว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับพยาธิกำเนิดของโรคนี้[4]

ในสายพันธุกรรมของมนุษย์จะมีส่วนหนึ่งของสายพันธุกรรมที่เรียกว่า MHC ซึ่งนอกจากจะพบได้ในมนุษย์แล้วยังพบในสัตว์มีกระดูกสันหลังอีกหลายชนิด บริเวณนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน โดยในมนุษย์จะพบอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 6 [en] หน่วยย่อยของ MHC ที่เรียกว่า HLA [en] ทำหน้าที่ควบคุมระบบนำเสนอแอนติเจนต่อเซลล์ภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นกลไกส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันแบบปรับตัวเพื่อป้องกันร่างกายจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย เมื่อเซลล์ถูกรุกรานโดยเชื้อก่อโรคเหล่านี้ บางเซลล์จะสามารถนำชิ้นส่วนโปรตีนของเชื้อก่อโรคไปนำเสนอไว้บนผิวเซลล์ เรียกว่า การนำเสนอแอนติเจน [en] เซลล์ที่ติดเชื้อนี้จะแสดงตัวเป็นเป้าหมายของเซลล์ทีคิลเลอร์ ซึ่งจะทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อเพื่อกำจัดเชื้อออกจากร่างกาย[8]

ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่สร้างความเสี่ยงในการเกิด DPB ถูกค้นพบว่าเป็นแฮโพลไทป์ [en] ของ HLA สองแฮโพลไทป์ด้วยกัน ซึ่งสองแฮโพลไทป์นี้พบได้บ่อยในคนเชื้อสายเอเชียตะวันออก ได้แก่ HLA-B54 [en] ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิด DPB ในชาวญี่ปุ่น และ HLA-A11 [en] ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิด DPB ในชาวเกาหลี[9] สารพันธุกรรมหลายตัวของ HLA class [en] มีส่วนเกี่ยวข้องกับ DPB โดยทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเพิ่มขึ้น[7][10] การค้นหาสารพันธุกรรม DPB ใน HLA ที่มีพันธุกรรมคล้ายคลึงกันในผู้ป่วยชาวเกาหลีและชาวญี่ปุ่น พบว่าการกลายพันธุ์ของยีนที่คาดว่าสร้างความเสี่ยงในการเกิดโรคอยู่ระหว่าง HLA-B [en][11] และ HLA-A [en][12] เกิดขึ้นบนโครโมโซมที่มีทั้ง HLA-B54 และ HLA-A11 นอกจากนี้การรวมกันใหม่ของยีนจำนวนมากรอบ ๆ ตำแหน่งของโรค อาจส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับ HLA-B54 และ HLA-A11 ขึ้นได้ จากการศึกษาเพิ่มเติม สรุปได้ว่ายีนที่สร้างความเสี่ยงในการเกิด DPB มีตำแหน่งใกล้กับตำแหน่งของ HLA-B บนโครโมโซมคู่ที่ 6 (6p21.3) ภายในบริเวณนี้ยังมีการค้นหาสาเหตุทางพันธุกรรมของโรคนี้ต่อไป[9][10]

เนื่องจากยีนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับ HLA ยังคงไม่สามารถระบุได้ การโคลนตำแหน่ง [en] (วิธีการที่ใช้ในการระบุยีน เมื่อทราบตำแหน่งบนโครโมโซม) จึงถูกนำมาใช้เพื่อระบุว่ายีนที่คล้ายมิวซิน [en] มีความเกี่ยวข้องกับ DPB มีการตรวจสอบโรคที่เกิดจากยีน HLA ที่เสี่ยงต่อ DPB พบว่ากลุ่มอาการของโรคลิมโฟไซต์เปลือย I [en] (BLS I) มีความคล้ายกับ DPB รวมถึงไซนัสอักเสบเรื้อรัง หลอดลมอักเสบและการมีอยู่ของ H. influenzae เช่นเดียวกับ DPB BLS I ตอบสนองได้ดีเมื่อได้รับการรักษาด้วยอีริโทรมัยซิน เนื่องจากโรคทั้งสอง (DPB และ BLS I) มีความคล้ายคลึงกัน จึงใช้วิธีรักษาแบบเดียวกันได้ และพบว่ายีนที่เกี่ยวข้องกับ BLS I อยู่ในบริเวณที่ก่อให้เกิด DPB ของ HLA ทำให้ยีนที่เกี่ยวข้องกับ DPB แคบลง[9] ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสูดดมควันพิษและการสูบบุหรี่ ไม่ถูกเชื่อว่ามีผลต่อการเกิด DPB และปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางพันธุกรรม เช่น แบคทีเรียหรือไวรัส ยังคงไม่ถูกตัดออกจากการตั้งข้อสังเกต[4][6][7]

