ข้ามไปเนื้อหา

สิทธิเก็บกิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิทธิเก็บกิน (อังกฤษ: usufruct (IPA: ˈyuzʊˌfrʌkt /ยูซุฟรักต์/); ฝรั่งเศส: usufruit (IPA: yzyfʀɥi /อูซูฟรุย/); จีน: 用益物权; พินอิน: yòngyìwùquán /ย้งอี้อู้ฉวน/) เป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่ง โดยเป็นสิทธิที่บุคคลสามารถครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่น เป็นต้นว่า เจ้าของที่นามีสิทธิใช้ที่นาโดยประการต่าง ๆ ผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่นานั้นก็ใช้ที่นาทำนาได้ หรือจะนำที่นานั้นออกให้เช่าเพื่อเก็บค่าเช่าก็ได้เสมอกับเป็นเจ้าของเองทีเดียว เพียงแต่กรรมสิทธิ์ในที่นาดังกล่าวยังอยู่ที่เจ้าของ[1] บุคคลผู้มีสิทธิเช่นนี้เรียก "ผู้ทรงสิทธิเก็บกิน" (อังกฤษ: usufructuary) และสิทธิเก็บกินจะมีได้ก็แต่ในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ไม่มีในสังหาริมทรัพย์[2]

คำ "usufruct" ในภาษาอังกฤษ และคำ "usufruit" ในภาษาฝรั่งเศสนั้นมีที่มาจากคำในภาษาละติน คือ "ūsūfrūctus" หรือ "ūsusfrūctus" ซึงเป็นคำประสมระหว่าง "ūsus" ว่า การใช้ (use) + "frūctus" ว่า การถือเอาซึ่งประโยชน์ (enjoyment)[3]

เหตุผลของสิทธิเก็บกิน

[แก้]

มานิตย์ จุมปา รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า[2]

"เรื่องสิทธิเก็บกินนี้มีประโยชน์มากในกรณีที่พ่อแม่ต้องการจะโอนที่ดินให้แก่ลูกในระหว่างที่พ่อแม่ยังมีชีวิต แต่เกรงว่าถ้ายกให้เฉย ๆ เวลามีการประพฤติเนรคุณกันขึ้น โดยเฉพาะการไม่เลี้ยงดูพ่อแม่อีกต่อไป อาจต้องยุ่งยากในการฟ้องร้องเพิกถอนการให้ จึงใช้วิธีการตกลงโอนทรัพย์สินเป็นชื่อลูกและจดทะเบียนก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินแก่พ่อแม่ผู้โอน เช่นนี้ พ่อแม่ย่อมมีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาประโยชน์ในที่ดินนั้นได้ต่อไป..."

ภูมิหลัง

[แก้]

หลักกฎหมายเรื่องสิทธิเก็บกินนั้นมีที่มาที่ไปจากกฎหมายทางฝั่งซีวิลลอว์ (อังกฤษ: civil law system) ซึ่งถือว่าสิทธิเก็บกินเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งอันมีอยู่เหนือทรัพย์สินของผู้อื่นชั่วระยะเวลาหนึ่ง ผู้ทรงสิทธิเก็บกินสามารถครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์จากทรัพย์สินดังว่าได้

ในกฎหมายโรมัน สิทธิเก็บกินถือเป็นภาระจำยอม (อังกฤษ: servitude; ละติน: ius in re aliena) หรือเป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินของผู้อื่น แต่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินโดยสิ้นเชิงได้ประดุจเจ้าของทรัพย์สิน เพียงแต่มีสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่นก็เท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ทรงสิทธิก็ไม่อาจโอนทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้อื่นได้ ขณะที่เจ้าของตัวจริงย่อมกระทำได้ แต่ผู้ทรงสิทธิยังสามารถนำทรัพย์นั้นออกขายหรือให้เช่าเพื่อถือเอาประโยชน์จากมัน มีข้อน่าสังเกตว่า ตามกฎหมายโรมันแล้ว ที่ว่าถือเอาประโยชน์จากทรัพย์สินของผู้อื่นได้นั้น คำว่าประโยชน์หมายความรวมถึงข้าทาสบริวารและปศุสัตว์ด้วย

ในสังคมแบบชนเผ่า สิทธิเก็บกินเป็นสิทธิที่บุคลสามารถเข้าใช้ที่ดินอันสงวนไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ชาวอินเดียแดงมักจะถือครองที่ดินกันเป็นกลุ่ม มิใช่เป็นเจ้าของเดี่ยว ๆ ครอบครัวของบุคคลคนหนึ่งหรือตัวบุคคลเองไม่เป็นเจ้าของที่ดิน เขาเพียงแต่ใช้ประโยชน์จากมันเท่านั้น

ตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดอันหนึ่งของสิทธิเก็บกิน มีในเลวีนิติ (อังกฤษ: Book of Leviticus) แห่งบัญญัติของโมเสส (อังกฤษ: Five Books of Moses) อันเป็นคัมภีร์ของศาสนายูดายและคริสต์ศาสนา ซึ่งกำหนดให้เจ้าของทรัพย์สินต้องแบ่งปันทรัพย์สินของตนให้คนยากไร้ได้ใช้ประโยชน์บ้าง ปรากฏในข้อ 9 และ 10 ของบทที่ 19[4] และข้อ 22 ของบทที่ 23[5] แห่งเลวีนิติ ดังนี้

"9. เมื่อเจ้าทั้งหลายเกี่ยวข้าวในนา อย่าเกี่ยวเก็บข้าวที่ขอบนาให้หมด เมื่อเกี่ยวแล้วก็อย่าเก็บข้าวที่ตก

10. อย่าเก็บผลที่สวนองุ่นให้หมด เจ้าอย่าเก็บองุ่นที่ตกในสวนของเจ้า จงเหลือไว้ให้คนยากจนและคนต่างด้าวบ้าง เราคือพระเยโฮวาห์ พระเจ้าของเจ้า

22. และเมื่อเจ้าเกี่ยวข้าวในแผ่นดินของเจ้า เจ้าอย่าเกี่ยวไปที่ขอบนาให้หมด และอย่าเก็บข้าวที่เกี่ยวตก เจ้าจงทิ้งไว้ให้คนยากจนและคนต่างด้าว เราคือพระเยโฮวาห์ พระเจ้าของเจ้า"

ในประเทศแคนาดา ชนเผ่าอะบอริจินมีสิทธิเก็บกินเหนือที่ดินของชาวแคนาดาหรือที่เรียก "ราชพัสดุ" (อังกฤษ: Crown lands) โดยพวกเขาสามารถล่าสัตว์ทั้งบนบกและในน้ำ ณ ที่ดินดังกล่าวได้โดยไม่มีข้อจำกัด

การได้มาซึ่งสิทธิเก็บกิน

[แก้]
"ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่

ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดย สุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว"
ป.พ.พ. ม.1299
"ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทนซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"
ป.พ.พ. ม.1300
"บทบัญญัติแห่งสองมาตราก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงการเปลี่ยนแปลง ระงับ และกลับคืนมาแห่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วยโดยอนุโลม"
ป.พ.พ. ม.1301
"สิทธิเก็บกินนั้น จะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตแห่งผู้ทรงสิทธิก็ได้

ถ้าไม่มีกำหนดเวลา ท่านในสันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิทธิเก็บกินมีอยู่ตลอดชีวิตผู้ทรงสิทธิ

ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย ท่านว่าสิทธินั้นย่อมสิ้นไปเสมอ"
ป.พ.พ. ม.1418

ตามกฎหมายไทยนั้น สิทธิเก็บกินเป็นทรัพยสิทธิ (อังกฤษ: real right; ละติน: jus in rem) ประเภทหนึ่ง ซึ่งมีขึ้นได้ก็แต่โดยการตกลงทำนิติกรรมกันเพื่อก่อสิทธิเก็บกิน โดยนิติกรรมก่อสิทธิเก็บกิน รวมตลอดถึงนิติกรรมเปลี่ยนแปลง ระงับ และกลับคืนมาซึ่งสิทธิเก็บกิน อยู่ในบังคับที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกับทรัพยสิทธิอื่น ๆ มิฉะนั้น ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิ จะเป็นแต่บุคคลสิทธิ (อังกฤษ: personal right; ละติน: jus in personam) เท่านั้น กล่าวคือ จะเป็นแต่สิทธิที่ใช้ยันกันได้เฉพาะคู่กรณีเท่านั้น ไม่อาจใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. ม.1299-1301[6]

อนึ่ง สิทธิเก็บกินนั้นจะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตแห่งผู้ทรงสิทธิก็ได้ ถ้าไม่ได้กำหนดเวลากัน กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำหนดเวลานั้นคือชั่วชีวิตผู้ทรงสิทธิ และสิทธิเก็บกินย่อมระงับไปโดยมรณะของผู้ทรงสิทธิเสมอ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. ม.1418 ซึ่งแสดงว่าสิทธิเก็บกินเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ไม่ใช่สิทธิที่จะโอนให้แก่กันได้ ทว่า สิทธิเก็บกินนั้นผู้ทรงสิทธิอาจให้ผู้อื่นใช้แทนตนได้

ฎ.4470/2528 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ครั้งที่ 11/2514) ว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบุตรโจทก์และเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8704. จำเลยทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินดังกล่าวจนตลอดชีวิต. เนื่องจากสิทธิเก็บกินที่โจทก์ได้มาดังกล่าวไม่บริบูรณ์ เพราะมิได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่, โจทก์ขอร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนหลายครั้ง จำเลยก็ผัดผ่อนเรื่อยมา. ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินในที่ดินตามฟ้อง. จำเลยให้การว่า ไม่เคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินของจำเลย, สัญญาที่โจทก์อ้างนั้นเกี่ยวกับเรื่องอื่น และเกิดขึ้นโดยการบังคับขู่เข็ญของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับจำเลย, โจทก์ฟ้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินเมื่อเกิน 10 ปีแล้ว ฟ้องจึงขาดอายุความ, จำเลยให้โจทก์อยู่ในที่ดินดังกล่าวอย่างปกติสุขดีอยู่แล้ว แม้จะอยู่โดยปราศจากสิทธิ. ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นว่า โจทก์ฟ้องเมื่อเกิน 10 ปีนับแต่วันทำสัญญาคดีขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง.

โจทก์อุทธรณ์. ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่าโจทก์ได้เข้าใช้สิทธิเก็บกินในที่ดินของจำเลยตั้งแต่วันทำสัญญาตลอดมา, สิทธิร้องขอให้จดทะเบียนเพื่อให้การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้บริบูรณ์ย่อมเกิดขึ้นและมีอยู่กับโจทก์ตราบเท่าที่โจทก์ยังใช้สิทธิเก็บกินอยู่, อายุความยังไม่เริ่มนับฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ, พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ. ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินตลอดชีวิตของโจทก์ในที่ดินของจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2498, การที่โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินของจำเลยเช่นนี้ เป็นการทำนิติกรรมที่ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น, และเมื่อได้จดทะเบียนแล้ว การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งสิทธิเก็บกินอันเป็นทรัพยสิทธิก็ย่อมบริบูรณ์ตามกฎหมาย. สิทธิของโจทก์ตามนิติกรรมสัญญาประนีประนอมยอมความนี้เป็นสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณี ตราบใดที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินยังมิได้โอนที่ดินให้แก่บุคคลอื่น และจำเลยผิดสัญญาไม่ไปจดทะเบียนให้ตามสัญญา โจทก์ย่อมฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนได้. ซึ่งตาม ป.พ.พ. ม.168 (ป.พ.พ. ม.193/32 ปัจจุบัน เก็บถาวร 2009-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยประนีประนอมยอมความนั้นให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี และตาม ป.พ.พ. ม.169 (ป.พ.พ. ม.193/12 ปัจจุบัน เก็บถาวร 2009-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป. แม้โจทก์จะเพิ่งยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2511 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าคำให้การของจำเลยยอมรับอยู่ในตัวว่าโจทก์ได้เข้าใช้สิทธิเก็บกินในที่ดินโดยความยินยอมของจำเลยตั้งแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความตลอดมา. ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาโดยที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยยอมให้โจทก์ได้เข้าใช้สิทธิเก็บกินในที่ดินตั้งแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความตลอดมานั้น เป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องได้ทำการอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ม.172 แล้ว อายุความฟ้องร้องของโจทก์จึงสะดุดหยุดลง, และตาม ป.พ.พ. ม.181 ว.2 (ป.พ.พ. ม.193/15 ปัจจบัน เก็บถาวร 2009-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) ตราบใดที่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นยังไม่สุดสิ้น อายุความก็ยังไม่เริ่มนับ, ฉะนั้น ฟ้องของโจทก์จึงหาขาดอายุความไม่, พิพากษายืน.

ฎ.2380/2542 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ครั้งที่ 1/2542) ว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนสิทธิเก็บกินในที่ดินโฉนดเลขที่ 65923 และ 65930 ตำบลสวนใหญ่ (บางตะนาวศรี) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย. จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง. ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์. จำเลยอุทธรณ์, ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน. จำเลยฎีกา.

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2519 โจทก์ได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 65923 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 15/22 ถึง 15/23 และที่ดินโฉนดเลขที่ 65930 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 15/48 ถึง 15/50 และ 15/25 ถึง 15/26 ให้แก่จำเลย, และจำเลยตกลงด้วยวาจาให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตลอดชีวิตของโจทก์. แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินในที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องหรือไม่. ข้อเท็จจริงได้ความจากนางจิราพรรณบุตรอีกคนหนึ่งของโจทก์ เบิกความว่า โจทก์ยกที่ดินแปลงอื่นและสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุตรของโจทก์ทุกคน ซึ่งบุตรทุกคนยินยอมให้โจทก์เก็บค่าเช่ากินไปตลอดชีวิต, บุตรทุกคนจะมีผลประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างโดยได้เงินกินเปล่าจากผู้เช่าเมื่อครบกำหนดสัญญา ส่วนโจทก์มีรายได้เฉพาะการเก็บค่าเช่าเท่านั้น. ศาลฎีกา โดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยตกลงให้โจทก์มีสิทธิเก็บกินในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องตลอดชีวิตของโจทก์ในลักษณะดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย, ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงพิเศษอย่างสัญญาต่างตอบแทน ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินนั้น, และเมื่อได้มีการจดทะเบียนเช่นนั้นแล้ว การได้มาโดยนิติกรรมดังกล่าวซึ่งสิทธิเก็บกินอันเป็นทรัพยสิทธิก็ย่อมบริบูรณ์ตามกฎหมายสมเจตนาของคู่กรณี. สิทธิของโจทก์ตามนิติกรรมดังกล่าวนี้เป็นสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณี ตราบใดที่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมิได้โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลอื่น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องต่อศาลขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินได้. พิพากษายืน.

