ข้ามไปเนื้อหา

บ. บุญค้ำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุญสิงห์ บุญค้ำ
ขณะศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย จังหวัดลานช้างและสหรัฐไทยเดิม
ขณะศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย จังหวัดลานช้างและสหรัฐไทยเดิม
เกิด15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445
เมืองอุบลราชธานี ประเทศสยาม
เสียชีวิต17 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 (70 ปี)
นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ประเทศไทย
นามปากกาบ. บุญค้ำ
อาชีพนักเขียน, นักกฎหมาย
สัญชาติไทย
ช่วงปีที่ทำงานพ.ศ. 2474 – 2515

บ. บุญค้ำ นามปากกาของบุญสิงห์ บุญค้ำ (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2515) นักเขียน นักการศึกษา ทนายความ ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย จังหวัดลานช้าง (พ.ศ. 2484 – พ.ศ. 2488 ปัจจุบันอยู่ในประเทศลาว) สหรัฐไทยเดิม (ของไทยระหว่าง พ.ศ. 2485 – พ.ศ. 2488 ปัจจุบันคือเมือง เชียงตุง ในสหภาพพม่า) ผู้แต่งหนังสือ "เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน" และอื่นๆ

ประวัติ

[แก้]

บ. บุญค้ำ เกิดที่อำเภอลุมพุก (อำเภอคำเขื่อนแก้วในปัจจุบัน) จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จบมัธยมศึกษาปีที่ 8 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ. 2464 ประโยคครูมัธยม (ป.ม.) กระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2466 ประกาศนียบัตรนิติศาสตร์และได้เข็ม (น.) จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2474 ซึ่งต่อมาได้นับเป็นปริญญาตรีกิตติมศักดิ์แห่ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน เริ่มรับราชการเป็นครูโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ ต่อมาย้ายไปเป็นศึกษาธิการอำเภอกบินทร์บุรี และศึกษาจังหวัดเชียงราย

เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนและกรณีพิพาทเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายคืนจากฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2484 บ. บุญค้ำได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการรับมอบดินแดนและเป็นศึกษาธิการจังหวัดลานช้าง อีก 2 ปีต่อมาเมื่อไทยยึดเชียงตุงได้จากอังกฤษและตั้งชื่อใหม่ว่า สหรัฐไทยเดิม ก็ถูกย้ายไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดที่นั่นอีก 2 ปี ก่อนสงครามเลิกและไทยต้องคืนเชียงตุงแก่อังกฤษเล็กน้อย บ. บุญค้ำได้รับคำสั่งย้ายไปเป็นศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างเดินทางกลับเชียงรายก็ได้ถูกกองรังควานแนวหลังของสัมพันธมิตรซุ่มยิงรถที่โดยสารบาดเจ็บสาหัสจนขาขวาพิการไปตลอดชีวิต หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนแพทย์ คือนายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ก็คงไม่รอดชีวิต เมื่อหายป่วยจึงได้ขอลาออกจากราชการเพื่อประกอบอาชีพทางกฎหมายและเขียนหนังสือเมื่อปลายปี พ.ศ. 2488

สู่เมืองเชียงตุง

[แก้]

บ. บุญค้ำเป็นนักเขียนมาตั้งแต่แรกเข้ารับราชการเป็นครู ได้เขียนเรื่องต่างๆ ลงในหนังสือวิทยาจารย์อยู่เสมอ โดยเฉพาะการแปลเรื่องสั้นของวิลเลียม เชกสเปียร์ เมื่อปี พ.ศ. 2483 ในฐานะศึกษาธิการจังหวัดเชียงรายได้ร่วมเดินทางร่วมกับข้าหลวงประจำจังหวัดฯ เพื่อไปเยี่ยมข้าหลวงใหญ่แห่ง สหรัฐเงี๊ยว (รัฐฉานในปัจจุบัน) เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ต่อมาเมื่อกองทัพไทยโดยกองพลที่ 3 โดยมีจอมพล ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้บัญชาการกองพลเข้าตีเมืองเชียงตุงเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 บ. บุญค้ำ ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นศึกษาธิการเชียงตุงซึ่งได้ชื่อใหม่ว่า "สหรัฐไทยเดิม" เมื่อ พ.ศ. 2486 และถอยกลับเมื่อ พ.ศ. 2488 เมื่อไทยต้องคืนสหรัฐไทยเดิม หรือเมืองเชียงตุงให้แก่อังกฤษ

