สโมสรฟุตบอลเบอร์ตันอัลเบียน
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลเบอร์ตันอัลเบียน | ||
---|---|---|---|
ฉายา | บรูว์เออส์ | ||
ก่อตั้ง | 1950 | ||
สนาม | สนามกีฬาปีเรลลี เบอร์ตัน-อะพอน-เทรนต์ สแตฟฟอร์ดเชอร์ | ||
ความจุ | 6,912 | ||
ประธาน | เบน โรบินสัน (เอ็มบีอี) | ||
ผู้จัดการ | Martin Paterson | ||
ลีก | อีเอฟแอลลีกวัน | ||
2022–23 | อันดับ 15 | ||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | ||
|
สโมสรฟุตบอลเบอร์ตันอัลเบียน (อังกฤษ: Burton Albion Football Club) เป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ ตั้งอยู่บริเวณถนนพรินเซส เมืองเบอร์ตัน-อะพอน-เทรนต์ เทศมณฑลสแตฟฟอร์ดเชอร์ ปัจจุบันลงแข่งขันในระดับอีเอฟแอลลีกวัน
สโมสรเคยสร้างผลงานเลื่อนชั้น 2 ฤดูกาลติดต่อกัน โดยเป็นแชมป์ฟุตบอลลีกทู ในฤดูกาล 2014–15 ภายใต้การคุมทีมของจิมมี โฟลยด์ ฮัสเซิลบังก์ อดีตกองหน้าทีมชาติเนเธอร์แลนด์ของสโมสรลีดส์ยูไนเต็ดและเชลซี ก่อนจะมาได้ตำแหน่งรองแชมป์ฟุตบอลลีกวัน ในฤดูกาล 2015–16 ภายใต้การคุมทีมของไนเจล คลัฟ
ปัจจุบันสโมสรใช้สนามเหย้าคือสนามปีเรลลี (เดินทางไปสนามไพรด์พาร์กของสโมสรฟุตบอลดาร์บีเคาน์ตีด้วยรถไฟเพียง 53 นาที) โดยย้ายมาจากสนามอีตันพาร์กตั้งแต่ปี ค.ศ.2005 และคุมทีมโดย จิมมี โฟลยด์ ฮัสเซิลบังก์ ผู้จัดการทีมชาวดัตช์
สโมสรฟุตบอลเบอร์ตันอัลเบียน มีชื่อเล่นว่า บรูว์เออส์ (Brewers) ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษหมายถึงคนผลิตเบียร์ ชื่อเล่นนี้มีที่มาจากประวัติศาสตร์ของเมืองเบอร์ตันที่มีโรงงานผลิตเบียร์เป็นอุตสาหกรรมหลักขึ้นชื่อของเมือง โดยส่งออกเบียร์เป็นปริมาณถึงร้อยละ 25 ของเบียร์ที่ส่งออกจากสหราชอาณาจักรทั้งหมด
ประวัติ
[แก้]ยุคแรก
[แก้]ประวัติศาสตร์ในอดีตของสโมสรฟุตบอลที่ตั้งอยู่ในเมืองเบอร์ตัน-อะพอน-เทรนต์ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาทางการเงินและต้องต่อสู้เพื่อให้มีสภาพคล่อง เนื่องจากเมืองนี้เป็นเมืองที่นิยมกีฬารักบี้เป็นหลักมาอย่างยาวนาน โดยสโมสรฟุตบอลในเมืองเบอร์ตันในยุคแรก ๆ คือ สโมสรฟุตบอลเบอร์ตันสวิฟต์, เบอร์ตันทาวน์, เบอร์ตันวอนเดอเรอส์ และ เบอร์ตันยูไนเต็ด แต่ละสโมสรล้วนมีอายุขัยการดำเนินกิจการที่ไม่นานนัก และต้องยุบสโมสรไปในเวลาต่อมา
สโมสรฟุตบอลเบอร์ตันอัลเบียน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1950 และเข้าร่วมแข่งขันในฟุตบอลลีกเมืองเบอร์มิงแฮม ซึ่งเป็นลีกฟุตบอลระดับสมัครเล่น โดยมีเร็ก เวสตัน เป็นผู้จัดการทีมคนแรก ในปีแรกที่ส่งทีมเข้าแข่งขันสโมสรเบอร์ตันอัลเบียน ใช้สนาม ลอยด์ฟาวดรีกราวน์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนเวลลิงตันเป็นสนามเหย้า และลงแข่งขันอย่างเป็นทางการเป็นนัดแรกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1950 พบกับสโมสรฟุตบอลกลอสเตอร์ซิตี โดยสโมสรได้ใช้สนามแห่งนี้นาน 8 ฤดูกาล จนกระทั่งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1958 สโมสรได้ย้ายไปใช้สนาม อีตันพาร์ก ที่สร้างขึ้นบริเวณถนนดาร์บี เป็นสนามเหย้าเพื่อรองรับจำนวนผู้ชมในสนามที่เพิ่มมากขึ้น จากการที่สโมสรได้เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในระดับเซาเทิร์นฟุตบอลลีก
ค.ศ.1998 สโมสรสร้างความฮือฮาในวงการฟุตบอลอังกฤษ เมื่อไนเจล คลัฟ อดีตนักเตะทีมชาติอังกฤษ ย้ายจากแมนเชสเตอร์ซิตีมาร่วมทีมในฐานะผู้เล่น-ผู้จัดการทีม และพาสโมสรคว้าตำแหน่งรองแชมป์เซาเทิร์นฟุตบอลลีกพรีเมียร์ดิวิชัน ในฤดูกาล 1999–00 และ 2000–01
ฤดูกาล 2001–02 สโมสรฟุตบอลเบอร์ตันอัลเบียน ได้ถูกโอนย้ายไปเล่นในนอร์เทิร์นพรีเมียร์ลีก (เอ็นพีแอล) เนื่องจากการแบ่งเขตที่ตั้งของแต่ละสโมสร และเพียงแค่ฤดูแรกสโมสรก็คว้าแชมป์ได้สำเร็จ พร้อมกับคว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในฟุตบอลคอนเฟอเรนซ์ซึ่งเป็นลีกระดับกึ่งอาชีพ
ปี ค.ศ. 2005 สนามอีตันพาร์กที่ใช้มาอย่างยาวนานถึง 47 ปี ได้ถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ ด้วยงบประมาณ 7.2 ล้านปอนด์ โดยสนามแห่งใหม่นี้มีชื่อว่า สนามกีฬาปีเรลลี ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงงานปีเรลลี ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของโลกจากประเทศอิตาลี ที่มาตั้งสาขาการผลิตที่เมืองเบอร์ตัน-อะพอน-เทรนต์ในอังกฤษ
เอฟเอคัพกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด
[แก้]หนึ่งในการแข่งขันอันน่าจดจำของสโมสรที่สนามปีเรลลี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.2006 ในการแข่งขันเอฟเอคัพ รอบ 3 โดยสโมสรภายใต้การคุมทีมของไนเจล คลัฟ ที่ขณะนั้นลงเล่นในลีกฟุตบอลคอนเฟอเรนซ์สามารถยันเสมอสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจากพรีเมียร์ลีก ได้ด้วยผล 0–0 ทำให้ต้องเล่นกลับไปเล่นรีเพลย์ที่สนามโอลด์แทรฟฟอร์ด ก่อนจะแพ้กลับไป 5–0 จากการยิงของหลุยส์ ซาฮา, คีแรน ริชาร์ดสัน, ไรอัน กิกส์ และ 2 ประตูของจูเซปเป รอสซี โดยการแข่งขันนัดดังกล่าวมีแฟนบอลของเบอร์ตันอัลเบียน เข้าไปเชียร์ในสนามมากกว่า 11,000 คน สร้างสถิติเป็นการแข่งขันนัดที่มีแฟนบอลทีมเยือนเข้าไปชมการแข่งขันมากที่สุดในสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด
คว้าแชมป์ฟุตบอลคอนเฟอเรนซ์
[แก้]หลังสร้างชื่อในนัดที่แข่งกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สโมสรเบอร์ตันอัลเบียนกลายเป็นทีมแกร่งประจำฟุตบอลลีกคอนเฟอเรนซ์ โดยในฤดูกาล 2007–08 สโมสรสามารถคว้าอันดับ 5 ในลีก พร้อมกับได้สิทธิ์แข่งขันในรอบเพลย์ออฟเพื่อเลื่อนชั้นขึ้นสู่ฟุตบอลลีกทู ซึ่งเป็นก้าวแรกในลีกอาชีพอังกฤษ แต่กลับต้องตกรอบเพลย์ออฟไปอย่างน่าเสียดาย
ฤดูกาล 2008–09 ขณะที่สโมสรกำลังเป็นผู้นำของลีก โดยมีช่วงที่ทำคะแนนทิ้งห่างอันดับสองมากถึง 19 คะแนน ไนเจล คลัฟ ผู้จัดการทีมที่อยู่กับสโมสรมาอย่างยาวนานถึง 11 ปี ได้ย้ายไปคุมทีมที่ใหญ่กว่าอย่างดาร์บีเคาน์ตี ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2009 และสโมสรได้แต่งตั้งให้รอย แม็กฟาร์แลนด์ อดีตกองหลังทีมชาติอังกฤษ เป็นผู้จัดการทีมชั่วคราวในช่วงที่เหลือของฤดูกาลแทน ด้วยแต้มที่ทิ้งห่างอยู่มาก บริษัทรับพนันในอังกฤษจึงลงความเห็นว่าสโมสรน่าจะคว้าแชมป์ลีกพร้อมกับได้เลื่อนชั้นสู่ฟุตบอลลีกทูเป็นที่แน่นอนแล้ว จึงได้จ่ายเงินพนันล่วงหน้าให้กับลูกค้าทุกรายที่พนันว่าสโมสรเบอร์ตันอัลเบียนจะคว้าแชมป์ไปในเดือนกุมภาพันธ์
แต่แล้วสถานการณ์ในการเลื่อนชั้นกลับดูเหมือนจะผลิกผัน เมื่อในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน สโมสรค่อย ๆ ถูกลดช่องว่างในตารางคะแนนลง จากผลงานที่ย่ำแย่ในท้ายฤดูกาล โดยชนะเพียงแค่ 6 นัดจาก 16 นัดหลังสุด และแพ้ถึง 8 นัด สโมสรต้องลุ้นระทึกอย่างหนักในการเลื่อนชั้นในนัดสุดท้ายของฤดูกาลเมื่อต้องการชัยชนะในการการันตีตำแหน่งแชมป์ แต่กลับแพ้ต่อสโมสรทอร์คีย์ยูไนเต็ดไป 2–1 ในขณะเดียวกันสโมสรเคมบริดจ์ ยูไนเต็ด คู่แข่งในการแย่งตำแหน่งแชมป์ ก็ทำได้เพียงแค่เสมอกับสโมสรอัลทริงแฮมไป 0–0 ทำให้เบอร์ตันอัลเบียนคว้าแชมป์ฟุตบอลคอนเฟอเรนซ์พร้อมกับได้เลื่อนชั้นสู่ฟุตบอลลีกทูในที่สุด
2009–ปัจจุบัน: เข้าสู่ฟุตบอลลีกและจุดสูงสุดในระดับเดอะแชมเปียนชิป
[แก้]ฤดูกาล 2009–10 นับเป็นฤดูกาลแรกที่สโมสรได้เข้ามาในระบบฟุตบอลลีกหรือลีกอาชีพ หลังจากคว้าแชมป์ฟุตบอลคอนเฟอเรนซ์ และมีการเปลี่ยนแปลงในทีมอีกครั้งเมื่อ พอล เพสชิโซลิโด อดีตดาวเตะทีมชาติแคนาดา ของสโมสรสโตกซิตีและฟูแลมได้เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ของสโมสรแทนที่รอย แม็คฟาร์แลนด์
สโมสรได้ลงแข่งขันในระดับลีกอาชีพเป็นนัดแรกเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2009 ในนัดที่ออกไปแพ้ให้กับสโมสรชรูส์บรีทาวน์ 3–1 ที่สนามกีฬานิวเมโดว์ โดยเกร็ก เพียร์สัน ได้รับการบันทึกว่าเป็นนักฟุตบอลคนแรกของสโมสรที่ยิงประตูได้ในระดับลีกอาชีพ[1]ต่อมาสโมสรพบกับชัยชนะบนลีกอาชีพเป็นครั้งแรกในนัดที่เปิดบ้านเอาชนะสโมสรฟุตบอลมอร์แคมบ์ 5–2 ที่สนามปีเรลลี และจบฤดูกาลแรกด้วยอันดับที่ 13 ก่อนที่ในฤดูกาลต่อมาสโมสรมีผลงานที่ตกต่ำลงและจบฤดูกาลด้วยอันดับ 19
ในฤดูกาล 2011–12 สโมสรยังคงมีผลงานในลีกที่ไม่ค่อยดีนัก และประสบกับช่วงเวลาที่ไม่ชนะทีมใดถึง 17 นัดติดต่อกัน ทำให้พอล เพสชิโซลิโด ผู้จัดการทีมถูกปลดออกจากตำแหน่งในช่วงท้ายของฤดูกาล และสโมสรได้แต่งตั้งให้ แกรี โรเว็ต ผู้ช่วยของเขาทำหน้าที่ผู้จัดการทีมชั่วคราวไปจนจบฤดูกาล โดยโรเว็ตสามารถพาทีมรอดตกชั้นได้ด้วยการจบฤดูกาลที่อันดับ 17 ต่อมาฤดูกาล 2012–13 สโมสรได้แต่งตั้งให้ แกรี โรเว็ต เป็นผู้จัดการทีมอย่างเป็นทางการ และเขาสามารถทำให้ทีมมีผลงานดีขึ้นจนสามารถคว้าอันดับ 4 ในตารางคะแนนพร้อมกับได้สิทธิแข่งขันในรอบเพลย์ออฟเพื่อเลื่อนชั้นขึ้นสู่ฟุตบอลลีกวัน แต่กลับพ่ายแพ้ต่อสโมสรแบรดฟอร์ดซิตี ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย โดยที่ในฤดูกาลต่อมาสโมสรได้แข่งขันในรอบเพลย์ออฟอีกครั้ง และสามารถผ่านเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศก่อนจะแพ้ให้กับฟลีตวูด ทาวน์ 1–0
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 แกรี โรเว็ต ย้ายไปรับงานคุมทีมที่เบอร์มิงแฮม ซิตี โดยตำแหน่งผู้จัดการทีมถูกแทนที่ด้วยจิมมี โฟลยด์ ฮัสเซิลบังก์ผู้จัดการทีมชาวดัตช์ และเพียงแค่ฤดูกาลแรกของเขา ก็สามารถสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมด้วยการพาสโมสรคว้าแชมป์ฟุตบอลลีกทูได้สำเร็จ พร้อมกับพาสโมสรเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในฟุตบอลลีกวันเป็นครั้งแรก[2][3] โดยในฤดูกาล 2015–16 เบอร์ตัน อัลเบียนที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในฟุตบอลลีกวัน สามารถสร้างความประหลาดใจเมื่อชนะในลีกถึง 13 นัด จากการแข่งขัน 20 นัดแรก และขึ้นนำเป็นจ่าฝูงของลีก ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ.2015 จิมมี โฟลยด์ ฮัสเซิลบังก์ ที่กำลังทำผลงานอย่างยอดเยี่ยมได้ขอลาออกจากทีมเพื่อไปรับงานคุมทีมควีนส์พาร์ก เรนเจอส์ในฟุตบอลลีกแชมเปียนชิป โดยตำแหน่งผู้จัดการทีมถูกแทนที่โดยไนเจล คลัฟ อดีตผู้จัดการทีมของสโมสรที่กลับมาคุมทีมอีกครั้งและสามารถพาทีมจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งรองแชมป์ลีกวัน พร้อมกับเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในระดับอีเอฟแอลแชมเปียนชิปได้สำเร็จ สร้างสถิติเลื่อนชั้น 2 ฤดูกาลติดต่อกัน[4]
ผู้เล่นชุดปัจจุบัน
[แก้]- ณ วันที่ 11 มกราคม 2024
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
บุคคลากร
[แก้]ผู้บริหาร
[แก้]ตำแหน่ง | บุคคล |
---|---|
ประธานสโมสร | เบน โรบินสัน (เอ็มบีอี) |
คณะกรรมการบริหาร | แฟรงค์ สเปียส์ ฟิลิป บราวน์ ร็อบ บราวน์ เทอร์รี คลาร์ก จอห์น วิลเลียมส์ เจซ ม็อกซี |
ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด | เฟลอร์ โรบินสัน |
ทีมงานผู้ฝึกสอน
[แก้]ตำแหน่ง | บุคคล |
---|---|
ผู้จัดการทีม | Martin Paterson |
ผู้ช่วยผู้จัดการทีม | ดีโน มามเรีย |
ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู | แอนดี คุย |
ผู้จัดการทีมชุดเยาวชน | แดน โรบินสัน |
ผู้ฝึกสอนฟิตเนส | คริส เบียร์สลีย์ |
ข้อมูลสถิติของสโมสร
[แก้]สถิติผู้ยิงประตู
[แก้]ผู้ยิงประตูสูงสุดให้สโมสร
[แก้]นับรวมทุกรายการ
# | ชื่อ | ช่วงเวลา | ประตู | จำนวนนัดที่ลงสนาม | ค่าเฉลี่ย | อ้างอิง |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | ริชี บาร์เกอร์ | 1960–62, 1963–67 | 159 | 270 | 0.58 | [5] |
2 | สแตน ราวด์ | 1963–67 | 149 | 199 | 0.75 | [6] |
3 | ดาร์เรน สไตรด์ | 1993–2010 | 124 | 646 | 0.19 | [7] |
4 | อารอน เว็บสเตอร์ | 1998–2013 | 101 | 588 | 0.17 | [8] |
5 | ไซมอน เรดเฟิร์น | 1987–97 | 86 | 457 | 0.19 | [9] |
ยิงประตูสูงสุดในระดับลีกอาชีพ
[แก้]นับเฉพาะการแข่งขันในระดับฟุตบอลลีก:
จำนวนนัดที่ลงสนามและจำนวนประตูนับเฉพาะการแข่งขันในฟุตบอลลีก
อ้างอิง: Burton Albion, The Football League
สถิติยิงประตูอื่น ๆ
[แก้]- ยิงประตูมากที่สุดในหนึ่งฤดูกาล: สแตน ราวนด์ – 59 ประตู (ฤดูกาล 1965–66)[5]
- ยิงประตูในฟุตบอลลีกมากที่สุดในหนึ่งฤดูกาล – ฌอน ฮาร์รัด – 21 ประตู (ฤดูกาล 2009–10)
- ยิงแฮตทริกมากที่สุด: สแตน ราวด์ – 12 ครั้ง[6]
- ยิงแฮตทริกมากที่สุดในฟุตบอลลีก – เกร็ก เพียร์สัน, ฌอน ฮาร์รัด, บิลลี คี – 1 ครั้ง
- อันดับที่ดีที่สุดของสโมสร: อันดับที่ 20 ฟุตบอลลีกแชมเปียนชิป – ฤดูกาล 2016–17
- ผลงานดีที่สุดใน เอฟเอคัพ : เข้าถึงรอบที่ 4
- ฤดูกาล 2010–11 (พบกับ เบิร์นลีย์)
- ผลงานดีที่สุดใน ฟุตบอลลีกคัพ : เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ
- 2018–19 (พบกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี)
- ผลงานดีที่สุดใน เอฟเอโทรฟี : เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ
- ฤดูกาล 1986–87 (พบกับ คิดเดอร์มินสเตอร์ แฮริเออร์)
- ผลงานดีที่สุดใน ฟุตบอลลีกโทรฟี : เข้าถึงรอบที่ 2
- ฤดูกาล 2010–11 (พบกับ ร็อทเธอร์แฮม ยูไนเต็ด)
- ฤดูกาล 2014–15 (พบกับ ดองคัสเตอร์ โรเวอส์)
- ชนะคู่แข่งมากที่สุดเมื่อรวมทุกรายการ: 12–1 พบกับ โคลวิลล์ ทาวน์ – เบอร์มิงแฮม ซีเนียร์คัพ, 6 กันยายน 1954
- แพ้คู่แข่งมากที่สุดเมื่อรวมทุกรายการ: 10–0 พบกับ บาร์เน็ต – เซาเทิร์นลีก (พรีเมียร์ดิวิชัน) , 7 กุมภาพันธ์ 1970
- ชนะคู่แข่งมากที่สุดเมื่อนับเฉพาะในระดับฟุตบอลลีก: 6–1 พบกับ อัลเดอร์ช็อต ทาวน์ – ฟุตบอลลีกทู, 12 ธันวาคม 2009
- แพ้คู่แข่งมากที่สุดเมื่อนับเฉพาะในระดับฟุตบอลลีก:
- 1–7 พบกับ บริสตอล โรเวอส์ – ฟุตบอลลีกทู, 14 เมษายน 2012
- 1–7 พบกับ พอร์ท เวล – ฟุตบอลลีกทู, 5 เมษายน 2013
- 0–6 พบกับ ฟูลัม – อีเอฟแอลแชมเปียนชิป, 20 มกราคม 2018
- ชนะมากที่สุดในรายการเอฟเอคัพ: 0–4 พบกับ ฮาลิแฟ็กซ์ ทาวน์, 10 พฤศจิกายน 2007
- แพ้มากที่สุดในรายการเอฟเอคัพ: 0–8 พบกับ บอร์นมัท, 17 พฤศจิกายน 1956
- ชนะมากที่สุดในรายการฟุตบอลลีกคัพ: 2–4 พบกับ เลสเตอร์ ซิตี, 28 สิงหาคม 2012
- แพ้มากที่สุดในรายการฟุตบอลลีกคัพ: 0–9 พบกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี, 9 มกราคม 2019
- แพ้มากที่สุดในรายการฟุตบอลลีกโทรฟี: 5–1 พบกับ เชสเตอร์ฟิลด์, 1 กันยายน 2009
- มีการยิงประตูกันเยอะที่สุดในฟุตบอลลีก: 5–6 พบกับ เชลต์นัม ทาวน์ – ฟุตบอลลีกทู, 13 มีนาคม 2010
สถิติในการซื้อ-ขายผู้เล่น
[แก้]- ซื้อตัวแพงที่สุด: เลียม บอยซ์ (จาก รอส เคาน์ตี) – 5 แสนปอนด์
- ขายผู้เล่นแพงที่สุด: แจ็กสัน เออร์ไวน์ (ขายให้ ฮัลล์ ซิตี ปี 2017) – 2 ล้านปอนด์[11]
ผู้เล่นที่ติดทีมชาติ
[แก้]ผู้เล่นที่ติดทีมชาติในช่วงที่เล่นให้กับสโมสร
|
เกียรติประวัติ
[แก้]- ฟุตบอลลีกวัน
- รองแชมป์ (ฤดูกาล 2015–16)
- ฟุตบอลลีกทู
- แชมป์ (ฤดูกาล 2014–15)
- ฟุตบอลคอนเฟอเรนซ์
- แชมป์ (ฤดูกาล 2008–09)
- นอร์เทิร์นพรีเมียร์ลีก
- แชมป์ (ฤดูกาล 2001–02)
- เซาเทิร์นฟุตบอลลีก (พรีเมียร์ดิวิชัน)
- รองแชมป์ (ฤดูกาล 1999–00, 2000–01)
- เอฟเอ โทรฟี
- รองแชมป์ (ฤดูกาล 1986–87)
- เซาเทิร์นลีกคัพ
- แชมป์ (ฤดูกาล 1963–64, 1996–97, 1999–00)
- รองแชมป์ (ฤดูกาล 1988–89)
- นอร์เทิร์นพรีเมียร์ลีกชาเลนจ์คัพ
- แชมป์ (ฤดูกาล 1982–83)
- รองแชมป์ (ฤดูกาล 1986–87)
- สแตฟฟอร์ดเชอร์ซีเนียร์คัพ
- แชมป์ (ฤดูกาล 1955–56)
- รองแชมป์ (ฤดูกาล 1976–77)
- เบอร์มิงแฮมซีเนียร์คัพ
- แชมป์ (ฤดูกาล 1953–54, 1996–97)
- รองแชมป์ (ฤดูกาล 1969–70, 1970–71, 1986–87, 2007–08)
ทำเนียบผู้จัดการทีม
[แก้]- ณ วันที่ 17 เมษายน 2021
ชื่อ | สัญชาติ | ตั้งแต่ | ถึง | สถิติ | ||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
G | W | D | L | Win % | ||||
เร็ก เวสตัน | อังกฤษ | มิถุนายน 1950 | กรกฎาคม 1957 | |||||
แซมมี ครูกส์ | อังกฤษ | 1957 | 1957 | |||||
บิลล์ ทาวน์เซนด์ | อังกฤษ | 1957 | 1962 | |||||
ปีเตอร์ เทย์เลอร์ | อังกฤษ | 1962 | 1965 | |||||
อเล็กซ์ เทต | อังกฤษ | 1965 | 1970 | |||||
ริชชี นอร์แมน | อังกฤษ | 1970 | 1973 | |||||
เคน กัทท์ริดจ์ | อังกฤษ | 1973 | 1974 | |||||
ฮาโรลด์ โบเดิล | อังกฤษ | 1974 | กุมภาพันธ์ 1976 | |||||
มิค วอล์คเกอร์ | อังกฤษ | 1976 | 1978 | |||||
เอียน สโตรีย์-มัวร์ | อังกฤษ | 1978 | 1981 | |||||
นีล วอร์น็อก | อังกฤษ | มกราคม 1981 | กุมภาพันธ์ 1986 | |||||
ไบรอัน ฟิดเลอร์ | อังกฤษ | 1986 | 1988 | |||||
วิค ฮาล็อม | อังกฤษ | 1988 | 1988 | |||||
บ็อบบี โฮป | สกอตแลนด์ | 1988 | 1988 | |||||
คริส ไรท์ | อังกฤษ | 1988 | 1989 | |||||
เคน แบลร์ | อังกฤษ | 1989 | 1990 | |||||
แฟรงค์ อัพตัน (ชั่วคราว) | อังกฤษ | 1990 | 1990 | |||||
สตีฟ พาวล์ | อังกฤษ | 1990 | 1991 | |||||
ไบรอัน ฟิดเลอร์ | อังกฤษ | 1991 | 1992 | |||||
ไบรอัน เคนนิง | อังกฤษ | 1992 | 1994 | |||||
จอห์น บาร์ตัน | อังกฤษ | 1994 | กันยายน 1998 | |||||
ไนเจล คลัฟ | อังกฤษ | ตุลาคม 1998 | 6 มกราคม 2009 | 709 | 310 | 101 | 298 | 43.72 |
รอย แม็คฟาร์แลนด์ | อังกฤษ | 6 มกราคม 2009 | 18 พฤษภาคม 2009 | 22 | 9 | 3 | 10 | 40.91 |
พอล เพสชิโซลิโด | แคนาดา | 18 พฤษภาคม 2009 | 17 มีนาคม 2012 | 102 | 33 | 26 | 43 | 32.35 |
แกรี โรเว็ท | อังกฤษ | 17 มีนาคม 2012 | 27 ตุลาคม 2014 | 142 | 63 | 34 | 45 | 44.37 |
จิมมี โฟลยด์ ฮัสเซิลบังก์ | เนเธอร์แลนด์ | 13 พฤศจิกายน 2014 | 4 ธันวาคม 2015 | 54 | 33 | 11 | 10 | 61.11 |