ซิสติกไฟโบรซิส (CF) ซึ่งเป็นโรคปอดที่ส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ด้วย ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสาเหตุทางพันธุกรรมของ DPB ด้วยเหตุผลหลายประการ เนื่องจากอาการของโรค CF คล้ายกันกับ DPB เช่น ทำให้เกิดการอักเสบของปอดอย่างรุนแรง การผลิตเมือกออกมามาก การติดเชื้อ และมีความเด่นทางพันธุกรรมในกลุ่มคนผิวขาว ในขณะที่ DPB พบในหมู่ชาวเอเชียตะวันออก CF ส่งผลกระทบต่อผู้คนเชื้อสายยุโรปเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะไม่มียีนใดที่เกี่ยวข้องกับเป็นสาเหตุของ DPB แต่การกลายพันธุ์ในยีนเฉพาะ ซึ่งทำให้เกิด CF มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในชาวยุโรปมากกว่า การกลายพันธุ์ในยีนที่ก่อให้เกิด CF ไม่ใช่ปัจจัยใน DPB แต่การกลายพันธุ์ที่มีลักษณะเฉพาะในยีนนี้เกิดขึ้นในชาวเอเชียจำนวนมาก โดยไม่จำเป็นต้องได้รับผลกระทบจากโรคใดโรคหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าการกลายพันธุ์ใด ๆ ของยีนนี้ส่งผลต่อ DPB ได้หรือไม่[4][9]

พยาธิสรีรวิทยา

[แก้]

การอักเสบเป็นกลไกปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยทำให้เกิดการสะสมของเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ เช่น นิวโทรฟิล และสารคีโมไคน์ (สารโปรตีนที่หลั่งจากเซลล์บางชนิดเพื่อกระตุ้นการตอบสนองบางประการของเซลล์อื่น) ในบริเวณใด ๆ ของร่างกายที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือการติดเชื้อไวรัส การอักเสบจะขัดขวางกิจกรรมของแบคทีเรียและไวรัส และช่วยในการกำจัดเชื้อก่อโรคเหล่านี้ให้หมดไปจากร่างกาย ในผู้ป่วย DPB อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น Haemophilus influenzae หรือ Pseudomonas aeruginosa ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของเซลล์อักเสบในเนื้อเยื่อหลอดลมฝอย แต่เมื่อแบคทีเรียเหล่านี้ไม่มีอยู่แล้ว การอักเสบกลับยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ[4][5] การอักเสบใน DPB อาจรุนแรงถึงขนาดที่ปุ่ม (nodule) ที่มีเซลล์อักเสบก่อตัวขึ้นในผนังของหลอดลม[4][13] การที่มีการอักเสบและการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจยังส่งผลให้เกิดการผลิตเมือกส่วนเกิน ซึ่งทำให้มีการไอแบบมีเสมหะ[4][6] ใน DPB การอักเสบ การแพร่กระจายของก้อนเนื้อ การติดเชื้อ เมือก และอาการไอบ่อย ๆ ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก[4][5]

ความจริงที่ว่าการอักเสบใน DPB ขึ้นอยู่กับการมีอยู่ของ P. aeruginosa และ H. influenzae หรือไม่ ก่อให้เกิดการตรวจสอบกลไกต่าง ๆ ของการเกิดโรค DPB[5] ลิวโคไตรอีน [en] เป็นเอโคซานอยด์ [en] ซึ่งเป็นโมเลกุลส่งสัญญาณที่สร้างขึ้นมาจากกรดไขมันจำเป็น มีผลในโรคปอดหลายชนิด โดยทำให้เกิดการแพร่กระจายของเซลล์อักเสบและการผลิตเมือกส่วนเกินในทางเดินหายใจ[14] สารตัวกลางที่เด่นชัดของการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับนิวโทรฟิล คือ leukotriene B4 [en] ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการเพิ่มจำนวนนิวโทรฟิลผ่านปฏิกิริยาชักนำทางเคมี [en] (การเคลื่อนที่ของเซลล์บางชนิดเข้าหรือออกจากอีกเซลล์)[4][9]

