ข้ามไปเนื้อหา

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในปี พ.ศ. 2556
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ซู่คุ้ง แซ่พัว

22 มิถุนายน พ.ศ. 2501 (66 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
เชื้อชาติไทย
บุพการี
  • ไชยฮวด แซ่พัว (บิดา)
  • จุงฮวย แซ่พัว (มารดา)
ที่อยู่อาศัยประเทศฝรั่งเศส
การศึกษาโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ศิษย์เก่า
อาชีพ
เป็นที่รู้จักจากการเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 8 ข้อ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย
ผลงานเด่นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง: รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา

รองศาสตราจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (เกิด 22 มิถุนายน พ.ศ. 2501) เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวไทย อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และการเมืองไทยร่วมสมัย เขามีผลงานการศึกษาค้นคว้าและการตีความประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะการศึกษาบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตั้งแต่การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8, เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยผลงานส่วนใหญ่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตในรูปของบทความทั้งขนาดสั้นและขนาดยาวในเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ฟ้าเดียวกัน, ประชาไท และในเฟซบุ๊กของตนเอง เขายังเสนอให้ปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112[1]

ประวัติ

ชีวิตช่วงต้น

ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2501 ที่จังหวัดพระนคร มีชื่อเล่นว่า "โต" เป็นบุตรของนายไชยฮวด และนางจุงฮวย แซ่พัว เป็นบุตรชายคนที่ 3 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน ได้แก่ นายสมชาย นางสมศรี นายสมศักดิ์ นางสาวสมรักษ์ และนายสมปอง เจียมธีรสกุล บิดาและมารดาเป็นชาวจีนอพยพตระกูลแซ่พัว โดยบิดาประกอบอาชีพเป็นเสมียนในร้านขายวัสดุก่อสร้าง ย่านสะพานขาว ริมคลองผดุงกรุงเกษม มารดาประกอบอาชีพขายอาหารตามโรงเรียน เมื่อแรกเกิด สมศักดิ์มีชื่อเดิมตามสูติบัตรว่า "ซู่คุ้ง แซ่พัว" โดยต่อมาน้าของนางจุงฮวยผู้เป็นมารดา (ตามลำดับญาติของคนจีนเรียกว่า "เหล่าอี๊") จึงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "สมศักดิ์" ในวันที่มารดาได้ไปร่วมงานตรุษจีนของครอบครัว แล้วจึงเปลี่ยนชื่อจากชื่อจีนเป็นชื่อไทยพร้อมกับพี่ชายและพี่สาวเมื่อจะเข้าโรงเรียน โดยพี่ชายคนโต นายสมชาย เดิมชื่อ "ซู่ฮ้ง แซ่พัว" ส่วนพี่สาวคนรอง นางสมศรี ชื่อ "ซู่ฮั้ว แซ่พัว"[2] สมศักดิ์ได้บรรยายเรื่องของครอบครัวภายหลังการเสียชีวิตของมารดาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวใน พ.ศ. 2560 ว่าครอบครัวมีฐานะยากจนทำให้ต้องย้ายบ้านและโรงเรียนหลายครั้ง[3] สมศักดิ์จบการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนพลับพลาไชยและเข้าศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยใน พ.ศ. 2514 โดยถือเป็นนักเรียนสวนกุหลาบรุ่นที่ 90 รุ่นเดียวกับเนวิน ชิดชอบ วัฒนา เมืองสุข และวีระ สมความคิด

ระหว่างที่สมศักดิ์เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง สมศักดิ์ได้เคยดำรงตำแหน่งประธานนักเรียนและเป็นหนึ่งในสาราณียกรจัดทำหนังสือรุ่นซึ่งแจกจ่ายในงานประจำปีของโรงเรียนหรือ "วันสมานมิตร" ประจำปี 2517 ชื่อว่า "ศึก"[4] ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การศึกษา และแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาระบบใหม่ที่มีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรง ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงในกลุ่มนักเรียนสวนกุหลาบจนเกิดการตะลุมบอนในกลุ่มนักเรียนด้วยกัน[5] หลังเรียนจบสมศักดิ์เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขาประวัติศาสตร์ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์ 6 ตุลา

