พิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2012
พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 จัดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ณ สนามกีฬาโอลิมปิก ภายใน อุทยานโอลิมปิก แขวงสตราทฟอร์ด กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยใช้แนวคิด "เกาะมหัศจรรย์" (The Isles of Wonder)[1] ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากวรรณกรรม "เดอะ เทมเปสต์" ของวิลเลียม เชกสเปียร์ โดยในการแสดงในช่วงเริ่มพิธีเปิดได้ปรับสภาพสนามให้เป็นชนบทอังกฤษ มีชาวบ้านปิกนิกและนั่งชมกีฬา และมีการจำลองเนินเขาแกลสตันบูรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดเทศกาลดนตรีและศิลปะที่มีชื่อเสียง ใช้นักแสดงประมาณ 10,000 คน โดยแดนนี บอยล์ ผู้กำกับภาพยนตร์รางวัลออสการ์ จากภาพยนตร์เรื่อง สลัมด็อก มิลเลียนแนร์ คำตอบสุดท้าย...อยู่ที่หัวใจ เป็นผู้กำกับฝ่ายศิลป์[2] ส่วนริค สมิธ (Rick Smith) กับ ฆาร์ล ไฮด์ (Karl Hyde) ดูโอของวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ “อันเดอร์เวิลด์” (Underworld) เป็นผู้กำกับดนตรี[3]
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และ เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบิร์ก เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน[4] ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพิธีเปิด ในฐานะผู้แทนประมุขของประเทศไทย[5] โดยระหว่างการถ่ายทอดพิธีการทางโทรทัศน์ มีการฉายภาพยนตร์สั้นเกี่ยวกับ “สายลับเจมส์ บอนด์” (James Bond) นำแสดงโดย แดเนียล เคร็ก (Daniel Craig) เนื้อเรื่องเป็นการเดินทางของเจมส์บอนด์เพื่อกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรเข้าสู่สนามกีฬาด้วยเฮลิคอปเตอร์[6]
การแสดงในพิธีเปิดนั้นเป็นการเล่าเรื่องราวของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ยุคเกษตรกรรม ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มาจนถึงยุคดนตรีและศิลปะอังกฤษเฟื่องฟู โดยผู้มีชื่อเสียงที่ร่วมแสดง ได้แก่ เคเน็ต แบรนาต์ เจ. เค. โรว์ลิง เจ้าของวรรณกรรม แฮร์รี่ พอตเตอร์ โรวัน แอตคินสัน นักแสดงตลกผู้มีชื่อเสียงจากการรับบท มิสเตอร์บีน และเซอร์ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี ผู้คิดค้นเวิลด์ไวด์เว็บ ซึ่งเป็นชาวลอนดอนโดยกำเนิด ส่วนในช่วงการเดินพาเหรดนักกีฬานั้น นอกจากจะมีผู้เชิญป้ายและนักกีฬาถือธงชาติแล้ว ยังมีเด็กถือถ้วยทองแดงสลักชื่อประเทศเพื่อนำไปประกอบเป็นคบเพลิงอีกด้วย สำหรับนักกีฬาถือธงชาติที่มีชื่อเสียง อาทิ ยูเซน โบลต์ นักกรีฑาเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกจากจาไมกา นอวัก จอคอวิช นักเทนนิสชายมือวางอันดับสองของโลกจาก เซอร์เบีย มาเรีย ชาราโปวา นักเทนนิสหญิงมือวางอันดับหนึ่งของโลกจากรัสเซีย เป็นต้น ในส่วนของขบวนนักกีฬาไทย ณัฐพงษ์ เกตุอินทร์ เป็นผู้ถือธงชาติ ส่วนเซอร์ คริส ฮอย นักจักรยานเจ้าของ 3 เหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันที่ประเทศจีน เป็นผู้เชิญธงสหราชอาณาจักร
หลังจากการเดินพาเหรดเสร็จสิ้น วงอาร์กติก มังกี้ส์ ได้ขึ้นแสดงในเพลง ไอเบตยูลุกกูดออนเดอะแดนซ์ฟลอร์ และ คัมทูเกตเตอร์ จากนั้นจึงเป็นช่วงพิธีการ โดยลอร์ดเซบาสเตียน โคล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวต้อนรับเข้าสู่การแข่งขัน จากนั้น นายฌาคส์ ร็อกก์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล กล่าวแสดงความยินดีและขอบคุณอาสาสมัครที่ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขัน และขอให้นักกีฬาทุกคนแข่งขันด้วยความมีน้ำใจนักกีฬาและไม่ใช้สารกระตุ้น เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักกีฬารุ่นหลังต่อไป จากนั้น สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร มีพระราชดำรัสเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ
ในช่วงพิธีการเชิญธงคณะกรรมการโอลิมปิกสากลนั้น พัน กีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ เป็นผู้เชิญธงร่วมกับบุคคลที่แสดงถึงคุณค่าโอลิมปิกอีก 7 คน นอกจากนี้มูฮัมหมัด อาลี นักมวยเหรียญทองโอลิมปิกได้มีส่วนร่วมในการเชิญธงด้วย สำหรับช่วงการปฏิญาณตนนั้นได้เพิ่มการปฏิญาณตนของผู้ฝึกสอนเป็นครั้งแรกของโอลิมปิก จากนั้นจึงเป็นการจุดคบเพลิงโดยเยาวชน 7 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของนักกีฬาสหราชอาณาจักรผู้ที่เคยได้เหรียญทองโอลิมปิก จุดช่อคบเพลิงที่เกิดจากการติดตั้งถ้วยทองแดงที่มาพร้อมกับขบวนนักกีฬาแต่ละชาติ จำนวน 205 ถ้วย ประกอบเป็นคบเพลิงโอลิมปิก จากนั้นจึงเป็นการแสดงของ เซอร์พอล แม็กคาร์ตนีย์ ในเพลงดิเอ็นด์ และเฮย์จูด เป็นการปิดท้าย[7]
การตอบรับ
[แก้]หนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ บรรยายพิธีเปิดว่าเป็น "งานชิ้นเอก" เช่นเดียวกับ เดอะเดลี่เทเลกราฟ ที่กล่าวว่า "เยี่ยมยอด, ตื่นตะลึง, บ้าคลั่ง และเป็นอังกฤษอย่างที่สุด"[8] ในขณะที่หัวหน้านักเขียนข่าวกีฬาของบีบีซี ทอม ฟอร์ไดซ์ เรียกพิธีเปิดว่า "พิสดาร" และ "ขบขัน" และกล่าวว่า "สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนคือพิธีเปิดช่างแปลกพิสดารอย่างสง่างาม, ทั้งประชดประชันเสียดสีอย่างทรงเสน่ห์ และสนุกจนรู้สึกแสบคันอย่างมาก"[9] สองสัปดาห์ให้หลัง โจนาธาน ฟรีดแลนด์จากหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน เขียนว่า "แดนนี บอยล์ช่างน่าประทับใจ, พิธีดำเนินไปอย่างงดงามและส่งความรู้สึกถึงผู้ชมได้อย่างชาญฉลาด มันยังคงสะท้อนก้องอยู่ในใจแม้จวนจะถึงเวลาของพิธีปิดแล้วก็ตาม พิธีเปิดครั้งนี้ช่างแตกต่างกับครั้งก่อนหน้าที่ปักกิ่ง ซึ่งต้องขอบคุณไม่เพียงแต่ความตลกขบขันและความแปลกพิสดาร หากแต่รวมถึงการที่พิธีเปิดครั้งนี้ช่างเป็นที่น่ากล่าวถึงเสียจริง"[10]
แม้ว่าเสียงชื่นชมต่อพิธีเปิดจะดังมาจากฝ่ายการเมืองทุกฝากฝั่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่านักการเมืองฝ่ายขวาของอังกฤษทุกคนจะชื่นชอบไปกับพิธีเปิดครั้งนี้ นักคอลัมนิสต์ ริค ดิวส์เบอร์รี จากหนังสือพิมพ์เดลี่เมล์ วิจารณ์ถึงช่วงการแสดงดนตรีแนวไกรม์และการแสดงช่วงหน่วยบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Service; NHS) ตลอดจนการแสดงช่วงที่มีครอบครัวหลากหลายเชื้อชาติ[11] ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนุรักษนิยม เอเดิน เบอร์ลีย์ ประณามช่วงหนึ่งของการแสดงทางทวิตเตอร์ว่า "พวกฝ่ายซ้ายหลากหลายชาติพันธุ์อันไร้ประโยชน์"[12][13] ส่วนสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมหลายคนต่างเพิกเฉยและไม่ใส่ใจต่อความคิดเห็นขอเบอร์ลีย์ รวมถึงนายกรัฐมนตรี เดวิด แคเมอรอน และนายกเทศมนตรีนครลอนดอน บอริส จอห์นสัน[13][14]
ในส่วนของความคิดเห็นจากต่างชาติล้วนแล้วแต่เป็นไปในทางบวก เดอะนิวยอร์กไทมส์ กล่าวว่าพิธีเปิดช่าง "เล่นสำนวนอย่างสนุกสนาน .. ความสับสนอย่างคึกคะนองของการเฉลิมฉลองและแฟนซี, เป็นแบบแผนประเพณีพร้อมกับแปลกพิสดารไปในตัว และบ้าหลุกโลกอย่างตรงไปตรงมา"[15][16] นิตสารฟอร์บ เรียกพิธีเปิดของบอยล์ว่าเป็น "เพลงรักแก่บริเตน" หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ กล่าวว่า "การเริ่มต้นที่ลืมไม่ลง .. ที่ทั้งล้มล้างและประเสริฐ"[16] หนังสือพิมพ์ไทมส์ออฟอินเดีย กล่าวว่า "ลอนดอนได้แสดงต่อโลกอย่างก้องกังวานถึงความร่ำรวยทางมรดกวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร"[16][17] สำนักข่าวซินหัว ของจีนกล่าวว่าพิธีเปิด "แพรวพราว" และ "การเฉลิมฉลองอย่างบ้าคลั่งและสมบูรณ์ของประวัติศาสตร์, ศิลปะ และวัฒนธรรมอังกฤษ"[18] ศิลปินจีน อ้ายเว่ยเว่ย ชื่นชมพิธีเปิดที่ "สัมผัสถึงมนุษยชาติ" และกล่าวว่า "ในลอนดอน, พวกเขาทำให้พิธีเปิดกลายเป็นงานเฉลิมฉลอง .. ช่างแน่นขนัดไปด้วยข้อมูลของเหตุการณ์และเรื่องราวของวรรณกรรม, ดนตรี, เรื่องเล่าพื้นบ้าน และภาพยนตร์"[19] ด้านประนาธิบดีรัสเซีย วลาดีมีร์ ปูติน กล่าวว่า "มหัศจรรย์และลืมไม่ลง"[20] ส่วนดมิตรี มิดเวดิฟ กล่าวว่า "มันเป็นปรากฏการพิเศษ ถูกเตรียมการมาอย่างดีและค่อนข้างจะหรูหรา ... มันประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศที่เป็นอังกฤษอย่างมาก ... พวกเขาได้ค้นพบภาษาที่ถูกต้อง ... ในการสื่อสารกับชาวโลก"[21] ปานอส ซามาราส จากเน็ตทีวีของกรีซกล่าวว่า "มันเป็นงานแสดงดนตรี, ร็อคโอเปรา มากกว่าที่จะเป็นพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก" ด้านหนังสือพิมพ์กีฬาของฝรั่งเศส เลกิป เขียนไว้ว่า "นำความคลาสสิกของพิธีเปิดมาแล้วสนุกกับมันซะ" ในขณะที่หนังสือพิมพ์เลอปารีเซียง กล่าวว่ามัน "ยิ่งใหญ่, สร้างสรรค์และแสดงออกอย่างมากผิดปกติถึงรากเหง้าของความเป็นอังกฤษ" ด้านหนังสือพิมพ์ดีเวลต์ ของเยอรมนี ยกย่องพิธีเปิดที่ลอนดอนว่า "น่าตื่นเต้น, สนุกสนานแต่ก็ยังเร้าใจและตื่นตัว"[22]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "London 2012 Olympics opening ceremony called 'The Isles of Wonder'". Olympics Medal Tally. 27 January 2012.
- ↑ ข้อมูลพิธีเปิดการแข่งขัน เก็บถาวร 2012-08-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- ↑ "Underworld announced as Music Directors for the opening ceremony of the 2012 London Olympic Games". Underworld. No date. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-16. สืบค้นเมื่อ 2012-08-12.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "Queen And Duke To Open London 2012 Games". Gamesbids.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-30. สืบค้นเมื่อ 23 June 2012.
- ↑ "สมเด็จพระเทพ เสด็จโอลิมปิก" (Press release). ไทยรัฐ. 26 กรกฎาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2555.
{{cite press release}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Child, Ben (2 April 2012). "London 2012: Daniel Craig to open Olympics as James Bond". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 2 April 2012.
- ↑ Martin, Dan (6 June 2012). "Paul McCartney to close London Olympics opening ceremony". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 12 June 2012.
- ↑ "Media reaction to London 2012 Olympic opening ceremony". BBC News. 28 July 2012. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
- ↑ Fordyce, Tom (28 July 2012). "Olympics 2012 opening ceremony: 'A Britain as never seen before'". BBC Sport. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
- ↑ "London 2012: we've glimpsed another kind of Britain, so let's fight for it". สืบค้นเมื่อ 11 August 2012.
- ↑ Dewsbury, Rick (28 July 2012). "The NHS did not deserve to be so disgracefully glorified in this bonanza of left-wing propaganda". Daily Mail. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 Jul 2012 at 16:42. สืบค้นเมื่อ 6 August 2012.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|archivedate=
(help) - ↑ "Online outrage after Tory MP's 'leftie Opening Ceremony' tweets". ITV News. 27 July 2012. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
- ↑ 13.0 13.1 "London 2012: Boris Johnson dismisses 'leftie' complaint". BBC News. 28 July 2012. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
- ↑ Watt, Nicholas (28 July 2012). "Olympics opening ceremony was 'multicultural crap', Tory MP tweets". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
- ↑ Lyall, Sarah (27 July 2012). "A Five-Ring Opening Circus, Weirdly and Unabashedly British". New York Times.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 "Media reaction to London 2012 Olympic opening ceremony". BBC News. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
- ↑ "London 2012 opening ceremony wows world media". BBC News. 28 July 2012. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
- ↑ "London Olympics opening ceremony kicks off". Xinhua News Agency. 28 July 2012. สืบค้นเมื่อ 28 July 2012.
- ↑ Weiwei, Ai (28 July 2012). "Olympic opening ceremony: Ai Weiwei's review". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 4 August 2012.
- ↑ Palvadori, Matty. "Russian President Loved London 2012 opening ceremony".
- ↑ Palvadori, Matty. "Vast majority of Russians loved the London 2012 opening ceremony". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-27. สืบค้นเมื่อ 2012-08-22.
- ↑ "London 2012: What the world thought of the opening ceremony". สืบค้นเมื่อ 7 August 2012.