มะยม
มะยม | |
---|---|
มะยมในอินเดีย | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | พืชดอก Magnoliophyta |
ชั้น: | พืชใบเลี้ยงคู่ Magnoliopsida |
อันดับ: | Malpighiales |
วงศ์: | Phyllanthaceae |
เผ่า: | Phyllantheae |
เผ่าย่อย: | Flueggeinae |
สกุล: | Phyllanthus |
สปีชีส์: | P. acidus |
ชื่อทวินาม | |
Phyllanthus acidus (L.) Skeels. | |
ชื่อพ้อง | |
Phyllanthus distichus Müll.Arg. |
มะยม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Phyllanthus acidus) ภาคอีสานเรียกว่า หมากยม ภาคใต้เรียกว่า ยม เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 3 – 10 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นขรุขระสีเทาปนน้ำตาล แตกกิ่งที่ปลายยอด กิ่งก้านจะเปราะและแตกง่าย ใบประกอบ มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับกันเป็น 2 แถว แต่ละก้านมีใบย่อย 20 – 30 คู่ ใบรูปขอบขนานกลมหรือค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนปลายใบแหลม ฐานใบกลมหรือมน ขอบใบเรียบ ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกย่อยสีเหลืองอมน้ำตาลเรื่อๆ ติดผลเป็นพวง ผลมีสามพูชัดเจน ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดรูปร่างกลม แข็ง สีน้ำตาลอ่อน 1 เมล็ด มีทั้งพันธุ์เปรี้ยวและพันธุ์หวาน ซึ่งมีรสหวานอมฝาด[1] ผลจะอ่อนนุ่มเมื่อสุก จึงเก็บเกี่ยวก่อนผลจะหล่นจากต้น ถิ่นกำเนิดอยู่ที่เอเชียใต้และอเมริกันเขตร้อน[2]
จุดกำเนิดและการแพร่กระจาย
แก้พืชชนิดนี้พบได้ทั่วเอเชีย และพบปลูกตามบ้านในแคริบเบียน อเมริกากลาง และอเมริกาใต้[3]กระจายพันธุ์ข้ามมหาสมุทรอินเดียไปจนถึงมอริเชียส และข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงฮาวาย[4][5] แพร่กระจายไปจนถึงภูมิภาคทะเลแคริบเบียนเมื่อ พ.ศ. 2336 โดยวิลเลียมไบลก์นำมะยมจากติมอร์ไปยังจาเมกา[5] พืชชนิดนี้พบได้ทั่วไปในกวม อินโดนีเซีย เวียดนามใต้ ลาว ตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู และอินเดีย[4][3]ยังคงพบพืชชนิดนี้ในฟิลิปปินส์ ไทย กัมพูชา และฮาวาย[4] พบเห็นได้ในเปอร์โตริโก เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ เม็กซิโก โคลอมเบีย เวเนซุเอลา สุรินาเม เปรู และบราซิล
การใช้ประโยชน์
แก้มะยมใช้รับประทานเป็นผลไม้สดและแปรรูป เช่น แช่อิ่ม ดอง น้ำมะยม แยม หรือกวน ใช้ทำส้มตำ ยอดอ่อนรับประทานเป็นผักสด กินกับน้ำพริก ลาบ ส้มตำ ขนมจีน ในอินเดียและอินโดนีเซีย นำใบไปปรุงอาหาร [5] ผลใช้ปรุงรสอาหารในอินโดนีเซีย [5][3] ในฟิลิปปินส์ใช้ทำน้ำส้มสายชู หรือกินดิบหรือดองในเกลือและน้ำส้มสายชู ในมาเลเซียนิยมนำไปเชื่อม ในอินเดียและอินโดนีเซียนิยมนำใบมะยมไปประกอบอาหาร[5] เนื้อไม้แข็งแรง ทนทาน แต่ต้นไม่ใหญ่มาก[3] ในอินเดีย เปลือกไม้ใช้เป็นแหลางของแทนนิน
ผลมะยมมีฤทธิ์กัดเสมหะและเป็นยาระบาย ใบเป็นส่วนประกอบของยาเขียว[1] ตำราไทยใช้ รากแก้ไข้ รักษาโรคผิวหนัง น้ำเหลืองเสีย ผื่นคัน ใบ ต้มน้ำอาบแก้คัน แก้ไข้ เหือด หิด อีสุกอีใส ในผลมีแทนนิน เดกซ์โทรส เลวูโลส ซูโครส วิตามินซี ในรากมี beta-amyrin, phyllanthol, แทนนิน ซาโปนิน กรดแกลลิก น้ำเชื่อมใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร ในอินเดียผลใช้เป็นตัวกระตุ้นเลือดสำหรับตับ [3] มะยมมี 4-hydroxybenzoic acid กรดคาเฟอิก[6] adenosine, kaempferol และกรดไฮโปแกลลิก [7]สารสกัดจากมะยมที่สกัดด้วยเอทานอลมีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการเจริญของ E. coli O157:H7 และ Propionibacterium acnes[8]
รวมภาพ
แก้-
ใบมะยม
-
ต้นมะยม
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะยม ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 179
- ↑ Morton, Julia (16 June 1963). "A Fast Growing Vine". The Miami News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-14. สืบค้นเมื่อ 30 October 2011.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Janick, Jules; Robert E. Paull (12 April 2008). The Encyclopedia of Fruit & Nuts. CABI. p. 373. ISBN 978-0-85199-638-7. สืบค้นเมื่อ 30 October 2011.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Center for New Crops & Plants Products. "Otaheite Gooseberry". Purdue University. สืบค้นเมื่อ 2011-10-30.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 National Geographic (18 November 2008). Edible: an Illustrated Guide to the World's Food Plants. National Geographic Books. p. 110. ISBN 978-1-4262-0372-5. สืบค้นเมื่อ 30 October 2011.
- ↑ Leeya, Yuttapong; Mulvany, Michael J.; Queiroz, Emerson F.; Marston, Andrew; Hostettmann, Kurt; Jansakul, Chaweewan (2010). "Hypotensive activity of an n-butanol extract and their purified compounds from leaves of Phyllanthus acidus (L.) Skeels in rats". European Journal of Pharmacology. 649 (1–3): 301–13. doi:10.1016/j.ejphar.2010.09.038. PMID 20868659.
- ↑ Sousa, M.; Ousingsawat, J.; Seitz, R.; Puntheeranurak, S.; Regalado, A.; Schmidt, A.; Grego, T.; Jansakul, C.; และคณะ (2006). "An Extract from the Medicinal Plant Phyllanthus acidus and Its Isolated Compounds Induce Airway Chloride Secretion: A Potential Treatment for Cystic Fibrosis". Molecular Pharmacology. 71 (1): 366–76. doi:10.1124/mol.106.025262. PMID 17065237.
- ↑ อัฐญาพร ชัยชมภู และนฤมล ทองไว. 2554. การยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคบางชนิดโดยใช้สารสกัดสมุนไพรพื้นบ้าน เก็บถาวร 2013-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. การประชุมวิชาการครั้งที่ 8 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน