ข้ามไปเนื้อหา

พันท้ายนรสิงห์ (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2493)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พันท้ายนรสิงห์
กำกับมารุต
เขียนบทพระนิพนธ์ :
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
บทภาพยนตร์ :
ประหยัด ศ. นาคะนาท
ประมูล อุณหธูป
ชั้น แสงเพ็ญ
ถนอม อัครเศรณี
อำนวยการสร้างพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล
นักแสดงนำชูชัย พระขรรค์ชัย
สุพรรณ บูรณะพิมพ์
ถนอม อัครเศรณี
ทัต เอกทัต
ชั้น แสงเพ็ญ
อบ บุญติด
สมพงษ์ พงษ์มิตร
กำกับภาพรัตน์ เปสตันยี
ดนตรีประกอบสง่า อารัมภีร
ผู้จัดจำหน่ายอัศวินภาพยนตร์
วันฉาย1 เมษายน พ.ศ. 2493
ฉายที่ ศาลาเฉลิมกรุง [1]
ความยาว98 นาที
ประเทศไทย
ภาษาไทย

พันท้ายนรสิงห์ เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2493 ในระบบถ่ายทำฟิล์ม 16 มม. สี สร้างจากบทละครเวทีของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ที่แต่งขึ้นจากเรื่องเกร็ดในพงศาวดารและประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของอัศวินภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย มารุต ถ่ายภาพโดย รัตน์ เปสตันยี อำนวยการสร้างโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล (เสด็จพระองค์ชายใหญ่) [2] นำแสดงโดย ชูชัย พระขรรค์ชัย, สุพรรณ บูรณะพิมพ์, ชั้น แสงเพ็ญ, ถนอม อัครเศรณี และ สมพงษ์ พงษ์มิตร ถ่ายทำในปี พ.ศ. 2491 ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2493 ที่ศาลาเฉลิมกรุง ภาพยนตร์ได้รับความนิยมจากประชาชนผู้ชมทั่วประเทศ นับเป็นภาพยนตร์ที่เป็นประวัติการณ์ และมีอิทธิพลต่ออารมณ์และความเชื่อของผู้คนทั่วไปในสังคมไทย [3]

เนื้อเรื่องย่อ

[แก้]

ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) แห่งกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ. 2246 – 2252 บ้านเมืองวุ่นวายเพราะขุนนางรีดไถประชาชนด้วยการอ้างพระบรมราชโองการในการเกณฑ์ผู้ชายเพื่อนำไปเป็นทหาร ส่วนสาววัยรุ่นจะนำไปถวายพระเจ้าเสือ (ถนอม อัครเศรณี) เพื่อเป็นนางสนมในพระราชวัง ส่งผลให้ชาวบ้านทุกทั่วหัวระแหงได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกันชาวบ้านเองก็มีการตั้งกลุ่มเพื่อต่อต้านการกระทำของขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ด้วยการตั้งตัวเป็นกองโจรเพื่อปล้นเสบียงและผู้หญิงที่ถูกเกณฑ์ไปในวังหลวง ซึ่งหนึ่งในกองโจรนั้นมี สิงห์ (ชูชัย พระขรรค์ชัย) ซึ่งชอบช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน

สิงห์มีเมียรักชื่อ นวล (สุพรรณ บูรณะพิมพ์) ที่คอยช่วยเหลือทั้งงานบ้านและการต่อสู้กับขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง เธอเคยรบเร้าให้สิงห์เลิกเป็นโจรหลายครั้งแต่ไม่เป็นผลเนื่องจากสิงห์ต้องการสร้างความยุติธรรมให้กับชาวบ้าน ต่อมาพระเจ้าเสือได้ทรงพระราชดำเนินไปตกปลากับขุนนางคนสนิทเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งนัยหนึ่งพระองค์ต้องการทราบถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นได้ปะฝีมือเชิงมวยกับสิงห์ผู้เป็นชาวบ้านธรรมดา โดยไม่รู้ว่าคนที่ตนกำลังชกอยู่ด้วยเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ไม่ทันได้รู้ผลแพ้ชนะก็มีขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงมาอ่านพระบรมราชองค์การในการเกณฑ์ราษฎรชายไปเป็นทหาร ทำให้พระเจ้าเสือได้รับทราบการทุจริตของข้าราชการและได้พูดคุยกับสิงห์อย่างถูกคอ