สมศักดิ์เป็นหนึ่งในแกนนำนักศึกษาโดยรับหน้าที่เป็นโฆษกบนเวทีปราศรัยระหว่างการชุมนุมขับไล่พระถนอม สุกิตติขจโร ที่ได้กลับเข้ามาบวชให้เดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ผลจากเหตุการณ์ 6 ตุลาทำให้นักศึกษาและประชาชนถูกทำร้ายจนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเกิดการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ[6] ซึ่งสมศักดิ์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวขณะหลบอยู่ภายในกุฏิสงฆ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาสมศักดิ์ถูกดำเนินคดีร่วมกับผู้ต้องหาอีก 18 คน โดยถูกคุมขังในข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพและคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 2 ปี และได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2521 ในช่วงที่ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลัง สมศักดิ์ ในฐานะอดีตแกนนำนักศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ได้อธิบายในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า กลุ่มนักศึกษานั้นมีคอมมิวนิสต์หนุนหลังอยู่ก่อนเหตุการณ์แล้ว[7]

ศึกษาต่อต่างประเทศ

สมศักดิ์กลับเข้าศึกษาในสาขาเดิมที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้งภายหลังจากการปล่อยตัว จนจบการศึกษาโดยได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง[8] และศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสาขาการเมืองที่มหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "The Communist Movement in Thailand"[9] จนจบการศึกษาโดยได้รับปริญญา Doctor of Philosophy (Ph.D)[10] เมื่อปี พ.ศ. 2535[11]

การทำงาน

อาจารย์มหาวิทยาลัย

ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สมศักดิ์ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครองที่ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2536 ก่อนจะย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2537[12] โดยรับผิดชอบเป็นผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์ ได้แก่ ประวัติศาสตร์รัสเซีย ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ และ ปรัชญาประวัติศาสตร์ โดยอนุญาตให้ผู้มิได้ลงทะเบียนเรียนวิชานั้นเข้ามานั่งเรียน หรือที่เรียกว่า "ซิทอิน" ได้เช่นเดียวกับอาจารย์หลายรายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่เคยขอตำแหน่งทางวิชาการใด ๆ ระหว่างที่รับราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นที่รู้จักและการคุกคามจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้เป็นที่รู้จักในสาธารณะเป็นอย่างมาก ภายหลังที่สมศักดิ์ได้ร่วมเป็นผู้อภิปรายในรายงานเสวนาเรื่อง สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553[13] สมศักดิ์ได้มีข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด 8 ข้อ[14] โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่การต้องการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ต้องการให้สถาบันมีความทันสมัยเหมือนราชวงศ์ในยุโรป โดยมีใจความว่า

  1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 เพิ่มมาตราในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (สภาพิจารณาความผิดของกษัตริย์)
  2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
  3. ยกเลิกองคมนตรี
  4. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491
  5. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด การให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันทั้งหมด
  6. ยกเลิกพระราชอำนาจ ในการแสดงความเห็นทางการเมืองทั้งหมด (4 ธันวา, 25 เมษา "ตุลาการภิวัฒน์" ฯลฯ)
  7. ยกเลิกพระราชอำนาจในเรื่องโครงการหลวงทั้งหมด
  8. ยกเลิกการบริจาค/รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด

และเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554 สมศักดิ์ได้แถลงข่าวถึงผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ: กรณีการอภิปรายเรื่อง สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย ซึ่งสมศักดิ์ได้ร่วมอภิปรายเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2553[15] พร้อมกันนั้นนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์กรณีการคุกคาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยเรียกร้องให้รัฐยุติการคุกคามเสรีภาพของประชาชน หยุดการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาป้ายสีบุคคลต่าง ๆ[16]

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 สมศักดิ์เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า มีคนร้ายสองคนบุกเข้ามายิงปืน และขว้างอิฐใส่รถ และบ้านพักของตน ขณะที่เขาอยู่ภายในบ้าน และต่อหน้าเพื่อนบ้านหลายคนด้วย[17]

ลี้ภัย

หลังจากมีการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 สมศักดิ์เป็นบุคคลหนึ่ง ที่คณะรัฐประหาร ออกคำสั่งที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม และคำสั่งที่ 65/2557 ลงวันที่ 13 มิถุนายน เพื่อเรียกให้ไปรายงานตัว แต่เขามิได้ไปตามคำสั่งดังกล่าว จนกระทั่งมีการออกหมายจับ[18][19][20] เขาเงียบหายจากสังคมไปราวครึ่งปี จนกระทั่งวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน สมศักดิ์กลับมาเผยแพร่ ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกครั้ง โดยขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือ นับแต่มีผู้บุกลอบยิงถึงบ้านพัก[21]

แต่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามในคำสั่งมหาวิทยาลัยที่ 356/2558 ลงโทษไล่สมศักดิ์ออกจากราชการ แม้เขาจะยื่นหนังสือขอลาราชการแล้ว แต่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ฯ ไม่อนุมัติ ทั้งยังมอบหมายให้ทำการสอน ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 และยังแจ้งให้กลับมาปฏิบัติราชการโดยด่วนอีก แม้ต่อมาเขาจะยื่นหนังสือ ขอลาออกจากราชการแล้วก็ตาม แต่กลับยังคงได้รับการเพิกเฉย จึงกลับกลายเป็นว่า สมศักดิ์จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา อธิการบดีจึงอ้างเหตุนี้มาลงโทษดังกล่าว[22] แต่ปัจจุบันคำสั่งไล่ออกจากราชการได้ถูกศาลปกครองยกฟ้องแล้ว[23]

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 สมศักดิ์ ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Somsak Jeamteerasakul ในลักษณะสาธารณะ เมื่อเวลา 10.42 น. ว่า ผมเพิ่งได้ข้อความนี้จากครอบครัวทางเมืองไทย "แม่โทรมาบอกว่า มีทหาร 4 คน ขี่มอเตอร์ไซด์ 2 คัน มาหน้าบ้าน แล้วมีคนหนึ่งถ่ายรูปในบ้าน แม่ถามว่ามาหาใคร ก็ไม่พูดอะไร ถ่ายแล้วไป ถามก็ไม่พูด" และสมศักดิ์ได้ตั้งคำถามต่อว่าไม่ได้อยู่บ้านแม่กว่า 20 ปีแล้ว และตอนนี้น่าจะรู้แล้วว่าอยู่ประเทศไหน จะไปรบกวนคนไม่เกี่ยวข้องทำไม[24]

วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าสมศักดิ์ถูกส่งโรงพยาบาลหลังจากล้มลง โดยคาดว่าเส้นเลือดในสมองแตกทำให้ร่างกายซีกขวายังขยับไม่ได้ และคาดว่าต้องมีการกายภาพบำบัดและย้ายไปรับการรักษาพยาบาลที่อื่น[25]

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562 สมศักดิ์ ซึ่งปัจจุบันยังลี้ภัยและรักษาอาการโรคหลอดเลือดสมองอยู่ในต่างประเทศ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Somsak Jeamteerasakul ในการถ่ายทอดสดการเสวนาผ่านเพจ Textbooks Foundation - มูลนิธิโครงการตำราฯ เป็นครั้งแรกที่เขาแสดงความเห็นออนไลน์หลังว่างเว้นไปหลายเดือน เพื่อนเขาเขียนว่า เขาฝึกใช้มือซ้ายแทนมาหลายเดือนแล้ว[26]

บทบาทนักวิชาการ

สมศักดิ์มักวิจารณ์และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับราชวงศ์ไทยอย่างโจ่งแจ้งและตรงไปตรงมา เขาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสถาบันที่โปร่งใสมาโดยตลอด[27] ทั้งยังเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเขามองว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และแสดงออกผ่านการเข้าร่วมเสวนาในประเด็นเกี่ยวกับผู้ต้องหาคดีดังกล่าวหลายครั้ง จึงทำให้สมศักดิ์ถูกพวกคลั่งเจ้าและฝ่ายนิยมกษัตริย์โจมตีว่าเป็นพวก "ล้มล้างสถาบัน" อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์ก็วิพากษ์วิจารณ์ทั้งทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย[28]

ในการเคลื่อนไหวทางวิชาการ สมศักดิ์มีลักษณะ "บินเดี่ยว" อย่างยิ่ง ไม่เชื่อมกับใคร ไม่ร่วมทางวิชาการกับใคร เพราะมีลักษณะวิจารณ์แบบขวานผ่าซากไม่สร้างมิตร จนขัดแย้งกับนักวิชาการก้าวหน้าหลายคน เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตชะพีระ, ธงชัย วินิจจะกูล, อรรถจักร สัตยานุรักษ์, ใจ อึ๊งภากรณ์, พวงทอง ภวัครพันธ์, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, สุดา รังกุพันธุ์ เคยทะเลาะอย่างรุนแรงกับ บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์, กำพล จำปาพันธ์ และ โชติศักดิ์ อ่อนสูง เป็นต้น[29]

ชีวิตส่วนตัว

ก่อนการลี้ภัยสมศักดิ์พักอาศัยอยู่ที่บ้านในหมู่บ้านจัดสรรในเขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร[30] ปัจจุบันสมศักดิ์อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

ผลงาน

หนังสือและงานวิจัย

  • ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง: รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา[31]
  • ความเป็นมาของเพลงชาติไทยในปัจจุบัน [32]

บทความ

  • มหาวิทยาลัยของฉัน [33]
  • สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คืออะไร? [34]
  • พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับกบฎสันติภาพ [35]
  • สังคมไทยจากศักดินาสู่ทุนนิยม[36]
  • ประวัติ พคท. ฉบับ พคท. (1-2)[37]
  • 50 ปีการประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498 [38]
  • ปริศนากรณีสวรรคต[39]
  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : ปีเกิด, ลูกจีน, 6 ตุลา[40]
  • กำเนิด วันจักรี หรือมี วันชาติ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่? [41]
  • เมื่อ ถวัติ ฤทธิเดช เข้าเฝ้าขอขมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ [42]
  • กรณีถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า [43]
  • ชำแหละ-ชำระ ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 การประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 6 ตุลาคม 2519 [44]
  • วิวาทะ: เมืองไทยเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่? [45]
  • Mass Monarchy[46]
  • เลิกรำลึก 6 ตุลาเสียได้ก็คงดี[47]
  • ประเทศไทย อายุครบ 65 :. ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482 [48]
  • ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนา ถึง 5 ธันวา[49]
  • รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ "มั่วนิ่ม" กรณี"แถลงการณ์ประณาม 3 ทรราชย์" วันที่ 8 พฤศจิกายน 2516[50]
  • คำอธิบายกรณีสวรรคตของ"ท่านชิ้น" [51]
  • ความเป็นมาของคำว่า"นาถ" ใน"พระบรมราชินีนาถ" [52]
  • หลัง 14 ตุลา [53]
  • ว่าด้วยการขึ้นครองราชย์ของในหลวงอานันท์ฯ ข้อสังเกตและโต้แย้งบทความของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ใน "ฟ้าเดียวกัน" ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย[54]
  • ในหลวงอานันท์ขึ้นครองราชย์ตามลำดับขั้นของกฎมณเฑียรบาล หรือเพราะปรีดีสนับสนุน? (1)[55]
  • กำเนิด "วันจักรี" หรือมี "วันชาติ" ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่[56]
  • ข้อมูลใหม่กรณีสวรรคต : หลวงธำรงระบุชัด ผลการสอบสวน ใครคือผู้ต้องสงสัยที่แท้จริง [57]
  • บันทึกของเคนเน็ธ แลนดอน เกี่ยวกับกรณีสวรรคตและข่าวลือเรื่องแผนการใหญ่ของพี่น้องปราโมช[58]
  • ว่าด้วยจดหมายเปิดเผยความลับ กรณีสวรรคตของ "ปรีดี" ที่เพิ่งเผยแพร่[59]
  • ความหมายและความเป็นมาของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"[60]
  • ความเป็นมาของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในฐานะอุดมการณ์ราชการ[61]
  • ๒๔ มิถุนา: การตีความ ๔ แบบ[62]
  • ลมเอยช่วยเป็นสื่อให้... [63]
  • 24 มิถุนา เคยเป็นและเลิกเป็นวันชาติได้อย่างไร?[64]
  • “8 สิงหา 2508” (8-8-08) “วันเสียงปืนแตก” (ตอน1)[65]
  • “8 สิงหา 2508” (8-8-08) “วันเสียงปืนแตก” (ตอน 2)[66]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ลัทธิไล่ล่า สมศักดิ์ เจียมฯ". ประชาไท. 2014-02-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  2. Jeamteerasakul, Somrak. (2558, 1 สิงหาคม). ครอบครัวเจียมธีรสกุล ตอนที่ ๑ ชื่อของ ๕ พี่น้อง [Facebook].
  3. Jeamteerasakul, Somsak. (2560, 19 กุมภาพันธ์). เรื่องของแม่กับผม Facebook.
  4. "คอลัมน์ ภาษา-หนังสือ : ศึก สวนกุหลาบ". นิตยสารศิลปวัฒนธรรม. 2005-06-01. สืบค้นเมื่อ 2015-02-26.
  5. พลิกปูมชีวิต “สมศักดิ์ เจียมฯ” ก่อน "อยู่" และ "จากลา" ในรั้วธรรมศาสตร์
  6. "เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519". ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า. 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ 2015-02-26.[ลิงก์เสีย]
  7. 'สุวินัย' ยันขบวนนักศึกษา6ตุลาเป็นคอมมิวนิสต์แบบเหมาอิสต์ 'สมศักดิ์เจียม' ยังยอมรับความจริง ไทยโพสต์ สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2563
  8. "หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2558)" (PDF). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-07-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  9. "The Communist Movement in Thailand". University of Queensland. 2016-07-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  10. "Master of Arts (History)" (PDF). Thammasat University. 2016-07-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-01-11. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  11. "บทความดีๆ เพื่อชีวิตเสรี&เวทียุติธรรม".
  12. "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ลัทธิไล่ล่า สมศักดิ์ เจียมฯ". ประชาไท. 2014-02-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  13. "สถาบันกษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย". นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. 2010-12-14. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.[ลิงก์เสีย]
  14. "NBT news on Somsak Jeamteerasakul". Prachatai English.
  15. "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แถลงกรณีถูกคุกคามจากการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์". ประชาไท. 2011-04-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-27. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  16. "นักวิชาการไทย-เทศ ตบเท้าให้กำลังใจ 'สมศักดิ์' จี้รัฐยุติคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน". ประชาไท. 2011-04-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-27. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  17. "2 คนร้าย ยิง-ปาอิฐใส่บ้าน 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' ไร้เจ็บ". ไทยรัฐ. 2014-02-12. สืบค้นเมื่อ 2015-02-26.
  18. "ป้ายปริศนาโผล่!อีก "รับคำท้า"อธิการ มธ. ให้เปิดเผยตัวตนหากกล้าหาญวิพากษ์วิจารณ์ใคร". มติชน. 2014-08-19. สืบค้นเมื่อ 2014-08-19.
  19. "เมื่อมธ.ไม่ได้มีเพียง "ใบปลิวต่อต้านสมคิด" หากยังมี "ใบปลิวคิดถึงสมศักดิ์" ผู้หายไป". มติชน. 2014-08-25. สืบค้นเมื่อ 2014-08-25.
  20. "คิดถึงอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: ผู้มิใช่ 'อาชญากร' ที่ต้องหลบซ่อน". ประชาไท. 2014-07-03. สืบค้นเมื่อ 2014-08-25.
  21. "ด่วน! ′สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล′ รีเทิร์นเฟซบุ๊ก วาระครบ 6 เดือน รัฐประหาร 22 พ.ค.-ล่าสุดโพสต์คลิป". มติชน. 2014-11-22. สืบค้นเมื่อ 2015-02-26.
  22. "ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ถูกไล่ออกจาก มธ. นศ. เชื่อถูกกลั่นแกล้ง รถกระบะชนนักปั่นรอบโลกดับ ลูกเมียบาดเจ็บ กระแสคำถาม "วันนี้วันนี้วันอะไร". ไทยพับลิก้า. 2015-02-28. สืบค้นเมื่อ 2015-02-28.
  23. "ศาลปกครองฯ สั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออก 'สมศักดิ์ เจียม' ให้กลับไปเป็นอาจารย์เช่นเดิม". มติชน. 2016-04-11. สืบค้นเมื่อ 2016-04-11.
  24. "โกรธมาก สมศักดิ์โวยทหารมาถ่ายรูปบ้านแม่วัย 93 ถาม "ป่านนี้ก็น่าจะรู้แล้วว่า ผมอยู่ประเทศไหน"". ประชาไท. 2015-11-11. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  25. "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถูกหามส่งโรงพยาบาล หลังล้มเส้นเลือดในสมองแตก". บีบีซี. 2018-08-26. สืบค้นเมื่อ 2018-08-26.
  26. "สศจ. : เพื่อนชี้ สมศักดิ์ อาการดีขึ้น ใช้มือข้างซ้ายเข้าเฟซบุ๊กมาหลายเดือนแล้ว". บีบีซี. 2019-06-09. สืบค้นเมื่อ 2019-06-11.
  27. "ข้อเสนอ 8 ข้อ ของ'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล' !". manager. 2010-02-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-11. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  28. "อ.สมศักดิ์อัดทักษิณผิดสัญญามวลชน". โพสต์ทูเดย์. 2013-11-04. สืบค้นเมื่อ 2015-02-26.[ลิงก์เสีย]
  29. "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ลัทธิไล่ล่า สมศักดิ์ เจียมฯ". ประชาไท. 2014-02-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  30. คนร้ายยิงถล่มบ้าน 'สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล'
  31. "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง : รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา / โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล." สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-07-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.[ลิงก์เสีย]
  32. "ความเป็นมาของเพลงชาติไทยในปัจจุบัน". วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2547. 2016-07-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  33. "มหาวิทยาลัยของฉัน / สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ... [และคนอื่น ๆ]". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-07-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  34. "พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ : เศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลัง 2475". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-07-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.
  35. "กึ่งศตวรรษขบวนการสันติภาพ : "ความจริง" เกี่ยวกับ "กบฏสันติภาพ" : สำนึกทางประวัติศาสตร์ของคนสามรุ่น". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-07-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.[ลิงก์เสีย]
  36. "สังคมไทยจากศักดินาสู่ทุนนิยม". วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2525. 2016-07-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-24.[ลิงก์เสีย]
  37. "ประวัติ พคท. ฉบับ พคท. (1-2)". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  38. "50 ปีการประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498". นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.[ลิงก์เสีย]
  39. "ปริศนากรณีสวรรคต". นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.[ลิงก์เสีย]
