ข้ามไปเนื้อหา

จูหลิง ปงกันมูล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จูหลิง ปงกันมูล
เกิด29 มีนาคม พ.ศ. 2522
อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย
เสียชีวิต8 มกราคม พ.ศ. 2550 (27 ปี)
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ประเทศไทย
สัญชาติไทย
มีชื่อเสียงจากครูที่เสียชีวิตจากความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย[1]
บิดามารดาสูน ปงกันมูล
คำมี ปงกันมูล

จูหลิง ปงกันมูล หรือ จุ้ย (29 มีนาคม พ.ศ. 2522 – 8 มกราคม พ.ศ. 2550) เป็นข้าราชการครู ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ผู้ถูกจับเป็นตัวประกันไปคุมขังไว้ในอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้มัสยิดประจำหมู่บ้าน และถูกรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 เจ้าหน้าที่สามารถช่วยครูจูหลิงได้และนำตัวส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันต่อมา เนื่องจากเธอถูกตีจนสมองกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้ทรงรับจูหลิงเป็นคนไข้ในพระราชินูปถัมภ์กระทั่งเสียชีวิต

ประวัติ

[แก้]

จูหลิง เป็นบุตรสาวคนเดียวของสูน ปงกันมูล และคำมี ปงกันมูล เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2522 พ่อเป็นผู้ตั้งชื่อให้ว่า "จุ้ยหลิน" ตามชื่อนางเอกหนังจีนกำลังภายใน แต่เจ้าหน้าที่จดทะเบียนเป็น "จูหลิง" และมีชื่อเล่นว่า "จุ้ย" เป็นชาวตำบลบ้านปงน้อย กิ่งอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย จบปริญญาตรีโปรแกรมวิชาออกแบบประยุกต์ศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2545

จูหลิงเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถพิเศษในการวาดภาพ เมื่อ พ.ศ. 2545 จูหลิงเป็นหนึ่งในสิบจิตรกรที่ร่วมวาดภาพในหนังสือชุด "ทศชาติแห่งพระบารมี" นำเสนอเรื่องราวของมหาชาดกทศบารมี จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อเฉลิมฉลองพระชนมายุ 4 รอบ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2546

พ.ศ. 2546 เธอเป็นจิตรกรร่วมวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวของสังเวชนียสถาน ในอุโบสถวัดคงคาวดี หรือวัดปากบางภูมี ตำบลรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวพุทธประวัติบนผนังศาลาการเปรียญ และลวดลายบนเสาศาลาการเปรียญ ของวัดเดียวกัน

จูหลิงมีปณิธานที่จะรับใช้สังคมและชาติด้วยอาชีพครู เธอจึงเรียนต่อในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตเพิ่มอีก 1 ปี สมัครสอบบรรจุครูได้เป็นอันดับหนึ่งและเลือกจะเป็นครูในภาคใต้ โดยให้เหตุผลว่า "อยากช่วยเด็ก ๆ ที่ใต้เพราะทุกวันนี้พื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้หาครูได้ยากเต็มที" และได้บรรจุเป็นครูสอนวิชาศิลปะของโรงเรียนกูจิงรือปะ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548

คำมี ปงกันมูล มารดาของจูหลิง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแม่ดีเด่นประจำปี 2549 ประเภทแม่ของผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ คำมี ได้รับประทานพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานและเกียรติบัตร จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ในพิธีเปิดงานวันแม่แห่งชาติ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2549

จูหลิงได้เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2550 ด้วยสาเหตุอวัยวะภายในล้มเหลวเฉียบพลัน หลังจากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ 8 เดือน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและพวงมาลาหน้าศพแก่จูหลิง ปงกันมูล และทรงรับงานศพของจูหลิงไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ด้วย

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพิธีพระราชทานเพลิงศพจูหลิง ปงกันมูล ณ ฌาปนสถานบ้านปงน้อย หมู่ที่ 10 ตำบลปงน้อย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. โดยทั้งสองพระองค์พระราชทานวโรกาสให้บิดาและมารดาจูหลิง เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ อย่างใกล้ชิด และยังมีบุคลสำคัญร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพนับหมื่นคน

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำสุน และคำมี ปงกันมูล บิดามารดาของ จูหลิง ปงกันมูล ที่ได้รับรางวัล ตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู พ.ศ. 2550 รับเกียรติคุณบัตร และโล่เสมาทองคำ 1 ชุด พร้อมเงินสด จาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แทนจูหลิง ที่เสียชีวิต ให้เป็นบุคคลแรก เพราะเป็นครูที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่ได้ทุ่มเทชีวิตเพื่อสอนเด็กและเยาวชน

อนุสรณ์สถาน

[แก้]

หอศิลป์ครูจูหลิง ปงกันมูล ได้รับการสร้างขึ้นในโรงเรียนอนุบาลดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งภายในมีจดหมายพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และหุ่นปั้นรูปครูจูหลิง[1]

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]