ข้ามไปเนื้อหา

ตุง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตุง คือ ธงแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา พบเห็นได้ในภาคเหนือของประเทศไทย ทำด้วย ผ้า ไม้ โลหะ ด้าย หรือกระดาษ เป็นรูปแถบยาว ห้อยลง ใช้ประดับ หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพิธีกรรมที่ใช้ตุง

ประเภทของตุง

[แก้]
  • ตุงช่อ หรือตุงจ้อ ทำด้วยกระดาษสีต่าง ๆ (ส่วนมากเป็นกระดาษว่าว) และตัดให้มีลายต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสวยงามของตุง (ส่วนมากมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก) ใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในพิธีกรรมเช่น พิธีสืบชะตา พิธีส่งเคราะห์ และพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เป็นต้น [1]
  • ตุง 12 ราศี หรือตุง 12 นักษัตร ชาวล้านนาเรียกว่าตุงปี๋ใหม่เมือง ผืนตุงทำด้วยกระดาษว่าวหรือกระดาษสา บนผืนตุงพิมพ์รูป 12 นักษัตรลงไป ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาพร้อมกับเจดีย์ทรายในป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของชาวล้านนา [2]
  • ตุงไส้หมู ทำด้วยกระดาษตัดเป็นรูปลวดลายสวยงาม ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาพร้อมกับเจดีย์ทรายในป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของชาวล้านนา เช่นเดียวกับตุง 12 ราศี หรือตุง 12 นักษัตร [3]
  • ตุงผ้า (ตุงทอหรือไย) ทำด้วยผืนผ้าหรือทอด้วยเส้นไยฝ้าย บางแห่งใช้ผ้าดิบ (ปัจจุบันใช้ผ้าลูกไม้แทนก็มี) ขนาดความยาวตั้งแต่ 2 เมตร ไปจนถึง 4-5 เมตร บางแห่งอาจจะทอให้มีความยาวกว่านั้นตามวัตถุประสงค์ หรือที่เรียกว่าตุงซาววา (ซาว หมายถึง 20) ผืนตุงถักทอให้มีลวดลายสวยงาม ปัจจุบันชาวบ้านนิยมใช้กระดาษสีต่าง ๆ ฉลุลายติดลงไปบนผืนตุงให้เกิดความสวยงามมากขึ้น ตุงประเภทนี้ใช้สำหรับงานมงคลทั่วไปหรือใช้ถวายเป็นพุทธบูชา และงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ [4]
  • ตุงแดง มีลักษณะเช่นเดียวกับตุงผ้าหรือตุงทอ แต่พื้นตุงทำด้วยผ้าสีแดงเท่านั้น ตุงแดงนี้ชาวล้านนาจะใช้สำหรับงานอวมงคลหรือใช้เป็นตุงถอน (ตุงถอน หมายถึง ตุงที่ใช้ถอนเอาสิ่งไม่ดีออกไป) ซึ่งส่วนมากจะใช้สำหรับคนตายที่เสียชีวิตแบบไม่ปกติ เช่น อุบัติเหตุหรือถูกฆาตกรรม (ภาษาชาวบ้านเรียกว่าตายโหง) โดยมีความเชื่อว่าเป็นการถอดถอนเอาดวงวิญญาณออกไปจากสถานที่แห่งนั้น เพื่อให้หลุดพ้นจากสถานที่นั้น ๆ และไปเกิดหรือไปอยู่ในที่แห่งใหม่ หากจะสังเกตให้ดีเวลาเดินทางในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน แล้วเห็นว่ามีตุงแดงปักไว้ตามข้างถนนต่าง ๆ แสดงว่า ณ จุดนั้นมีคนเสียชีวิตและมีพิธีถอนตามความเชื่อของชาวล้านนา ที่น่าสังเกตคือจำนวนผืนตุงที่ปักไว้ในสถานที่นั้น ๆ จะบ่งบอกถึงจำนวนผู้ที่เสียชีวิต ณ ที่นั้นด้วย [5]
  • ตุงร้อยแปด ทำด้วยกระดาษสี ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์
  • ตุงค่าคิง ทำด้วยกระดาษว่าวสีขาว ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์และงานสงกรานต์
  • ตุงเปิ้ง เป็นตุงประจำปีเกิด
  • ตุงไชย หรือตุงไจ ทำด้วยผ้ารูปสามเหลี่ยม มีหลายหลากสี บนผืนผ้ามักจะสลักลายหรือทำลวดลายรูปนักษัตรต่าง ๆ ที่เป็นมงคล หรือฉลุลายอื่น ๆ ให้เกิดความสวยงาม ตุงไชยนี้ในสมัยโบราณจะใช้ในการออกศึกสงครามด้วย เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความโชคดีและชัยชนะ ปัจจุบันเราจะเห็นชาวล้านานำเอาตุงไจมาเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญกฐิน
  • ตุงสามหาง ทำด้วยผ้าทอ และกระดาษประเภทต่าง ๆ เช่น กระดาษสา กระดาษแก้ว กระดาษว่าว ใช้ในงานอวมงคล เป็นธงสัญลักษณ์ของตุงที่ใช้ในงานศพ โดยเป็นตุงที่ใช้นำหน้าศพไปสุสาน โดยจะมีปู่อาจารย์เป็นผู้แบกตุงสามหางนำขบวนศพ ตุงสามหางจะมีรูปร่างเหมือนคนแต่ตั้งแต่เอวลงไปจะเป็น 3 แฉก เรียกว่า 3 หาง ซึ่งตุงสามหางนี้อาจเปรียบได้กับปริศนาธรรม คือ อาจหมายถึงไตรวัฏฏ์ คือ วงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก หรือไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงแท้ ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตน คือความไม่เที่ยงของสังขาร คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
 ทั้งยังเป็นอุทาหรณ์และเครื่องเตือนสติให้ได้คิดไปหลายอย่าง ผู้ถือตุงสามหางนิยมให้ผู้มีความฉลาดหลักแหลม และเป็นผู้ที่ที่มีความประพฤตตนอยู่นความดีงามของศีลธรรมด้วย บ้างว่าตุงสามหางนี้เมื่อคนเราละสังขารไปแล้ว  ต้องได้ไปรับกรรมที่ตนทำไว้ขณะยังมีชีวิตอยู่  และต้องขึ้นไปกราบไหว้พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีที่อยู่บนสรวงสวรรค์  โดยจะใช้ตุงสามหางนี้เป็นเครื่องสักการะ [6]
  • ตุงเหล็ก-ตุงตอง ทำด้วยแผ่นโลหะทองเหลือหรือสังกะสี มี 2 สี คือสีเงินและสีทอง ลักษณะรูปร่างทำเป็นรูปคล้ายรูปคน แต่ไม่มีขาหรือชายตุงแบบตุงสามหาง แต่ชายตุงจะมีรูปที่แหลมออกไปมีชายเดียว ตุงเหล็ก-ตุงตองนี้ชาวล้านนาใช้เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว ตุงเหล็ก-ตุงตองนี้จะแขวนอยู่ด้วยกันเสมอ เราจะพบเห็นได้ง่ายในปอยข้าวสังข์ หรืองานบุญชาวล้านนาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติหรือผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว [7]
  • ตุงกระด้าง ทำด้วยไม้หรือโลหะ แกะสลักส่วนมากลวดลายที่แกะบนตุงกระด้างเป็นรูป 12 นักษัตร สร้างขึ้นเพื่อถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา ตุงกระด้างสามารถพบเห็นทั่วไปตามสองข้างทางขึ้นวิหาร (โบสถ์) ของชาวล้านนา ปัจจุบันได้มีการทำตุงกระด้างเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองหรือของท้องถิ่นมากขึ้น [8]
  • ตุงพระบด ทำด้วยผืนผ้าลงสีพื้นด้วยสีน้ำ และวาดภาพพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธประวัติเพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชาในเทศกาลหรืองานสำคัญต่าง ๆ ของชาวล้านนา ส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นเป็นคู่เช่นเดียวกับตุงกระด้าง
  • ตุงดิน (หรือตุงไม้ ตุงเหียก ตุงเงิน ตุงคำ ตุงข้าวเปลือก ตุงข้าวสาร) คือ ตุงที่ใช้ในการเทศน์หรือใช้ในพิธีตั้งธรรมหลวงหรือเทศน์มหาชาติในเดือนยี่เป็งหรือเดือนสี่เป็ง โดยชาวล้านนาจะปักตุงในกัณฑ์เทศน์ หรือประดับตามอาคารที่มีการเทศน์ ตามคติความเชื่อของคนล้านนานั้นเชื่อว่าถ้าทำตุงประกอบการเทศน์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแล้วจะได้อานิสงส์มาก และการถวายตุงเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับก็เช่นกัน ชาวล้านนาเชื่อว่าอานิสงที่ยิ่งใหญ่นี้จะช่วยให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รับอานิสงค์นั้นและจะได้ไปสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นที่ดีและพ้นจากความทุกข์ยากลำบากในการใช้กรรมต่าง ๆ ในปรภูมิด้วย [9]

หลายท่านอาจเข้าใจว่าตุงเป็นธง แต่อันที่จริงแล้วตุงไม่ใช่ธง ตุงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเชื่อต่างๆ เช่น ตุงที่มีการแบ่งเป็น 7 ช่องซึ่งหมายถึง สวรรค์ทั้ง 7 ชั้น เป็นต้น [ต้องการอ้างอิง]

ข้อมูลภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พนมกร นันติ
  2. พนมกร นันติ
  3. พนมกร นันติ
  4. พนมกร นันติ
  5. พนมกร นันติ
  6. พนมกร นันติ
  7. พนมกร นันติ
  8. พนมกร นันติ
  9. พนมกร นันติ
  • สมภพ ภิรมย์. พลเรือตรี ช่อฟ้า นาคเบือน ตุง. [ม.ป.ท.] : องค์การค้าคุรุสภา, พ.ศ. 2545. ISBN 974-0086-30-6

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]