การอักเสบใน DPB ยังเกิดจากคีโมไคน์ MIP-1alpha [en] และเกี่ยวข้องกับเซลล์ที CD8+ เบต้าดีเฟนซิน [en] ซึ่งเป็นกลุ่มของเปปไทด์ต้านจุลชีพที่พบในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มเติมใน DPB เมื่อมีเชื้อโรค เช่น P. aeruginosa ใน DPB หากมีไวรัส T-cell lymphotropic ชนิดที่ 1 ของมนุษย์ [en] (เชื้อรีโทรไวรัส [en]) การเกิดโรค DPB จะเปลี่ยนไปเป็นการติดเชื้อที่เซลล์ทีเฮลเปอร์และเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพในการรับรู้ถึงเชื้อโรคที่เกี่ยวข้องกับ DPB[4][9]

การวินิจฉัย

[แก้]
ภาพ HRCT ของปอดส่วนล่างของผู้ป่วย DPB เพศชายอายุ 16 ปี เมื่อได้รับการวินิจฉัย DPB เป็นครั้งแรก (ภาพซ้าย) และ 8 สัปดาห์ต่อมา (ภาพขวา) หลังได้รับการรักษาด้วยยาอีริโทรมัยซินต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ แสดงให้เห็นรอยโรคที่เป็นหลอดลมโป่งพอง (bronchiectasis) ในปอดทั้งสองข้าง และเห็นรอยโรคเป็นปุ่มพบมากบริเวณกลางพูปอด กระจายในลักษณะกิ่งไม้ที่มีช่อดอกอยู่ตรงปลาย (tree-in-bud) ซึ่งดีขึ้นมากหลังได้รับการรักษา

การวินิจฉัย DPB จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เนื้อเยื่อปอดและหลอดลมฝอย ซึ่งจะทำได้ด้วยการตัดชิ้นเนื้อปอดออกตรวจ หรือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความละเอียดสูง (HRCT) ของปอด[7] เกณฑ์การวินิจฉัย DPB คือต้องพบการอักเสบรุนแรงในทุกชั้นของหลอดลมฝอยส่วนทางหายใจ และมีรอยโรคในเนื้อปอดซึ่งปรากฏเป็นปุ่ม (nodule) ในหลอดลมฝอยส่วนปลายและส่วนทางหายใจของปอดทั้งสองข้าง[4] ปุ่มดังกล่าวจะปรากฏเป็นก้อนทึบแสงเมื่อดูจากภาพถ่ายรังสีและอาจทำให้เกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ [en]ได้เมื่อประเมินด้วยการทดสอบการทำงานของปอด [en] (PFT)[6]

ผลตรวจภาพถ่ายรังสีของปอดยังอาจแสดงให้เห็นถึงการขยายของหลอดลม ซึ่งเป็นอาการแสดงอีกอย่างหนึ่งของ DPB ในขณะที่ภาพสแกน HRCT มักแสดงให้เห็นความผิดปกติแบบ tree-in-bud [en] ซึ่งเกิดจากการอุดตันของเมือกในหลอดลม[7]

ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดซึ่งเป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของการหายใจลำบากจะสามารถบอกได้จากปริมาณออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด โดยใช้การตรวจเลือดที่เรียกว่าการตรวจก๊าซจากหลอดเลือดแดง

ผลตรวจอย่างอื่นที่พบได้ในผู้ป่วย DPB ได้แก่ การเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ นิวโทรฟิล และโฟมีฮิสติโอไซต์ [en] (แมโครฟาจที่อยู่ในเนื้อเยื่อ) ที่ผิวเยื่อบุในปอด โดยสามารถตรวจพบจำนวนเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้นได้จากการตรวจเลือดเพื่อนับจำนวนเม็ดเลือด (CBC) อาจตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย H. influenzae หรือ P. aeruginosa ได้ โดยเมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นเชื้อที่พบมักจะเป็น P. aeruginosa มากกว่า[4][5] อาจตรวจพบว่ามีระดับของอิมมูโนกลอบูลินจี อิมมูโนกลอบูลินเอ [en] (สารภูมิต้านทานอิมมูโนกลอบูลินบางชนิด) และรูมาตอยด์แฟกเตอร์ [en] (สารบ่งชี้ภาวะภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง) เพิ่มสูงขึ้นได้ อาจตรวจพบเม็ดเลือดแดงจับตัวเป็นกลุ่ม [en] (hemagglutination) ไวกว่าปกติจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันได้

การตรวจด้วยการสวนล้างหลอดลมและถุงลม [en] (bronchoalveolar lavage) สามารถตรวจพบเม็ดเลือดขาว เบต้าดีเฟนซิน [en] ลิวโครไทรอีน [en] และคีโมไคน์ [en]ได้เช่นกัน[4][9]

การวินิจฉัยแยกโรค

[แก้]

ในการวินิจฉัยแยกโรค (differential diagnosis; การค้นหาการวินิจฉัยที่ถูกต้องระหว่างโรคที่มีลักษณะทับซ้อนกัน) ของโรคปอดอุดกั้นบางชนิด อาการของ DPB หลายประการมีความคล้ายคลึงกับอาการที่พบในโรคปอดอุดกั้นอื่น ๆ เช่น โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง และถุงลมโป่งพอง อาการหายใจมีเสียงหวีด ไอมีเสมหะ และหายใจถี่เป็นอาการที่พบบ่อยในโรคดังกล่าว และพบความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจอุดกั้นในการทดสอบการทำงานของปอด [en][6] ซิสติกไฟโบรซิสมีอาการของโรคคล้ายกันกับ DPB ทำให้เกิดการอักเสบของปอดอย่างรุนแรง การผลิตเมือกออกมามาก การติดเชื้อ แต่ DPB ไม่รบกวนการทำงานของตับอ่อนหรืออิเล็กโทรไลต์ ในขณะที่ CF ส่งผลต่อการทำงาน ดังนั้นโรคทั้งสองจึงแตกต่างกันและอาจไม่เกี่ยวข้องกัน[4][9] โดยที่ DPB มีรอยโรคที่ปรากฏบนภาพถ่ายรังสีเป็นปุ่มในหลอดลมของปอดทั้งสอง มีการอักเสบในเนื้อเยื่อทุกชั้นของหลอดลมทางเดินหายใจ และมีความชุกที่สูงขึ้นในหมู่ชาวเอเชียตะวันออก[4]

DPB และหลอดลมฝอยอักเสบอุดกั้น (OB) เป็นสองรูปแบบหลักของหลอดลมอักเสบ[2] อาการของโรคที่ทับซ้อนกัน ได้แก่ อาการไอรุนแรงและมีเสมหะจำนวนมาก ก้อนที่ปรากฏให้เห็นในภาพถ่ายรังสีบริเวณหลอดลม และไซนัสอักเสบเรื้อรัง ใน DPB ปุ่มส่วนใหญ่จะกำจัดอยู่ในบริเวณหลอดลมทางเดินหายใจ ในขณะที่ OB มักพบในเยื่อหุ้มหลอดลม (ตั้งแต่ส่วนที่ไม่ใช่กระดูกอ่อนจนถึงหลอดลมตติยภูมิ) ไปจนถึงหลอดลมทุติยภูมิ OB เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดลมที่มีความชุกทั่วโลก ในขณะที่ DPB มีความชุกเฉพาะที่มากกว่า โดยส่วนใหญ่พบในประเทศญี่ปุ่น[2][6] ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการรับรู้ถึงอาการของโรค DPB มักได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นโรคหลอดลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเป็นพังผืดไม่ทราบสาเหตุ (IPF) [en] วัณโรคปอดชนิดแพร่กระจาย [en] โรคซาร์คอยด์ [en] หรือโรคมะเร็งปอด[15]

การรักษา

[แก้]
โครงสร้างโมเลกุลของอีริโทรมัยซิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรค DPB

ยาปฏิชีวนะในกลุ่มแมโครไลด์ เช่น อีริโทรมัยซิน สามารถใช้รักษา DPB ได้ โดยต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง[16][17][18] ยาอื่นที่ใช้บ่อย ได้แก่ คลาริโทรมัยซิน หรือ รอกซิโทรมัยซิน[19] ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จของการใช้แมโครไลด์ใน DPB และโรคปอดที่คล้ายคลึงกันนั้นเกิดจากการจัดการอาการบางอย่างผ่านการปรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน [en][17] ซึ่งสามารถทำได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณต่ำ การรักษาด้วยอีริโทรมัยซิน[7]เป็นเวลา 2–3 ปี สามารถรักษาผลกระทบจากโรค DPB ได้อย่างมาก มีการตรวจนับนิวโทรฟิวในของเหลว BAL และการตรวจก๊าซจากหลอดเลือดแดงของผู้ป่วย DPB ที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐาน พบว่านิวโทรฟิลและค่าออกซิเจนในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ[16][17][20] ในกรณีของผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการเสนอให้เว้นระยะชั่วคราวจากการรักษาด้วยอีริโทรมัยซิน เพื่อลดการก่อตัวของ P. aeruginosa ที่ดื้อต่อแมโครไลด์[16] อย่างไรก็ตาม อาการของโรค DPB มักกลับมาอีกครั้ง และกลับมาเริ่มการรักษาใหม่ แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพสูง แต่อีริโทรมัยซินอาจไม่ประสบผลสำเร็จในผู้ป่วยทุกรายที่เป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากมี P. aeruginosa ที่ดื้อต่อแมโครไลด์ หรือไม่ได้รับการรักษาก่อนหน้านี้และมีการแพร่กระจายจนทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว[17][20]

การรักษาด้วยอีริโทรมัยซินใน DPB ทำให้การอักเสบและความเสียหายของหลอดลมลดลงอย่างมาก ไม่เพียงแต่ยับยั้งการเพิ่มจำนวนนิวโทรฟิลเท่านั้น แต่ยังลดกิจกรรมของลิมโฟไซต์ ลดการอุดกั้นของเมือก และลดการหลั่งสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจ[16] ผลของยาปฏิชีวนะอื่นในกลุ่มแมคโครไลด์ไม่เกี่ยวข้องต่อการลดการอักเสบใน DPB[20] เนื่องจากปริมาณการรักษาต่ำเกินไปที่จะจัดการกับการติดเชื้อในกรณี DPB ที่มี P. aeruginosa ที่ดื้อต่อแมโครไลด์ แต่การรักษาด้วยอีริโทรมัยซินยังคงช่วยลดการอักเสบได้[16]

มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการอักเสบโดยอีริโทรมัยซินและแมคโครไลด์อื่น ๆ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแพร่กระจายของนิวโทรฟิล โดยลดความสามารถของอินเตอร์ลิวคิน 8 [en] และ leukotriene B4 [en] ในการดึงดูดนิวโทรฟิล[21] แมคโครไลด์ยังลดประสิทธิภาพของโมเลกุลการยึดเกาะที่ทำให้นิวโทรฟิลเกาะติดกับเยื่อบุเนื้อเยื่อหลอดลม การผลิตเมือกในทางเดินหายใจเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรค DPB และโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของการอักเสบใน DPB ที่เกิดจากการบำบัดด้วยอีริโทรมัยซินยังช่วยยับยั้งการผลิตเมือกส่วนเกินด้วย[21]

พยากรณ์โรค

[แก้]

ผู้ป่วย DPB หากไม่ได้รับการรักษา จะมีอาการทรุดลงจนเกิดหลอดลมโป่งพอง การหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ รายงานจากวารสารปี ค.ศ. 1983 ระบุว่าผู้ป่วย DPB ที่ไม่ได้รับการรักษามีอัตราการรอดชีวิต 5 ปีอยู่ที่ 62.1% ในขณะที่อัตราการรอดชีวิต 10 ปีอยู่ที่ 33.2%[6] การรักษาด้วยอิริโทรมัยซินทำให้ผู้ป่วยมีอายุขัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากทำให้จัดการกับอาการได้ดีขึ้น การลุกลามช้าลง และป้องกันการติดเชื้อที่เกี่ยวข้อง เช่น P. aeruginosa[20] อัตราการรักษาผู้ป่วย DPB ที่มีชีวิตรอด 10 ปีอยู่ที่ประมาณ 90%[4] ในกรณีที่การรักษาส่งผลดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ป่วย DPB จะได้รับการอนุญาตให้หยุดการรักษาได้ ซึ่งบางครั้งเกิดหลังจากผ่านไปประมาณสองปี อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้หยุดการรักษาจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก DPB ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้อีก ต้องกลับมารักษาด้วยอิริโทรมัยซินทันทีเมื่ออาการของโรคปรากฏขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าอาการของโรคจะดีขึ้นทันทีที่ได้รับการรักษา แต่ในปัจจุบัน DPB ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้[4][9]

