ข้ามไปเนื้อหา

ประเทศสโลวาเกีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สโลวาเกีย)
สาธารณรัฐสโลวัก

Slovenská republika (สโลวัก)
คำขวัญไม่มี
ที่ตั้งของสโลวาเกีย
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
บราติสลาวา
48°09′N 17°07′E / 48.150°N 17.117°E / 48.150; 17.117
ภาษาราชการภาษาสโลวัก
การปกครองรัฐเดี่ยว สาธารณรัฐระบบรัฐสภา
เปเตร์ เปเลกรีนี
รอเบร์ต ฟิตซอ
ได้รับเอกราช
1 มกราคม พ.ศ. 2536
พื้นที่
• รวม
49,036 ตารางกิโลเมตร (18,933 ตารางไมล์) (127)
น้อยมาก
ประชากร
• ก.ค. 2548 ประมาณ
5,431,363 (103)
• สำมะโนประชากร 2544
5,379,455
111 ต่อตารางกิโลเมตร (287.5 ต่อตารางไมล์) (67)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2560 (ประมาณ)
• รวม
$ 178.660 พันล้าน
$ 32,895
จีดีพี (ราคาตลาด) 2560 (ประมาณ)
• รวม
$ 94.997 พันล้าน
$ 17,491
จีนี (2018)positive decrease 20.9[1]
ต่ำ · 8
เอชดีไอ (2019)เพิ่มขึ้น 0.860[2]
สูงมาก · 39
สกุลเงินยูโร (EUR)
เขตเวลาUTC+1 (CET)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC+2 (CEST)
รหัสโทรศัพท์4212
โดเมนบนสุด.sk
1เชโกสโลวะเกียแยกออกเป็นสาธารณรัฐเช็ก (เช็กเกีย) และสโลวาเกีย
2ใช้รหัส 42 ร่วมกับสาธารณรัฐเช็กจนถึงปี พ.ศ. 2540

สโลวาเกีย (อังกฤษ: Slovakia; สโลวัก: Slovensko) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐสโลวัก (อังกฤษ: Slovak Republic; สโลวัก: Slovenská republika)[3] เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในภูมิภาคยุโรปกลาง มีอาณาเขตทางตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับเช็กเกีย ทางเหนือติดต่อกับโปแลนด์ ทางตะวันออกติดต่อกับยูเครน ทางใต้ติดต่อกับฮังการี และทางตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกับออสเตรีย สโลวาเกียมีพื้นที่ 49,000 ตารางกิโลเมตร (19,000 ตารางไมล์) มีประชากร 5.4 ล้านคน เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศคือบราติสลาวา รองลงมาคือกอชิตเซ

ชาวสลาฟเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนปัจจุบันของสโลวาเกียประมาณศตวรรษที่ 5 ถึงศตวรรษที่ 6 และนำไปสู่การก่อตั้ง จักรวรรดิซาโมในศตวรรษที่ 7 ต่อมาในศตวรรษที่ 9 เกิดการสถาปนาราชรัฐญิตราซึ่งต่อมาถูกยึดครองโดยราชรัฐมอเรเวียและนำไปสู่การสถาปนาจักรวรรดิมอเรเวีย การล่มสลายของจักรวรรดิทำให้ดินแดนทั้งหมดถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการีใน ค.ศ. 1000[4] การบุกครองทวีปยุโรปของมองโกลในศตวรรษที่ 13 ทำให้ดินแดนส่วนใหญ่ถูกทำลาย และได้รับการบูรณะอีกครั้งโดยกษัตริย์เบลาที่ 4 แห่งฮังการี ในช่วงเวลานั้น ชาวเยอรมันคาร์เพเทียนซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเยอรมันมีบทบาทสำคัญในดินแดนทั้งหมด โดยเฉพาะทางภูมิภาคตอนกลางและตะวันออกของสโลวาเกียในปัจจุบัน[5]

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ประเทศเชโกสโลวาเกียได้ถือกำเนิดขึ้น ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนของสโลวัก ก่อให้เกิดสาธารณรัฐสโลวักที่ 1 ในฐานะรัฐบริวารของนาซีเยอรมนี นำไปสู่การกดขี่ประชากรชาวยิวอย่างรุนแรงและลงเอยด้วยการเนรเทศและสังหารชาวยิวกว่า 70,000 ราย ขบวนการต่อต้านนาซีก่อให้เกิดการก่อการกำเริบชาติสโลวาเกีย แม้ว่าในที่สุดการจลาจลจะถูกปราบปราม แต่การต่อต้านยังคงดำเนินต่อไป และเชโกสโลวาเกียได้รับเอกราชอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดสงคราม และภายหลังการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยในช่วงเวลาสั้น ๆ เชโกสโลวาเกียก็กลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์หลังการรัฐประหารใน ค.ศ. 1948 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มตะวันออกที่นำโดยสหภาพโซเวียต ความพยายามในการเปิดเสรีทางการเมืองในประเทศสิ้นสุดลงในช่วงปรากสปริง ซึ่งถูกปราบปรามโดยการบุกครองเชโกสโลวาเกียของฝ่ายกติกาสัญญาวอร์ซอในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1968 ต่อมาใน ค.ศ. 1989 เกิดเหตุการณ์การปฏิวัติกำมะหยี่ซึ่งเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองของประเทศ และถือเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบคอมมิวนิสต์ที่ครอบงำประเทศหลายทศวรรษและเปลี่ยนไปเป็นรัฐแบบทุนนิยม การยุบเชโกสโลวาเกียส่งผลให้สโลวาเกียมีฐานะเป็นรัฐเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1993

สโลวาเกียเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้สูงและระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า โดยมีการผสมผสานระหว่างระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเข้ากับระบบประกันสังคมที่ครอบคลุม รวมถึงการให้พลเมืองได้รับการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า และระบบการศึกษาโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรหญิงสามารถใช้สิทธิ์ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้างยาวนานที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกโออีซีดี[6] สโลวาเกียเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป, ยูโรโซน, พื้นที่เชงเกน, สหประชาชาติ, เนโท, องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป และ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป สโลวาเกียมีแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโกแปดแห่ง และยังเป็นประเทศที่มีอัตราการผลิตรถยนต์ต่อหัวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการผลิตมากกว่า 1.1 ล้านคันใน ค.ศ. 2019 คิดเป็น 43% ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด[7]

ภูมิศาสตร์

[แก้]

ที่ตั้ง อยู่ตอนกลางของทวีปยุโรป ไม่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเล ทิศเหนือติดกับโปแลนด์ ทิศใต้ติดกับฮังการี ทิศตะวันออกติดกับยูเครน และทิศตะวันตกติดกับเช็กเกียและออสเตรีย พื้นที่ 49,035 ตารางกิโลเมตร เมืองหลวง กรุงบราติสลาวา (Bratislava) ภูมิอากาศ อากาศเย็นในหน้าร้อน และช่วงหน้าหนาวค่อนข้างหนาว มีหมอกและอากาศชื้น

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 5

[แก้]

ในช่วงเวลาประมาณ 450 ปีก่อนคริสต์ศักราช บริเวณดินแดนที่เป็นประเทศสโลวาเกียทุกวันนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของพวกเคลต์ซึ่งเป็นผู้สร้างออปปีดา (oppida - ชุมชนขนาดใหญ่ในช่วงปลายยุคเหล็ก มีลำน้ำล้อมรอบ) ที่บราติสลาวาและฮาฟรานอค เหรียญเงินที่มีชื่อของกษัตริย์เคลต์จารึกไว้ ที่เรียกว่า ไบอะเท็ก (Biatec) เป็นสิ่งแสดงถึงการใช้ตัวอักษรเป็นครั้งแรกในดินแดนแห่งนี้ ในปี ค.ศ. 6 (ประมาณ พ.ศ. 549) จักรวรรดิโรมันอันกว้างใหญ่ได้จัดตั้งและบำรุงแนวกองรักษาด่านรอบ ๆ แม่น้ำดานูบ ต่อมาราชอาณาจักรวานนีอุสได้ปรากฏขึ้นในสโลวาเกียตอนกลางและตะวันตก โดยการจัดตั้งของพวกอนารยชนเผ่าควอดี ซึ่งเป็นชนเผ่าเยอรมันสาขาหนึ่ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 20-50 (ประมาณปี พ.ศ. 563-593)

กลุ่มรัฐสลาฟ

[แก้]

ชาวสลาฟเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนสโลวาเกียในคริสต์ศตวรรษที่ 5 และภาคตะวันตกของสโลวาเกียกลายเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิกษัตริย์ซาโมในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ต่อมารัฐสโลวักที่ชื่อ ราชรัฐญิตรา (Principality of Nitra) ก็ได้ก่อตัวขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และเมื่อถึงปี ค.ศ. 828 (พ.ศ. 1371) เจ้าชายพรีบีนาสร้างโบสถ์คริสต์แห่งแรกขึ้นในสโลวาเกีย ราชรัฐนี้ได้เข้าร่วมกับแคว้นมอเรเวียเป็นบริเวณศูนย์อำนาจของจักรวรรดิเกรตมอเรเวีย (Great Moravian Empire) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 833 (พ.ศ. 1376) จุดสูงสุดของราชรัฐสโลวักแห่งนี้ได้มาถึงพร้อมกับการเข้ามาของนักบุญซีริลและนักบุญเมโทดีอุสในปี ค.ศ. 863 (พ.ศ. 1406) อยู่ในสมัยของเจ้าชายราสตีสลาฟ และอีกช่วงหนึ่งคือช่วงขยายดินแดนในสมัยพระเจ้าสเวตอพลุคที่ 1

ราชอาณาจักรฮังการี

[แก้]
ปราสาทออราวา (Orava Castle)

ภายหลังการกระจัดกระจายของจักรวรรดิเกรตมอเรเวียในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ชาวมอยอร์ (ชาวฮังการี) ก็ค่อย ๆ เข้าครอบครองดินแดนสโลวาเกียปัจจุบัน ภายในศตวรรษเดียวกัน สโลวาเกียตะวันตกเฉียงใต้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชรัฐฮังการี (Hungarian principality) ซึ่งมีฐานะเป็นราชอาณาจักรฮังการี (Kingdom of Hungary) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1000 (พ.ศ. 1543) พื้นที่ส่วนใหญ่ของสโลวาเกียถูกผนวกเข้ากับราชอาณาจักรแห่งนี้เมื่อถึงปี ค.ศ. 1100 (พ.ศ. 1643) และพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อถึงปี ค.ศ. 1400 (พ.ศ. 1943)

เนื่องจากเศรษฐกิจระดับสูงและการพัฒนาทางวัฒนธรรมที่มากขึ้น สโลวาเกียจึงยังคงมีความสำคัญในรัฐใหม่แห่งนี้ เป็นเวลาเกือบสองศตวรรษที่ราชรัฐญิตรามีการปกครองตนเองภายในราชอาณาจักรฮังการี การตั้งถิ่นฐานของชาวสโลวักได้ขยายเข้าไปในตอนเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของฮังการีในปัจจุบัน ในขณะที่ชาวแมกยาร์ก็เริ่มตั้งหลักแหล่งทางใต้ของสโลวาเกีย การผสมผสานทางชาติพันธุ์มีความหลากหลายมากขึ้นหลังจากการเข้ามาของชาวเยอรมันคาร์เพเทียนในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาววลาคในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และชาวยิว

การสูญเสียประชากรขนานใหญ่เกิดขึ้นเมื่อพวกมองโกลจากเอเชียกลางเข้ามารุกรานในปี ค.ศ. 1241 (พ.ศ. 1784) ซึ่งก่อให้เกิดทุพภิกขภัยตามมา อย่างไรก็ตาม เมืองต่าง ๆ สโลวาเกียในยุคกลางก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการก่อสร้างปราสาทหลายแห่ง รวมทั้งมีการพัฒนาศิลปะ ในปี ค.ศ. 1467 (พ.ศ. 2010) มัตตีอัส กอร์วีนุสได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกขึ้นในบราติสลาวา แต่สถาบันแห่งนี้ก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน

มหาวิหารเซนต์อลิซาเบธ (St. Elizabeth's Cathedral) ในเมืองคอชีตเซ (Košice)

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังจากที่จักรวรรดิออตโตมันได้เริ่มขยายอาณาเขตเข้ามาในฮังการีและสามารถยึดครองเมืองสำคัญ คือ บูดา (Buda) และแซแคชแฟเฮร์วาร์ (Szekesfehérvár) ไว้ได้ ศูนย์กลางของอาณาจักรฮังการี (ภายใต้ชื่อ รอแยลฮังการี) ได้ย้ายขึ้นไปสู่สโลวาเกีย บราติสลาวา (ขณะนั้นรู้จักกันในชื่อ เพรสส์บูร์ก โพโชนย์ เพรชพอรอค หรือ โปโซนีอุม) ได้กลายเป็นเมืองหลวงของรอแยลฮังการีในปี ค.ศ. 1536 (พ.ศ. 2079) แต่สงครามออตโตมันและการจลาจลต่อต้านราชวงศ์ฮับสบูร์กที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งได้ก่อให้เกิดการทำลายล้างที่ใหญ่หลวงโดยเฉพาะในเขตชนบท ความสำคัญของสโลวาเกียภายในฮังการีลดลงเมื่อพวกเติร์กได้ล่าถอยออกไปจากอาณาจักรในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่บราติสลาวายังคงสถานะเป็นเมืองหลวงของฮังการีจนกระทั่งปี ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391) จึงย้ายเมืองหลวงกลับไปที่บูดาเปสต์

ระหว่างการปฏิวัติในปี 1848-1849 (พ.ศ. 2391-2392) ชาวสโลวักให้การสนับสนุนจักรพรรดิออสเตรียด้วยความหวังที่จะแยกตัวจากฮังการี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในยุคสมัยของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1867-1918 (พ.ศ. 2410-2461) ชาวสโลวักต้องประสบกับการกดขี่ทางวัฒนธรรมอย่างเข้มงวดจากนโยบายทำให้เป็นแมกยาร์ที่รัฐบาลฮังการีเป็นผู้ส่งเสริม

คริสต์ศตวรรษที่ 20

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) สโลวาเกียได้ร่วมกับแคว้นโบฮีเมีย (Bohemia) และแคว้นมอเรเวีย (Moravia) ซึ่งเป็นดินแดนข้างเคียงเพื่อก่อตั้งประเทศเชโกสโลวาเกีย (Czechoslovakia) เป็นอิสระจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี โดยได้รับการรับรองจากสนธิสัญญาแซงแชร์แมงและสนธิสัญญาตรียานง ในปีถัดมา คือ ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) เป็นช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายที่ตามมาหลังการแตกแยกของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ดินแดนสโลวาเกียได้ถูกโจมตีจากสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี (Hungarian Soviet Republic) พื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของสโลวาเกียได้ถูกยึดครองและตั้งเป็นสาธารณรัฐโซเวียตสโลวัก (Slovak Soviet Republic) อยู่ไม่ถึงหนึ่งเดือน จึงถูกกองทัพเชโกสโลวักยึดพื้นที่คืนมาได้

ในปี ค.ศ. 1939 ประธานาธิบดียอเซฟ ตีซอ ผู้นิยมนาซีเยอรมนี ได้ประกาศให้สาธารณรัฐสโลวักที่ 1 (First Slovak Republic) เป็นเอกราชจากเชโกสโลวาเกีย จึงเกิดขบวนการต่อต้านนาซีขึ้นซึ่งได้ก่อการประท้วงที่รู้จักกันในชื่อ การลุกฮือของชาวสโลวัก (Slovak National Uprising) ในปี ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) แม้ว่ากลุ่มผู้ก่อการจลาจลจะถูกปราบปรามลงได้ แต่การสู้รบแบบกองโจรก็ยังดำเนินต่อไป จนกระทั่งกองทัพโซเวียต (ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพโรมาเนีย) เข้ามาขับไล่นาซีออกไปจากสโลวาเกียในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เชโกสโลวาเกียได้รับการจัดตั้งเป็นประเทศขึ้นใหม่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตและสนธิสัญญาวอร์ซอตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) เป็นต้นมา ต่อมาในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ประเทศนี้ได้กลายเป็นรัฐสหพันธ์ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเช็ก (Czech Socialist Republic) และสาธารณรัฐสังคมนิยมสโลวัก (Slovak Socialist Republic)

การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ในเชโกสโลวาเกียสิ้นสุดลงเมื่อถึงปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) ซึ่งอยู่ในช่วงการปฏิวัติเวลเวต (Velvet Revolution) อันเป็นไปอย่างสันติ ตามมาด้วยการสลายตัวของประเทศออกเป็นรัฐสืบสิทธิ์สองรัฐ นั่นคือ สโลวาเกียและสาธารณรัฐเช็กได้แยกออกจากกันหลังวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) เหตุการณ์นี้บางครั้งเรียกว่าการแยกทางเวลเวต (Velvet Divorce) อย่างไรก็ตาม สโลวาเกียยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสาธารณรัฐเช็กเช่นเดียวกับประเทศยุโรปกลางอื่น ๆ ในกลุ่มวีเซกราด สโลวาเกียได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)

การเมืองการปกครอง

[แก้]

สโลวาเกียเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีระบบหลายพรรค การเลือกตั้งรัฐสภาครั้งสุดท้ายมีขึ้นในวันที่ 30 กันยายน 2023 และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2 รอบในวันที่ 16 และ 30 มีนาคม 2019

ประมุขแห่งรัฐสโลวักและหัวหน้าอย่างเป็นทางการของผู้บริหารคือประธานาธิบดี (ปัจจุบันคือ ซูซานา ชาปูตอวา ประธานาธิบดีหญิงคนแรก) แม้ว่าจะมีอำนาจที่จำกัดมากก็ตาม ประธานาธิบดีได้รับเลือกโดยการลงคะแนนเสียงโดยตรงและได้รับความนิยมภายใต้ระบบสองรอบ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปี อำนาจบริหารส่วนใหญ่ตกเป็นของหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันคือ รอเบร์ต ฟิตซอ) ซึ่งโดยปกติจะเป็นผู้นำของพรรคที่ชนะและต้องการจัดตั้งแนวร่วมเสียงข้างมากในรัฐสภา นายกรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ส่วนที่เหลือของคณะรัฐมนตรีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี

สภานิติบัญญัติสูงสุดของสโลวาเกียคือสภาแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐสโลวักซึ่งมีสภาเดียวซึ่งมีที่นั่ง 150 ที่นั่ง (Národná rada Slovenskej republiky) ผู้แทนจะได้รับเลือกให้มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีบนพื้นฐานของการเป็นตัวแทนตามสัดส่วน

หน่วยงานตุลาการที่สูงที่สุดของสโลวาเกียคือศาลรัฐธรรมนูญแห่งสโลวาเกีย (Ústavný súd) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลประเด็นด้านรัฐธรรมนูญ สมาชิก 13 คนของศาลนี้ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีจากรายชื่อผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อโดยรัฐสภา

รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐสโลวักได้ถูกประกาศเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1992 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1993 ได้รับการแก้ไขในเดือนกันยายน 1998 เพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง และอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2001 เนื่องจากข้อกำหนดการรับเข้าร่วมสหภาพยุโรป ระบบกฎหมายแพ่งใช้รหัสออสโตร - ฮังการี ประมวลกฎหมายได้รับการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีขององค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) และเพื่อล้างทฤษฎีกฎหมายของลัทธิมากซ์-เลนิน สโลวาเกียยอมรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศภาคบังคับ

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

สโลวาเกียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 แคว้น (Regions - kraje) แต่ละแคว้นมีชื่อเรียกตามเมืองหลักของแคว้นนั้น โดยมีอำนาจในการปกครองตนเองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545)

เขตการปกครองของสโลวาเกีย
  1. แคว้นบราติสลาวา (บราติสลาวา)
  2. แคว้นเตอร์นาวา (เตอร์นาวา)
  3. แคว้นเตร็นชีน (เตร็นชีน)
  4. แคว้นญิตรา (ญิตรา)
  5. แคว้นฌิลินา (ฌิลินา)
  6. แคว้นบันสกาบิสตริตซา (บันสกาบิสตริตซา)
  7. แคว้นเปรชอว์ (เปรชอว์)
  8. แคว้นกอชิตเซ (กอชิตเซ)

แคว้นต่าง ๆ แบ่งย่อยออกเป็น เขต (districts - okresy) ปัจจุบัน ในสโลวาเกียมี 79 เขต

นโยบายต่างประเทศ

[แก้]

ความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป

[แก้]

นโยบายต่างประเทศในปัจจุบัน ภายใต้การนำของนาย Jan Kubis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตนักการทูต ซึ่งเชี่ยวชาญการทูตพหุภาคี เปลี่ยนแนวทางจากการให้ความสำคัญและสร้างความใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มาเป็นการให้ความสำคัญกับสหภาพยุโรป และปรับนโยบายต่างประเทศตามแนวทางของสหภาพยุโรปแทน

ปัจจุบันสโลวาเกียมีบทบาทที่สำคัญในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ วาระปี 2549-2550 นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกของ OSCE OECD นาโต้ และ สหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี 2547

ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างสโลวาเกียกับฮังการีเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสโลวาเกีย อันเนื่องมาจากปัญหาชนกลุ่มน้อยเชื้อสายฮังกาเรียนใน สโลวาเกีย ซึ่งมีอยู่ประมาณประมาณ 600,000 คน หรือ ร้อยละ 9.7 (ฮังการีเคยปกครองสโลวาเกียอยู่กว่า 1,000 ปีภายใต้จักรวรรดิออสโตร-ฮังการเรียน จึงมีชาวฮังการีในสโลวาเกียจำนวนมาก) ในสมัยของนายกรัฐมนตรี Meciar ได้เคยออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของชาวฮังกาเรียน เช่น ประกาศใช้ภาษาสโลวักเป็นภาษาทางการเพียงภาษาเดียว อีกทั้งยังห้ามใช้ป้ายภาษาฮังการีแม้แต่ในย่านที่อยู่อาศัยของชาวฮังกาเรียนกลุ่มน้อย ในขณะที่ฮังการีได้ออกกฎหมายที่จะให้สิทธิและความคุ้มครองชนเชื้อสายฮังการีแม้จะเป็นประชากรของประเทศอื่น ๆ จึงส่งผลให้ประเทศทั้งสองมีความขัดแย้งกันในระดับหนึ่ง

กองทัพ

[แก้]

เศรษฐกิจ

[แก้]

เศรษฐกิจของสโลวาเกียเริ่มมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลของนาย Mikulas Dzurinda ได้เข้ามาบริหารประเทศในปี 2541 โดยนโยบายหลักของรัฐบาลคือการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ไปสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาด การสร้างเสถียรภาพ และการปฏิรูปโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจมหภาค ตลอดจนดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและระบบธนาคาร ซึ่งส่งผลให้สภาวะทางเศรษฐกิจของสโลวักมีความมั่นคงและการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น สโลวาเกียเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment) ที่สูงมากเนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่เอื้ออำนวยการลงทุนจากต่างชาติ (ธนาคารส่วนใหญ่ในประเทศเป็นของคนต่างชาติ) ศักยภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สูง เนื่องจากในสมัยสังคมนิยมถูกกำหนดให้เป็นศูนย์อุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าจักรกล อุปกรณ์โดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ นอกจากนี้สโลวาเกียยังมีข้อได้เปรียบเรื่องค่าแรงที่ถูก และแรงงานมีการศึกษา มีระบบโครงสร้างภาษีที่เอื้ออำนวยต่อนักลงทุน ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติ อาทิ U.S. Steel, Volkswagen, Siemens, Plastic Omnium Matsushita, Deutsche Telecom และ Sony เข้าไปลงทุนในสโลวาเกีย นอกจากนี้ สโลวาเกียยังเป็นฐานการผลิตสินค้าราคาถูกสำหรับประเทศในสหภาพยุโรปอีกด้วย

ภายหลังจากที่นาย Robert Fico เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2549 มีนโยบายที่เน้นความเป็นชาตินิยมและการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดน้อยลงกว่า 2-3 ปีก่อน โดยมีการคาดการณ์กันว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในระดับร้อยละ 6.5-7 ในปี 2550

การท่องเที่ยว

[แก้]

โครงสร้างพื้นฐาน

[แก้]

วิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี

[แก้]

Slovak Academy of Sciences เป็นสถาบันทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยที่สำคัญที่สุดในประเทศมาตั้งแต่ปี 1953 ชาวสโลวาเกียมีส่วนสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์และทางเทคนิคที่โดดเด่นตลอดประวัติศาสตร์ ขณะนี้สโลวาเกียอยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิกขององค์การอวกาศยุโรป สถานะผู้สังเกตการณ์ได้รับในปี 2010 เมื่อสโลวาเกียลงนามในข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยความร่วมมือ[8] ซึ่งมีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับโครงการการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ และสโลวาเกียได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาต่างๆ ของ ESA ในปี พ.ศ. 2558 สโลวาเกียได้ลงนามในข้อตกลงรัฐความร่วมมือแห่งยุโรป โดยสโลวาเกียให้คำมั่นในโครงการรับเข้าทางการเงินชื่อ PECS (แผนสำหรับรัฐความร่วมมือแห่งยุโรป) ซึ่งทำหน้าที่เป็นการเตรียมการสำหรับการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ องค์กรวิจัยและพัฒนาของสโลวาเกียสามารถสมัครขอรับทุนสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศได้ คาดว่าจะเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของสโลวาเกียใน ESA ในปี 2020 หลังจากลงนามในอนุสัญญา ESA สโลวาเกียจะต้องกำหนดงบประมาณของรัฐรวมถึงเงินทุนของ ESA สโลวาเกียอยู่ในอันดับที่ 33 ในดัชนีนวัตกรรมระดับโลกในปี 2021[9]

การศึกษา

[แก้]
มหาวิทยาลัยคอเมนุสในบราติสลาวา

โครงการประเมินนักศึกษานานาชาติ ซึ่งประสานงานโดย OECD ในปัจจุบันจัดอันดับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาของสโลวาเกียเป็นอันดับที่ 30 ของโลก (อยู่ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาและอยู่เหนือสเปนเพียงเล็กน้อย)[10]

การศึกษาในประเทศสโลวาเกียเป็นภาคบังคับตั้งแต่อายุ 6 ปี ถึง 16 ปี ระบบการศึกษาประกอบด้วยโรงเรียนประถมศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (อายุ 6-10 ปี) และชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 (อายุ 10-15 ปี) ซึ่งจบโดยรับทั่วประเทศ การทดสอบที่เรียกว่า Monitor ในภาษาสโลวักและคณิตศาสตร์ ผู้ปกครองอาจสมัครขอความช่วยเหลือทางสังคมสำหรับเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนปลายได้ หากได้รับการอนุมัติ รัฐจะจัดเตรียมสิ่งจำเป็นในการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเด็ก โรงเรียนจัดเตรียมหนังสือให้กับนักเรียนทุกคน ยกเว้นหนังสือสำหรับเรียนภาษาต่างประเทศตามปกติและหนังสือที่ต้องจดบันทึก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดแรก

หลังจากจบชั้นประถมศึกษา นักเรียนจะต้องเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายหนึ่งปี

หลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ และได้รับการสนับสนุนอย่างมากให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย สโลวาเกียมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดคือ มหาวิทยาลัยคอเมนุส ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1919 แม้ว่าจะไม่ใช่มหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เคยก่อตั้งขึ้นในดินแดนสโลวัก แต่ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงเปิดดำเนินการ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในสโลวาเกียได้รับทุนจากรัฐซึ่งใครๆ ก็สามารถสมัครได้ พลเมืองทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาฟรีในโรงเรียนของรัฐ

สโลวาเกียมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากเอกชนหลายแห่ง แต่มหาวิทยาลัยของรัฐก็มีคะแนนในการจัดอันดับที่ดีกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยมีเกณฑ์การรับนักศึกษาที่แตกต่างกัน ใครๆ ก็สามารถสมัครเข้ามหาวิทยาลัยใดก็ได้

ประชากร

[แก้]

เชื้อชาติ

[แก้]
ความหนาแน่นของประชากรในสโลวาเกีย มองเห็นเมืองใหญ่ที่สุดสองเมืองได้อย่างชัดเจน คือบราติสลาวาทางตะวันตก และกอซิตเชทางตะวันออก

ประชากรมีมากกว่า 5.4 ล้านคน และส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวสโลวัก ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 110 คนต่อตารางกิโลเมตร[11] จากการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2021 ชาวสโลวาเกียส่วนใหญ่เป็นชาวสโลวัก (83.82%) ชาวฮังการีเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุด (7.75%) กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ โรมา (1.23%)[12] เช็ก (0.53%), รูซึน (0.44%) และอื่นๆ หรือไม่ระบุ (6.1%)[13]

ในปี 2018 อายุเฉลี่ยของประชากรสโลวักคือ 41 ปี[14]

การอพยพครั้งใหญ่ของชาวสโลวักเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ในการสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกาในปี 1990 ผู้คน 1.8 ล้านคนระบุตัวตนว่ามีเชื้อสายสโลวัก[15]

ศาสนา

[แก้]
มหาวิหารเซนต์เจมส์ใน เลวอซา
อาสนวิหารเซนต์อลิซาเบธ ในกอซิตเช เป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดในสโลวาเกีย

รัฐธรรมนูญสโลวักรับประกันเสรีภาพในการนับถือศาสนา ในปี 2021 ประชากร 55.8% ระบุว่าเป็นนิกายโรมันคาทอลิก, 5.3% นับถือศาสนาลูเทอแรน, 1.6% นับถือศาสนาคาลวิน, 4% นับถือศาสนากรีกคาทอลิก, 0.9% นับถือศาสนาออร์ทอดอกซ์, 23.8% ระบุว่าตนเองเชื่อว่าไม่มีพระเจ้าหรือไม่นับถือศาสนา และ 6.5% ไม่ได้ระบุ ตอบคำถามเกี่ยวกับความเชื่อของพวกเขา[16]ในปี 2004 สมาชิกคริสตจักรประมาณหนึ่งในสามเข้าร่วมพิธีของคริสตจักรเป็นประจำ[17] โบสถ์กรีกคาทอลิกสโลวักเป็นโบสถ์คาทอลิกแบบพิธีกรรมตะวันออก ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวประมาณ 90,000 คนอาศัยอยู่ในสโลวาเกีย (1.6% ของประชากรทั้งหมด) แต่ส่วนใหญ่ถูกสังหารระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หลังจากการลดลงเพิ่มเติมเนื่องจากการอพยพหลังสงคราม ปัจจุบันเหลือชาวยิวเพียงประมาณ 2,300 คนเท่านั้น (0.04% ของประชากรทั้งหมด)[18]

มีศาสนาที่จดทะเบียนโดยรัฐ 18 ศาสนาในสโลวาเกีย โดย 16 ศาสนาเป็นคริสเตียน 1 ศาสนาเป็นยิว และ 1 ศาสนาเป็นศาสนาบาไฮ[19] ในปี 2559 รัฐสภาสโลวักส่วนใหญ่สองในสามได้ประกาศผ่านร่างกฎหมายใหม่ที่จะขัดขวางไม่ให้ศาสนาอิสลามและองค์กรศาสนาอื่น ๆ กลายเป็นศาสนาที่รัฐยอมรับ โดยเพิ่มเกณฑ์ผู้ติดตามขั้นต่ำเป็นสองเท่าจาก 25,000 คนเป็น 50,000 คน อย่างไรก็ตาม Andrej Kiska ประธานาธิบดีในขณะนั้นของสโลวาเกียได้คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว[19]ในปี 2010 มีชาวมุสลิมประมาณ 5,000 คนในสโลวาเกีย คิดเป็นไม่ถึง 0.1% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ[20] สโลวาเกียเป็นรัฐเดียวของสหภาพยุโรปที่ไม่มีมัสยิด[21]

ภาษา

[แก้]
โครงสร้างทางภาษาของประเทศสโลวาเกียในปี 2021

ภาษาราชการคือภาษาสโลวัก ซึ่งเป็นสมาชิกของตระกูลภาษาสลาวิก ภาษาฮังการีเป็นภาษาพูดกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ และภาษารูซึน ถูกใช้ในบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาษาของชนกลุ่มน้อยมีสถานะเป็นทางการร่วมในเขตเทศบาล ซึ่งขนาดของประชากรชนกลุ่มน้อยตรงตามเกณฑ์ทางกฎหมายที่ 15% ในการสำรวจสำมะโนสองครั้งติดต่อกัน[22]

ตัวอักษรสโลวักมี 46 ตัวอักษร โดย 3 ตัวเป็น digraphs และ 18 ตัวมีตัวกำกับเสียง

สโลวาเกียได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในสหภาพยุโรปเกี่ยวกับความรู้ภาษาต่างประเทศ ในปี 2550 68% ของประชากรอายุระหว่าง 25 ถึง 64 ปีอ้างว่าพูดภาษาต่างประเทศได้ตั้งแต่สองภาษาขึ้นไป โดยอยู่ในอันดับที่สองในสหภาพยุโรป ภาษาต่างประเทศที่รู้จักกันดีที่สุดในสโลวาเกียคือภาษาเช็ก รายงานของ Eurostat ยังแสดงให้เห็นว่า 98.3% ของนักเรียนสโลวักในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเรียนภาษาต่างประเทศสองภาษา ซึ่งอยู่ในอันดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 60.1% ในสหภาพยุโรป[23] จากการสำรวจของ Eurobarometer ในปี 2012 พบว่า 26% ของประชากรมีความรู้ภาษาอังกฤษในระดับการสนทนา รองลงมาคือภาษาเยอรมัน (22%) และรัสเซีย (17%)[24]

ชุมชนคนหูหนวกใช้ภาษามือสโลวัก แม้ว่าภาษาเช็กและสโลวักจะพูดคล้ายกัน แต่ภาษาสัญลักษณ์สโลวักก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับภาษามือเช็กเป็นพิเศษ

การจัดอันดับนานาชาติ

[แก้]
  • อันดับที่ 8 จาก 168 ประเทศในดัชนีเสรีภาพสื่อทั่วโลก ปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) จากการจัดอันดับของรีพอร์ตเตอส์วิทเอาต์บอร์เดอส์ (Reporters Without Borders)
  • อันดับที่ 42 จาก 177 ประเทศในการจัดอันดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)
  • อันดับที่ 34 จาก 157 ประเทศในการจัดอันดับดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Index of Economic Freedom) ปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)

บทอ่านเพิ่มเติม

[แก้]
  • Alfred Horn. Insight Guide: Czech & Slovak Republics.
  • Eugen Lazistan, Fedor Mikovic, Ivan Kucma and Anna Jureckova. Slovakia: A Photographic Odyssey.
  • Jim Downs. World War II: OSS Tragedy in Slovakia. *Julius Bartl and Dusan Skvarna. Slovak History: Chronology & Lexicon.
  • Krejčí, Oskar. Geopolitics of the Central European Region. The view from Prague and Bratislava. เก็บถาวร 2006-08-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Bratislava: Veda, 2005. 494 p. (ดาวน์โหลดฟรี)
  • Lil Junas. My Slovakia: An American's View.
  • Mark W. A. Axworthy. Axis Slovakia: Hitler's Slavic Wedge, 1938-1945.
  • Michael Jacobs. Blue Guide: Czech and Slovak Republics.
  • Minton F. Goldman. Slovakia Since Independence : A Struggle for Democracy.
  • Neil Wilson, Richard Nebesky. Lonely Planet World Guide: Czech & Slovak Republics.
  • Olga Drobna, Eduard Drobny and Magdalena Gocnikova. Slovakia: The Heart of Europe.
  • Pavel Dvorak. The Early History of Slovakia in Images. Photographs by Jakub Dvorak ISBN 80-85501-34-1
  • Rob Humphreys. The Rough Guide: Czech and Slovak Republics.
  • Sharon Fisher. Political Change in Post-Communist Slovakia and Croatia: From Nationalist to Europeanist. New York: Palgrave Macmillan, 2006. ISBN 1-4039-7286-9
  • Stanislav Kirschbaum. A History of Slovakia : The Struggle for Survival.
  • The Slovak Republic: A Decade of Independence, 1993-2002.

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Gini coefficient of equivalised disposable income - EU-SILC survey". ec.europa.eu. Eurostat. สืบค้นเมื่อ 8 January 2020.
  2. Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
  3. CIA. "The World Factbook: Slovakia." [Online]. Available: https://www.cia.gov/cia/publications/factbook/geos/lo.html เก็บถาวร 2007-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2007. Retrieved 2/13/2007.
  4. Dixon-Kennedy, Mike (1998-12-08). Encyclopedia of Russian and Slavic Myth and Legend (ภาษาอังกฤษ). Bloomsbury Academic. ISBN 978-1-57607-063-5.
  5. Karl Julius Schröer, Die deutschen Mundarten des ungrischen Berglandes (1864)
  6. "Which countries are most generous to new parents?". The Economist. ISSN 0013-0613. สืบค้นเมื่อ 2023-12-08.
  7. a.s, Petit Press (2020-01-13). "Slovakia beats record in car production, again". spectator.sme.sk (ภาษาอังกฤษ).
  8. "Spolupráca s ESA - Slovak Space Portal". Slovak Space Portal (ภาษาสโลวัก). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 November 2017. สืบค้นเมื่อ 5 November 2017.
  9. "Global Innovation Index 2021". World Intellectual Property Organization (ภาษาอังกฤษ). United Nations. สืบค้นเมื่อ 2022-03-05.
  10. "Range of rank on the PISA 2006 science scale at OECD" (PDF). สืบค้นเมื่อ 16 October 2010.
  11. "Europe:: Slovakia — The World Factbook - Central Intelligence Agency". www.cia.gov. สืบค้นเมื่อ 28 July 2019.
  12. "Roma political and cultural activists estimate that the number of Roma in Slovakia is higher, citing a figure of 350,000 to 400,000". Slovakia.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 August 2013. สืบค้นเมื่อ 25 November 2012.
  13. "Census 2021". scitanie.sk.
  14. "The World FactBook - Serbia", The World Factbook, 12 July 2018 บทความนี้รวมเอาเนื้อความจากแหล่งอ้างอิงนี้ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ
  15. "The Slovaks in America". European Reading Room, Library of Congress.
  16. "Roman Catholics represents 56% of the population". SODB 2021. Štatistický úrad slovenskej republiky. สืบค้นเมื่อ 6 April 2022.
  17. Manchin, Robert (2004). "Religion in Europe: Trust Not Filling the Pews". Gallup. สืบค้นเมื่อ 4 December 2009.
  18. Vogelsang, Peter; Brian B. M. Larsen (2002). "Deportations". The Danish Center for Holocaust and Genocide Studies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 August 2011. สืบค้นเมื่อ 26 April 2008.
  19. 19.0 19.1 Miroslava Hukelova (5 January 2017). "Slovak president vetoes controversial law heaping hostility on Muslims in Central Europe". The Conversation.
  20. Na Slovensku je 5-tisíc moslimov: Bude v našej krajine mešita? | Nový Čas. Cas.sk (11 August 2010). Retrieved on 4 February 2017.
  21. "Slovensko je poslednou krajinou únie, kde nie je mešita". Pluska (ภาษาสโลวัก). 7 PLUS, s.r.o. 15 November 2014. สืบค้นเมื่อ 5 April 2014.
  22. Slovenskej Republiky, Národná Rada (1999). "Zákon 184/1999 Z. z. o používaní jazykov národnostných menšín" (ภาษาสโลวัก). Zbierka zákonov. สืบค้นเมื่อ 3 December 2016.
  23. "Eurostat report on foreign languages September 2009" (PDF). Epp.eurostat.ec.europa.eu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 24 January 2013. สืบค้นเมื่อ 25 November 2012.
  24. "Europeans and their languages". European Commission. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 October 2022. สืบค้นเมื่อ 28 July 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

2 = สโลวาเกีย