หลังจากพระเจ้าเสือเสด็จกลับพระราชวังได้มีรับสั่งให้สิงห์เข้ารับราชการในตำแหน่งนายทหารคัดท้ายเรือประจำพระที่นั่งเอกไชยและช่วยเหลืองานราชการในการปราบขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยต่อมาคือ พันท้ายนรสิงห์ จนได้รับคำยกย่องว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีและรักษาระเบียบวินัย ครั้นพระเจ้าเสือเสด็จประพาสปากน้ำสาครบุรี ซึ่งจะต้องผ่านตำบลโคกขามซึ่งคลองบริเวณดังกล่าวมีความคดเคี้ยวและแคบ ทำให้ขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงวางอุบายลอบปลงพระชนม์เพราะกลัวพระเจ้าเสือจะจับได้ว่าพวกตนแอบอ้างนำพระราชโองการไปใช้แสวงหาผลประโยชน์

ขณะเดียวกันนั้นสิงห์ที่ได้ล่วงรู้แผนการนี้จึงมอบหมายให้คนสนิทไปขอร้องผู้ที่ลอบปลงพระชนม์แต่ไม่ประสบความสำเร็จ สิงห์จึงให้นวลไปขอร้องหัวหน้าฝ่ายโจรที่คิดลอบปลงพระชนม์เนื่องจากเดิมสิงห์และนวลเคยสนิทสนมกับหัวหน้าโจร โดยสิงห์วางอุบายให้นวลไปขอร้องหัวหน้าโจรส่วนตนจะบังคับเรือพระที่นั่งให้ชนกับริมตลิ่งเพื่อไม่ให้พระเจ้าเสือเสด็จพระราชดำเนินไปถึงจุดที่กลุ่มโจรซุ่มอยู่

เมื่อเรือพระที่นั่งเอกไชยมาถึงตำบลโคกขาม สิงห์พยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่งจนชนตลิ่ง ทำให้หัวเรือพระที่นั่งเอกไชยหักตกลงไปในน้ำ สิงห์รู้โทษดีว่าความผิดครั้งนี้ถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณีซึ่งกำหนดว่าถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหักผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย สิงห์จึงกราบทูลขอน้อมรับโทษตามพระราชประเพณี พระเจ้าเสือทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นเหตุสุดวิสัยมิใช่ความประมาทจึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่สิงห์ก็กราบบังคมยืนยันให้ตัดศีรษะตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมายและเป็นการป้องกันมิให้เกิดข้อติเตียนต่อพระเจ้าอยู่หัวว่าทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน พระเจ้าเสือไม่ต้องการประหารสิงห์จึงทรงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปสิงห์แล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทน แต่สิงห์ยังคงยืนยันขอให้ตัดศีรษะตน

แม้พระเจ้าเสือจะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใดก็ทรงจำพระทัยปฏิบัติตามพระราชกำหนด จึงตรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตาและนำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้นขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล ต่อมานวลจึงได้บอกเรื่องราวการปลงพระชนม์แก่พระเจ้าเสือให้ทรงทราบหลังจากประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์

นักแสดง

[แก้]

ประวัติการสร้างและการจัดฉาย

[แก้]
ทวี ณ บางช้าง (ครูมารุต) ผู้กำกับภาพยนตร์

พันท้ายนรสิงห์ เป็นผลงานนิพนธ์อิงประวัติศาสตร์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เคยถูกสร้างเป็นละครเวทีของคณะศิวารมณ์ ในปี พ.ศ. 2488 นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เป็น พันท้ายนรสิงห์, สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เป็น นวล, จอก ดอกจันทร์ เป็น พระเจ้าเสือ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงสุด แต่หลังจากในยุคที่ละครเวทีเฟื่องฟู พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลได้ขายกิจการไทยฟิล์มให้กองภาพยนตร์ทหารอากาศ แล้วตั้งคณะละครชื่ออัศวินการละครและเมื่อละครเวทีหมดความนิยม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลก็หันกลับมาสร้างภาพยนตร์อีกครั้งหนึ่งในนาม อัศวินภาพยนตร์[5] จึงได้ประกาศสร้างพันท้ายนรสิงห์ฉบับภาพยนตร์แบบอลังการงานสร้างในปี พ.ศ. 2491

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของอัศวินภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย มารุต โดยมี 3 นักเขียนชื่อดังในสมัยนั้นได้แก่ ประหยัด ศ. นาคะนาท (นายรำคาญ), ประมูล อุณหธูป และชั้น แสงเพ็ญ ร่วมกันเขียนบทภาพยนตร์ งานด้านกำกับภาพเป็นหน้าที่ของ รัตน์ เปสตันยี โดยถ่ายทำในระบบฟิล์ม 16 มม. โดยใช้เวลาในการสร้างกว่า 2 ปีเนื่องจากผู้กำกับใช้เวลากับการแสดงเป็นส่วนมาก [6]

ด้านนักแสดงได้นักแสดงหน้าใหม่คือ ชูชัย พระขรรค์ชัย นักมวยไทยชื่อดังแห่งเวทีราชดำเนินรับบทเป็นพันท้ายนรสิงห์ แทน สุรสิทธิ์ สัตยวงษ์ ส่วนบทนวลยังเป็นบทบาทของ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ แต่บทพระเจ้าเสือนั่นเดิม จอก ดอกจันทร์เป็นผู้แสดงแต่ได้เสียชีวิตกะทันหัน บทพระเจ้าเสือจึงรับบทโดย ถนอม อัครเศรณี เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เจ้าพระยารายสัปดาห์ (นามปากกา "นายกล้าหาญ") ซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนของครูเนรมิต และถนอมยังได้ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้อีกคนด้วย [6]

อำนวย กลัสนิมิ หรือ ครูเนรมิต ผู้ร่วมแต่งเพลง น้ำตาแสงไต้

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ยังมีชื่อเสียง คือเพลง น้ำตาแสงไต้ คำร้องโดย มารุต และ เนรมิต และทำนองโดย สง่า อารัมภีร ดัดแปลงจากของเก่า "เขมรกล่อมลูก" ซึ่งเป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่งที่มีความไพเราะ ประกอบในฉากพันท้ายนรสิงห์และนวลร่ำลากัน [6]

พันท้ายนรสิงห์ เปิดฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2493 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง เป็นเวลานาน 3 เดือน ทำรายได้ถึง 5 ล้านบาท [7] นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากรายได้ที่สูงลิ่วในสมัยนั้น และถูกนำกลับมาฉายใหม่อีก 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2501, พ.ศ. 2509 และ พ.ศ. 2517 โดยในปี พ.ศ. 2517 ได้ขยายฟิล์มเป็น 35 มม. บันทึกเสียงพากย์ลงบนฟิล์ม ได้แต่งเสียงประกอบและดนตรีประกอบลงใหม่ โดยบริษัทสยามพัฒนาฟิล์มของประมวล เจนจรัสสกุล ภายใต้การดูแลของหรุ่น รองรัตน์ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ [6]

ในปี พ.ศ. 2525 บริษัทไชโยภาพยนตร์ ได้นำมาสร้างใหม่อีกครั้งเป็นภาพยนตร์ 35 มม. โดยมีการปรับเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่เป็น พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์ อำนวยการสร้างและกำกับเทคนิคโดย สมโพธิ แสงเดือนฉาย กำกับการแสดงโดย เนรมิต นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี เป็น พันท้ายนรสิงห์, สมบัติ เมทะนี เป็น พระเจ้าเสือ, อาภาพร กรทิพย์ เป็น นวล ร่วมด้วย พิศมัย วิไลศักดิ์, มานพ อัศวเทพ, ส.อาสนจินดา, สีเทา, สุพรรณ บูรณะพิมพ์, จิรศักดิ์ อิศรางกูร แต่ภาพยนตร์เน้นเรื่องราวและความผูกพันของพระเจ้าเสือและพันท้ายนรสิงห์ [6]

ในปี พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาพยนตร์ไทยอีก 24 เรื่อง [8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ออกฉาย ณ ที่ ศาลาเฉลิมกรุง[ลิงก์เสีย]
  2. "ภาพยนตร์ไทย พันท้ายนรสิงห์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-07. สืบค้นเมื่อ 2012-12-12.
  3. พันท้ายนรสิงห์ (2493)
  4. "นักแสดงนำเรื่อง พันท้ายนรสิงห์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-11. สืบค้นเมื่อ 2013-01-03.
  5. ..ประวัติภาพยนตร์ไทย...(ตอน2)
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์. "หนังกับหนังสือพันท้ายนรสิงห์". นิตยสารศิลปะและวัฒนธรรม ฉบับที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552 หน้า 26
  7. พันท้ายนรสิงห์ เปิดฉายครั้งแรก[ลิงก์เสีย]
  8. มรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2558)