วิกิพีเดีย:สภากาแฟ/อภิปราย/ข้อควรพิเคราะห์การใช้คำขึ้นต้นและคำลงท้ายฯ ในบทความชีวประวัติของบุคคล
เนื่องด้วยบทความชีวประวัติในวิกิพีเดียภาษาไทย ได้มีผู้ใช้ในฐานะผู้เขียนหลัก (Main Author) และผู้แก้ไข (Editor) ของบทความนั้น ได้เพิ่มส่วนคำขึ้นต้นฯ (Honorific prefix) กับคำลงท้ายฯ (Honorific suffix) ของกล่องข้อมูล ผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งรวมถึงกล่องข้อมูลที่มีหน้าเปลี่ยนทางด้วยนั่นเอง การเพิ่มเนื้อหาลงในตัวแปรทั้งสอง มีการใช้งานส่วนใหญ่เพื่อเพิ่มเครื่องราชอิสริยาภรณ์และ/หรือตำแหน่งทางวิชาการของบทความชีวประวัติบุคคลนั้น ทั้งนี้ กระผมเชื่อว่าผู้ใช้ดังที่กล่าวมาต้องการเพิ่มเนื้อหาในตัวแปร เพื่ออรรถาธิบายข้อมูลให้ละเอียดเพิ่มมากขึ้น หากเมื่อตระหนักในทางตรงกันข้ามพบว่า มีการเพิ่มต่อท้ายชื่อของบุคคลในส่วนบทนำของบทความ ทำให้เนื้อหาถูกสอดแทรกด้วยตัวย่อของเครื่องราชอิสริยาภรณ์เกิน ตัวอย่างเช่น
- สฤษดิ์ ธนะรัชต์: "จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ น.ร. ป.จ. ส.ร. ม.ป.ช. ม.ว.ม. อ.ป.ร. ๒ ภ.ป.ร. ๑ ..."
- ถนอม กิตติขจร: "จอมพล ถนอม กิตติขจร ป.จ. ส.ร. ม.ป.ช. ม.ว.ม. อ.ป.ร. ๓ ภ.ป.ร. ๑ ..."
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์): "มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ป.ม. ท.จ.ว. ต.ช. ร.ด.ม. (ศ) ว.ป.ร. ๓ ป.ป.ร. ๔ ..." เป็นอาทิ
กระผมจึงมีข้อซักถามและควรพิเคราะห์ว่า (ก) การใช้งานตัวแปร Honorific prefix และ Honorific suffix ของกล่องข้อมูล ผู้ดำรงตำแหน่ง ควรมีแนวทางเช่นไร และใช้งานกับบทความไหนได้บ้าง และ (ข) การใช้งาน แม่แบบ:อักษรท้ายนาม ให้มีความเหมาะสมกับบทความชีวประวัติของบุคคลผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จำนวนมากอย่างไรได้บ้าง ถ้ามีผู้เห็นควรอย่างใดในข้อควรพิเคราะห์นี้เพิ่มเติม โปรดเพิ่มเนื้อหาอภิปรายในกระทู้นี้ จักยินดียิ่งครับ --ร้อยตรี โชคดี (คุย) 10:19, 12 ตุลาคม 2567 (+07)
- หมายเหตุ: โปรดพิจารณานโยบายที่เกี่ยวข้องใน MOS:POSTNOM และ/หรือ MOS:CREDENTIAL ซึ่งเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกันในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ คู่มือการเขียนระบุให้เขียนเนื้อหาเรื่อง Nominal ในตัวบทความ นอกจากนี้โปรดพิจารณาข้อเสนอการย้าย Post-Nominal ไปจากต้นบทความ (enwiki) ซึ่งเคยมีการเสนอให้ย้ายไปในกล่องข้อมูล แต่มีผู้คัดค้านว่ากล่องข้อมูลเองก็ไม่ควรมีรายการดังกล่าว ทำให้ผู้เสนอตัดเรื่องการย้ายไปกล่องข้อมูลออก เหลือแค่ย้ายไปในตัวบทความเท่านั้น 2001:44C8:41A0:5642:88DC:77FF:FE44:3B26 18:29, 12 ตุลาคม 2567 (+07)
เนื่องจากกระผมเชื่อว่าผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องสามารถให้ความเห็นแนวทางที่จะปรับใช้ได้ จึงขออนุญาตเชิญคุณ KrebsLovesFiesh, Seemee1, Jeabbabe ฯลฯ มาร่วมอภิปรายในที่นี้ครับ --ร้อยตรี โชคดี (คุย) 19:00, 19 ตุลาคม 2567 (+07)
