นกอีเสือสีน้ำตาล
นกอีเสือสีน้ำตาล | |
---|---|
นกอีเสือสีน้ำตาลในไทย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Passeriformes |
วงศ์: | Laniidae |
สกุล: | Lanius |
สปีชีส์: | L. cristatus |
ชื่อทวินาม | |
Lanius cristatus (Linnaeus, 1758) | |
ชนิดย่อย | |
| |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของนกอีเสือสีน้ำตาล | |
ชื่อพ้อง | |
|
นกอีเสือสีน้ำตาล (อังกฤษ: Brown shrike; ชื่อวิทยาศาสตร์: Lanius cristatus) เป็นนกขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในวงศ์ Laniidae จัดเป็นนกอพยพย้ายถิ่นอาศัยเข้ามาหากินในประเทศไทย พบได้บ่อยในช่วงปลายฤดูร้อนและปลายฤดูฝน ซึ่งนกอีเสื้อสีน้ำตาลมีถิ่นการกระจายพันธุ์กว้างขวาง โดยพบได้ตั้งแต่เอเชียเหนือจรดยุโรป, เอเชียกลาง, เอเชียตะวันออก, เอเชียใต้ และยังพบได้ที่อเมริกาเหนือ จึงมีชนิดย่อยด้วยกันทั้งหมด 4 ชนิด (ดูในตาราง)
ลักษณะ
หัวโต คิ้วเป็นเส้นสีน้ำตาลอ่อนออกขาว ปากใหญ่หนา ปลายปากแหลมงุ้มเป็นจะงอยสีน้ำตาลเข้มออกดำ ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นและที่แปลกกว่านกทั่ว ๆ ไปคือ มีฟันแหลมอยู่หนึ่งซี่อยู่ที่ขอบปากบน มีแถบสีดำตั้งแต่โคนปากไปถึงหู ดูคล้ายหน้ากาก
ลำตัวเพรียว ขนคลุมลำตัวสีน้ำตาลแดง ปีกสีน้ำตาลเข้มที่ใต้คาง หน้าอกสีน้ำตาลปนขาว หางยาวสีตาลเข้มกว่าลำตัว ใต้หางบริเวณก้นสีน้ำตาลปนเทาอ่อน ขาสีดำ เล็บแข็งแรงแหลมคม ตัวผู้และตัวเมียสีจะคล้ายกัน ขนาดโตเต็มวัยวัดจากหัวถึงปลายหางยาวประมาณ 20 เซนติเมตร
พฤติกรรม
มีนิสัยหวงถิ่นหากิน มักส่งเสียงดัง "แจ้ก... แซ้ก...แจ้ก...แซ็ก" บินวนไปมาเพื่อไล่นกชนิดอื่น ๆ ที่เข้ามาใกล้เขตหากิน ไม่เว้นแม้แต่นกล่าเหยื่ออย่าง เหยี่ยว ปกติชอบหากินตามลำพัง เกาะอยู่ตัวเดียวตามกิ่งไม้, รั้วบ้าน, ทุ่งหญ้า, ท้องนาโล่ง อย่างสงบนิ่งไม่ส่งเสียงหรือเคลื่อนไหว มีเฉพาะเพียงดวงตาที่คอยขยับเขยื้อนจับจ้องมองหาเหยื่อ
ล่าอาหารจำพวก แมลงปีกแข็ง, ตั๊กแตน, กบ, เขียด, จิ้งเหลน, กิ้งก่า, ลูกหนู รวมทั้งลูกนกชนิดอิ่นด้วย เมื่อล่าเหยื่อได้แล้วจะใช้เขี้ยวที่ปากที่แหลมคมฉีกเนื้อของเหยื่อที่จับได้ออกเป็นชิ้น ๆ กิน นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่คล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเสือโคร่งหรือเสือดาว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ คือ หลังจับเหยื่อได้แล้วจะไม่กินจนหมด แต่จะใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่มีหนามหรือแม้กระทั่งลวดหนามเพื่อเสียบเหยื่อให้สามารถฉีกกินได้สะดวก จนกระทั่งอิ่ม ซึ่งพฤติกรรมการล่าเหยื่อนี้ยังใช้เพื่อดึงดูดตัวเมียด้วยเช่นกัน
การขยายพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์ของนกอีเสือสีน้ำตาลจะอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม หลังจากจับคู่แล้ว ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันหากิ่งเหมาะบนต้นไม้ที่มีความสูง เพื่อทำรังวางไข่ วางไข่ครั้งละ 3-6 ฟอง ใช้เวลากก 15-16 วัน ลูกนกจึงออกมา ในวัยที่ยังเล็กทั้งพ่อและแม่นกจะช่วยกันหาอาหารมาป้อน กระทั่งผ่านพ้น 2 สัปดาห์ จึงจะเริ่มหัดบิน และแยกออกไปหากินตามลำพัง
ในช่วงที่ยังไม่โตเต็มวัย แถบคาดที่เป็นหน้ากากจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ขนคลุมลำตัวสีน้ำตาลแดง บริเวณใต้คางถึงหน้าอกสีขาวนวล มีลายคล้ายเกล็ดปลาทั่วตัว
นกอีเสือสีน้ำตาลจัดได้ว่าเป็นนกที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมากชนิดหนึ่ง เพราะช่วยกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตร แต่ปริมาณของนกอีเสือสีน้ำตาลในธรรมชาติเริ่มเหลือน้อย จนหมิ่นเหม่ต่อการสูญพันธุ์ ในประเทศไทยจึงจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[2]
อ้างอิง
- ↑ BirdLife International (2008). Lanius cristatus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 23 Oct 2009.
- ↑ นกอีเสือสีน้ำตาลจากไทยรัฐ: วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553
แหล่งข้อมูลอื่น
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Lanius cristatus ที่วิกิสปีชีส์