วิทยาการระบาด

[แก้]

DPB พบได้บ่อยที่สุดในคนญี่ปุ่น คือมีความชุกอยู่ที่ 11 ต่อ 100,000 ประชากร[4] นอกจากนี้ยังมีรายงานการพบผู้ป่วยโรคในคนเชื้อชาติอื่น ๆ เช่น เกาหลี[22] จีน[23] และไทย[24] มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความบกพร่องจากกรรมพันธุ์ในหมู่ชาวเอเชียตะวันออก โรคนี้พบมากในเพศชาย[25] โดยมีอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงอยู่ที่ 1.4–2.1 (ประมาณเพศชาย 5 คนต่อเพศหญิง 3 คน)[4] โดยเฉลี่ยอาการของโรคเริ่มแสดงเมื่ออายุราว ๆ 40 ปี และสองในสามของผู้ป่วยไม่ได้สูบบุหรี่ อย่างไรก็ตามการสูบบุหรี่ไม่ได้ถูกเชื่อว่าเป็นสาเหตุของโรคนี้[7] การมี HLA-Bw54 (แอนติเจน BW54 ในเม็ดเลือดขาว) เพิ่มความเสี่ยงของ DPB ถึง 13.3 เท่า[26]

ในฝั่งทวีปยุโรปและทวีปอเมริกามีจำนวนผู้ป่วย DPB ค่อนข้างน้อยซึ่งเป็นผู้อพยพและผู้อยู่อาศัยชาวเอเชีย[27][28][29] ในประเทศแถบตะวันตกมีการวินิจฉัยโรคผิดพลาดเนื่องจากมีการรับรู้โรคนี้น้อยกว่าในประเทศแถบเอเชีย เมื่อเทียบจำนวนชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกซึ่งมีจำนวนมากกับผู้ป่วย DPB ชาวเอเชียซึ่งมีจำนวนน้อย พบว่าสาเหตุของโรคนี้อาจมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่สาเหตุทางพันธุกรรม และการที่โรคนี้พบได้ยากในชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกบางส่วนอาจมาจากการที่วินิจฉัยโรคผิดพลาดด้วย[7][30]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 แพทย์ในญี่ปุ่นเริ่มสังเกตพบโรคปอดเรื้อรังชนิดใหม่โรคหนึ่ง ต่อมาในปี ค.ศ. 1969 เริ่มมีการใช้ชื่อ diffuse panbronchiolitis เพื่อระบุถึงโรคนี้แยกต่างหากออกมาจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง ถุงลมอักเสบ และโรคปอดอุดกั้นโรคอื่น ๆ ที่มีการอักเสบ[31] ในระหว่างปี ค.ศ. 1978 ถึง 1980 กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของญี่ปุ่นเปิดเผยว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่คาดว่าเป็น DPB มากกว่า 1,000 ราย โดยได้รับการยืนยันทางจุลพยาธิวิทยา 82 ราย ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 โรคนี้ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นโรคจำเพาะของปอด[4][6]

