ข้ามไปเนื้อหา

ผังมโนทัศน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผังมโนทัศน์ หรือ แผนที่ความคิด หรือ ไมด์แม็ป (อังกฤษ: mind map) คือไดอะแกรมที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของมโนภาพที่สัมพันธ์กันรูปแบบหนึ่ง โดยปกติจะใช้รูปวงกลมแทนมโนทัศน์หรือความคิด และเส้นลูกศรแทนลักษณะและทิศทางของความสัมพันธ์นั้น มีคำกำกับไว้ว่าวงกลมแทนมโนภาพของอะไร เส้นลูกศรแทนความสัมพันธ์ในลักษณะและทิศทางใด ในบางครั้งมีการใช้การเน้นและแจกแจงเนื้อความด้วยสีและการวาดรูปประกอบ

ที่มา

[แก้]

ผังมโนทัศน์ถือว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบันทึกความคิดเพื่อให้เห็นภาพความคิดที่หลากหลายมุมมองที่กว้างและชัดเจนกว่าการบันทึกที่โดยยังไม่จัดระบบระเบียบความคิดใด ๆ อีกทั้งเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับโครงสร้างทางการคิดของมนุษย์ที่บางช่วงมนุษย์จะสูญเสียสมาธิและความจดจ่อไปโดยอัตโนมัติขณะที่กำลังคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การทำให้สมองได้คิด ได้ทำงานตามธรรมชาตินั้น มีลักษณะเหมือนต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านออกไปเรื่อย ๆ

ผังมโนภาพถูกใช้เป็นแนวคิดไร้รูปแบบตายตัวมาหลายศตวรรษแล้วเพื่อใช้ในการเรียนรู้, การระดมสมอง, การจดจำข้อมูล, การจินตนาการและการแก้ปัญหาโดยนักศึกษา, วิศวกร, นักจิตวิทยา รวมถึงบุคคลทั่วไป ตัวอย่างของผู้คิดผังมโนภาพที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดในโลกคือนักคิดในคริสต์ศตวรรษที่ 3 นามว่าพอไพรี ผู้ที่จำแนกนิยามที่ถูกคิดโดยอริสโตเติลไว้โดยการมโนภาพ ในยุคปัจจุบัน ผู้ปฏิวัติรูปแบบของผังมโนภาพโดยการบูรณาการคือ ดร. อัลลัน คอลลินส์ และนักวิจัยในช่วงทศวรรษ 60 (พ.ศ. 2500) เอ็ม.โรส ควิลแลนด์ โดยเผยแพร่วิธีการคิดแบบใหม่นี้โดยการลงบทความ และทำการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และการมโนภาพ ทำให้ ดร. อัลลัน คอลลินส์ ถือว่าเป็นบิดาแห่งผังมโนภาพสมัยใหม่ก็ว่าได้

โทนี บูซาน ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในเรื่องแผนที่ความคิด มาช่วยในการจดจำระยะยาวที่เรียกว่าวิธีเนโมนิก ซึ่งได้แก่การนำความรู้ใหม่ไปผูกโยงกับความรู้เดิมที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสมองซีกขวาโดยการจินตนาการ ด้วยหลักการใช้คำหลักเป็นตัวกำหนดแล้วขยายกิ่งก้านสาขาออกไป วิธีนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในเรื่องการทำประชาคม การบันทึกคำบรรยาย เป็นต้น

อ้างอิง

[แก้]