ข้ามไปเนื้อหา

ปฏิบัติการเท็งโง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปฏิบัติการเท็งโง
天號作戰 หรือ 天号作戦
ส่วนหนึ่งของ สงครามมหาสมุทรแปซิฟิกในสงครามโลกครั้งที่สอง
ยะมะโตะเริ่มจมลงจากทางด้านท้ายเรือ
ยะมะโตะตกอยู่ภายใต้การโจมตี เกิดไฟไหม้อย่างหนักที่ท้ายเรือบริเวณโครงสร้างส่วนบน และจมต่ำลงไปกว่าแนวน้ำซึ่งเกิดเพราะความเสียหายจากตอร์ปิโด
วันที่7 เมษายน ค.ศ. 1945
สถานที่
ผล สหรัฐได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด
คู่สงคราม
 สหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่น
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สหรัฐอเมริกา มาร์ก เอ. มิตส์เชอร์ ญี่ปุ่น เซอิชิ อิโต 
ญี่ปุ่น เคโซ โคะมุระ
ญี่ปุ่นโคะซะกุ อะริกะ 
กำลัง
กองกำลังเฉพาะกิจที่ 58:
• เรือบรรทุกอากาศยาน 11 ลำ
• อากาศยาน 386 เครื่อง
• เรือประจัญบาน 6 ลำ
• เรือพิฆาตหลายลำ
• เรือลาดตระเวนหลายลำ
กองเรือที่ 2:
• เรือประจัญบาน 1 ลำ
• เรือลาดตระเวนเบา 1 ลำ
• เรือพิฆาต 8 ลำ
• อากาศยาน 115 เครื่อง ส่วนมากเป็นคะมิกะเซะ
ความสูญเสีย

จากการโจมตีกองกำลังเฉพาะกิจยะมะโตะ:
• นักบินเสียชีวิต 12 นาย
• อากาศยานถูกทำลาย 10 ลำ


ในการโจมตีของคะมิกะเซะ:
• บาดเจ็บและเสียชีวิต 227 นาย (เสียชีวิต 65+ นาย)
• เรือบรรทุกอากาศยานเสียหายปานกลาง 1 ลำ
• เรือประจัญบานเสียหายปานกลาง 1 ลำ
• เรือพิฆาตเสียหายหนัก 1 ลำ

กองกำลังเฉพาะกิจยะมะโตะ:
• เสียชีวิต 3,700–4,250 นาย[1]
• เรือประจัญบานจม 1 ลำ
• เรือลาดตระเวนเบาจม 1 ลำ
• เรือพิฆาตจม 4 ลำ


คะมิกะเซะ:
• อากาศยานถูกทำลาย 100 เครื่อง
• เสียชีวิต 100+ นาย

ปฏิบัติการเท็งโง (ญี่ปุ่น: 天號作戰 (คีวจิไต) หรือ 天号作戦 (ชินจิไต)โรมาจิTen-gō Sakusen) เป็นปฏิบัติการทางทะเลหลักครั้งสุดท้ายของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามแปซิฟิกของสงครามโลกครั้งที่สอง ปฏิบัติการเท็งโงยังมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า Operation Heaven One (ปฏิบัติการสรวงสวรรค์) และ Ten-ichi-gō (เท็งอิชิโง)

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 เรือประจัญบานยะมะโตะของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรือประจัญบานที่ใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมเรือรบของญี่ปุ่นลำอื่นอีก 9 ลำ ได้แล่นออกจากญี่ปุ่นเพื่อการโจมตีฆ่าตัวตายต่อกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรที่กำลังสู้รบในยุทธการโอะกินะวะ กองกำลังของญี่ปุ่นถูกโจมตียับยั้งและโดนทำลายเกือบจะทั้งหมดด้วยเรือบรรทุกอากาศยานและอากาศยานบนเรือของสหรัฐก่อนที่จะเดินทางถึงเกาะโอะกินะวะ ยะมะโตะและเรือรบอีก 5 ลำอับปางลงในยุทธนาวีนี้

ยุทธนาวีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงอำนาจความยิ่งใหญ่ทางอากาศของสหรัฐในสงครามมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อสงครามดำเนินมาถึงจุดนี้ ตลอดจนเรือผิวน้ำที่โดนโจมตีได้อย่างง่ายดาย เมื่อปราศจากการคุ้มกันทางอากาศ ยุทธนาวีดังกล่าว ยังได้แสดงถึงความสมัครใจของญี่ปุ่นที่จะเสียสละชาวญี่ปุ่นจำนวนมากในความพยายามอันสิ้นหวังที่จะชะลอการรุกคืบสู่แผ่นดินแม่ญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตร

ภูมิหลัง

[แก้]

ต้นปี ค.ศ. 1945 หลังจากการทัพหมู่เกาะโซโลมอน ยุทธนาวีทะเลฟิลิปปินส์ และยุทธนาวีอ่าวเลย์เต กองเรือผสมของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เคยน่าเกรงขามในอดีตได้ลดจำนวนลงเหลือเพียงเรือรบ อากาศยาน และนักบินที่สามารถปฏิบัติการได้เพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น เรือรบที่เหลือส่วนใหญ่ของกองเรือผสมจอดประจำอยู่ที่ท่าเรือในญี่ปุ่น ซึ่งเรือรบขนาดใหญ่ส่วนมากอยู่ที่อู่ทหารเรือคุเระ จังหวัดฮิโระชิมะ[2]

กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้เริ่มต้นแผนการทัพที่จะโจมตีแผ่นดินแม่ของญี่ปุ่น ด้วยการรุกรานเกาะไซปันและเกาะอิโวะจิมะ กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรรุกรานเกาะโอะกินะวะในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1945 ซึ่งนับเป็นก้าวถัดมาก่อนการเริ่มแผนการที่เตรียมไว้สำหรับการโจมตีแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม ในแถลงการสรุปต่อสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะเกี่ยวกับการตอบโต้ของญี่ปุ่นต่อการโจมตีเกาะโอะกินะวะของฝ่ายสัมพันธมิตร ผู้นำทางทหารของญี่ปุ่นอธิบายว่ากองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นวางแผนที่จะโจมตีทางอากาศเป็นวงกว้างรวมถึงการใช้คะมิกะเซะด้วย ตามที่มีรายงานไว้ สมเด็จพระจักรพรรดิได้ตรัสถามว่า "แล้วกองทัพเรือละ? พวกเขาจะทำสิ่งใดเพื่อช่วยป้องกันโอะกินะวะ?" ด้วยความกดดันจากสมเด็จพระจักรพรรดิให้มีการโจมตีบางรูปแบบ ทำให้บรรดาผู้บัญชาการกองทัพเรือคิดปฏิบัติการอัตวินิบาตกรรมขึ้นโดยใช้เรือขนาดใหญ่ที่ยังใช้การได้อยู่ รวมไปถึงเรือประจัญบานยะมะโตะด้วย[3]

ในแผนปฏิบัติการที่ร่างขึ้นภายใต้คำสั่งของผู้บัญชาการสูงสุดของกองเรือผสม พลเรือเอกโทะโยะดะ โซะเอะมุ (Toyoda Soemu) [4] ได้มีคำสั่งให้เรือประจัญบานยะมะโตะและเรือคุ้มกันโจมตีกองเรือสหรัฐที่คอยสนับสนุนทหารที่ยกพลขึ้นบกทางตะวันตกของเกาะโอะกินะวะ ยะมะโตะและเรือคุ้มกันจะสู้รบไปตลอดทางสู่เกาะโอะกินะวะและเข้าเกยหาดระหว่างหมู่บ้านฮิงะชิ (Higashi) และหมู่บ้านโยะมิตัง (Yomitan) ก่อนจะทำหน้าที่เสมือนเป็นป้อมปืนใหญ่ชายฝั่งและต่อสู้จนกระทั่งเรือถูกทำลาย เมื่อเรือถูกทำลาย ลูกเรือที่ยังรอดชีวิตต้องสละเรือและเข้าต่อสู้กับกองกำลังสหรัฐบนแผ่นดิน มีเครื่องบินคุ้มกันเพียงน้อยนิดที่สามารถจัดเตรียมได้ซึ่งไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงเมื่อเผชิญกับการโหมโจมตีทางอากาศของสหรัฐ[3] ในการเตรียมพร้อมเพื่อดำเนินการตามแผน เรือที่กำหนดได้ออกจากคุเระไปยังเมืองโทะกุยะมะ (Tokuyama) จังหวัดยะมะงุชิ นอกชายฝั่ง มิตะจิริ (Mitajiri) ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 29 มีนาคม[5] อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้เตรียมตัวสำหรับภารกิจ พลเรือโท เซอีชิ อิโต (Seiichi Itō) ผู้บัญชาการกองกำลังปฏิบัติการเท็งโง ยังคงปฏิเสธที่จะออกคำสั่งให้เรือของเขาดำเนินการตามแผนด้วยเชื่อว่าแผนปฏิบัติการนี้เป็นสิ่งไร้ประโยชน์และสูญเปล่า[6]

ผู้บัญชาการคนอื่น ๆ ของราชนาวีจักรวรรดิญี่ปุ่นมีความรู้สึกในเชิงลบต่อปฏิบัติการเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน และเชื่อว่าเป็นการสูญเปล่าในชีวิตมนุษย์และเชื้อเพลิง นาวาเอก อะสึชิ โออิ (Atsushi Ōi) ผู้บัญชาการกองเรือคุ้มกัน ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากการที่เชื้อเพลิงและทรัพยากรถูกยักย้ายถ่ายเทไปจากปฏิบัติการของเขา กล่าวไว้ว่าจุดประสงค์ของปฏิบัติการนี้เป็นเพียง "ประเพณีนิยมและเกียรติยศของกองทัพเรือ" เขาตะโกนว่า:[7]

สงครามนี้เป็นของชาติเรา ทำไมต้องสนใจในเกียรติยศของ "กองเรือผิวน้ำ" มากด้วยเล่า? ใครสนใจชื่อเสียงของพวกแกกัน? ไอ้พวกโง่!

("กองเรือผิวน้ำ" หมายถึงเรือหลวง โดยเฉพาะเรือประจัญบานที่ "ควรจะมีชัยชนะในสงคราม")

พลเรือโท รีวโนะซุเกะ คุซะกะ (Ryūnosuke Kusaka) บินออกจากโตเกียวในวันที่ 5 เมษายนสู่โทะกุยะมะในความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะโน้มน้าวเหล่าผู้บัญชาการกองเรือผสมรวมถึงพลเรือโท อิโต ให้ตกลงยอมรับในแผนการ ครั้งแรกที่ได้ฟังถึงปฏิบัติการที่เสนอขึ้นมานั้น (ได้มีการปกปิดปฏิบัติการเป็นความลับจากผู้บัญชาการส่วนใหญ่) ผู้บัญชาการและกัปตันเรือของกองเรือผสมมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะเข้าร่วมกับพลเรือโทอิโตในการปฏิเสธที่จะดำเนินการตามแผนการด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่เขาได้แสดงออกไว้ข้างต้น จากนั้นพลเรือโท คุซะกะ ได้ชี้แจงว่าการโจมตีของกองทัพเรือจะช่วยเปลี่ยนเส้นทางเครื่องบินสหรัฐจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพตามแผนกองเรือสหรัฐที่โอะกินะวะ คุซะกะยังอธิบายอีกว่าบรรดาผู้นำรวมถึงสมเด็จพระจักรพรรดิคาดหวังว่ากองทัพเรือจะพยายามทำให้ดีที่สุดในการสนับสนุนการป้องกันโอะกินะวะ

เมื่อได้ยินดังนี้ เหล่าผู้บัญชาการกองเรือผสมจึงยอมอ่อนข้อและยอมรับแผนการที่เสนอ ลูกเรือได้ฟังบรรยายสรุปถึงลักษณะของภารกิจและได้รับโอกาสเลือกที่จะอยู่ต่อเบื้องหลังถ้าต้องการ แต่ไม่มีผู้ใดยอมรับโอกาสนั้น อย่างไรก็ตามลูกเรือใหม่ ป่วย และทุพพลภาพ ได้รับคำสั่งให้ลงจากเรือ[8] ลูกเรือเข้ารับการฝึกอย่างเข้มข้นจนนาทีสุดท้ายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจโดยมากจะเป็นขั้นตอนควบคุมความเสียหาย[9] ณ เวลาเที่ยงคืนเรือได้รับการเติมเชื้อเพลิง ตามรายงาน มีการต่อต้านคำสั่งอย่างลับๆ ตามคำสั่งสั่งให้เตรียมเรือให้มีเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะไปแค่โอะกินะวะเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วบุคลากรในโทะกุยะมะได้เติมเชื้อเพลิงที่เหลือเกือบทั้งหมดในท่าเรือกับให้เรือประจัญบานยะมะโตะและเรือลำอื่นๆ แม้ว่าจะไม่เพียงพอให้กองกำลังเดินทางกลับจากโอะกินะวะมาสู่ประเทศญี่ปุ่น[10]

การสู้รบ

[แก้]
เส้นทางของกองกำลังฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่น (เส้นสีดำ) และเรือบรรทุกเครื่องบินฝ่ายสหรัฐ (เส้นประสีแดง) สู่บริเวณสู้รบ

วันที่ 6 เมษายน เวลาประมาณ 16:00 เรือประจัญบานยะมะโตะพร้อมพลเรือโท อิโต บนเรือลาดตระเวนเบา ยะฮะงิ (Yahagi) และเรือพิฆาตอีก 8 ลำออกจากโทะกุยะมะเพื่อเริ่มต้นปฏิบัติการ[11] เรือดำน้ำฝ่ายสหรัฐ 2 ลำคือ ยูเอสเอส เทรดฟิน (USS Threadfin) และ ยูเอสเอส แฮกเคิลแบ็ก (USS Hackleback) พบเห็นกองกำลังฝ่ายญี่ปุ่นกำลังแล่นผ่านทางตอนใต้ของช่องแคบบังโงะ (Bungo Suido) และไม่ได้เข้าโจมตีแต่แจ้งไปยังกองเรือสหรัฐ[12]