ก่อนคริสต์ทศวรรษ 1980 การพยากรณ์โรคของ DPB ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการติดเชื้อสำทับ จาก P. aeruginosa[13] ผู้ป่วย DPB ยังคงมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมากขึ้น ก่อนที่การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทั่วไปและการรักษาด้วยออกซิเจนจะเริ่มใช้เป็นประจำเพื่อรักษาอาการของโรค ราว ๆ ปี ค.ศ. 1985 การพยากรณ์โรคก็ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากที่การรักษาระยะยาวด้วยอิริโทรมัยซินกลายเป็นการรักษาที่ใช้กันทั่วไปเป็นมาตรฐานสำหรับ DPB[20] และในปี ค.ศ. 1990 ได้มีการยืนยันความเกี่ยวข้องระหว่าง DPB กับ HLA[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Visscher DW, Myers JL (2006). "Bronchiolitis: the pathologist's perspective". Proceedings of the American Thoracic Society. 3 (1): 41–7. doi:10.1513/pats.200512-124JH. PMID 16493150. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Free full text)เมื่อ 2010-04-16. สืบค้นเมื่อ 2022-07-19.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Ryu JH, Myers JL, Swensen SJ (December 2003). "Bronchiolar disorders". American Journal of Respiratory and Critical Care Medicine. 168 (11): 1277–92. doi:10.1164/rccm.200301-053SO. PMID 14644923. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Free full text)เมื่อ 2009-12-02. สืบค้นเมื่อ 2022-07-19.
  3. 3.0 3.1 Ryu JH (March 2006). "Classification and approach to bronchiolar diseases". Current Opinion in Pulmonary Medicine. 12 (2): 145–51. doi:10.1097/01.mcp.0000208455.80725.2a. PMID 16456385. S2CID 23668839.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 4.13 4.14 4.15 4.16 4.17 4.18 4.19 Poletti V, Casoni G, Chilosi M, Zompatori M (October 2006). "Diffuse panbronchiolitis". The European Respiratory Journal. 28 (4): 862–71. doi:10.1183/09031936.06.00131805. PMID 17012632.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Yanagihara K, Kadoto J, Kohno S (2001). "Diffuse panbronchiolitis--pathophysiology and treatment mechanisms". International Journal of Antimicrobial Agents. 18 (Suppl 1): S83–7. doi:10.1016/s0924-8579(01)00403-4. PMID 11574201.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 Homma H, Yamanaka A, Tanimoto S, Tamura M, Chijimatsu Y, Kira S, Izumi T (January 1983). "Diffuse panbronchiolitis. A disease of the transitional zone of the lung". Chest. 83 (1): 63–9. doi:10.1378/chest.83.1.63. PMID 6848335.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 7.7 Anthony M, Singham S, Soans B, Tyler G (October 2009). "Diffuse panbronchiolitis: not just an Asian disease: Australian case series and review of the literature". Biomedical Imaging and Intervention Journal. 5 (4): e19. doi:10.2349/biij.5.4.e19. PMC 3097723. PMID 21610988.
  8. Morris AG, Hewitt C, Young S (1994). The major histocompatibility complex: its genes and their roles in antigen presentation. Vol. 15. Pergamon.
  9. 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 Keicho N, Hijikata M (May 2011). "Genetic predisposition to diffuse panbronchiolitis". Respirology. 16 (4): 581–8. doi:10.1111/j.1440-1843.2011.01946.x. PMID 21303426.
  10. 10.0 10.1 Online 'Mendelian Inheritance in Man' (OMIM) Panbronchiolitis, Diffuse -604809 Retrieved 11 November 2011. "Routine treatments include erythromycin, clarithromycin, and roxithromycin. Azithromycin has also been studied and found to be similarly effective, with a minority of patients described as "cured" and a majority reporting reduced symptoms."
  11. Online 'Mendelian Inheritance in Man' (OMIM) Human Leukocyte Antigen B -142830 Retrieved 21 September 2011.
  12. Online 'Mendelian Inheritance in Man' (OMIM) Human Leukocyte Antigen A -142800 Retrieved 21 September 2011.
  13. 13.0 13.1 Azuma A, Kudoh S (May 2006). "Diffuse panbronchiolitis in East Asia". Respirology. 11 (3): 249–61. doi:10.1111/j.1440-1843.2006.00845.x. PMID 16635082. S2CID 24559334.
  14. Busse WW (June 1998). "Leukotrienes and inflammation". American Journal of Respiratory and Critical Care Medicine. 157 (6 Pt 1): S210-3. doi:10.1164/ajrccm.157.6.mar-1. PMID 9620941. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Free full text)เมื่อ 2007-05-10. สืบค้นเมื่อ 2022-07-19.
