วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ มด เกิดในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนที่บางรัก เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 มีชื่อเป็นภาษาจีนว่า อางี้ เริ่มทำกิจกรรมเข้าร่วมการเรียกร้องประชาธิปไตย และเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม
ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา วนิดาเป็นแรงหนุนและเป็นเบื้องหลังคนสำคัญ ในการเรียกร้องต่อสู้ของคนงานโรงงานฮาร่า ที่ใช้เวลาชุมนุมถึง 5 เดือน จนในที่สุดขบวนการต่อสู้นั้น พัฒนาจนถึงขั้นคนงานโรงงานฮาร่าสามารถยึดโรงงานแล้วผลิตสินค้าออกมาขายได้เอง
ระหว่างเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้ต้องหลบไปอยู่ในเขตป่าแถวภาคใต้ประมาณ 4 ปี และไปอยู่ป่าภาคอีสานอีก 2-3 เดือน หลังจากนั้นจึงกลับมาเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์อีกครั้งในปี 2524 เรียนอยู่ 3 ปี จึงสำเร็จการศึกษา
วนิดาเริ่มเข้ามาทำงานด้านองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ด้วยการร่วมรณรงค์กับขบวนการสันติภาพต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ เข้าร่วมขบวนการเชื่อมสันติภาพไทยลาว เริ่มทำงานในภาคประชาชนอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2532-2533 กับโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
งานชิ้นแรกๆ ที่ทำคือ ทำงานเชิงวิชาการในการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุง เขื่อนแก่งเสือเต้น จนมาถึงเขื่อนปากมูล และมีบทบาทในการก่อตั้งสมัชชาคนจนร่วมกับองค์กรชาวบ้านทั่วประเทศ ล่าสุดเป็นที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมตั้งแต่ปี 2547 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2550 ที่กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 52 ปี
อ้างอิง
[แก้]- เส้นทางชีวิต และความใฝ่ฝัน ‘มด-วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์’ - prachatai.com เปิดดูล่าสุดเมื่อ 21 มี.ค. 2551
- อาลัย วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ - prachatai.com เปิดดูล่าสุดเมื่อ 21 มี.ค. 2551