- ผมมองว่าควรยึดตามที่วิกิภาษาอังกฤษถกไว้จะเป็นเอกภาพมากกว่าครับผม Jeabbabe (คุย) 19:21, 19 ตุลาคม 2567 (+07)
- ดูอย่างรวดเร็วผมเห็นบทความภาษาอังกฤษมีตัวอย่างที่ใช้ postnominal ตั้งแต่ตรงส่วนหัวเรื่องบทความเลยครับ หากช่วยกันยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบจะเห็นภาพได้มากขึ้นครับ ผมเข้าใจว่าไม่ใช่ว่าใช้ไม่ได้ แต่ไม่ควรใช้จนเฟ้อยาวเหยียดเกินไป เช่น
- Dame Quentin Alice Louise Bryce, AD, CVO, FAAL, FASSA คือบรรทัดแรกของบทความ en: Quentin Bryce
- General Sir Peter John Cosgrove, AK, CVO, MC คือบรรทัดแรกของบทความ en:Peter Cosgrove
- General David John Hurley, AC, CVO, DSC, FTSE คือบรรทัดแรกของบทความ en:David John Hurley
- Samantha Joy Mostyn, AC คือบรรทัดแรกของบทความ en:Sam Mostyn
--Taweethaも (คุย) 13:01, 21 ตุลาคม 2567 (+07)
- ผมลองสุ่ม ๆ เพิ่มนายกฯ ของอังกฤษที่เป็นที่รู้จัก ก็พบว่าท้ายชื่อแต่ละท่านมีทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์และตำแหน่งสังกัดในสภาแห่งสาขาวิชา ก็ยืดยาวพอสมควรแม้จะใส่ที่สำคัญ ๆ แล้วก็ตาม (ไม่ใส่กลุ่มกิตติมศักดิ์ทั้งหลาย)
- ของไทยมีราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก แต่เท่าที่หาในสื่อของราชบัณฑิตยฯ ก็กล่าวถึงแยกจากชื่อแบบตำแหน่ง ไม่ได้กล่าวเป็นท้ายชื่อแต่อย่างใด และทหารเรือที่จะต้องใส่ ร.น. ท้ายชื่อ ก็เฉพาะเมื่อระบุยศเป็นอักษรย่อและเป็นระเบียบภายใน ดังนั้นก็ควรพิเคราะห์เฉพาะอักษรย่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ปัจจุบันเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (กลุ่มสายสะพาย คล้องคอ ประดับอกตั้งแต่ชั้น 5 หรือสูงกว่าของตระกูลจุลจอมเกล้า, ช้างเผือก, มงกุฎไทย ดิเรกฯ และรามาฯ) กลุ่มนี้อาจจะจำเป็นต้องใส่ทั้งหมด ส่วนกลุ่มเหรียญราชอิสริยาภรณ์อาจจะต้องคำนึงถึงลำดับศักดิ์และเหตุแห่งการได้มา เช่น เหรียญดุษฎีมาลาที่พระราชทานแก่ผู้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ กลุ่มนี้ก็ควรที่จะรวมไปในท้ายนาม แต่กลุ่มเหรียญที่ได้มาเป็นการทั่วไป เช่น เหรียญที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ ไม่ควรจะใส่ครับ --Wutkh (คุย) 01:19, 25 ตุลาคม 2567 (+07)
- ส่วนหน้าชื่อ ส่วนตัวผมคำนึงถึงว่าท่านนั้น ๆ รู้จักในฐานะใด เช่น นายกรัฐมนตรีหลาย ๆ ท่านที่มาจากอาชีพทหาร ตำรวจ และใช้ยศดังกล่าวเป็นการทั่วไป ก็ควรคงยศนั้นไว้ หากมียศมากกว่า 1 เหล่าทัพก็ควรเลือกยศของเหล่าทัพที่สังกัดเป็นหลัก เช่น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ท่านครองยศพลเรือเอกและพลอากาศเอกด้วย แต่ยศที่ทราบเป็นการทั่วไป คือ พลเอก และท่านสังกัดหลักอยู่ในกองทัพบก ก็ควรคงใช้เพียง พลเอก ก็สมควรแล้ว ส่วนยศเหล่าทัพอื่นสามารถใส่ในหัวข้อเกียรติยศ หรืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ครองยศ ร้อยตรี เมื่อครั้งเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า แต่ต่อมามาทำงานการเมือง เอกสารต่าง ๆ ไม่ได้กล่าวถึงยศทางทหาร กรณีหลังนี้อาจไม่ต้องระบุคำหน้าชื่อเป็นยศ ให้คงไว้ในหัวข้อเกียรติยศก็เพียงพอครับ --Wutkh (คุย) 17:45, 25 ตุลาคม 2567 (+07)
