ฟรีดริช เอ็งเงิลส์

ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ (เยอรมัน: Friedrich Engels, ออกเสียง: [ˈfʁiːdʁɪç ˈɛŋl̩s]) เป็นนักคิดนักเขียนชาวเยอรมัน และนักทฤษฎีสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ เป็นเพื่อนร่วมงานและคู่คิดที่ใกล้ชิดของคาร์ล มากซ์ โดยร่วมกันวางรากฐานของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และลัทธิมากซ์ และมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงหลักการของลัทธิมากซ์ว่าด้วยวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์และวัตถุนิยมวิภาษวิธีให้ก้าวหน้าจนเป็นที่ยอมรับทั่วไปในขบวนการสังคมนิยม

ฟรีดริช เอ็งเงิลส์
เกิด28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2363 บาร์เมิน, ราชอาณาจักรปรัสเซีย
เสียชีวิต5 สิงหาคม พ.ศ. 2438 (74 ปี) ลอนดอน, อังกฤษ, สหราชอาณาจักร
ยุคเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์
แนวทางนักเศรษฐศาสตร์ชาวตะวันตก
สำนักเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์
ความสนใจหลัก
เศรษฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์การเมือง, ความน่าจะเป็น, ทฤษฎีการต่อสู้ของชนชั้น, ระบบทุนนิยม
แนวคิดเด่น
ผู้ร่วมก่อตั้งเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์กับคาร์ล มากซ์, วัตถุนิยมเชิงประวัติศาสตร์, ทฤษฎีสภาวะผิดปกติและการใช้หาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องกับคนงาน
ลายมือชื่อ

ประวัติ

แก้

เกิดวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2363 ที่เมืองบาร์เมิน (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองวุพเพอร์ทาล) เป็นบุตรของนักธุรกิจสิ่งทอที่มั่งคั่ง เขาเข้าศึกษาในวิทยาลัยแต่เรียนไม่สำเร็จเพราะปฏิเสธที่จะเข้าสอบและลาออกมาช่วยบิดาทำธุรกิจ ใน พ.ศ. 2384 เขาถูกเกณฑ์เป็นทหารและไปประจำการอยู่ที่นครเบอร์ลินเป็นเวลาปีเศษ เขาสนใจศึกษาเกี่ยวกับกองทหารและยุทธศาสตร์การรบ ซึ่งในเวลาต่อมาเขาก็ได้ถ่ายทอดความรู้ทางทหารดังกล่าวให้มากซ์นำมาเขียนทฤษฏีการเมืองว่าด้วยอำนาจรัฐ โดยเขามีโอกาสพบและรู้จักมากซ์เป็นครั้งแรกที่เมืองโคโลญ ใน พ.ศ. 2385 ในขณะนั้นมากซ์เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไรนิชเชอไซทุง ได้ชักชวนเอ็งเงิลส์ให้ช่วยเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ มิตรภาพที่เริ่มต้นด้วยตัวอักษรทำให้มากซ์และเอ็งเงิลส์เริ่มใกล้ชิดกันทางความคิด และระหว่าง พ.ศ. 2385–2387 เอ็งเงิลส์ได้ส่งข้อเขียนและทัศนะความคิดเห็นที่แหลมคมทางการเมืองและสังคมให้กับหนังสือต่าง ๆ ที่มากซ์จัดทำอยู่ไม่ขาดระยะ

ในปลายปี พ.ศ. 2385 เขาได้ย้ายไปอยู่อังกฤษและทำงานที่โรงงานสิ่งทอของบิดาสาขาเมืองแมนเชสเตอร์ เขาเชื่อว่า ระบบอุตสาหกรรมของอังกฤษที่กำลังพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จะทำให้ชนชั้นกรรมกรมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นทั้งกรรมกรจะเป็นพลังหลักของการปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมใหม่ เขาจึงเข้าสังกัดกลุ่มปัญญาชนสังคมนิยม และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการชาร์ทิสต์ (Chartism) ขณะเดียวกันเขาก็ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสภาวะความเป็นอยู่ของกรรมกรและผลกระทบของชุมชนที่สืบเนื่องจากระบบอุตสาหกรรมใน พ.ศ. 2387 เขาเรียบเรียงผลงานการค้นคว้าเป็นหนังสือสำคัญชื่อ Die Lage derarbeitenden Klasse in England (The Condition of the Working Class in England) โดยเขียนเป็นภาษาเยอรมันและพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในดินแดนเยอรมันและนับเป็นงานเขียนคลาสสิกที่บุกเบิกแนวความคิดสังคมนิยมว่าด้วยชีวิตของกรรมกรอย่างละเอียด มากซ์ชื่นชมหนังสือเล่มนี้มาก เพราะทำให้เขาได้ข้อมูลว่าด้วยลักษณะและวิธีการทำงานของระบบทุนนิยมและบทบาทของอังกฤษในระบอบทุนนิยม

ในกลางปี พ.ศ. 2387 เมื่อเขาเดินทางมาฝรั่งเศสและมีโอกาสพบกับมากซ์ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ที่ปารีส บุคคลทั้งสองถูกคอกันและในเวลาอันสั้นก็ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทและคู่คิดทางปัญญาของกันและกัน และต่อมาเขาก็ได้ถอนตัวออกจากธุรกิจที่รับผิดชอบโดยมาช่วยมากซ์ทำงานค้นคว้าที่บรัสเซลส์และในดินแดนเยอรมัน งานเขียนร่วมกันชิ้นแรกของทั้งสองคือ The German Ideology งานเขียนเรื่องนี้ถือเป็นตำราแบบฉบับที่สำคัญเล่มหนึ่งของสำนักเศรษฐศาสตร์มากซ์

ในต้นปี พ.ศ. 2390 เขาและมากซ์เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มสังคมนิยมที่รู้จักกันในชื่อ "สันนิบาตของผู้รักความเป็นธรรม" (League of the Just) ทั้งเขาและมากซ์ต่างมีบทบาทสำคัญในการชี้แนะทางความคิดและจัดทำโครงการปฏิบัติงานของสันนิบาตฯ ในการประชุมครั้งที่ 2 ของสันนิบาตฯ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2390 ที่ประชุมมีมติให้เขาและมากซ์ร่วมเขียนร่างโครงการที่กำหนดสถานภาพและบทบาท ตลอดจนหลักนโยบายและการดำเนินงานของสันนิบาตเพื่อพิจารณา เขาเป็นผู้ยกร่างโครงการและมากซ์แก้ไขปรับปรุงให้ชื่อว่า หลักการลัทธิคอมมิวนิสต์ (Principles of Communism) แต่ที่ประชุมให้นำออกประกาศในชื่อ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto) ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2391 ก่อนหน้าการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในฝรั่งเศส 1 สัปดาห์ พร้อมกันนี้สันนิบาตของผู้รักความเป็นธรรมก็เปลี่ยนชื่อเป็น "สันนิบาตคอมมิวนิสต์" (Leagues of the Communist)

เมื่อเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2391 ทั่วยุโรป เขาได้เดินทางกลับไปบาร์เมนเพื่อเคลื่อนไหวปฏิวัติ แต่ในเวลาอันสั้นก็ต้องลี้ภัยกลับมาอังกฤษอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากการปฏิวัติในดินแดนเยอรมันล้มเหลว

พ.ศ. 2393 เขากลับไปทำธุรกิจโรงงานสิ่งทอที่เมืองแมนเชสเตอร์อีกครั้ง เพราะตระหนักว่าเขาต้องมีรายได้ประจำเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว และจุนเจือมากซ์ที่กำลังศึกษาค้นคว้าเพื่อเขียนหนังสือเรื่อง ทุน (Das Kapital)

พ.ศ. 2407 เขาเป็นผู้แทนสันนิบาตคอมมิวนิสต์เข้าร่วมประชุมใหญ่ครั้งแรกของสมาคมกรรมกรสากล (International Workingmen's Association) ซึ่งต่อมามีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า "องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ 1" เขาได้รับเลือกเป็นกรรมการในคณะมนตรีทั่วไป

ในปลายปี พ.ศ. 2412 บิดาของเขาก็เสียชีวิต เขาจึงขายกิจการโรงงานสิ่งทอทั้งหมดและใน พ.ศ. 2413 ก็อพยพไปลอนดอนเพื่อใช้ชีวิตอิสระและเพื่อดูแลมากซ์ให้มีเวลาเขียนหนังสือเรื่อง ทุน ให้สำเร็จ ภายหลังการมรณกรรมของมากซ์ ใน พ.ศ. 2426 เขาได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายของเขาเกือบ 12 ปี ในการรวบรวมงานเขียนต่าง ๆ ของมากซ์มาเรียบเรียงโดยเฉพาะหนังสือเรื่อง ทุน เล่มที่ 2 และเล่มที่ 3 ซึ่งมากซ์ทำค้างไว้ออกเผยแพร่

ผลงาน

แก้

นอกจากการรวบรวมงานของมากซ์แล้ว เอ็งเงิลส์เองก็มีงานค้นคว้าเรื่องสำคัญของเขาเองออกเผยแพร่หลายเล่ม งานเขียนที่เด่นเลื่องชื่อ เช่น

  • Anti Duhring (พ.ศ. 2421)
  • Ludwig Feuerbach and the End of Classical German Philosophy (พ.ศ. 2427)

ผลงานสองเล่มนี้ วลาดีมีร์ เลนิน ผู้นำพรรคบอลเชวิค กล่าวยกย่องว่ามีความสำคัญระดับเดียวกับ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์

  • The Origin of the Family, Private Property and the State (พ.ศ. 2427)
  • Socialism: Utopian and Scientific (พ.ศ. 2435)

และงานค้นคว้าชิ้นสุดท้ายที่ไม่เสร็จสมบูรณ์คือ Dialectic of Nature ซึ่งต่อมาจัดพิมพืเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2468

1 ปีหลังจากหนังสือ ทุน เล่มที่ 3 ออกเผยแพร่ เขาก็ถึงแก่กรรมในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2438 ขณะอายุ 75 ปี

อ้างอิง

แก้
  • สัญชัย สุวังบุตร. สารานุกรมประวัติศาสตร์ยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม E-F.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

ผลงานของเอ็งเงิลส์

แก้