ข้ามไปเนื้อหา

ข้าวเสาไห้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ข้าวเสาไห้

ข้าวเสาไห้ หรือ ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ เป็นข้าวที่ได้รับการจดทะเบียนสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นข้าวพื้นเมืองของอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ได้รับการรับรอง ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551[1] มีแหล่งผลิตอยู่ในอำเภอเสาไห้ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอหนองแซง อำเภอวิหารแดง อำเภอหนองแค อำเภอหนองโดน และอำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี

แป้งข้าวเจ๊กเชย นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบเส้น เช่น เส้นขนมจีนแป้งสด ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี สปาเกตตี อุด้ง ส่วนของขนมหวาน เช่น ขนมเปียกปูน ขนมชั้น และขนมหม้อแกง

ลักษณะ

[แก้]

ข้าวเสาไห้เป็นข้าวไวแสง มีปริมาณอะมิโลสสูง (มีร้อยละ 27–28) มีความสูงประมาณ 160 เซนติเมตร คอรวงยาว รวงข้าวมีความยาวเฉลี่ย 33 เซนติเมตร ระแง้ถี่ สีของกาบใบมี 2 ลักษณะ คือ เจ๊กเชยกาบใบไม้สีม่วง และเจ๊กเชยกาบใบสีม่วงสีข้าวเปลือกมีสีฟาง เมล็ดมีความเรียวยาว เมื่อหุงแล้วข้าวจะสุกร่วนเป็นตัว ไม่เกาะเป็นก้อน ข้าวเก่าเมื่อนำมาหุง ไม่มีกลิ่นสาบ[2]

ประวัติ

[แก้]

จังหวัดสระบุรีมีประวัติการปลูกข้าวมาเป็นเวลายาวนาน เป็นจุดยุทธศาสตร์ เป็นที่รวบรวมเสบียงอาหารและเป็นยุ้งฉางเก็บไว้คราวศึกสงครามตั้งแต่ราว พ.ศ. 2125 โดยบริเวณอำเภอเสาไห้เป็นที่ชุมนุมการค้าขายสินค้าเกษตรต่าง ๆ จากบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก

มีพ่อค้าชาวจีนชื่อ เจ๊กเชยคอยควบคุมดูแลการแลกสินค้า และสนใจข้าวพันธุ์ก้นจุด จึงแนะนำให้ชาวนานำไปปลูกขยายผลผลิตแล้วนำมาแลกสินค้ากับเจ๊กเชย ต่อมาชาวนาเรียกพันธุ์ข้าวนี้ว่า ข้าวเจ๊กเชย ข้าวนี้นำส่งไปขายถึงอยุธยา พบว่าเป็นข้าวหุงขึ้นหม้อ รสชาติดี ไม่อ่อนไม่แข็งจนเกินไป เก็บไว้ค้างคืนไม่บูด จึงมีการสอบถามกันจึงพบว่าเป็นข้าวเจ๊กเชยมาจากอำเภอเสาไห้ จึงเรียกภายหลังว่า ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้". ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-06. สืบค้นเมื่อ 2022-03-06.
  2. "ข้าวเสาไห้". สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-06. สืบค้นเมื่อ 2022-03-06.