สัมมาสังกัปปะ
เป็นส่วนหนึ่งของ |
ธรรมะหนทางสู่การรู้แจ้ง |
---|
สัมมาสังกัปปะ หมายถึง ดำริชอบ หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง เป็นหนึ่งในมรรค 8 หรือ มรรคมีองค์แปด
สัมมาสังกัปปะ มี 3 อย่าง ได้แก่
- เนกขัมมสังกัปป์ (หรือ เนกขัมมวิตก) คือ ความดำริที่ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่าง ๆ ความคิดที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณเป็นกุศลทุกอย่าง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากราคะหรือโลภะ
- อพยาบาทสังกัปป์ (หรือ อพยาบาทวิตก) คือ ดำริในอันไม่พยาบาท ความดำริที่ไม่มีความเคียดแค้น ชิงชัง ขัดเคือง หรือเพ่งมองในแง่ร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือเมตตา กรุณาซึ่งหมายถึงความปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ
- อวิหิงสาสังกัปป์ (หรือ อวิหิงสาวิตก) คือ ดำริในอันไม่เบียดเบียน ไม่มีการคิดทำร้ายหรือทำลายด้วยความไม่รู้ เพราะคึกคะนอง ทำโดยไม่มีความโลภหรือความโกรธมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม ปัญญาคือเข้าใจโลกนี้ตามความเป็นจริง รู้ชัดในกฎแห่งกรรม หรือมีสามัญสำนึกในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเอง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโมหะ
กุศลวิตก 3 ประการนี้ ไม่กระทำความมืดมน กระทำปัญญาจักษุ กระทำญาณ ยังปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน
สิ่งที่ตรงกันข้ามกับสัมมาสังกัปปะ
[แก้]สัมมาสังกัปปะตรงกันข้ามกับมิจฉาสังกัปปะ (ความดำริผิด) ซึ่งมี 3 อย่างคือ
- กามสังกัปป์ (หรือ กามวิตก)
- พยาบาทสังกัปป์ (หรือ พยาบาทวิตก)
- วิหิงสาสังกัปป์ (หรือ วิหิงสาวิตก)
ความดำริหรือแนวความคิดแบบมิจฉาสังกัปปะนี้ เป็นเรื่องปรกติของคนส่วนมาก เพราะตามธรรมดานั้น เมื่อปุถุชนรับรู้อารมณ์ ก็จะเกิดความรู้สึกหนึ่งในสองอย่าง คือ ถูกใจซึ่งก็จะชอบ ติดใจ หรือไม่ถูกใจก็จะไม่ชอบ มีขัดเคืองตามมา จากนั้นความดำรินึกคิดต่าง ๆ ก็จะดำเนินไปตามแรงผลักดันของความชอบและไม่ชอบนั้น
ความดำริหรือความนึกคิดที่เอนเอียงเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะ มองสิ่งต่าง ๆ อย่างผิวเผิน รับรู้อารมณ์เข้ามาทั้งดุ้น โดยขาดสติสัมปชัญญะ แล้วปล่อยความนึกคิดให้แล่นไปตามความรู้สึก หรือตามเหตุผลที่มีความชอบใจไม่ชอบใจเป็นตัวนำ ไม่ได้ใช้ความคิดแยกแยะส่วนประกอบ และความคิดสืบสาวสอบค้นเหตุปัจจัย ตามหลักโยนิโสมนสิการ
มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจผิดพลาด ไม่มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จึงทำให้เกิดมิจฉาสังกัปปะ คือ ดำริ นึกคิด และมีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายผิดพลาดบิดเบือน และมิจฉาสังกัปปะนี้ ก็ส่งผลสะท้อนให้เกิดมิจฉาทิฐิ จนเข้าใจและมองเห็นสิ่งทั้งหลาย อย่างผิดพลาดและบิดเบือนยิ่งขึ้นไปอีก
สัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสังกัปปะ
[แก้]การที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ตามที่มันเป็นได้นั้น จะต้องใช้โยนิโสมนสิการ คือ ขณะนั้นความนึกคิดดำริต่าง ๆ จะต้องปลอดโปร่ง มีอิสระ ไม่มีทั้งความชอบใจ ความยึดติด พัวพัน และความไม่ชอบใจ เป็นปฏิปักษ์ต่าง ๆ ด้วย นั่นคือ จะต้องมีสัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ ซึ่งองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้ ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน
สัมมาสังกัปปะ 2 อย่าง
[แก้]- สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ คือ ความดำริในเนกขัมมะ ดำริในความไม่พยาบาท ดำริในความไม่เบียดเบียน
- สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค คือ ความตรึก ความวิตก ความดำริ ความแน่ว ความแน่ ความปักใจ วจีสังขาร ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่
ธรรมะที่เกี่ยวข้อง
[แก้]- จากทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑
ภิกษุผู้ประกอบธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาอันไม่ผิด และเป็นอันปรารภเหตุ เพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ เนกขัมมวิตก ๑ อพยาบาทวิตก ๑ อวิหิงสาวิตก ๑ สัมมาทิฏฐิ ๑
- จากสนิทานสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖
ความหมายรู้ในเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยเนกขัมมธาตุ
ความดำริในเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความหมายรู้ในเนกขัมมะ
ความพอใจในเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความดำริในเนกขัมมะ
ความเร่าร้อนเพราะเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความพอใจในเนกขัมมะ
การแสวงหาในเนกขัมมะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความเร่าร้อนเพราะเนกขัมมะ
อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อแสวงหาเนกขัมมะ ย่อมปฏิบัติชอบโดยฐานะ ๓ คือ กาย วาจา ใจ
และโดยนัยเดียวกันนี้ กับ อพยาบาท และ อวิหิงสา
อ้างอิง
[แก้]- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม". เก็บถาวร 2015-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พุทธธรรม".
- สัจจบรรพ มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐
- มหาจัตตารีสกสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔
- สนิทานสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖
- ทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑
- อันธการสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