ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช
นายกองเอก ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ระเบียบรัตน์ อมตวงศ์ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2494 อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น |
พรรคการเมือง | อิสระ |
คู่สมรส | เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช (สมรส 2518) |
อาชีพ | นักการเมือง นักสังคมสงเคราะห์ |
เป็นที่รู้จักจาก | งานด้านสังคมสงเคราะห์ สมาชิกวุฒิสภา |
นายกองเอก ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช (เกิด 26 มิถุนายน พ.ศ. 2494) ชื่อเล่น แดง เป็นนักการเมืองและนักสังคมสงเคราะห์ชาวไทย เป็นภริยาเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น
ประวัติ
[แก้]ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2494 ณ บ้านสำราญ หมู่ 4 ตำบลโนนธาตุ อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรสาวของนายหรู กับนางบุญศรี อมตวงศ์[1] มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน (ชาย 2 คน หญิง 3 คน) สำเร็จการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิตและศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสตรีศึกษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ระเบียบรัตน์ สมรสกับ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 ทั้งคู่มีบุตร 3 คน คือ นางสาวธีรานุช พงษ์พานิช นางสาวกานต์รวี พงษ์พานิช และร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช[1] สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่นสังกัดพรรคเพื่อไทย
งานการเมือง
[แก้]ระเบียบรัตน์ ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2543 ในขณะที่สามีเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงให้ใบเหลือง แต่ก็ยังได้รับเลือกในการเลือกตั้งซ่อม
ระเบียบรัตน์ เคยดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ ของวุฒิสภา ในช่วงปี 2543-2548 ผลงานที่ผ่านมา ได้แก่ ยื่นหนังสือแก้ระเบียบประกันสังคมกรณีสงเคราะห์บุตร รวมถึงการต่อต้านการทำปฏิทินแนวปลุกใจเสือป่าของบริษัทสุราในช่วงปีใหม่
กรณีที่เป็นข่าว
[แก้]การเรียกร้องให้สตรีเข้าในบริเวณพระบรมธาตุดอยสุเทพ
[แก้]ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547 ระเบียบรัตน์ ในระหว่างเป็นสมาชิกวุฒิสภา ได้วิพากษ์วิจารณ์ข้อห้ามสตรีเข้าไปสักการะภายในบริเวณรั้วลานรอบพระบรมธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และเสนอให้ปลดป้ายที่เขียนว่า "ห้ามผู้หญิงเข้า" เพื่อแสดงสิทธิเท่าเทียม[2] ทำให้ประชาชนไม่พอใจและมีการล่ารายชื่อยื่นถอดถอนจากตำแหน่ง[3]
การวิพากษ์วิจารณ์พริตตี้
[แก้]ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 ระเบียบรัตน์ได้วิพากษ์วิจารณ์ "พริตตี้" หรือนางแบบประเภทหนึ่งซึ่งในบางกรณีค่อนข้างนุ่งน้อยห่มน้อย ว่าเป็นอาชีพที่ "ดูถูกศักดิ์ศรีผู้หญิงอย่างมาก นอกจากไม่ให้เกียรติเพศแม่แล้ว ยังมาทำลายความรู้สึกอีกด้วย...นึกถึงความอัปมงคลบ้างหรือไม่...เอาเรื่องกามารมณ์ มาเป็นจุดขาย ถ้าถาม ระเบียบรัตน์ต้องขอบอกว่า เป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคลแน่นอน ถ้าจะขายรถ ควรจะเน้นที่รถ ไม่ใช่ที่ตัวพริตตี้ และถ้าอยากจะแต่งตัว ก็ควรแต่งแบบที่ไม่ต้องเป็นที่ครหาของสังคมได้หรือไม่ อาทิ ใส่ชุดมิดชิด ใส่กระโปรงสั้นก็ได้ ไม่ต้องไปเน้นโชว์นมโชว์เต้า..."[4] ระเบียบรัตน์ยังกล่าวถึงผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวว่า "...โง่ ไร้สมอง แต่งตัวโป๊ ดูถูกศักดิ์ศรีผู้หญิง น่ารังเกียจ ไม่ให้เกียรติเพศ และย้ำว่า พริตตี้อยากได้เงินก็ควรมีสมอง ไม่ใช่อยากได้เงิน แต่สมองฝ่อ..."[5]
