พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1
พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร | |||||
ครองราชย์ | ค.ศ. 1006–1050 | ||||
บรมราชาภิเษก | ค.ศ. 1010 | ||||
ก่อนหน้า | พระเจ้าชยวีรวรมัน | ||||
ถัดไป | พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 | ||||
สวรรคต | ค.ศ. 1050 | ||||
พระราชบุตร | พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 พระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์วรมัน | ||||
ศาสนา | พุทธแบบมหายาน |
พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 1 เอกสารไทยมักเรียก พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (เขมร: សូរ្យវរ្ម័នទី១ สูรฺยวรฺมันที ๑; อักษรโรมัน: Suryavarman I; สวรรคต ค.ศ. 1050) พระนามหลังสวรรคตว่า นิพพานบท (เขมร: និវ្វានបទ นิวฺวานบท) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1006–1050[1]: 134–135
พระนาม
[แก้]พระนาม "สูรยวรรมัน" แปลว่า ผู้มีพระอาทิตย์เป็นเกราะ หรือผู้มีสุริยเทพคุ้มครอง มาจากคำสันสกฤต สูรฺย แปลว่า พระอาทิตย์ + วรฺมัน แปลว่า ผู้มีเกราะ คำนี้เพี้ยนมาจาก สูรยวรรม และภายหลังเพี้ยนต่อเป็น สุริโยพรรณ เช่น ในพระนามของพระบรมราชาที่ 7 (พระศรีสุริโยพรรณ) และของนักองค์เอง (พระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ)[2]
พระนามหลังสิ้นพระชนม์ คือ "พระบาทบรมนิพพานบท" (វ្រះបាទបរមនិវ្វានបទ วฺระบาทบรมนิวฺวานบท) พระนาม "นิพพานบท" นี้แปลว่า ผู้ไปถึงแล้วซึ่งนิพพาน แสดงถึงพุทธศรัทธาของพระองค์
พระราชกำเนิด
[แก้]พระราชกำเนิดของพระเจ้าสูรยวรรมันได้มีการสันนิษฐานไว้ 2 ทฤษฎี
ทฤษฎีแรกได้มีการสันนิษฐานว่าเป็นพระโอรสของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งตามพรลิงค์[3]ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย ตั้งอยู่ในแหลมมลายู ปัจจุบันอยู่ในประเทศไทย น่ามีพื้นเพมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ยกทัพไปทั่วภูมิภาคโคราช เมื่อมาถึงเมืองศรีโสภณ (ปัจจุบันคือจังหวัดบันทายมีชัย) ยกทัพมารุกรานทางทิศตะวันตกจาก พ.ศ. 1002 ถึง พ.ศ. 1004 ทรงปราบเมืองหลวงของยโสธรปุระได้ในที่สุด และพระเจ้าชยวีรวรมันถูกขับออกจากเมืองยโสธรปุระเมื่อ พ.ศ. 1006 และทรงขึ้นครองราชย์ในครั้งนั้น
แต่ในปัจจุบันได้มีการสรุปได้ว่า พระเจ้าสูรยวรรมันเป็นพระโอรสในราชวงศ์วรมัน ในกรณีเหล่านี้ คำจำกัดความของ "ผู้แย่งชิงบัลลังก์" และ "ผู้สืบทอดโดยชอบธรรม" เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมุมมองทั่วไป ซึ่งนักวิชาการด้านนครวัด อย่างไมเคิล วิคเคอรี่ (Michael Vickery) ได้วิเคราะห์มาอย่างยาวนานว่าพระองค์เป็นผู้ครองใจชาวเมืองพระนคร พระเจ้าสูรยวรรมันทรงอ้างเป็นผู้สืบทอดโดยชอบธรรมต่อจากพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (สายพระเจ้าชัยวรมันที่ 4) การที่พระเจ้าสูรยวรรมันเป็นพระโอรสของกษัตริย์เชื้อสายมาเลย์ ตามพรลิงค์-อาณาจักรศรีวิชัย จึงดูเหมือนจะขัดแย้งกันกับทฤษฎีแรก ทำให้การขึ้นครองราชบัลลังก์ของพระองค์อาจไม่เป็นที่ชอบธรรม[4] จึงนำไปสู่ทฤษฎีที่สองที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือพระองค์เป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 กับนางมเหนทเทวี มเหสีองค์หนึ่ง[5] ดังนั้นในความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 11 พระเจ้าสูรยวรรมันและผู้สนับสนุนของพระองค์จึงเป็นทายาทที่ถูกต้องโดยธรรมของราชวงศ์วรมันสายอินทรวรมัน (พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1) ส่วนพระเจ้าชยวีรวรมันเป็นตัวแทนของอีกสายสกุลหนึ่งที่สูญหายไปจากบันทึกแล้ว แต่ปรากฏให้เห็นชัดเจนในพระเจ้าชยวีรวรมันกษัตริย์พระองค์ก่อนของปราสาทกระวาน และตระกูลขุนนางที่ต่อต้านพระเจ้าสุริยวรมันและอ้างเชื้อสายจากพระเจ้าชัยวรรมันที่ 2 ยังคงเป็นอีกสายเลือดหนึ่งที่ถูกลดระดับลงไปสู่สถานะข้าราชการที่ถูกลดฐานะจากราชวงศ์ลงมาเกือบเทียบเท่าไพร่ เทียบได้กับช่วงที่ราชบัลลังก์เปลี่ยนผ่านในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 3ไปสู่พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1
ครองราชย์
[แก้]ราว ค.ศ. 1002 พระเจ้าสูรยวรรมันทรงมีชัยเหนือกองทัพของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 1 (ឧទ័យទិត្យវរ្ម័នទី១ อุทัยทิตฺยวรฺมันที ๑) พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร แล้วทำสงครามยึดเยื้อกับพระเจ้าชยวีรวรมัน (ជយវីរវម៌្ម ชยวีรวรฺมฺม) ผู้สืบบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 1[6] ใน ค.ศ. 1010 สูรยวรรมันจึงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์เขมร
ขณะนั้น อาณาจักรพระนครยึดถือลัทธิเทวราชาและศาสนาฮินดูนิกายไวษณพ (นับถือพระวิษณุเป็นใหญ่) แต่พระเจ้าสูรยวรรมันทรงนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน พระองค์ทรงยอมให้ศาสนาพุทธนิกายหีนยานเจริญงอกงามในเมืองเขมร และให้พลเมืองถือศาสนาฮินดูต่อไปได้[1]: 134
พระเจ้าสูรยวรรมันทรงรวบอำนาจทางการเมืองโดยทรงให้ข้าราชการเขมรราวสี่พันคนมากระทำสัตย์สาบานต่อพระองค์ในพระราชมนเทียรที่นครธม กำแพงนครธมยังเริ่มก่อในรัชกาลนี้ด้วย ครั้นประมาณ ค.ศ. 1012 พระเจ้าสูรยวรรมันทรงสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตกับราชวงศ์โจฬะแห่งอินเดียใต้[1]: 136 พระองค์ทรงส่งราชรถไปถวายพระเจ้าราชราชโจฬะที่ 1 (Raja Raja Chola I) พระมหากษัตริย์แห่งโจฬะ[7] ซึ่งน่าจะเป็นไปเพื่อให้อำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างชนชาติทั้งสอง[8]
ดูเหมือนว่า พระเจ้าสูรยวรรมันทรงขอให้พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ 1 (Rajendra Chola I) พระมหากษัตริย์โจฬะ ช่วยเหลือการสงครามกับตามพรลิงค์[9][10] เมื่อทราบความร่วมมือของเขมรและโจฬะ ตามพรลิงก์ก็ขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าสงครามวิชัยตุงควรรมัน (Sangrama Vijayatungavarman) พระมหากษัตริย์แห่งศรีวิชัย บ้าง[9][11] เป็นเหตุให้โจฬะแตกหักกับศรีวิชัยและเปิดสงครามกัน สุดท้ายแล้ว โจฬะมีชัย ศรีวิชัยพ่ายแพ้ยับเยิน[9][12]
พระราชกรณียกิจ
[แก้]พระเจ้าสูรยวรรมันน่าจะทรงเป็นผู้ให้เริ่มก่อสร้างเทวสถานพระขรรค์แห่งกำพงสวาย (ព្រះខ័ននៅកំពង់ស្វាយ พฺระขันเนากํพง̍สฺวาย) และขยายเทวสถานอื่น ๆ เช่น ปราสาทบันทายศรี (ប្រាសាទបន្ទាយស្រី บฺราสาทบนฺทายสฺรี), วัดเอกพนม (វត្តឯកភ្នំ วตฺตเอกภฺนํ), และปราสาทพนมชีสูร (ប្រាសាទភ្នំជីសូរ บฺราสาทภฺนํชีสูร)[13]: 95–96
สิ่งก่อสร้างหลักในรัชกาลนี้ คือ ปราสาทพระวิหาร (ប្រាសាទព្រះវិហារ บฺราสาทพฺระวิหาร) บนเทือกเขาพนมดงรัก (ជួរភ្នំដងរែក ชัวรภฺนํฎงแรก) ตลอดจนปราสาทพิมานอากาศ (ប្រាសាទភិមានអាកាស บฺราสาทภิมานอากาส) และปราสาทตาแก้ว (ប្រាសាទតាកែវ บฺราสาทตาแกว)[1]: 135–136
รัชกาลนี้ยังได้สร้างบารายตะวันตกเป็นแอ่งเก็บน้ำแห่งที่สองในนครธม ยาว 8 กิโลเมตร กว้าง 2.1 กิโลเมตร[14]: 371 กักน้ำได้ถึง 123 ล้านลิตร[15] เป็นแอ่งเก็บน้ำเขมรโบราณที่ใหญ่ที่สุดแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้
พระเจ้าสูรยวรรมันทรงได้รับสมญาว่า "ธรรมนีติราช" (King of the Just Laws) ครองราชย์อยู่ราว 40 ปี ระยะเวลาส่วนใหญ่ทรงใช้ไปในการป้องกันขอบขัณฑสีมาของพระองค์ พระองค์ยังได้ทรงแผ่พระอำนาจมาถึงละโว้ ตลอดจนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำโขง[1]: 136–137
การบุกยึดและทำลายเมืองลพบุรี
[แก้]พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แห่งเมืองพระนครศรียโศธรปุระน่าจะเคยยกทัพมาตีเมืองลพบุรี จากนั้นจึงผนวกลพบุรีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชาโบราณสมัยพระนคร ปรากฎหลักฐานตามศิลาจารึก Ka.18 หรือ K.1198 ในประเทศกัมพูชา เนื้อความในศิลาจารึกหลักนี้กล่าวถึงการที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ตีเมืองลวปุระ หรือลพบุรี แล้วทำลายเมืองจนลพบุรีกลายเป็นป่า[16]
ขยายอำนาจอิทธิพลทางการเมืองเข้ามายังฟากตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อันมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้ หรือลพบุรี (สฺรุกโลฺว หรือ โลฺวทยปุระ) ดังปรากฏหลักฐานสำคัญที่พบใหม่คือ ศิลาจารึก K.1198 (Ka.18) ศิลาจารึกนี้มีทั้งที่เป็นภาษาเขมรโบราณ และภาษาสันสกฤต ระบุว่าจารึกขึ้นเมื่อมหาศักราช 924 ตรงกับพุทธศักราช 1545 ในข้อความจารึกในส่วนที่เป็นภาษาสันสกฤต มีความที่สำคัญตอนหนึ่งซึ่งกล่าวถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยกทัพมาตีเมืองละโว้ (จารึกเรียกว่า “ลวปุระ”) ว่า
- กาเลยโทไษรฺ ลวปูรฺ อรณฺยํ ปฺรนษฺฏรูปา หตสรฺวโศภา
(คำแปล): เพราะความเสื่อมแห่งกลียุค เมืองลวปุระ (ลพบุรี) กลายเป็นป่า ปรากฏความพังพินาศไปทั่ว ความงดงามทั้งหมดมลายหายไป เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ป่าทั้งหลายมีเสือโคร่ง เป็นต้น ดูน่ากลัวยิ่งกว่าป่าช้าที่เผาศพ[17]
— ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ มั่งมีสุขสิริ, ศิลาจารึก K.1198 (Ka.18)
จากหลักฐานในด้านศิลาจารึกต่าง ๆ ที่กล่าวมาแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เมืองลวปุระ ซึ่งเป็นเมืองในกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีได้ถูกกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 โจมตีและทำลายเมืองจนเสียหาย
หลังจากนั้นเมืองลวปุระได้ปรากฏชื่อในจารึกว่า “สฺรุกโลฺว” หรือ “เมืองละโว้” โดยได้กลายเป็นเมืองที่อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 1545
การสร้างปราสาทหินในรัชกาล
[แก้]สวรรคต
[แก้]พระเจ้าสูรยวรรมันวายสวรรคตใน ค.ศ. 1050 และได้รับเฉลิมพระนามว่า "นิพพานบท"
เมื่อสิ้นพระองค์แล้ว พระโอรส คือ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 (ឧទ័យទិត្យវរ្ម័នទី២ อุทัยทิตฺยวรฺมันที ๒) สืบราชสมบัติต่อจนถึงประมาณ ค.ศ. 1066 พระโอรสอีกองค์ คือ พระเจ้าหรรษวรมันที่ 3 (ហស៌វរ្ម័នទី៣ หรฺสวรฺมันที ๓) จึงเสวยราชย์ต่อจนถึง ค.ศ. 1080
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
- ↑ ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2549. p. 71. ISBN 9749528476.
- ↑ Quaritch, H. G. (1965). Angkor and Rome: A Historical Comparison. Wales. London: Bernard Quaritch, Ltd.
- ↑ Michael Vickery. "The Reign of Suryavarman I and Royal Factionalism at Angkor". Journal of Southeast Asian Studies , Vol. 16, No. 2, pp. 226-244 (Cambridge University Press on behalf of Department of History, National University of Singapore). สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2024.
- ↑ Michael Vickery. "The Reign of Suryavarman I and Royal Factionalism at Angkor". Journal of Southeast Asian Studies , Vol. 16, No. 2, pp. 226-244 (Cambridge University Press on behalf of Department of History, National University of Singapore). สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2024.
- ↑ "Suryavarman I". Encyclopædia Britannica. 2014. สืบค้นเมื่อ February 24, 2014.
- ↑ Indian History by Reddy: p.64
- ↑ Economic Development, Integration, and Morality in Asia and the Americas by Donald C. Wood p.176
- ↑ 9.0 9.1 9.2 Kenneth R. Hall (October 1975), "Khmer Commercial Development and Foreign Contacts under Sūryavarman I", Journal of the Economic and Social History of the Orient 18 (3), pp. 318-336, Brill Publishers
- ↑ Society and culture: the Asian heritage : Juan R. Francisco, Ph.D. University of the Philippines Asian Center p.106
- ↑ R. C. Majumdar (1961), "The Overseas Expeditions of King Rājendra Cola", Artibus Asiae 24 (3/4), pp. 338-342, Artibus Asiae Publishers
- ↑ R. C. Majumdar (1961), "The Overseas Expeditions of King Rājendra Cola", Artibus Asiae 24 (3/4), pp. 338-342, Artibus Asiae Publishers
- ↑ Higham, C., 2001, The Civilization of Angkor, London: Weidenfeld & Nicolson, ISBN 9781842125847
- ↑ Higham, C., 2014, Early Mainland Southeast Asia, Bangkok: River Books Co., Ltd., ISBN 9786167339443
- ↑ Freeman, Michael; Jacques, Claude (2006). Ancient Angkor. River Books. p. 188. ISBN 974-8225-27-5.
- ↑ "เมื่อ ลวปุระ-ลพบุรี ถูกพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยกทัพบุกทำลายจนมีสภาพเป็นป่า". ศิลปวัฒนธรรม. 2023-10-02.
- ↑ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ มั่งมีสุขสิริ. "ศิลาจารึก K.1198 (Ka.18)"
ก่อนหน้า | พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าชยวีรวรมัม | พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร (ค.ศ. 1006–1050) |
พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 |