ผลของสิทธิเก็บกิน

[แก้]

การสลายลงของทรัพย์สินอันอยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกิน

[แก้]
"ถ้าทรัพย์สินสลายไปโดยไม่ได้ค่าทดแทนไซร้ ท่านว่าเจ้าของไม่จำต้องทำให้คืนดี แต่ถ้าเจ้าของทำให้ทรัพย์สินคืนดีขึ้นเพียงใด ท่านว่าสิทธิเก็บกินก็กลับมีขึ้นเพียงนั้น

ถ้าได้ค่าทดแทนไซร้ ท่านว่าเจ้าของหรือผู้ทรงสิทธิเก็บกิน ต้องทำให้ทรัพย์สินคืนดีเพียงที่สามารถทำได้ตามจำนวนเงินค่าทดแทนที่ได้รับ และสิทธิเก็บกินกลับมีขึ้นเพียงที่ทรัพย์สินกลับคืนดี แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะทำให้กลับคืนดีได้ สิทธิเก็บกินก็เป็นอันสิ้นไป และค่าทดแทนนั้นต้องแบ่งกันระหว่างเจ้าของทรัพย์สินและผู้ทรงสิทธิเก็บกินตามส่วนแห่งความเสียหายของตน

วิธีนี้ให้ใช้บังคับโดยอนุโลมถึงกรณีซึ่งทรัพย์สินถูกบังคับซื้อ และกรณีซึ่งทรัพย์สินสลายไปแต่บางส่วน หรือการทำให้คืนดีนั้นพ้นวิสัยในบางส่วน"
ป.พ.พ. ม.1419

ตามกฎหมายไทยแล้ว หากอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกินสลายไป โดยเจ้าของทรัพย์สินนั้นไม่ได้รับค่าทดแทน เจ้าของจะได้ทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนมาดังเดิมก็ได้ แต่ถ้าทำให้กลับมาเพียงใด สิทธิเก็บกินก็กลับมีขึ้นเพียงนั้น (ป.พ.พ. ม.1419 ว.1) เช่น สิทธิเก็บกินมีอยู่เหนือบ้านสองหลัง ต่อมาถูกไฟไหม้ป่นปี้ไปทั้งสองหลัง เจ้าของบ้านสร้างใหม่ขึ้นเพียงหลังเดียว สิทธิเก็บกินก็กลับมีขึ้นเหนือบ้านที่สร้างขึ้นใหม่หลังเดียวนั้น[7]

ในกรณที่ทรัพย์สินดังกล่าวเสื่อมสลายไป และเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิเก็บกินเหนือทรัพย์สินนั้นได้รับค่าทดแทนมาด้วยแล้ว เขาคนใดคนหนึ่งมีหน้าที่ต้องทำให้ทรัพย์สินกลับคืนมาเท่าที่ค่าทดแทนดังกล่าวจะอำนวย และสิทธิเก็บกินก็จะกลับคืนมาเพียงที่ทรัพย์สินนั้นกลับคืนดี แต่ถ้าไม่สามารถจะทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับมาเหมือนเดิมอีก สิทธิเก็บกินเหนือทรัพย์สินนั้นก็จะสิ้นสุดลง และค่าทดแทนที่ได้มานั้นต้องแบ่งกันระหว่างเจ้าของทรัพย์สินและผู้ทรงสิทธิเก็บกินตามส่วนแห่งความเสียหายของแต่ละคน (ป.พ.พ. ม.1419 ว.2)

เช่น สิทธิเก็บกินมีอยู่เหนือบ้านมูลค่าหนึ่งล้านบาท ผู้ทรงสิทธินำบ้านออกให้เช่าราคาเดือนละหนึ่งหมื่นบาท สิทธิเก็บกินเหลืออีกสิบเดือนก็จะสิ้นสุดลง เผอิญบ้านถูกไฟไหม้ป่นปี้ลงเสียก่อน เจ้าของบ้านได้ค่าทดแทนมาหนึ่งแสนบ้านซึ่งย่อมไม่พอที่จะสร้างบ้านเช่นนั้นขึ้นใหม่ได้อีก สิทธิเก็บกินจึงสิ้นสุดลง ส่วนเงินหนึ่งแสนบาทนั้น โดยที่เจ้าของบ้านเสียบ้านไปเป็นมูลค่าหนึ่งล้านบาท ส่วนผู้ทรงสิทธิเสียประโยชน์จากการเก็บค่าเช่าไปสิบเดือน เดือนละหนึ่งหมื่นบ้าน เป็นทั้งหมดหนึ่งแสนบาท จึงแบ่งกันโดยเจ้าของบ้านได้ร้อยละ 90.91 คือ เก้าหมื่นเก้าร้อยสิบบาท และผู้ทรงสิทธิได้ร้อยละ 6.09 คือ เก้าพันเก้าสิบบาท[8]

การส่งทรัพย์สินคืนเมื่อสิทธิเก็บกินสิ้นสุดลง

[แก้]
"เมื่อสิทธิเก็บกินสิ้นลง ผู้ทรงสิทธิต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่เจ้าของ

ถ้าทรัพย์สินสลายไปหรือเสื่อมราคาลง ผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินใช้ทรัพย์สินสิ้นเปลืองไปโดยมิชอบ ท่านว่าต้องทำให้มีมาแทน

ถ้าทรัพย์สินเสื่อมราคาเพราะการใช้ตามควรไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินไม่จำเป็นต้องให้ค่าทดแทน"
ป.พ.พ. ม.1420

ตามกฎหมายไทยแล้ว เมื่อสิทธิเก็บกินสิ้นลง ผู้ทรงสิทธิต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่เจ้าของ และต้องรับผิดในกรณีที่เขาเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นเสื่อมสลายหรือเสื่อมราคาลง ตลอดจนต้องหาทรัพย์สินใหม่มาทดแทนให้เจ้าของในกรณีที่เขาใช้ทรัพย์สินนั้นสิ้นเปลืองไปโดยมิชอบ (ป.พ.พ. ม.1420 ว.1-3)

ทว่า ถ้าทรัพย์สินเสื่อมราคาลงการใช้ตามสมควรแล้ว ผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็ไม่ต้องรับผิด (ป.พ.พ. ม.1420 ว.4)

การรักษาทรัพย์สินอย่างวิญญูชน

[แก้]

ผู้ทรงสิทธิเก็บกินนั้นมิใช่ว่ามีสิทธิใช้ทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วจะใช้อย่างไรก็ได้ตามใจ ทว่า ต้องปฏิบัติต่อทรัพย์สินนั้นเช่นเดียวกับที่วิญญูชน (อังกฤษ: reasonable person) พึงทำกับทรัพย์สินของตนเอง ดังที่ ป.พ.พ. ม.1421 ว่า "ในการใช้สิทธิเก็บกินนั้น ผู้ทรงสิทธิต้องรักษาทรัพย์สินเสมอกับที่วิญญูชนพึงรักษาทรัพย์สินของตนเอง" เช่น เดิมผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีบ้านเป็นของตนเอง เวลาสูบบุหรี่ก็มักทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้นบ้านตนเอง ครั้นมีสิทธิเก็บกินเหนือบ้านของบุคคลอื่น จะทิ้งก้นบุหรี่เหมือนกับที่เคยทำต่อบ้านของตนเองหาได้ไม่ เพราะวิญญูชนที่ไหนจะทิ้งก้นบุหรี่ลงพื้นบ้านตนเอง[9]

การโอนการใช้สิทธิเก็บกิน

[แก้]
"ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธินั้นจะโอนการใช้สิทธิของตนให้บุคคลภายนอกก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นเจ้าของทรัพย์สินอาจฟ้องร้องผู้รับโอนโดยตรง"
ป.พ.พ. ม.1422

สิทธิเก็บกินนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ทรงสิทธิ เมื่อผู้ทรงสิทธิตายสิทธินั้นก็สิ้นสุดลง จะโอนให้แก่หาได้ไม่แม้โดยทางมรดกก็ตาม (ดู การได้มาซึ่งสิทธิเก็บกิน) ทว่า ในระหว่างที่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินยังมีสิทธิอยู่ เขาอาจให้บุคคลอื่นใช้สิทธิเก็บกินแทนเขาก็ได้ กรณีฉะนี้เรียก "การโอนการใช้สิทธิ" มิใช่การโอนสิทธิ และบุคคลผู้รับโอนการใช้สิทธิเก็บกินอาจถูกเจ้าของทรัพย์สินที่ตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกินฟ้องร้องได้โดยตรงในกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างระหว่างกัน (ป.พ.พ. ม.1422) ซึ่ง มานิตย์ จุมปา รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า[9]

การคัดค้านการใช้ทรัพย์สินในทางมิชอบ

[แก้]
"เจ้าของทรัพย์สินจะคัดค้านมิให้ใช้ทรัพย์สินในทางอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือมิสมควรก็ได้

ถ้าเจ้าของพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของตนตกอยู่ในภยันตราย ท่านว่าจะเรียกให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินหาประกันให้ก็ได้ เว้นแต่ในกรณีซึ่งผู้ให้ทรัพย์สินสงวนสิทธิเก็บกินในทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตนเอง

ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินละเลยไม่หาประกันมาให้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้เพื่อการนั้น หรือถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินมินำพาต่อคำคัดค้านแห่งเจ้าของยังคงใช้ทรัพย์สินนั้นในทางอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือมิสมควรไซร้ ท่านว่าศาลจะตั้งผู้รักษาทรัพย์เพื่อจัดการทรัพย์สินแทนผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็ได้ แต่เมื่อหาประกันมาให้แล้ว ศาลจะถอนผู้รักษาทรัพย์ที่ตั้งขึ้นไว้นั้นก็ได้"
ป.พ.พ. ม.1423

เจ้าของทรัพย์สินที่อยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกินนั้นสามารถคัดค้านมิให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินใช้ทรัพย์สินนั้นไปในทางอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือมิสมควร (ป.พ.พ. ม.1423 ว.1) เช่น สิทธิเก็บกินมีอยู่เหนือบ้านพักตากอากาศหลังหนึ่ง ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเอาไปทำเป็นโรงแรมโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านย่อมคัดค้านมิให้ทำเช่นนั้นได้ [10]

อนึ่ง ถ้าเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวพิสูจน์ต่อศาลได้ว่าสิทธิในทรัพย์สินของตนกำลัตกอยู่ในภยันตรายโดยเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน เขาจะร้องขอต่อศาลเพื่อเรียกให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจัดหาประกันมาให้ว่าจะไม่เกิดภยันตรายฉะนั้น เว้นแต่ในกรณีซึ่งผู้ให้ทรัพย์สินสงวนสิทธิเก็บกินในทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อตนเอง (ป.พ.พ. ม.1423 ว.2) เช่น สิทธิเก็บกินมีอยู่เหนือบ้านหลังหนึ่ง ครั้นใกล้กำหนดที่สิทธินั้นจะสิ้นสุดลง ผู้ทรงสิทธิเตรียมรื้อถอนขุดบ้านออกขาย เจ้าของบ้านย่อมฟ้องศาลบังคับให้ผู้ทรงสิทธิจัดหาประกันความเสียหายที่จะเกิดได้[10]

ในการนี้ ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินละเลยไม่จัดหาประกันภายในเวลาตามที่กำหนดให้โดยสมควร หรือวางเฉยต่อคำคัดค้านแห่งเจ้าของทรัพย์สินโดยยังคงใช้ทรัพย์สินนั้นต่อไปในทางอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือมิสมควร เจ้าของทรัพย์สินจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้รักษาทรัพย์เพื่อเข้ามาจัดการทรัพย์สินดังกล่าวแทนผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็ได้ จนกว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะจัดหาประกันมาให้ (ป.พ.พ. ม.1423 ว.3)

การสงวนภาวะแห่งทรัพย์สิน

[แก้]
"ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจำต้องสงวนภาวะแห่งทรัพย์สินมิให้เปลี่ยนไปในสาระสำคัญ กับต้องบำรุงรักษาปกติและซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย

ถ้าจำเป็นต้องซ่อมแซมใหญ่ หรือมีการสำคัญอันต้องทำเพื่อรักษาทรัพย์สินไซร้ ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินต้องแจ้งแก่เจ้าของทรัพย์สินโดยพลันและต้องยอมให้จัดทำการนั้น ๆ ไปถ้าเจ้าของทรัพย์สินละเลยเสีย ท่านว่าผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะจัดทำการนั้นไปโดยให้เจ้าของทรัพย์สินออกค่าใช้จ่ายก็ได้"
ป.พ.พ. ม.1424
"ค่าใช้จ่ายอันเป็นการจรนั้น ท่านว่าเจ้าของต้องเป็นผู้ออก แต่เพื่อจะออกค่าใช้จ่ายเช่นว่านี้หรือค่าใช้จ่ายตามความในมาตราก่อน เจ้าของจะจำหน่ายทรัพย์สินบางส่วนก็ได้ เว้นแต่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะเต็มใจทดรองเงินตามที่จำเป็นโดยไม่คิดดอกเบี้ย"
ป.พ.พ. ม.1425

กฎหมายไทยให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเหนือทรัพย์สินใดมีหน้าที่ต้องสงวนสาระสำคัญของทรัพย์สินนั้นมิให้เปลี่ยนแปลงไป และต้องบำรุงรักษาทรัพย์สินตามสมควร ในกรณีนี้ หากจำต้องจัดการซ่อมแซมทรัพย์สินนั้นขนานใหญ่หรือต้องทำการสำคัญอันใดเพื่อรักษาทรัพย์สิน เขาต้องแจ้งต่อเจ้าของทรัพย์สินโดยไม่ชักช้า และเจ้าของทรัพย์สินต้องอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย ถ้าเจ้าของทรัพย์สินไม่เอาใจใส่เสีย เขาจะจัดการไปลำพังแล้วให้เจ้าของทรัพย์สินออกค่าใช้จ่ายก็ได้ (ป.พ.พ. ม.1424)

อนึ่ง เพื่อจะหาเงินมาใช้จ่ายในกรณีข้างต้น เจ้าของทรัพย์สินอาจจำหน่ายทรัพย์สินนั้นบางส่วนก็ได้ เว้นแต่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะยินดีสนับสนุนเงินให้ไปก่อนโดยไม่คิดดอกเบี้ย (ป.พ.พ. ม.1425)

ค่าใช้จ่ายจร

[แก้]
"ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังมีอยู่ ผู้ทรงสิทธิต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพย์สิน ตลอดจนเสียภาษีอากร กับทั้งต้องใช้ดอกเบี้ยหนี้สินซึ่งติดพันทรัพย์สินนั้น"
ป.พ.พ. ม.1426

ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายจร (อังกฤษ: extraordinary expense) เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ตกอยู่ในบังคับของสิทธิเก็บกิน ซึ่งหมายถึง ค่าใช้จ่ายอะไรก็ตามที่มิได้มีมาโดยปรกติซึ่งจำเป็นต้องจ่ายเพื่อทรัพย์สินนั้น เช่น ค่าซ่อมหลังคาบ้านเพราะต้องอสนีบาต เป็นหน้าที่ของเจ้าของทรัพย์สินที่จะออกค่าใช้จ่ายเช่นนั้น และเพื่อหาเงินมาจ่าย เจ้าของทรัพย์สินจะจำหน่ายทรัพย์สินเสียบางส่วนก็ได้ เว้นแต่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินยินดีสนับสนุนเงินให้ไปก่อนโดยไม่คิดดอกเบี้ย (ป.พ.พ. ม.1425)[11]

ส่วนกรณีค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าบริหารจัดการทรัพย์สิน ค่าภาษีอากร หรือดอกเบี้ยที่ติดพันทรัพย์สินนั้น เป็นต้น บรรดาที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีสิทธิเก็บกินอยู่ ตกเป็นหน้าที่ของเขาที่จะออกค่าใช้จ่ายเช่นนี้ (ป.พ.พ. ม.1426)

การประกันวินาศภัย

[แก้]

ตามกฎหมายไทยแล้ว ผู้ทรงสิทธิเก็บกินยังมีหน้าที่จัดหาและต่อประกันวินาศภัยเพื่อทรัพย์สินที่อยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกินของตนด้วย ดังที่ ป.พ.พ. ม.1427 ว่า

การสิ้นสุดลงของสิทธิเก็บกิน

[แก้]

ตามกฎหมายไทยแล้ว สิทธิเก็บกินย่อมสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้[12]

1. คู่กรณีตกลงกันเลิกสัญญาอันก่อให้เกิดสิทธิเก็บกิน

2. ทรัพย์สินอันตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกินนั้นสูญสลายไป โดยไม่มีทรัพย์สินอื่นมาแทน (ป.พ.พ. ม.1419)

3. ผู้ทรงสิทธิจบชีวิตลง (ป.พ.พ. ม.1418)

ในฐานะที่สิทธิเก็บกินเป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่ง การสิ้นสุดลงของสิทธิเก็บกินจึงอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. ม.1301 ด้วย (ดู การได้มาซึ่งสิทธิเก็บกิน)

ฎ.681-713/2494 ว่า ข้อความจดทะเบียนมีว่า ให้โจทก์มีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินนที่ดินมีโฉนดนั้น ย่อมหมายความว่า โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินใด ๆ ในที่ดินนั้นได้ ทั้งในที่ดินนั้นเองและในสิ่งปลูกสร้างใด ๆ บนที่ดินนั้น ฉะนั้น หากสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้นจะสลายไป สิทธิเก็บกินของโจทก์ก็ยังคงมีอยู่เหนือที่ดินอันโจทก์อาจใช้สิทธินั้นจัดการให้เกิดประโยชน์โดยปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดินนั้นใหม่ได้ เจ้าของที่ดินไม่มีสิทธิจะขัดขวางสิทธิเก็บกินของโจทก์

อายุความ

[แก้]

กฎหมายไทยนั้นกำหนดอายุความ (อังกฤษ: prescription) การใช้สิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับสิทธิเก็บกินไว้ใน ป.พ.พ. ดังนี้

"ม.1428 คดีอันเกี่ยวกับสิทธิเก็บกินในระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับผู้ทรงสิทธิเก็บกินหรือผู้รับโอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อเกินปีหนึ่งนับแต่วันสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง แต่ในคดีที่เจ้าของทรัพย์สินเป็นโจทก์นั้น ถ้าเจ้าของไม่อาจรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลงเมื่อใด ท่านให้นับอายุความปีหนึ่งนั้นตั้งแต่เวลาที่เจ้าของทรัพย์สินได้รู้หรือควรรู้ว่าสิทธิเก็บกินสุดสิ้นลง"

ฎ.1548/2503 ว่า ตามฟ้อง คำให้การที่คู่ความแถลงรับกันได้ความว่า จำเลยได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินสวนพิพาทให้โจทก์ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 และโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองและไม่เคยใช้สิทธิเก็บกินในที่สวนแปลงพิพาทเลย นับแต่วันจดทะเบียนจนทุกวันนี้ 7-8 ปีแล้ว โดยฝ่ายจำเลยได้ใช้สิทธิครอบครองและเก็บกินอยู่ตลอดมา, บัดนี้ โจทก์ต้องการจะเข้าใช้สิทธิเก็บกินบ้าง จำเลยไม่ยอม, โจทก์จึงฟ้อง. จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยได้ใช้สิทธิครอบครองและเก็บกินมาเกิน 1 ปีแล้ว คดีขาดอายุความ. โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน ต่างขอให้ศาลชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมาย. ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยแย่งการครอบครองจากโจทก์ เป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย, โจทก์ไม่จัดการกับจำเลยจนเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. ม.1374-1375 เก็บถาวร 2009-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, พิพากษายกฟ้อง.

ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นนายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า จะนำ ป.พ.พ. ม.1374 มาใช้บังคับไม่ได้, เพราะไม่ใช่โจทก์ถูกจำเลยแย่งสิทธิการครอบครองที่พิพาท, แต่เป็นเรื่องโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องขอให้ศาลบังคับจำเลยยอมให้โจทก์ใช้สิทธิเก็บกินซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมาย แม้ไม่มีกฎหมายระบุไว้โดยตรงเกี่ยวกับอายุความเรียกร้องบังคับตามสิทธิเก็บกิน ก็ชอบที่จะนำหลักอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. ม.164 (ป.พ.พ. ม.193/30 ปัจจุบัน เก็บถาวร 2009-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) มาใช้ คือ ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถืออายุความ 10 ปี, คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ, เห็นควรพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี.

โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีไม่ขาดอายุความ. ศาลอุทธรณ์มีข้อวินิจฉัยทำนองเดียวกับความเห็นแย้งของศาลชั้นต้น, สิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ, พิพากษากลับให้จำเลยยอมให้โจทก์ใช้สิทธิเก็บกินในที่ดินโฉนดเลขที่ 6010 ตามฟ้องไปจนตลอดชีวิตของโจทก์, ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องขัดขวางในการที่โจทก์จะใช้สิทธิเก็บกิน. จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. ม.1374-1375 และ 1428.

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ถูกรบกวนหรือถูกแย่งการครอบครอง เพราะโจทก์ยังไม่เคยได้เข้าไปครอบครองและใช้สิทธิเก็บกินในที่สวนพิพาทตามที่ได้จดทะเบียนสิทธิไว้ จึงยกอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. 1347 และ 1375 มาใช้บังคับไม่ได้, และกรณีก็ไม่เข้า ป.พ.พ. ม.1428ดังที่จำเลยเถียงในฎีกา เพราะสิทธิเก็บกินตามที่จดทะเบียนไว้นั้นโจทก์ยังไม่ได้เริ่มต้นเข้าไปครอบครองและใช้สิทธิเก็บกินในที่พิพาทเลย. ส่วนการที่โจทก์เพิกเฉยถึง 7-8 ปี แล้วมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้มอบการครอบครองให้โจทก์ เพื่อใช้สิทธิเก็บกินตามที่ได้จดทะเบียนสิทธิไว้นั้น จะขาดอายุความหรือไม่, ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยตรงว่า สิทธิเรียกร้องขอให้บังคับตามสิทธิเก็บกินนี้มีอายุความฟ้องร้องเท่าใด, จึงต้องใช้หลักอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. ม.164 คือ 10 ปี, คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ. ศาลฎีกาพิพากษายืน.

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. มานิตย์ จุมปา, 2551 : 428.
  2. 2.0 2.1 มานิตย์ จุมปา, 2551 : 441.
  3. "Usufruct", 2009 : Online.
  4. พระคัมภีร์ไบเบิล, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
    พันธสัญญาเดิม, เลวีนิติ, บทที่ 19, ข้อ 9 และข้อ 10.
  5. พระคัมภีร์ไบเบิล, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
    พันธสัญญาเดิม, เลวีนิติ, บทที่ 23, ข้อ 22.
  6. มานิตย์ จุมปา, 2551 : 452.
  7. มานิตย์ จุมปา, 2551 : 443.
  8. มานิตย์ จุมปา, 2551 : 444.
  9. 9.0 9.1 มานิตย์ จุมปา, 2551 : 445.
  10. 10.0 10.1 มานิตย์ จุมปา, 2551 : 446.
  11. เสนีย์ ปราโมช, 2521 : 589.
  12. มานิตย์ จุมปา, 2551 : 449.

อ้างอิง

[แก้]

ภาษาไทย

[แก้]

ภาษาต่างประเทศ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]