รุ่งเช้าวันที่ 7 เมษายน กองกำลังญี่ปุ่นได้แล่นผ่านแหลมโอซุมิ (Ōsumi) สู่ทะเลเปิด มุ่งหน้าลงใต้จากเกาะคีวชูสู่โอะกินะวะ เรือได้แปรขบวนสำหรับตั้งรับ ให้ยะฮะงิแล่นนำยะมะโตะและเรือพิฆาตทั้ง 8 ลำแปรแถวเป็นรูปวงแหวนล้อมรอบเรือหลวงทั้ง 2 ลำไว้ แต่ละลำห่างกัน 1,500 เมตร คงความเร็วที่ 20 นอต[13] เรือพิฆาตอะซะชิโมะ (Asashimo) เกิดปัญหาที่เครื่องยนต์จำต้องหันหลังกลับ เครื่องบินสอดแนมของสหรัฐเริ่มทำการสอดส่องกองกำลังหลักของขบวนเรือญี่ปุ่น เวลา 10:00 กองกำลังญี่ปุ่นได้หันหัวขบวนไปทางตะวันตกซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าฝ่ายญี่ปุ่นจะถอนกำลังกลับ แต่เมื่อเวลา 11:30 หลังการตรวจพบโดยเรือบินฝ่ายสหรัฐ พีบีเอ็ม มาร์รินเนอร์ (PBM Mariner) 2 ลำ (โดน ยะมะโตะ ระดมยิงด้วยปืน 460 มม.จากป้อมปืนหัวเรือด้วยกระสุนรวงผึ้งพิเศษ (ญี่ปุ่น: 三式焼散弾โรมาจิ, san-shiki shōsan dan'ทับศัพท์: , beehive shells) ขนวบเรือวกกลับและมุ่งสู่โอะกินะวะ[8]

เมื่อได้รับรายงานในช่วงเช้าของวันที่ 7 เมษายน ผู้บัญชาการกองเรือที่ 50 ของสหรัฐ พลเรือเอก เรย์มอนด์ สเพรูเอนซ์ (Raymond Spruance) สั่งให้กองกำลังยิงสนับสนุนภายใต้การบัญชาการของพลเรือเอก มอร์ตัน ดีโย (Morton Deyo) ซึ่งส่วนมากประกอบไปด้วยเรือประจัญบานเก่าที่กู้เรือมาจากท่าเรือเพิร์ล เข้าสกัดกั้นและทำลายกองกำลังเฉพาะกิจของญี่ปุ่น ดีโยได้ดำเนินการตามคำสั่งแต่พลเรือโท มาร์ก เอ. มิตส์เชอร์ (Marc A. Mitscher) แห่งกองกำลังเฉพาะกิจที่ 58 ดำเนินการตัดหน้าดีโยโดยสั่งโจมตีทางอากาศโดยปราศจากคำสั่งจากสพรัวนซ์[14]

เครื่องบินสหรัฐ เช่น เคอร์ทิสส์ เฮลล์ไดเวอร์ (Curtiss Helldiver) เริ่มทำการโจมตี ยะมะโตะ (ซ้าย) เรือพิฆาตของญี่ปุ่นอยู่ทางขวาของภาพ[15]

ราว 10:00 น.ในวันที่ 7 เมษายน หมวดเฉพาะกิจที่ 58.1 และ 58.3 เริ่มต้นส่งเครื่องบินเกือบ 400 ลำหลายระลอกจากเรือบรรทุกเครื่องบิน 8 ลำ (หมวดเฉพาะกิจที่ 58.1: ฮอร์เน็ต (Hornet), เบนนิงตัน (Bennington), เบลโลวูด (Belleau Wood), แซนจาซินโท (San Jacinto) ; หมวดเฉพาะกิจที่ 58.3 แอสซิกซ์ (Essex), บันเคอร์ฮิล (Bunker Hill), แฮนค็อก (Hancock) และ บาแทน (Bataan)) ที่อยู่บริเวณทิศตะวันออกของโอะกินะวะ เครื่องบินประกอบไปด้วยเครื่องบินขับไล่ F6F เฮลแคท (F6F Hellcat) และ F4U คอร์แซร์ (F4U Corsair) เครื่องบินดำทิ้งระเบิด SB2C เฮลไดเวอร์ (SB2C Helldiver) และ ครื่องบินทิ้งตอร์ปิโด TBF เอเวนเจอร์ (TBF Avenger) เรือประจัญบาน 6 ลำ (แมสซาชูเซตส์, อินดีแอนา, นิวเจอร์ซีย์, เซาท์ดาโคตา, วิสคอนซิน และ มิสซูรี) เรือลาดตระเวน (รวมทั้ง อะแลสกา และ กวม) และเรือพิฆาตรวมตัวเข้าสกัดกั้นกองเรือของญี่ปุ่นถ้าการโจมตีทางอากาศไม่ประสบความสำเร็จ[16]