ไนเจล คลัฟ | อังกฤษ | 7 ธันวาคม 2015 | 18 พฤษภาคม 2020 | 228 | 78 | 57 | 93 | 34.21 |
เจค บักซ์ตัน | อังกฤษ | 18 พฤษภาคม 2020 | 29 ธันวาคม 2020 | 21 | 2 | 7 | 12 | 9.52 |
คริส เบียร์ดส์ลีย์ (ชั่วคราว) | อังกฤษ | 30 ธันวาคม 2020 | 2 มกราคม 2021 | 1 | 0 | 0 | 1 | 0.00 |
จิมมี โฟลยด์ ฮัสเซิลบังก์ | เนเธอร์แลนด์ | 2 มกราคม 2021 | 5 กันยายน 2022 | 19 | 12 | 3 | 4 | 63.16 |
ชุดแข่งที่ใช้และผู้สนับสนุน
[แก้]ปี | ผู้ผลิต | ผู้สนับสนุนหลัก |
---|---|---|
1976–77 | อาดิดาส | ไม่มี |
1977–78 | - | Plasplugs |
1979–80 | Umbro | ไม่มี |
1980–86 | IND Coope | |
1988–90 | New Olympic | |
1990–92 | Spall | |
1992–93 | Hero | |
1993–94 | ACE | |
1994–95 | TAG | |
1995–02 | BI Industries | |
2002–06 | KNOTT (เหย้า) Bison (เยือน) | |
2006 (เฉพาะในเอฟเอคัพ รอบ 3 พบแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด) |
Paddy Power | |
2006–10 | Roger Bullivant | |
2010–13 | Mr. Cropper | |
2013–15 | Anville Hire Ltd. | |
2015–16 | Baytree Cars | |
2016–18 | Tempobet | |
2018–ปัจจุบัน | Prestec |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://news.bbc.co.uk/sport2/hi/football/eng_div_3/8187499.stm
- ↑ "Morecambe 1–2 Burton". BBC Sport. 18 April 2015. สืบค้นเมื่อ 21 April 2015.
- ↑ "Cambridge United 2 -3 Burton Albion". BBC Sport. 2 May 2015. สืบค้นเมื่อ 11 May 2016.
- ↑ Garry, Tom (8 May 2016). "Doncaster Rovers 0- Burton Albion". BBC Sport. สืบค้นเมื่อ 11 May 2016.
- ↑ 5.0 5.1 "Albion Oldboys: Richie Barker". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-08. สืบค้นเมื่อ 2015-10-29.
- ↑ 6.0 6.1 "Albion Oldboys: Stan Round". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-08. สืบค้นเมื่อ 2015-10-29.
- ↑ "Darren Stride Leaves Albion". Burton Albion FC. 10 May 2010. สืบค้นเมื่อ 12 August 2010.
- ↑ Aaron Staying With Albion
- ↑ "Albion Oldboys: Simon Redfern". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-08. สืบค้นเมื่อ 2015-10-29.
- ↑ http://www.burtonalbionfc.co.uk/club/history/
- ↑ "Derby complete Legzdins signing". BBC News. 1 July 2011.
- ↑ http://www.historicalkits.co.uk/Burton_Albion/burton-albion.html