ข้ามไปเนื้อหา

คลองพระโขนง

พิกัด: 13°42′34″N 100°35′44″E / 13.709574°N 100.595580°E / 13.709574; 100.595580
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองพระโขนงบริเวณวัดมหาบุศย์

คลองพระโขนง เป็นคลองที่อยู่ในเขตคลองเตย เขตวัฒนา และเขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก บริเวณท่าเรือกรุงเทพ ไปต่อกับคลองประเวศบุรีรมย์ คลองยาว 14.5 กิโลเมตร[1]

ประวัติ

[แก้]
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้ดำเนินการขุดคลองพระโขนง

แต่เดิมเป็นคลองธรรมชาติลักษณะคดเคี้ยว ปากคลองพระโขนงเป็นที่ตั้งของเมืองพระประแดงเดิม บริเวณนั้นแต่เดิมเป็นที่ตั้งวัดหน้าพระธาตุหรือวัดมหาธาตุ (ภายหลังผาติกรรมเพื่อสร้างท่าเรือคลองเตยเมื่อ พ.ศ. 2480) มีชุมชนขนาดใหญ่เนื่องจากมีวัดพระธาตุประจำเมือง[2]

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ขุดเชื่อมคลองหนองบอนกับแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร เมื่อปี พ.ศ. 2380 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2383 ผู้ดำเนินการขุดคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)[3] ภายหลังการขุดคลอง ได้อพยพชาวมลายูจากปัตตานีเข้ามาอยู่อาศัยบริเวณฝั่งคลอง กลุ่มคนที่กวาดต้อนมาเพื่อเป็นแรงงานในการเพาะปลูกเข้าเพื่อส่งเป็นเสบียงให้กองทัพ[4]

เมื่อ พ.ศ. 2400 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขุดคลองถนนตรง (ถนนพระรามที่ 4 ในปัจจุบัน) เชื่อมต่อบางนากับคลองผดุงกรุงเกษม โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) จ้างจีนขุดคลองพระโขนงออกไปทะลุถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นคลองกว้าง 6 วา ลึก 6 ศอก ยาว 207 เส้น 2 วา 3 ศอก[5] บริเวณคลองพระโขนงเกิดเป็นตลาดริมน้ำ เกิดเรือนแถวไม้ตั้งอยู่ริมน้ำตลอดแนวคลองจนสุดทางที่โรงน้ำแข็ง[6]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติ "ประกาศขุดคลอง" ใน พ.ศ. 2420 และได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองพระโขนงไปเชื่อมกับคลองด่าน ออกสู่แม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และเรียกคลองที่ขุดต่อออกไปว่า คลองประเวศบุรีรมย์[7] และให้ขุดคลองแยกจากคลองประเวศบุรีรมย์ อีก 4 คลอง คือ คลองหนึ่ง คลองสอง คลองสาม และคลองสี่ เริ่มขุดตั้งแต่ พ.ศ. 2421 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2423

ปัจจุบันคลองพระโขนงมีการใช้เรือเป็นการสัญจร ทั้งเรือส่วนตัวและเรือโดยสารประจำทาง ซึ่งเปิดบริการเฉพาะตอนกลางวัน เชื่อมต่อพื้นที่ย่านพระโขนง ริมถนนสุขุมวิท ไปจนถึงตลาดเอี่ยมสมบัติ ริมถนนศรีนครินทร์[6]

สถานที่สำคัญ

[แก้]

ริมคลองพระโขนงเป็นที่ตั้งของวัดและมัสยิดหลายแห่ง อันแสดงถึงกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ[8] ได้แก่ วัดสะพาน วัดใต้ วัดมหาบุศย์ วัดยาง วัดทองใน วัดต้นไทรย์ (มอญสร้าง) วัดปากบ่อ วัดขจรศิริ (ขอมสร้าง) และมัสยิดอัลกุ๊บรอ (สุเหร่าใหญ่คลองเคล็ด) มัสยิดแห่งแรกของเขตสวนหลวงอายุกว่า 200 ปี ซึ่งมีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2332[9]

ศาลแม่นากพระโขนงที่ตั้งอยู่ในวัดมหาบุศย์ เป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นจริงในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังมีการนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายครั้ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก ท่านเคยเห็นเรือนของแม่นากด้วย เป็นเรือนลักษณะเหมือนเรือนไทยภาคกลางทั่วไปอยู่ติดริมคลองพระโขนง[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. นิพัทธ์ ทองเล็ก. "บรรพบุรุษ… ขยันขุดแม่น้ำ ลำคลอง". มติชน.
  2. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "จากปากน้ำถึงสมุทรปราการ เมืองหน้าด่านชายทะเล". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-22. สืบค้นเมื่อ 2022-01-05.
  3. "คลองขุดในประเทศไทย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
  4. พิมพ์อุมา โตสินธพ. "คลองเชื่อมกับพัฒนาการของชุมชนในลุ่มแม่น้ำบางปะกง ระหว่าง พ.ศ. 2420-2500" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  5. "พระราชทานที่ให้ชาวต่างประเทศตั้งห้างและขุดคลองถนนตรง".
  6. 6.0 6.1 พรนภา พรพันธุ์ไพบูลย์. "การฟื้นฟูย่านตลาดพระโขนง" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  7. ""คลองประเวศฯ" เป็นเหตุ หลวงทวยหาญ เกือบวางมวยกับ เจ้าพระยามหินทรฯ". ศิลปวัฒนธรรม.
  8. "ล่องเรือเที่ยวสองคลองฝั่งตะวันออก (พระโขนง-ประเวศบุรีรมย์) กับกรุงเทพมหานคร".
  9. "สโลว์ไลฟ์ในกรุง 'ริมคลองพระโขนง' สายน้ำเชื่อมโยงสังคมพหุวัฒนธรรม". โพสต์ทูเดย์.
  10. นิพัทธ์ ทองเล็ก. "ภาพเก่าเล่าตำนาน : แม้ความตายมิอาจพราก แม่นาคพระโขนง". มติชน.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°42′34″N 100°35′44″E / 13.709574°N 100.595580°E / 13.709574; 100.595580