  15. Li H, Zhou Y, Fan F, Zhang Y, Li X, Yu H, และคณะ (August 2011). "Effect of azithromycin on patients with diffuse panbronchiolitis: retrospective study of 51 cases". Internal Medicine. 50 (16): 1663–9. doi:10.2169/internalmedicine.50.4727. PMID 21841323.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 Kanoh S, Rubin BK (July 2010). "Mechanisms of action and clinical application of macrolides as immunomodulatory medications". Clinical Microbiology Reviews (Free full text). 23 (3): 590–615. doi:10.1128/CMR.00078-09. PMC 2901655. PMID 20610825.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 López-Boado YS, Rubin BK (June 2008). "Macrolides as immunomodulatory medications for the therapy of chronic lung diseases". Current Opinion in Pharmacology. 8 (3): 286–91. doi:10.1016/j.coph.2008.01.010. PMID 18339582.
  18. Lin X, Lu J, Yang M, Dong BR, Wu HM (January 2015). "Macrolides for diffuse panbronchiolitis". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 1 (1): CD007716. doi:10.1002/14651858.CD007716.pub4. PMC 6464977. PMID 25618845.
  19. Keicho N, Kudoh S (2002). "Diffuse panbronchiolitis: role of macrolides in therapy". American Journal of Respiratory Medicine. 1 (2): 119–31. doi:10.1007/BF03256601. PMID 14720066. S2CID 39880028.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 Schultz MJ (July 2004). "Macrolide activities beyond their antimicrobial effects: macrolides in diffuse panbronchiolitis and cystic fibrosis" (Free full text). The Journal of Antimicrobial Chemotherapy. 54 (1): 21–8. doi:10.1093/jac/dkh309. PMID 15190022.
  21. 21.0 21.1 Tamaoki J, Kadota J, Takizawa H (November 2004). "Clinical implications of the immunomodulatory effects of macrolides". The American Journal of Medicine. 117 (9, Supplement 1): 5S–11S. doi:10.1016/j.amjmed.2004.07.023. PMID 15586558.
  22. Kim YW, Han SK, Shim YS, Kim KY, Han YC, Seo JW, Im JG (May 1992). "The first report of diffuse panbronchiolitis in Korea: five case reports". Internal Medicine. 31 (5): 695–701. doi:10.2169/internalmedicine.31.695. PMID 1504438.
  23. Chen Y, Kang J, Li S (January 2005). "Diffuse panbronchiolitis in China". Respirology. 10 (1): 70–5. doi:10.1111/j.1440-1843.2005.00622.x. PMID 15691241. S2CID 37365518.
  24. Chantarotorn S, Palwatwichai A, Vattanathum A, Tantamacharik D (August 1999). "Diffuse panbronchiolitis, the first case reports in Thailand". Journal of the Medical Association of Thailand = Chotmaihet Thangphaet. 82 (8): 833–8. PMID 10511794.
  25. Høiby N (June 1994). "Diffuse panbronchiolitis and cystic fibrosis: East meets West". Thorax. 49 (6): 531–2. doi:10.1136/thx.49.6.531. PMC 474936. PMID 8016786.
  26. Lazarus SC (2005). Murray and Nadel's Textbook of Respiratory Medicine (4th ed.). WB Saunders. p. 1300. ISBN 978-0-7216-0327-8.
  27. Fitzgerald JE, King TE, Lynch DA, Tuder RM, Schwarz MI (August 1996). "Diffuse panbronchiolitis in the United States". American Journal of Respiratory and Critical Care Medicine. 154 (2 Pt 1): 497–503. doi:10.1164/ajrccm.154.2.8756828. PMID 8756828.
  28. Martinez JA, Guimarães SM, Ferreira RG, Pereira CA (March 2000). "Diffuse panbronchiolitis in Latin America". The American Journal of the Medical Sciences. 319 (3): 183–5. doi:10.1097/00000441-200003000-00008. PMID 10746829.
  29. Sandrini A, Balter MS, Chapman KR (2003). "Diffuse panbronchiolitis in a Caucasian man in Canada". Canadian Respiratory Journal. 10 (8): 449–51. doi:10.1155/2003/786531. PMID 14679410.
  30. Brugiere O, Milleron B, Antoine M, Carette MF, Philippe C, Mayaud C (October 1996). "Diffuse panbronchiolitis in an Asian immigrant". Thorax. 51 (10): 1065–7. doi:10.1136/thx.51.10.1065. PMC 472677. PMID 8977613.
  31. Yamanaka A, Saiki S, Tamura S, Saito K (March 1969). "[Problems in chronic obstructive bronchial diseases, with special reference to diffuse panbronchiolitis]". Naika. Internal Medicine (ภาษาญี่ปุ่น). 23 (3): 442–51. PMID 5783341.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Diffuse panbronchiolitis


การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก