ข้ามไปเนื้อหา

ว็อล์ฟกัง เพาล์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ว็อล์ฟกัง เพาล์
เกิด10 สิงหาคม ค.ศ. 1913(1913-08-10)
โลเร็นทซ์เคียร์ช, แซกโซนี, จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต7 ธันวาคม ค.ศ. 1993(1993-12-07) (80 ปี)
บ็อน, รัฐนอร์ทไรน์-เว็สท์ฟาเลิน, เยอรมนี
สัญชาติเยอรมัน
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิก
มหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน
มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน
มีชื่อเสียงจากการดักจับไอออน
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ (ค.ศ. 1989)
เหรียญดิแรก (ค.ศ. 1992)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาฟิสิกส์
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยบ็อน
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกฮันส์ ค็อพเฟอร์มัน
หมายเหตุ
เพาล์กล่าวว่าว็อล์ฟกัง เพาลี (Wolfgang Pauli) เป็น "ส่วนจินตภาพ" ของเขา (เป็นการล้อกับ "i" ซึ่งเป็นตัวย่อของหน่วยจินตภาพ)[1]

ว็อล์ฟกัง เพาล์ (เยอรมัน: Wolfgang Paul; 10 สิงหาคม ค.ศ. 1913 – 7 ธันวาคม ค.ศ. 1993) เป็นนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน เกิดที่เมืองโลเร็นทซ์เคียร์ชในแซกโซนี เป็นบุตรคนที่ 4 จากทั้งหมด 6 คนของเทโอดอร์และเอลีซาเบ็ท (นามสกุลเดิม รุพเพิล) เพาล์[2] เพาล์เติบโตที่เมืองมิวนิกและเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิก ก่อนจะย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลินและตามฮันส์ ค็อพเฟอร์มัน ที่ปรึกษาระดับปริญญาเอกไปที่มหาวิทยาลัยคีล เพาล์เรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1940 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาศึกษาการแยกไอโซโทป ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์

หลังจากเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกิททิงเงินกับค็อพเฟอร์มัน ในปี ค.ศ. 1952 เพาล์ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ทดลองที่มหาวิทยาลัยบ็อน เขาดำรงตำแหน่งนี้ถึงปี ค.ศ. 1993 ระหว่างปี ค.ศ. 1965–1967 เพาล์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนฟิสิกส์นิวเคลียร์ที่องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น)

เพาล์มีผลงานที่สำคัญคือการพัฒนาเทคนิคการดักจับไออน ซึ่งมีประโยชน์ต่อการศึกษาอนุภาคย่อยของอะตอม ในปี ค.ศ. 1989 เพาล์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับฮันส์ เกออร์ค เดเม็ลท์ สำหรับการพัฒนาเทคนิคนี้ รางวัลอีกส่วนมอบให้นอร์แมน ฟอสเตอร์ แรมซีย์ จูเนียร์[3]

ด้านชีวิตส่วนตัว เพาล์แต่งงานครั้งแรกกับลีเซอล็อทเทอ เพาล์ (นามสกุลเดิม เฮียร์เชอ) ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 4 คน ต่อมาในปี ค.ศ. 1979 เขาแต่งงานใหม่กับ ดร.โดริส วัลช์-เพาล์ เพาล์เสียชีวิตที่เมืองบ็อนในปี ค.ศ. 1993[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Gerald E. Brown and Chang-Hwan Lee (2006): Hans Bethe and His Physics, World Scientific, ISBN 981-256-610-4, p. 338
  2. "Wolfgang Paul - Biographical". Nobelprize.org. สืบค้นเมื่อ 20 December 2016.
  3. "The Nobel Prize in Physics 1989". Nobelprize.org. สืบค้นเมื่อ 20 December 2016.
  4. "Wolfgang Paul - Biography". NNDB. สืบค้นเมื่อ 20 December 2016.