สมันตปาสาทิกา
สมันตัปปาสาทิกา หรือ สมันตปาสาทิกา คือคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายขยายความพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆษจารย์ หรือพระพุทธโฆสะเป็นผู้แต่งคัมภีร์สมันตปาสาทิกานี้ขึ้นในช่วงปีก่อน พ.ศ. 1000 โดยรจนาเป็นภาษาบาลี อาศัยอรรถกถาพระไตรปิฎกที่มีอยู่ในภาษาสิงหฬชื่อมหาอัฏฐกถา เป็นหลักพร้อมทั้งอ้างอิงจากคัมภีร์ มหาปัจจริยะ และคัมภีร์กุรุนที[1] นอกจากจะเป็นคัมภีร์อรรถกาที่อธิบายความของพระวินัยปิฎกแล้ว ท่านผู้รจนายังได้สอดแทรกและบันทึกข้อมูลอันทรงคุณค่าด้านสังคม การเมือง จริยธรรม ศาสนา และประวัติศาสตร์ปรัชญาในยุคโบราณของอินเดียไว้อย่างมากมาย[2]
Oscar von Hinuber ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีบาลี ชี้ว่า สมันตัปปาสาทิกาได้หยิบยืมคาถาหลายบทมาจากคัมภีร์ทีปวงศ์ ซึ่งรจนาก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ ยังระบุว่า ชื่อของคัมภีร์อรรกถานี้ คือ สมันตัปปาสาทิกา มาจากคำว่า "สมันตะ" ที่บ่งนัยถึงทิศทั้ง 4 และคำว่า "ปาสาทิกา" ซึ่งแปลว่า ร่มเย็นราบคาบ[3]
ทั้งนี้ คัมภีร์ชั้นฎีกาที่อธิบายความในคัมภีร์สมันตัปปาสาทิกา คือ สารัตถทีปนี ซึ่งพระสารีบุตรเถระแห่งเกาะลังกา เป็นผู้รจนาในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ 1 แห่งลังกา (พ.ศ. 1696 - 1729)[4] และในปัจจุบัน สมันตัปปาสาทิกยังาถูกใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยในระดับชั้น เปรียญธรรม 6 ประโยค นอกจากนี้ ยังมีการแปลเป็นภาษาจีน ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 489 โดยพระสังฆะภัทระ[5]
ที่มา
[แก้]พระพุทธโฆสะ รจนาคัมภีร์สมันตัปปาสาทิกาขึ้นตามคำอาราธนาของพระเถระผู้มีนามว่าพระพุทธสิริ เมื่อประมาณ พ.ศ. 927-973 ณ เมืองอนุราธปุระในศรีลังกาในรัชสมัยของพระเจ้าสิริปาละในอารัมภบทของคัมภีร์[6] ท่านผู้รจนาได้ชี้แจงว่า คัมภีร์นี้เป็นอรรถกถาแรกที่ท่านได้แต่งขึ้นเพื่ออธิบายความในพระไตรปิฎก ท่านผู้รจนายังได้ชี้แจงด้วยว่า เหตุที่แจ่งอรรถกถาพระวินัยปิฎกก่อนพระสูตร ตามลำดับของคำว่า "พระธรรมวินัย" นั่น ก็ด้วยเหตุที่ท่านได้พิจารณาแล้วว่า พระวินัยคือรากฐานของพระศาสนา[2]
ทัศนะของ พระพุทธโฆษจารย์ เกี่ยวกับความสำคัญของพระวินัย สอดคล้องกับเนื้อความในสมันตปาสาทิกา ที่ระบุถึงเหตุการณ์หลังจากที่พระอานนท์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วเข้าร่วมการสังคายนาครั้งแรก ดังว่า
"เมื่อพระอานนท์นั้นนั่งแล้วอย่างนั้น พระมหากัสสปเถระ จึงปรึกษาภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย! พวกเราจะสังคายนาอะไรก่อน พระธรรมหรือพระวินัย ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัสสปะ! ชื่อว่าพระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังตั้งอยู่ พระพุทธศาสนาจัดว่ายังดำรงอยู่"[7]
เนื้อหา
[แก้]สมันตปาสาทิกา แบ่งเป็น 3 ภาค คือ ภาคที่ 1 อธิบายความในเวรัญชกัณฑ์ถึงปาราชิกกัณฑ์แห่งมหาวิภังค์ภาค 1 ว่าด้วยวินัยที่เป็นหลักใหญ่ของภิกษุ, ภาคที่ 2 อธิบายความในเตรสกัณฑ์ถึงอนิยตกัณฑ์แห่งมหาวิภังค์ภาค 1 และในนิสสัคคีย์กัณฑ์ถึงอธิกรณสมถะแห่งมหาวิภังค์ภาค 2 รวมทั้งอธิบายความในภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยวินัยที่เป็นหลักใหญ่ของภิกษุณี และภาคที่ 3 อธิบายความในมหาวรรค (ภาค 1-2) จุลลวรรค (ภาค 1-2) และปริวาร ซึ่งว่าด้วยกำเนิดภิกษุสงฆ์และระเบียบความเป็นอยู่และกิจการของภิกษุสงฆ์ และว่าด้วยระเบียบความเป็นอยู่และกิจการของภิกษุสงฆ์ เรื่องภิกษุณี และสังคายนา รวมถึงหมวดที่ว่าด้วยคู่มือถามตอบซักซ้อมความรู้พระวินัย[6]
โดยสังเขปเล้วสมันตปาสาทิกามีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เนื้อหาหลักที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัย เช่น มูลเหตุทำสังคายนาครั้งแรก, การสังคายนาครั้งต่อมา คือครั้งที่ 2, 3 และ 4 มีการอธิบายเรื่องพระพุทธคุณ 9, มีการอธิบายเรื่องสติ สมาธิ ปฏิสัมภิทา จิต วิญญาณ อินทรีย์ และมีการอธิบายเรื่องอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส เป็นต้น ทั้งของภิกษุและภิกษุณี[8]
นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกและระบุถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ต่าง ๆ เช่น ประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช ประวัติพระเจ้าอชาตศัตรู ตลอดจนพระเจ้าอุทัยภัทท์ พระเจ้าอนุรุทธะและพระเจ้ามุณฑะ ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นมคธ ประวัติการเกิดข้าวยากหมากแพงในเมืองเวรัญชา เป็นต้น ในส่วนที่ให้ข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ เช่น ชัยภูมิที่ตั้งเมืองต่าง ๆ เช่น กุสินารา จัมปา สาวัตถี และดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นต้น[9]
ความสำคัญ
[แก้]นอกเหนือจากจะเป็นคัมภีร์อรรถกถาคัมภีร์แรก ๆ ที่ความสำคัญอย่างยิ่งในการอธิบายพระวินัยปิฎกแล้ว ยังเป็นคัมภีร์ที่บันทีกวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และนานาศาสตร์ของอินเดียโบราณไว้อย่างพิสดารพันลึก โดยพระอรรถกถาจารย์ผู้รจนาได้อ้างอิงศาสตร์เหล่านี้ ในการอธิบายพระวินัยปิฎกนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบันทึกประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ในยุคสมัยแห่งการสังคายนาครั้งที่ 3 มีการระบุผู้ที่เป็นประธานสงฆ์ในการสังคายนาครั้งที่ 3 การส่งคณะพระธรรมทูตไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่าง ๆ โดยพระบรมราชโองการของพระเจ้าอโศกมหาราช[10]
ทั้งนี้ สมันตปาสาทิกา ยังมีการระบุว่า ในการสังคายนาครั้งนั้น พระสังคีติภาณกาจารย์ได้จัดหมวดหมู่ “พระธรรมและพระวินัย” ออกเป็น 3 หมวดใหญ่ เรียกว่า “ปิฎก” คือ พระวินัยปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์ส่วนพระวินัย, พระพุทธสุตตันตปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์ส่วนพระสูตร และพระอภิธรรมปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์ส่วนปรมัตถ์[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550), หน้า 400 - 401
- ↑ 2.0 2.1 Bimala Charan Law. (1923). หน้า 77
- ↑ Oscar von Hinuber. (1996).
- ↑ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550), หน้า 441 - 442
- ↑ Bimala Charan Law. (1923). หน้า 78
- ↑ 6.0 6.1 คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 69
- ↑ ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล หน้า 19
- ↑ คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 70
- ↑ คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 70 - 71
- ↑ คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 48
- ↑ คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 53
บรรณานุกรม
[แก้]- พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์
- ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย. กรุงเทพฯ กองตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย
- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550). พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร.
- Oscar von Hinuber. (1996). A Handbook of Pali Literature, Philadelphia : Coronet Books Inc.
- Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
- คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
ตัวบท
[แก้]- ตัวบทภาษาบาลี
- ตัวบทแปลภาษาไทย
- ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล ภาค 1
- ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล ภาค 2
- ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล ภาค 3
- ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล ภาค 1
- ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล ภาค 2
- ตัวบทแปลภาษาจีน
- 善見律毘婆沙 เก็บถาวร 2015-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ตัวบทแปลภาษาอังกฤษ