  40. "ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : ปีเกิด, ลูกจีน, 6 ตุลา". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  41. "ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ : 28 ฉบับที่ : 6 เลขหน้า : 94-110 ปีพ.ศ. : 2550". ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI Centre). 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.[ลิงก์เสีย]
  42. "ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ : 28 ฉบับที่ : 2 เลขหน้า : 76-89 ปีพ.ศ. : 2549". ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI Centre). 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.[ลิงก์เสีย]
  43. "ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ : 26 ฉบับที่ : 7 เลขหน้า : 101-120 ปีพ.ศ. : 2548". ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI Centre). 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.[ลิงก์เสีย]
  44. "ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ : 24 ฉบับที่ : 12 เลขหน้า : 61-73 ปีพ.ศ. : 2546". ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI Centre). 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.[ลิงก์เสีย]
  45. "รัฐศาสตร์สาร ปีที่ : 19 ฉบับที่ : 1 เลขหน้า : 85-102 ปีพ.ศ. : 2537". ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI Centre). 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.[ลิงก์เสีย]
  46. "ย้ำยุค รุกสมัย : เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา / โดย มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย และ คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ; บรรณาธิการ ชัยธวัช ตุลาธน". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  47. "มติชน 24,8614 (9 ต.ค.44) 6". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  48. "ศิลปวัฒนธรรม 25, 8 (มิ.ย. 2547) 76-96". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  49. "ฟ้าเดียวกัน 2, 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2547) 70-128". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  50. "ฟ้าเดียวกัน 3, 1 (ม.ค.-มี.ค. 2548) 122-136". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  51. "ฟ้าเดียวกัน 3, 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2548) 81-85". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  52. "ฟ้าเดียวกัน 3, 3 (ก.ค.-ก.ย. 2548) 94-106". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  53. "ฟ้าเดียวกัน 3, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2548) 168-171". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  54. "ฟ้าเดียวกัน 4, 1 (ม.ค.-มี.ค. 2549) 16-21". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  55. "ฟ้าเดียวกัน 4, 2 (เม.ย.-มิ.ย. 2549) 188-228". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  56. "ศิลปวัฒนธรรม 28, 6 (เม.ย. 2550) 94-110". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  57. "ฟ้าเดียวกัน 7, 3 (ก.ค.-ก.ย. 2552) 60-73". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  58. "ฟ้าเดียวกัน 7, 3 (ก.ค.-ก.ย. 2552) 74-83". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  59. "ฟ้าเดียวกัน 7, 3 (ก.ค.-ก.ย. 2552) 84-93". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  60. "ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 สิงหาคม 2539". somsakwork.blogspot.com. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.[ลิงก์เสีย]
  61. "ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 สิงหาคม 2539". somsakwork.blogspot.com. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.[ลิงก์เสีย]
  62. "๒๔ มิถุนา: การตีความ ๔ แบบ". somsakwork.blogspot.com. 2016-08-03. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.[ลิงก์เสีย]
  63. "มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2545". ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน. 2002-10-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-19. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  64. "มติชน วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2546 ปีที่ 26 ฉบับที่ 9307". กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า. 2003-09-02. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.[ลิงก์เสีย]
  65. "มติชนสุดสัปดาห์ 13-19 สิงหาคม 2547". ประชาไท. 2009-08-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-07. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  66. "มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13-19 สิงหาคม 2547". ประชาไท. 2009-08-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-07. สืบค้นเมื่อ 2016-08-03.
  67. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๑๐๐, ๑๓ มีนาคม ๒๕๔๖
  68. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๑๐๐, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒

แหล่งข้อมูลอื่น