บ. บุญค้ำ เป็นผู้สนใจในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และชอบเขียนหนังสือ จึงได้บันทึกเรื่องราวของชนเผ่าต่างๆ ศึกษาประวัติความเป็นมาของเมืองเชียงตุง พร้อมทั้งรวบรวมเอกสารต่างๆ ทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาอิตาเลียน และภาษาไทใหญ่ (สมุดกระดาษสา) ความที่มีความสนใจเรื่องเมืองเชียงตุงและได้ติดต่อสนิทสนมกับเจ้านายเชียงตุง (เจ้าบุญวาทย์วงศา และเจ้าพรหมลือ ณ เชียงตุง) คณะมิชชันนารีโรมันคาทอลิก (Sister Madellina) และพระสงฆ์ (ท่านสิทธิแสง เจ้าอาวาสวัดเชียงยืน) อยู่มากพอควร ท่านเหล่านี้ได้นอกจากจะค้นหาเอกสารมาให้ยืมแล้วยังได้เมตตาแปลจากภาษาไทยใหญ่เป็นภาษาไทย และภาษาอิตาเลียนเกี่ยวกับชนชาวดอยในรัฐฉานเป็นภาษาอังกฤษให้อีกด้วย

เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน

[แก้]
ปกหนังสือเที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน 2499 โดยเหม เวชกร

หนังสือ "เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน" ได้รับการตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2499 ที่โรงพิมพ์รัตนสุวรรณ จังหวัดพิษณุโลก โดยความช่วยเหลือในการจัดจำหน่ายของสำนักพิมพ์คลังวิทยา โดยมี "เหม เวชกร" เป็นผู้ออกแบบปกและเป็นการตีพิมพ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น หนังสือ "เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน" เป็นมากกว่าหนังสือเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั่วไป เนื้อหาของหนังสือมีเรื่องราวต่างๆ ที่ได้จากเอกสารประวัติศาสตร์เชียงตุงที่เป็นต้นตอ มีรายละเอียดที่ชัดเจน น่าสนใจและเพลิดเพลิน โดยเฉพาะเรื่อง "ละว้าสร้างบ้าน" ชาวละว้าที่สมัยนั้นยังต้องออกล่าหัวมนุษย์ หนังสือแบ่งออกเป็น 11 บทและภาคผนวก มีภาพถ่ายประกอบมากเกือบ 80 ภาพ ทั้งที่ถ่ายเองและถ่ายทอดจากหนังสืออื่น มีรายการอ้างอิงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 11 รายการ นับเป็นหนังสือหายากที่เป็นที่ต้องการของผู้ที่สนใจหรือ "คอหนังสือ" ด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และประเพณีของชนเผ่า รวมทั้งด้านมานุษยวิทยาโดยเฉพาะในพื้นที่เชียงตุง แคว้นสาละวินไปถึงเชียงรุ้งในช่วง 60-80 ปีก่อน ดังนั้น แม้ถึงปัจจุบัน ก็ยังมักผู้ตามหาและสอบถามถึงนามปากกา บ. บุญค้ำ ผู้แต่งหนังสือนี้อยู่เนืองๆ ว่าเป็นผู้ใด

นอกจากนี้ บ. บุญค้ำ ยังได้เขียนบทความและหนังสืออื่นแต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดยเฉพาะเรื่อง "เล่ห์การเมือง" ซึ่งตีพิมพ์ประมาณ พ.ศ. 2492 อันเป็นเหตุให้ตำรวจสันติบาลยุคนั้นบุกค้นบ้านที่จังหวัดพะเยาและจับคนในบ้าน 3-4 คนไปตั้งข้อหา "กบฏเชียงราย" (ภายหลังได้รับการปล่อยตัว) นอกจากนี้ บ. บุญค้ำ ยังแต่งบทละครเรื่อง "เจ้าชายเขมรัฐและเจ้าหญิงแสนหวี" พร้อมทั้งเพลงประกอบออกแสดงเร่หาเงินบำรุงโรงเรียน "บุญนิธิ" ที่ท่านตั้งขึ้นที่อำเภอพะเยา (ปัจจุบันเป็นจังหวัด)

บ่วงบรรจถรณ์

[แก้]

บ่วงบรรจถรณ์ เป็นหนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ใช้หนังสือ "เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน" เป็นแนวทางหลักในการเดินเรื่อง โดยเฉพาะช่วงเวลา สถานที่และผู้คน ประพันธ์โดย กีรตี ชนา ตีพิมพ์โดยสนักพิมพ์อรุณ พ.ศ. 2544 ขนาด 708 หน้า หนังสือเล่มนี้ได้รับการนำไปทำบทละครโทรทัศน์เรื่องเดียวกัน กำกับโดยนพพล โกมารชุน ออกแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เมื่อ พ.ศ. 2545 ได้รับความนิยมสูง ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้ต้องการอ่านและตามหาหนังสือ "เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน" ต้นตอ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับผู้แต่งดังกล่าว

บั้นปลายชีวิต

[แก้]

บ. บุญค้ำ ลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2488 มาประกอบอาชีพทนายความและตั้งโรงเรียนที่พะเยาคือโรงเรียน "บุญนิธิ" ที่ชายกว๊านพะเยา และได้เริ่มงานเขียนที่ชอบ รวมทั้งหนังสือเรื่อง "เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน" ซึ่งมีเนื้อหาทางสารคดีและประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเชียงตุง หรือเมือง "เขมรัฐ" และเมือง "แสนหวี" รวมทั้งชนเผ่าและประเพณีพื้นถิ่นต่างๆ ในพื้นที่ในแคว้นสาละวิน แต่ก็ไม่มีโอกาสจัดพิมพ์จนกระทั่งมีผู้สนใจคือ เจริญ จันสี ผู้ซึ่งแสวงหาความรู้เกี่ยวกับเมืองเชียงตุงได้รับการบอกเล่าจากแสง มนวิทูร ว่ามีผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ที่เชียงรายแต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์

บ. บุญค้ำ ถึงแก่กรรมที่นครหลวงกรุงเทพธนบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2515 ด้วยโรคมะเร็งและอัมพาตรวมอายุได้ 71 ปีเศษ

อ้างอิง

[แก้]
  • บ. บุญค้ำ. เที่ยวเมืองเชียงตุงและแคว้นสาละวิน. พิษณุโลก: โรงพิมพ์รัตนสุวรรณ, 2499.
  • กระทรวงธรรมการ. วิทยาจารย์. เล่ม 30 ประจำเดือนมกราคม 2472-ธันวาคม 2473. หน้า 1338-1344.
  • จอมพล ผิน ชุณหะวัณ. คำไว้อาลัย. หนังที่สือระลึกงานพระราชทานเพลิงศพบุญสิงห์ บุญค้ำ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515.
  • เสม พริ้งพวงแก้ว. แด่ท่านศึกษาดีแห่งเชียงราย. หนังที่สือระลึกงานพระราชทานเพลิงศพบุญสิงห์ บุญค้ำ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515.
  • สมุดประวัติประจำตัวข้าราชการ. สังกัดกระทรวงธรรมการของบุญสิงห์ บุญค้ำ.