เห็นด้วยตามคุณ Wutkh ข้างต้น หากได้ข้อสรุปแล้ว
- ควรเขียนไว้ที่ Wikipedia:Manual of Style/Biography และ
- ทำหน้าเปลี่ยนทาง MOS:POSTNOM และ MOS:CREDENTIAL มาที่หน้าดังกล่าวครับ
ข้อสรุปไม่จำเป็นต้องเป็นการแปลโดยตรงและไม่จำเป็นต้องแปลทั้งหน้า เขียนเฉพาะส่วนที่เป็นข้อสรุปที่เห็นพ้องตรงกัน
- และในหน้าอภิปรายของ MOS ทำการอ้างอิงกลับมาที่หน้านี้ด้วยครับ
--Taweethaも (คุย) 08:34, 27 ตุลาคม 2567 (+07)
- ผมเห็นด้วยกับคุณ Wutkh ซึ่งหากได้ข้อสรุปในการอภิปรายครั้งนี้แล้ว นโยบายนี้ในภาษาไทยจะเขียนไว้ที่หน้า วิกิพีเดีย:คู่มือการเขียน/ชีวประวัติ และมีสร้างหน้าเปลี่ยนทางทั้งสองหน้าไปที่หน้านั้นนะครับ --Lookruk 💬 (พูดคุย) 09:17, 1 ธันวาคม 2567 (+07)
- ขอขอบคุณทั้งคุณ Taweetham และคุณ Lookruk ที่กรุณาเห็นด้วยครับ ผมขออนุญาตให้ความเห็นเพิ่มเติมดังนี้ครับ
- สามารถใส่ตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์ ได้ ส่วนหลักการอื่นให้ใช้หลักการเดียวกับยศทหาร ตำรวจ และกองกำลัง
- ไม่ควรใส่ดอกเตอร์และวุฒิการศึกษา เช่น PhD ปร.ด. เนื่องจากไม่เป็นคำนำหน้าชื่อที่มีกฎหมายรับรองและไม่ได้มาจากการปฏิบัติงาน
- บรรดาศักดิ์ เช่น มหาอำมาตย์โท สามารถใส่ได้ เนื่องจากบรรดาศักดิ์มีเพียงบรรดาศักดิ์สุดท้าย ส่วนหลักการอื่นให้ใช้หลักการเดียวกับยศทหาร ตำรวจ และกองกำลัง
- คำนำหน้าชื่อจากเครื่องราชย์ เช่น เซอร์ คุณหญิง ควรใส่ เนื่องจากมีกฎหมายรองรับเพื่อการนั้น ส่วนกรณีที่ผู้ครองไม่ใช้คำนำหน้าชื่อนั้น เช่น ศรีรัศมิ์ สุวะดี (เป็นท่านผู้หญิง แต่ทำบัตรประชาชนว่านางสาว) จะใส่หรือไม่ก็ได้
- ไม่ควรใส่คำนำหน้าชื่อที่มาจากการประกอบอาชีพหรือตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่งทางวิชาการ (เช่น นายแพทย์)
- บุคคลสัญชาติไทยที่ได้รับเครื่องราชย์ต่างประเทศ ให้ยึดการใส่เครื่องราชย์ไทยโดยอนุโลมโดยให้ใส่เครื่องราชย์ไทยก่อนเสมอ
- ส่วนที่ผมไม่ได้ให้ความเห็น เช่น พวกการเป็นภาคีสมาชิกราชวิทยาลัยหรือสภาวิชาการต่างประเทศ ขอให้ผู้ที่ชำนาญเรื่องนี้ได้กรุณาให้ความเห็นเพิ่มเติมนะครับ ขอบคุณครับ
- --Wutkh (คุย) 06:57, 8 ธันวาคม 2567 (+07)
เสนอแนวทางฯ
[แก้]แนวทางการเพิ่มส่วนของแม่แบบอักษรท้ายนาม
[แก้]กลุ่มเครื่องราชอิสริยาภรณ์ | การใช้งาน | หมายเหตุ |
---|---|---|
ประเทศออสเตรเลีย | ||
ประเทศเบลเยียม | ไม่ปรากฏการใช้งานในบทความชีวประวัติ | มีการสร้างส่วนแยกใน Template:Post-nominals/BE |
ประเทศบรูไน | ไม่ปรากฏการใช้งานในบทความชีวประวัติ | มีการสร้างส่วนแยกใน Template:Post-nominals/BRN |
ประเทศไทย | ||
สหราชอาณาจักร |