เนื่องจากกองกำลังฝ่ายญี่ปุ่นไม่มีกองบินคุ้มกัน เครื่องบินของสหรัฐจึงสามารถโจมตีได้สะดวกโดยไม่ต้องกังวลถึงเครื่องบินฝ่ายตรงข้าม เครื่องบินสหรัฐเดินทางมาถึงกองเรือยะมะโตะ หลังจากใช้เวลาบินสองชั่วโมงจากโอะกินะวะ เครื่องบินสามารถบินเป็นวงกลมรอบขบวนเรือญี่ปุ่นนอกระยะของอาวุธต่อต้านอากาศยาน ด้วยวิธีนี้เครื่องบินเข้าโจมตีเรือรบที่อยู่ด้านล่าง[8]

การโจมตีระลอกแรกจากเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐเริ่มในเวลา 12:30 น. เรือรบญี่ปุ่นได้เพิ่มความเร็วเป็น 25 นอต เริ่มแล่นหลบหลีกและเปิดฉากยิงปืนต่อสู้อากาศยาน ยะมะโตะนั้นมีปืนต่อสู้อากาศยานเกือบ 150 กระบอก รวมถึงปืนใหญ่ 460 มม.ซึ่งสามารถยิงกระสุนต่อต้านอากาศยานพิเศษ "Common Type 3 (กระสุนร่วมประเภท 3)" ได้[17] เครื่องบินตอร์ปิโดเป็นเครื่องบินหลักที่เข้าโจมตีด้านกราบซ้ายของเรือ เพื่อที่ว่าถ้าตอร์ปิโดส่วนใหญ่ยิงโดนในด้านนั้นมันจะเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะทำให้เรือเป้าหมายพลิกคว่ำ[18]

เรือลาดตระเวนเบา ยะฮะงิ ภายใต้การโจมตีด้วยระเบิดและตอร์ปิโด[19]

เมื่อเวลา 12:46 น. ยะฮะงิโดนยิงด้วยตอร์ปิโดเข้าที่บริเวณห้องเครื่องยนต์ส่งผลให้ลูกเรือในห้องนั้นตายทั้งหมดและเรือไม่สามารถแล่นต่อไปได้ ยะฮะงิโดนยิงตอร์ปิโดอย่างน้อย 6 ลูกและโดนระเบิดอย่างน้อย 12 ลูกจากการโจมตีทางอากาศ เรือพิฆาตอิโซะกะเซะ (Isokaze) ได้พยายามเข้าไปช่วยเหลือแต่กลับถูกโจมตีเสียหายหนักและอับปางลงในเวลาต่อมา ยะฮะงิพลิกคว่ำและจมลงเมื่อเวลา 14:05 น.[20]

ในระหว่างการโจมตีระลอกแรก ทั้งที่พยายามหลบหลีกอย่างเต็มความสามารถ แม้ระเบิดและตอร์ปิโดส่วนใหญ่จะพลาดเป้า แต่ยะมะโตะก็ยังโดนระเบิดเจาะเกราะ 2 ลูกและตอร์ปิโด 1 ลูก[21] แม้ความเร็วของเรือไม่ได้รับผลกระทบแต่ระเบิดที่โดนทำให้เกิดไฟไหม้ท้ายเรือที่บริเวณโครงสร้างส่วนบนซึ่งไม่สามารถดับได้ และในช่วงเวลาในการโจมตีระลอกแรกเช่นกัน เรือพิฆาตของญี่ปุ่น ฮะมะกะเซะ (Hamakaze) และ ซุซุสึกิ (Suzutsuki) ได้รับความเสียหายอย่างหนักและถอนตัวจากการรบ ฮะมะกะเซะจมลงหลังจากนั้น[19]

ภาพทางกราบซ้ายของ ยะมะโตะ ซึ่งกำลังไฟไหม้

ระหว่างเวลา 13:20 น.ถึง 14:15 น.เครื่องบินสหรัฐได้เข้าโจมตีระลอกสองและระลอกสาม ส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่จะโจมตียะมะโตะ ในช่วงเวลานี้ ยะมะโตะโดนโจมตีด้วยตอร์ปิโดอย่างน้อย 8 ลูกและระเบิดมากถึง 15 ลูก ระเบิดได้ก่อความเสียหายเป็นวงกว้างบริเวณด้านบนของเรือ รวมถึงตัดพลังงานของเครื่องช่วยเล็งทำให้ปืนต่อต้านอากาศยานแต่ละกระบอกต้องเล็งและยิงด้วยมือซึ่งลดประสิทธิผลลงอย่างมาก[22] ตอร์ปิโดที่ยิงโดนยะมะโตะนั้นส่วนมากจะโดนเข้าที่กราบซ้ายส่งผลให้ยะมะโตะเริ่มเอียงจนเกือบถึงจุดอันตราย[23] สถานีควบคุมความเสียหายจากน้ำโดนทำลายโดยระเบิดจึงเป็นไปไม่ได้ที่ช่องถ่วงเรือที่ได้รับการออกแบบมาพิเศษภายในเรือจะต้านทานต่อความเสียหายของเรือได้ เวลา 13:33 น.ในความพยายามอย่างเอาเป็นเอาตายในการที่จะรักษาเรือไว้ไม่ให้พลิกคว่ำ หน่วยควบคุมความเสียหายของยะมะโตะได้จึงถ่วงห้องเครื่องยนต์และห้องหม้อน้ำทางกราบขวา แม้จะช่วยบรรเทาความอันตรายลงแต่ลูกเรือหลายร้อยคนที่ประจำการในสถานีนั้นๆ ได้จมน้ำตายเพราะไม่ได้รับแจ้งเตือนว่าจะมีการเติมน้ำในห้องนั้นเพื่อทำการถ่วงเรือ[24][25] จากการสูญเสียเครื่องยนต์ทางกราบขวาบวกกับน้ำหนักของน้ำที่ใช้ถ่วงเรือเป็นเหตุให้ยะมะโตะลดความเร็วลงเหลือประมาณ 10 นอต[26]

เพราะยะมะโตะแล่นได้ช้ามากทำให้ตกเป็นเป้าได้ง่าย เครื่องบินตอร์ปิโดสหรัฐได้มุ่งการโจมตีไปที่หางเสือและท้ายเรือเพื่อจะได้ส่งผลต่อความสามารถในการคัดท้ายและพวกเขาก็ทำสำเร็จ[27] เวลา 14:02 น.หลังจากได้รับแจ้งว่าเรือไม่สามารถคัดท้ายได้และกำลังจะจมลง พลเรือโท อิโต ได้สั่งยกเลิกภารกิจ ทำการสละเรือ และให้เรือที่เหลืออยู่เริ่มทำการช่วยเหลือผู้รอดชีวิต[19] ยะมะโตะได้ส่งข้อความนี้ต่อเรือที่เหลือด้วยสัญญาณธงเพราะเครื่องรับส่งวิทยุประจำเรือถูกทำลาย[28]

ยะมะโตะได้ระเบิดและพลิกคว่ำหลังจากโดนโจมตีด้วยระเบิดและตอร์ปิโดจำนวนมาก[15]

เวลา 14:05 น. ยะมะโตะก็หยุดลงอย่างสิ้นเชิงและเรือเริ่มเอียงตัว พลเรือโท อิโต และกัปตันเรือปฏิเสธที่จะสละเรือหนีไปพร้อมกับลูกเรือที่รอดชีวิต เวลา 14:20 น. ยะมะโตะได้พลิกคว่ำและเริ่มจมลง (30°22′N 128°04′E / 30.367°N 128.067°E / 30.367; 128.067) เวลา 14:23 น. เรือเกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง ตามรายงานที่ได้รับสามารถมองเห็นและได้ยินไกลถึงเมืองคะโงะชิมะซึ่งห่างออกไป 200 กม. และก่อให้เกิดเมฆรูปเห็ดสูง 20,000 ฟุตกลางอากาศ[29] มีการกล่าวอ้างว่าแรงระเบิดของเรือทำให้เครื่องบินสหรัฐที่สังเกตการอยู่ในขณะนั้นตกหลายลำ[29] เชื่อกันว่าการระเบิดเกิดจากไฟของระเบิดที่โดนเข้าบริเวณคลังแสงหลักของเรือ[30]

เรือพิฆาตอะซะชิโมะโดนระเบิดและจมลงด้วยน้ำมือของเครื่องบินสหรัฐขณะเดินทางกลับไปที่ท่า เรือพิฆาตคะซุมิ (Kasumi) อับปางจากการโจมตีของเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐระหว่างการรบ เรือพิฆาตซุซุสึกิทั้งๆที่หัวเรือได้รับความเสียหายอย่างหนักแต่เรือก็สามารถแล่นกลับไปที่เมืองซะเซะโบะ (Sasebo) ได้ด้วยวิธีการแล่นถอยหลัง[19]

เรือพิฆาตที่เหลือ 3 ลำ (ฟุยุซุกิ (Fuyuzuki), ยุกิกะเซะ (Yukikaze),และ ฮะสึชิโมะ (Hatsushimo)) ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยและสามารถช่วยเหลือลูกเรือ 280 นายจากเรือยะมะโตะ (จำนวนลูกเรือของยะมะโตะแตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูล ระหว่าง 2,750-3,300 นาย) บวกกับผู้รอดชีวิต 555 คนจากยะฮะงิ (จากลูกเรือ 1,000 นาย) และมากกว่า 800 คนจาก อิโซะกะเซะ, ฮะมะกะเซะ, และ คะซุมิ มีทหารเรือญี่ปุ่น 3,700-4,250 นายเสียชีวิตในการรบ[19][31] เรือได้นำผู้รอดชีวิตกลับไปที่ฐานทัพในซะเซะโบะ[32]

ยะมะโตะ หลังการระเบิดเพียงชั่วครู่[15]

เครื่องบินสหรัฐโดนยิงตก 10 ลำ โดยปืนต่อต้านอากาศยานของญี่ปุ่น นักบินบางคนได้รับการช่วยเหลือจากอากาศยานสะเทินน้ำสะเทินบกหรือเรือดำน้ำ ทหารสหรัฐเสียชีวิต 12 นาย ผู้รอดชีวิตชาวญี่ปุ่นบางคนรายงานว่าเครื่องบินขับไล่สหรัฐกราดยิงปืนกลใส่ผู้รอดชีวิตที่ลอยคออยู่ในทะเล[33][34] และยังรายงานอีกว่าเครื่องบินสหรัฐหยุดยิงเรือพิฆาตญี่ปุ่นชั่วคราวในช่วงเวลาที่เรือกำลังช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากในทะเล[35]

ระหว่างการรบ กองทัพญี่ปุ่นได้โจมตีกองเรือสหรัฐทางอากาศที่โอะกินะวะตามที่ได้ให้สัญญาไว้แต่ประสบความล้มเหลวไม่สามารถจมเรือได้เลย จากเครื่องบิน 115 ลำ มีเครื่องบินจำนวนมากทำการโจมตีเรือรบสหรัฐแบบคะมิกะเซะตลอดทั้งวันของวันที่ 7 เมษายน เครื่องบินคะมิกะเซะได้โจมตีโดนเรือแฮนค็อก, เรือประจัญบานแมริแลนด์ และเรือพิฆาตเบนเน็ตต์ (Bennett) แฮนค็อกและแมริแลนด์เสียหายปานกลาง เบนเน็ตต์เสียหายหนัก ญี่ปุ่นสูญเสียเครื่องบินประมาณ 100 ลำ[36]

ผลที่ตามมา

[แก้]

เท็งโงเป็นปฏิบัติการใหญ่ครั้งสุดท้ายของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง เรือรบที่เหลือรอดมีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเล็กน้อยในปฏิบัติการรบของการต่อสู้ที่เหลืออยู่ ซุซุสึกิ ไม่ได้รับการซ่อมแซม ฟุยุซุกิ ได้รับการซ่อมแต่ก็ชนทุ่นระเบิดของสหรัฐที่เขตโมะจิ (Moji) ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1945 และไม่ได้รับการซ่อมแซม ยุจิกะเซะ รอดจากสงครามมาได้โดยที่แทบจะไม่ได้รับความเสียหายเลย ฮะสึชิโมะ ชนทุ่นระเบิดของสหรัฐในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 ใกล้กับเมืองมะริซุรุ (Maizuru) ประเทศญี่ปุ่น เป็นเรือพิฆาตลำที่ 129 และลำสุดท้ายที่อับปางในสงคราม[37]

ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ประกาศว่าเกาะโอะกินะวะเป็นเขตปลอดภัยในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1945[38] หลังการรบที่รุนแรงและมีความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ความตั้งใจที่ชัดเจนของญี่ปุ่นที่จะเสียสละคนจำนวนมากเพื่อใช้กลยุทธ์อัตวินิบาตกรรมเช่นปฏิบัติการเท็งโงและในยุทธการโอะกินะวะนั้น ตามรายงานกล่าวว่าเป็นปัจจัยให้สัมพันธมิตรใช้ระเบิดนิวเคลียร์กับญี่ปุ่น[39]

เรื่องราวของปฏิบัติการนี้ได้รับความเคารพยกย่องในระดับหนึ่งจากสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน เห็นได้จากเรื่องราวในวัฒนธรรมญี่ปุ่นยอดนิยมที่มักจะพรรณนาว่าเหตุการณ์เป็นสิ่งที่กล้าหาญเสียสละแต่ทว่าไร้ประโยชน์ เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามของทหารเรือญี่ปุ่นที่เข้าร่วมในการปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของตน[40] เหตุผลหนึ่งที่เหตุการณ์ดังกล่าวอาจมีความสำคัญในวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็คือคำว่า "ยะมะโตะ" มักจะใช้เป็นชื่อของญี่ปุ่นในบทกวี ดังนั้นการสูญเสียเรือประจัญบานยะมะโตะสามารถใช้เป็นคำอุปมาเปรียบเทียบถึงจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิญี่ปุ่น[41]

อ้างอิง

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. Jentshura and CombinedFleet.com. Abe, Saburo, Tokko Yamato Kantai (The Special Attack Fleet Yamato)", Kasumi Syuppan Co. 1995, หนังสือภาษาญี่ปุ่นที่ไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษให้รายละเอียดในการเสียชีวิตของฝ่ายญี่ปุ่นในปฏิบัติการดังต่อไปนี้: ยะมะโตะ- ตาย 3056, รอด 276; ยะฮะงิ- ตาย 446; อิโซะกะเซะ- ตาย 20; ฮะมะกะเซะ- ตาย 100; ยุจิกะเซะ- ตาย 3; คะซุมิ- ตาย 17; อะซะชิโมะ- ตาย 326 คน (กำลังพลทั้งหมด) ; ฟุยุซุกิ- ตาย 12; ซุซุสึกิ- ตาย 57
  2. Hara, Japanese Destroyer Captain, 274.
  3. 3.0 3.1 Feifer, The Battle of Okinawa, 7.
  4. Minear, Requiem, xiii.
  5. Yoshida, Requiem, 6–7.
  6. Yoshida, Requiem, 62.
  7. Atsushi Ōi, Kaijō Goeisen.
  8. 8.0 8.1 8.2 Hara, Japanese Destroyer Captain, 277.
  9. Yoshida, Requiem, 15.
  10. Spurr, A Glorious Way to Die, 162–165.
  11. Yoshida, Requiem, 30.
  12. Skulski, The Battleship Yamato, 12. เรือพิฆาต 8 ลำของญี่ปุ่นที่เข้าร่วมปฏิบัติการประกอบไปด้วย: อิโซะกะเซะ, ฮะมะกะเซะ, ยุจิกะเซะ, คะซุมิ, ฮะสึชิโมะ, อะซะชิโมะ, ฟุยุซุกิ และ ซุซุสึกิ
  13. Yoshida, Requiem, 47–49.
  14. Triumph in the Pacific by E.B. Potter, also History of United States Operations in World War II by Samuel Elliot Morrison.
  15. 15.0 15.1 15.2 Nova: Sinking the Supership.
  16. Order of Battle - Final Sortie of the Imperial Japanese Navy - 7 April 1945
  17. Yoshida, Requiem, 62–64.
  18. Yoshida, Requiem, 74.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 CombinedFleet.com
  20. Hara, Japanese Destroyer Captain, 298.
  21. Yoshida, Requiem, 66.
  22. Yoshida, Requiem, 78.
  23. Yoshida, Requiem, 80.
  24. Yoshida, Requiem, 82.
  25. Feifer, The Battle of Okinawa, 17–25.
  26. Yoshida, Requiem, 83.
  27. Yoshida, Requiem, 95–96.
  28. Yoshida, Requiem, 108.
  29. 29.0 29.1 Yoshida, Requiem, 118.
  30. Skulski, The Battleship Yamato, 13.
  31. Jentshura, p. 39 กล่าวว่าลูกเรือยะมะโตะเสียชีวิต 2,498 นาย CombinedFleet.com กล่าวว่าลูกเรือยะมะโตะเสียชีวิต 3,063 นาย เหตุผลหนึ่งของความแตกต่างในตัวเลขที่เป็นไปได้คือคณะของพลเรือโท อิโต ไม่ได้นับรวมลงไปในจำนวนลูกเรือ Abe, Saburo, Tokko Yamato Kantai (The Special Attack Fleet Yamato)", Kasumi Syuppan Co. 1995, หนังสือภาษาญี่ปุ่นที่ไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ให้รายละเอียดการเสียชีวิตของทหารญี่ปุ่นดังต่อไปนี้: ยะมะโตะ- ตาย 3056, รอด 276; ยะฮะงิ- ตาย 446; อิโซะกะเซะ- ตาย 20; ฮะมะกะเซะ- ตาย 100; ยุจิกะเซะ- ตาย 3; คะซุมิ- ตาย 17; อะซะชิโมะ- ตาย 326 (กำลังพลทั้งหมด) ; ฟุยุซุกิ- ตาย 12; ซุซุสึกิ- ตาย 57
  32. Yoshida, Requiem, 140.
  33. "แล้วอเมริกาก็เริ่มยิงปืนกลใส่คนที่ลอยคออยู่ในทะเล ทำให้พวกเราต้องดำน้ำหลบกระสุนปืน" Naoyoshi Ishida (September 2005). "Survivor Stories: Ishida". Sinking the Supership. NOVA. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  34. Hara, Japanese Destroyer Captain, 301.
  35. Yoshida, Requiem, 144.
  36. Hara, Japanese Destroyer Captain, 304.
  37. Hara, Japanese Destroyer Captain, 281.
  38. Minear, Requiem, xiv.
  39. Feifer, The Battle of Okinawa, 410–430.
  40. IMDB.com (1990–2009). "Uchû senkan Yamato". Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ 26 March 2009.; IMDB.com (2005). "Otoko-tachi no Yamato". Internet Movie Database. สืบค้นเมื่อ 26 March 2009.
  41. Minear, Requiem, xvii.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]