ทำให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพพริตตี้ มีปฏิกิริยาโต้ตอบ เป็นต้นว่า ณัฐฐา ศิริรำไพวงษ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "พริตตี้เงินล้าน" เนื่องจากเก็บเงินจากการทำงานเป็นพริตตี้จนส่งเสียตนเองสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสองแห่งพร้อมกันและเลี้ยงดูครอบครัวได้ตลอดรอดฝั่ง[5] แสดงความคิดเห็นว่า "คนที่พูดจาแบบนี้คือคนที่โลกทัศน์แคบ...ด่าแบบเหมารวมว่าพริตตี้ไม่มีสมองมันไม่ได้ ผู้หญิงที่ดีเรียนจบสูง ๆ ก็มากมายที่ชอบอาชีพนี้ก็เข้ามาทำ...ที่สำคัญมันเป็นอาชีพที่สุจริต พูดตรง ๆ เราคิดว่า...ถ้าเขาหน้าตาสวยหุ่นดี เขาคงอยากจะโชว์เป็นพริตตี้เหมือนกัน...การที่มาทำงานพริตตี้แต่งตัวสวย ๆ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีสมอง...พริตตี้ไม่ได้ขายตัวสักหน่อย เราขายหน้าตาบุคลิกภาพและความสามารถ พริตตี้เป็นด่านแรกที่ให้คนเข้ามาดูสินค้า แต่คนจะซื้อสินค้าหรือไม่ สินค้ามันขายตัวมันเอง สินค้ามันไม่ได้ดีจริง คนจะเอาเงินมากมายมาซื้อเพราะชอบพริตตี้เหรอ เป็นไปไม่ได้ อย่าดูถูกคน"[5] ขณะที่ นนทพร ธีระวัฒนสุข ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "พริตตี้กตัญญู" และเป็นอักษรศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร เกียรตินิยมอันดับสอง[5] ท้าระเบียบรัตน์ประลองความรู้กัน โดยกล่าวว่า "...เอาไหมพริตตี้ที่คุณว่าโง่ ๆ อย่างเรา ๆ คิดว่าก็ไม่แพ้คุณ..."[5]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2555 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[6]
- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[7]
ยศกองอาสารักษาดินแดน
[แก้]- วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 นายกองโท ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช ได้รับพระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน เป็น นายกองเอก ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ชาวเชียงใหม่ชุมนุมประท้วง สว. ระเบียบรัตน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-18. สืบค้นเมื่อ 2010-08-22.
- ↑ ชาวเชียงใหม่-ลำพูนผนึกพลังล่าชื่อให้บทเรียน”เจ๊เบียบ”
- ↑ ""เจ๊เบียบ" ปรี๊ดแตกอัดพริตตี้แต่งหวิวมอเตอร์โชว์-ใช้เพศแม่โชว์เต้า". ผู้จัดการออนไลน์. 1 เมษายน 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-30. สืบค้นเมื่อ 2012-04-01.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "'พริตตี้ปริญญา' จัดหนัก ถล่ม 'ระเบียบรัตน์' ตกยุค ท้าดีเบตความรู้รอบตัว...!". ไทยรัฐออนไลน์. 1 เมษายน 2555.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2022-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ข หน้า ๘, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๒๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
- ↑ "หนังสือราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศกองอาสารักษาดินแดน เล่ม122 ตอนที่13ข 2 กันยายน พ.ศ. 2548" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2018-05-28.
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2494
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- นักการเมืองสตรีชาวไทย
- สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น
- คู่สมรสของนักการเมืองไทย
- บุคคลจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- บุคคลจากอำเภอหนองสองห้อง
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- สกุลพงษ์พานิช
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง