ม้าก้านกล้วย
ม้าก้านกล้วย เป็นกวีนิพนธ์ แต่งโดยไพวรินทร์ ขาวงาม โดยอาศัยจินตนาการจากวัยเยาว์ เชื่อมโยงเข้ากับโลกปัจจุบันที่เติบวัยและเติบโตเชิงความคิด เป็นความผูกพันของนักเขียนที่ยังไม่ลืมถิ่นเก่าบ้านเกิด แม้จะมาใช้ชีวิตเพื่อหน้าที่การงานในกรุงเทพฯ แต่อารมณ์ “ถวิลหา” ต่อทุ่งนา และน้ำใสใจจริงของคนชนบทยังคงมีอยู่ไม่เสื่อมคลาย และเป็นจุดเริ่มให้กวีอาสาเป็น “สารถี” ขี่ม้าก้านกล้วยหนีโลกแห่งความแออัดแบบวิถีเมือง ทะยานสู่โลกแห่งความงามธรรมชาติแบบวิถีชนบท เพื่อนำมาสู่การตริตรองและแสวงหา “ถิ่นใด” ที่ควรค่าแก่การรอนแรมมาพักพิง และชื่นชมความงามในระดับจิตวิญญาณ
ม้าก้านกล้วย ได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อปี พ.ศ. 2538[1] และได้รับเลือกให้เป็นหนังสือนอกเวลาภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ม้าก้านกล้วย ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า "Banana Tree Horse" โดย หม่อมหลวงพีระพงศ์ เกษมศรี อดีตราชเลขาธิการ [2]
ม้าก้านกล้วย เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว อารมณ์ที่ปรากฏชัดที่สุด คือ อารมณ์โหยหาอาลัยของกวี เป็นความโหยหาความรักและความฝัน “ความรักนี้” คือ ความรักในมาตุภูมิของกวี คือ แผ่นดินอีสาน ความทรงจำแห่งอดีตอันงดงามของอีสานและความรักในคุณค่าวัฒนธรรมดั้งเดิมอันกำลังสูญสลายอย่างไม่มีวันหวนคืน และ “ความฝัน” คืออุดมคติอันงามของการดำรงชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีของมนุษย์ และความใฝ่ฝันที่จะนำพามนุษย์ไปสู่สิ่งที่สูงส่งกว่าตนเอง
เนื้อหา
[แก้]ภาคนำ
[แก้]ในภาคนำจะประกอบไปด้วยบทประพันธ์ชื่อม้าก้านกล้วยจำนวน 4 บท เป็นความอธิบายความหมายของม้าก้านกล้วยและเกริ่นนำให้ผู้อ่านได้เข้าใจ “สาร” ที่กวีต้องการจะสื่อ ม้าก้านกล้วย เป็นภาพพจน์ตัวแทนตัวตนของกวี ในฐานะชาวชนบทที่มุ่งสู่เมืองเพื่อนค้นหาชีวิตที่ดีขึ้น และยังเป็นสัญลักษณ์ของความสมถะ เรียบง่าย งดงาม ของชีวิตชนบทเดิมอีกด้วย
ภาค 1 แผ่นดินถิ่นทุ่ง
[แก้]เป็นเนื้อหาพรรณนาความรัก ความงาม ความผูกพันต่อแผ่นดินอีสาน กวีสามารถถ่ายทอดความงามความละเมียดละไมของแผ่นดิน ธรรมชาติและวิถีชีวิตของมาตุภูมิอย่างประณีตงดงามในกวีนิพนธ์หลายบท เช่น เจ้าสาวใบตอง (หน้า 43)
- เธอเจ้าสาวใบตองในร่องสวน
- เคยขอนวลมาพอห่อข้าวขาว
- จะออกทุ่งออกทางทุกครั้งคราว
- ต้องห่อข้าวห่อของแล้วท่องไป
- ถึงยามหิวแกะห่อก็ข้ามหอม
- ถึงกลางแดดแผดดอมก็หอมได้
- ละคำเคยอิ่มหอมถึงหัวใจ
- หอมแต่น้อยคุ้มใหญ่หอมไม่จาง
ไพวรินทร์รำพันถึงมาตุภูมิอีสานอันงดงามอบอุ่นของตนอย่างอาลัยอาวรณ์เพียงนั้น เนื่องจากการพลัดพรากจากมาตุภูมิที่รักนี้ มีเหตุผลอันเจ็บปวด เพราะ เป็นความจำเป็นแห่งการอยู่รอด อันบังคับผลักไสให้ลูกชาวนาทิ้งถิ่นไปสร้างตนในเมืองหลวง ซึ่งเป็นภาระหนักหนาและดูแทบที่จะไม่มีความหวังเลย อีกทั้งความหวังที่จะกลับไปสู่แผ่นดินอีสาน ไม่อาจที่จะหวังว่าจะกลับไปสู่แผ่นดินที่รักที่เหมือนเดิมได้อีก เพราะอีสานแสนงามนั้นได้เปลี่ยนแปรไปหมดแล้ว
ไพวรินทร์พรรณนาถึง “ความล่มสลาย” ของสังคมชนบทในอีสาน ความล่มสลายของชาวนาและความล่มสลายของค่านิยมเดิม ชาวนาต้องทิ้งบ้านเกิด ทิ้งความสมถะเรียบง่าย ความเป็นอิสระของชนบท มาเป็น “แรงงาน” ในเมืองหลวง มุ่งแสวงหาเงินทองและความมั่งคั่ง เพื่อนำ “วัตถุ” และความมั่งคั่งกลับบ้านเกิด อันเป็นการสร้างค่านิยมแห่งการบูชาวัตถุให้เพิ่มพูนขึ้นในชนบทด้วย ความเปลี่ยนแปลงและความสูญสลายของคนอีสานในอดีตจึงยิ่งทำให้ความโหยหาอาลัยของกวีมีความเจ็บปวดรันทดยิ่งขึ้น เพราะ ดูจะกาความหวังไม่ได้ที่จะให้ “อดีต” อันงดงามนั้นกลับคืนมาอีก
ภาค 2 แผ่นดินถิ่นเมือง
[แก้]ในม้าก้านกล้วย เป็นการพรรณนาถึงชีวิตในกรุงเทพมหานครที่ลูกชาวนาต้องมาอาศัยอยู่ เป็นสภาพของปัญหาอันซับซ้อนของกรุงเทพฯ ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และปัญหาอันบีบคั้นต่าง ๆ ของสังคมเมือง ภาพขอกรุงเทพที่กวีพรรณถึงเป็นภาพที่หมองหม่น เป็นเมืองในม่านหมอกของความเศร้าโดยเฉพาะในใจผู้แปลกถิ่น
กวีจำใจต้องมาเผชิญกับชีวิตอันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทั้งต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหา และความรันทดลึกซึ้งด้วยตระหนักว่า ไม่สามารถกลับไปหาอดีตได้ แต่ก็ไม่สามารถไปสู่ความสำเร็จอันมุ่งหวังได้เช่นกัน
กวีพรรณนาถึงความเจ็บปวดที่ได้รับในฐานะลูกอีสานคนหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากวีกำลังพูดแทนกลุ่มชนที่ร่วมชะตากรรมเดียวกันอีกจำนวนมหาศาล มีทั้งกลุ่มกรรมกรในโรงงาน คนเฝ้ายามในเมือง หญิงบริการ หนุ่มนักร้อง
ดังนั้นในภาคสอง “แผ่นดินถิ่นเมือง” จึงเป็นการพรรณนาให้เห็นสภาพอันรันทดของกรุงเทพฯหรือนครใต้แสดาว ซึ่งเป็นที่รวมแห่งความทุกข์อันหลากหลาย อันมิอาจหลบลี้หนีไปได้ หากต้องเผชิญอยู่ทุกค่ำเช้าอย่างอดทน อย่างรันทด และอย่างเจ็บปวดสิ้นหวัง นครใต้แสงดาวจึงเป็น “มหานครผ่อนความทุกข์” ซึ่ง “คนตกทุกข์ทั่วเขตประเทศไทยต่างมุ่งหวังหลั่งไหลกันเข้ามา” แม้แต่รุกเทวดายังจำต้องทิ้งป่าดงพงไพรมาอยู่เมืองเพื่อหวังการอยู่รอดจากเครื่องเซ่นไหว้
ภาค 3 แผ่นดินถิ่นใด
[แก้]ในบทนี้กวีได้พยายาม “ปลงใจ” ยอมรับสภาพแห่งการพลัดพรากจากถิ่นเดิม และความโหยหาอันลึกซึ้งที่ไม่อาจเลือนหายไปได้ หรือมิเช่นนั้น กวีจะแสร้งทำใจชื่นชม ประชดความทุกข์ ความเจ็บปวดของตนเอง ดังเช่น บทนรกของเรา เป็นต้น ซึ่งเป็นการใช้น้ำเสียงประชดตนเองว่าอยู่ในนรกนั้นสบายดี สร้างอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่านพอ ๆ กับการประกาศอย่างเจ็บปวดของกวีเองว่า ความฝันนั้นตายเสียแล้ว แม้กวีจะพยายามฝันเพียงไรก็ตาม และในความเจ็บปวดนี้เองกวี ต้องใคร่ครวญถามใจตนเองแทนมนุษย์ร่วมสมัยอีกจำนวนไม่น้อยว่า ชีวิตนี้มุ่งหน้าไปทางไหน และในท้ายที่สุดของความหม่นหมองสิ้นหวังกวีจบบทด้วยบทคร่ำครวญ ซึ่งเป็นการร่ำไห้กับอดีตเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะกล้าหาญพอจะวาดหวังอนาคตที่งมงาม ท่ามกลางหยาดตาและความอาลัยเสียดายอดีตที่จะไม่หวนกลับมาอีก
จากเนื้อหาของนิราศม้าก้านกล้วยนี้ แสดงให้เห็นว่า นิราศม้าก้านกล้วยเป็นนิราศแห่งความรู้สึก เป็นนิราศทางจิตวิญญาณที่ผูกพันกับสภาพความเป็นจริงของยุคสมัย แม้จะเป็นบันทึกการเดินทางอันแสนเจ็บปวดของลูกชายชาวนามาสู่กรุงเทพฯ แต่ก็เป็นบันทึกความรู้สึกร่วมของชนกลุ่มใหญ่ไม่น้อยในสังคมไทย “ม้าก้านกล้วย” เหล่านี้อาจถือเป็นตัวแทนของความเปราะบางอ่อนโยนของวัฒนธรรมไทยในอดีต ซึ่งกำลังถูกทำร้ายจากความเจริญทางวัตถุในวัฒนธรรมสังคมเมือง การคร่ำครวญอาลัย แรมร้างจากความฝันของกวี จึงแทนเสียงคร่ำครวญอันเงียบสงบของกลุ่มชนอีกมากมายที่ต้องยองรับความสูญเสียสิ่งอันมีค่าอันเป็นที่รักไปโดยไม่สามารถที่จะปกป้องไว้ได้
นิราศม้าก้านกล้วยจึงเป็นนิราศที่ร้างความฝันของมนุษย์ร่วมสมัย ที่ต้องผจญกับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอันหลากหลาย มนุษย์ที่ต้องปรับใจรับกับสภาพความเสื่อมสลายของอุดมคติเดิม แต่มนุษย์ย่อมมีปัญญาอันเข็มแข็งพอที่จะผ่านเวลาอันเจ็บปวดเกล่านี้ และใช้ความฝันของตนสร้างอุดมคติใหม่ ๆ อันงดงามกว่าเดิมขึ้น เพื่อให้ความดีงามใหม่ ๆ ของอุดมคติใหม่ ๆ ได้ผลิบานไว้ประดับโลก เพื่อความสุขร่วมกันของมนุษยชาติ ดังกวีให้ภาพไว้ในตอนสุดท้ายว่า “ดอกไม้ใหม่จะสะพรั่งทั้งสวนมนุษย์”
อ้างอิง
[แก้]- ↑ มารู้จักรางวัลซีไรต์กันเถอะ เก็บถาวร 2008-04-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคกลาง
- ↑ ม้าก้านกล้วย (ภาคภาษาอังกฤษ) - Banana Tree Horse[ลิงก์เสีย]